“บัวลอย บัวลอย บัวลอย…”
คุณแอ๊ด คาราบาว ร้องตะโกนเสียงสูงปรีดกลางสนามหลวง ก่อนจะจบเพลงฮิตเพลงนี้ลงเมื่อหลายปีก่อน ผู้ชมซึ่งชูกําปั้นตามจังหวะอย่างเมามันลดกําปั้นลงพร้อมกับล้วงระเบิดออกขว้างไปยังกลุ่มอื่น
ตูม! เจ็บกันบ้าง แต่ไม่มากนักเพราะเป็นแค่ระเบิดพลาสติก
ระเบิดเหล็กกับระเบิดพลาสติกนั้นต่างกันในความร้ายกาจ แต่ใจของคนที่ขว้างระเบิดสองอย่างนี้อาจไม่ต่างกันเลย เพราะเป็นใจที่เชื่อในการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงเหมือนกัน ใจที่มองความเจ็บปวดของผู้อื่นอย่างสะใจเหมือนกัน และใจที่เห็นตนเองเป็นใหญ่เพียงคนเดียวในโลกนี้เหมือนกัน
คนเหล่านี้หลงใหลบูชาคาราบาวครับ คาราบาว, วงดนตรีที่เต็ม ไปด้วยอุดมการณ์ของสันติ ความเสียสละ และความเป็นธรรมเหมือน บัวลอยซึ่งไม่สมประกอบ แต่บัวลอยไม่เคยเอาแต่ประโยชน์ส่วนตน เขาเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คอยช่วยเหลือรับใช้ผู้อื่นให้ได้รับความสุข แม้ตนเองจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบและลําบาก เขาก็ไม่เคยปริปากบ่น บัวลอยที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ และเราต้องมานั่งชูกําปั้นสรรเสริญเขาอย่างนี้แหละ สรรเสริญเขาหรือสรรเสริญคุณธรรมบางอย่างที่บัวลอยเป็นตัวแทน
คนที่หลงใหลบูชาคาราบาวขนาดที่พร้อมจะคล้องผ้าขาวม้าอันเป็นสัญลักษณ์ของการถ่อมตนและชีวิตที่เรียบง่ายอยู่กลางกรุงจะควักระเบิดออกมาทําร้ายผู้อื่นหลังจากฟังเพลงบัวลอยจบได้อย่างไรกัน? ทําไมเพลงคาราบาวจึงไม่สามารถสื่ออุดมการณ์อะไรได้?
คิดย้อนกลับไปสมัยที่วงคาราวานยังรุ่งเรืองในหมู่คนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าคาราวานนั้นนอกจากอย่างอื่นๆ แล้ว คาราวานยังเป็นสื่อของอุดมการณ์ด้วย คนที่ชอบคาราวานนั้นนอกจากแต่งตัว “เรียบง่าย” และไม่ส่อสถานภาพที่ต่างจากคนส่วนใหญ่แล้ว เขายังรับเอาค่านิยมด้านอื่นๆ ที่สอดแทรกอยู่ในเนื้อเพลงของคาราวานมาเป็นของตัว
ทั้งคาราบาวและคาราวานต่างก็ถูกจัดว่าเป็นวงดนตรี “เพื่อชีวิต” ไม่ว่าวลีนี้จะมีความหมายอะไร วงดนตรีทั้งสองเสนอปัญหาของสังคม แนะทางออก และถ่ายทอดหลักการบางอย่างแก่ผู้ฟังโดยผ่านเนื้อร้อง แต่วงหนึ่งมีคนฟังเนื้อร้อง อีกวงหนึ่งไม่มีใครได้ยินเนื้อร้อง
สถานะของเนื้อร้องในประเพณีเพลงของไทย
ในประเพณีเพลงของวัฒนธรรมไทย เนื้อร้องเคยเป็นส่วนที่สำคัญเท่าหรือสำคัญกว่าทำนอง, จังหวะ, ดนตรี ฯลฯ
“ลาย” แคนที่นิยมด้นไปกับ “ลำ” ในอีสานมีอยู่ไม่กี่ “ลาย” แต่คนฟังตั้งใจจะฟังลำซึ่งมีความแตกต่างออกไป จากหมอลำคนหนึ่งไปหมอลำอีกคนหนึ่ง เหมือนลิเกนั้นก็มีเพลงให้ร้องอยู่ไม่กี่ทำนอง แต่ลิเกก็ต้องร้องไม่ใช่เอาแต่พูด เพราะคนดูอยากฟังการด้นกลอนของผู้แสดง ในการร้องเพลงของราชสำนัก เมื่อคนร้องเริ่มร้อง ดนตรีทั้งหมดหยุดลงเหลือแต่เครื่องประกอบจังหวะ
ว่ากันว่าการเล่นซอลำลองประกอบการร้องมานิยมกันในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นี้เอง และแม้จะมีการสีซอลำลอง ซอก็เล่นไปทางหนึ่ง ผู้ร้องก็ร้องไปอีกทางหนึ่ง คนไทยรู้สึกว่าหากเล่นและร้องทำนองทางเดียวกันแล้ว ไม่รู้จะเล่นไปทำไม เพราะฉะนั้นทางเล่นจึงไม่ได้มาหนุนทางร้องเหมือนเพลงฝรั่ง
โดยสรุปก็คือตัวทางร้องเป็นอิสระ มีความสำคัญเท่าหรือเหนือกว่าทางเล่นของเครื่องดนตรีที่คลออยู่
เพลงไทยที่นิยมในราชสำนักนั้น แม้ว่าไม่มีเนื้อร้องตายตัวกล่าวคือจะแต่งใหม่หรือหาความตอนอื่นในหนังสือกวีนิพนธ์อื่นมาใส่ก็ได้ แต่จะเลือกเอาอย่างหลับหูหลับตาไม่ได้ ต้องเลือกให้เข้ากับลีลาและท่วงทำนองของเพลง นอกจากนี้ก็นิยมใช้เนื้อที่ใช้กันมาแต่โบราณมากกว่าไปเลือกเอาของใหม่มาใส่
แม้แต่ที่โบราณร้องไว้ผิดจากกวีนิพนธ์ฉบับที่แล้ว นักร้องเพลงไทยก็นิยมร้องเนื้อให้ผิดเหมือนที่โบราณร้องกันมา มากกว่าจะไปแก้เนื้อให้ถูกตามกวีนิพนธ์ฉบับที่พิมพ์แล้ว
ทั้งหมดนี้แสดงว่าเนื้อร้องของเพลงมีความสำคัญมาก เพราะคนฟังเพลงนั้นฟังเนื้อเพลงด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าคนไทยฟังดนตรีเฉย ๆ โดยฟังเนื้อไม่เป็น ทั้งประเพณีของชาวบ้านและราชสำนักต่างก็มีธรรมเนียมการแสดงดนตรีเฉย ๆ โดยไม่มีคนร้องอยู่ทั้งนั้น เช่น การเล่นมังคละหรือกาหลอก็เป็นการแสดงดนตรีเดินขบวนซึ่งไม่ต้องร้อง หากแต่ว่าเมื่อไรที่เป็นการร้องเพลงแล้ว เนื้อมีความสำคัญมาก มากเท่าหรือมากกว่าส่วนอื่น ๆ ของเพลง
คําว่า “เพลง” เองก็มีความหมายคลุมเครือ
ในปัจจุบันเวลาเราพูดถึงเพลงเรามักจะนึกถึงทํานองมากกว่าเนื้อ (ไม่อย่างนั้นจะ “ผิวปากตามเพลง” ได้อย่างไร) แต่ก็ไม่รู้สึกขัดข้องที่จะรวมเอาเนื้อไว้ด้วย เพราะฉะนั้น แม้ในปัจจุบันความหมายของคําว่า “เพลง” ก็ยังคลุมเครืออยู่ แต่ในสมัยสักปลายอยุธยา หรือต้นรัตนโกสินทร์เข้าใจว่าคํานี้ยิ่งคลุมเครือกว่านี้เสียอีก เพราะหมายถึงทํานองก็ได้ เช่น พูดถึง “เพลง” พัดชา แต่ในขณะเดียวกันหมายถึงเนื้อก็ได้ อย่างเวลาพูดถึงการเล่น “เพลง” ของชาวบ้าน ขึ้นชื่อว่าเพลงพื้นบ้านแล้วเนื้อเป็นเรื่องใหญ่ เพราะทํานองแทบไม่เปลี่ยนเลย
คําว่า “เพลงยาว” ที่ใช้หมายถึงบทกลอนชนิดหนึ่งก็เป็นพยานว่า เดิมคําว่า “เพลง” คงมีความหมายถึงเนื้อหรือคําที่กํากับด้วยทํานองล้วนๆ
เพราะคนฟังเพลง ฟังเนื้ออย่างตั้งใจ นักร้องจึงต้องพิถีพิถันกับการร้องเนื้ออย่างยิ่ง มีกลเม็ดของการเปล่งคําในเนื้อร้องของเพลงต่าง ๆ อยู่หลายอย่าง ซึ่งต้องจดจําจากครูให้แม่นยํา มีการกล่อมเสียงในการเปล่งคําให้ได้ความรู้สึก อย่างลาวดวงเดือนนั้นแหกปากร้องไม่ได้เพราะเป็นเพลงลา ขืนแหกปากร้องหมาบ้านน้องจะกัดเอา และไม่แสดงความอาลัยในการจากเพียงพอที่จะทําให้น้องบอกว่าอย่าไปเลยพี่ คืนนี้นอนนี่ก็แล้วกัน อีกทั้งยังมีกลเม็ดในการเปล่งคําในเพลงลาวให้ฟังเป็นลาว หรือมอญให้ฟังเป็นมอญในบางสถานการณ์ด้วย
ลิเกก็มีกลเม็ดการร้องแบบลิเก และเพลงพื้นบ้านหรือหมอลำก็มีกลเม็ดการเปล่งคำแบบของเขา คนที่ร้องโดยขาดกลเม็ดนั้น ไม่ช้าก็ไม่ได้ร้องที่ไหนอีก
การร้องเนื้อสำคัญมาก ในบางแง่อาจจะสำคัญกว่าการร้องทำนองด้วยซ้ำ ธรรมเนียมในการร้องเพลงไทยนั้น หากเสียงขึ้นสูงหรือลงต่ำไม่ถึง อย่าห่วง เปลี่ยนระดับเสียง (Octave) จากที่ร้องอยู่ไปสู่ระดับเสียงที่ต่ำกว่าหรือสูงกว่าก็ได้ แต่อย่าทำบ่อยนักเพราะน่ารำคาญ ทำสักหนสองหนในหนึ่งเพลงไม่มีใครเขาถือ หากเปรียบกับฝรั่ง นักร้องที่เปลี่ยนระดับเสียงกลางเพลงเป็นไม่ต้องผุดต้องเกิดกันทีเดียว ทั้งนี้ เพราะความสามารถของนักร้องเพลงไทยไปหนักที่การเปล่งเสียงจะเป็นเสียงเอื้อนหรือเป็นคำพูดก็ตาม
ธรรมเนียมการให้ความสำคัญแก่เนื้อร้องนั้น สืบทอดมาในเพลงไทยที่ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งหรือที่เรียกว่าเพลงไทยสากลด้วย เมื่อตอนที่เริ่มแต่งเพลงแบบนี้กันนั้น เพลงป๊อปของฝรั่งเองก็ยังให้ความสำคัญแก่เนื้อร้องมาก แต่ในเพลงไทยสากล ความสำคัญของเนื้อร้องมีมากขึ้นไปอีกเพราะสืบประเพณีเพลงของวัฒนธรรมไทยมาด้วย นักร้องเพลงไทยสากลจึงแสดงอารมณ์และความรู้สึกกันด้วยการเปล่งคำในเนื้อร้อง (แน่นอนว่าแสดงอารมณ์และความรู้สึกโดยทางอื่นอยู่ด้วย)
จุดสุดยอดของศิลปะการร้องแบบไทย ๆ เช่นนี้ ในเพลงลูกกรุงคงอยู่ในรุ่น คุณสุเทพ วงศ์กำแหง, คุณสวลี ผกาพันธ์, คุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี และ คุณดาวใจ ไพจิตร
เนื้อร้องเพลงคู่ของคุณสุเทพและคุณสวลีบางเพลงนั้น อ่านดูก็ไม่รู้สึกเสียวซ่านอย่างไร แต่พอฟังนักร้องทั้งสองออดอ้อนออเซาะกัน ในการร้องเพลงแล้วได้ความรู้สึกและความหมายที่ทั้งซาบซึ้งและเสียวซ่านจนคุณหญิงคุณนายแก่ ๆ ที่ผัวทิ้งทนฟังต่อไปไม่ได้ ต้องใช้อํานาจห้ามออกอากาศก็เคยมีมาแล้ว
ใครที่ไม่เคยรู้สึกว่าภาษาไทยมาตรฐานไพเราะอย่างไรก็ต้องฟัง คุณดาวใจ ไพจิตร (ในสมัยก่อน) ร้องเพลง แล้วจะรักภาษาไทยขึ้นอีกนิดหนึ่งเป็นอย่างน้อย เพราะคำที่เธอเปล่งอย่างชัดเจนเต็มไปด้วยความรู้สึกและพลังนั้น ภาษาเพราะ ๆ เท่านั้นจะทำได้
เพลงลูกทุ่งยิ่งรับประเพณีเพลงของวัฒนธรรมไทยมากกว่าเพลงลูกกรุงเสียอีก เพราะฉะนั้น การเปล่งคำในเนื้อร้องจึงยิ่งสำคัญกว่าเพลงลูกกรุง นอกจากการเค้นเสียงจากคอ กล่องเสียง เล่นลูกคอ ฯลฯ อันเป็นกลเม็ดของการร้องเพลงมาแต่เดิมแล้ว นักร้องลูกทุ่งยังสามารถทำให้เนื้อร้องมีความหมายได้หลายนัยอย่างซับซ้อน เพราะในประเพณีเพลงของวัฒนธรรมไทยนั้น เนื้อร้อง คือ หัวใจของการสื่อความ
เนื้อในเพลงพื้นบ้านคือ ส่วนที่แสดงปฏิภาณของผู้ร้อง ไม่ว่าจะเป็นปฏิภาณในแง่ความสามารถของการด้นกลอน ของการรู้เท่าทัน ของความรู้อันกว้างขวาง ของเล่ห์เหลี่ยม ของการรักษาศักดิ์ศรีโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง ฯลฯ
คนปักษ์ใต้เรียกทั้งหมดนี้ว่า “ปัญญา” (อันที่จริงอะไร คือ “ปัญญา” อะไร คือ “ความรู้” อะไร คือ “ศักดิ์ศรี” ฯลฯ ในวัฒนธรรมชาวบ้านไทยนั้นเป็นสิ่งที่น่าศึกษากันอย่างจริงจังกว่านี้เป็นอย่างยิ่ง) ปัญญาของพ่อเพลงแม่เพลงแสดงออกได้โดยผ่านภาษา และจะใช้ภาษาให้แสดงปัญญาได้จึงไม่ใช่เพียงเรื่องของความหมายที่ปรากฏในคำเท่านั้น แต่ต้องเล่นกับทั้งความหมายและเล่นกับการเปล่งเสียงของคำให้ได้ความหมายที่ซับซ้อนขึ้นไปอีก กลเม็ดการร้องของพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านจึงเป็นหัวใจสำคัญของการแสดง และกลเม็ดนั้นไม่ได้มุ่งเอาแต่ “ไพเราะ” หรือ “มันส์” เพียงอย่างเดียว
ความจริงแล้วชาวบ้านไทยส่วนใหญ่ในอดีต ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมที่ใช้ตัวหนังสือ จึงไม่แปลกอะไรที่ “ปัญญา” ของเขาแสดงออกได้ โดยผ่านภาษาที่เป็นเสียง ไม่ใช่ภาษาที่เป็นความหมายเฉย ๆ (เช่นในภาษาเขียน)
นักร้องลูกทุ่งรับเอากลเม็ดเหล่านี้มาไว้หมด เพลงลูกทุ่งนั้นเอามาบรรเลงด้วยดนตรีเปล่า ๆ จะได้รสชาติไม่ถึงครึ่ง เพราะมีความรู้สึกและความหมายอีกมากซ่อนอยู่ในเสียงร้องของนักร้อง เวลา คุณยอดรัก สลักใจ ร้องนั้น ถึงไม่เคยเห็นหน้าเลย คนฟังก็พอจะนึกบุคลิกของเขาออก คือ ทะลึ่งอย่างสุภาพดังที่ปรากฏในเนื้อเพลง และใครที่ทำเสียงให้ทะลึ่งอย่างสุภาพเหมือนคุณยอดรักไม่ได้ ก็จะร้องเพลงของคุณยอดรักไปอีกความรู้สึกหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้ไม่ “มันส์” เท่ากับที่คุณยอดรักร้องเอง ยิ่งราชินีลูกทุ่งของปัจจุบันด้วยแล้ว เธอเป็นนายที่แท้จริงของการเล่นกับความหมายด้วยการเปล่งคำทีเดียว
เมื่อ คุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ร้องว่า “เขามาเอง” นั้น คนฟังรู้ว่าเขาไม่ได้มาเอง แม้ว่าหนูจะเอ่ยปากชวนก็ตาม หรือ “หนูไม่รู้” นั้นฟังแล้วก็รู้ว่าหนูต้องรู้
ความสามารถอย่างนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้ในหมู่คนที่ยังเคยชินอยู่กับประเพณีเพลงของวัฒนธรรมไทย และบางทีอาจจับไม่ได้ในหมู่คนที่อยู่ห่างจากประเพณีเหล่านั้น เช่น คณะกรรมการที่มีหน้าที่เผด็จการรสนิยมผู้อื่นคณะต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ อาจไม่รู้สึกขำกับการเล่นคำ “ถอยห่างอีกนิด” เพราะการเปล่งคำของคุณพุ่มพวงด้วยกลเม็ดโบราณนั้น ไม่สื่อความหมายให้แก่ชายหญิงสูงอายุเหล่านั้นว่าอะไรบางอย่างกำลังถูกถ่างออกหน่อย ๆ จึงเป็นโชคดีที่พวกเราได้ฟัง “ปัญญา” หรือ “ปฏิภาณ” แบบกวีชาวบ้าน ไท ในวิทยุ ไทย ต่อไป
ไม่มีเนื้อ แต่มีเนื้อ
เพื่อนอเมริกันคนหนึ่ง เมื่อถูกถามว่าเขาฟังสิ่งที่ เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) ร้องออกหรือไม่ เขาตอบว่าฟังไม่ออกเหมือนกัน แม้แต่ตั้งใจจะจับให้ได้ว่าร้องอะไร ก็ยังจับได้เพียงครึ่งเดียว
แต่เขาก็ถามว่า แล้วจะฟังไปทำไม?
“อ้าว ถ้าฟังไม่ออกแล้วจะร้องทำไม?” ผมถาม
คำตอบของเขานั้นน่าจับใจ แต่เพราะอยู่ในการสนทนากันยืดยาวจึงจะสรุปเป็นภาษาของผมเอง ได้ความดังนี้
เพราะมันเป็นเพลงร้อง ก็ต้องร้อง เหมือนเพลงที่เขากำหนดให้เล่นท่อนนี้ด้วยแตร ก็ต้องมีเสียงแตร เขากำหนดให้เป็นเสียงคน ก็ต้องเป็นเสียงคน เสียงคนจึงเป็นส่วนหนึ่งของเสียงที่ประกอบกันขึ้นจากเครื่องดนตรีและคน กลายเป็นเสียงรวมๆ กันแล้วเราก็เรียกว่าเสียง “ดนตรี”
ฝรั่งเรียกเพลงที่มีคนร้องว่า Vocal Music แปลว่า ดนตรีที่เป็นเสียงคนร้อง
ผมไม่รู้ว่าฝรั่งอเมริกันฟังเสียงคนเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกจากดนตรี หรือเหมือนเครื่องดนตรีอีกชิ้นหนึ่งตั้งแต่เมื่อไร แต่เข้าใจว่าคนที่ชื่นชมกับการฟังโอเปร่าโดยไม่รู้ภาษาเยอรมันหรืออิตาเลียนคงมีมานานแล้ว แต่ในบรรดาเพลงชาวบ้านนั้นเพิ่งจะเอลวิสนี้กระมังที่เป็นคนแรกซึ่งร้องเพลงแล้วไม่รู้ว่าร้องอะไร จนทำให้ผมจับได้ว่าฝรั่งคงฟังเพลงไม่เหมือนผม ซึ่งเคยชินกับป๊อปไทยและเห็นเนื้อร้องมีความสำคัญมาก เวลาฟังก็ค่อนข้างจะแยก ๆ มันออกมาจากส่วนอื่นเสียด้วย
อย่างไรก็ตาม เนื้อร้องคงมีความสำคัญน้อยลงในเพลงฝรั่ง โดยเฉพาะเพลงประเภทร็อคและลูกหลานของร็อค ทั้งนี้ คงมีผลมาถึงการแต่งเพลง การเรียบเรียงเสียงประสาน และเทคนิคการร้องการเล่นด้วย และอาจไม่ได้จำกัดตัวอยู่เฉพาะเพลงร็อคและลูกหลานเท่านั้น คงขยายไปถึงเพลงประเภทอื่น ๆ อีกหลายอย่าง แม้ว่าเพลงโฟล์คของ จอห์น เดนเวอร์ (John Denver) และ โจแอน เบซ (Joan Baez) ไม่คล้อยตาม แต่ก็ยังเป็นที่นิยมต่อมาก็ตาม
คนฟังเพลงก็เคยชินมากขึ้นที่จะไม่ฟังเนื้อให้ชัด เพราะไม่ได้แยกเนื้อออกมาฟัง
เพลงไทยสมัยปัจจุบันโดยเฉพาะในทศวรรษที่ผ่านมารับอิทธิพลเพลงฝรั่งมากขึ้น จนอาจถือได้ว่าเป็นระลอกที่สองของอิทธิพลฝรั่งในเพลงไทยกระมัง เพลงเหล่านี้สร้างผู้ฟังขึ้นใหม่โดยไม่ได้รับสืบทอดมาจากผู้ฟังเพลงของ สุนทราภรณ์ สุเทพ สวลี ฯลฯ เพราะฉะนั้นผู้ฟังเหล่านี้จึงเข้าถึงเทคนิคการฟังเพลงอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากการฟังเพลงของคนไทยรุ่นก่อน
ผมเคยถามวัยรุ่นบางคนว่า เวลาเขาฟังเพลงใหม่นั้น เขาฟังเนื้อหรือไม่ เขาตอบว่าฟังด้วย แต่ไม่สนใจเท่าไรนัก จะฟังจังหวะ ทำนองการเล่นดนตรี ฯลฯ ก่อน หากเห็นว่าถูกใจก็จะฟังใหม่และเก็บรายละเอียดของเพลงมากขึ้น ในบรรดาที่เรียกว่ารายละเอียดของเพลงนี้รวมถึงเนื้อร้องด้วย
คำตอบของเขานอกจากบอกให้รู้ถึงเทคนิคการฟังเพลงที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังเป็นคำตอบที่เหมาะกับยุคสมัยที่เพลงสามารถอัดกระป๋องเก็บไว้เปิดฟังใหม่ได้ในราคาถูกอีกด้วย ทำให้เห็นว่าการฟังเพลงโดยเห็นเนื้อร้องมีความสำคัญเป็นรองลงมานี้จะเกิดขึ้นด้วย อิทธิพลของฝรั่งอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าไม่มีญี่ปุ่นซึ่งเปิดศักราชของเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ราคาถูกขึ้นในโลก และทำให้มนุษย์จำนวนมากในโลกครอบครองศิลปะไว้ที่ปลายนิ้วของตัวเอง สภาวะเช่นนี้เปิดทางให้แก่หนทางที่จะเสพศิลปกรรมในอีกวิถีทางหนึ่ง ซึ่งบรรพบุรุษของเราไม่เคยมีโอกาสทำได้ และดูจะไม่มีเหตุผลที่จะบังคับให้คนในโลกยุคนี้เสพศิลปกรรมในลักษณาการอย่างเดียวกับที่บรรพบุรุษซึ่งไม่ได้ครอบครองศิลปกรรมที่ปลายนิ้วของตัวได้เคยทำมา
ความสำคัญที่ลดลงของเนื้อร้องในเพลงไทยเห็นได้ดีจากแฟชั่นสัก 5 ปีก่อน เมื่อเพลงจำนวนมากที่แต่งและได้รับความนิยมในช่วงนั้นมีเนื้อร้องที่ไม่มีสัมผัส เนื้อร้องไร้สัมผัสเป็นสิ่งที่คนรุ่นพรานบูรพ์มาจนถึงสุเทพ, สวลี นึกไปไม่ถึง
ในปัจจุบันเพลงสมัยใหม่กลับมาหาสัมผัสอีก เพราะอะไรผมก็อธิบายไม่ได้ แต่ทั้งนี้คงไม่ใช่การหันกลับไปให้ความสำคัญแก่เนื้อร้องอย่างเพลงรุ่นเก่า เพราะหากไม่ตั้งใจฟังให้ดีแล้วก็จับไม่ค่อยได้เหมือนกันว่า นักร้องสมัยนี้จำนวนมากร้องว่าอะไร??
รู้ ๆ จากการเกริ่นนำของนักร้องเองว่า “ส้มหล่น” แปลว่า ฟลุกดูเหมือนจะต้องฟลุกเกี่ยวกับผู้หญิงเสียด้วย ทำไมผู้หญิงจึงต้องเป็นส้ม หรือเขาจะหมายถึงกลีบส้ม แต่ในเวลาร้องคำว่า “ส้มหล่น” ก็ไม่เห็นมีเสียงอะไรที่จะทำให้นึกไปได้ว่าต้องการแฝงความหมายถึงกลีบส้ม และกลีบส้มแฝงความหมายถึงอะไรอื่นอีก ถ้าจะให้หมายได้หลายซับหลายซ้อนอย่างนี้ ต้องรอคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ซึ่งก็ยังร้องเพลงที่เนื้อร้องมีความสำคัญอยู่นั่นเอง
เพลงของคาราบาวและคาราวานคงต่างกันตรงนี้
คาราวาน ยังร้องเพลงบนพื้นฐานของกลเม็ดแบบเก่า แม้ไม่ได้กล่อมเสียงให้ฟังนุ่มนวลไปทุกกรณี แต่เนื้อเพลงมีความสำคัญ ในเพลงของคาราวาน ความจับใจและซาบซึ้งของผู้ฟังขึ้นอยู่กับเนื้อเพลงอยู่ไม่น้อย อย่าง เพลงเดือนเพ็ญ นั้น แค่อ่านเนื้อโดยไม่ได้ยินทำนองก็ขนลุกเสียแล้ว เนื้อเพลงของคาราวานจึงยังเป็นสื่อของอุดมการณ์ได้ จำนวนไม่น้อยของคนที่ไปฟังคาราวาน จึงไปด้วยความเชื่อในหลักการบางอย่างที่แทรกอยู่เต็มเปี่ยมในเพลงของคาราวาน
แต่ คาราบาว ไม่ใช่อย่างนั้น แม้ว่าแรงบันดาลใจของเพลงจำนวนมากของคาราบาวมาจากเพลงพื้นบ้าน แต่ลีลาของการบรรเลงและการร้องไม่ได้ให้ความสำคัญแก่เนื้อร้องตามประเพณีเพลงของวัฒนธรรมไทย มีความหมายมัว ๆ ที่ส่งออกไปจากชื่อเพลงและสร้อยเพลงเท่านั้นก็เพียงพอที่คนฟังจะรู้สึกสะใจแล้ว เช่น ประชาธิปไตยไทยนั้นก็ รู้ ๆ กันอยู่ทุกคนว่ามี “รูเบ้อเริ่มเลย” แต่รูนั้นมาจากอะไร ให้ผลอย่างไรต่อใคร และจะแก้กันอย่างไรก็ไม่สำคัญนัก คนฟังไม่อาจ “รู้สึก” ถึงรูนั้นได้จากการฟังเพลง คนฟังได้แต่สะใจและสะใจกับรูอันนั้นกับตัวเอง กับบ้านเมืองหรือกับ? ไม่รู้ว่ากับอะไร เอาเป็นแน่แต่ว่าสะใจก็แล้วกัน
แต่เนื้อร้องก็มีความสำคัญในเพลงของคาราบาว เนื้อร้องทำให้คาราบาวมีเอกลักษณ์ของตัวเองและเป็นเอกลักษณ์ที่คนรับได้ แต่ก็ไม่เคยมีใครวิเคราะห์กันจริง ๆ ว่าเอกลักษณ์ที่ตัวเองรับได้นั้นคืออะไร เพลงของคาราบาวไม่ชวนให้ไปวิเคราะห์อย่างนั้นอยู่แล้ว คาราบาวสื่อความรู้สึก ไม่ใช่สื่อความหมาย
เนื้อร้องยังให้เอกลักษณ์แก่คาราบาวด้วยเสียงในระดับที่สูงมากของคุณแอ๊ด เสียงนี้เป็นส่วนหนึ่งของดนตรีที่คึกคัก ชัดเจนด้วยจังหวะ และฝีมือการเล่นดนตรี เนื้อเป็นส่วนหนึ่งของเพลงอย่างแยกออกไม่ได้ มีเนื้อแบบไม่มีใครเห็นแต่ไม่ใส่ลงไปไม่ได้ เหมือนกินเกาเหลาเนื้อสด จะมีเนื้อหรือไม่ก็ไม่ทันได้สังเกต แต่ขอให้เป็นเนื้อสดก็แล้วกัน
ภาษาที่เป็นคำในโลกยุคใหม่
ครั้งหนึ่งภาษาที่เป็นคำครอบงำการสื่อสารและวิธีคิดของมนุษย์เสียเกือบหมด
อาจเป็นไปได้ว่าโลกยุคนั้นกำลังหมดไป หรืออย่างน้อยก็ต้องหดตัวให้แก่การสื่อสารและวิธีคิดที่ไม่อาศัยภาษาที่เป็นคำมากขึ้น
ในแง่หนึ่งเรากำลังคิดอะไรที่ซับซ้อน และเป็นนามธรรมเสียจนอธิบายด้วยภาษาที่เป็นคำไม่ได้แล้ว ดังเช่นจะอธิบายควอนตัมด้วยภาษาที่เป็นคำล้วน ๆ ได้อย่างไร โดยไม่เอาคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความคิดโดยตรงออกมาใช้
ในอีกแง่หนึ่ง ชีวิตประจำวันของเราเผชิญกับความหมายที่ไม่เป็นคำมากขึ้น เราใช้ตาไปเห็นอะไรที่เดิมไม่เคยเห็นมากขึ้น หน้ายิ้ม ๆ ของ คุณสมเกียรติ อ่อนวิมล นั้นมีความหมายซ้อนอยู่ในข่าวที่คุณสมเกียรติอ่าน และเป็นความหมายที่ไม่ได้ผ่านคำพูดเสียด้วย หน้าที่ของคนที่เราพูดโทรศัพท์ด้วยกำลังจะปรากฏให้เห็นในอนาคตอันใกล้นี้ และเราจะสนทนากันมากกว่าที่ปรากฏออกมาในคำพูด กล้องถ่ายรูปทำให้เกิดภาพที่มีความหมายมากมายโดยไม่ต้องผ่านคำพูดเลย หนังสือพิมพ์นำเอาความหมายที่ไม่ได้พูดผ่านภาพให้เราไม่รู้จะเท่าไรต่อวัน การ์ตูนไม่ได้มีความหมายเฉพาะแต่ตัวหนังสือล้อมกรอบที่เขียนแทนคำพูดเท่านั้น ยังมีความหมายอื่นในภาพการ์ตูนซึ่งอยู่นอกกรอบนั้นอีกมากและการ์ตูนกำลังกลายเป็นวรรณกรรมประจำชีวิตของคนรุ่นใหม่ในหลายสังคม
เพลงก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงอันมโหฬารนี้
การที่เนื้อร้องมีความสำคัญน้อยลงในเพลงบางประเภท ไม่ได้แปลว่าเพลงเหล่านั้นสื่อความได้น้อยลง แต่สื่อความได้ในขีดจำกัดอันใหม่ (การสื่อความแบบใด ๆ ก็มีขีดจำกัดทั้งนั้น รวมทั้งการสื่อความที่ใช้ภาษาที่เป็นคำด้วย) มีพลังยิ่งกว่าเพลงที่ให้ความสำคัญแก่เนื้อร้องในอีกบางแง่
ถ้าเพลงเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงดังที่กล่าวนี้ ปัญหาที่ตามมาก็คือ? เมื่อนักวิจารณ์นำเอาเนื้อเพลงมาเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับตีความเพลงเหล่านี้ นักวิจารณ์กำลังทำอะไรผิดฝาผิดตัวอยู่หรือไม่
เมื่อ กบว. ห้ามออกอากาศเพลงบางเพลงเพราะเนื้อร้องนั้น กบว. กำลังจับความหมายของเพลงผิดจุดหรือไม่
เมื่อมีคนจำนวนมากขึ้นในวัยรุ่นเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมที่ภาษาที่เป็นคำกำลังหดตัวลง เขาจะอยู่อย่างไรในโลกที่คนมีอำนาจ (นับตั้งแต่พ่อแม่ ครู นายจ้าง ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี) ยังอยู่ในวัฒนธรรมที่ภาษาที่เป็นคำยังครอบงำอยู่
นี่ใช่เหตุผลหรือไม่ ที่เขาเหล่านั้นถูกมองว่าใช้ภาษาไทยผิด ๆ เขียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ไร้รสนิยม และชอบฟังการสำรากที่เรียกว่าเพลง
นี่ไม่ใช่ปัญหาของช่องว่างระหว่างวัย แต่เป็นช่องว่างระหว่างวัฒนธรรม การเชื่อมช่องว่างนั้นจะทำได้ไม่ใช่ด้วยการใช้อำนาจหรือการเหยียดหยาม แต่ทำได้ด้วยความพยายามจะเข้าใจวัฒนธรรมที่ต่างกัน
บทความนี้เป็นความพยายามในทิศทางนั้น แม้ว่าอาจจะผิดพลาดตื้นเขิน หรือล้มเหลว แต่ความพยายามในทิศทางนั้นเป็นภาระของเราทุกคนร่วมกัน
นิธิ เอียวศรีวงศ์
ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 (ธันวาคม 2532) และจากหนังสือ “โขน, คาราบาว, น้ำเน่าและหนังไทย” รวมเล่มบทความ นิธิ เอียวศรีวงศ์ สำนักพิมพ์มติชน 2557