สวัสดีปีใหม่ ปี 2548 (2005) ด้วยเหตุการณ์ที่ค่อนข้างสลดใจเป็นอย่างมากสำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติ และทุกประเทศที่ติดคาบสมุทรอันดามัน ผมได้มีโอกาสมา Count down ที่ อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ถ้านิยามการ Count down ปีใหม่ของสากลจะหมายถึงการได้ว่านับเวลาถอยหลังเพื่อรับปีใหม่ สำหรับที่นี่ในวันปีใหม่นี้เค้า Count down ศพตามวัด ศพตามเกาะ ศพในทะเล ศพในป่าโกงกาง ที่ยากจะหาเจอ และผู้สูญหายอีกจำนวนมาก และภาพเหตุการณ์ที่ตรึงตาตรึงใจของชาวบ้าน สะเทือนไปถึงจิตใจของพวกเค้า สะท้อนออกมาทางสีหน้าที่สลดหดหู่ไปทั่วเมือง ศพเป็นพันๆ ในวัดส่งกลิ่นเหม็นทั่วเมือง กลิ่นศพที่ชวนให้สลดใจ กับกลิ่นฟอร์เมอรีนที่สะกดใจให้เกิดอารมณ์หดหู่ ชีวิตที่เคยสดใสจากเมืองแห่งการท่องเที่ยว ที่เคยมีผู้คน นักท่องเที่ยวมากมาย กลายเป็นเมืองที่มีชาวบ้านออกมาจากทั่วสารทิศของเมืองจนวุ่นวายกับการมารับของบริจาค เพื่อปะทังชีวิตไปวันๆ เป็นชีวิตที่พวกเค้าถูกหยิบยื่นโดยธรรมชาติ

ยังมีมูลนิธิเก็บศพต่าง ๆ มากมายจากแทบทุกจังหวัดในเมืองไทย เต็มเมืองไปหมด เปิดไซเรนวิ่งเก็บศพกันจนวุ่น เสียงของไซเรนฟังแล้วหดหู่เหมือนเสียงของมัจจุราชที่คอยขานชื่อคนตาย ให้ชาวบ้าน (ญาติผู้ตาย) ต้องวิ่งกรูกันคอยมาดูว่าใช่ญาติตนไหม วิ่งฝ่ากลิ่นศพที่แรงจนน่ากลัว เข้าไปดู…ผ่านศพที่วางเรียงรายบนพื้นดินบริเวณวัด นับพัน บ้างเผาแล้ว บ้างฝังแล้ว บ้างถูกทยอยส่งกลับไปจังหวัดอื่นเพื่อให้ญาติประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่ก็ยังมีศพที่เพิ่งเก็บใหม่ มาแทนที่อยู่เสมอ ทุกวัน และมันก็ผ่านไป 6 วันแล้ว เหตุการณ์ยังคงเหมือนเดิม แค่ภาพโลงศพไม้อัดวางซ้อนๆ กันเพื่อรอการบรรจุศพ มีให้เห็นอยู่เกลื่อนเมือง แต่ละจุดที่วาง มีไม่ต่ำกว่า 200 ใบเป็นอย่างต่ำ ก็กัดใจให้หดหู่มากพอแล้ว

และเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ แรกที่ทำให้ผมรู้สึกสลดใจ ตามผู้คนที่นี่ไปด้วย จากบรรยากาศจริง สถานที่จริง ภาพเหตุการณ์จริง เห็นใจผู้คนที่นี่มากและขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง

ได้มีโอกาสเห็น แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ วิ่งวุ่นผ่านหน้ารถผม ที่ตำรวจกันไว้เพื่อจะวิ่งข้ามไปเข้าวัดย่านยาว ทำงานต่อ (เวลาประมาณ 18:50 น.) ทำงานไม่เลิก ไม่ลดละ และอ่อนร้า สีหน้าดูจะสูบโทรมลงไป จากการทำงานติดต่อกัน 5-6 วัน และยังคงทำต่อไปเรื่อยๆ ….เมื่อเทียบกับตัวเอง กลุ่มตัวเองที่มาช่วยชาวใต้ แล้วมองลึกลงไปในตัวเองกับหน้าที่ที่เรากำลังทำเพื่อช่วยสังคมนั้นยังน้อยมาก ๆ ถึงแม้ว่าเราจะรู้สึกว่า กูนี่แหละ….กลุ่มคนเพื่อสังคม แต่สังคมที่กำลังต้องการความช่วยเหลือนี้ ในสถานการณ์อย่างนี้ ก็ย่อมสำคัญกว่าวันปีใหม่หรือวันอะไรทั้งนั้น…ไม่เห็น แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เค้าจะไปร่วมฉลองกับครอบครัวเค้าเลย เห็นแล้วนับถือและน่ายกย่องและพร้อมที่จะเอาใจช่วยให้ศพถูกเก็บหมดเร็วๆ จะได้หายเหนื่อยกันซะที พวกตำรวจด้วย และข้าราชการในที่ว่าการอำเภอด้วย ทุกหน่วยแหละ และคิดว่าคงเหมือนกันทุกที่ ทุกจังหวัด ขอเป็นกำลังใจให้ ถึงแม้มันจะเล็กน้อย แต่มันก็เป็นใจที่คิดคล้าย ๆ กัน

การมาของพวกเราที่ตั้งใจจะมาช่วย คิดมาไว้ว่าจะช่วยเค้าประกอบโลงศพ ก็มาหาที่ประกอบโลงศพจนเจอ แต่เค้าทำไว้เพียงพอแล้ว จึงแนะนำเราให้ไปดูที่อื่น เค้าให้ไปดูที่ บ้านน้ำเค็ม (สถานที่ที่เค้ารือว่าตายยกหมู่บ้าน) พวกเราก็มุ่งหน้าไปดูกันด้วยใจที่กล้า ๆ กลัว ๆ (ฟังดูแล้วมันอลังการ ‘ตายยกหมู่บ้าน’) ก็ถ่ายรูปเก็บไว้ เพราะว่ามันอลังการจริง ๆ กับการทำลายล้างที่รวดเร็วกว่าอาวุธใด ๆ ทั้งสิ้นในโลกนี้ได้มีมา มันทำลายล้างด้วยเวลาไม่กี่นาที….ทุกอย่างหายหมด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่เล็ก ๆ เท่ามดจนถึงคน พอดูเสร็จก็กะจะช่วยเดินดู (ค้นหาศพ) ตามที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยเค้าอนุญาตให้เราทำ แต่ก็มีอีกสายงานหนึ่งเดินเข้ามาคุยกันข้างๆเรา “เอารถโคมาเล้ย ขุดไปให้เหม็ด เพื่อที่จะเกลี่ยพื้นที่ และให้ตำรวจกั้นไม่ให้รถที่เกี่ยวข้องเข้ามา” เราได้ยินอย่างนั้นจึงตัดสินใจกลับ ไปช่วยในเมืองดีกว่า เพราะที่นี่….ทุกที่ต้องการความช่วยเหลือ

เราจึงกลับไปที่ที่แรกที่เราเอาของมาบริจาค ซึ่งมีหน่วยงานของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร จัดตั้งโครงการมาช่วยแยกแยะและจัดเก็บของบริจาค ที่ กศน. ของ อ. ตะกั่วป่า เราจึงขอร่วมช่วยกับหน่วยงานของเค้า ก็ช่วยขนของลงจากรถสิบล้อ รถเทรลเลอร์ รถกะบะ ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก (มากถึงมากที่สุด) มีรถส่งของบริจาคมาจากทั่วสารทิศ เราจึงได้รับรู้ถึงน้ำใจของชาวไทย ซึ่งมีมากจริง ๆ งานนี้เหนื่อยกว่าที่เราคิดจะมาประกอบโลงอีก แล้วเราก็ได้พูดคุยกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหานคร ในคืนนั้น ซึ่งมารู้อีกทีก็คือ เค้าคิดว่าเราคือชาวบ้านมาช่วย กว่าจะได้รู้ก็ตอนกลางคืนเพราะพวกเราเดินกลับไปที่ กศน. ติดต่อกับเค้าเรื่องกิจกรรมออกค่ายฯ โครงการใหญ่ ก็จึงรู้ที่มาซึ่งกันและกันโดยละเอียด พวกเขาเล่าว่าอยากมาช่วยชาวใต้จึงตั้งโครงการก่อนลงมาได้ 2 วัน ก็เป็นปัญหาเดียวกันกับเรา ๆ ชาวค่ายฯ ก็คือว่าทางมหาวิทยาลัยไม่ค่อยสนับสนุนให้นักศึกษาลงพื้นที่ พวกเค้าจึงแอบรวบรวมคนลงมากันเองประมาณ 36 คน ฟังดูแล้วรู้สึกแตกต่างกับของเรามาก (พวกเค้าเป็นคนใต้ประมาณ 90%) เรารวมคนจาก 2 มหาวิทยาลัยได้ 6 คน แต่ก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะรู้อยู่แล้ว กะจะล่ม Project ถึง 3 ครั้งในคืนเดียว (3 ชั่วโมงก่อนที่จะออกเดินทาง) คิดจะล่ม Project เพราะคนน้อย ไปคงช่วยอะไรไม่ค่อยได้ สู้ส่งเงินลงมาช่วยเลยจะเกิดผลกว่า แต่เราก็ไปช่วยได้เยอะพอแรงที่เตรียมไป แล้วที่มาได้ก็น่าแปลกตรงที่ว่า เราทั้งสองมหา’ลัยไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อนแต่บางสิ่งบางอย่างมันเหมือนกัน น่าคิด และน่าสงสัยมาก แต่มันได้เกิดขึ้นแล้ว

แล้วเราก็ได้ไปสำรวจสถานที่ที่ เกาะพระทอง สำรวจข้อมูลเพื่อจะทำค่ายฯ สร้างอาคารให้ชาวบ้าน ให้ชุมชนหมู่บ้าน ถ้าได้ออกค่ายฯ ที่นี่จริง ๆ ก็จะดีใจมาก ที่เราจะได้ทำให้เกิดประโยชน์จริง ๆ ได้ให้กำลังใจชาวบ้านด้วย ภาพที่เก็บมาจากเกาะพระทองก็ไม่แตกต่างจากที่อื่น ๆ เพราะมันทลายราพนาสูญ ปลาทะเลเล็กน้อยใหญ่ ตายบนบกหลังน้ำทะเลซัดขึ้นมาห่างจากชายหาดเป็นกิโลเมตร มันเป็นภาพที่ชวนนึกถึงตอนที่เกิดขึ้นจริง ว่ามันเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือจิตใจของชาวบ้านที่ยังรู้สึกตื่นตระหนก และหวาดกลัวอยู่ไม่น้อย และไม่กล้ากลับเข้าไปอยู่บนเกาะ ต้องใช้เวลาเป็นตัวที่จะช่วยขัดเกลาจิตใจเค้าให้ดีขึ้นได้ หลังจากกลับจากสำรวจพื้นที่ความเสียหายบนเกาะ ก็มาถึง อ.คุระบุรี ประมาณ 2 ทุ่มครึ่ง ก็อยู่สรุปงานกับพี่ ๆ NGO มากันหลากหลายที่มาก แต่พวกพี่เค้ารู้จักกันทั้งหมด และส่วนตัวผมเองยังรู้จักกับพี่คนหนึ่งที่เคยผ่านพบประสบเจอกันผ่านค่ายฯ อาสาอยู่คนหนึ่ง คือ พี่บอล จาก ค่ายบ้านเซเวียร์ 

…ผมนั่งสงสัยกับวงนี้มากตรงที่ว่าวงเล็กๆที่มากันจากทั่วทิศในไทย แต่ดันมีคนรู้จักกันเกือบหมด มันเหมือนว่าโลกของนักทำกิจกรรมเพื่อสังคมจริงๆ มันเล็กขนาดนี้เลยหรือ แต่การพูดคุยในวงนี้ทำให้ผมได้อะไร ๆ ไปมากมาย ได้รู้จักกับนักกิจกรรมเพื่อสังคมรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่หลายท่าน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน ระหว่างเด็กค่ายฯ รุ่นเก่ากับเด็กค่ายฯรุ่นใหม่ มันแตกต่างกันมาก

สิ่งที่เขียนออกมาทั้งหมดนี้ ออกมาจากบรรยากาศและสถานที่จริง ที่ทำให้เกิดความรู้สึกดั่งที่เขียนขึ้นมา

รุ่ง ตะวันแสงแรก
1 มกราคม 2548, 10:20 น.