เรียนรู้จากประเพณีท้องถิ่น…บุญผะเหวด ประเพณีตามฮีตอีสาน

บุญผะเหวด เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวอีสาน ตามฮีตสิบสองคองสิบสี่ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เป็นบุญประเพณีที่จัดขึ้นในช่วงเดือนสี่ (เดือนมีนาคม) ของทุกปี ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตการเกษตรและการสืบต่อพระพุทธศาสนา โดยประเพณีดังกล่าว เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของเกษตรกรที่ทำนาปลูกข้าว ที่จะนำผลผลิตที่ได้มาทำข้าวต้ม ขนมจีน ข้าวเกรียบ และข้าวสารเพื่อถวายพระและเป็นกัณฑ์เทศน์ รวมทั้งเชื่อมโยงกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ที่เกี่ยวข้องกับตำนานชาดกในเรื่องพระเวสสันดร ซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในเรื่องของทานบารมี มีการเชิญพระอุปครุฑและการแห่พระเวสสันดร (ผ้าเขียนภาพชาดกทั้ง 13 กัณฑ์) จากหนองน้ำในหมู่บ้านเข้าไปในวัด ในประเพณีดังกล่าวจะมีการเทศน์มหาชาติทั้งหมด 13 กัณฑ์ พันพระคาถา และมีการเทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสน ตั้งแต่เช้าจนถึงมืด และมีการแห่กันหลอน (ต้นเงิน) เพื่อถวายวัด ภายในวัดจะมีการประดับประดาธรรมมาศสำหรับให้พระขึ้นเทศน์กัณฑ์ต่าง ๆ ด้วยกล้วย อ้อย ดอกไม้ ดอกโน และสิ่งประดับต่าง ๆ เช่น ปลาตะเพียนสาน นกสาน ใยแมงมุม พวงมาลัย กระดาษสีที่ตัดเป็นรูปทรงต่าง ๆ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าบุญผะเหวดเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชุมชน ที่เป็นการสร้างความสามัคคีและความเป็นอันหนึ่งเดียวกันของคนในชุมชน และสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนผ่านการเข้ามาร่วมกิจกรรม

กระบวนการดังกล่าวจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจการเรียนรู้และสืบสานศิลปะ ของกลุ่มเยาวชนต้นกล้าชาวนารุ่นใหม่ ของบ้านโนนตูม ตำบลตอกแป้น อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่พวกเขามองว่าศิลปะแยกไม่ออกจากการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นประเพณี วัฒนธรรม การหาอยู่หากิน สิ่งเหกล่านี้ล้วนเป็นศิลปะทั้งสิ้น ซึ่งงานบุญผะเหวดถือเป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่กลุ่มเยาวชนจะสามารถเข้าไปเรียนรู้ ศิลปะและภูมิปัญญาพื้นบ้านในงานประเพณีเดือนสี่ดังกล่าว

ต้นกล้าชาวนา : ก่อกำเนิดกลุ่ม สร้างจิตสำนึก และรื้อฟื้นภูมิปัญญา ผ่านโครงการสานศิลป์

กลุ่มเยาวชนต้นกล้าชาวนา เกิดจากการรวมตัวของเยาวชน ในหมู่บ้านต่างๆ ของตำบลหนองตอกแป้น และตำบลหนองบัวน้อย ในอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งประกอบด้วย บ้านหนองบัวน้อย บ้านหนองบัวนาดี บ้านหนองหมากฟัด บ้านโนนตูม บ้านหนองตอกแป้น ม.5 และ ม.10 และบ้านโคกสาย โดยแกนนำของกลุ่มเยาวชนต้นกล้าเหล่านี้เป็นลูกหลานของแกนนำเกษตรอินทรีย์ ที่เกิดจากการรวมตัวกันของชาวบ้านในตำบลตอกแป้นประกอบด้วย

  1. ทรงเดช ก้อนวิมล ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้ชุมชนหนองบ้านตอกแป้น เคยเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองตอกแป้น และทำงานกับกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเกษรอินทรีย์ที่กุดร่อง จังหวัดมหาสารคาม
  2. สุนัน มิทะลา รองผู้อำนวยการศูนย์ฯ อดีตเคยทำอาชีพรับซื้อของเก่าแล้วประสบกับภาวะทางเศรษฐกิจ จึงหันมาหาแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในขนำกลางทุ่งนากับครอบครัว เลี้ยงสัตว์ ปลูกผักและไม่มีไฟฟ้า
  3. สมบูรณ์ ภูจำปา แกนนำกลุ่มเกษตรอินทรีย์
  4. สุธรรม มูลเสนา แกนนำกลุ่มเกษตรอินทรีย์
  5. หนูจันทร์ ภูตีนผา ผู้ใหญ่บ้านโนนตูม ผู้ใหญ่บ้านที่เข้ามารับตำแหน่งได้ 6 เดือนจากการผลักดันของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ เป็นคนรุ่นใหม่ ที่สนใจงานด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านเยาวชนและการพัฒนาหมู่บ้าน
  6. ทวีศักดิ์ ประกอบมัย หรือ ป๋อง เยาวชนแกนหลักที่ขับเคลื่อนในพื้นที่ จบจากคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นผูประสานกับโครงการสานศิลป์และเป็นคนเขียนโครงการนี้เสนอเพื่อทำกิจกรรมกับเยาวชน

กลุ่มเยาวชนต้นกล้าชาวนา จึงมีรากฐานมาจากกลุ่มเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มผู้ใหญ่ที่ขับเคลื่อนในเรื่องการเกษตร การศึกษา ศูนย์การเรียนรู้ และเยาวชน ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ที่มีกิจกรรมเชื่อมโยงเรื่องของวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของชาวนาเพื่อให้อนุรักษ์สืบสาน วิถีเกษตรกรรมที่หล่อเลี้ยงชีวิตมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ จึงได้เกิดการก่อตั้งกลุ่มเยาวชนต้นกล้าชาวนารุ่นใหม่ เพื่อรองรับกับกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งความหมายของการใช้ชาวนารุ่นใหม่ไม่ใช่การให้เยาวชนยึดอาชีพทำนาแบบเดิมแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของการสร้างความเข้าใจของคนรุ่นใหม่ต่ออาชีพชาวนาและชี้ให้เห็นความสำคัญของอาชีพเกษตรกรรม

“ต้นกล้าชาวนารุ่นใหม่ ไม่ได้หมายงถึงให้เด็กกลับไปทำนา ยึดอาชีพทำนา เพราะเด็กสมัยนี้มีทางเลือกมาก หรือหากเลือกอาชีพทำนาก็ไม่ใช่การทำนาแบบเดิม แต่เลือกปรับใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เอยากให้พวกเขาเรียนรู้จิตวิญญาณของชาวนา ความสำคัญของชาวนาที่ทำให้พวกเขาเติบโตมาได้ ไม่ว่าเขาจะทำงานที่ไหน เขาก็ต้องไม่ลืมรากเหง้า ไม่ดูถูกชาวนา”

ก่อนจะเริ่มโครงการต้นกล้าชาวนารุ่นใหม่ กลุ่มเกษตรอินทรีย์พยายามเชื่อมโยงประเด็นเรื่องวิถีเกษตรกรรมกับเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเรื่องของอธิปไตยทางอาหาร และเรื่องเส้นทางอาหารบนพาข้าว โดยพาเด็กทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรในชุมชน เช่น เกี่ยวข้าว ทำนา และเรียนรู้จากิจกรรมภายนอกชุมชน เช่นทัศนศึกษา เพื่อปลูกฝังเรื่องของชาวนาและการเกษตรกรรม โดยเด็กที่เข้ามาร่วมกิจกรรมจะมีตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย บางคนเมื่อเข้ามาร่วมโครงการช่วงหนึ่งเรียนจบแล้วก็ไปทำงานที่กรุงเทพฯ แต่สิ่งที่พวกเขาจะได้ติดตัวไปคือจิตวิญญาณของความเป็นลูกหลานชาวนาดังที่ ผู้ใหญ่หนูจัน ภูตีนผา บอกว่า

“ก่อนที่พวกเขาจะออกข้างนอกก็ให้เขาเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ การหาอยู่หากิน การพึ่งตนเอง ได้รู้ว่าการทำนาตั้งแต่อดีต คนรุ่นปู่รุ่นย่าเขาทำยังไง เทคโนโลยีก็ไม่มี แต่สามารถเลี้ยงลูกได้เป็นสิบ ทำให้เราได้เรียนรู้วิถีชีวิตการต่อสู้ของชาวนา โดยใช้ทั้งการเล่าให้ฟัง ในกลุ่มเกษตรอินทรีย์ก็มีคนแก่ 6-7 คน มีแกนนำ 15 คน ที่จะให้ข้อมูล ความรู้ ก่อนที่จะให้เขาลงมือปฏิบัติจริง”

การสร้างกลุ่มเยาวชนต้นกล้าชาวนารุ่นใหม่จึงเป็นโครงการที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กในชุมชน ที่วางอยู่บนรากฐานของวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของชาวนา โดยมีกลุ่มเกษตรอินทรีย์ให้การสนับสนุนและผลักดันกิจกรรมดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จ

โครงการสานศิลป์ เรียนรู้และสืบสานศิลปวัฒนธรรมในประเพณีพื้นบ้าน

จากจุดเริ่มต้นที่อยากให้เยาวชนในพื้นที่หันมาสนใจกับภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ถูกหลงลืมและเกือบจะสูญหายไป เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่เข้าใจความหมายหรือคุณค่าของพิธีกรรมที่คนรุ่นปู่ย่าตายายและรุ่นพ่อแม่ทำกันมาจนถึงปัจจุบัน ดังที่ พี่หนูจัน ภูตีนผา บอกว่า

“อยากให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้อะไรที่สอดคล้องกับเรื่องการดำเนินชีวิต อยากให้เด็กๆได้เรียนรู้ เกี่ยวกับพุทธประวัติ ให้เด็กๆเข้าวัด จะด้วยวิธีการไหนก็ได้ โดยใช้ความสนใจของเด็ก ศิลปะเป็นตัวเชื่อมโยง ก็เลยหยิบประเพณีทั้ง 12 เดือน เพื่อที่จะได้ทำงานกับเด็ก เป้าหมายอยากให้เด็กได้รักวัฒนธรรมประเพณี”

กิจกรรมที่ทางกลุ่มเยาวชนต้นกล้าชาวนารุ่นใหม่ทำจึงเป็นสิ่งที่ร้อยโยงกับประเพณีวัฒนธรรมทั้งสิบสองเดือนของชุมชน แม้ว่าในช่วงที่เริ่มทำกิจกรรททางกลุ่มจะยังไม่ได้รับอนุมัติโครงการ แต่ทางกลุ่มเกษตรอินทรีย์และเยาวชนต้นกล้าก็ได้มีการดำเนินกิจกรรมมาตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฏาคมถึงสิงหาคมที่มีประเพณีการหล่อเทียนเข้าพรรษา ที่มีการเชื่อมโยงกิจกรรมกับเยาวชนขึ้นที่วัด โดยมีกระบวนการเรียนรู้เรื่องของความสำคัญของวันเข้าพรรษา และการหล่อเทียนพรรษา เข้ากับเนื้อหาในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ศิลปะและภาษาไทยที่เด็กเรียนในโรงเรียน ดังที่ คุณสุนัน มิทะลา บอกว่า

“กิจกรรมให้เขาได้เรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องเลข ศิลปะ ก่อนจะหล่อเทียนได้หนึ่งเล่มต้องมีการชั่งตวงวัด มีเด็กเข้าร่วมประมาณ 30 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่มให้เขาคิดและทำการหล่อเทียนออกมาให้ได้ มีผู้ใหญ่คอยให้คำปรึกษาแต่ดูอยู่ห่างๆเพื่อให้เด็กได้คิดอย่างเต็มที่ ให้เขาทำดูว่าความร้อนที่จะทำให้ขี้ผึ้งละลายต้องใช้อุณหภูมิเท่าไหร่ และให้เขาได้เรียนรู้ว่าระหว่างที่ทำเจอปัญหาอะไรบ้าง แต่ละกลุ่มเจอปัญหาต่าง ๆ ก็นำมาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อหาทางแก้ปัญหา ได้ฝึกเรื่องการคิด วิเคราะห์ การนำเสนอ จากนั้นเด็กๆก็จะสนุกกับการทำเทียนหอม การแกะสลักซึ่งก็จะได้เรื่องของศิลปะเข้าไปอีก”

นอกจากนี้ในเดือนอื่น ๆ ก็ยังได้เชื่อมประเพณีต่างๆ เข้ากับเด็ก เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ประเพณีต่าง ๆ ได้เข้าวัดและใกล้ชิดกับผู้ใหญ่มากขึ้น เช่น ในเดือนตุลาคม มีประเพณีออกพรรษา เดือนพฤศจิกายนมีงานประเพณีลอยกระทง ที่มีการให้เด็กเรียนรู้การทำกระทงจากใบตองและ ออกแบบกระทงให้สวยงาม รวมทั้งเดือนธันวาคม-มกราคมมีงานบุญคูณลานหรือบุญบ้าน ที่ให้เด็กได้เรียนรู้ ผ่านการบรรยายของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนไม่ว่าจะเป็นพระครู ปราชญ์ชาวบ้าน เกี่ยวกับบุญคุณของพระแม่โพสพที่ได้ให้ข้าว มีการทำพิธีสู่ขวัญข้าวก่อนเอาข้าวขึ้นยุ้งฉาง เพราะปัจจุบันประเพณีดังกล่าวค่อยๆหายไป และเด็กไม่ค่อยมีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ ทำให้เด็กได้รู้ถึงความสำคัญและสืบต่อประเพณีเหล่านี้ไม่ให้หายไป ดังที่ ทวีศักดิ์ ประกอบมัย บอกว่า

“บุญข้าวจี่สอนให้เด็กจี่ข้าวไปถวายพระ เป็นการสื่อให้เห็นว่า แต่ก่อนเขาทำกันยังไง ทำไมต้องทำ โดยให้ผู้สูงอายุและพระครูที่วัดบรรยายให้เด็กฟัง เกี่ยวกับการถวายข้าวจี่ มีทั้งการปฏิบัติการจี่ข้าว ทำอย่างไร ทำไม โรยเกลือ ทาไข่ ใส่น้ำอ้อย”

ดังนั้นประเพณีวัฒนธรรมที่เด็กได้เรียนรู้จึงไม่ใช่แง่ของการปฏิบัติในพิธีกรรมเท่านั้น แต่ยังได้รับความรู้และความหมายเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาได้ลงมือปฎิบัติด้วย

กระบวนการเรียนรู้ผ่านงานบุญผะเหวด

กระบวนการทำงานของกลุ่มเยาวชนต้นกล้าชาวนารุ่นใหม่ เป็นการประสานกันระหว่างแกนนำเยาวชน องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ ผู้นำชุมชนและผู้อาวุโสในหมู่บ้าน โดยมีการประชุมกันเพื่อเตรียมความพร้อม โดยใช้ระบบกลไกลของชุมชนและครอบครัว โดยเริ่มจาก

การทำงานกับผู้ใหญ่ ผ่านการประชุมระดับตำบลกับแกนนำเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เข้าใจกิจกรรมและการทำงานกับเด็กและเยาวชน จากนั้นก็ลงไปประชุมระดับชุมชน ทั้งผู้นำชุมชน และผู้ปกครองเด็ก เพื่อให้พวกเขาเกิดความเข้าใจในกระบวนการทำงานของกลุ่ม และหาแกนนำมาขับเคลื่อนกิจกรรมให้ประสบผลสำเร็จรวมถึงขับเคลื่อนงานเด็กและเยาวชนในชุมชนของเขาต่อไปในอนาคต

“ลงไปคุยกับผู้ใหญ่ ให้เขาเข้าใจสถานการณ์ปัญหาของเด็กในชุมชน ให้เขาตระหนักและเห็นความสำคัญของกิจกรรม พอทำแล้วรู้สึกว่ากระบวนการดังกล่าว ช่วยขับเคลื่อนงานมาก เพราะคนในชุมชนเห็นความสำคัญ และเป็นการดึงเอาคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมมากขึ้น”

หลังจากทำงานในระดับผู้ใหญ่เสร็จเรียบร้อย ก็เข้าสู่ช่วงที่สอง

การทำงานกับเด็ก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกิจกรรมนี้ โดยให้เด็กทำกิจกรรมเกี่ยวกับการตามหาองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณีสิบสองเดือน แล้วก็พบว่า บุญผะเหวดเป็นประเพณีสิบสองเดือนที่ใหญ่ที่สุดในงานบุญทั้งปีของคนอีสาน ทุกครัวเรือนต้องมาช่วยกันจัดงานบุญให้แล้วเสร็จและต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชนที่อยู่ข้างเคียง หลังจากศึกษาแล้วปัญหาที่พบก็คือ ประเพณีดังกล่าวไม่สามารถเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ได้ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่เข้าใจเนื้อหาสาระและความสำคัญของประเพณีดังกล่าว รวมทั้งปัญหาจาการถ่ายทอดความรู้ระหว่างรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง กลายเป็นการถ่ายทอดเพียงรูปแบบ มากกว่าที่จะชี้แจงหรือทำให้เยาวชนในชุมชนเกิดความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการปฎิบัติและสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมดังกล่าว ดังที่ ทวีศักดิ์ ประกอบมัย เล่าว่า

“เขาไปหาผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ไปเรียนรู้ก่อน เด็กก็ได้ข้อมูล ที่แท้ภูมิปัญญาตรงนี้ยังมีอยู่เยอะแยะพวกปราชญ์ชาวบ้านก็มี แต่ที่หายไปเพราะคนไม่ค่อยให้ความสำคัญ ถ้าเราให้ความสำคัญไปค้นหาก็จะเจอแล้วให้คนเหล่านี้ถ่ายทอดสู่เด็ก สำคัญมากเรื่องการถ่ายทอดสู่เด็ก โดยพ่อแม่ จากรุ่นสู่รุ่น เขาถ่ายทอดแต่รูปแบบ แต่ไม่ได้บอกว่าทำไมต้องทำอย่างนี้ ก็เลยทำกิจกรรมเพื่อให้เด็กกับผู้ใหญ่ได้สื่อสารกัน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ ประวัติของพระเวสสันดร ความเป็นมา ทำไมจึงมีบุญผะเหวด เทศน์มหาชาติ”

เด็กและเยาวชนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมในช่วงแรกๆ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมก่อนหน้าบุญผะเหวดมีจำนวนเด็กเข้าร่วมไม่มาก แต่ในช่วงหลัง 2-3 กิจกรรมที่ทำมีเด็กเข้ามา 50-60 คน เด็กกลุ่มนี้ที่เข้ามา มีตั้งแต่เด็กในระดับชั้นอนุบาล จนถึงระดับวัยรุ่นอายุ 18-19 ปีที่เข้ามาเรียนรู้ ในส่วนของเด็กอายุ 18-19 ปี ก็จะให้เป็นพี่เลี้ยงเวลาแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม

กิจกรรมในโครงการสืบสานศิลปะในงานบุญผะเหวดจะจัดกิจกรรมให้ความรู้ 2 ช่วง

ในช่วงแรก คือวันที่ 12 มีนาคม 2554 เด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้ประวัติพระเวสสันดร ที่สัมพันธ์กับบุญผะเหวด และในวันที่ 13 มีนาคม ก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องอัฐบริขาร ในบุญผะเหวด ความหมายและความสำคัญ โดยมีผู้นำชุมชน คนเฒ่าคนแก่ พระครู เป็นพี่เลี้ยง ซึ่งการจัดกิจกรรมจะมีการแบ่งเด็กเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อให้เรียนรู้ในแต่ละฐาน ในแต่ละฐานก็จะมีผู้เฒ่าผู้แก่และปราชญ์ชาวบ้านคอยให้ความรู้ และในแต่ละกลุ่มก็จะมีพี่เลี้ยงประจำกลุ่มซึ่งเป็นเยาวชนรุ่นพี่และแกนนำกลุ่มเกษตรอินทรีย์ รวมถึงผู้นำชุมชน ในวันที่ 15 มีนาคม พวกเขาจะได้ปฏิบัติเกี่ยวกับศิลปะ เช่น พับนก สานนก สานตะกร้อ ปลาตะเพียน ใยแมงมุม และทำข้าวเกรียบ แล้วแต่ความสนใจของแต่ละคน โดยไม่ได้บอกว่ากลุ่มนี้ต้องทำอย่างนี้ ทำหลายอย่างก็ได้แล้วแต่ความสนใจ

ช่วงที่สอง วันที่ 18-19 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่หมู่บ้านจัดประเพณีบุญผะเหวดขึ้นในชุมชน

ในช่วงของวันที่จัดกิจกรรมบุญผะเหวด ทางกลุ่มเยาวชนต้นกล้าชาวนารุ่นใหม่ไม่ได้มีการแบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มแต่ให้เข้าร่วมตามความสมัครใจ พี่เลี้ยงจะเข้าไปร่วมสังเกตว่า จากนั้นจึงค่อยมาสรุปงานและประเมินดูสิ่งที่พวกเขาได้นับตั้งแต่วันที่เขาเข้ามาเรียนรู้ เช่น การแห่อุปคุตเด็กได้ไปเรียนรู้ จะไปกลุ่มละกี่คนก็ได้ ตามทีกลุ่มแบ่งกันเอาไว้เดิมเมื่อตอนแรก หรือกลุ่มใหม่ก็ได้ ให้พวกเขาไปสังเกตในงาน ถามผู้เฒ่าผู้แก่ แห่อุปคุตมีอะไร เช่น เครื่องบูชา มีอะไรบ้าง การอัญเชิญพระอุปครุฑ ทำยังไง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเด็กไม่เยอะเท่าที่ควร เนื่องจากอยู่ในช่วงสอบ แต่เด็กที่เข้ามาร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้จากประเพณีจริงจากคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน ดังที่ ทรงเดช ก้อนวิมล บอกว่า

“เด็กตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.3 ม.4 ม.5 เข้าร่วมกิจกรรมโดยไปทำกันที่วัด มีการตำข้าวเกรียบ อันนี้ก็เป็นเรื่องของการให้เด็กเรียนรู้ ได้เรียนรู้พวกนกพวกปลา ทำไมต้องมีตระกร้อ ดอกไม้ ใยแมงมุม มีคำตอบในแต่ละกัณฑ์เทศน์ โดยมีผู้ใหญ่พระครู หลวงพ่อที่วัด และเด็กนิสิตที่จบแล้วมาเป็นวิทยากรในแต่ละฐาน เด็กทำเครื่องอัฐบริขาร ส่วนมากเด็กเขาจะทำพวกเครื่องประดับ พวกดอกไม้ ใยแมงมุม สานปลา สานนก ตะกร้อ พวกห่อหมากห่อพลู ข้าวพันก้อน อะไรที่เป็นเครื่องร้อย เครื่องพันจะเป็นของผู้ใหญ่ ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องร้อยเครื่องพัน การบูชากันเทศน์พระเวสสันดรมีอยู่ 13 กัณฑ์ 1,000 พระคาถา แต่ละกัณฑ์จะมีคาถาไม่เท่ากัน เด็กจะได้เรียนรู้ว่าแต่ละกัณฑ์มีคาถาอะไร เกี่ยวกับพระเวสสันดร พระพุทธเจ้าอย่างไร”

สิ่งที่เยาวชนได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการ

กระบวนการที่เด็กเยาวชนต้นกล้าชาวนา ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมของสานศิลป์ โดยหลักๆแล้วคือการได้ซึมซับกับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ไม่เคยรู้หรือละเลย หลงลืมกับกิจกรรมดังกล่าว การเข้าร่วมกิจกรรมจึงเป็นเหมือนการเปิดพื้นที่ของการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น และภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่สำคัญคือก่อให้เกิดประสบการณ์ชีวิตที่สามารถนำไปปรับใช้กับการปรับตัวและการใช้ชีวิตเมื่อต้องออกไปทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในวัฒนธรรมที่แตกต่าง

“เด็กได้รู้ ไม่ว่าเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ออกไปอยู่ข้างนอก เขาก็ได้เรียนรู้จากเราไป เวลาออกไปข้างนอกไปเรียนรู้โลกภายนอก บางครั้งเขาได้เข้าไปอยู่ในชุมชน ที่เขายึดถือประเพณีแบบเดิมอย่างเคร่งครัด ก็ได้เรียนรู้ ปรับตัวเข้ากับชุมชนได้” (สัมภาษณ์ หนูจันทร์ ภูตีนผา)

ในขณะเดียวกันสิ่งเร้ารอบตัวก็มีอิทธิพลต่อความสนใจและการรับรู้ของเด็ก เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมของเด็ก ทั้งในแง่ความถี่ของการเข้าร่วมกิจกรรมและความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมจนจบโครงการ บางครั้งเด็กเข้าร่วมน้อย หรือติดเงื่อนไขของการสอบเพื่อวัดความสามารถทางวิชาการที่คาบเกี่ยวกับช่วงของการจัดกิจกรรม รวมถึงการให้ความสนของผู้ปกครองต่อโครงการที่มีผลต่อการเข้าร่วมกิจกรรมของเด็ก จากความเห็นของ คุณทรงเดช ก้อนวิมล

“เด็กได้อะไรบ้าง ก็ห้าสิบห้าสิบ เด็กที่เข้ามาเรียนรู้ช่วงนี้ สภาวะแวดล้อมสังคมเอายาก เวลาเข้ามาร่วมบางครั้งก็อยู่ทั้งวัน บางครั้งก็ไม่อยู่ ทำให้กิจกรรมที่เด็กจะได้เรียนรู้ไม่ต่อเนื่อง สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ จะได้ไม่เท่ากันทุกคน อยู่ที่ความสนใจของเด็กแต่ละคนด้วย แต่ที่ได้ก็มีเยอะเหมือนกัน”

ดังนั้นความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ของเด็กแต่ละคนจึงมีความแตกต่างกัน ตามความสนใจที่จะเก็บเกี่ยวเอาความรู้จากผู้รู้ที่มาถ่ายทอด รวมถึงสิ่งที่ได้จากการสังเกตกิจกรรมในบุญประเพณีที่พวกเขาได้เข้าร่วมและการตั้งคำถามต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏในพิธีกรรมนั้น ๆ โดยมีผู้ใหญ่ในชุมชนให้ความรู้ กระบวนการการจัดกิจกรรมของกลุ่มต้นกล้าชาวนา นอกจากจะเชื่อมโยงระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ผ่านกิจกรรมของกลุ่มเยาวชนกับชุมชนแล้ว โครงการนี้ยังเชื่อมโยงกับสถานศึกษาในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดความรู้ทั้งในแง่วิชาการและศิลปวัฒนธรรมกับเด็กด้วย โดยทางกลุ่มเยาวชนต้นกล้าชาวนารุ่นใหม่ ได้พยายามผลักดันร่วมกับโรงเรียนในการทำให้ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้งานศิลปะเช่น การปั้น การสาร หัตถกรรม ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและปรากฏอยู่ในพิธีกรรมในรอบปี

“โรงเรียน โดยเฉพาะครู อีกไม่นานโรงเรียนจะนำศิลปะหลายๆอย่างไปจัดการเรียนการสอน ผู้ใหญ่บ้านหลายๆหมู่บ้านเสนอให้เอาศิลปะพื้นบ้านไปเป็นอีกวิชาหนึ่งในห้องเรียน เป็นห้องเรียนที่ไม่ต้องแยกเป็นเด็กระดับชั้นต่าง ๆ ใครอยากมาเรียนก็ได้ จะเป็นวิชาเรียนอาทิตย์ละวันสองวัน ตอนนี้ที่คุยกับครู จะเป็นเรื่องของนิทานพื้นบ้าน ที่จับเอานิทานเป็นสื่อที่จะเข้าไปเล่นกับเด็ก เนื้อหาตรงนั้น แล้วแต่ผู้ใหญ่ต้องการจะสอดแทรกหรือให้เขาเรียนรู้เรื่องอะไร หรือเชื่อมโยงกับวัด ในเรื่องประเพณีทั้งสิบสองเดือนที่เกี่ยวข้องกับวิถีเกษตรกรรมและพุทธศาสนา ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับเรื่องศีลธรรมจริยธรรม”

การเรียนรู้ศิลปะ สิ่งที่เกิดกับเยาวชนและชุมชน

สิ่งที่ทางกลุ่มเยาวชนต้นกล้ามองเกี่ยวกับกิจกรรมการสืบสานและเรียนรู้ศิลปะผ่านประเพณีบุญผะเหวด พวกเขามองว่า สิ่งที่ชุมชนจะได้รบก็คือความภาคภูมิใจถึงรากเหง้าและความเป็นมาของตัวเอง การได้มองเห็นอดีตของตัวเอง โดยใช้ศิลปะเป็นตัวเชื่อมให้คนรุ่นก่อนมีความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองรู้และเชี่ยวชาญในการถ่ายทอดให้กับเด็ก ในขณะเดียวกันเด็กก็เห็นคุณค่าของคนเฒ่าคนแก่ และหวงแหนในภูมิปัญญาท้องถิ่นของตัวเอง ดังที่ ทวีศักดิ์ ประกอบมัย สะท้อนว่า

“เหมือนได้ย้อนอดีต เราได้ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อรุ่นแม่ เหมือนเราได้อนุรักษ์ สืบสานประเพณีวัฒนธรรม ทำให้เขาตื่นตัวกับสิ่งที่กำลังจะหายไป ก็ไม่รู้ว่าได้ อะไรบ้างมากน้อย แต่คิดว่าน่าจะได้ ชุมชนก็ได้กลับมาให้ความสำคัญกับศิลปะ ประเพณีที่หายไปเยอะขึ้น เช่น การทำใยแมงมุมหายไปนาน เพิ่งมาเริ่มทำ 2-3 ปี จริง ๆ ก็ทำแต่คนไม่ให้ความสนใจมาก มีแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ ก็เริ่มมีเด็ก มีผู้ปกครอง เริ่มฟื้นมันกลับมา”

หนูจันทร์ มองว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เมื่อได้จัดกิจกรรมสืบสานศิลปะในงานบุญผะเหวดก็คือ การตื่นตัวและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ในการร่วมกิจกรรมดังกล่าว และยังทำให้สิ่งที่เกือบจะหายไปจากพิธีกรรมประเพณีบุญผะเหวดได้กลับฟื้นคืนมาอีกครั้ง

“ปีนี้เริ่มสังเกตเห็นว่าคนมีอะไรออกมาประดับวัด มีปลา นก มีงานศิลปะ ทำให้เรารู้ว่าหลายคนมีความเชี่ยวชาญทางศิลปะ แต่พวกเขาอาจไม่รู้ตัวว่าเขามีความรู้ในเรื่องตรงนี้ มันก็เหมือนกับหายไป แต่เราไม่เห็นเขาหยิบมาทำ ก็ค้นหาไม่เจอ เป็นเหมือนกับการให้ความสำคัญกับผู้ใหญ่ ถ้าเราไม่ไปค้นหาคนที่มีความรู้ มีก็เหมือนไม่มี ไม่ถูกยกระดับขึ้นมา ว่าผู้ใหญ่เขาก็มีภูมิปัญญา เหมือนเขาเป็นครูคนหนึ่ง เห็นความสุขที่เขาถ่ายทอดให้เรา เขาอยากเล่า อยากสอน”

นอกจากสิ่งที่กระบวนการของสานศิลป์ทำให้เกิดการตื่นตัวของการรื้อฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่กำลังจะหายไปและต่อเติมความทรงจำเกี่ยวกับศิลปะประเพณีที่มีคุณค่าของชุมชนแล้ว สิ่งที่เยาวชนได้รับการหล่อหลอมจากกิจกรรมครั้งนี้ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะก็คือ การซึมซับกระบวนการทางศิลปะ ที่ช่วยขัดเกลาจิตใจและปรับสภาพอารมณ์ และเป็นเวทีของการแสดงออกของเด็กในชุมชน ดังที่ ด.ญ. พัชริตา มิทะลา บอกว่า

“การสาน การทำเครื่องประดับ จะได้เรื่องศิลปะ ได้ความใจเย็นในการทำงาน และทำให้มีความอ่อนหวานเพราะศิลปะช่วยกล่อมเกลาจิตใจ และยังสร้างเวทีให้พวกเราได้แสดงออก”

นอกจากนี้ยังทำให้เยาวชนรับรู้ถึงรากเหง้าและความเป็นมาของตัวเอง ไม่ว่าเรียนจบไปแล้วไปทำงานในกรุงเทพฯหรือที่อื่น ๆ ก็จะได้ไม่ลืมบ้านเกิดเมืองนอนของ

“ศิลปะมีผลต่อตัวเด็กและชุมชน อย่างน้อย ๆ ให้เขาได้รู้ ว่าการเกิดเป็นคนอีสาน ไม่ว่าจะทำอะไร อะไรจะเกิดขึ้น ให้ยึดประเพณีวัฒนธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เหมือนกับสิ่งที่ช่วยหล่อหลอมทำให้เขาเป็นคนที่สมบูรณ์ หล่อหลอมให้เขาเป็นคนที่อ่อนนุ่ม ใจเย็น เวลาสานนก ถ้าคนใจร้อนจะทำไม่ได้ ต้องเป็นคนคิดวิเคราะห์ เป็นระบบ ลำดับขั้นตอน ต้องช่างสังเกต เรียนรู้ จึงจะสามารถทำออกมาได้”

สุดท้ายกระบวนการดังกล่าวยังเป็นการเชื่อมต่อระหว่างคนรุ่นหนึ่งกับคนอีกรุ่นหนึ่ง ให้เกิดความสัมพันธ์อันดีและเข้าใจกันมากขึ้น ด้วยรวมถึงการเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนต่าง ๆ เข้าด้วยกันผ่านประเพณีบุญผะเหวด

“บางครั้งเราจัดกิจกรรมในชุมชน นอกชุมชน หรือที่วัด ครู ผู้ใหญ่ เขาก็จะเห็นว่าเราทำอะไรอยู่ บางทีเขาก็ได้เรียนรู้จากลูกของเขา จากกิจกรรมที่พวกเราทำ ไม่ใช่เฉพาะทายาทเกษตร ไม่ได้จำกัดเฉพาะเด็กที่เป็นลูกหลานของเกษตรอินทรีย์ ทุกคนที่สนใจเข้ามาร่วมกิจกรรมได้ นอกจากนี้โครงการนี้หมู่บ้านที่มีเด็กเข้ามา มีอีกสามหมู่บ้าน”

ปัญหาและอุปสรรคของการทำกิจกรรมและอนาคตของกลุ่มเยาวชนต้นกล้าชาวนา

ในส่วนของปัญหาอุปสรรคก็จะพบในเรื่องของการจัดกิจกรรมไม่ต่อเนื่อง บางครั้งต้องรอและขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ที่มีภารกิจมากเนื่องจากสังกัดกลุ่มองค์กรต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องการเชื่อมโยงกิจกรรมระหว่างรุ่นของกลุ่มต้นกล้า อาจมีปัญหาในอนาคตเนื่องจากเด็กในสามหมู่บ้านหลักที่ทำกิจกรรม ส่วนใหญ่เป็นเด็กโต แต่ช่วงหลังเด็กกลุ่มนี้ก็โตออกไปทำงาน ไม่มีรุ่นน้องมาสานต่อ แต่กิจกรรมที่ทำภายใต้โครงการสานศิลป์ เรียนรู้ศิลปะจากบุญผะเหวด ก็จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเชื่อมโยงงานด้านเยาวชนกับผู้ใหญ่และชุมชน ของกลุ่มเยาวชนต้นกล้าชาวนากับโครงการอื่น ๆ ในอนาคตเพื่อปลูกฝังให้เด็กตระหนักในความสำคัญของประเพณีท้องถิ่นและอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบต่อไป

รายงานการถอดบทเรียนและประเมินผลโครงการสานศิลป์รักถิ่นเกิด 
โดย ผศ.ปรารถนา จันทรุพันธุ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะ, กรกฎาคม 2554

*โครงการสานศิลป์รักถิ่นเกิด ดำเนินการเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 – สิงหาคม 2554 มูลนิธิกองไทย เป็นเจ้าของโครงการ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. มีเป้าหมายให้เยาวชน “รู้ และ รัก” ท้องถิ่นบ้านเกิด ด้วยการสืบค้นหาข้อดีของชุมชนท้องถิ่น จนทำให้เกิดความภาคภูมิใจและนำเสนอผ่านงานศิลปะวัฒนธรรม โดยสนับสนุนทุนให้กับ 58 กลุ่มเยาวชนจากทั่วประเทศ – คลิกดูรายละเอียดโครงการ