ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
คือประวัติแห่งการต่อสู้ของมวลมนุษย์ กล่าวคือ เป็นบันทึกแห่งการต่อสู้ระหว่าง ชนชั้นผู้กดขี่ขูดรีด (Exploiting Classes) กับ ชนชั้นผู้ถูกกดขี่ (Exploited Classes) วิถีดำเนินแห่งประวัติศาสตร์อันยาวนานของมวลมนุษย์ตั้งแต่ยุคชุมชนบุพกาล ผ่านยุคทาส ยุคศักดินา และยุคทุนนิยม มาจนถึงยุคทุนนิยมขั้นสุดยอด คือจักรวรรดินิยม และการกำเนิดแห่งสังคมนิยมในปัจจุบัน เป็นวิถีดำเนินที่ได้พัฒนาคลี่คลายมาภายใต้ครรลลองของระบบ “การเข้าแทนที่” (Replacement) นั้นก็คือ สิ่งใหม่ อันดีงามกว่า สดใสกว่า และก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อมวลประชาชนมากกว่า ได้ก้าวเข้ามาแทนที่ สิ่งเก่า อันคร่ำคร่าถอยหลัง และกำลังผุกร่อนสลายตัว
วิถีดำเนินของประวัติศาสตร์ที่ได้พัฒนาคลี่คลายมาเป็นลำดับนี้ แน่นอน มันมิได้พัฒนามาโดยตัวของมันเองเยี่ยงจักรกล มันมิได้พัฒนามาในแบบเกิดเองเป็นเอง โดยขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติอันเป็น พลังที่ปราศจากความสำนึก (Unconscious Forces) หากมันได้พัฒนามาตามลำดับขั้นโดยความผลักดันแห่ง พลังอันเพียบด้วยความสำนึก (Conscious Forces) ของมวลประชาชน มันพัฒนามาโดยมีพลังความปรารถนาของมวลประชาชนผู้มีความสำนึกทางชนชั้นเป็นเครื่องกำหนด และมีพลังแห่งการต่อสู้อันมหาศาลที่ผนึกเข้าด้วยกันอย่างเหนียวแน่นของมวลประชาชนผู้ถูกกดขี่ขูดรีดเป็นพลังนำ ในการเข้าบุกเบิก ทำลายเพื่อแทนที่สิ่งเก่า มวลชนผู้ถูกกดขี่ขูดรีดและผู้ดำรงชีวิตอยู่ภายใต้แอกแห่งความทุกข์ยาก ได้กรีธาพลังอันไพศาลและแกร่งไกรของเขาเข้าต่อสู้อย่างอาจหาญและไม่ระยอบย่อเพื่อทำลายล้างความอยุติธรรม การกดขี่ การขูดรีด ของชนชั้นผู้กดขี่ขูดรีด และสร้างสังคมใหม่ซึ่งชีวิตของเขาทุกผู้จะได้เบิกบานชื่นชมในสันติสุขอันแท้จริงขึ้น
สิ่งใหม่ที่ก้าวเข้ามาแทนทีสิ่งเก่า มิได้ก้าวเข้ามาอย่างง่ายดายและไร้ศักดิ์ศรี หากมันได้ก้าวเข้ามาอย่างสง่างามและพร้อมกันนั้น มันได้บดขยี้ทำลายสิ่งเก่าอันเป็นเสมือนโซ่ตรวนอันคร่ำคร่าที่รัดพันธนาชีวิตของมวลประชาชนมานับด้วยศตวรรษนั้นให้สูญสิ้นซากไป?..มันก้าวเข้ามาได้ทีละก้าวทีละระดับขั้น ก็โดยการต่อสู้ และแน่นอน มันเข้าแทนที่สิ่งเก่าได้ก็โดยการผ่านชัยชำนะในการต่อสู้นั้นแต่ประการเดียว !
กระแสธารอันยาวไกลแห่งศิลปะก็เช่นเดียวกัน ศิลปะของมวลประชาชนส่วนข้างมากผู้ทำงานเพื่อผลิตสิ่งที่มีคุณค่าออกเลี้ยงชีวิตและโลก ได้ถูกบดบัง บิดเบือน กีดกัน เหยียบย่ำและทำลายอย่างหนักหน่วงตลอดมา แต่ทว่ามวลประชาชนและศิลปิน นักรบและผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของเขา ได้ระดมและกรธาพลังเข้าต่อสู้บุกเบิกอย่างไม่หวั่นไหวระยอบย่อเสมอมาศิลปะเพื่อชนชั้นนายทาส ศิลปะเพื่อชนชั้นศักดินา ศิลปะอันเสรีของชนชั้นนายทุนเสรีนิยม และศิลปะเพื่อการผูกขาดของนายทุนผูกขาดจักรวรรดินิยม ได้ถูกทำลายล้างไปในอดีต และกำลังถูกตอบโต้ทำลายล้างอยู่ในปัจจุบันตามลำดับ จุดสลายตัวของศิลปะเพื่อศิลปะ และศิลปะเพื่อการผูกขาดของชนชั้นนายทุนเสรีนิยมและจักรวรรดินิยมที่กำลังขยายตัวอยู่ทุกขณะจิตในปัจจุบันนี้ แน่นอน มันมิได้เกิดขึ้นเองโดยมีชะตากรรมอันกำหนดโดยสรวงสวรรค์ หากมันเกิดขึ้นควบคู่ไปกับผลแห่งความเปลี่ยนแปลงคลี่คลายทางเศรษฐกิจและการเมือง และแน่นอน อัตราเร่งแห่งการสลายตัวนั้นกำลังทับทวีโดยพลังแห่งการต่อสู้อย่างแข็งแกร่งของสิ่งใหม่ที่กำลังก้าวเข้ามาแทนที่ นั่นคือ พลังของมวลประชาชนผู้เสนอคำขวัญที่ว่า “ศิลปะเพื่อชีวิต”
“ศิลปะเพื่อชีวิต” เป็นก้าวหนึ่งแห่งชัยชำนะของพลังอันเปี่ยมด้วยความสำนึกของประชาชน แม้ว่ามันจะเป็นชัยชำนะขั้นหนึ่งที่ใกล้เข้ามา แต่ “ศิลปะเพื่อชีวิต” ก็อาจมีได้ทั้งศิลปะที่มีบทบาทเพื่อรับใช้ชีวิตของศัตรูของประชาชน และศิลปะเพื่อรับใช้ชีวิตของประชาชน ฉะนั้นชัยชำนะบั้นปลายสุดที่ประชาชนทั้งมวลต้องการ..ชัยชำนะบั้นปลายสุดอันเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดในทรรศนะของประชาชนผู้ทำงาน… ก็คือศิลปะที่รับใช้ชีวิตของมวลประชาชนส่วนข้างมากผู้ทำงานเพื่อผลิตสิ่งที่มีคุณค่าออกเลี้ยงชีวิตและโลก นั่นก็คือ “ศิลปะเพื่อประชาชน”
“ศิลปะเพื่อประชาชน” คือ ธงชัยอันงามสง่าของมวลประชาชน บัดนี้ธงชัยนี้ได้เริ่มปรากฎเด่นและสบัดพลิ้วอยู่ท่ามกลางสนามรบของมวลประชาชนแล้วอย่างงามสง่า มวลชนได้เชิดชูธงชัยแห่งศิลปะของเขาสูงขึ้นและสูงขึ้น ศิลปินของประชาชนได้ประสานมือกันเข้าอย่างกระชับแน่น เพื่อปกป้องต่อสู้และบุกเบิกสถานที่ในประวัติศาสตร์ เพื่อประดิษฐานธงชัยแห่งศิลปะอันงามสง่าของเขานั้นด้วยดวงใจอันเร่าร้อนและเผาไหม้ด้วยความสำนึก!
ศิลปะเพื่อประชาชนคืออะไร?
ศิลปินจำนวนไม่น้อยได้เริ่มมีความสำนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับประชาชน เขาได้ทอดสายตามายังธงชัยผืนนี้ด้วยสายตาอันมัวสลัว พร้อมด้วยความตั้งใจที่จะเข้าร่วมในขบวนการรับใช้ชีวิตของประชาชน แต่การรับใช้ประชาชนนั้นสิ มันคืออย่าไรกันแน่หนอ? หลายคนในหมู่พวกเขาได้ตั้งความหวังดีอันน่าสรรเสริญไว้ว่า ศิลปะของเขาจักต้องเพื่อประชาชน จักต้องเพื่อประชาชนเท่านั้นโดยแท้! ทั้ง ๆ ที่สายตาของเขายังมัวสลัว ความเข้าใจของเขายังคลุมเครือ แต่เขาก็ยังได้ประกาศอยู่เสมอด้วยความเชื่อมั่นว่า เขาสร้างศิลปะขึ้นเพื่อประชาชน และมันเพื่อประชาชนส่วนข้างมาก ตัวอย่างของศิลปะประเภทที่เขากล่าวถึงนี้ ก็คือเพลงประเภทหนุ่มเง้าสาวงอน หรือซนแต่สวย ดนตรีที่มีจังหวะอันร้อนแรงและลามก ภาพยนตร์ประเภทที่แสดงเรื่องอาชญากรรม นักสืบ คาวบอย หรือภาพยนตร์ชีวิตที่แสดงทางออกอันผิดพลาดให้แก่ผู้ดู นวนิยายที่ชวนเยาวชนให้ฝันหวานอยู่กับความหลอกลวงของชีวิต นิตยสารล่อแหลมลามกมีภาพอนาจารพิมพ์หราอยู่ทั้งบนปกนอกและเนื้อใน ฯลฯ ซึ่งผลสะท้อนของมันที่ปรากฎอยู่ในสังคมปัจจุบัน ก็ย่อมเป็นที่ประจักษ์กันอยู่ทั่วไปแล้วว่า มีความดีและเลวเพียงใด ในการผลิตศิลปะไม่ว่าจะเป็นประเภทใดออกสู่ประชาชนนั้น ศิลปินประเภทนี้มีจุดมุ่งอยู่แต่เพียงที่จะพยายามให้ประชาชนชอบ ถ้าปรากฎว่าประชาชนชอบและนิยมกันอย่างกว้างขวางแล้ว ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ทันทีว่าศิลปะของเขาเป็นศิลปะของประชาชน ความเข้าใจของเขาเช่นนี้เป็นความเข้าใจที่ถ้าจะให้เกียรติเรียกว่า “ถูก” มันก็ถูกเพียงด้านเดียว คือด้านที่ “สร้างศิลปะให้ประชาชนเข้าใจและรับได้” แต่อีกด้านหนึ่ง คือด้านความรับผิดชอบต่อ “ผลสะท้อน” ของศิลปะแล้ว ก็ยังต้องเรียกว่าผิดพลาดอย่างฉกรรจ์ ทั้งนี้เพราะเขาผลิตมันออกมาโดยไร้ความสำนึกรับผิดชอบว่า ผลสะท้อนของศิลปะนั้นจะไปตกแก่ประชาชนในรูปใด ในยุคสมัยที่สังคมไทยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจักรวรรดินิยมต่างประเทศเช่นนี้ เราย่อมยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า จักรวรรดินิยมพยายามอย่างยิ่งที่จะมอมเมาชักจูงประชาชนไทยทั้งมวลให้เมินเฉยต่อสภาพความเป็นไปของสังคม โดยชักจูงให้มัวหลงระเริงเคลิบเคลิ้มไปเสียกับความฟุ้งเฟ้อเหลวไหลนานาประการ จนกระทั่งลืมนึกถึงปัญหาทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับ เอกราช อธิปไตย ความยุติธรรมของสังคมและสันติสุขของมวลประชาชน ก็เมื่อความปรารถนาอันยิ่งยวดขนองจักรวรรดินิยมมีอยู่เช่นนี้แล้ว ศิลปินของเราที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไร้ความสำนึกรับผิดชอบ ได้ผลิตศิลปะออกมาในลักษณะที่ทำให้ประชาชนหลงใหลฟุ้งเฟ้อดังกล่าวมาแต่ต้น เราจะปฏิเสธได้อย่างไรว่า ศิลปะเหล่านั้นจะโดยความจงใจนของศิลปินหรือไม่ก็ตาม มันได้ส่งผลสะท้อนไปเพื่อรับใช้ความปรารถนาของจักรวรรดินิยมเสียแล้วโดยแท้จริง แล้วฉะนี้เราจะเรียกมันว่า “ศิลปะเพื่อจักรวรรดินิยม หรือศิลปะเพื่อประชาชน”
ศิลปินบางกลุ่มยึดถือคติ “รับใช้ประชาชน” โดยการผลิตสิ่งที่เขาเห็นว่าประชาชนชอบออกมา เช่นในการผลิตเพลงเขาจะผลิตเพลงที่มีลักษณะโน้มเอียงไปในทางกามารมณ์ โดยให้เหตุผลง่าย ๆ ว่า ประชาชนชอบ เมื่อเขาทำตามที่ประชาชนชอบ เขาก็ตู่เอาง่ายๆว่า นั่นคือการรับใข้ประชาชน และศิลปะของเขาคือ “ศิลปะเพื่อประชาชน” เขาเองเป็น “ศิลปินของประชาชน” เมื่อประชาชนพอใจอย่างไร เขาก็ต้องทำอย่างนั้น !
ปัญหามีอยู่ว่า ประชาชนชอบอย่างนั้นจริงหรือ? ประชาชนทุกคนเมื่อเกิดมาแบเบาะ ก็มีสันดานชอบเพลงที่เคล้าคลุกด้วยกามารมณ์ได้เองกระนั้นหรือ? ประชาชนทุกคนมีอุปชาติสันดานที่ชอบฟังเพลงประเภทฟุ้งเฟ้อไร้สาระและเป็นพิษเป็นภัยเช่นนั้นมาแต่กำเนิดกระนั้นหรือ? หามิได้ ความนิยมชมชอบเปรียบก็เสมือนความนิยมเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม ใครบ้างจะยืนยันได้ว่า ที่เราเกิดมีประเพณีบริการเครื่องดื่มกันอย่างฟุ่มเฟือยเช่นปัจจุบันนี้ เป็นเพราะประชาชนไทยมีความนิยมเช่นนั้นติดเนื่องมาในดวงจิตแต่กำเนิด ความนิยมเช่นนี้เป็นผลมาจากการโฆษณา และการขยายตัวทางการค้าเพื่อแสวงผลประโยชน์ของพวกนายทุนจักรวรรดินิยมและนายทุนนายหน้าการโฆษณา เพื่แสวงผลกำไรนี้แหละที่ได้ก่อให้เกิดรสนิยมในเครื่องดื่มประเภทนี้ขึ้นในหมู่ประชาชน บทบาทการแสวงผลประโยชน์ของพวกนายทุนจักรวรรดินิยมและนายทุนนายหน้า ได้สร้างและนำรสนิยมให้แก่ผู้ดื่มฉันใด ศิลปินก็เป็นผู้สร้างและนำรสนิยมของประชาชนฉันนั้น
สมชาย ปรีชาเจริญ เคยกล่าวไว้ในบทความเรื่อง “เพลงไทยสากลในปัจจุบัน” ซึ่งลงพิมพ์ในคอลัมน์ ศิลปะทรรศนะของหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทยอาทิตย์ ฉบับวันที่ 8 มกราคม 2499 ว่า
“เหตุผลอันเป็นเงื่อนงำสำคัญที่ทำให้สามัญชนไทยปัจจุบันนิยมร้องเพลงไทยสากลนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่ามาจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะชีวิตโดยส่วนรวมนั่นเอง จากโครงครอบของระบบศักดินามาสู่ระบบชีวิตแบบเสรีนิยม และอะไรต่ออะไรเคล้าคละกัน อีกอย่างหนึ่ง ทุกคนเริ่มเบื่อหน่ายความยืดยาดจำเจและระเบียบแบบแผนของเพลงไทยเดิมอันเป็นศิลปะสมัยเก่า จึงหันมาหาทางออกฝดดยหาเพลงอะไรก็ได้ที่ใหม่ ๆ หน่อย รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม และข้อสำคัญก็คือที่ไม่มีกลิ่นอายของความคร่ำครึ เมื่อหันมาพบเพลงไทยสากลซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เขาได้รับ เขาก็รับเอาไว้ จะดีจะเลวอย่างไร มักจะมิได้คำนึงถึง ทั้งนี้เพราะเพลงที่เลวก็มิได้เลวตูมตามออกมาทีเดียวจนคนร้องคนฟังฉุกคิด มันค่อย ๆ มีกลิ่นอายเลวทรามขยายออกมาทีละน้อย ซึ่งจะค่อย ๆ กลายเป็นของชินชาต่อประสาทรู้สึกทางด้านศีลธรรมและสำนึกผิดชอบของประชาชน…“
จะเห็นได้จากข้อความที่คัดมานี้ว่า ศิลปินนั้นเทียวคือ ผู้สร้างรสนิยมขึ้น และก็ค่อย ๆ พอกพูนรสนิยมนั้นมากขึ้นทุกระยะ ถ้าเป็นเพลงที่ลามก ก็จะเร่ามด้วยการลามกแต่เล็กน้อย แล้วเพิ่มทวีมากขึ้นและมากขึ้นตามลำดับ ความเคยชินของประชาชนและความมันมือของศิลปิน ข้อนี้คงไม่มีใครปฏิเสธ และก็เมื่อได้เสนอออกไปแล้ว ปรากฎว่าประชาชนชอบกันมากเพราะแปลกและใหม่ ศิลปินต่างก็ระดมกันผลิตเพลงประเภทนี้ออกสู่ตลาด โดย ฉกฉวยเอารสนิยมนั้นเป็นพื้นฐานของการสร้างชื่อเสียงและความมั่งคั่ง แล้วเราจะเรียกศิลปะประเภทนี้ว่า “ศิลปะเพื่อมอมเมาหากินกับประชาชน” หรือ “ศิลปะเพื่อประชาชน” ดีหนอ? และยิ่งผลสะท้อนของมันได้ส่งออกมามอมเมาเยาวชนไทย ให้ละเลยต่อสภาพความเป็นไปของสังคมตามความปรารถนาของจักรวรรดินิยมด้วยเช่นนี้ มันจะไม่สมควรเป็น ศิลปะเพื่อจักรวรรดินิยม ไปโดยพฤตินัยละหรือ?
การสร้างศิลปะเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าใจและรับได้มิได้เป็นหลักประกันอันแน่นอนว่า ศิลปะที่สร้างขึ้นนั้นจะต้องเป็น “ศิลปะเพื่อประชาชน” เพราะนายทาส ศักดินา นายทุนเสรีนิยม และนายทุนจักรวรรดินิยม ต่างก็สามารถสร้างและเคยสร้างศิลปะที่เข้าใจง่ายเช่นนี้ขึ้นเพื่อมอมเมาประชาชนมาแล้วทั้งนั้น !
การสร้างศิลปะขึ้นโดยตามใยจประชาชนราวกับทาสที่รับใช้อย่างสัตย์ซื่อ มิได้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าศิลปะนั้น ๆ จะมีลักษณะเป็น “ศิลปะเพื่อประชาชน” การกะเก็งรสนิยมของประชาชนว่าเป็นเช่นไร แล้วสร้างศิลปะออกมาให้สอดคล้องหรือเพื่อย้ำรสนิยมนั้นให้เพิ่มทวีขึ้น เป็นวิธีการของนักฉวยโอกาสที่แสวงหาผลประโยชน์จากประชาชน และหลอกลวงหากินกับประชาชนโดยแท้ !
เมื่อเช่นนี้แล้ว อะไรเล่าคือมาตรการที่จะใช้วัดหรือเป็นหลักประกันว่า ศิลปะชิ้นหนึ่งจะมีสภาพเป็น “ศิลปะเพื่อประชาชนจริงหรือไม่?”
สิ่งที่เราจะใช้และยึดถือเป็นมาตรการหรือหลักสำหรับวัดว่าศิลปะแต่ละชิ้นมีลักษณะเป็น “ศิลปะเพื่อประชาชน” จริงหรือไม่นั้นก็คือ ผลสะท้อนที่เกิดจากศิลปะนั้น ๆ
ศิลปะทีส่งผลสะท้อนออกไปทำให้ประชาชนหลงละเมอเพ้อฝันกับความเกษมสำราญแบบเอาตัวรอด ชักจูงให้ประชาชนละเลยและลืมสภาพความเป็นจริงในสังคม มอมเมาให้ประชาชนไร้ ความสำนึกในฐานะทางสังคม (Social Consciousness) ไม่เป็นสัญลักษณ์อันแสดงถึงการสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ และก็ไม่มีพลังอันยั่วยุให้เกิดการสร้างสรรค์ความเคลื่อนไหวพัฒนาไปสู่สภาพที่ดีกว่าของชีวิต เช่นนี้ย่อมมิใช่ “ศิลปะเพื่อประชาชน” หากเป็น “ศิลปะที่มอมเมาประชาชน” ศิลปะที่ส่งผลสะท้อนออกไปทำให้ประชาชยึดมั่นอยู่กับความเป็นจริงของชีวิต กระชับประชาชนให้สนิทแน่นอยู่กับสภาพความเป็นจริงของสังคม นำประชาชให้เกิดความสำนึกในฐานะทางสังคม เป็นสัญลักษณ์อันแสดงถึงการสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ และมีพลังอันยั่วยุให้เกิดการสร้างสรรค์และความเคลื่อนไหวพัฒนาไปสู่สภาพที่ดีกว่าของชีวิต เช่นนี้ คือ “ศิลปะเพื่อประชาชน” ที่แท้จริง
“ศิลปะเพื่อประชาชน” คือศิลปะที่มีจุดมุ่งเพื่อรับใช้ประชาชนในการต่อสู้กับความเลวทรามของชีวิต และสร้างสรรค์ชีวิตใหม่อันดีงามกว่าสดใสกว่าขึ้นแทนที่
บัดนี้ เราได้ทำความเข้าใจกันแล้วว่า ศิลปะเพื่อประชาชนมีความหมายอันแท้จริงเช่นไร เราได้มองเห็นอย่างแจ่มชัดแล้วว่า “ศิลปะเพื่อประชาชน” แตกต่างจาก “ศิลปะเพื่อมอมเมาประชาชน” หรือ “ศิลปะที่หลอกล่อหากินกับประชาชน” อย่างไร เมื่อฉะนี้แล้วก็คงไม่จำเป็นที่เราจะต้องกล่าวย้ำต่อไปว่า ศิลปินไทยในยุคปัจจุบันจำนวนหนึ่งที่ผลิตศิลปะประเภทดังกล่าวมาข้างต้นนั้น ได้เข้าใจความหมายของคติ “ศิลปะเพื่อประชาชน” ผิดพลาดไปอย่างกลับตาลปัตร
การที่ศิลปินกลุ่มนั้นเข้าใจผิด และผลิตศิลปะที่มีผลสะท้อนอันเลวทรามออกมาโดยอวดอ้างว่าเป็นศิลปะเพื่อประชาชนนั้น นอกจากจะมอมเมาประชาชนอย่างน่าอนาถแล้ว มันยังได้ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้นอีกประการหนึ่งซึ่งเป็นปฏิกิริยาสุดขั้วต่อแนวทางพัฒนาศิลปะเพื่อประชาชนนั่นคือ มันได้ทำให้พวกนักศึกษาศิลปะของสำนัก “ศิลปะเพื่อศิลปะ” พากันหยิบยกมาเป็นข้อโจมตีคติ “ศิลปะเพื่อประชาชน” อยู่เสมอว่าเป็นคติที่มุ่งจะผลิตแต่ศิลปะเลว ๆ ต่ำ ๆ สุกเอาเผากิน ทั้งนี้ก็เพราะนักศึกษาศิลปะฝ่ายนี้พากันหลงเชื่อตามคำอวดอ้างไปด้วยว่า “ศิลปะที่หลอกหากินกับประชาชน” นั้นคือ “ศิลปะเพื่อประชาชน” เขาหลงเชื่อโดยที่มิได้ตรึกตรองให้รอบคอบ แล้วเลยเกิดความเกลียดชังคติ “ศิลปะเพื่อประชาชน” ขึ้นอย่างจับใจ และโจมตีคตินี้อยู่เสมอมาอย่างทรหดอดทน สมชาย ปรีชาเจริญ ได้เคยกล่าวถึงปัญหานี้ไว้ในบทความเรื่อง “วรรณคดีและความเป็นจริงของชีวิต” ซึ่งลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สารเสรี ฉบับวันที่ 11 สิงหาคม 2500 ว่า
“ท.จ. นักศึกษาศิลปะผู้ยิ่งใหญ่ในกลุ่มปฏิกิริยาสุดขั้ว ได้เคยกล่าวไว้ในบทความเรื่อง ‘ทางแห่งการทำงานของศิลปิน’ ซึ่งลงพิมพ์ในหนังสือ ‘รับน้องใหม่ 2498’ ของมหาวิทยาลัยศิลปากรว่า การทำงานาของศิลปินที่ถือคติ ศิลปะเพื่อชีวิต หรือ ศิลปะเพื่อประชาชน ก็คือการหลับหูหลับตาสร้าง จิตรกรรมตลาด…เพลงสวิง เพลงปอปปูลาร์ที่กระแทกโครม ๆ สักแต่ว่าให้เป็นเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ หนังสืออ่านเล่นสิบสตางค์หรือหลายสตางค์ที่มีทั้งสำนวนหวานระริก สำนวนรัก สำนวนเหี้ยมวางขายอยู่เกลื่อนตลาด… แต่เพลงตลาดให้ประชาชนชอบ วาดรูปต่ำ ๆ ที่สวยแม้แต่คนตาบอด… ทำงานศิลปะเหมือนใช้เท้า ง่ายก็ง่าย… แต่เพลงตลาดสุกเอาเผากินเขียนรูปโปสเตอร์หรือปั้นตุ๊กตาศาลพระภูมิ…รูปโปสเตอร์ข้างถนน รูปแทรกหนังสือพิมพ์ ปกหนังสือสิบสตางค์ เพลงแจสส์ เพลงสวิง เพลงปอปปูลาร์ ฯลฯ”
อนิจจา ท.จ. ผู้มีแนวคิดอันเฟื่องไฉนจึงได้เข้าใจผิดไปจนสุดโต่งอย่าง ที่เรียกว่ากู่แล้วไม่ยอมเหลียวหลังเช่นนี้หนอ? การทำงานของศิลปินในข่าย ศิลปะเพื่อชีวิต หรือ ศิลปะเพื่อประชาชนมิได้หมายความถึงการ “ทำงานศิลปะเหมือนใช้เท้า” คือมิได้หมายถึงเอาตีนเขี่ย ๆ สุก ๆ ดิบ ๆ ดอก การทำงานศิลปะเพื่อประชาชนมิได้หมายถึงผลิตของต่ำ ๆ เลว ๆ สุกเอาเผากิน อย่างที่ท่าน ท.จ. ผู้ทรงคุณวิทยาเข้าใจเลยแม้แต่น้อย เราเกลียดชังสิ่งเดียวกับที่ท่านเกลียดชัง…ศิลปินของคติศิลปะเพื่อประชาชนเกลียดชังและสาปแช่งพวกศิลปะที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกามารมณ์ทุกชนิด เราเกลียดชังและสาปแช่งเพลงจังหวะเร่าร้อนแบบโยกและคลึงหรือคาลิบโซ (ที่กำลังเห่อกันเกรียวกราวอยู่สด ๆ ร้อน ๆ ในสหรัฐอเมริกา) ทั้งนี้เพราะมันสะท้อนถ่ายเอาจังหวะในการขย่มห่มตัวในการเสพสังวาสออกมาอย่งย้อมยวนจิตใจเยาวชนให้เสื่อมทราม เราเกลียดชังนวนิยายและภาพเขียนตลอดจนรูปปั้นที่ยั่วยวนกามารมณ์อย่างคุโชน เราเกลียดชังนวนิยายประเภทนักสืบอันโกหก และนวนิยายอาชญากรรมอันเป็นตัวอย่างอันเลวทรามแก่เยาวชน เราเกลียดชังศิลปะทุกแขนงที่เน้นหนักลงไปในด้านเลวทรามของจิตใจมนุษย์โดยทำให้มันเป็นของน่าดูน่าชม และนอกจากเกลียดชังและสาปแช่งแล้ว เรายังได้ทำสิ่งที่ท่านไม่ได้ทำเลยอีกด้วย นั่นคือได้รณรงค์ต่อต้านคัดค้านอย่างจริงจังและไม่หวาดไหวเสมอมา ! จงรับรู้ไว้ด้วยเถิดว่า เรามองเห็นศิลปินที่ไม่ยอมรับรู้ในผลสะท้อนที่ศิลปะมีต่อชีวิตนั้น เลวทรามเสียยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ ในโลก ศิลปินที่สักแต่สร้างศิลปะออกมาโดยถือเอาความพึงพอใจของตนเป็นใหญ่ หรือโดยถือเอาการค้าขายหรือเงินตราเป็นใหญ่ โดยไม่ยอมรับผิดชอบต่อผลสะท้อนที่มันจะมีต่อมวลประชาชน ก็คือสัตว์ที่เลวทรามที่สุดในสายตาของเรา!
“ตามแนวทางศิลปะเพื่อประชาชนของเรานั้น การสร้างศิลปะเพื่อประชาชนก็คือการสร้างศิลปะที่ซื่อตรงต่อชีวิต ศิลปินจักต้องศึกษาชีวิตอย่างเจนจบลึกซึ้งถึงแก่นแท้ทุกแง่ทุกมุมมิใช่ศึกษาแต่อารมณ์เพ้อฝันของตนแต่ฝ่ายเดียว จนไม่ยอมลืมตามองดูชีวิตจริงของประชาชนในสังคม เมื่อได้ศึกษาวิชาอย่างเจนจบแท้จริงตามที่มันเป็นจริงเช่นนี้แล้เว จึงสะท้อนถ่ายชีวิตออกมาอย่างตรงต้องกับความเป็นจริง สะท้อนออกมาทั้งในด้านความดีงามและด้านอัปลักษณ์เลวทรามของชีวิต เราสะท้อนความดีงามออกมาเพื่อเป็นแบบอย่าง และสะท้อนความเลวทรามออกมาเพื่อเป็นแบบอย่าง และตระหนักชัดในความเลวของมัน ต้นตอที่มาของมัน และเสนอแนะแนวทางเพื่อให้ประชาชนแก้ไขมัน นี้คือการนำศิลปะเข้ารับใช้ชีวิต การสร้างศิลปะเพื่อรับใช้ชีวิตของประชาชน มิใช่สร้างศิลปะขึ้นอย่างผิวเผิน โดยนั่งนึกฝันเอากับลมแล้งบนโต๊ะในห้องทำงานหากเป็นการสร้างโดยได้ศึกษาสภาพความเป็นจริงของชีวิตแล้วอย่างลึกซึ้ง และสร้างขึ้นเพื่อให้มันมีคุณค่าแก่ชีวิตของมวลประชาชนอย่างลึกซึ้งโดยแท้”
ที่ได้กล่าวและตัดตอนมาทั้งหมดนี้ คงจะได้ให้ความกระจ่างชัดเพียงพอแล้วว่า “ศิลปะเพื่อประชาชน” มีลักษณะอันสูงส่งเพียงใด และจุดยืนของมันนั้นตั้งอยู่อย่างตรงข้ามกับศิลปะที่มอมเมาหลอกลวงประชาชนกินเช่นใด
ศิลปะเพื่อประชาชน คือศิลปะที่ซื่อสัตย์ต่อสภาพความเป็นจริงแห่งชีวิตของมวลชนผู้ทุกข์ทรมานในสังคมอันอยุติธรรม ศิลปะเพื่อประชาชนไม่เพียงแต่จะเปิดโปงความเลวร้ายของชีวิต… ไม่เพียงแต่จะศึกษาโลกและชีวิตตามที่มันเป็นจริงและสะท้อนถ่ายออกมาอย่างซื่อสัตย์…ไม่เพียงแต่จะเป็นเสมือนหอกอันแหลมคมที่จะทะลวงแทงศัตรูแห่งประชาชนเท่านั้น หากจักต้องเป็นเสมือนเชื้อเพลิงที่จุดจี้ลงในกลางดวงใจของประชาชน เพื่อให้เขาตื่นขึ้นด้วยความสำนึกในอันที่จะเปลี่ยนแปลงโลกและชีวิตให้ดำเนินไปสู่ความผาสุก และความดีงามอันสมบูรณ์แท้จริงอีกโสดหนึ่งด้วย
ถ้าจะเปรียบศิลปินเป็นเสมือน “นักรบ” และศิลปะเป็นเสมือน หอกอันแหลมคมและโคมไฟอันจ้าสว่าง เราก็คงจะเริ่มรู้สึกบ้างแล้วมิใช่หรือว่า ศิลปินหรือนักรบของเราหลายคนได้ใช้หอกและโคมของเขาอย่างผิดพลาด แทนที่เขาจะใช้หอกทิ่มแทงศัตรูของประชาชน และเชิดชูโคมไฟนำทางประชาชนไปสู่ภสพชีวิตที่ดีกว่า เขากลับใช้หอกนั้นทิ่มตำประชาชนและใช้โคมนั้นส่องนำทางประชาชนไปสู่ห้วงเหวอันล้ำลึก ในบัดนี้เมื่อเขาได้สำนึกแล้ว เขาจะเริ่มใช้อาวุธอันแหลมคมนั้นเพื่อต่อสู้ประหารศัตรูของมวลชนและชูเชิดโคมไฟส่องนำประชาชนไปสู่วิถีชีวิตอันดีกว่า
ทีปกร (จิตร ภูมิศักดิ์)
หนังสือเอื้องฟ้า คณะบัญชีฯ ธรรมศาสตร์, วันธรรมศาสตร์สามัคคี 5 พ.ย. 2500