พระกริ่งหลวงพ่อโสธร พิมพ์หน้ากลาง เนื้อทองเหลืองรมดำ ปี 2508

พระกริ่งหลวงพ่อโสธร ปี 2508 นับเป็นรุ่นมาตราฐานที่มีประสบการณ์มากอีกรุ่นหนึ่งที่หลาย ๆ คนอยากครอบครอง จัดได้ว่าเป็นพระกริ่งรุ่นที่ 2 ของทางวัดต่อจากพระกริ่งรุ่นแรก ปี 2500 จัดสร้างโดย พระราชพุทธิรังสี (หลวงปู่เจียม)

ปัจจุบันได้มีการแบ่งแยกพิมพ์ตามลักษณะใบหน้า (ไม่ใช่ขนาด) ออกเป็น 3 หน้า ดังนี้

  1. พิมพ์หน้าใหญ่ ลักษณะใบหน้าจะกลมอวบอิ่ม เม็ดพระศกด้านหน้ามี 4 แถว แยกได้อีก 3 พิมพ์ คือ หน้าใหญ่พิมพ์ที่ 1 หน้าใหญ่พิมพ์ที่ 2 และหน้าใหญ่พิมพ์ที่ 3
  2. พิมพ์หน้ากลาง ลักษณะใบหน้าจะเรียวลงเล็กน้อย นับเม็ดพระศกด้านหน้าได้ 5 แถว แยกพิมพ์ออกเป็น 2 พิมพ์ คือ หน้ากลางพิมพ์ที่ 1 และหน้ากลางพิมพ์ที่ 2
  3. พิมพ์หน้าเล็ก ลักษณะใบหน้าซูบตอบ คางแหลม นับเม็ดพระศกด้านหน้าได้ 4 แถว แยกพิมพ์ออกเป็น 3 พิมพ์ คือ หน้าเล็กพิมพ์ที่ 1 หน้าเล็กพิมพ์ที่ 2 และหน้าเล็กพิมพ์ที่ 3

เหตุเพราะมีการจัดสร้างเป็นจำนวนมากในแต่ละพิมพ์ โดยเฉพาะในพิมพ์หลัง จึงมีหลายบล็อค ทำให้รายละเอียดบางอย่างในพิมพ์เดียวกันแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย

วัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา

วัดโสธรวรารามวรวิหาร วัดที่ประดิษฐานขององค์หลวงพ่อโสธร จนประชาชนทั่วไปเรียกขานกันว่า “วัดหลวงพ่อโสธร” เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เป็นวัดเก่าโบราณที่สร้างขึ้น ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานในรายละเอียดว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. ใด ใครเป็นผู้สร้าง

วัดโสธรฯ แรกเริ่มเดิมที่มีชื่อว่า วัดหงส์ เพราะว่า มีรูปตัวหงส์เป็นไม้ติดอยู่บนเสาใหญ่ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงด้านเหนือ ซึ่งสถานที่ตั้งวัดอยู่เดิมนั้น ปัจจุบันถูกน้ำเซาะพังลงเป็นแม่น้ำหมดแล้ว กาลเวลาต่อมาหงส์ที่อยู่บนยอดเสานั้น ได้หักตกลงมาคงเหลือแต่เสาใหญ่ทางวัดถือนิมิตหมายว่าตัวหงส์ตกลงมายังพื้นดินแล้วไม่ควรนำไปติดไว้ที่เดิมอีก จึงเอาผ้าเป็นธงไปผูกติดที่เสาใหญ่แทนหงส์ แล้วเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า วัดเสาธง ต่อมา เสาธงถูกฟ้าผ่าหักขาดสะบั้นเป็นท่อนจึงถือเอานิมิตที่เสาใหญ่หักเป็นท่อนตั้งชื่อวัดใหม่ว่า วัดเสาทอน

ตำนานพระพุทธรูป “พี่น้อง” ล่องลอยน้ำมา

มีแต่ตำนานเล่าต่อ ๆ กันมาว่าเมื่อปี 2313 มีพระพุทธรูปทางเหนือ 3 องค์ เป็นพี่น้องกัน ได้แสดงอภินิหารลอยตามน้ำมา ผ่านย่านชุมชนหลายแห่ง บางแห่งคนจำนวนมากช่วยกันฉุดก็ไม่อาจอัญเชิญขึ้นฝั่งได้ แต่ในที่สุดก็ได้ขึ้นฝั่งประดิษฐานยังวัดต่าง ๆ คือ

  1. องค์พี่ใหญ่ลอยตามแม่น้ำไปขึ้นฝั่ง ณ วัดบ้านแหลม หรือ วัดเพชรสมุทรวรวิหาร จ.สมุทรสงคราม ได้ชื่อว่า หลวงพ่อวัดบ้านแหลม
  2. องค์กลางลอยตามน้ำมาบริเวณหน้า วัดโสธรวราราม พระอาจารย์ผู้ทรงความรู้ประกอบพิธีบวงสรวง ใช้สายสิญจน์อัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ วัดโสธรวราราม ได้ชื่อว่า หลวงพ่อโสธร
  3. องค์น้องสุดท้องขึ้นฝั่งประดิษฐาน ณ วัดบางพลีใหญ่ใน หรือ วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม จ.สมุทรปราการ ได้ชื่อว่า หลวงพ่อโต

อีกตำนานหนึ่งก็เล่าขานไว้ว่า มีพี่น้องชาวเหนือ 5 คน บวชเป็นพระภิกษุจนสำเร็จโสดาบัน มีฤทธิ์อำนาจทางจิตมาก และตั้งใจจะบำเพ็ญบารมีเพื่อช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ แม้เมื่อมรณภาพแล้วก็จะขอสร้างบารมีต่อไปจนกว่าจะถึงซึ่งนิพพาน เมื่อพระภิกษุทั้ง 5 รูปดับขันธ์ไปแล้ว ก็ได้สิงสถิตอยู่ในพระพุทธรูปทั้ง 5 องค์ แสดงอิทธิฤทธิ์ลอยมาตามแม่น้ำ 5 สาย และถูกอัญเชิญขึ้นประดิษฐานตามเส้นทางที่ผ่านไป ได้แก่

  1. ลอยไปตามแม่น้ำบางประกง ได้ชื่อว่า หลวงพ่อโสธร ประดิษฐาน ณ วัดโสธรวราราม จ.ฉะเชิงเทรา
  2. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะประยุกต์ระหว่างเชียงแสนและสุโขทัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้ว สูง 4 ศอก 16 นิ้ว ลอยไปตามแม่น้ำนครชัยศรี ได้ชื่อว่า หลวงพ่อวัดไร่ขิง ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม
  3. พระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสำริด ศิลปะสมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง 3 ศอก 1 คืบ ลอยไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ชื่อว่า หลวงพ่อโต ประดิษฐานในพระอุโบสถ วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม หรือ วัดบางพลีใหญ่ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
  4. พระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยสำริด ศิลปะสมัยเชียงแสน หน้าตักกว้าง 21 นิ้ว สูง 29 นิ้ว ลอยไปตามแม่น้ำเพชรบุรี ได้ชื่อว่า หลวงพ่อวัดเขาตะเครา ประดิษฐานในกุฏิเจ้าอาวาสวัดเขาตะเครา อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
  5. พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร หล่อด้วยสำริด สูงจากยอดพระเกตุมาลาถึงพระบาท 167 เซนติเมตร ลอยไปตามน้ำแม่กลอง ได้ชื่อว่า หลวงพ่อบ้านแหลม ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดเพชรสมุทรวรวิหาร หรือวัดบ้านแหลม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสงคราม

เนื่องจากหลวงพ่อโสธรมีความศักดิ์สิทธิ์จึงมีประชาชนเคารพนับถือเดินทางมาบูชาปิดทองในแต่ละวันมิได้ขาดทางวัดและญาติโยมจึงมีความเห็นร่วมกันว่าควรเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ว่า วัดโสทร มีความหมายว่า วัดพี่น้องร่วมอุทร คือ พระพุทธรูปมีพี่น้องร่วมกัน 3 องค์ ตั้งแต่นั้นมาวัดก็มีชื่อว่า วัดโสทร และพระพุทธรูปองค์นี้ ก็ชื่อว่า หลวงพ่อพุทธโสธร

วัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา

โสทร – โสธร

แต่เดิมวัดนี้ใช้ตัวหนังสือเขียนว่า โสทร ไม่ใช่ โสธร ดังปัจจุบัน โดยมีหลักฐานเมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสวัดแห่งนี้เมื่อปี 2451 แล้วมีพระราชหัตถเลขาถึง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงพระอิสริยศเป็นมงกุฎราชกุมาร ยังเขียนชื่อของวัดนี้ว่า โสทร อยู่

ปัจจุบัน วัดโสธร ซึ่งแปลว่า วัดพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เนื่องด้วย หลวงพ่อพุทธโสธร เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คำว่า โสธร เป็นนามศักดิ์สิทธิ์โดย โส เป็นอักษรสำเร็จรูปป้องกันสรรพทุกข์สรรพโศกสรรพโรคและสรรพภัยทั้งปวง ธ เป็นพยัญชนะอำนาจมีตะบะเดชานุภาพ ร เป็นพยัญชนะอักษรมหานิยมเป็นที่ชื่นชมของเทวดาและมนุษย์

เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญานวโรรส เสด็จไปตรวจราชการคณะสงฆ์ที่จังหวัดฉะเชิงเทราเมื่อปี 2458 ได้เสด็จที่วัดโสธร ทรงมีวินิจฉัยว่าผู้ที่ให้ชื่อวัดนี้ว่า วัดโสธร นั้นเป็นคนที่มีความรู้ เพราะชื่อนี้เป็นชื่อที่ไพเราะอีกทั้งมีความหมายแปลได้ใจความดีด้วย