วงดนตรีเพื่อชีวิต คือ ส่วนประกอบหนึ่งของขบวนการนักศึกษาประชาชนผู้รักชาติประชาธิปไตย เป็นปีกของการต่อสู้ทางด้านวัฒนธรรม การก่อเกิดและดำเนินไปอยู่ภายใต้ความเรียกร้องต้องการของขบวนการโดยรวม ดังนั้นไม่ว่าท่วงทำนองเพลง คำร้อง ย่อม สะท้อนความเป็นจริงของเรื่องราวและอารมณ์ความรู้สึกในยุคสมัยนั้น ๆ

วงดนตรีเพื่อชีวิต “โคมฉาย” ก็เช่นกันที่อยู่ในกฎเกณฑ์นี้ การก่อตั้งขึ้นในปี 2518 เป็นความเรียกร้องต้องการของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษาประชาชน ไม่ได้มีจุดประสงค์จะตั้งขึ้นมาเพราะการอยากแสดงออกทางดนตรี ผู้ร่วมก่อตั้ง 3 ใน 5 คน เป็น “สมาชิกสภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง (อศมร.)” ไม่มีใครมีความรู้ทางด้านดนตรีที่ถูกต้องเลย เพียงแค่เล่นกีตาร์ได้บ้างและร่วมกันเล่นสนุก ๆ หลังจากการทำงานประจำวัน

ในเดือนกรกฎาคม 2518 อศมร. ได้จัด นิทรรศการ “จักรวรรดินิยม” ขึ้น ณ ห้องประชุม AD1 ในบรรดารายการที่ดำเนินไปตลอดทั้งวัน มีช่วงของการแสดงดนตรี ซึ่งวันหนึ่งวงดนตรีที่บรรจุไว้ในกำหนดการไม่สามารถมาแสดงได้ จึงต้องหาวงมาทดแทนเพื่อไม่ให้กำหนดการต้องคลาดเคลื่อน ความจำเป็นนี้ผลักดันให้ผู้ปฏิบัติงานองค์การนักศึกษาที่เล่นดนตรี เพื่อผ่อนคลายหลังงานประจำวันจำต้องขึ้นเวทีเป็นครั้งแรก และหยิบเอาชื่อหนังสือรับเพื่อนใหม่ประจำปีนั้นมาเป็นชื่อวง “โคมฉาย”

การก้าวขึ้นสู่เวทีแบบมีความจำเป็นของเหตุการณ์บังคับ แทนที่จะสิ้นสุดเมื่อการแสดงครั้งแรกจบลงกลับต่อเนื่องเหยียดยาว เมื่อชมรมต่อต้านยาเสพติด ขอร้องให้ไปช่วยในงานนิทรรศการที่จัดขึ้นในวิทยาลัยครูที่จังหวัดเพชรบุรี นครปฐม ฝ่ายประสานงานกรรมกร ติดต่อให้ไปแสดงในโรงงานเพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงาน รวมถึงสถาบันการศึกษาอื่น ๆ เพราะขณะนั้นมีวงดนตรีเพื่อชีวิตเพียง 4-5 วงเท่านั้น การผ่านการแสดงอย่างต่อเนื่อง “โคมฉาย” จึงกลายเป็นวงดนตรีถาวรไปโดยปริยาย

วงดนตรีเพื่อชีวิต “โคมฉาย” ประกอบด้วยนักดนตรี 5 คน คือ

  1. คมกฎช เสริฐนวลแสง
  2. เจษฎา พูนพัฒน์
  3. ผดุงศักดิ์ ถีระวงศ์
  4. วสันต์ จินดารัตน์
  5. วินัย บุญช่วย (ศิลา โคมฉาย นักเขียนรางวัลซีไรต์ จากรวมเรื่องสั้นชุด ครอบครัวกลางถนน)
  6. พรรณิพา สังขพิทักษ์ สมาชิกสมทบ

ในปี 2519 ได้มีการบันทึกเสียงเป็นเทปคาสเซ็ทชุดหนึ่งชื่อ “มุ่งไป” ซึ่งประกอบด้วยเพลง โคมฉาย, สายลมจากเฉียงเหนือ เขียนคำร้อง ทำนองโดย คมกฎช เสริฐนวลแสง (ทำนองเพลงโคมฉาย นำมาจากเพลงของเวียตนาม) เพลง บ้านค้อน้อย, มารวมกันเข้า โดย ผดุงศักดิ์ ถีระวงศ์ เพลง ค่าของคน, มุ่งไป, ทุ่งร้าง โดย วินัย บุญช่วย เพลง คนสร้างบ้าน, ปูนา, อีกไม่นาน โดย วัฒน์ วรรลยางกูร เพลง สยามในวันนี้ โดย ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์

เดือนตุลาคม ปี 2519 วงโคมฉาย ถูกจัดให้ออกตระเวณแสดงในหลายจังหวัดทางอีสานร่วมกับวงคาราวาน ขณะเกิดเหตุการณ์นองเลือดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พวกเขาแสดงอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น การประกาศยึดอำนาจของคณะปฏิรูปในตอนเย็นของวันนั้น ภายหลังการปราบปรามอย่างรุนแรง สมาชิกจำนวนหนึ่งถูกสถานการณ์ทางการเมือง ผลักดันให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไปสู่การต่อสู้อีกรูปแบบหนึ่ง และบทบาทของวงโคมฉาย ยุติลงโดยสิ้นเชิง