เย็นวันที่ 30 ว่าจะชวนเพื่อน ๆ ไปทำกับข้าวกินกัน และได้ข่าวว่าพวกเราจะเอาของไปบริจาคที่ภาคใต้ในนาม ชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท ABAC ซึ่งตรงกับใจว่าจะลงไปอยู่แล้ว “ประมาณว่าลงไปก่อนแล้วค่อยว่ากันว่าจะช่วยเขาได้อย่างไร” เพราะเชื่อว่ามันน่าจะมีอะไรให้เราช่วยบ้าง และได้ติดต่อไปยัง ค่ายอาสาฯ ม.เกษมบัณฑิต ด้วย โดยผ่านทาง น้องยุ้ย ประธานค่าย ก็ได้รับคำตอบรุ่นพี่เขา 3 คนซึ่งรวมกับฝั่งเราอีก 3 เป็น 6 คน นัดกันเวลาเที่ยงคืน แต่ก็พร้อมกันตอนห้าทุ่มกว่า หน้า ABAC และยังมีอีกหลายคนที่ประสงค์มาด้วยแต่ต้องรอตอนเช้า ซึ่งเราก็รอไม่ได้เพราะเนื่องจากเวลาเราจำกัด

“ไม่นึกเลยว่าระยะทางมันช่างไกลเสียเหลือเกิน หรือว่าใจเราร้อนไม่รู้” ระหว่างทางเราก็ได้เห็นรถที่มุ่งลงใต้อาจจะเป็นวัตถุประสงค์เดียวกันก็ได้

ไปถึงที่อำเภอตะกั่วป่าก็ราว ๆ เที่ยง ก็ขับดิ่งเข้าอำเภอเพื่อเอาของไปบริจาค พอไปถึงเขาก็ให้เราลงทะเบียน เพราะหากเราขับรถออกไปโดยไม่มีใบลงทะเบียนจากเจ้าหน้าที่เราอาจถูกจับได้ เนื่องจากว่ามีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งเข้ามาเอาของบริจาคใส่รถแล้วขับออกไป บ่อยมากจนเจ้าหน้าที่เขาต้องให้มีการลงทะเบียน ซึ่งที่ลงของเราเลือกไปลงที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนซึ่งเลยไปอีก 1-2 กิโลเมตรเห็นจะได้ พอเราเลยมาอีกหน่อยก็เจอ ที่ ๆ เขากำลังประกอบโรงศพค้างไว้ ก็เลยเลี้ยวรถเข้าไปเผื่อได้ช่วยทำบ้าง

หลังจากที่แนะนำตัวไปแล้ว พี่ ๆ เขาก็เรียกกินข้าว แล้วก็ได้ถามเขาว่า “ถ้าพวกผมจะมาช่วยทำโลงได้ไหมครับพี่” พี่เขาก็บอกว่า “ตอนนี้โลงศพเขาไม่เอาแล้ว ถ้าน้องอยากช่วย พี่อยากให้น้องลงไปที่บ้านบางน้ำเค็ม เพราะที่นั้นต้องการคนช่วยอีกมาก เพราะหลายหน่วยงานมุ่งไปที่เขาหลักเสียส่วนใหญ่” แล้วเราก็รับปากว่าเราจะไป

พอกินข้าวเสร็จเราก็เอาของไปที่ ก.ศ.น ไปถึงก็เห็นนักศึกษาจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร 30 คนกำลังทำงานกันอย่างขันแข็ง เสร็จแล้ว เราก็ไปที่บ้านบางน้ำเค็ม แต่กว่าเราจะไปถึงได้ก็ต้องผ่านวัดหลายวัด ซึ่งแต่ละที่มีทั้งญาติผู้เสียชีวิตและศพวางเรียงรายกันอยู่เพื่อรอการจัดการ ในใจคิดว่าถ้าที่อื่นคนเยอะแล้ว เราคงต้องมาช่วยทางนี้แน่เลยเพราะ หลายคนมุ่งไปแต่การค้นหาศพอย่างเดียว แต่ไม่รู้เลยว่าการจัดการหลังจากเอามาแล้วมันยุ่งยากมาก ไหนจะเรื่องของนิติเวช ไหนจะเรื่องการเก็บข้อมูลแต่ละศพที่มีมากมาย ไหนจะเรื่องการจัดการ ขั้นตอนต่อไป

เห็นภาพแล้วหดหู่มาก ไม่นึกว่าบ้านเราจะเกิดเหตุการณ์อย่างงี้ได้ ไม่นึกจริงๆ แล้วยิ่งเราไปถึงบ้านบางน้ำเค็มก็รู้สึกได้ถึงว่า “เราเกะกะมาก” เพราะต่างคนต่างยุ่งอยู่กับการค้นหาศพ “มันเหมือนกับการที่เอารถขนดินมาดัมพ์ลงเป็นพันๆ คัน” เราก็เลยจากมาด้วยการมุ่งมั่นที่จะหาที่ๆเขาประกอบโลงซึ่งคิดว่าเราน่าจะถนัดด้านนั้น

“บ่ายสองเข้าไปแล้ว ยังไม่ได้งานเป็นชิ้นเป็นอันเลย”เราก็เลยคุยกันว่าจะกลับไปที่ ก.ศ.น เพื่อช่วยเขาขนของบริจาคก็ยังดี ในวันนี้แล้วหาข้อมูลไปในตัวด้วยว่าเราจะทำอะไรต่อไปในวันรุ่งขึ้น พอไปถึงก็เจอรถ 6 ล้อ 2 คัน สิบล้อ 4 คัน รถเทลเลอร์อีก 3 คัน นึกในใจว่า “น้ำใจคนไทยมาจากทั่วสารทิศจริง ๆ” ขนกัน จนเกือบเย็นพอหันกลับไปดูที่กองบริจาค มันมากมาย ถึงแม้ร่างกายจะล้า ร่างกายอ่อนเพลีย แต่ใจยังมุ่งมั่นที่จะช่วยเขาให้ถึงที่สุด ก็ได้คุยกันเพื่อนๆ ที่อยู่ต่างมหาลัย เขาระดมคน 1 วันครึ่ง พร้อมได้เงินบริจาคก้อนใหญ่ แถมยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากมหาลัยเท่าไร ซึ่งก็ดีใจที่เขายังมีใจมา แต่ในใจกลับนึกถึงเพื่อนเราบางคนที่ไม่อาจมาด้วยเหตุผลใดก็ไม่อาจรู้ได้ และมหา’ลัยชื่อดังย่านรามคำแหง เขาได้ทำอะไรบ้าง ก็ไม่รู้เหมือนกันอีก เขาจะรู้ไหมว่าทางนี้เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว

เกือบ ๆ ค่ำเราก็ลาเขา และได้ข่าวว่าเราจะลงไปที่ เกาะพระทอง เพื่อไปเก็บข้อมูลที่นั้นเพราะอาจจะมีภาระกิจใหญ่ในอนาคต ค่ำนั้นกินข้าวด้วยความไม่อร่อยเท่าไร เพราะนึกถึงเพื่อน นึกถึงใครอีกหลายคน เสียดายที่เขาไม่ได้อยู่ร่วมในประวัติศาสตร์หน้านี้ด้วยกัน

เช้าก็ไปที่ คุระบุรี เพื่อจะเดินทางต่อไปที่เกาะพระทอง โดยการติดต่อผ่าน พี่หนู ที่ทำงานที่นั้นด้วย แต่เผอิญพี่เขาไม่ว่างเลยให้ น้องทิพย์ พาไปแทน ซึ่งแกก็ทำงานอยู่เกาะนั้นด้วยเหมือนกัน พอได้นั่งเรือข้ามไปยังเกาะพระทอง บนเกาะนั้นประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน ประชากร 1000 กว่าคน เราไปขึ้นท่าที่ บ้านแป๊ะโย้ย ที่นี้ไม่ได้รับผลอะไรเลยเพราะอยู่หลังเกาะ

แล้วทิพย์ก็พาเราไปยัง “ทุ่งดาบ” ก่อนไปถึงวิวสวยมาก พอไปใกล้ ๆ ถึง ก็แปลกใจว่าใครเอาปลามาวางตากแดดแถวนี้ แต่พอมองสำรวจรอบ ๆ อีกครั้งก็ต้องตะลึงกับภาพ ซากปลา ซากขยะ ต้นไม้ล้มระเนระนาด จากคลื่นยักษ์ได้เหลือทิ้งไว้ ถ้ามองจากตรงนั้น ยังมองไม่เห็นชายฝั่งเลย ก็เลยถามทิพย์ว่า “ชายฝั่งอีกไกลไหม” ทิพย์บอก “ไกลอยู่” มันมาไกลมาก ไกลจริง ๆ อีกซักพักด้วยรถคันที่อยู่บนเกาะที่เขาว่าเป็นของ ชาวมอแกน ที่เหลือคันสุดท้าย และคันนี้เองที่ได้ช่วยชีวิตไว้อีกหลายชีวิตตอนเกิดเหตุ

เราก็มาถึงที่ ๆ ครั้งหนึ่งเคยเป็นหมู่บ้าน จากซากที่หลงเหลือว่าครั้งหนึ่งมันเคยเป็นหมู่บ้านชาวประมงมีอยู่หลายสิบครอบครัว ถึงแม้กระนั้น ชายฝั่งก็ยังห่างไกลมา จากซากขยะที่ติดอยู่บนต้นไม้ที่สูง 3 เมตร มันบอกเราได้เลยว่า ทั้งแรง ทั้งสูง พลันสายตาก็เหลือบเห็น กองกล้วยไม้ ก็เลยถามทิพย์ว่าของใคร ทิพย์ก็บอก “ของพี่น้อย” “แล้วไปไหนแล้ว” “แกอยู่วัด” “อยู่กะญาติรึ” “เปล่า เพิ่งเผาเมื่อวาน ตรงนั้นแหละที่แกเสียชีวิต” ห่างจากราวเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ที่แกรัก เราก็อึ่ง ๆ พี่น้อยที่เป็นคนทำงานในพื้นที่ ๆ เราได้ยินข่าวแกบ้างเมื่อไม่นานมานี้ ขอร่วมไว้อาลัยกับพี่น้อย ด้วยใจเคารพยิ่ง

เราก็ถ่ายรูปความเสียหายโดยรอบ ๆ จนถึงฝั่ง ซักพักเราก็กลับ ยังมองกลับไปด้วยน้ำตาซึมๆเลยว่า “จะมีใครซักกี่คนที่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ณ ตอนนั้น”

ขณะนั่งเรือกลับไม่มีความรู้สึกยากคุยกับใครเลย พวกเราเองหลายคนก็คงรู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ก็มาคุยกันอีกทีก็ตอนที่ต้องเดิน ไม่นึกเลยว่าการเดินเข้าฝั่งมันจะลำบาก ทีแรกนึกว่าง่าย ที่ไหนได้ ทั้งมืดทั้งน่ากลัว สุดท้ายเราก็มาถึงฝั่งด้วยความปลอดภัยเราก็มาถึงบ้าน พี่จ๊อบ ณ ศูนย์ประสานงานวิจัยท้องถิ่น ราว ๆ 2 ทุ่มกว่า แล้วก็นั้งคุยกับ พี่หนู จนดึก ที่แรกกะว่าจะกลับไปนอนที่ตะกั่วป่า แต่เปลี่ยนใจเพราะได้รู้จักพี่อีกหลายคน พี่บอล บ้านเซเวียร์ ที่พวกเราหลายคนรู้จัก แกผอมลงไปมากแทบจำไม่ได้ พี่หาญ หาญณรงค์ รุ่นพี่ อาจารย์เล็ก ที่ปรึกษาของค่าย ม.เกษมบัณฑิต พี่เนตร ที่จะทำค่ายเยาว์ชนที่สามร้อยยอด

ตอนนั่งเรือออกจากเกาะ แล้วมองกลับไปในใจคิด “เราจะกลับมาเพื่อช่วยเขาให้มากที่สุดให้ได้”

เอ กระจกเงา
2 มกราคม 2548, 2:00 น.