พระกริ่งพระพุทธโสธร พิมพ์หน้ากลาง เนื้อทองเหลืองรมดำ ปี 2508
Photo by ร้านพระเครื่อง “วังไทรกรุ๊ป”

พระกริ่งพระพุทธโสธร พิมพ์หน้ากลาง เนื้อทองเหลืองรมดำ ปี 2508 วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา จัดสร้างโดย พระราชพุทธิรังสี (หลวงปู่เจียม) เจ้าอาวาสวัดโสธรวฯ (ปี 2508-2540) นับเป็นพระกริ่งรุ่น 2 ต่อจากพระกริ่งรุ่นแรกที่จัดสร้างในปี 2500 แบ่งแยกพิมพ์ตามลักษณะใบหน้า (ไม่ใช่ขนาด) ออกเป็น 3 พิมพ์ ได้แก่

  1. พิมพ์หน้าใหญ่ ลักษณะใบหน้าจะกลมอวบอิ่ม เม็ดพระศกด้านหน้ามี 4 แถว พิมพ์หน้าใหญ่ยังแยกได้อีก 3 พิมพ์
  2. พิมพ์หน้ากลาง ลักษณะใบหน้าจะเรียวลงเล็กน้อย นับเม็ดพระศกด้านหน้าได้ 5 แถว แยกพิมพ์ออกเป็น 2 พิมพ์
  3. พิมพ์หน้าเล็ก ลักษณะใบหน้าซูบตอบ คางแหลม นับเม็ดพระศกด้านหน้าได้ 4 แถว แยกพิมพ์ออกเป็น 3 พิมพ์

พุทธคุณ

แคล้วคลาดปลอดภัย อยู่ร่มเย็นเป็นสุข มีเมตตามหานิยม ซื้อง่ายขายคล่อง อีกความเชื่อที่นิยมมากคือ การขอพรเรื่อง “ลูก”กล่าวกันว่าใครอยากมีลูกเร็วทันใช้ต้องไปไหว้ขอพรกับ หลวงพ่อโสธร บ้านไหนมีบุตรยาก ไปไหว้แล้วก็มักจะสมหวัง

ประวัติหลวงพ่อโสธร

“พระพุทธโสธร” หรือที่คนทั่วไปเรียกกันแบบติดปากว่า “หลวงพ่อโสธร” เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวไทย ประดิษฐานที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่ราวปี 2313 ไม่ทราบว่าใครคือผู้สร้าง

กรมศิลปากรได้ศึกษา พระพุทธโสธร พบว่าวัสดุที่ใช้สร้างเป็นหินทราย หลวงพ่อโสธรที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นปูนปั้นลงรักปิดทอง พระวรกายแบบเทวรูป พระพักตร์แบบศิลปะล้านนา พระเกตุมาลาแบบปลี ข้อพระกรข้างขวามีกำไลรัดตรึง พระจีวรแนบเนื้อ กว้าง 3 ศอก 5 นิ้ว

พระพักตร์หลวงพ่อโสธรในยุคต่าง ๆ จากอดีตถึงปัจจุบัน
Photo from Facebook: Samran Chan

มีประวัติความเป็นมากล่าวขานสืบต่อกันมาว่า เดิมทีนั้นประดิษฐานอยู่ทางภาคเหนือ ต่อมาบ้านเมืองเกิดเหตุการณ์ระส่ำระสายจึงได้แสดงปาฏิหาริย์ลอยน้ำลงมาพร้อมกับพี่น้อง 3 องค์ พระพุทธรูปองค์พี่มีขนาดใหญ่ล่องไปถึงแม่น้ำแม่กลอง ชาวประมงอัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “หลวงพ่อบ้านแหลม” พระพุทธรูปองค์เล็กล่องเข้าไปที่คลองบางพลี คือ “หลวงพ่อโต” วัดบางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนพระพุทธรูปองค์กลางนั้นล่องไปทางแม่น้ำบางปะกง เมื่อมาถึงบริเวณหน้าวัดหงส์ ชาวบ้านจำนวนมากช่วยกันยกฉุดแต่ก็ไม่สามารถนำขึ้นจากน้ำได้ จนมีอาจารย์ผู้หนึ่งได้ทำพิธีบวงสรวง และใช้ด้ายสายสิญจน์คล้องพระหัตถ์อัญเชิญขึ้นจากน้ำเป็นอันสำเร็จ วัดหงส์นี้กาลภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโสธร และขนานนามพระพุทธรูปศักดิ์สิทธินี้ตามชื่อวัดคือ “หลวงพ่อโสธร”