Photo by Manoch Methiyanon

เสวนา “แนวทางการทำค่ายฯ ของเด็กรุ่นใหม่”
โดย ชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท มหาวิทยลัยเกษมบัณฑิต
วันที่ 5 กันยายน 2547 ณ อุทยานแห่งชาติพระพุทธบาท จ.สระบุรี

วิทยากร

  • ภาณุพงษ์ คงแก้ว (จัน) ค่ายราม-ลานนา
  • สุรศักดิ์ สิมสีแก้ว (ทอมมี่) ค่ายเกษมบัณฑิต
  • อรรณพ นิพิทเมธาวี (นก) ค่าย ABAC
  • อ.เล็ก (ผู้ดำเนินรายการ)

อ. เล็ก (ผู้ดำเนินรายการ)

งั้นเราขอให้เกียรติ พี่จัน เป็นคนแรกอยู่กับเรามาหลายวันแต่ก็ยังไม่รู้รายละเอียด พี่จันคะไงก็ช่วยนิดหนึ่งนะค่ะ ได้ข่าวว่าจบนิติศาสตร์จากรามคำแหงได้เพราะเป็นยาม เราลองมาฟังดูนะคะเพราะทำไมถึงว่าเป็นยามถึงเรียนจบได้ ถ้าไม่ได้เป็นอาจจะไม่จบก็ได้ลองฟังประวัติคร่าว ๆ ดูก่อน

ภาณุพงษ์ คงแก้ว (จัน)

ขนาดนั้นเลย ข้อมูลมาจากไหนละเอียดยิบเลย แต่จริง ๆ ก็พอดีช่วงเรียนมันนานไปนิดหนึ่ง ทำกิจกรรมค่อนข้างพอจะสมควร ออกค่ายประมาณซัก 7 ค่ายมั้ง แล้วทีนี้พอปีสุดท้ายก็อยากอ่านหนังสือมั่ง ก็เลยไปสมัครเป็น ร.ป.ภ และก็อ่านหนังสือช่วงกลางคืน อะไรพวกนี้ เพื่อให้มันจบให้ได้ เทอมสุดท้าย เล่มสุดท้ายอะไรพวกนี้ จริง ๆ ก็ไม่มีอะไรมากตรงนั้น ก็อยากอ่านหนังสือนะ

ส่วนประวัติส่วนตัวก็ จบนิติศาสตร์รามคำแหง ค่อนข้างหนักนิดนึง 8 ปีเต็ม เต็มทีเลยนะเทอมสุดท้ายเล่มสุดท้าย แล้วส่วนหนึ่งก็คืออาจจะทำกิจกรรมเยอะไปหน่อย ปัจจุบันทำงานอยู่ที่สีลมครับ ตึก State Tower ตึกที่คุณปุ๋ยไปแต่งงานบนชั้นโดมน่ะ ข้าง ๆ โรงพยาบาลเลิศสิน เป็นตึก 64 ชั้น ก็เป็นหัวหน้าแผนกฝ่ายกฏหมาย

อรรณพ นิพิทเมธาวี

ผมจบ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิชาเอกแปลเป็นไทยว่า วิทยาการคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันเป็น….โดยตำแหน่งเขาเรียกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงาน โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่องานพัฒนา (ICT) แล้วก็ทำเว็ปไซด์ ThaiNGO.org ซึ่งเป็นเว็ปไซด์ที่เสนอเรื่องราวของคนทำงานเพื่อสังคมตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ทั่วประเทศ ที่เรารู้จักกันในข่าวว่า NGO และก็เป็นคนทำหน้าที่เกี่ยวกับการฝึกอบรมการใช้ IT ในงานพัฒนาให้กับคนทำงานพัฒนา

อ. เล็ก (ผู้ดำเนินรายการ)

ก็คนต่อไปของเรานะค่ะ หนุ่มแดนอีสาน ชื่อฝรั่ง พี่ทอมมี่ค่ะ

สุรศักดิ์ สิมสีแก้ว (ทอมมี่) 

ครับก็ต้องสวัสดีน้องๆ อีกครั้งหนึ่งนะครับ ตัวพี่เองก็จบ คณะวิศวกรรมศาสต์ สาขาเครื่องกล ของมหาลัยเกษมบัณฑิตของเรา ตอนนี้ก็ทำหน้าที่เป็นวิศวกรของบริษัท Silver Pac อยู่นิคมอุตสาหกรรม Wellgrow ดูแลเกี่ยวกับระบบยูทิลิตี้ เกี่ยวกับระบบต้นกำลัง ถ้าใครเป็นช่าง หรือว่ามีพี่เป็นช่างก็จะรู้เรื่องพวกต้นกำลัง ต้นกำลังก็จะมีเรื่อง พวกระบบไฟ ระบบมอเตอร์ ระบบสตีม หรือระบบบอย์เลอร์ ที่ให้กำลังงานหลาย ๆ อย่างในส่วนของสายงาน และบริษัทนี่ก็ผลิตเกี่ยวกับน้ำหอม เป็นคอสเมติกส่วนหนึ่ง สเปรย์อัดแก๊ส และก็จะมีพวก ตอนนี้กำลังเปิดเฟสสองเป็นพวกยาฆ่าแมลง พวกไบก้อนนะครับ มีทุกอย่าง ใครอยากใช้ขอฟรีก็บอก อยากเอาน้ำหอมมาใช้แทนยากันยุ่ง หรือใช้ยากันยุ่งแทนน้ำหอมก็ได้ จะพยายามหามาให้ ครับก็คงคร่าว ๆ

อ. เล็ก (ผู้ดำเนินรายการ)

แล้วเราก็รู้ประวัติคร่าว ๆ กันไปแล้ว คราวนี้….การที่พี่เขาก้าวเข้ามาสู่ ณ ชมรมค่ายได้ ณ จุดแรก มันก็ต้องมีแรงดึงดูดใจใช่ไหมค่ะว่า…ทำไมพี่ ๆ เขาทั้ง 3 คนถึงได้เข้ามาเป็นสมาชิกของชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท ซึ่งแรงดึงดูดใจของแต่ละคน หรือจุดที่ดึงดูดเข้ามาอาจจะแตกต่างกันก็ได้ ซึ่งน้อง ๆ หลายคนในที่นี่กคงจะแตกต่างกัน บางคนก็เพราะเพื่อน เพราะแฟน หรืออาจจะมีความสนใจอย่างจริงจัง ดังนั้นเรามาฟังพี่ ๆ เขาว่า แรงดึงดูดใจที่เขาเข้ามาสู่ ณ จุดนี้เพราะอะไร แล้วเข้ามาสู่ชมรมค่ายฯ ได้อย่างไร เมื่อไร เราลองมาฟังดู

อรรณพ นิพิทเมธาวี

ขอบคุณครับ ก่อนอื่นผมอยากขอบคุณที่ให้เกียรติเชิญผมมา ครั้งแรกเลยที่อาจารย์โทรไปชวนเป็นวิทยากรแล้วหัวข้อเรื่องการทำค่าย รู้สึกเขินนิดหน่อย ก็ดีใจที่ได้มา มาถึงก็รู้สึก…เราเจอคนคอเดียวกันว่างั้นเถอะ เราเป็นพวกเดียวกัน อันนี้พูดจริง ๆ ไม่ได้พูดเอาใจ ไม่…จำเป็น

สิ่งที่ผมเตรียมมาวันนี้ จริง ๆ ถามอาจารย์เขาเหมือนกันว่าจะให้ผมเตรียมอะไร ประเด็นอะไรเป็นพิเศษไหม อาจารย์แกบอกว่าเดี๋ยวก็แค่เล่าประสบการณ์ให้ฟัง เผอิญประสบการณ์ผมเนี้ยอาจจะค่อนข้างต่างจากคนทำค่ายฯ ทั่วไป ส่วนใหญ่ก็คือ ตามเพื่อนไป อยากเข้าชมรม บางที่ก็ถูกบังคับให้เข้าชมรม แต่อย่าง ABAC ไม่มีการบังคับก็เปิดเต็มที่

ตัวผมเองตอนสมัยเรียนช่วงนั้นผมเล่นดนตรี เป็นนักดนตรี ความใฝ่ฝันตอนสมัยเด็ก ๆ ก็คืออยากเป็นนักดนตรี มุ่งมาทางนั้น ส่วนใหญ่ก็จะฟัง เพลงเพื่อชีวิต เป็นหลัก

จากนั้นพอเรียนจบมัธยมปลาย สอบเอ็นทรานไม่ติด ไปเรียนรามหนึ่งปี เพื่อนก็มาชวนสอบเอแบค ชีวิคก็ยังมุ่งไปทางนั้นอยู่คือยังอยากเล่นดนตรี จนเข้าไปทำกิจกรรมในคณะ จริงๆ ในช่วงที่ก่อนจะสอบเอ็นทราน ความฝันหนึ่งสำหรับชีวิตที่จะเข้าไปเรียนมหาลัยของผม ผมอยากทำกิจกรรม แล้วตอนนั้นผมก็ยังตอบตัวเองไม่ได้หรอกว่าผมอยากเป็นอะไร นอกจากนักดนตรี ถ้าจะสายดนตรีก็ต้องเข้าสายศิลปะศาสตร์ คือที่สายเอกดนตรีอย่างนั้นไปเลย ซึ่งผมไม่ได้เรียนทางนั้นมาผมเรียนสายวิทย์มา แต่ฝันหนึ่ง ใจหนึ่ง ที่คิดก็คืออยากทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย เราเคยเห็นพวกซูโม่ ที่เขาออกทีวี เขาเป็นนักกิจจกรม เป็นเด็กสถา’ปัด จุฬา ตอนนั้นมันมีวาทะกรรมฮิต ๆ ก็คือ ฝันให้ไกลไปให้ถึง มีโฆษณาเป็ปซี่ที่ พีท ทองเจือ ขึ้นไปตอกหลังคาอยู่ ออกค่ายเหมือนกัน ไม่รู้ทันดูกันหรือเปล่าหรือเปล่า เก่ามาก ก็เป็นภาพภูเขา เป็นการออกค่าย พีท ทองเจือ ก็ถือกระป๋องเป็ปซี่กินบนหลังคาตอนพระอาทิตย์ตกดิน ถ้าเปรียบในสมัยนี้ก็จะเป็นเวอร์ชั่น Loso ที่เอาโค๊กแช่น้ำแข็งแล้วเอามาโยนเล่นกัน ถ้าเป็นในค่ายคงโดนด่าเละแน่

ความคิดเราก็ปลูกฝังมาจากสื่อก็คือการอยากทำกิจกรรม แล้วก็ต้องเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม เพราะอะไร? ก็เพราะว่าจากศิลปะที่เราเสพ บทเพลง หนังสือ เป็นคนชอบอ่านหนังสือ หนังสือก็จะเป็นหนังสือหลัก ๆ ที่แวดวงนักกิจกรรมเพื่อสังคมเขาอ่านกัน เช่น ฉันจึงมาหาความหมาย ของ วิทยากร เชียงกูล อะไรอย่างงี้ หรือเป็นกวีนิพนธ์สายเพื่อชีวิต อยากจะเข้าไปทำกิจกรรมในธรรมศาสต์ เพราะมันมีตำนานของการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวอยู่ รู้สึกมันมีเสน่ห์

ตอนนั้นก็ตอบตัวเองไม่ได้ คือหาคำตอบ ขนขวายหาอยู่เหมือนกันว่าจริง ๆ แล้วเราอยากเป็นอะไร เราอยากทำอะไร เราแค่อยากเท่ห์แต่นั้นหรือ? ถึงจะไปออกค่ายไปอะไรอย่างงี้ ตอนนั้นคำว่า “ค่ายอาสาฯ” มันไม่ได้อยู่ในหัวผมเลยนะ ไม่รู้จักด้วยซ้ำไป

ย้อนกลับมาตอนมาเรียน ABAC ก็เข้าไปทำกิจกรรมในคณะ ด้วยความที่เรามีความคิดความอ่านแบบเนี้ย “แบบสะพายย่าม ใส่รองเท้าแตะ ใส่เสื้อเชิ้ตแขนสั้น ถือหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์” อะไรอย่างงั้น ภาพเราเป็นอย่างนั้น ซึ่งถ้าผมไปเดินในรามฯ เนี้ย ผมจะเรียบร้อยมากเลย แต่ผมมาเดินในเอแบคเนี่ย เหมือนกับว่า….. (คิด) ผมจะเหมือนกบฏมากอะ ทำกิจกรรมในคณะตัวเองก็ไม่ Work เพราะว่าคุยกับใครก็ไม่รู้เรื่อง ความเห็นเราจะแย้งเขาตลอด…ด้วยอะไรก็ไม่รู้

จุดเริ่มต้นของการทำค่ายผมมัน บอกนิดหนึ่งก่อนว่าผมเรียกได้ว่าเป็นคนก่อตั้งชมรม ตอนที่ผมทำค่ายมันไม่มีชมรมค่ายฯ อยู่ มีเพื่อนสองคนสนิทกันมาก คนหนึ่งเรียน ม.รังสิต คนหนึ่งเรียน ม.หอการค้า เอ็นฯ ไม่ติดทั้งสามคน สองคนนี้ก็ไปออกค่ายที่สถาบันตัวเอง แล้วเราก็มานั่งคุยกันที่ร้านเหล้าแห่งหนึ่งชื่อ พรรคกระยาจก อยู่แถว ๆ แยกวังหิน ตอนนี้เจ๊งไปแล้ว มันก็เกิดจากจุดนั้นนั่นแหละ เขาก็ถาม “ชมรมค่ายฯ ที่ ABAC มีไหม?” ผมก็ตอบว่า “ไม่มี” “แล้วมึงอยากไปค่ายไหมละ” ก็บอกว่า “อยาก” “อยากก็ทำขึ้นมาสิ” อะไรอย่างงี้ มันก็เป็นคำพูดเล่น ๆ ในวงเหล้าอะนะ ถ้าใครถามว่าค่ายเอแบคยังไง ผมก็จะตอบเล่น ๆ ว่าเกิดในร้านเหล้า

สิ่งหนึ่งที่คิดตอนจบจากเวทีกินเหล้าตรงนั้นไป ก็คือ การตัดสินใจเข้ามาทำกิจกรรม ถ้าพูดจริงๆ ตอนนั้นมันคือการตอบคำถามตัวเองนั้นแหละ เราอยู่ที่นี่ไม่ได้ แบบที่นี่เขาเป็นกันน่ะ เราจะสร้างสังคมสิ่งที่เราอยากอยู่ อยากเป็นในสถานที่แบบนี้ได้ไหม สถานที่แบบนี้ก็คือ ABAC แบบที่เป็นก็คือ “ภาพพจน์เป็น หรู ฟุ่มเฟือย เป็นลูกคนรวย ขับรถยุโรป ใช้โทรศัพท์มือถือแพง ๆ” อะไรอย่างงี้ เราจะถือย่ามใน ABAC ให้ได้อ่ะ พูดง่าย ๆ เราจะสร้างอะไรบางอย่างให้มันเกิดขึ้นในนี้ให้ได้ ก็เพื่อต้องการที่จะตอบคำถามตัวเอง แล้วก็ตอบสนองในสิ่งที่ตัวเองคิด ภาพที่ผมเล่าไปครั้งแรกก็คือความเท่ห์ ความมีสาระ แต่จริงๆ เราเป็นคนมีสาระรึเปล่า จริง ๆ เราได้แต่พูดรึเปล่า เพราะฉนั้นค่ายของผมคือคำตอบของชีวิตตัวเอง

อ. เล็ก (ผู้ดำเนินรายการ)

เมื่อเข้ามาเป็นผู้ก่อตั้งชมรมแล้วมีอุปสรรคอะไรไหมค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ๆ ช่วยไหม หรือว่ามีสมาชิกสนใจที่จะรวมกันก่อตั้งชมรมเยอะมากไหมค่ะ

อรรณพ นิพิทเมธาวี

ก็ได้รับความช่วยเหลือจาก เพื่อน – เพื่อนก็คือที่เรียน ม.หอการค้า นั้นแหละ เขาก็พาผมไปคุยกับพี่ ๆ ค่ายหอการค้าซึ่งชมรมค่ายเขาค่อนข้างที่จะเก่าแก่ และเป็นต้นแบบของค่ายหลาย ๆ ชมรม ก็ไปเรียนรู้งานกะเขา ไปเอาโครงการของหอการค้า ซึ่งเล่มหนามากเลยเอามาปรับใหม่ เขียนเสนอเอง แล้วก็อุปสรรคในตอนนั้นคงจะเป็นเรื่องของบุคคลมากกว่าก็คือ เรื่องของระบบการทำกิจกรรมใน ABAC ที่ค่อนข้างที่จะไม่เห็นด้วยกับการเกิดก่อของชมรมใหม่ ๆ ไม่ว่าจะชมรมไหน จะเกิดค่อนข้างยาก โดยเฉพาะกิจกรรมค่ายฯ เนี้ย ซึ่งเป็นเพราะมันมีชมรมอื่นที่ทำกิจกรรมค่ายอยู่ แต่เขาไม่ได้ใช้ชื่อชมรมนี่นะ ไม่ได้ใช้ชื่อ “ค่ายอาสาพัฒนาชนบท” แต่เขาทำกิจกรรมออกค่ายอยู่ เขาก็รู้สึกว่าถ้าเราเกิดขึ้นเหมือนกับจะเป็นการแย่งทรัพยากรเขารึเปล่า ทั้งเรื่องของงบทบวง ทั้งเรื่องของสมาชิก ทั้งเรื่องของอะไรต่าง ๆ มันก็จะมีการคานกันอยู่ มันก็เป็นการเมืองภายในเล็กๆ เหมือนกัน

แต่ก็โชคดีครับ โชคดีที่ได้รุ่นพี่ที่ดี ได้อาจารย์ที่ดีช่วยสนับสนุน และเห็นค่าให้โอกาสเรา ก็เลยทำต่อมาเรื่อย ๆ ปัญหาและอุปสรรคในยุคแรก ๆ ในตอนนั้น….คือตอนนั้นเรายังเด็ก มันมีแต่แรงอ่ะ (กายและใจ ไร้สมอง) แรงมันเยอะคือใจมันมีเยอะ เราก็ทำไปแบบลองผิดลองถูกนั้นแหละ เรื่องสังคมเรื่องอุดมการณ์อะไรก็ยังไม่ค่อยมีหรอก ไปออกค่ายที่ก็ 20 คน เกือบ ๆ 30 คน ปัญหาใหญ่ก็คือความสนใจในกิจกรรมแบบนี้ของนักศึกษา มันมีน้อยจริง ๆ นี่ผมหมายถึงน้อยจริง ๆ ไม่ใช่ว่าคิดเอาเองหรือว่าอะไร คืออยากจะทำงานวิจัยเพื่ออ้างอิงเหมือนกัน จะได้ยืนยันข้อมูลตรงนี้ เพียงแต่ว่ามันไม่จำเป็นเพราะว่า มันน้อยจริง ๆ มันไม่มีคนสนใจจริง ๆ วัน ๆ เด็ก ABAC เวลาเรียนเสร็จ สมมติพูดถึงเด็กเรียน เข้าแม็คโดเนลไปดูหนังสือกัน เด็กที่ไม่เรียนก็จะโดดเรียนไปดูหนังกันอะไรอย่างงี้ อย่าว่าแต่ออกค่ายเลยครับ หนังสือพิมพ์เขายังไม่อ่านกันเลยมั้งผมว่า

ปัญหาหลัก ๆ ก็จะเป็นประมาณนี้ เราไม่มีปัญหาเรื่องเงินเลย ไม่รู้ด้วยความรวยด้วยรึเปล่า…. แต่ว่าเงินที่ชมรมออกค่ายได้ก็มาจากงบทบวงเหมือนกัน ทบวงเขาจะส่งมาก้อนหนึ่งแล้วก็มาจัดสรร ชมรมไหนที่มีกิจกรรมลักษณะนี้เขาจะแบ่งไปตามอัตราส่วน มันก็มาทุกปี ก็ได้รับทุกปี ไม่มีปัญหาเรื่องเงิน เสนอโครงการอะไรไปก็ผ่านเกือบทั้งหมด ถ้าโครงการนั้นดีเขาก็สนับสนุนหมด มีเงินแต่ไม่มีคนไปครับ ประมาณนั้น

อ. เล็ก (ผู้ดำเนินรายการ)

แล้วปีแรกที่ก่อตั้งชมรมฯ เริ่มจากตั้งแต่ปีไหน

อรรณพ นิพิทเมธาวี

พฤษภา ’38 ผมออกค่ายแรกที่สุพรรณฯ อ. ด่านช้าง 18 พฤษภาคม 2538

อ. เล็ก (ผู้ดำเนินรายการ)

ค่ะ ก็ขอขอบคุณพี่นกในส่วนของพี่นกไป คราวนี้ในส่วนของ ม.รามฯ ว่าพี่จันก้าวเข้าไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร แล้วก็มีปัญหาอย่างไร ก็เลยอยากให้พี่จันเล่าสู่กันฟังให้น้องๆ ได้ฟัง

ภาณุพงษ์ คงแก้ว (จัน)

จริง ๆ ก็ช่วงที่ขึ้นมาเรียนรามปีแรก ก็ใฝ่ฝันอยากจะไปสัมผัสชีวิตของคนภาคเหนือดูบ้าง มันเป็นไง อยู่แต่ภาคใต้แล้ว เราไม่เคยรู้วิถีชีวิต รู้อะไรของคนเหนือเลย ว่าอากาศเย็นมันเป็นไง ไม่เคยเจอ อยากจะไป…อยากจะไปสัมผัส เป็นเป้าหมายแรกเลยในการทำค่าย

แต่พอไปสัมผัสจริง ๆ แล้วทำให้รู้สึกว่าการไปเที่ยวอย่างเดียวมันอาจจะไม่ใช่เป้าหมายของเราแล้ว เราอาจจะต้องทำกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับชีวิตของตัวเราด้วย ส่วนหนึ่ง เพื่อให้สามารถต่อสู้กับสังคมที่เราจะออกไปทำงานในภายภาคหน้า

และก็ปัญหาส่วนใหญ่ของรามนี่ เรื่องคนนี่จะไม่มีนะ ถ้าไปออกค่ายทางเหนือ ถ้าขึ้นคัท นี่หมายถึงว่า 300-400 คนเข้ามาเลย ต้องคัดคนไปส่วนใหญ่ ผมอยู่ค่ายลานนาก็จะออกค่ายภาคเหนือตอนบนทั้งหมดเลย ช่วงประมาณเดือนพฤษจิกา ตุลา ช่วงที่สอบเสร็จแล้ว และเป็นช่วงที่อากาศจะหนาว แล้วทุก ๆ อย่างมันดีมากในค่ายถือว่าอากาศสุดยอด ทั้งอากาส ทั้งองค์ประกอบทิวทัศน์ ทุกอย่างถือว่าสมบูรณ์แบบตรงนั้น

และก็ได้สัมผัสกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวบ้านจริงๆ เพราะค่ายส่วนใหญ่ของรามจะไม่เหมือนกับเกษมกับของ ABAC เราจะไปอยู่กับชาวบ้านตามบ้านเลย แบ่งกลุ่มกัน กลุ่มละ 5-6 คน โดยมีรุ่นพี่คุม ไปอยู่กับเขาเหมือนลูกหลานเลย อย่างเช่นไปอยู่ 20 วัน ก็ไปอยู่กับชาวบ้านเลย 20 วัน ตื่นเช้าขึ้นมาก็ทำกับข้าวกินข้าวร่วมกับชาวบ้าน ดูแลบ้านถูบ้าน เหมือนกับลูกหลานขอบเขาคนหนึ่ง กินข้าวร่วมกัน หลังจากนั้นก็ทำกับข้าวมากินร่วมกันที่โครงงาน จะเป็นลักษณะอย่างงี้

ส่วนเรื่องงบประมาณของรามเขาก็อาจเป็นปัญหาส่วนหนึ่งเพราะค่ายมันเยอะ ตัวแชร์มันเยอะ งบแต่ละชมรมเลยได้ไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น ต้องหางบจากข้างนอกมาเสริม หาสปอน์เซอร์มาสนับสนุน ยืนขอท่าน้ำสี่พระยาบ้าง ท่าน้ำนนท์บ้าง ท่าน้ำสมุทรปราการ ที่ผมเคยถือกล่อง อาจจะเหมือนขอทานนิดหนึ่ง ถ้าเรียกให้ดีหน่อยก็ขอรับบริจาค อะไรพวกนี้ ที่ท่าน้ำสี่พระยานี่ได้วันละเป็นหมื่นเลยนะ คนเขาให้ค่อนข้างจะเยอะ

ก็กึ่งๆ ประเด็นแรกคืออยากเที่ยวน่ะ สัมผัสวิถีชีวิตของคนเหนือโดยเฉพาะเลย คนใต้ส่วนใหญ่ เมื่อก่อนก็ไม่มีโอกาสได้เข้ามาเที่ยวทางเหนือมากนัก

อ. เล็ก (ผู้ดำเนินรายการ)

แล้วทำไมไม่ตัดสินใจเข้าชมรมอื่น ทำไมถึงตัดสินใจเข้าชมรมค่าย

ภาณุพงษ์ คงแก้ว (จัน)

คือค่ายแรก รู้สึกจะเป็นค่ายทาง จ.ลำปาง ก็อยากจะ ไปสัมผัสชีวิตภาคเหนือตอนบน เพราะค่ายที่รามจะแยกเป็น ค่าย มร. (รวม) ค่ายอีสาน ค่ายทักษิณ ค่ายชาวเขาและก็ รามลานนา ถ้าเป็นชาวเขานี่ก็ ออกค่ายบนดอยโดยเฉพาะและอะไรพวกนี่ ก็ช่วงนั้นก็อาจปิ๊งค่ายรามล้านนาด้วยแหละ ส่วนหนึ่งคือปิ๊ง หลายค่ายเขาคึกคักกัน แต่จุดประสงค์หลักก็คืออยากไปเที่ยว…พูดกันตรง ๆ เลย

Photo by Manoch Methiyanon

อ. เล็ก (ผู้ดำเนินรายการ)

ที่นี่เราเข้ามาในส่วนของพี่ทอมมี่บ้าง พี่ทอมมี่มีประวัติอะไรเยอะในค่ายนี่คะ

สุรศักดิ์ สิมสีแก้ว (ทอมมี่) 

ลองมาฟังอีกซักเรื่องหนึ่ง สามหนุ่ม-สามมุม จบแล้วสอง

ขอย้อนไป…ตั้งแต่สมัยยังเด็ก เพราะว่าผมได้รับสื่อตรงนี้ เป็นสื่อทางสิ่งแวดล้อม ไกลตัวรอบตัวก็คือ สมัยก่อนอาผม แกจะเรียน ม.ศ.ว มหาสารคาม ก็เป็นวิทยาลัยครู ผมยังเด็กอยู่ 7-8 ขวบ ป.1 ป.2 ตอนนั้นแกก็เรียนอยู่ปีสามปีสี่ แกก็ทำกิจกรรมค่ายอย่างงี้ แกไม่ได้เล่าให้ฟังหรอก แต่ว่ารูปเก่าๆ ที่แกถ่ายไว้เวลาออกค่าย เวลาไปเที่ยวหรือว่าไปกับนิสิต นักศึกษา ในกลุ่มของอาเอง ก็จะมาเก็บไว้…เราก็เห็นผ่านหูผ่านตา แต่เราไม่ได้คิดอะไร “อาไปเที่ยวคงสนุกเนอะ ไปโน้นไปนี่เห็นหลายสิ่งหลายอย่าง” เขาจะมีการออกค่าย ปะปนเข้ามาหลายๆ อย่าง และในส่วนของพ่อแม่เองก็ค่อนข้างที่จะให้ความร่วมมือกับชุมชน มีอะไรมาก็ช่วย ทางโรงเรียน ทางวัด ทางหมู่บ้าน ปลูกฝังเราโดยเราไม่รู้ตัว นั้นเป็นสิ่งแวดล้อม เป็นอิทธิพล….ที่ดี ก็เป็นมุมมองที่ดี มันดีสำหรับบุคคลคนหนึ่งนะครับ ก็ไม่ได้คิดอะไร

จนได้มีโอกาศได้เรียน ป.ว.ช ป.ว.ส และได้มีโอกาสเข้ามา โดยบุคลิกแล้วเนี้ย เป็นคนที่ค่อนข้างที่จะไม่มีพรสวรรค์ในเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่พรแสวง ตรงไหนเรามีจุดอ่อน เราไม่กล้าพูด เราไม่กล้าถาม ไม่มีความมั่นใจเราหาจุดอ่อนเราให้แล้วก็ปรับจนได้ จนสามารถทกให้เพื่อนยอมรับ โอ เค เป็นประธานชมรมนะ เป็นอะไรนะ ก็มาทำกิจกรรมเกี่ยวกับการออกค่าย แต่เป็นค่ายของพวกช่าง หน่วยงานรัฐขอมา อ้าา..ไป..ออกช๊อป ออกอะไรอย่างงี้ ช๊อปออกค่ายซ่อมเครื่องยนต์เล็ก พวกมอ?ไซค์ชาวบ้าน เครื่องสูบน้ำ คูบูตง คูโบต้า เสาร์-อาทิตย์ก็ไป ก็เลยเป็นจุดเรามาตลอด

จน ป.ว.ส นี่ก็ ผมก็มาทำเกี่ยวกับพวกนิสิตนักศึกษา พวกกิจกรรมนักศึกษาเต็มตัว จนเพื่อนบางคนล้อ พวกอาหารเสริม เรียนก็รู้สึกว่าจะตก ตอนที่ไม่ทำเนี้ย 3 อัพๆ พอมาเล่นกิจกรรมเกรดจะตก ก็เป็นผลพวงจากการทำกิจกรรม เพราะเราทำแล้วมันก็สนุก มันเพลิน เมื่อรู้ตัวก็กลับตัวทัน แต่ก็ยังสายอยู่ พอมาจบ ป.ว.ส ก็ทิ้งไปเลย ก็มาทำงาน

พอมาเข้ามหาวิทยาลัยต่อเนื่องนะครับ ความรู้สึกเก่าๆ มันย้อนมาบางครั้งที่เราทำอยู่ คำแรกที่ผมถามเพื่อนร่วมรุ่นด้วยกันเนี้ย “มหาวิทยาลัยมีชมรมอะไรบ้าง” ผมถามเลยมีอะไรบ้าง เพราะผมจะได้ทำตรงนี้ ผมชวนเพื่อนมา เพื่อนไม่มา ผมมาคนเดียว เคยไปเจอรุ่นพี่ คือจริงแล้วเพื่อนรุ่นพี่ ที่ทำค่ายมาก่อนก็เป็นเพื่อนของผมอีกที่หนึ่ง เพราะว่าผมดร๊อบเรียนอยู่สองปีเพื่อที่จะทำงาน แล้วเพื่อนผมมาเรียนก่อนอยู่แล้ว ค่อนข้างรู้จักกันเร็ว สนิทกันเร็ว ก็ไปๆ มาๆ ก็ช่วย เข้าไปห้องค่ายก็รู้จัก ก็ช่วยๆๆ ไปก็จนออกค่าย จนเราเป็นผู้ตาม จนเป็นผู้นำ ในหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่างมันเริ่มเข้ามาแล้ว พอมันผ่านพ้นจากพวกเรา เรามาเป็นผู้ตามก่อน เข้ามาก็เจอปัญหาบางทีท้อนะครับ ตอนเราเป็นผู้นำพอเจอรุ่นพี่ที่ว่าค่อนข้างชักนำเราอย่างเดียว เราพยายามเสนอสิ่งที่แตกต่าง ที่มันดีกว่า แต่ว่าพี่พยายามบีบให้ไปตามกลุ่มของเขา ก็พยายสมสู้กันอยู่นานจนท้อ จนต้องถอย อยู่ครั้งหนึ่งและก็มาเริ่มฟอร์มทีมกันใหม่ ก็สู้กันต่อ จนเอาชนะ แต่รักษาระบบเดิม นี่คือปัญหาภายในส่วนหนึ่ง

อ. เล็ก (ผู้ดำเนินรายการ)

ตั้งแต่ตอนที่ขึ้นรถมา เราก็ได้สัมผัสและสงสัยว่า ทำไม…พอบอกว่าเป็นชาวค่าย แล้วทำไมต้องนึกถึง “เพลงเพื่อชีวิต” ถ้าสัมผัสกับพี่จันสามวันที่ผ่านมา พี่จันก็ร้องแต่เพลงเพื่อชีวิต แม้แต่พี่นกเองก็บอกว่า การก่อตั้งชมรมเขาก็ก่อตั้งที่ร้านเพลงเพื่อชีวิต ซึ่งพี่ทอมมี่เองก็ถนัดเพลงเพื่อชีวิต ก็สงสัยว่าทำไมต้องเป็นเพลงเพื่อชีวิต

ภาณุพงษ์ คงแก้ว (จัน)

จริง ๆ เพลงพวกนี่มันเนื้อหาค่อนข้างที่จะเข้ากับวิธีชีวิตของคนค่าย เนื้อหาสาระที่ ผู้แต่งเขาแต่งเอาไว้ ส่วนใหญ่เป็นการต่อสู้ที่ 6 ตุลา 14 ตุลา มาอะไรพวกนี่ เป็นเนื้อหาของปัญญาชนที่เราต่อสู้มาแล้วปัจจุบันมันก็เนื้อหาตรงนี้ก็ใช้ได้ ปรับใช้ได้อยู่ พอฟังไป ร้องในค่ายรู้สึก มันได้บรรยากาศของการต่อสู้ ของการทำกิจกรรมของการช่วยเหลือ อะไรพวกนี่

เพลงอื่นไม่ใช่ไม่ร้องนะเพลงอื่น แต่ว่าถ้าออกค่ายปั๊บส่วนใหญ่ก็จะไม่ร้องกันจะเน้นเพลงที่เป็นเนื้อหาสาระมากกว่า อย่างเช่นไปค่ายก็อยากให้รุ่นน้องที่ไปใหม่ๆได้สัมผัสกับบทเพลงที่เขาอาจจะไม่เคยได้ฟัง ได้ยินมาก่อน เรามาฟัง เรามาร้องดูสิ ลองสัมผัสของเนื้อหาของบทเพลงจริงๆ ว่าเขาสื่อไปในทางหน มันทำให้ได้อรรถรสของความเป็น “ฅนค่าย” มากตรงนี้ในเรื่องของบทเพลง ตรงนี่นะ

สุรศักดิ์ สิมสีแก้ว (ทอมมี่) 

ครับ ลืมย้อนไปนิดหนึ่งที่เพลงเพื่อชีวิตเนี้ย ผมยังประทับใจอยู่เพลงหนึ่งที่ว่า ย้อนไปช่วงที่อาแกทำอยู่ก็คือ เพลงที่ผมได้ยินจำมาตลอด สมัยก่อนมันไม่มีซีดีไม่มีอะไร แกจะอัดใส่คาสเซ็ทเทป แล้วก็ได้ฟังอยู่เกือบทุกครั้ง ก็คือ “ที่นี่ไม่มีครู” ของ แฮมเมอร์ เป็นเพลงแรกที่ฟังแล้วเนี้ย มันรู้สึกอะไร…..มันจะขนาดนั้น แล้วยิ่งสมัยก่อน ย้อนไปซัก 20 กว่าปี มันเป็นอย่างงั้นจริงๆ และสมัยนี้ยังมีอยู่นะครับ พูดมายังขนลุกอยู่เลย มันเป็นเพลงที่ว่า เราลองสัมผัส

ถ้าน้องเนี้ย ยังไม่เคยฟังหรือว่าเคยฟังแล้ว ยังไม่จับประเด็น หรือว่ายังหาความหมายหรือว่าแก่นแท้ของเพลงแต่ละเพลงได้เนี้ย…ลองดู เพลงพวกนี้จะมีมนต์ของมันอยู่ เพลงทุกเพลงพี่บอกได้เลย มันจะมีมนต์ของมันอยู่ ถ้าเราฟังจะเอาเนื้อหา เอาสาระตรงนั้น

เพลงเพื่อชีวิต มันรวมถึงเพลงลูกทุ่ง มันจับคอนเซ็บคล้ายๆ กัน หรือเขียนมาจากความรู้สึกจริง ๆ เป็นคำที่ง่าย ๆ ที่เราไม่คิดถึง ดนตรีง่าย ๆ คอรด์ง่าย ๆ เล่นง่าย …นั้นแหละ แล้วก็….มัน….ยังไงมันบอกไม่ถูกน้องต้องได้รับตรงนั้นเอง สำหรับเพลงเพื่อชีวิต

แล้วคนค่ายทุกค่ายเนี้ย สังเกตุแล้วมันจะเป็นอย่างงั้นจริงๆ ด้วย นะครับ อย่างเพลงแนวอื่นเขาเข้ามาก็กลายเป็นการเอ็นเตอร์เทรน หลากหลาย ถ้าวงดนตรีเขาจะบอกวงดนตรีพวกจับฉ่าย คือเอาใจแฟนเพลง อะไรก็ได้ แต่ว่าโดยแก่นจริงๆ แล้วคนที่เขาเล่นมันจะมีเพลงที่เขาชอบอยู่ อย่างคนค่ายเหมือนกัน เราก็มีเพลงชอบอยู่ แต่ว่าจริงแล้วตัวพี่เนี้ย เพื่อชีวิต – ลูกทุ่ง อย่างอื่นก็ร้อง อย่างอื่นก็ฟัง ไม่ได้ไปอะไรมากมายทั้งนั้นนะครับ แล้วก็ ว่าจะพูดอะไรต่อแล้วเนี้ย เดี๋ยวให้พี่นกสรุปให้ดีกว่า

อรรณพ นิพิทเมธาวี

คือตอบง่าย ๆ ให้เข้าใจง่ายๆ เลย ….ทำไมคนที่ออกค่ายฯ ต้องร้องเพลงเพื่อชีวิตก็คือ ค่ายมันมีลักษณะพิเศษ ก็คือว่า “เพลงที่ร้องในค่าย” ผมไม่บอกว่าเป็นเพลงเพื่อชีวิต เพลงที่ร้องในค่าย..มันรับใช้อะไรบางอย่างครับ มันไม่ใช่ร้องเพื่อการบันเทิง เพราะฉนั้นถ้าอยู่ที่กรุงเทพฯ ผมสามารถเล่นเพลงได้ทุกเพลงของศิลปินคนใดก็ได้ ผมเข้าร้านคาราโอเกะ ผมเลือกเพลงร้องได้ แต่ถ้าผมอยู่ใน “ค่าย” ผมเลือกร้องเพลง และผมจะไม่เลือกร้องเพลงแค่ คาราวาน คาราบาว คนด่านเกวียน ด้วย เพลงบางเพลงของ เบิร์ด เพลงบางเพลงของ มาช่า ความหมายดีมาก ๆ เพราะฉนั้นการร้องเพลงในค่ายเนี้ย…มันรับใช้อะไรบางอย่าง มันมีวัตถุประสงค์อื่นนอกจากการบันเทิง

อ. เล็ก (ผู้ดำเนินรายการ)

ถ้างั้นเดี๋ยวเราไว้รอตอนปิดท้าย เราอาจให้พี่วิทยากรทั้งสามท่าน ร้องเพลงให้เราฟัง อยากฟังกันไหมค่ะ? ถ้างั้นรอก่อนนะค่ะ อย่างที่พี่นกบอกนะคะ และ

พี่ทั้ง 3 คนพูดให้เห็น มุมมองของการออกค่ายว่า การออกค่าย การมาค่าย มีความหมายอย่างไร การออกค่ายหรืออุปสรรค์มากมาย และพี่ ๆ ทั้ง 3 คนฟันฝ่าอุปสรรค์นั้นมาได้อย่างไรก็มาลองฟังดู การออกค่ายแต่ละครั้งต้องมีความประทับใจใช่ไหมคะ แล้วอยากให้พูดว่าการออกค่ายแต่ละครั้ง มีจุดที่ดีอย่างไรแล้วก็อุปสรรคคืออะไร และก็การแก้ไขมีแนวทางที่จะแก้ไขอย่างไร

อรรณพ นิพิทเมธาวี

ok เอาเป็นว่า….ผมฟันลงไปเลยแล้วกัน ถ้าคุณออกค่ายคุณจะได้สิ่งเหล่านี้ครับ –

หนึ่ง คือคุณจะได้ “มิตรภาพ”

มิตรภาพในความหมายนี้ หมายถึงมิตรภาพที่คุณจะไม่เคยได้จากที่ไหนนอกจากในค่าย คุณจะได้ “มิตรภาพระหว่างเพื่อน” ที่คุณไม่เคยรู้จักกะเขามากก่อน 10 วันแรกที่คุณไปออกค่าย แต่คุณจะรู้จักเพื่อนคนนั้นดีกว่าเพื่อนที่คุณคบกันมาเป็นสิบ ๆ ปี เพราะคุณได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขา คุณได้กินข้าวหม้อเดียวกับเขา ลำบากกับเขา อยู่ด้วยกันช่วยเหลือกัน

และคุณจะได้ “มิตรภาพกับชาวบ้าน” กับคนที่ครั้งหนึ่ง… ในฐานะที่เราเป็นคนเมือง เราเคยดูถูกเขา คนที่เราอาจจะดูในโทรทัศน์แล้วเห็นขอทาน เห็นคนแก่ เห็นชาวบ้านที่เดือดร้อน เห็นสมัชชาคนจน คนที่ปากมูลเนี้ย คุณจะได้มิตรภาพกับชาวบ้านเหล่านั้น…ในที่ๆ คุณไปออกค่าย มิตรภาพแบบที่ไม่มีอะไรแอบแฝง เพราะคุณไม่ได้เอาเงินไปซื้อเขา แต่คุณไปช่วยเขา คุณไปสร้างอาคารให้ลูกหลานเขา เขาตอบแทนคุณได้ในเรื่องของ น้ำจิตน้ำใจ เรื่องของข้าวบางมื้อ เรื่องของผลไม้อะไรบางอย่าง ที่เขาฝากคุณมาระหว่างที่คุณออกไปเดินระหว่างสัมพันธ์ชาวบ้าน ไม่ทราบว่า เกษมบัณฑิต มีการออกประชาสัมพันธ์ใช่ไหม ทุกครั้งก็จะมีอะไรหิ้วกลับมาอยู่เสมอ….ใช่ไหมครับ นั้นแหละครับ…..คุณคิดว่าคุณไปในฐานะนายทุนหรือในฐานะนักท่องเที่ยวคุณจะได้มิตรภาพตรงนั้นรึเปล่า ไม่ต้องตอบผมก็ได้….อาจจะได้เหมือนกัน…แต่ในนัยยะตรงไหนผมไม่แน่ใจ

และคุณจะได้ “มิตรภาพระหว่างตัวคุณกับชนชั้นที่คุณสังกัด” คือ ผมหมายถึงความเข้าใจ การเอื้อกันระหว่างเรากับชาวบ้านหรือระหว่างเรากับเด็ก ๆ มันจะลดอะไรบางอย่างลงในสังคมลงไป คุณไปทำงานลำบาก งานก่อสร้าง กรรมกรใช่ไหมครับ สร้างอาคาร ขุดดินแบกปูน ไม่ใช่งานที่บัณฑิต จบปริญญาตรีอย่างพวกเราทำอยู่แล้ว มันเป็นพวกงานของพวกกรรมกรเขาทำ ค่าแรงขั้นต่ำ….เดี๋ยวนี้ผมไม่แน่ใจเท่าไร 150 รึเปล่าผมไม่รู้ แถวบ้านเรา แถวมหาวิทยาลัย คงจะมีที่ก่อสร้างใช่ไหมครับ ก่อนคุณไปออกค่ายเนี้ยคุณจะมองเขาอย่างหนึ่ง แน่นอนละ..ว่าไม่ไว้ใจ สกปรก หยาบคาย กินเหล้าทุกวัน….ใช่ไหมครับ แต่ถ้าคุณกลับมาจากค่ายความคิดเหล่านี้คุณจะเปลี่ยนไป คุณจะเข้าใจว่าทำไมเขาจึงเป็นแบบนั้น คุณจะเข้าใจว่าเพราะตัวคุณเองนั้นแหละเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาลำบาก ด้วยเรื่องของโครงสร้างของชนชั้น และคุณจะเข้าใจสิ่งเหล่านั้นมากขึ้น นั้นก็คือมิตรภาพระหว่างคน ระหว่างเพื่อนมนุษย์

สิ่งที่ สอง ก็คือคุณจะได้ “เรียนรู้” ครับ และการเรียนรู้ของคุณในครั้งนี้ ไม่ใช่การเรียนในห้องเรียน ผมเชียร์ให้คนไปค่ายเพราะผมอยากจะเชียร์ให้คุณ “ปิดหนังสือเล่มโต ๆ ที่เราเรียนกันทิ้งซะ” วางมันไว้แล้วคุณก็เดินเปิดประตูออกไปเลย ออกมาจากห้องแคบๆ สี่เหลี่ยมที่มันมีคนนั่งอยู่หรือมันมีคนสอนอยู่ เดินออกมาจากเมืองที่เขากำหนดอะไรไว้บางอย่างว่ามันจะต้องถูกพัฒนาไปทางทิศใดทางหนึ่ง เราถูกจับอยู่ในเมือง ชื่อกรุงเทพฯ ออกไปเถอะครับ ออกไปเรียนรู้ ไปที่ไหนก็ได้ครับ ไปออกค่าย ทุกที่มันมีเสน่ห์ของมัน การเรียนรู้ของคุณเนี้ยจะไม่มีอยู่ในตำราของคุณเล่มไหนเลย จะไม่มีตำราเล่มไหนบอกคุณได้ว่าภูมิปัญาชาวบ้านแบบนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร คนโบราณทำไมต้องกินเหล้า หรือรวมไปถึงถ้าคุณโชคดีนะครับ ได้ออกค่ายบ่อย ๆ หรือคุณทำลายความคิดที่อยู่ในสมองที่มันกีดกันเรามาตลอดได้ คุณจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ซึ่งมหัศจรรย์มาก

ผมยกตัวอย่างเรื่องเล่าให้ฟังเรื่องหนึ่ง เรื่องป่า “เรื่องการทำไร่เลื่อนลอย” เราเรียนมาตั้งแต่เด็กว่าการทำไรเลื่อนลอยเป็นการทำลายป่า..ใช่ไหมครับ ชาวเขาทำไร่เลื่อนลอย เราเรียนอย่างนั้นมาตลอด มันอยู่ในตำราเรียน อยู่ในหนังสือเรียน แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งผมไป อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ผมไปคุยกับชาวกระเหรี่ยง การทำไร่เลื่อนลอยชาวกระเหรี่ยงมันมีองค์ความรู้ของมันอยู่ มันมีวิธีการอยู่ เขาจะทำไร่เลื่อนลอย คือไร่ 5 ปี เขาจะทำครั้งละปี ในสถานที่ต่างกัน จะวนไปเรื่อย ๆ แล้วจะไม่ละเมิดพื้นที่อื่น หมายถึงว่าเขาจะไม่ทำในพื้นที่อื่นนอกจาก 5 ที่นี่เท่านั้น เพราะพื้นที่อื่นเขา เขาบอกว่ามันเป็น ป่าศักดิ์สิทธิ ห้ามเข้าถึงถ้าเป็นภาษาราชการเขาเรียกป่าเขตป่าฝนชั้นหนึ่งเอ อะไรอย่างงี้ครับ แต่ชาวกระเหรี่ยงจะมีวิธีคิด หรือมีภูมิปัญญาของเขาอยู่ เพราะฉนั้นจริง ๆ แล้วการทำไร่เลื่อนลอยของเขาคือการรักษาป่านะครับ

ทำไมต้อง 5 ปี? เพราะป่าใช้เวลาฟื้นตัว 5 ปี ต้นไม้ที่ไม่ใช่ไม้ยืนต้นหรืออะไรมันจะฟื้นตัวภายใน 5 ปี และเขาจะทิ้งพื้นที่นั้นไว้โดยที่ไม่ไปยุ่งอะไรกับมัน ธรรมชาติจะจัดการมันเอง แล้วเขาจะแบ่งโซนเขตนี่คือป่าใช้งาน นี่คือป่าอนุรักษ์ นี่คือป่าปลูก ป่าอะไร แล้วก็จะมีพิธีปลูกบวชป่าทุกปี

ความรู้เหล่านี้ไม่มีอยู่ในหนังสือเรียน ไม่มีในห้องเรียน แต่มันมีอยู่ในค่าย ถ้าค่ายเราได้มีโอกาสได้ไปเชียงใหม่นะ ซึ่งไปได้รึเปล่า….แต่ก็ไม่จำเป็น มันมีความรู้เยอะแยะเต็มไปหมดเลยในประเทศเรา

ข้อสำคัญข้อสุดท้ายก็คือว่า มันเป็นผลพวง ผลพวงจากมิตรภาพและการเรียนรู้อย่างที่ผมว่าเนี้ย มันจะทำให้สังคมเราดีขึ้นครับ นั้นคือวัตถุประสงค์ของชมรมค่าย ทุกๆ ชมรมในประเทศนี้วัตถุประสงค์ใหญ่ที่สุดมันก็คือ “การรับใช้สังคม” นั้นแหละ รับใช้อย่างไรก็คือการ รับใช้จากตัวเราเองก่อน มันเป็นวิธีการบอกทางอ้อมนะครับ เช่น เราอยู่ร่วมกันกับชนชั้นที่แตกต่างได้อย่างไร เราจะไปเบียดเบียนชนบทมากน้อยแค่ไหน เราจะไม่เอาเปรียบชาวบ้านได้ยังไง เราควรจะเห็นใจสมัชชาคนจนไหม…ที่เขาเข้ามาประท้วงที่ทำเนียบ เราควรจะเข้าข้างใคร รัฐบาลกับประชาชนในเรื่องประเด็นความขัดแย้งอะไรซักอย่างหนึ่ง คุณจะตัดสินสิ่งเหล่านี้โดยที่คุณไม่เคยสัมผัสชาวบ้านเลย ผลร้ายจะตกอยู่กับสังคมนะครับ

และนี่ไงครับ…ก็คือเหตุผลว่า ทำไมต้องเพลงเพื่อชีวิต เพราะเพลงเพื่อชีวิตมันพูดถึงสิ่งเหล่านี้ มันพูดถึงการเอารัดเอาเปรียบ มันพูดถึงความทุกข์ยาก มันพูดถึงมิตรภาพ เพลงกำลังใจ เพลงถึงเพื่อน เพลงเพื่อมวลชน มันพูดถึงชนชั้นที่แตกต่างกันอยู่ ว่าคนใช้แรงงานลำบากอย่างไร นั้นคือสาเหตุทำไมต้องเพื่อชีวิต

ผมคิดว่าการทำค่ายมันเป็นกิจกรรมลักษณะพิเศษนะ ผมเคยพูดกับรุ่นน้องอยู่เสมอว่าทุกอย่างในค่ายมันมีเหตุผล แม้กระทั่งคุณกินข้าวใช้จานอย่างไหนมันก็มีเหตุผล หรือวิธีการหุงข้าวต้องหุงอย่างไร ทำไมต้องดิบ ทำไมต้องสามกษัตริย์ ทำไมต้องอย่างนั้น ทำไมต้องอย่างนี้ ทุกอย่างในค่ายมันแปลออกมาเป็นปรัชญาได้เลยทั้งหมด นั่นคือเสน่ห์ของมัน

และก็ผมคงปิดท้ายที่ว่า ผมใช้คำเดิม ผมเชียร์ให้ออกจากห้องเรียนซะ ออกจากวงสัมมนา ออกจากกิจกรรมนักศึกษาที่พาคุณไปตามรีสอร์ท ไปหาอะไรใหม่ ๆ ใส่ชีวิต ไปร่วมกิจกรรมที่เขาไม่ได้พาคุณไปเที่ยวทะเล ไม่ได้พารับน้อง ว๊ากเกอร์แล้วบายศรี….ตบหัวก่อนแล้วลูบหลัง เขาไปด่าคุณก่อนแล้วเขาก็ผูกข้อมือคุณที่หลัง ค่ายมันมีความน่ารื่นรมย์กว่านั้นเยอะครับ…น้อง ๆ

Photo by Manoch Methiyanon

สุรศักดิ์ สิมสีแก้ว (ทอมมี่) 

ก็อาจจะเพิ่มเติมนิดหนึ่งจากพี่นกนะครับ เนื้อหาสำคัญโดยมากจะพูดไปหมดแล้ว แต่อาจจะมีนิดหนึ่งก็คือว่า “ค่าย” “จะเอาอะไรจากค่าย” แต่ไม่ต้องตอบพี่นะ เป็นคำถาม “พวกเรามาค่ายต้องการเอาอะไร” แต่ถ้าพี่ตอบว่า “ค่ายไม่ให้อะไรเราเลย” ค่ายก็คือคำว่าค่าย แต่ว่าองค์ประกอบหรืออะไรต่าง ๆ เนี้ยมันมาจากตัวเรา มาจากหลาย ๆ คนมาช่วยกันสร้างให้เป็นค่าย มันคล้ายๆ ว่าถ้าน้องอยากให้ค่ายไปทิศทางไหนเนี้ย น้องต้องช่วยกัน คนหนึ่งหนึ่งหัวคิด หนึ่งความคิด มีสองคนสองความคิด มีทะเลาะ มีขัดแย้งกัน ในส่วนนั้นมันก็ต้องมีอยู่แล้วเพื่อที่จะให้ค่ายมันเดินไปในทางที่ถูกต้องนะครับ ในทางที่ว่า เพื่อการบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อสังคม

เรื่องเพลงที่บอกมันหนีกันไม่ได้ ที่ว่าในบางเพลงมันจะเป็นการสนับสนุนกันโดยตรงอยู่แล้ว อย่างที่พี่นกว่า มันเป็นบทเพลงที่รับใช้ อะไรหลายๆ อย่าง มันโยงใยอยู่อย่างงี้ มันตัดไม่ขาด

ก็ค่ายเป็นความภาคภูมิใจของเราด้วย ออกค่ายแต่ละทีเนี้ย วันสุดท้ายคนที่ไม่เคยร้องไห้ก็ต้องร้องไห้

หนึ่งเพราะว่าเด็ก เป็นสภาพนั้น ด้วยความภาคภูมิใจ เออ….เราทำสำเร็จแล้วนะ ถึงมันจะแค่ 15 วัน 20 วัน หรือว่า 7 วันนะครับ บางคนเป็นอย่างนั้นจริงๆ วันที่เปิดใจกับรุ่นพี่ ประทับใจรุ่นพี่ ประทับใจเพื่อนๆ น้ำตามันหลั่ง มันไหลออกมาเอง โดยที่ไม่ต้องบอกว่าคุณต้องร้องไห้นะ จบแล้ว คุณภาคภูมิใจ….คุณดีใจร้องไห้นะ เสียใจร้องไห้นะ ไอ้ความรู้สึกอย่างงี้มันบอกกันไม่ได้ มันสั่งกันไม่ได้ ที่นี้เนี้ยหลาย ๆ คนต้องสัมผัสเอง ใครมีโอกาสรีบซะ พี่นกก็บอกไปแล้ว ออกจากห้องซะ นะครับ

แล้วจะมีอีกอย่าง ที่เราจำได้โฆษณาตัวหนึ่งของ วัน-ทู-คอล ไอ้ตัวนี่มาทีหลังแต่ว่าตัวนี้เนี้ย กบในกะลายังจำได้ไหมครับ มันจะบอกไปหมดเลยมีภาพประกอบและมีคำบรรยาย เป็นอะไรที่ว่าประทับใจมาก ตัวพี่เองเห็นครั้งแรกเนี้ย ตัดมา แปะบอร์ดเลย เป็นอะไรที่ใช่ หนึ่งมันไม่ใช่แค่ค่าย แต่เราไปใช้ชีวิตประจำวันเราได้ ใช้ในการเรียนเราได้ ไม่แน่อาจเป็นพวกค่ายอาสาไปทำโฆษณาก็ได้ อันนี้ก็ไม่รู้นะครับใครไปคิดโฆษณา

และก็..ก็จะมีการฝึกตัวเองไปอยู่ค่ายในหลาย ๆ ด้าน อาจเป็นภาพรวมนิดหนึ่ง ไม่เจาะจง ผู้นำผู้ตามมีมาอยู่แล้ว การวางตัวเป็นไง กาลเทศะในการอยู่ร่วมกันเองมารยาทในการอยู่ร่วมกัน การติดต่อประสานงานหน่วยงาน ซึ่งจะเจาะจริงๆ เนี้ยมันเยอะ อันนี้เกริ่นๆ ให้น้องมันทราบเฉย ๆ ถ้าหากว่าอยากรู้จริง ๆ เนี้ยก็ศึกษากับรุ่นพี่ค่ายได้ หรือว่าจะเป็นตัวพี่เองก็ได้ ก็คือพวกนี้มีความผ่านมาแล้ว ถามว่ามันมีความสำคัญไหม มันพูดยาก ถ้าหากว่าเรานำไปใช้ ก็สำคัญนะครับและก็ข้อต่อไป

การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม พี่นกก็บอกไปแล้ว อย่างที่เราไม่เคยเจอ อย่างพี่นกบอกว่า “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” อย่างทำไร่เลื่อนลอยอันนี้พี่ก็ไปสัมผัสมาแล้ว ก็ไปอยู่กับชาวกระเหรี่ยงมาเหมือนกัน ปีหนึ่งก็ไปทำไร่ ไร่พริกไร่ข้าวของเขา เขาก็จะมีที่ 2-3 ที่ เป็นหย่อม ๆ ก็ปล่อยทิ้ง นาล้าง ปล่อยป่าให้ธรรมชาติมันจัดการ

และก็อีกตัวหนึ่งก็คือ คนเราทุกคนก็ไม่ใช่เก่งทุกอย่าง ในค่ายมีผิดมีถูก เรียนรู้….อยู่ในหัวข้อการเรียนรู้นะครับ มันจะให้อะไรที่ว่า ให้มาเรียนรู้กัน พูดไปเดี๋ยววนอีก เดี๋ยวให้พี่จันสรุปอีกทีหนึ่งมันค่อนข้างวนอยู่อย่างงี้แหละ มันคงไม่หนีไปไหน เพราะ พูดจริง ๆ แล้วมันไม่แตกต่างกันเลย แต่ว่าใครจะเน้นประเด็นไหนแค่ไหน ในช่วงระยะเวลาแต่ละโอกาสใช้ชีวิตประจำวันแล้วเนี้ยมันเอามาใช้หมด เดี๋ยวผมให้พี่จันสรุปอีกทีหนึ่ง

ภาณุพงษ์ คงแก้ว (จัน)

อยากให้ทุกคนลองไปสัมผัสกับการทำงานอะไรที่มันแปลก ใหม่ๆ ดูบ้าง นอกจากสิ่งที่คุณเรียน คุณสัมผัสชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยลองไปสัมผัสกับชีวิตของสังคมภายนอกบ้าง ว่ายังมีอะไรอีกเยอะ ที่คุณอาจจะยังไม่เข้าใจ คุณอาจจะต้องช่วยเหลือเขา คุณอาจจะต้องเติบโตออกไปข้างหน้า คุณไปเป็นข้าราชการ คุณจะไปทำงานเอกชน อย่างน้อยหันกลับมามองเขาบ้าง ว่ายังมีคนที่เขาต้องการความช่วยเหลือจากคุณค่อนข้างจะสูงตรงนี้

ประสบการณ์ตรงนี้มันสามารถช่วยให้คุณทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะ “ค่ายมันสร้างคน” ให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน เรื่องความสัมพันธ์ เรื่องมิตรภาพ เรื่องการเรียนรู้วิถีชีวิตของสังคม การอยู่ร่วมกันในคนหมู่มาก ทุกคนแต่ละคนที่ไปค่ายค่อนข้างจะมีความหลากหายสูง และแต่ละคนก็ ฐานะแต่ละคนก็อาจจะต่างกัน แต่ต้องมาอยู่ร่วมกัน เพื่อใช้ชีวิตของสังคมชาวค่าย ทุกคนต้องปรับตัว ทุกคนต้องเรียนรู้ ต้องเข้ากับคนอื่นให้ได้ จากคนที่อยู่ที่บ้านอาจจะอยู่สบาย ๆ แบบคุณหนู แต่เวลามาค่ายสถานะตรงนั้นคุณจะต้องเปลี่ยนแล้ว เพราะใช้ไม่ได้แล้วในสังคมของคนค่าย มันทำให้คุณเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ประสบการณ์ตรงนี้ผมว่า เป็นสิ่งที่จะช่วยคุณในอนาคตข้างหน้า ว่าคุณสามารถทำงานหรือว่ามีตำแหน่งหน้าที่ที่มันสูงขึ้นไปตรงนี้

และอย่าลืมอีกอย่างหนึ่ง หันมามองคนชนชั้นล่าง ว่าเขาลำบาก เขายากจนขนาดไหน แต่อยากให้คุณไปสัมผัสดูก่อนนะครับ เพราะถ้าคุณไม่ไปแล้ว โอกาสที่จะเรียนรู้ตรงนี้ยังไม่มี ยังมองภาพไม่ออกตรงนี้ ลองไปซักค่าย ลองไปสัมผัสดูว่าในส่วนที่ผมพูดมันจริงเท็จแค่ไหน แค่นี้ก่อนนะครับ

อ. เล็ก (ผู้ดำเนินรายการ)

ก็ตรงส่วนนี้เราได้ฟังในภาพรวม ๆ มาแล้ว ซึ่งพี่ ๆ เขาบอกแล้วว่า การที่เราออกมาเรียนรู้โลกสังคมอีกโลกหนึ่งก็จะทำให้เราได้รับสิ่งต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ยิ่งกว่าสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากตำราหรือจากอาจารย์ผู้สอนใช่ไหมค่ะ แต่เราก็อย่าลืมว่าหน้าที่หลักของเราตอนนี้คือเรียนนะค่ะ และก็หน้าที่เสริมของเรา ที่จะมาเสริมให้ตัวเองมีคุณภาพขึ้นหรือว่า เสริมด้านต่าง ๆ ของเราขึ้นนั้นก็คือ กิจกรรม อยากให้ทั้งสองสิ่งนี้ ทั้งการเรียนและกิจกรรมคือสิ่งที่ควบคู่กันไป อย่าเลือกปฏิบัติเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะมันจะเป็นสิ่งที่เกิดผลร้ายกับตัวเอง ถึงแม้มันจะดีในด้านหนึ่งแต่อีกด้านหนึ่งก็คงจะเสียไป คิดว่าวิทยากรทั้งสามคนก็คงจะคิดเช่นเดียวกัน ในเรื่องของการเรียน เพราะพี่ ๆ ทั้ง 3 คนก็ประสบความสำเร็จทั้งทางด้านการเรียนและก็กิจจกรรม ปัจจุบันก็สำเร็จทางด้านวิชาชีพด้วย ในที่ตัวเองได้ศึกษาจบมา

ในส่วนนี้ อาจารย์จะเปิดให้กับน้อง ๆ ทุกๆคน ใครที่อยากจะถามอะไรกับวิทยากร หรืออยากให้วิทยากรตอบอะไร เกี่ยวกับปัญหาของเราที่เราสงสัย ขอเชิญถามได้นะค่ะ ยกมือเลยแล้วก็ถามได้เลย

นักศึกษา ผู้ร่วมเสวนา

ก็จะถามเลยนะครับว่า ตอนแรกผมเข้ามาปีหนึ่งนะครับ คือผมอยู่ในชมรมที่เกี่ยวกับเรื่องของการเล่น ขิม ขลุ่ย พวกนี้นะครับ คือผมอยากถามว่าตอนนี้ผมอยู่ปี 3 แล้ว อยากถามพี่ ๆ ว่า ผมนั้นจะสายหรือเปล่าที่จะเข้ามาอยู่ในชมรมนี้ เพราะผมก็เพิ่งเข้ามาใหม่ สาเหตุที่ผมได้เข้ามาก็เพราะผมได้เดินไปเห็นรูปที่หน้าห้องและผมก็เห็นการทำ และผมก็จะนึกไปถึง ว่าเออ….จะนึกไปถึงว่า ถ้าเราได้มามีส่วนร่วมบ้างก็คงจะดี ก็เลยไปลาออกจากที่ชมรมเก่า และก็ย้ายเข้ามาที่ชมรมนี้ ผมก็อยากถามพี่ๆ ว่ามันจะสายไปไหมครับ

และก็อีกคำถามหนึ่ง อันนี้คือเก็บไว้ก่อนนะครับหนึ่งคำถาม ผมอยากถาม “ทำไมค่ายไม่ไปที่ทางใต้บ้างครับ” เพราะว่าเขาคิดว่าในทางอื่นก็ลำบากใช่ไหมครับ แต่ทางใต้ที่ผมผ่าน ๆ มาเขามีนะครับที่ลำบาก ที่กันดารก็มีนะคับ หรือที่ในป่าก็มีนะครับที่ทางใต้ ผมอยากถามว่า พี่ ๆ นะครับจะมีแนวโน้มหรือไม่ที่จะไปที่ทางใต้ เพราะว่าตอนนี้ผมกลับไปที่โรงเรียนเก่า เขาคอยย้ำถามตลอดเวลาผมจะมีค่ายแบบนี้ไปให้เขาบ้างไหม คือเขาก็ต้องการเราอยู่เหมือนกัน ผมอยากจะถามอยู่แค่นี้นะครับแค่ 3 ข้อก่อนนะครับ เดี๋ยวผมอาจจะถามเพิ่มอีก….ขอบคุณมากครับ

อรรณพ นิพิทเมธาวี

ผมขอตอบเรื่องภาคใต้อย่างเดียว เรื่องปี 3 เป็นคำตอบที่รู้กันอยู่แล้ว เดี๋ยวให้พี่ทอมมี่กับพี่จันตอบ

“ทำไมไม่ไปภาคใต้” “ไปครับ” ผมเคยไปสำรวจภาคใต้ แต่ว่ามันไม่มีโรงเรียนตรงตามเป้าหมาย ตอนนั้นจำได้ว่าเราไปนครศรีฯ สุราญธานี กระบี่ ตรัง ไปสำรวจ กำลังจะถามกลับว่าอยู่จังหวัดอะไรครับ…

นักศึกษา ผู้ร่วมเสวนา

ระนอง

อรรณพ นิพิทเมธาวี

ผมตอบในฐานะของ คนทำค่ายที่ ABAC นะครับ เพราะข้อจำกัดมันอาจจะต่างกัน แต่สำหรับผมเนี้ย ถ้ามีข้อมูลส่งมาเลยครับ ไปแน่นอน…อยากมาก อยากออกค่ายแล้วกินปลาหมึกจริงๆ เลย คือผมไม่มีข้อจำกัดไงไอ้ข้อตรงนี้ ข้อจำกัดก็จะเป็นเรื่องของตัวพื้นที่เองต่างหาก เรื่องความปลอดภัย เรื่องความเหมาะสม

สุรศักดิ์ สิมสีแก้ว (ทอมมี่) 

ค่อนข้างคล้าย ๆ กัน แต่ว่าเรามีการจำกัดพื้นที่ของทางมหาลัยเอง ก็กำหนดภาคเหนือไปเท่าไร ภาคใต้ไปเท่าไร และที่พี่นกบอกว่าเรื่องความปลอดภัย และก็มันจะมีนโยบายของทางทบวงฯ เกี่ยวกับมหาลัยในเขตพื้นที่บริการ สถาบันเขาจะมีออกอยู่ ก็คือส่วนกลางเขาจะดูแลอยู่ ส่วนกลาง ถ้าหากว่ามันไกลจริงๆ หรือว่าส่วนกลางจริงมันจะออกข้างนอกมันได้ สังเกตุไหมว่ามีของภาคอื่นเนี้ย ม.ภาคอื่นเนี้ยมาออกภาคอื่นไหมครับ “ไม่มี” ก็จะมีเฉพาะภาคกลาง ในเขตพื้นที่ภาคกลาง ส่วนมากอยู่ในกรุงเทพ มหาลัยในกรุงเทพ ออกไปต่างจังหวัด และในส่วนต่างจังหวัดเองก็จะมีอยู่ อย่างของสถาบันต่าง ๆ อาจจะมีเทคนิค อาชีวะหรือว่าบางจังหวัดจะมีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ใช่ไหมครับ วิทยาลัยครูอย่างที่พูดติดปากอยู่ ก็จะดูแลในพื้นที่ของเขา บางทีเราไปทับซ้อนเขา ปีต่อปีก็มี อันนี้ก็เคยเจอ

ก็อย่างที่บอก ของเราโดนจำกัดพื้นที่ และเรื่องของความปลอดภัยด้วย เขาอ้างได้ อย่าง 3 จังหวัดภาคใต้อย่างงี้ ไม่มีใครไปอยู่แล้ว ขอให้บอกว่าภาคใต้ พวกอาจารย์ อธิการคงไม่อนุมัติ ขนาดของเราเองอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่า เหมาะสมกว่าภาคใต้ก็ยังยากอยู่ อันนี้คือการเมืองภายในของเรานะครับ

ของน้องอีกอันหนึ่งก็คือ เรื่องทำกิจกรรม สำหรับของเกษมไม่มีวันสาย และก็ชมรมค่ายอาสาก็ไม่จำกัดว่าคุณจะอยู่ชมรมไหนมาก่อน หรือว่าคุณจอยู่กี่ชมรมก็ช่าง ขอให้ใจรักค่าย รักการอุทิศตนเสียสละ บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อนรุ่นพี่หลายคนยังไม่สมัครสมาชิกชาวค่ายเลย แต่ว่าตัวกับหัวใจของเขาอยู่ค่ายแล้ว บางคนมาช่วยเพื่อน ช่วยไปช่วยมาก็ไม่ไปไหนแล้วแต่ใบสมัครยังไม่มี ถ้าไปพูดทางกฎหมายพี่จัน (หันหน้าไปทางพี่จัน) ทางนิตินัยยังไม่เป็น แต่ทางพฤตินัยเป็นไปแล้ว ถ้าพูดทางกฎหมาย มีอาจารย์ทางนิติ พี่ทางนิติมาด้วยเดี่ยวจะเหงา (555) ที่นี่คงเข้าใจกันนะครับ

ภาณุพงษ์ คงแก้ว (จัน)

จริง ๆ ของรามมันแยกเป็นภาคเลยนะ ของค่ายเนี้ย รามทักษิณ ก็ออกทางใต้โดยเฉพาะเลย อีสานก็ออกอีสาน เหนือก็ออกเหนือ แต่เหนือมีสองค่าย “ค่ายชาวเขา” กับ “ค่ายรามลานนา” และก็ของ “ค่าย มร.” นี่ออกรวมเลยทุกภาค มันจะแยกกันเป็นสัดส่วนไม่ล้ำพื้นที่ซึ่งกันและกัน

ส่วนปี 3 ไม่สายครับ ในการเรียนรู้

นักศึกษา ผู้ร่วมเสวนา

ถามว่า มีภาระแต่อยากทำ แต่จะให้มาทำ แล้วต้องเรียน 7 ปี 8 ปี มันก็คงไม่ไหว อย่างที่บ้านเราก็ไม่ได้มีฐานะดีมากมาย เราจะทำอย่างไร เราจะทำทั้งสองอย่าง มันไปด้วยกันได้ ไม่ต้องถึงสามหรอก ไม่ต้องถึง 3 ปีครึ่งจบ 4 ปี เรียนให้จบแล้วมาทำตรงนี้ แล้วถ้าเกิดเราอยู่ปีหนึ่ง พอแบบว่าเราต้องเข้าไปในพื้นที่แล้วต้องเป็นผู้นำ ต้องให้เวลามากขึ้น เราจะทำอย่างไรดีค่ะ

อรรณพ นิพิทเมธาวี

เป็นคำถามที่ดีครับ และเป็นคำถามที่คลาสสิกมากคำถามหนึ่งของนักกิจกรรมทุกชมรมโดยเฉพาะของค่าย

ผมเคยมีรุ่นน้องคนหนึ่งเป็นประธานค่าย เรียนจบในสี่ปี เกรดเฉลี่ย 3.80 มีกรรมการค่ายอีกหลายคน เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3 ตัวผมเองเรียน 6 ปีกว่าๆ ถึงจบ ก็บอกได้เลยว่ามันเป็นความเหลวไหลส่วนตัวอ่ะครับ เกี่ยวกับชมรม ยืนยันว่าเกี่ยว ผมไม่ได้พูดถึงการมา แล้วไปออกค่ายอย่างเดียวอันนั้นใช้เวลาตอนผิดเทอม แต่ถึงขนาดมาเป็นกรรมการค่าย แน่นอนมันมีผลกระทบกับการเรียนอยู่แล้วละ อันนี้ต้องยอมรับกัน ต้องพูดความจริงกัน กระทบแน่ครับ แต่ว่านั้นหมายความว่าเราต้องทำงานให้หนักขึ้น เราอาจจะต้องขยันให้มากขึ้น ดูหนังสือให้มากขึ้นหรือว่าต้องแบ่งเวลาให้ชัดเจน หรือว่าต้องมีการจัดการชีวิตตัวเองให้มันดี แต่ว่ามันมีผลกระทบชีวิตเราแน่ แต่ว่าสำหรับผมมันคุ้มนะ ถ้าจะตอบชัดเจน มันคือเรื่องของการแบ่งเวลานั้นแหละครับ ทำได้ครับจบสี่ปี และก็ไปออกค่ายได้ ทำค่ายได้

สุรศักดิ์ สิมสีแก้ว (ทอมมี่) 

วนมาทางนี่ก่อนเดี๋ยวค่อยให้พี่จัน เพราะทางนั้นเป็นมหาลัยเปิด ค่อนข้างที่จะอิสระในการทำงาน

สำหรับของเกษมฯ เราเองเนี้ย สำหรับตัวพี่เองเนี้ย ก็เต็มๆ อยู่แล้วไม่ได้จบสามปีสี่ปีตามเป้านะครับ ก็คือเป็นต่อเนื่อง 2 ปีหรือ 2 ปีครึ่งประมาณนั้นก็จะดูดีแล้ว สำหรับ 2 ปีต่อเนื่อง แต่พอดีมาเข้าทำกิจกรรมเนี้ย สมัยก่อนจะเป็นอาจารย์จากข้างนอก แล้วก็จะเรียนช่วงเย็นซะมากกว่า วิชาแกน ปีหนึ่งเข้าไปใหม่ยังเป็นผู้ตามอยู่ ภาระหน้าที่เรายังไม่เยอะ ไปช่วยช่วงเที่ยงหรือว่าช่วงไหนที่เราเลิก เรามีช่วงเรียนบ่าย เราก็ไปเช้าไปนั่งพูดคุย พบปะกับสมาชิกใหม่ ๆ และก็พอขึ้นปี 2 ปี 3 วิชาเรียนเนี้ยวิชาเรียนเริ่มจะอ่อนลง คือเป็นวิชาที่หนักแต่ว่าไม่สามารถลงได้เยอะ แต่ว่าลงในกระเช้าที่เราสู้ได้ อย่างเขาให้ลง 5-6 ตัวอย่างงี้ บางคนเนี้ย ไม่ต่ำกว่า 7-8 ตัว สำหรับน้อง ๆ 4 ปี แต่ของพี่มันจะเลือกลงได้ก็คือได้โควต้า ถ้า 2 ปีครึ่งจะจบใน 4 ปี มันก็จะมีบอกอยู่ แต่เราพยามคุมให้ได้ไม่ใช่ปล่อยเลย

เมื่อก่อนยังไม่มีเช็คชื่อ อาจารย์ข้างนอก อย่างอาจารย์สถาบันอื่นเขามาสอนพิเศษ บางทีคุณไม่สนใจ คุณก็ไม่ต้องเข้า คุณไม่พร้อม คุณไม่ต้องเข้า แต่ว่าความรับผิดชอบของเรา ถ้าเราทำกิจกรรมปุ๊บเนี้ย เราต้องเพิ่มๆ ไปอีกเท่าหนึ่งหรือว่าสองเท่า เพื่อที่ว่ามีอะไรช่วงทำกิจกรรม ไปไหนบ้างอ่ะ ทีม Survey ออกต่างจังหวัดเนี้ย ไม่ต่ำกว่าสองสามวัน เราเรียนไหมช่วงนั้น เราจัดให้ดี ๆ เราขาดได้กี่ครั้ง กี่วัน และก็พอกลับมาเนี้ย เราต้องตามกับเพื่อน ก็ต้องตาม ตัวไหนอ่อนเราก็เสริม และมันก็จะมีเวลาพัก ของวิศวะกรรมเนี้ยมันจะไปได้เปรียบอย่างหนึ่งก็คือจะเรียนช่วงเย็น แล้วก็ลงไม่เยอะ ตอนกลางคืนเงียบ ๆ สามารถอ่านหนังสือได้จนสว่าง กลางวันนอนไปถึงบ่ายหนึ่ง บ่ายสองเนี้ย ตื่นไปเรียนต่ออีก ไปทำกิจกรรมได้ สำหรับตัวพี่มันจะเป็นอย่างงั้น แต่ว่าอันที่จบช้าก็ หนึ่งสู้ไม่ไหวด้วย ก็คือบางตัวเนี้ยลงสองครั้งสามครั้งถึงจะจบ อันนี้ไม่ได้โทษค่าย โทษตัวเรา ก็คือเราสมองไม่ไปแล้ว ประกอบกับ บางคนเห็นทำค่ายก็จบช้าเว้ย แต่พี่ก็ ถ้าพูดคุยสนุกๆ อะนะ สามปีครึ่งหรู แต่หลักสูตรสองปี ปกติเขาเรียนราม 4 ปี 3 ปีครึ่งจบ….สุดยอดแล้ว แต่นี้พูดติดตลกให้กำลังใจตัวเองมันก็รอดผ่านมาแล้ว ให้น้องได้สนุกสนานครื่นเครง 3 ปีเว้ย 3 ปี 3 ปีครึ่ง ทำได้เปล่า แต่น้องที่มันรู้มันบอกว่า หลักสูตรเท่าไรพี่ 2 ปี ให้เรามีกำลังใจเท่านั้นเอง ให้พี่จันต่อดีกว่า

ภาณุพงษ์ คงแก้ว (จัน)

ความต่างค่อนข้างจะเยอะนะ ตรงนี้…. แต่จริงก็อยากจะให้ลองแบ่งเวลาดู ถ้าแบ่งเวลาได้คุณก็ประสบความสำเร็จไปแล้วในระดับหนึ่งของชีวิตการทำงาน สามารถแยกเวลาเรียน แยกเวลาทำงานตรงนี้ออกจากกันได้นะ ต่อไปคุณจะทำอะไรในข้างหน้า คุณก็สามารถทำได้ประสบความสำเร็จแล้วละ ลองดู ๆ แต่อยากให้ทำนะ ไปลองทำดูบ้าง คนที่ทำผ่านกิจกรรมาตรงนี้ เวลาไปทำงานมันจะเป็นตัวเลือกหนึ่งของบริษัทว่าคุณก็เคยผ่านประสบการณ์ ผ่านการเรียนรู้อะไรมา นอกจากการเรียนอย่างเดียว เดี๋ยวนี้ทุกคนก็เรียนหมด ความสามารถเท่าเทียมก็หมด แต่ถ้าคุณมีจุดเด่นซักนิดหนึ่งที่เป็นตัวพิจารณาองเขา โอกาสของคุณในการทำงานอาจจะมีสูง เพราะการทำกิจกรรมมันทำงานกันเป็นทีม ทุกคนต้องรู้จักแก้ปัญหา รู้จักถกเถียงปัญหา รู้จักแลกเปลี่ยนความคิดกัน มันจะได้ประโยชน์กับคุณมากในเวลาที่คุณไปทำงาน อยากให้ลองไปทำดูตรงนี้

อ. เล็ก (ผู้ดำเนินรายการ)

ก็เสริมวิทยากรทั้งสามท่านนะค่ะ ตรงที่อาจารย์ได้ประสบกับตัว เรื่องจริงๆ ก็คืออาจารย์ไปสมัครกับบริษัทหนึ่งแถว ๆ เดอะมอลล์ บางกะปิ เขาก็พูดเช่นเดียวกันว่า ณ ตอนนี้บริษัทใหญ่ ๆ หลาย ๆ บริษัท ไม่ได้เน้นคนเพียงแค่เกรด อันนั้นเป็นเพียงตัวเลข แต่สิ่งเขาต้องนำไปใช้จริงก็คือการปฏิบัติงานร่วมกับพนักงานคนอื่นๆ ได้

ดังนั้นจึงอยากให้ตรงนี้เรียนต้องแบ่งเวลา ในส่วนของอาจารย์เอง ก็อยากแนะนำว่า การที่เราเข้าเรียนไม่ได้เรามีความจำเป็น การที่เราสอบถามจากเพื่อนก็เป็นอีกทางหนึ่ง แต่เพื่อความชัวร์และความแน่ใจ อาจารย์ผู้สอนนั้นแหละค่ะคือผู้ที่จะให้คำตอบเราได้ดีที่สุดว่า การที่เราไม่เข้าเรียนในครั้งนี้ ต้องมีงานส่งไหม งานที่ส่งจะมีงานลักษณะอย่างไร แล้วค่อยๆ ศึกษากันไปดู ค่อย ๆ ฝึกตัวเอง ให้รู้จักกับการวางแผนล่วงหน้า ซึ่งจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันข้างหน้าได้ ตรงนี้ขอเสริมในส่วนของวิทยากรทั้งสามท่าน มีใครอีกไหมค่ะที่สงสัย เชิญเลยค่ะ

นักศึกษา ผู้ร่วมเสวนา

ถ้าเป็นนักศึกษาที่อื่นไปค่ายอาสาของพวกพี่ได้ไหมครับ

อรรณพ นิพิทเมธาวี

ไปได้ครับแต่มีข้อแม้หนึ่ง คือต้องไปทั้งค่าย “ไปก่อนไม่ได้ กลับก่อนไม่ได้ ตามหลังไปไม่ได้” เพราะว่ามันเป็นขบวนการทั้งหมด

สองก็คือว่าเราไปได้ในกรณีที่ “มีที่ว่าง” ก็คือถ้าพูดตามหลักก็คือมันต้องให้สิทธิคนในสถาบันก่อน แต่โดยประสบการณ์แล้วจังหวะนั้นยังไม่มีซักทีเลย (ฮา) จะว่างตลอด (ฮา) และก็จดหมายก็ไม่จำเป็นมั้งครับ แค่นี้ครับ

ภาณุพงษ์ คงแก้ว (จัน)

จริง ๆ ของรมค่อนข้างเปิดนะสำหรับมหาลัยต่างๆ ที่จะไปร่วม ไม่ว่าจะเป็นจุฬา เป็นธรรมศาสตร์ เป็นอะไร ถ้ามาออกค่ายร่วมกับมหาลัยรามนี่ ยินดีรับทุกคน อยู่ที่ว่าคุณจะไปได้รึเปล่าเท่านั้น

สุรศักดิ์ สิมสีแก้ว (ทอมมี่) 

ก็เห็นน้องถามมาอยากไปสถาบันอื่น (ฮา) แต่ต้องขอโปรโมทของเกษมก่อนไป ไปเกษมก่อนละกัน นะครับซักครั้งก็ยังดี ไปให้จบ…จบซักค่ายหนึ่ง เข้าใจไหมครับ (ฮา) เดี๋ยวเกษมน้อยใจ

นักศึกษา ผู้ร่วมเสวนา

พี่ ๆ ทั้งสามคนมีจุดมุ่งหมายหรือมุมมอง ถ้าเกิดเป็นไปได้เอาอันเนี้ย เอาทั้ง 3 ค่ายเอามารวมกัน ทำอะไรร่วมกัน

อรรณพ นิพิทเมธาวี

คำถามคลาสสิกอีกแล้ว ทุกวงเสวนาจะมักถามนี้อยู่เสมอ ตามหลักการได้นะครับ แต่ว่าเวลาปฏิบัติจริงมันอาจลำบากนิด หนึ่งคือเรื่องของข้อจำกัด สมมุติว่าเราบอกว่า ABAC คนน้อย เกษมบัณฑิตปัญหาเรื่องข้อจำกัด เรื่องนโยบาย รามมีอย่างงั้นอย่างงี้ เอา…3 อันรวมกันแล้วออกใหญ่ ๆ ไปเลยได้ไหม อือมมมม มันก็ฟังดูน่าสนใจนะ แต่ว่าในมีคนคิดอย่างงี้แล้ว และก็มันมีคนทำอย่างงี้แล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือว่าด้วยข้อจำกัดที่มันต่างกัน มันทำงานด้วยยาก เรื่องของช่วงเวลา เรื่องของ รายละเอียดต่าง ๆ ตรงนั้น แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องของคน เรื่องความยึดติดในสถาบันในตัวเองจะมีปัญหามาก ค่ายร่วมทุกที่จะล้มเหลวเพราะเรื่องนี้อยู่สม่ำเสมอ ผมไม่เคยได้ยินข่าวค่ายร่วมค่ายไหนที่มันดีเลย ผมพูดถึงค่ายร่วม ที่ไปร่วมกับหลายสถาบันไม่ได้หมายความว่า ค่าย ABAC แล้วมีเพื่อน ๆ จากสถาบันอื่นไป อันนั้นอีกกรณีหนึ่ง แต่ ค่ายร่วม ไม่ค่อยประสบความสำเร็จครับ เพราะว่าด้วยความยึดติด ด้วยข้อจำกัด

สุรศักดิ์ สิมสีแก้ว (ทอมมี่) 

ก็อย่างที่พี่นกบอกมันจะมีข้อจำกัดอยู่ แต่ว่าทางออกจริงเราสามารถทำได้ก็คือ เราจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับสถาบัน พวกพี่ทำแล้วแต่มันยังไม่แข็งแรง ก็คือเพิ่งก้าวขึ้นมาก้าวที่ 3 ก็คือเป็นชมรมอิสระชมรมหนึ่ง แต่ว่าทีมงานที่ทำเนี้ยก็คือรุ่นพี่ รุ่นน้องที่อยู่ในค่าย ตอนนี้เราก่อตั้งมาปีที่ 3 แล้วก็คือ “ชมรมเอื้อไท” เมื่อก่อนเราใช้ “ชมรมอาสาพัฒนา44” ก็คือเราเริ่มต้นปี 44 ตอนนี้่เปลี่ยนเป็น “เอื้อไท”

แต่ตอนนี้ก็อาจจะมีแค่ว่าบริจาคของ เพราะว่าจำกัดเรื่องเวลาการทำงานแต่ละคน แต่ต่อไปไม่แน่ ถ้าแข็งแรงขึ้นกว่านี้ อาจจะมีแบ็ค น้อง ๆ เนี้ยมาช่วยในเรื่องระยะเวลาในการก่อสร้าง แต่ว่าเรื่องเงินทุนเนี้ย อาจจะเป็นพวกพี่ที่ต้องหา นั้นก็คือต้องฝากน้องๆ ว่าถ้าหากเห็นดีด้วยหรือว่าอะไรก็ช่วยกันตรงนี้ อาจจะฝากไปทางพี่จันหรือว่าพี่นกด้วยตรงนี้ เพื่อเห็นนโยบายตรงนี้ดี

ภาณุพงษ์ คงแก้ว (จัน)

“ค่ายร่วม” นี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะเป็นเรื่องมาพูดคุยกันพอสมควร ว่าลักษณะรูปแบบแต่ละที่ อาจจะไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเอาคนไปร่วมกับอีกสถาบันหนึ่งโดยไม่ติดเรื่องของมหาลัย มันก็เป็นเรื่องที่ดีกว่า แต่ถ้ามาออกค่ายร่วม เป็นค่ายที่ชื่อมหาลัยจริง ๆ มันค่อนข้างจะทำยากตรงนี้ ค่อนข้างทำยากนิดหนึ่ง

แต่ส่วนใหญ่ก็ ปัจจุบันกลุ่มของผมก็ตั้งขึ้นมาประมาณ 3 ปีแล้วครับ เป็นกลุ่มที่หลากหลายพอสมควร มาจากเกษมก็มีอาจารย์เล็กนั้นแหละ อันนี้ทำกิจกรรมวันเด็ก โดยเฉพาะ ปีแรกออกที่สุพรรณฯ และก็ไปที่วังน้ำเขียว โคราช แล้วก็มาที่พิจิตร ปีนี้คาดว่าจะไปแถวจันทร์บุรี คือเสาร์ที่สองของทุกปีจะจัดกิจกรรมวันเด็ก ไปเล่นกับเด็ก จัดเวที จัดการแสดง แจกของรางวัล แจกทุนอาหารกลางวัน นำอุปกรณ์การเรียน สื่อการเรียนต่าง ๆ ไปให้เด็กตามชนบท เราอาจเอาโรงเรียน 4-5 โรงเรียนมารวมกัน ปีที่ผ่านมาสามารถหาเป็นเงินสดได้แสนสี่พันกว่าบาท อันนี้หาเองเลยนะ เป็นกลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มนิติบุคคล แต่ว่าหาสปอนเซอร์ตามบริษัทต่างๆ ขอไปก็ได้มาแสนกว่าบาท เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าใครอยากลองไปสัมผัสดู เสาร์ที่สองของปีหน้า อาจจะเจอกันแถวจันทร์บุรีตอนล่าง

Photo by Manoch Methiyanon

สุรศักดิ์ สิมสีแก้ว (ทอมมี่) 

ผมขอเสริมซักนิดหนึ่งเกี่ยวกับค่ายร่วม ของเราอาจจะยังไม่มีค่ายร่วมหลายสถาบัน แต่ว่าเกษมเคยทำมาแล้ว ก็คือร่วมกับทางวิทยาลัยพยาบาลของเซ็นต์หลุย ค่ายที่ 14 นครสวรรค์ ทำมาแล้วก็ประสบความสำเร็จดี และก็หนุ่ม ๆ ชาวค่ายเยอะเพราะสาวพยาบาลไปทั้งนั้น ก็เป็นค่ายที่ว่ามีสถาบันข้างนอกเนี้ย เข้ามาร่วมแล้วก็ไปได้ดี ก็ยังภาคภูมิใจอยู่ในค่ายนี้เพราะปัญหาเยอะแต่ว่าสำเร็จด้วยดี สำเร็จด้วยน้ำตา ก็บอกเล่าให้เราฟังนิดหนึ่ง

อ. เล็ก (ผู้ดำเนินรายการ)

ค่ะก็ เนื่องจากเราก็มีข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาเช่นเดียวกันค่ะในส่วนนี้ ถ้าใครสงสัยอะไรเกี่ยวกับวิทยากรทั้งสามท่านนะค่ะ

ถ้าเป็นที่ทอมมี่ ก็ลองขอเบอร์โทรดูนะค่ะ
ถ้าเป็นพี่นก ก็ลองเข้าไปดูที่เว็บไซด์นะค่ะ annop.me
ถ้าเป็นพี่จัน ก็อาจจะลองถามเบอร์ดูนิดหนึ่งอาจจะมีปัญหาข้อกฏหมายด้วยนะครับ จะได้แอบถามเกี่ยวกับอะไรต่าง ๆ

สุดท้ายนี้ ชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ก็ขอขอบคุณวิทยากรทั้งสามท่าน พี่จัน พี่นก และพี่ทอมมี่นะค่ะ