นิติธร ทองธีรกุล

สิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่สังคมไทยเริ่มหันมาให้ความสนใจ อาจจะเป็นเพราะในสังคมไทยได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมากในหลายเรื่อง เช่น ค้ามนุษย์ เด็ก ผู้หญิง ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้ถูกนำมาเผยแผ่ความจริงให้คนในสังคมรับรู้ผ่านสื่อต่างๆ มากมาย

ดนตรีและเพลงเพื่อชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งของการเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในสังคมไทยซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อการเรียนรู้เพื่อความเข้าใจร่วมกันของคนในสังคม ซึ่งหนึ่งในนั้นชื่อของนาย “นิติธร ทองธีรกุล” หรือ “เอ้ นิติ’กุล”ที่เรียกสิ่งที่ตัวเองทำว่า “เพลงเพื่อชีวิตและสังคม” ก็เป็นนิยามหนึ่งของเพลงเพื่อชีวิต ที่เน้นแต่การให้มองเห็นแบบเพียงอย่างเดียว ไม่ได้จำต้องมีภาคปฏิบัติการบางอย่างที่เป็นรูปธรรมด้วย

เอ้ – นิติธร ทองธีรกุล (ในขณะนั้น) ผู้ประสานงานสิทธิมนุษยชนศึกษา Amnesty International Thailand (AI) กล่าวถึงการสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสังคมไทยปัจจุบัน สะท้อนมุมมองจากคนทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนว่า ระบบการศึกษาควรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างวัฒนธรรมทางการเรียนรู้ให้ทุกคนเข้าถึงหลักของสิทธิมนุษยชน อันเป็นพื้นฐานของการเมืองของระบอบประชาธิปไตยและการเคารพซึ่งสิทธิของผู้อื่นด้วย ไม่ใช่เพียงการอ้างสิทธิตามกฎหมายเท่านั้น

เอ้ กล่าวถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสังคมไทย “สิทธิมนุษยชน มันจะมีมุมที่แตกต่างจากสิทธิอย่างเดียวมาก สิทธิมนุษยชน จะว่าด้วยเรื่องความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่ติดตัวมาของเราทุกคน ไม่ได้แยกว่าคุณจะยากดีมีจน ร่ำรวยอย่างไร นั่นคือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน จะเป็นขอทานอย่างไรก็แล้ว แต่เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ก็มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ เพราะฉะนั้นการที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนก็ต้องการให้คนมองในมิตินี้ ส่วนเรื่องกฎหมายเป็นเรื่องที่มารองรับสิทธิมนุษยชนอีกที

ส่วนคำว่าสิทธิอย่างเดียวนี้ มันเป็นสิทธิตามกฎหมาย คือสิทธิตามกรอบของกฎหมายที่วางไว้ สิทธิมนุษยชน สิทธิ หน้าที่ความรับผิดชอบ มันมาด้วยกัน ถ้าเกิดคุณไม่สามารถรับผิดชอบตัวเองได้ กลายเป็นภาระของสังคมมันก็ส่งผลมากมาย สรุปของสิทธิมนุษยชนคือสิทธิในความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีใครเอาไปจากเราได้เป็นสิ่งที่ติดตัวเราอยู่ตลอด

การสร้างการเรียนรู้และทำความเข้าใจในหลักสิทธิมนุษยชน ปรากฏการณ์ในประเทศตะวันตกเป็นแบบอย่างที่ชัดเจนอย่างมากในการรับรู้ เรียนรู้ เกิดจากระบบการศึกษา ทั้งๆ ที่เป็นประเทศทุนนิยมแต่เขาให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนมาก อาจจะเป็นเพราะว่าทั้งการเรียนการสอน ครอบครัวสังคมเขามีการกล่อมเกลาเรื่องนี้มากกว่าสังคมไทย วัฒนธรรมของเขาให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนค่อนข้างมาก อาจจะเป็นช่องว่างของอะไรบางอย่างของทุนนิยม ที่มันถึงทำให้เขามาสู่บ้านเรา มันทำให้เกิดการละเมิดสิทธิในบ้านเราได้ง่ายมาก แต่ประเทศเขาค่อนข้างที่จะเข้มแข็งตรงที่ว่า เขาไม่สามารถที่จะมักง่ายได้กับเรื่องธรรมชาติได้ ในบ้านเขาต้องลงทุนค่อนข้างสูงในการที่จะไม่ให้มีการละเมิดสิทธิกับชุมชน เพราะถ้ามันไปกระทบพลเมือง พลเมืองเขารู้สิทธิของตัวเองและชุมชน เขาก็ออกมาเรียกร้อง มันถึงทำให้สมดุล คือมันไม่มีช่องห่างกันเยอะ แต่บ้านเราคิดว่าด้วยชาวบ้านไม่กล้า ไม่รู้สิทธิของตัวเอง ไม่กล้าลุกขึ้นมาสู้ มันทำให้ทุนนิยมมันมักง่ายไม่ลงทุน นักการเมืองเข้ามามีส่วนอะไรอย่างนี้ แทนที่คุณจะปล่อยน้ำดีๆ ออกมาด้วยระบบบำบัดที่สะอาดด้วยการลงทุนที่สูง แต่พอเห็นช่องว่างตรงนี้มันก็เกิดความมักง่ายกลายเป็นการละมิดสิทธิชุมชนไป หลายที่ที่ชาวบ้านลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้อง เรื่องจึงชะลอลง อาจจะเป็นเพราะการศึกษาในสังคมไทยที่ไม่เคยสร้างในเรื่องของการตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน

การศึกษามันต้องครอบคลุมไปทุกอย่างถึงเรื่องสิทธิและกฎหมายด้วย และเหตุที่บ้านเรายังไม่ให้ความสำคัญมากนัก ทำให้ชาวบ้านหรือคนทั่วไป ไม่เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ทำให้ไม่รู้เท่าทัน ถ้ามีการศึกษาที่ดี พัฒนาได้อย่างถูกทาง เรื่องสิทธิมันก็จะมาเหมือนกัน รู้เรื่องของตัวเอง สิทธิของชุมชน สิ่งที่จำเป็นในชีวิต มันก็จะทำให้การเข้าถึงของชาวบ้านจะมีมากขึ้น
หลักการของสิทธิมนุษยชนต้องการให้เกิดสมดุลในสังคม คนที่อ่อนแอกว่าต้องได้รับการเหลียวแล คนที่มีมากกว่าหรือแข็งแรงกว่าต้องมาดูแลคนที่อ่อนแอ ไม่เอรัดเอาเปรียบหรือกดขี่ข่มเหง เขาใช้คำว่าสิทธิมนุษยชนนั้นเป็น คุณธรรมสากล มันมาจากหลักศาสนาทั้งนั้นแหละ ที่ต้องดูแลคนที่อ่อนแอกว่ามองคนเป็นคน มองคนที่เหมือนกับเรา

ตะวันตกเขาไปได้ลึกและไกลในเรื่องสิทธิมนุษยชน เราเองไปเอาศาสตร์หรือกระบวนการเรียนรู้มาจากเขาค่อนข้างเยอะ แต่สิทธิมนุษยชนไม่ได้มาจากเขา คือคนจะเข้าใจว่าเรื่องของสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของตะวันตก เรื่องนี้มันไม่ได้มาจากตะวันตก แต่ถ้าบอกว่าเราเอาศาสตร์หรือองค์ความรู้การจัดกระบวนการเรียนรู้มาจากเขาก็ใช่ เพราะเขาไปได้ลึกไปได้ไกล เราไปเอาเครื่องมือต่างๆ มาจากเขาแต่ว่าเรื่องของสิทธิมนุษยชนมันเป็นเรื่องสากล อยู่ที่ว่าใคร ประเทศไหนจะให้ความสำคัญหรือหยิบยกขึ้นมา”

ในฐานะคนทำงานด้านในด้านสิทธิมนุษยชน และศิลปินเพลงเพื่อชีวิต การให้นิยามใหม่ของศิลปะเพื่อชีวิตจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก ที่เอาเรื่องราว 2 อย่าง ที่ดูเหมือนจะไม่เข้ากัน ระหว่างเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” และ “ศิลปะ” ให้สอดคล้องกัน ซึ่งประเด็นสำคัญที่สุดสำหรับ นิติธร ทองธีรกุล หรือ เอ้ นิติ’กุล คือ การให้คนเข้าใจให้หลักสิทธิมนุษยชน และภาพปรากฏการณ์จริงของการละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงในสังคมไทยให้ได้รับการแก้ไข และปรับเปลี่ยนนิยามใหม่ของ “เพลงเพื่อชีวิต” เพียงอย่างเดียวให้เป็น “เพลงเพื่อชีวิตและสังคม” ที่เน้นการเผยแพร่เรื่องสิทธิมนุษยชน โดยดนตรีจึงเป็นเครื่องมือในแง่ของความกระชับและเรื่องราวที่เข้าใจง่าย

“เราให้คุณค่าเรื่องเพลงว่าเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเรื่องประเด็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือเรื่องต่างๆ ในสังคม เพราะว่าเพลงมันมีพลังมาก บางที่เราสรุปรวบยอดเรื่องต่างๆ แล้วสื่อสารออกไปในท่วงทำนองที่สอดคล้องลงตัว แล้วก็มีดนตรีมาเสริม มันทำให้คนเกิดความเข้าใจ เกิดความตระหนักมากขึ้น ซึ่งจะดีมากถ้าเราบอกว่ามันมาจากเรื่องจริง ทุกครั้งที่จะร้องก็จะพูดให้คนที่ฟังรู้ว่ามันมาจากเรื่องจริง รู้สึกมันทำให้น่าสนใจมากกว่าที่เราจะพูดให้กันฟัง มันเป็นการสรุปความที่กระชับและชัดเจนมาก เป็นการสื่อสารที่มีพลัง

และหากถามว่าสิ่งที่ทำเป็น เพื่อชีวิต หรือเปล่า เราต้องนิยาม เพื่อชีวิต ว่าถ้าพูดถึง เพื่อชีวิต ตอนนี้หลายคนอาจจะมองหลายมุม คาราวาน คาราบาว ในยุคก่อน ถ้าวางตรงนั้นไว้แล้วมามอง เพื่อชีวิต ในปัจจุบันแบบที่พวกเราทำอยู่ อยากให้เติม เพื่อชีวิตและสังคม คือการจารึกแบบ เพื่อชีวิต ที่เราจดจำมาเป็นอีกแบบที่เราเป็นอยู่ คือเราทำงานพัฒนาเพื่อประเด็นทางสังคมผ่านบทเพลง ก็เลยคิดว่าน่าจะเติมเป็นเพื่อชีวิตและสังคมมันน่าจะเหมาะกว่า คือคำว่า เพื่อชีวิต มันกว้างมากแล้วก็มีกรอบ มุมมองของแต่ละคนไปในทางต่างๆ กัน การเขียนเพลงของผมมันมาจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริงจากเรื่องที่เกี่ยวกับงาน เช่น เรื่องการค้ามนุษย์ และเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องสิทธิเด็ก เป็นต้น คือจะเขียนเพลงได้ก็ต่อเมื่อได้ไปรับรู้เรื่องราว ถ้าจะให้นั่งนึกแล้วเขียนคงจะไม่ได้” เขาแสดงทัศนะต่อมุมมองเพลงเพื่อชีวิต

ผลงานเพลงของ เอ้ นิติ’กุล ยังเป็นภาพสะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมอยู่ ซึ่งเพลงเพื่อชีวิตในยุคที่สังคมมีความซับซ้อนมากจนทำให้ ความหมายหรือนิยามเดิมของเพื่อชีวิตไม่ตอบโจทย์ในโลกที่เป็นจริงของสังคม การให้นิยามใหม่จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายและควรตระหนักถึง

ในยุคที่เป็นรอยต่อของกระแสเพื่อชีวิตตกต่ำ ยังมีคนหลายกลุ่มในสังคมเริ่มทำงานสานศิลปะเพื่อรับใช้ และสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่ขาดเสียไม่ได้ของเพลงเพื่อชีวิตในยุคสมัยปัจจุบันนี้ ก็คือ การที่มีเนื้อหาที่แหลมคม และสามารถตอบโจทย์ของสังคมได้ เพราะนั่นคือประเด็นสำคัญที่สุดในทัศนะของเขากับเพลงเพื่อชีวิต

“ยุคนี้เป็นรอยต่อของเพื่อชีวิต เหมือนว่ามีแต่ละคนแต่ละกลุ่มเริ่มทำมาแล้ว แล้วจะทำต่อหรือเปล่า หรือจะหยุดอยู่แค่นั้น ทุกวันนี้มีกรอบหลายอย่างที่ทำให้งานออกมาเยอะแต่ไม่มีพลัง แต่นอกจากค่ายเพลงแล้วมันก็มีช่องทางต่างๆ ในการสื่อสารอยู่บ้าง สิ่งที่ขาดในการสร้างความต่อเนื่องคือแหล่งทุนเพราะว่าเรื่องเพลงมันใช้ทุนเยอะ ทรัพยากรต่างๆ ที่ทำออกมาแล้วให้มีมาตรฐาน จริงๆ งานดีของคนรุ่นใหม่มีเยอะมากแต่ไม่มีที่ทางสำหรับเรื่องแบบนี้

ไม่แน่ใจว่ากระบวนการมันอาจจะอยู่กับเนื้อหาด้วยหรือเปล่า ในการสื่อสารไม่ใช่แค่ความใหม่ของแนวดนตรีซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเทคนิค ในการไปตอบโจทย์สังคม งานที่ทำมันอาจจะใกล้ตัวเขา แต่มันไม่มีผลทางสังคมวงกว้าง ถ้าจะให้มันแหลมคมขึ้นมามันต้องให้เขาไปรับรู้ข้อมูลที่เป็นจริง สมมติว่าถ้าเราจะจัดค่ายแต่งเพลงก็จะต้องพาลงพื้นที่หาข้อมูลกันก่อนที่จะทำ คือรับคนที่มีพื้นฐานหน่อยไปเรียนรู้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น น่าจะช่วยให้เรียนรู้และมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสังคมบ้าง ให้เขาได้เอาไปใช้มันถึงจะมีการสื่อสารที่เป็นวงกว้างมากขึ้น คือเพลงมันต้องสร้างขึ้นมาแล้วมีประโยชน์มันต้องมีคุณค่ากับจุดใดจุดหนึ่ง

เพลงที่ผมได้ทำออกมาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนนั้น ใช้แก่นของสิทธิมนุษยชนในมุมต่างๆ มาเขียนเป็นเพลง โดยเฉพาะชุดที่ทำร่วมกับกลุ่มพี่น้องศิลปินภาคเหนือและศิลปินที่มีชื่อเสียงอย่าง โฮปแฟมิลี่ ชุด ใครใคร่ค้าใคร…ค้า (ปี 2550) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบจากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และชุด สิทธิมนุษยชน : ชีวิตและลมหายใจ (ปี 2551) ได้รับการสนับสนุนงบจากแอมเนสตี้ฯ คณะกรรมการสิทธิฯ พอช. และ LPN ชุดนี้เป็นการนำแนวคิดการตลาดเพื่อสังคมมาใช้มากขึ้น โดยเชิญศิลปินต่างๆ มาร่วม อาทิ หงา คาราวาน โฮปแฟมิลี่ ศุ บุญเลี้ยง และสีเผือก คนด่านเกวียน เป็นต้น เพื่อให้การสื่อสารเรื่องสิทธิมนุษยชนไปได้กว้างและไกลมากยิ่งขึ้น เพราะชีวิตคนเราตั้งแต่เกิดจนตายมันมีทุกเรื่องเลยที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ทุกเรื่องมันมีความรุนแรงทั้งนั้น แก่นของปัญหาสิทธิมนุษยชนในยุคนี้น่าจะมาจากเป็นเรื่องของการพัฒนาแบบที่เราเห็นนี้ และมันก็มีกระแสโลกาภิวัตน์

ถ้ายกตัวอย่างเช่น ปัญหาเด็ก เทคโนโลยี เรื่องอะไรที่เราควบคุมไม่ได้มันทำให้เกิดความรุนแรงในสังคมเยอะมาก กระแสสังคมมันทำให้เกิดการละเมิดกัน ทุนใหญ่มาละเมิดทุนเล็ก น่าจะเป็นปัญหาสำคัญและก็เรื่องทรัพยากรการแย่งชิงทรัพยากร เรื่องเหล่านี้มันทำให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงมาก สิทธิชุมชนถูกละเมิดอย่างรุนแรง

อัลบั้มชุด สิทธิมนุษยชน : ชีวิตและลมหายใจ (ปี 2551)

ตอนนี้ศิลปินเพื่อชีวิตรุ่นใหญ่ทั้งหลาย บ้างก็แก่ตัวลง บ้างก็ไปไกล บ้างก็มีภาระครอบครัว บ้างก็หลุดไปจากวงการหรือสถานการณ์ปัญหาทางสังคมเหมือนแต่ก่อน ส่วนศิลปินเพื่อชีวิตยุคใหม่ที่อยู่ตามค่ายต่างๆ ก็ติดเงื่อนไขของค่าย จนขยับอะไรที่เป็นตัวเขาเองลำบาก ทำให้เพลงเพื่อชีวิตอ่อนแอลงไปโดยปริยาย ดังนั้นจึงมองว่า คนอย่างพวกเรา (NGOs / นักกิจกรรม / ศิลปินเพื่อชีวิตและสังคมรุ่นใหม่) นี่แหละที่จะเป็นคนทำเพลงออกมาสื่อสารเรื่องราว ประเด็นทางสังคมที่ตัวเองทำงาน/เกาะติด อยู่ ออกมาให้คนทั่วไปได้รับรู้และชื่นชม แม้ว่ามันจะไม่โด่งดัง หรือถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางมากนักก็ตาม” เขาส่งท้าย

ไม่ว่าการนิยามศิลปะเพื่อชีวิตในมุมมองของผู้ใด จะมีสิ่งที่เป็นจุดร่วมกันก็คือภาพของความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม การรับรู้และเข้าใจมัน แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในมุมมองของ เอ้ นิติ’กุล คือการเห็นปรากฏการณ์แล้วหันมาสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ซึ่งนี่ต่างหากที่เป็นนิยามใหม่ของ “เพลงเพื่อชีวิตและสังคม” ที่ต่างออกไป