มงคล พรพัฒนาธนกุล (หมง)

ผมเจอ หมง ครั้งแรกที่ค่ายกำแพงเพชร เมื่อปี 2538 นักศึกษาหนุ่มที่ชอบใส่เสื้อฟุตบอล ใส่รองเท้าผ้านันยาง เนื้อตัวเต็มไปด้วยพลาสเตอร์ปิดแผล เดินไปมาในค่ายฯ หยิบจับ ส่งของทุกอย่างตามคำสั่งของรุ่นพี่ ไม่ทำงานหนักเพราะเท้าเจ็บ

แต่การพูดจาที่ฉะฉาน มีการอ้างเหตุผลประกอบ มีหลักการ ซึ่งหาตัวจับได้ยากคนหนึ่ง ทำให้พี่ ๆ ทุกคน ไว้ใจและมอบหมายตำแหน่ง “ประธานค่ายฯ” ให้เขาโดยมิได้คลืบแคลง

ผมมาสนิทกับเขาตอนค่าย 3 กาฬสินธิ์ ทุกวัน เย็น ๆ หลังเริ่มงาน เรา 2 คน จะขับมอเตอร์เข้าไปในหมู่บ้าน เพื่อซื้อของกินกลับมาให้พี่น้องเราที่ค่ายฯ แต่ก็จะโดนชาวบ้านเรียกไปนั่งคุย เลี้ยงข้าว เลี้ยงเหล้า ประจำ จนหมู่บ้านทั้งหมู่บ้านไม่มีใครไม่รู้จักเรา 2 คน

ยังมีแง่มุมชีวิตของ หมง อีกหลายมุม ที่เรายังไม่เคยรู้…ลองติดตามดูครับ

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ชื่อ-นามสกุล

หมง : มงคล พรพัฒนาธนกุล

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ชื่อเล่น

หมง : เอก

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ชื่อ เอก แล้วทำไมคนถึงเรียก หมง

หมง : เพราะว่า ชื่อจริงชื่อ มงคล ตอน ป.4 ป.5 ตอนนั้นมีผู้สมัคร ผู้ว่า ก.ท.ม ชื่อ มงคล สิมโรจน์ ฉายา บิ๊กหมง

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แล้วชื่อ เอก นี่…ที่บ้านเรียก

หมง : ตอนนี้เหลือแต่ พ่อแม่พี่น้อง เรียก คนอื่นเรียก หมง หมดแล้ว

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ชีวิตในวัยเด็กเป็นอย่างไงบ้าง

หมง : ก็เรียบง่าย สบาย ๆ ไม่ดิ้นรนแต่ก็ไม่ลำบาก

อรรณพ นิพิทเมธาวี : เรียนอนุบาล…โรงเรียนอะไร

หมง : โห… จำไม่ได้แล้ว รู้สึกโรงเรียนแถวบ้านเป็นโรงเรียนภาษาจีน

อรรณพ นิพิทเมธาวี : เป็นครอบครัวเป็นคนจีน

หมง : อืม…พ่อผมเกิดที่เมืองไทย

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ตอนประถมล่ะ

หมง : เรียนประถมที่โรงเรียนแถวบ้านชื่อ…. ประเสริฐธรรม หรืออะไรสักอย่าง โรงเรียนเล็ก ๆ เรียนถึง ป.6 แล้วไปเข้ากรุงเทพคริสเตียน

อรรณพ นิพิทเมธาวี : เห็นว่าเป็นลูกคนกลางด้วย

หมง : ใช่ มีพี่ชายหนึ่งคน แล้วก็น้องสาวหนึ่งคน

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ตามทฤษฎีลูกชายคนกลางก็จะเป็นคนที่ครอบครัวคนจีนไม่ค่อยให้ความสนใจ…จริงไหม

หมง : จริง มีอะไรก็จะต้องลูกคนโตได้ก่อน…ทุกอย่าง

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แล้วเราไม่ได้รู้สึกน้อยใจอะไรเหรอ

หมง : ไม่…เด็ก ๆ รู้สึกนะ แต่ว่าพอโตขึ้นเรื่อย ๆ ก็ไม่รู้สึก เพราะว่า…ด้วยตัวของตัวเองผมไปได้ดีกว่า คือเรื่องการเรียนเรื่องอะไรทุกอย่างผมดีกว่าหมด ถึงแม้เขาไม่ช่วยผม…ผมก็ไปได้ไม่ลำบาก ผมเอาตัวรอดได้ตลอด

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แต่ก็่น้อยใจอยู่

หมง : ลึก ๆ ตอนเด็ก ๆ รู้สึกไม่พอใจ

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แล้วเรียนมัธยมต้น มัธยมปลายที่ไหน

หมง : กรุงเทพคริสเตียน

อรรณพ นิพิทเมธาวี : กรุงเทพคริสเตียน…เป็นโรงเรียนชนชั้นกลาง…ชื่อดัง

หมง : ชนชั้นกลางเกรดต้น ๆ ของประเทศไทย

อรรณพ นิพิทเมธาวี : รู้สึกว่าตัวเองได้เปรียบกว่าเด็กคนอื่นไหม

หมง : ถ้าเกิดถามตอนนี้รู้สึก แต่ว่าถ้าถามตอนที่เรียนไม่รู้สึกอะไร

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แล้วทำไมถึงเข้าได้ โรงเรียนนี้ สอนได้หรือ?

หมง : พ่อรู้จักกับ ผอ. ฝากเข้าไปเรียน เด็กฝากเต็ม ๆ ตัว

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ทั้ง 3 พี่น้องเรียนที่เดียวกัน

หมง : ไม่น้องสาวผมเรียน อัสสัมฯ คอนแวน

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แล้วก็จบมัธยมปลาย….ได้เอ็นทรานไหม

หมง : เอ็น ไม่ติด

อรรณพ นิพิทเมธาวี : เป็นคนเรียนเก่งไหม

หมง : ตอนเรียนจริง ๆ ผมเรียนสายศิลป์ ถ้าเรียนสายศิลป์ ผมว่าเรียนเก่ง

อรรณพ นิพิทเมธาวี : เกรดเฉลี่ย

หมง : จำไม่ได้ แต่จำได้ว่าห้องมี 50 คน อยู่ไม่เกินที่ 7

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ก็แสดงว่าเรียนเก่ง

หมง : พื้นฐานเด็กมัธยมส่วนใหญ่เขาไม่เอาภาษาอังกฤษกัน คือหมายความว่าเด็กเก่ง ๆ จะอยู่สายวิทย์หมด สายศิลป์พื้นฐานแวดล้อมมันไม่ได้แข่งขันรุนแรง เพราะฉะนั้นเราแค่เรียน ไม่เกเร เราก็สบายๆอยู่แล้ว ถามว่าเก่งไหม จริง ๆ ไม่น่าเก่ง น่าจะกลาง ๆ มากกว่า

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แต่ว่าเอนไม่ติด

หมง : เอนไม่ติด

อรรณพ นิพิทเมธาวี : คิดยังไงกับการสอบเข้ามหา’ลัย โดยใช้วิธีการสอบเอ็นทรานซ์

หมง : ณ ตอนที่เอนฯ ไม่ติด ผมรู้สึกว่า…..ตัวเองกลับไม่รู้สึกเท่าไหร่…แต่มันมีคำถามเพราะว่ามีเพื่อนคนหนึ่งที่เรียนสายศิลป์ด้วยกัน เป็นเบอร์ 1 ของห้อง 3 ปี ม.4 ม.5 ม.6 เรียนเก่งมาก นักเรียนเรียนดีของสายศิลปเลยนะ และก็เป็นคนไม่เคยเรียนพิเศษอะไร และปรากฏว่าไปสอบเอนไม่ติด ด้วยเหตุผลที่เจ้าตัวบอกคือ ทำวิชาเลขไม่ได้เลย เพราะโจทย์เลขนี่….ผมรู้สึกว่าโจทย์เลขของเอ็นทรานมันเกินกว่าที่เด็กมัธยมเรียนจริง ๆ มันต้องมีการเรียนพิเศษเพื่อเพิ่มส่วนเกินขึ้นมาเยอะ แล้วเพื่อนผมคนนี้ก็เอนไม่ติด แต่ความที่จบ ม.ปลาย ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.9 ก็เลยได้โควต้าเรียนทุนของ ม.กรุงเทพ คณะบริหาร เรียนจบสามปีครึ่ง ด้วยเกรดเฉลี่ย 4.00 และตั้งแต่สอบเอนไม่ติดก็หายตัวไป ไม่มีใครเจอเขาอีกแล้วในเด็กกรุงเทพคริสเตียนด้วยกัน มันทำให้ผมมีคำถามกับระบบเอ็นทรานซ์ ผมเห็นด้วยกับการสอบ ที่เหมือนกับว่าทุกคนมาเริ่มจุด Start พร้อมกันหมด แล้วเข้าไปสอบด้วยข้อสอบชุดเดียวกัน เพื่อวัดว่าใครจะได้หรือใครจะไม่ได้ แต่ว่ามันเป็นคำถามมากกว่า….ถ้าเป็นอย่างนั้นเนี้ย อะไรทำให้ระบบการเรียนนอกหลักสูตรเกิดขึ้นเยอะ แล้วก็เหมือนเป็นสิ่งที่ต้องทำ แล้วอย่างนี้เราจะมีการเรียนในหลักสูตรไปทำไม? ในเมื่อคนที่เรียนในหลักสูตรเข้าใจทุกอย่าง….ก็เอ็นไม่ติด

ค่ายแรกของเขา – ค่ายฯ 2 จ.กำแพงเพชร (พฤษภาคม 2539)

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แล้วปัจจุบันนี้ละ…..กระบวนการเปลี่ยนไปพอสมควร มีสอบวัดผล มีการใช้คะแนน ถ้ามีลูก…จะบอกลูกคุณยังไง ถ้าลูกปรึกษาเรื่องการเลือกคณะ เรื่องการสอบเข้า

หมง : ส่วนตัวตอนนี้…. มีเพื่อนหลายคนที่ออกไปตอน ม.3 ม.4 แล้วก็ไปเรียนอเมริกา ตอนออกไปก็เรียนไม่เก่ง พอไปเรียนไฮสกูลที่อเมริกา เขาบอกว่าในห้องนี่ วิชาเลขเขาได้ท๊อป เขาบอก….ฝรั่งไม่รู้เรืองเลขเลย ถ้าเอาเด็กไทยที่เรียนกลาง ๆ ไปเรียนที่อเมริกาก็เก่งหมดทุกคน แต่ว่า…เขาบอกอย่างนี้ “ถ้าเอาด้านวิชาการมาจับ เขาสู้เราไม่ได้ แต่ถ้าเรียนจบมหา’ลัยเขาดีกว่าเรา” ผมว่าระบบของที่โน้น เขาพยายามสอนเรื่องของการคิดของคนเยอะ ผมว่าของเรา…เก่งไม่เก่งอาศัยการท่องจำซะเป็นส่วนใหญ่ โดยที่ไม่ต้องพูดถึงความเข้าใจ จะมีหรือไม่มีก็แล้วแต่ แต่คุณต้องท่องจำ nถ้าเกิดถามตอนนี้ว่าระบบการเข้ามหา’ลัย ควรเป็นอย่างไร ผมมองว่า…ผมไม่ซีเรียสนะ จริง ๆ แล้วปัญหาน่าจะเกิดปัญหาจากค่านิยมมากกว่า คือ ถ้าเป็นเหมือนอเมริกาเขาจะเปิด Open เลยนะ อเมริกาแทบจะใช้ GPA เกือบทั้งหมด การสอบนี่น้อยมาก นอกจากที่ไหนโควต้าเต็มจึงใช้การสอบ เขาเปิดโอกาสให้คนของเขามากที่สุดไง เพราะฉะนั้นผมเลยรู้สึกว่า…ถ้าที่เป็นอยู่ ถ้าไม่พูดถึงเรื่องตัวผู้ปกครองเองติดเรื่องสถาบันเรื่องอะไร คือเรียนอะไรก็ได้ที่คุณอยากเรียนจริง ๆ ที่ไหนก็ได้

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ที่ไหนก็ได้… แม้ว่า….ระบบการเรียนการสอนจะไม่ได้สอนให้เด็กไทยคิด ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด

หมง : ไม่…ในอีกแง่หนึ่งผมมองว่า นั้นคือผมกำลังตั้งคำถามกับช่วงมัธยม ยังไม่ได้พูดถึงว่ามหา’ลัยเป็นอย่างไรต่อไป ถ้ามัธยม….การเข้าสู่มหา’ลัย อย่างตอนนี้ มันมีสถาบันให้เลือกมากขึ้น ไม่ติดจุฬา-ธรรมศาสตร์ คุณก็มี choice อื่น เพียงแต่ว่า จริง ๆ ในเบื้องลึกมันก็รู้กันอยู่มาตราฐานมันไม่เท่ากันหมด แต่ในระดับ ๆ หนึ่งผมว่ามันไม่ปิดโอกาส ถ้าเทียบกับสมัยก่อน โอกาสมันตัดเลยไง มีสถาบันระดับอุดมศึกษาให้เลือกมีอยู่ไม่ถึง 20 ที่ ผมรู้สึกว่ามันดีขึ้น แต่เรื่องสอนให้คิดหรือไม่คิดนี่….ผมมองว่าปัญหานี้มันอีกประเด็นหนึ่งละ เมื่อกี้เราพูดถึงการเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แล้วจับพลัดจับผลูยังไงมาเรียน ABAC ได้

หมง : ก็ ABAC เขาจะสอบเข้าก่อน…ก่อนเข้ามหา’ลัย ก็ไปสอบตามธรรมเนียมปฎิบัติ ปีนั้นปี 2536 เข้าใจว่าปีนั้น เพราะผมเรียนรหัส 361 มันเหมือนเป็นขั้นตอน…ก่อนสอบเอ็นทรานซ์ไปสอบ ABAC ไว้ก่อน

อรรณพ นิพิทเมธาวี : อยากเรียน ABAC มาก่อนไหม

หมง : ไม่เคยคิดเลย อย่างที่บอก มันเป็นแฟชั่น…มันเหมือนขั้นตอน เมื่อก่อนมี choice ให้เลือกไม่กี่ที่ ถ้าไม่ ABAC ก็เอน ถ้าหลุดจาก ABAC หรือเอ็นฯ ก็ไปสอบเอกชน หลุดจากเอกชนก็ไปเรียนราม

อรรณพ นิพิทเมธาวี : เหมือนเราสร้างทางเลือกให้ตัวเอง

หมง : ตอนนั้นไม่รู้สึกว่าตัวเองสร้างทางเลือก ตอนนั้นไปตามเพื่อน เขามารับสมัครที่โรงเรียน แล้วก็มาสอบ สอบก็มากันทั้งห้องยกโขยงกันมา แล้วก็จำได้ว่า ABAC มันประกาศผลสอบก่อน ถ้าจำไม่ผิด เออ….ห้องผมมี 60 คน สอบติด ABAC 48 คน ยกโขยงมากันมาเลย เป็นประวัติศาสตร์ของโรงเรียนเลย สมัยก่อนสายศิลป์ที่โรงเรียนจะมีคล้าย ๆ เป็นโควต้า เอ็นทรานซ์ไม่เกิน 5 คน ABAC ไม่เกิน 5 คน ที่เหลือเอกชน ส่วนตัวผมรู้สึกว่าอุ่นใจระดับหนึ่งแหละ ว่ายังไงมีที่เรียนแล้ว แต่ก็ไม่ตั้งใจเรียน ABAC อยากเอ็นฯ ติดมากกว่า

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แล้วชีวิตเปลี่ยนไปบ้างไหม หลังจากเข้ามหา’ลัย

หมง : ไม่เปลี่ยน…ไม่เปลี่ยนเลย เพราะว่าอย่างที่บอก เพื่อน 48 คน เอ็นติด 20 คน เหลืออีก 28 คนเรียน ABAC ด้วยกัน

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ก็ยังเป็นสังคมเดิม ๆ

หมง : อืม….คืออยู่กลุ่มเพื่อนเดิมเลย ทำตัวเหมือนอยู่มัธยม คือเป็นก๊วน ในห้อง Section หนึ่ง เราล่อไปเกือบครึ่งห้องแล้ว เพราะช่วงปีหนึ่งยังไม่ได้แยกคณะกันเท่าไร แล้วเพื่อนผมส่วนใหญ่ก็อยู่ BBA (บริหารธุรกิจ) หมด ความรู้สึกผมตอนเรียน ABAC 2 ปีแรกนี่ เหมือนกับเรียนมัธยมเลย เพื่อนกลุ่มเดิมเปลี่ยนที่เรียนเฉย ๆ วิธีการเรียนก็เหมือนเดิม ผมรู้สึกว่าวิธีการเรียนของ ABAC มันเหมือนมัธยม ต้องมานั่งเช็คชื่อ ต้องมาบอกจดเล็คเชอร์ ไม่ต่างกับมัธยม Process การเรียนไม่ต่างกัน

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แล้วเลือกคณะอะไรตอนสอบ

หมง : ตอนสอบเลือกบริหารธุรกิจ

อรรณพ นิพิทเมธาวี : เหตุผล

หมง : ไม่มี ก็ตอนนั้น ABAC เขาดังด้านบริหาร

อรรณพ นิพิทเมธาวี : เด็ก ๆ มีความคิดไหมว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร อยากทำอาชีพอะไร

หมง : จริง ๆ ตอนเด็ก ๆ อยากเรียนนิติศาสตร์ เอ็นทรานซ์ก็เลือก นิติศาสตร์ กับ เศรษฐกิจศาสตร์ 2 คณะ ผมมีญาติเป็นทนายความ และก็เด็ก ๆ เราสนิทกัน เขาบอกว่าบุคลิกของเราหลาย ๆ อย่าง เราน่าจะเป็นทางทนายความ การพูดจาหรือว่าการกล้าแสดงออก การพูดคุยอะไรงี้…

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แต่ก็มาเลือก BBA เพราะตามเพื่อน

หมง : ตอนนั้น ABAC มันดัง BBA คณะเดียว ABAC เมื่อก่อนดังบริหารธุรกิจอย่างเดียว ตอนที่ผมเข้าคณะนิติศาสตร์เพิ่งเปิดปีแรก หลาย ๆ คณะเพิ่งเปิดปีแรก

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แสดงว่าก็พูดได้ว่า เหมือนจำใจเรียนเหมือนกัน

หมง : ตอนนั้น จริง ๆ ที่เรียน….เรียนเพื่อรอกะว่าอีก 1 ปีจะไปเอ็นฯ ใหม่ คือจริง ๆ ต้องบอกว่า….ผมเอ็นตั้งแต่ ม.5 ม.6 แล้วก็อีกปีหนึ่ง พอเราจะกลับมาเอ็นใหม่การเตรียมตัวมันไม่เหมือนเดิมละ ความสบายในการเรียนมหา’ลัย เรียนปีแรกมันไม่หนักมาก เราก็สบาย ๆ เราก็เฮฮากับเพื่อน ก็เลยไม่ตั้งใจ ไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้อะไรเลย ไปสอบโดยที่ไม่ได้เตรียมอะไรเลย ผลก็คือไม่ติด ก็เลยต้องเรียน ABAC ต่อไป

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ฟัง ๆ ดูชีวิตวัยรุ่น วัยเด็ก ๆ ไม่มีอะไรยึดเหนียวเหมือนกัน คือก็ไหลไปตามกระแสเหมือนกัน…ตามเพื่อน

หมง : ใช่ ๆ พูดอย่างนั้นก็ได้ ผมก็ไม่ได้มีหลักอะไร ทำอะไรก็ทำ เพียงแต่ว่าผมรู้สึกว่าถ้าเกิดผมทำอะไรผมพยายามทำให้มันเต็มที่เท่านั้นเอง อย่างเรียนก็เรียน ๆ ไป แต่พอเรียนก็อยากจะเรียนให้มันดี

ค่ายฯ 3 จ.กาฬสินธุ์ (ตุลาคม 2539)

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แล้วจุดแรกของการเข้ามาทำค่ายฯ ในชมรมค่ายอาสาฯ ไปมายังไง

หมง : จำได้ว่าตอนนั้นเรียน Summer ของปี 3 ผมเริ่มแยกจากกลุ่มเพื่อนที่เป็นเด็กคริสเตียนด้วยกันแล้ว เพราะว่าผมเลือกเมเจอร์บัญชี อย่างพวกเพื่อน ๆ ผมเลือก การตลาด แล้วก็พวก Computer อะไรประมาณนี้ ผมฉีกมาเรียนบัญชี กลุ่มเพื่อนก็เปลี่ยนมาอีกกลุ่ม ก็เลยเหมือนกลุ่มก็แยกกันออกมา ผมก็ยังเรียนไปเรื่อย ๆ พอดีช่วง Summer เสร็จมันก็มีเวลาเหลือแค่ 10 กว่าวัน ก่อนเปิดเทอมใหม่ พอดีในกลุ่มเพื่อนที่สนิทกันก็ทะเลาะกันเอง เหมือนกับหาทางออกไม่ได้ คุยกันไม่เข้าใจ พยายามนัดกันเคลียร์หลายครั้ง เพื่อนในกลุ่มก็ช่วยกันเคลียร์ มันก็ไม่จบ

อรรณพ นิพิทเมธาวี : เราเป็นคู่กรณี ?

หมง : ผมเป็นตัวต้นเหตุ แต่เป็นโดยความไม่ตั้งใจอะ คือเหมือนการเข้าใจผิดกัน แล้วก็…คือจริง ๆ ผมคิดว่าไม่ใช่ประเด็นนะ แต่เพื่อนผมบอกว่า ‘เฮ้ย..มึงผิด ผิดมาก’ พวกเพื่อน ๆ ในกลุ่มก็พยายามช่วยกันเคลียร์ แต่มันก็ไม่ยอมฟัง ก็เลยเซ็ง ผมเซ็งมาก สอบเสร็จ …ด้วยความที่กลุ่มเล็กมาก อยู่ไปเนี้ยก็ไม่รู้จะทำยังไง อึดอัด ก็พอดีเจอไอ้ต้น (สมาชิกชมรมค่ายฯ) ก็ถาม ‘เฮ้ย…ทำอะไรดีว่ะนี่ เซ็งๆ ว่ะ’

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ต้น นี่…เป็นเพื่อนที่โรงเรียนเก่า

หมง : เป็นรุ่นน้องผมที่กรุงเทพคริสเตียน ต้นมันเด็กกว่าผมปีหนึ่ง แต่ว่าตอนที่เรียนกรุงเทพคริสเตียนเราไม่รู้จักกัน ต้นมันสอบเทียบ ตอน ม.5 มันสอบเข้ามาเรียน ABAC เลย มันไม่รอจบ ม.6 ก็เลยเรียนรุ่นเดียวกับผม ต้นมันจะไปออกค่ายอยู่แล้ว นัดกับช้าง (สมาชิกชมรมค่ายฯ) ไว้ที่เป็นเพื่อนที่ฟิตเนสด้วยกัน ซึ่งผมก็จำไม่ได้ว่าไอ้ช้างเคยชวนผมรึเปล่า คือไม่คุ้นอะ…ไม่คุ้นกับคำนี้เท่าไร กับ ‘ค่ายอาสาฯ’ ไปตอนนั้นอารมณ์ คิดง่าย ๆ ต้นบอกก็ไปเปลี่ยนบรรยากาศละกันว่ะ

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ถามย้อนนิดหนึ่ง อยู่ ABAC มา 3 ปี ไม่คิดจะทำกิจกรรมอะไรบ้าง

หมง : ไม่คิด

อรรณพ นิพิทเมธาวี : รู้จัก ชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท มาก่อนไหม

หมง : ไม่รู้จัก

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ทำไมถึงไม่ทำกิจกรรม มันไม่มีประโยชน์ หรือยังไง ?

หมง : ส่วนหนึ่งผมมองว่าโดยระบบของ ABAC มันไม่ได้เอื้อ คำว่าไม่ได้เอื้อ….คืออย่างสมมติเราเข้ามหา’ลัยอื่น เขาจะเรื่องของน้องกลุ่ม น้องคณะ น้องอะไรต่าง ๆ เขาจะมีขบวนการในการสร้างการสัมพันธ์ การทำความรู้จักกันกับเพื่อนใหม่ ๆ แต่ ABAC มันอารมณ์มันเหมือนกับต่างคนต่างอยู่…ในระดับหนึ่ง ถึงแม้ ABAC จะมีชมรมมาเพื่อรองรับ Function การทำงานตรงนี้ เพราะว่า ABAC ไม่มีเรื่องของคณะ เรื่องของกลุ่มคณะอะไร อย่าง BBA นี้ชัดเจนเพราะคณะมันใหญ่มาก คนเป็นร้อยมันก็ควบคุมไม่ได้ ที่นี่…อย่างที่ผมบอกตอนที่ผมเข้ามา ผมมีเพื่อนตอนมัธยม 20 กว่าคน ทำให้ตอนนั้นผมไม่รู้จักเพื่อนใหม่เลย รู้จักเพื่อนใหม่น้อยมาก ไม่ถึง 10 ส่วนใหญ่เพื่อนใหม่จะมาจากการเป็นเพื่อนของเพื่อนแล้วมาเจอกันหรืออะไรมากกว่า ผมรู้สึกว่าสังคมตรงนั้น แค่นั้นผมอยู่ได้แล้ว ผมก็เลยไม่ได้เข้าไปหา….เรื่องของชมรม ตอนนั้นสมัย 3 ปีแรกก็เรียนอย่างเดียว เรียนหนังสือเสร็จ ก็ไป ซีคอน ดูหนัง กลับบ้าน ชีวิตมีอยู่สามสี่ที่

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ย้อนกลับมาที่การเข้าชมรมค่ายฯ ถึงตอนที่….

หมง : ผมจำได้ว่าช้างไม่ได้ชวนผม เพราะว่าผมเล่นฟิตเนสที่ ABAC ถ้าจำไม่ผิดน่าจะประมาณปี 2 คือเล่นมา 2 ปี แต่ว่าผมรู้จักเพื่อนในห้องฟิตเนสน้อยมาก คือพื้นฐานผมเป็นคนที่ถ้าไม่มีใครมายุ่งกับผมก่อน ผมก็จะไม่ยุ่งก็ใคร เพราะฉนั้นผมไปเล่นฟิตเนสผมก็อยู่ของผมคนเดียว แต่ไอ้ต้น บุคลิกค่อนข้างจะ Friendly ค่อนข้างจะเปิดกับคนอื่นเยอะ รู้จักเพื่อนใหม่ ๆ เยอะ เพราะฉนั้น…ถามว่าช้างหน้าตาเป็นไง…ก็ยังไม่รู้ ตอนที่มันบอกช้างมาชวน ๆ นี่ ต้องมาเจอมันตอนขึ้นรถไปค่าย ‘ไอ้นี้เด็กในห้องเวทนี่หว่า’ ตอนนั้นผมไม่เคยยุ่งกับใคร ไม่เคยคุยกับใคร ผมไม่คิดว่าเขาเคยชวนผม หรืออาจจะเคยแล้วผมจำไม่ได้…ก็อาจจะเป็นไปได้

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แต่ก็ตัดสินใจมา ด้วยปัญหาส่วนตัวด้วย การออกค่ายตอนนั้นก็คือ การทำชีวิตไม่ให้ว่างเข้าไว้

หมง : คล้าย ๆ หนีไปตั้งหลัก ที่อื่นซักพักหนึ่งแล้วก็กลับมา

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แล้วเกิดอะไรขึ้นในค่ายนั้น ค่ายแรกที่ไหน

หมง : จ.กำแพงเพชร จำได้ว่าช่วงแรก ไปถึงรู้จักไอ้ต้นคนเดียว คนอื่นคือใหม่หมดเพราะรู้จักมันคนเดียวจริง ๆ ไอ้ช้างก็อย่างที่บอกไม่รู้จักมาก่อน ไปถึงก็ยังเกาะกลุ่มกันเองอยู่เพราะว่าเป็นเพื่อนกันมาก่อน สักพอ 2-3 วัน ก็จะเริ่มหลุดออกไปเพราะว่า ต้น เป็นที่ป๊อปปูล่ามากในหมู่สาว ๆ มันก็จะหายเข้ากลีบเมฆเข้าไปในกลุ่มผู้หญิงหรืออะไรตรงนั้นไป ผมก็ทำงานตามหน้าที่ไปเรื่อย ๆ ไม่คิดอะไร สั่งอะไรมาก็ทำ หลาย ๆ อย่างก็รู้สึกแปลกใหม่ แต่อย่างที่บอกว่าส่วนตัวเราไปเพราะเรามีปัญหาอยู่ เราก็เคยแบบ….บางทีเราไม่ได้คิดอะไรเลย ให้ทำอะไรก็ทำ ทำให้มันหมด ๆ ไปแต่ละวัน บรรยากาศช่วงออกค่ายแรก ๆ ก็จะเป็นอย่างนั้น ชอบทำอะไรสบาย ๆ งานพื้นฐาน ๆ อะไรก็ทำหมด สั่งอะไรมาก็ทำหมด

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยน สิ่งที่ดีในค่ายฯ ที่เราเรียนรู้ใน 10 ว่าวันที่ไป

หมง : ผมไม่แน่ใจว่าจุดเริ่มต้นมันอยู่ที่วันไหน ถ้ากลับมาถามตอนนี้ ก็ยังหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้เหมือนกัน ผมว่ามันน่าจะเกิดจากการสั่งสมหลาย ๆ อย่างประกอบกัน คือว่า พออยู่ในค่าย…ต้องยอมรับว่าเป็นโอกาสเหมือนกัน คือพอต้นหลุดออกไป ผมก็ไม่ได้ซี้กับใครเลย นั้นหมายความว่าผมก็ต้องเปิดตัวเอง เพราะการอยู่ที่ตรงนั้น ผมอยู่คนเดียวไม่ได้ เพราะในสภาพที่มันจำกัด นิยามได้ว่าลำบากได้ ในตอนนั้น ถ้าถามตอนนี้คงอีกแบบหนึ่งแล้ว แต่ในความรู้สึกของคนที่ไม่เคยต้องไปทำอะไรแบบนั้นมันลำบาก มันเกิดสภาวะที่ว่า เราต้องพึ่งพาคนอื่นเยอะ เราจะอยู่ตัวคนเดียวเฉย ๆ เหมือนเมื่อก่อนไม่ได้ละ ซึ่งพอเกิดภาวะตรงนั้นขึ้นมาก็มีรุ่นพี่หรือว่ากรรมการค่ายฯ หลาย ๆ คนเข้ามาช่วยเรา อย่าง พี่เสก ที่โดยบุคลิกเขาอย่างที่รู้ ๆ เขาเป็นคนเข้าหาน้องใหม่ ๆ อยู่แล้ว เขาก็จะเข้ามา ตอนนั้นอยู่ในค่ายที่สนิทก็จะมีช้างกับพี่เสก 2 คน แต่ก็การพูดคุยในค่ายฯ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องซีเรียสอะไร ความเป็นไปทั่ว ๆ ไป การพูดอะไรในเรื่องเชิงสังคมก็แทบจะไม่มี พอบรรยากาศในค่ายผ่านไปซักครึ่งค่าย มันก็เริ่มสนิทกันละ แต่ผมก็สนิทกับกลุ่มผู้ชาย มี ไอ้เต๋า ช้าง ต้น พี่เสก ผม ในค่ายนั้นมันมีการแบ่งกลุ่มชัดเจนของชาย-หญิง ด้วยสัดส่วนของสมาชิก ด้วยอะไรหลาย ๆ อย่าง เริ่มรู้จักกับพี่สมรักษ์ แต่ก็ไม่ได้เรียกว่าสนิท เรียกว่ารู้จักกันมากขึ้น แต่ซี้จริง ๆ ก็คงเป็นกลุ่มสมาชิกด้วยกันเอง

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แสดงว่าค่ายแรกก็เป็นเรื่องของความประทับใจ เป็นเรื่องของมิตรภาพ

หมง : แทบจะล้วน ๆ เหตุผลเดียวเลยคือ ความประทับใจ อย่างเดียว คือ…ความคิดหรืออะไร…ผมยังไม่มีเลย คือกลับมา…แค่ประทับใจ ในเรื่องของบรรยากาศ ในภาพรวมทั้งหมดของค่าย มันอธิบายเป็นคำพูดไม่ได้นะ แต่ว่า….ทุกอย่างมันมาประกอบกันลงตัว

อรรณพ นิพิทเมธาวี : กลับมาจากค่ายฯ ก็ได้เป็นกรรมการค่ายฯ เป็นประธานชมรม

หมง : ช่วงท้าย ๆ ค่ายมันก็เริ่มมีการพูดคุยกันละ พี่เสกเขาจะเริ่มมีการทาบทาม มีการพูดคุยในลักษณะที่ชวนมาทำค่ายฯ ต่อ ซึ่งตอนนั้นผมก็ปฏิเสธมาตลอด เพราะผมก็ยังชอบเรื่องเรียนของผมอยู่ เหมือนเมื่อก่อนชีวิตเรามีสัดส่วนอยู่ 3 อย่าง ถ้าจะมีอย่างที่ 4 เกิดขึ้น มันเป็นการเบียดเบียน 3 อย่างที่เหลือละ และด้วยความที่เราไม่รู้เป็นไง เราก็ไม่อยากจะเข้าไปเสี่ยงตรงนั้น

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แล้วทำไมตัดสินใจทำ ?

หมง : พอวันสุดท้ายที่ค่าย ที่กำลังจะกลับ บรรยากาศมีหลายอย่างในค่ายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าตั้งแต่ตอนคืนเลี้ยงปิดค่าย หรือตอนเช้าที่วงเวียนปราบเซียน ผมรู้สึกว่ามันเป็นกระบวนการที่ สำหรับผม…รู้สึกเจ๋งมาก ผมรู้สึกว่าเวลาแค่สิบวัน มันสามารถเปลี่ยน เปลี่ยนหลาย ๆ ทั้งตัวสมาชิก ทั้งตัวชาวบ้าน เปลี่ยนพื้นที่ทุกอย่าง การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในเวลาที่สั้นมาก ผมรู้สึกว่ามันเป็นกิจกรรมที่เจ๋งในระดับหนึ่ง พอผมกลับมาแล้ว เรารู้สึกว่า ถ้าเรามีโอกาสได้เป็นคนสร้างโอกาสอย่างนี้ให้กับคนอื่นบ้าง น่าจะเป็นอะไรที่ภูมิใจในตัวเองเหมือนกัน ด้วยตอนนั้นเราคิดว่าอยากลองทำ

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แสดงว่า….มันก็เปลี่ยนตัวเราเหมือนกัน

หมง : ก็เปลี่ยนนะ แต่มันเป็นเรื่องของความรู้สึกเพียว ๆ เลยมันอธิบายไม่ออกว่าจะอธิบายอย่างไร แต่รู้สึกว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นกับเรา

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แล้วการตอบรับเป็นกรรมการค่ายฯ เป็นประธาน รู้สึกกดดันหรือแบกภาระอะไรหนักแค่ไหน

หมง : จริง ๆ ตอนแรกยังไม่รู้สึกอะไรเท่าไร เพราะว่าความรู้สึกตอนนั้นก็คือ รุ่นพี่ กรรมการค่ายชุดก่อน ก็ยังอยู่ทั้งชุด ก็เหมือนกับเรา กึ่ง ๆ เป็นหัวโขนขึ้นไปอยู่ในตำแหน่ง เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงกลุ่มคนที่เข้ามาทำงาน แต่ก็คิดในเรื่องของการปฏิบัติน่าจะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก และก็คิดว่าพวกรุ่นพี่คงไม่ได้หายไปไหน เขาคงอยู่ช่วยเราอยู่แล้ว ก็เลยไม่ได้กลัวมากนัก ตอนนั้น….จริง ๆ มีสมาชิกตอบรับที่จะทำงานตอนนั้นมี 5 คน มีผม ต้น ปุ๊ก มล จิ๋ว ตอนนั้นยังไม่เห็นอะไรกันเท่าไร แต่ละคนเมื่อโดนจับวางตำแหน่งอะไรทุกคนก็คือได้หมด คือภาพยังไม่ชัดเจนเท่าไร ผมเข้าใจว่าทุกคนคิดว่ารุ่นพี่ก็ยังอยู่ เราคงไม่มีปัญหาอะไร จะให้ทำอะไรก็ได้ ก็เลยไม่รู้สึกกดดันอะไรที่มาเป็นประธาน

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แล้วกระบวนการเรียนรู้เรื่องสภาพสังคม วิธีคิดอะไรต่างเหล่านี้ ได้จากไหน…เมื่อไร ?

หมง : ผมมองว่าน่าจะมาจากหลาย ๆ ส่วน ในค่ายถึงแม้จะไม่เป็นขบวนการยัดเยียด หรือว่าอะไรที่เต็มรูปแบบมากนัก แต่ว่าจากเพลงที่ร้อง…. เบื้องต้นผมมองว่าในค่ายกำแพงเพชร มันเล่นเพลงเพื่อชีวิตเป็นหลัก อย่างที่บอกจากที่ไม่เคยฟัง เริ่มเก็บเป็นคำได้ เริ่มฟังความหมายของทั้งเพลงได้ และมีการเอามาคิดต่อ ซึ่งขบวนการตรงนั้น ต้องยอมรับว่ามีช่วยเหลือการเชื่อมโยงเรื่องราวจากทั้งพี่เสก ไอ้ช้าง ด้วย มันก็ทำให้เราเห็นภาพอะไรบางอย่างเหมือนกัน นั้นก็แค่การจุดประกาย กลับจากค่ายฯ จำได้ว่าทุกคนก็พยายามไปหาเพลงที่ร้องในค่ายฯ มาฟัง มันเป็นเหมือนเรายังประทับใจกับมันอยู่ และมีอะไรบางอย่างเป็นตัวแทนที่จะสื่อกลับไปหาตรงนั้นได้ เราก็พยายามไปหากลับมา แต่ในขณะเดียวกัน…การไขว่คว้าหาอะไรตรงนั้นในอีกแง่หนึ่งมันก็ได้เนื้อหากลับมาด้วย เพราะเนื้อหาของเพลงมันก็ชัดเจนอยู่ตรงนั้น แล้วก็ ประกอบกับ…ตอนนั้นจำได้ว่ากลับมาก็เริ่มต้นคุยกันเลย เตรียมตัวเสนอเรื่องเป็น ‘กลุ่ม’ เลยต้องเจอกัน ทุกวันเสาร์ก็ไปนั้นคุยกันที่บ้านเพื่อนคนหนึ่ง เพื่อที่จะคุยกันเรื่องการวางแผนทำงาน ว่าจะพรีเซ็นต์งานอย่างไร เอาข้อมูลอะไรต่าง ๆ มานั่งคุยกัน ว่าจะเอาอย่างไร ระหว่างนั้นกระบวนการเรียนรู้มันก็มีเยอะพอสมควร ในเรื่องของการอ่านหนังสือหรือว่าอะไร

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แสดงว่ามาจากสื่อ เพลง หนังสือ มาจากการเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่

หมง : ใช่

ค่ายฯ 17 จ.หนองคาย (ตุลาคม 2546)

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ถึงวันนี้ ถ้ามองกลับไปที่ชมรมแล้วรู้สึกยังไง ถ้ามองย้อนจากวันนั้นถึงวันนี้ค่ายอายุจะ 10 ปีแล้ว รู้สึกอย่างไรกับมัน

หมง : ผมรู้สึกว่าหลาย ๆ อย่างหายไป หลาย ๆ ที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่น่าจะมีอยู่ เป็นเอกลักษณ์ของเรา เช่น การอ่านหนังสือ ผมจำได้ว่าในยุคต้น ๆ ช่วงนั้นที่ชัดเจนในกลุ่มผู้ชายที่เป็นสมาชิกชมรมหรือกรรมการ เช่นผม ต้น หรือ ช้าง อีกหลายคน เรามีการแลกเปลี่ยนเรื่องความคิดกันเยอะด้วยการอ่านหนังสือ ลักษณะที่ว่าซื้อหนังสือมาแล้วก็แนะนำกันเอง เรื่องนี้ดีนะ ซื้อมาอ่านหรือยัง เรื่องนี้กูว่าอย่างนี้นะ มานั่งคุยกัน การนั่งวิพากษ์กันตรงนั้นมันต่อยอดความคิดไปเยอะ ผมรู้สึกว่ามันได้อะไรจากตรงนั้นเยอะมาก แต่ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้มันไม่มี จริง ๆ มันไม่มีมาหลายปีแล้ว เท่าที่ผมสังเกต ซึ่งน่าเสียดาย

อรรณพ นิพิทเมธาวี : อาจถูกเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นอย่างอื่นรึเปล่า

หมง : ผมไม่แน่ใจนะ….ผมว่าสมัยนี้มีสื่อให้เราเข้ามาใช้งานเยอะ ความสะดวกความสบายมันเยอะขึ้น แต่ผมว่ายิ่งเยอะ มันเลยดูเหมือนเราตามไม่ทัน สื่อ Internet หรือข้อมูลต่าง ๆ เรื่องราวมันเยอะมาก ถึงจุดหนึ่งมันไม่มีเวลาให้เราไตร่ตรอง เราแค่รับรู้แล้วก็ปล่อย รู้แล้วก็ปล่อย แต่ถ้าอ่านหนังสือ คุณอ่านแล้วยังไงคุณก็กลับมาอ่านใหม่ได้ คุยกันแล้วคุณยังกลับมาอ่านได้ ผมไม่แน่ใจว่าเด็กน้อง ๆ เหล่านี้มันเป็นอย่างไรในเรื่องการอ่านหนังสือ เท่าที่พูดคุยกันดูเหมือนให้ความสนใจกันน้อย

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ไหน ๆ ก็พูดประโยคนี้ออกมาแล้ว… ก็จะข้ามโทนคำถามไปอีกหน่อย… มองเด็กรุ่นใหม่ยังไง รุ่นใหม่ในการทำค่ายในออกค่ายฯ ในการทำค่าย ฯ นี้ ค่าย ABAC เดี๋ยวนี้เขาเป็นยังไง

หมง : ผมรู้สึกว่าหลาย ๆ คนก็มีความตั้งใจ บางคนมีความใฝ่รู้ มีพื้นฐานที่เรียกร้องเรื่องราวแบบนี้อยู่ ฉนั้นการทำค่ายฯ เป็นโอกาส โอกาสในการได้นำความคิดนั้นออกมาใช้ แต่ว่าเช่นเดียวกัน…แต่ผมไม่ใช่คนแบบนั้นไง ผมเป็นประเภทที่สองที่กำลังจะพูดถึง ก็คือว่าเริ่มต้นไม่มีอะไรเลย มาจากความประทับใจล้วน ๆ อาศัยการปรับปรุง พัฒนาการขึ้นมาเองอีกขั้นนึงทีหลัง ซึ่งผมมองว่าโดยบรรยากาศของกิจกรรมแบบนี้ผมว่าคนในประเภทหลังมีเยอะกว่า แต่ว่าการต่อสู้ต่อแรงเสียดทาน ในการพัฒนาตัวเองอีกทีมันอาจจะน้อย และผมรู้สึกว่าในบางรูปแบบมันเป็นแฟชั่นเหมือนกัน

อรรณพ นิพิทเมธาวี : งั้นลองวิเคราะห์ให้ฟังหน่อยว่า กิจกรรมค่ายอาสาฯ กับ โลกปัจจุบัน มันยังใช้งานได้อยู่ไหม หรือมันควรปรับเปลี่ยนยังไง

หมง : โดยส่วนตัวผมไม่คิดว่ามันล้าสมัยหรืออะไร ตัวกิจกรรมมันไม่ได้ล้าสมัยแต่ผมว่าตัวบุคคลนั้นแหละที่มีปัญหามากกว่า

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ตัวบุคคลก็มาเป็นไปตามยุคสมัยเหมือนกันนะ

หมง : ก็มีส่วน ผมรู้สึกว่าตัวกิจกรรมเอง หรือเรื่องวิธีการสอนหรือว่าแนวความคิดในการปฏิบัตต่าง ๆ นี้ มันยังโอเคอยู่ มันยังใช้งานได้ แต่การดิ้นรนในการเรียนรู้ใฝ่หาจากตัวบุคคลที่เข้าไปสัมผัสกิจกรรมมันน้อยลง ผมมองว่าภาพบางภาพ กิจกรรมค่ายมันเหมือนสูตรสำเร็จ ในการสร้างจุดขายบางอย่างให้กับตนเอง ‘ความแปลก’ อะ ผมว่าคนสมัยนี้คนต้องการความแปลก และกิจกรรมมันก็คงเป็นความแปลกอีกแบบหนึ่งมั้ง

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ok ข้ามเรื่องค่ายไปก่อน แล้วเดี๋ยวเราจะกลับมาคุยอีกครั้งช่วงท้าย ขอกลับมาเรื่องชีวิตส่วนตัว… หลังจากเรียนจบแล้ว ชีวิตการทำงานเป็นยังไงบ้าง

หมง : ช่วงทำงานหลังจากจบ 3-4 ปีแรก ผมมีความสุขมาก แฮปปี้มาก งานไม่ได้หนักมาก ยังมีเวลาส่วนตัวเยอะ พอ 4-5 ปี ไปแล้วมันก็เริ่มหนักขึ้นเรื่อย ๆ ตามตำแหน่งงาน หรือว่าประสบการณ์ทำงานมากขึ้น ก็ถือว่า…ทำงานค่อนข้างหนัก

อรรณพ นิพิทเมธาวี : เห็นว่าช่วงแรก ๆ ในการทำงาน มีภาวะความขัดแย้งเกิดขึ้นในตัวเอง เรื่องของชีวิตในค่ายฯ กับชีวิตจริง ไหนลองเล่าให้ฟังหน่อย

หมง : ผมว่าคนที่จบใหม่ ๆ ส่วนใหญ่ ไม่ต้องเด็กค่ายฯ อย่างเดียวนะ ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องของการปรับตัวเยอะ เพราะว่าสภาวะของคนที่เรียนหนังสืออยู่ ภาวะทุกอย่างมันถูกจัดวางไว้หมดแล้ว เราแค่เดินตามทางที่มันวางไว้…มันก็แบหนึ่ง แต่พอเรียนจบแล้ว เราต้องกลับมาเป็นตัวคุมเกมตัวเองก่อน ผมว่าปัญหาคือ การคาดหวังในรูปแบบที่เราอยากให้เป็นกับสิ่งที่มันเป็นไปมันความขัดแย้งกัน มันไปด้วยกันไม่ได้ แล้วการทำงานค่ายฯ มันสอนเรื่องความคิดหรือมุมมองด้านชีวิตค่อนข้างเยอะ คือเราพูดคุยเรื่องนี้กันเยอะ มันทำให้เกิดภาพของชีวิตบางอย่างซึ่งเราเชื่อว่ามันควรจะเป็น ซึ่งพอมาทำงานจริงๆ แล้ว หลายๆ อย่างมันก็ปะทะกันแล้วมันก็ไปด้วยกันไม่ได้ มันก็เกิดภาวะกดดันหรือขัดแย้งว่าจะเลือกทางไหนดี จะทำยังไงดี

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แล้วเรามีคำตอบกับตัวเองแล้วยัง แก้ปัญหากับชีวิตตัวเองตอนนั้นยังไง

หมง : ตอนแรกอึดอัดในการทำงาน มีปัญหาเรื่องการปรับตัวเยอะ แต่ผมต้องบอกก่อนว่าเพื่อนร่วมงานผมดี ดีมาก คือ เรื่องสังคม เรื่องอะไรเขาไม่เข้าใจเหมือนอย่างที่เราเข้าใจ แต่โดยพื้นฐานส่วนตัวเขาเป็นคนดี ปัญหาผมไม่ได้เกิดจากปัญหากับเพื่อนร่วมงานซะหมด แต่ ok เรื่องการปรับตัวเยอะเพราะว่าสังคมที่ทำงานมันก็อีกแบบหนึ่ง ปัญหามันน่าจะเป็น ความไม่เข้าใจในเรื่องปลีกย่อยบางอย่างของชีวิต ซึ่งเราอาจเห็นว่าสำคัญ ซึ่งเรื่องมันเล็กน้อยที่มันน่าจะมีการทำอะไรบางอย่างออกไป แต่แอ็คชั่นมันไม่ได้เกิด พอเราไปพูดคุยกับคนอื่นมันเหมือนกับเราถูกมองเป็นคนแปลก

อรรณพ นิพิทเมธาวี : เท่าที่คุยมา หมง เป็นคน….อธิบายเก่ง สรรหาศัพท์อะไรที่ไม่จำเป็นต้องอ้างอิงถึงเหตุการณ์นั้นจริง ๆ บางครั้งคิดไหมว่า มันเป็นการเข้าใจยาก

หมง : …ถ้าถามตัวเอง ไม่ได้คิด ผมพูดอย่างที่ผมเข้าใจ คือผมเข้าใจอย่างนี้ผมสื่อออกไป เขาก็น่าจะเข้าใจอย่างที่ผมต้องการให้เขาเข้าใจ แต่ถ้าคนอื่นมาบอก ว่าไม่เข้าใจนั้นก็คงไม่รู้

อรรณพ นิพิทเมธาวี : เท่าที่รู้มาเป็นคนชอบดูหนังมาก ทำไม ?

หมง : …อธิบายยาก ผมรู้สึกว่าการเข้าไปในโรงหนัง 2 ชั่วโมง เหมือนกับการไปเรียนรู้ประสบการณ์แปลก ๆ ใหม่ ๆ โดยที่ไม่ต้องเอาตัวเองเข้าไปสัมผัส แต่เราไปเรียนรู้ผ่านสื่อ ซึ่งสื่อในโรงหนังมันมีทั้งการฟัง การดู ประสาทสัมผัสใช้งานพร้อม ๆ กัน แล้วเรารู้สึกว่า…เราได้ประสบการณ์เทียมขึ้นมาละ จากการไปเสพตรงนั้น แล้วหนังก็มีให้เลือกเยอะ ผมเคยจดบันทึกว่าสมัยเด็ก ๆ ผมดูหนังปีหนึ่ง 200 เรื่อง หนัง 200 เรื่องซึ่งก็คือเรื่องราว 200 อย่าง มันก็ให้ประสบการณ์เราที่แตกต่างกันไป เพียงแต่ตอนเด็กเราอาจจะไม่ได้เอามันมาคิดอะไรต่อมาก แต่เราก็ได้ความหลากหลายตรงนั้นมา

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ชอบหนังแนวไหน

หมง : เด็ก ๆ ชอบหนัง Action ตอนนี้…… (หยุดคิด) ….ชอบหนังสบาย ๆ

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ยังไง ? หนัง Action ก็ดูสบายนะ สนุกสนาน

หมง : เมื่อก่อนผมชอบหนัง Action นะ แต่เดี๋ยวนี้ผมรู้สึกว่ามันเกินไป การเร้าอารมณ์มันแรงเกินไป มากเกินไป เหมือนกับ…อารมณ์แบบดูแล้วไม่ต้องหายใจอะ มันพาเราไปจนดูจบแล้วเราเหนื่อย หลัง ๆ ผมดูหนังผมรู้สึกว่าผมเหนื่อย ดูจบแล้ว….กูไปวิ่งกับมันมาหรือไงนี่

อรรณพ นิพิทเมธาวี : เห็นว่า…รักการดูหนังขนาดไปเรียนวิจารณ์หนังมาด้วย

หมง : เหตุบังเอิญ ผมมีเหตุบังเอิญในชีวิตเยอะ คือว่า…ก็ดูหนังเยอะ ตั้งแต่ตอนอยู่มัธยม ม.3 ม.4 ไอ้ที่ดูปีละ 200 เรื่องเนี่ย ก็ช่วงนั้น 3-4 ปีนั้นดู 200 กว่าเรื่อง คือดูหนังทุกโปรแกรมที่เข้า ดูกับเพื่อนสนิท…มีเพื่อนสนิทคนหนึ่งชอบดูหนังเหมือนกัน เสร็จแล้วนี่พอดูเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ต้องยอมรับว่าความหลากหลายของของหนังที่เข้าโรงในสมัยสักเกือบ 10 ปีที่แล้ว มันมีความหลากหลายของหนังเยอะมาก มีทั้งหนัง Action หนังรัก หนังดราม่า หนังเนื้อหาเยอะแยะไปหมด บางทีเราก็เริ่มรู้สึกว่าเราดูแล้วไม่เข้าใจ ดูแล้ว… ‘อะไรวะเนี้ย’ คือไม่เข้าใจมัน ก็มีเพื่อนคนหนึ่ง เขาก็ไปเรียน เพื่อนผมคนนี้เป็นคนค่อนข้างจะเป็นคนคิดอะไรมีสาระกับชีวิตพอสมควร มีตรรกะกับเรื่องของชีวิตเยอะ เขาก็ไปเรียนมา แล้วเขาก็มาอธิบาย ‘อ้อ…ที่มึงไม่เข้าใจมัน อย่างนี้ อย่างนี้’ ก็ยังไม่เข้าอีกอะ เขาเลยว่า ‘เดี๋ยวปีหน้าเปิด มึงไปเรียนดูละกัน’ ก็เลยเกิดท้าทายกัน ก็เลยไปเรียน ตอนนั้นไปเรียนก็ไม่คิดอะไร เพราะว่าเป็นช่วงปิดเทอมก็เรียนเสาร์อาทิตย์ ตอนนั้นผมเริ่มเป็นคนอ่านหนังสือเยอะ ตั้งแต่ตอนดูหนังแล้ว ตอนนั้นอ่านหนังสือหนัง นิตยสารเกี่ยวกับหนังเยอะ มันจะมีชื่อ ‘Film View’ เจ๊งไปแล้ว… ก็เป็นเรื่องการดูหนังแบบเป็นสาระมาก จำได้ว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจเลย ที่นี่ตอนที่ไปเรียนเขาก็บอก เขาเกริ่น ๆ มาว่าหนังที่ว่าดีอย่างนั้น…ดีอย่างนี้ จะฉายให้ดูในการสัมมนา ในการเรียน เราก็เลย…โหเนี่ย..700 บาท เรียน 10 ครั้งเต็มวัน ดูหนังด้วย คุ้มมากเลย ก็เลยไปเรียน ไปเรียนวิจารณ์หนัง

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ออกมาจากการอบรมครั้งนั้น มุมมองในการดูหนังเราเปลี่ยนไปไหม

หมง : ตอนแรกยัง เอาเข้าจริงพอไปเรียนแล้วก็หลับ นั่ง ๆ ดู ๆ หลับ ๆ ไป แต่ผมโชคดี คือการเรียนเนื้อหากว้างมาก เรื่องของมุมกล้อง เรื่องของการแสดง…เขาสอนหมด สอนพื้นฐานหมด แต่ผมก็ไม่ค่อยสนใจนะ ก็นั่ง ๆ หลับ ๆ ไป แต่บังเอิญวันสุดท้ายที่เรียนเขาสอนเรื่อง ‘การสื่อความหมายของหนัง’เขาเรียก โมทีฟ พอดีวันนั้นเราไม่หลับ เราก็นั่งฟัง เรารู้สึก ‘โห..มันขนาดนั้นเลยเหรอ’ เวลาเขาอธิบายเนี่ยเขาจะเอาเหตุการณ์ในหนังมา เอาหนังที่ทุกคนได้ดูมาพูด ๆ ๆ อธิบายว่าอันนี้คืออะไร คืออะไร ไอ้เราก็….ตอนแรกก็ยังไม่เชื่อเท่าไร แต่พอเรียนออกมาปุ๊บ.. เนี้ย ดูหนังแรก ๆ ก็ดูหนังไม่สนุก เขาบอก…ทุกคนที่เรียนจบจะเป็น เพราะว่า…เหมือนได้หลัก ได้วิชามาแล้วจะลองวิชา ดูหนังก็พยายามเอาหลักการนั้นไปจับ ทำให้ดูหนังไม่รู้เรื่อง คือดูแล้วพยายาม ‘ใช่ไหมวะ ใช่ไหมวะ’ แต่เนื้อหาลืมไปแล้วไง

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แสดงว่า เป็นการดูหนังผิดวิธีสิ

หมง : ใช่….การดูหนังเพื่อหาความหมาย เขาบอกว่าเป็นอาหารเสริม-คุณดูคุณก็เอาเนื้อหาไป คุณกินอาหารหลักไป อาหารเสริมได้มาก็ดีไม่ได้มาก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าได้มาก็จะสนุกขึ้น จะดูอะไรที่ได้มิติที่ลึกขึ้น

อรรณพ นิพิทเมธาวี : มีหนังในดวงใจไหม

หมง : ถ้าเกิดเมื่อก่อน..มี ถ้าตั้งแต่เด็ก ๆ เลยที่ประทับใจ แบบว่าสุด ๆ เลยก็ Dead Poets Society (ครูครับ…ผมจะสู้เพื่อฝัน) เป็นหนังที่ซื้อ VDO มาดู คือไม่เคยดูตอนเข้าโรงด้วย หนังเรื่องนี้สร้างปรากฏการณ์ เข้าฉาย 3 ครั้ง คนเต็มทุกครั้ง เมื่อก่อนหนังฉายถ้าไม่มีคนดูจะออก หนังฉายอาทิตย์สองอาทิตย์ก็ออก กระแสมันแรงกลับมาฉายใหม่ แล้วก็ออกและก็กลับมาฉายใหม่ 3 ครั้ง แล้วก็ผมไม่ได้ดู…ไม่ได้ดูในโรง ในตอนนั้นผมอยู่ประมาณ ม.3 ตอนนั้นยังไม่ได้เริ่มดูหนัง เพื่อนแนะนำ…ก็ไปซื้อ VDO มาดู จำได้ว่าเป็นหนังเรื่องแรกที่ดู 3 รอบใน 2 วัน แล้วร้องไห้ทุกรอบ รู้สึกประทับใจมาก ก็เลยรู้สึกว่าเรื่องนี้ที่สุดแล้วในตอนนั้น

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แล้วทำไมถึงพูดว่า เมื่อก่อนมีหนังในดวงใจ แสดงว่าเดี๋ยวนี้ไม่มี

หมง : คือเดี๋ยวนี้มัน …(หยุดคิด)… ผมรู้สึกว่า…. อาจจะเพราะเราเด็ก ๆ ผมว่ามันยังบริสุทธ์มาก ความรู้สึกทุกอย่างบริสุทธ์หมด อะไรที่ชอบก็ชอบเต็มๆ ไปให้มันสุด ๆ ไม่ชอบก็เกลียดให้มันแบบ…ไม่มองหน้ากันเลย ผมว่ามันเป็น ขาวกับดำ มาก ๆ ในช่วงเด็ก ๆ ความรู้สึกมันจะรุนแรง แต่พอปัจจุบันเราโตขึ้น เราเป็นผู้ใหญขึ้น เรื่องราวต่าง ๆ มันมากขึ้น ผมว่าความหวาดระแวงในใจมันมีเยอะขึ้น ทำให้เวลาจะรักจะชอบอะไรก็ไม่ไปเต็มๆ ตัวละ ก็คงต้องยั้ง ๆ ไว้บ้าง

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แสดงว่าเดี๋ยวนี้ไม่ชอบ Dead Poets Society แล้ว ?

หมง : ถ้าเกิดถามตอนนี้ก็ยังชอบอยู่ แต่ว่าผมรู้สึกว่า ผมดูหนังด้วยอารมณ์อีกแบบหนึ่งแล้ว มันจะไม่ใช่แบบเมื่อก่อนแล้ว เมื่อก่อนนี้คือจะเอาเนื้อเรื่องเป็นหลัก ตอนนั้นที่ผมดูยังไม่ได้เรียนวิจารณ์หนังด้วย เพราะฉนั้นก็ไม่รู้อะไร เวลาจะดูหนังก็อ่านเนื้อเรื่องอย่างเดียว โดยตัว Dead Poets Society เอง…เนื้อเรื่องมันประทับใจ เนื้อหาของหนังค่อนข้างจะดี แต่ว่าเดี๋ยวนี้มันก็มีหนังบางเรื่องที่เรารู้สึกว่าเนื้อหาไม่น่าประทับใจ แต่ว่าดูวิธีการนำเสนอแล้วมันเจ๋ง แต่หนังบางเรื่องเนื้อหาดีแต่กลยุทธ์ห่วย…อะไรเงี้ย… เดี๋ยวนี้ถ้าจะผมให้เครดิตหนัง คำว่าดี แบบ…ชอบที่สุดเลย ผมไม่มีอย่างงั้นแล้ว

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ถ้าเย็นนี้กลับไปแล้วเปิด Dead Poets Society ดูอีกครั้งหนึ่งจะรู้สึกยังไ

หมง : จริง ๆ ผมไม่ได้ดูมานานมากแล้วนะ เพราะว่าจำได้ว่าตอนนั้นดู ถ้าจำไม่ผิดผมเรื่องนี้ไป 10 กว่ารอบ ตอนเข้ามหาลัยผมเอา VDO เรื่องนี้ไปให้เพื่อนยืมแล้วมันก็ทำหายไป ก็เลยไม่ได้ดูอีกเลย ตอนนี้ก็ยังหาซื้ออยู่…ก็ยังไม่มี ตอนนี้ถ้าเกิดดูก็ยังชอบอยู่ ผมว่าเหมือนกับห้วงอารมณ์ตอนนั้น ถ้าเกิดตอนนี้เราดูคงดูในอารมณ์ที่เหมือนกับกลับมาหาอดีตเมื่อตอนนั้น

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ไม่ได้มีตรรกะกับมัน เพียงเพราะเราโตขึ้น

หมง : ผมเชื่อว่ายังไงผมก็คงไม่ถึงขนาดแบบ….โอโห้..เคยชอบมาก… หรือดูแล้วแม่งห่วยว่ะ ไม่ขนาดนั้น แต่ถ้าดูตอนนี้อาจจะไม่ร้องไห้ละ แต่ดูเสร็จอาจจะอมยิ้ม… คือผมให้เครดิตมันเพราะว่า ธรรมดาถ้าเราดูหนังถ้าเราประทับใจมาก อย่างผมประทับใจสุดๆ นี่นั้นครั้งแรก ดูหนังครั้งแรกร้องไห้….ไม่แปลก ถ้าดูครั้งที่ 2-3 ยังร้องได้นี่ ผมว่ามันไม่ธรรมดาละ ตอนนั้นผมเลยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่…หนังนี้มันเจ๋งมาก ดูตอนนี้ก็อาจจะไม่ร้องไห้แล้วละ ตอนนั้นมันยังเด็กมาก…คงต้องอมยิ้ม โดยพล๊อตเรื่องมันค่อนข้างดี เนื้อหามันค่อนข้างดี

อรรณพ นิพิทเมธาวี : วิจารณ์วงการหนังไทยให้ฟังหน่อย

หมง : …..(คิด)… ถ้าเกิดปัจจุบัน ผมรู้สึกว่าก็ดี ความหลากหลายเยอะแต่ความมักง่ายก็เยอะ ผมรู้สึกอย่างนั้น โดยภาพรวมผมว่าดีขึ้น

อรรณพ นิพิทเมธาวี : เป็นคนดูหนังไทยไหม หรือ….มีบางคนปฏิเสธการดูหนังไทย

หมง : ผมจะดูหนังไทยก่อน ถ้าเลือกได้… ถ้าสมมติมี 2 โปรแกรมมาผมดูหนังไทยก่อน ผมรู้สึกว่ายังไงมันก็เป็นหนังที่ใกล้กับชีวิตเรามากที่สุด ถ้าเกิดเอาอะไรบางอย่างมาสะท้อนชีวิตเรา ก็ต้องเป็นเรื่องเดียวกับชีวิตที่เราเป็นอยู่

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แล้วมีหนังไทยในดวงใจไหม

หมง : ก็จริง ๆ ผมมีหลายเรื่องนะ หนังไทยก็ชอบหลายเรื่อง

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แต่ไม่ขนาดเท่า Dead Poets Society

หมง : ไม่ ไม่ขนาดนั้น นั้นอาจจะเป็นเพราะว่ามันเป็นหนังเรื่องแรก ๆ ที่ผมดู

อรรณพ นิพิทเมธาวี : คือไม่เกี่ยวกับเรื่องค่านิยม

หมง : ไม่เกี่ยว ๆ หนังไทยดี ๆ หลาย ๆ เรื่องที่ผมชอบก็เยอะ อย่าง…เอาว่าหนังไทยที่ผมดูซ้ำบ่อยสุดดีกว่า อาจจะไม่รู้ดีสุดหรือเปล่านะ ….ก็น่าจะเป็น ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด คือหนังมันอมยิ้มอ่ะ ดูแล้วอมยิ้ม ตอนนี้ผมรู้สึกว่าชีวิตประจำวันเราวุ่นวายมากพอสมควร ดังนั้นเราก็อยากได้อะไรสบาย ๆ ไม่ต้องไปเร้าอารมณ์มาก หรือหวานซึ้งหรืออะไรขนาดนั้น ดูแล้วอมยิ้ม อารมณ์ประมาณอิ่ม ๆ กำลังละมุน ๆ อะไรอย่างนี้

อรรณพ นิพิทเมธาวี : กลับมาเรื่องชีวิตส่วนตัว นิยามความรักของมงคลคืออะไร ?

หมง : อือมมมม… ตอบยาก… ก็….ก็รู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่….เป็นความรู้สึกอีกแบบ….ถ้าพูดถึงความรักแบบหนุ่มสาว ก็คงเป็นอะไรที่ คนอีกคนที่เหมือนกับมันจะแมทกับเราได้ทุกอย่าง….

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ซึ่งในความเป็นจริงก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้

หมง : ผมว่ามันยาก… ผมไม่รู้ว่าเป็นไปไม่ได้หรือเปล่า แต่รู้ว่ามันยาก

อรรณพ นิพิทเมธาวี : นี่หรือเปล่าถึงทำให้ไม่มีแฟนจนปัจจุบันนี้ เพราะมาตราฐานอย่างนี้รึเปล่า

หมง : ผมว่า เพราะว่าพื้นฐานครอบครัวผมมีปัญหาเรื่องนี้เยอะ คือพ่อแม่ผมเขา….เขาไม่รักกันอะ อยู่จนลูกโตนี่เพราะรับผิดชอบลูกอย่างเดียวเลย

อรรณพ นิพิทเมธาวี : โดนคลุมถุงชน เหรอ

หมง : ไม่รู้เหมือนกัน ไม่รู้ตอนนั้นเขาแต่งงานกันยังไง เพราะอะไร แต่ความรู้สึกคือรู้สึกว่าเขาไม่ได้รักกัน

อรรณพ นิพิทเมธาวี : คิดไปเองรึเปล่า

หมง : อาจจะ ๆ แต่นี่คือสิ่งที่ประเมินจากสิ่งที่เห็นมาโดยตลอด 20 กว่าปี ผมเลยรู้สึกว่ามันกลายเป็นการทน แล้วมันก็ทำให้มีปัญหากันบ่อย แล้วมันกับมีผลกระทบเด็กกับลูกเหมือนกัน ก็เลยรู้สึกว่าไม่เสี่ยง ไม่กล้าที่จะเสี่ยง ผมรู้สึกอย่างนั้นนะ

อรรณพ นิพิทเมธาวี : นอกจากที่แมทกับเราได้ทุกอย่างแล้วนั้น มีสเปคผู้หญิงในใจไหม ชอบผู้หญิงแบบไหน

หมง : มีเรื่องของบุคลิกมั้ง เวลามองใคร เราอาจสะดุดหน้าตาก่อน แต่ว่าถึงจุดหนึ่งมันก็แค่ประเดี๋ยวประด๋าว แป๊บเดียว ถ้าไม่มีอะไรมากกว่านั้นมันก็คือจบแล้ว หมดไป ความรู้สึกก็ไม่มีอะไร ผมดูเรื่องของบุคลิก แล้วก็ลักษณะนิสัย ผมเป็นคนเงื่อนไขเยอะ คือจริง ๆ จากปัญหาที่เจอตั้งแต่เด็ก ๆ ผมอาจจะมีกฏข้อบังคับสมมุติ 20 ข้อ ในการที่จะ…..ต้องได้ 20 ข้อนี้แหละเว้ย อะไรเงี้ย

อรรณพ นิพิทเมธาวี : เพราะเหตุผลเรื่องมาจากที่ว่า เรารู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รักกัน

หมง : ใช่ มันประกอบกัน ผมเป็นคนมีความเป็นส่วนตัวสูง คือจริง ๆ ต้องพูดว่าเพราะตัวเองเหมือนกัน มีบุคลิกส่วนตัวสูง ผมรู้สึกว่าถ้าเกิดมันไม่ใช่คงรับกันไม่ได้ เพราะฉนั้นถ้าผมจะหา ผมก็จะต้องพยายามหาคนที่เข้ากับชีวิตส่วนตัวผมได้ ไม่งั้นคบ ๆ ไปมันคงต้องเลิก

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ถ้าไม่มีละ ?

หมง : ไม่มีก็ไม่มี

อรรณพ นิพิทเมธาวี : อยู่คนเดียวได้

หมง : ก็น่าจะนะ คือโอเคช่วงเวลาแบบรู้สึกแย่ ๆ รู้สึกเหงา ๆ มันก็คงมี มีเป็นช่วง ๆ แต่ว่ามันก็มีบางช่วงเวลาเหมือนกันที่อยู่คนเดียวก็รู้สึกว่าคล่องตัวดี

อรรณพ นิพิทเมธาวี : คิดยังไงกับ นายกทักษิณ

หมง : เก่ง! เขามีวิธีการปฏิบัติที่ดี เก่งในด้านของการเป็นนักปฏิบัติ แต่ในเรื่องของแนวความคิดผมไม่เห็นด้วย หมายความว่าเขามีการทำงานที่เป็นระบบ มีบุคลิกการเป็นผู้นำสูง แต่ว่านั้นเป็นเรื่องของบุคลิกและลักษณะ แต่ถ้าเกิดเป็นเรื่องของแนวคิดในการทำงาน ผมไม่เห็นด้วย มันคิดแบบธุรกิจเกินไป หลาย ๆ อย่างมันดูหวังผลประโยชน์มากเกินไป

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แสดงว่านักการเมืองที่ดี จะต้องไม่มีเรื่องนักธุรกิจ

หมง : มันก็น่าจะจริง ถ้าเกิดเอาอุดมคติมาจับมันก็คงเป็นอย่างนั้น แต่ผมก็รู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้

อรรณพ นิพิทเมธาวี : คิดยังไงกับการเมืองไทย เป็นคนติดตามการเมืองอยู่ใช่ไหม บ้านเมืองเราตอนนี้ อยู่ในสภาพไหน ยังไง

หมง : ผมว่ามันเป็นภาวะที่… ผมว่าหลายคนคงไมได้ Happy กับที่เป็นอยู่ แต่ไม่มีที่ดีกว่าให้เลือก ผมคิดว่าอย่างนั้น จากการพูดคุยกับหลาย ๆ คนก็ไม่ชอบแบบทักษิณ ก็คู่แข่งมันเป็นใครละ คู่แข่งในกระดาน หมากในกระดานมีอยู่แค่นี้ อย่างน้อยก็เอาให้ใกล้เคียงกันที่สุดละกันวะ ถ้าเทียบข้อบกพร่องคนอื่นอาจจะข้อบกพร่องมากกว่า หรือ ทักษิณ ข้อบกพร่องเยอะกว่า แต่ว่าประโยชน์ที่เขาทำได้มันก็ยังเยอะกว่ากันอยู่ดี

ค่ายฯ 18 จ.เชียงใหม่ (พฤษภาคม 2547)

อรรณพ นิพิทเมธาวี : กลับมาเรื่องการทำงานนิดหนึ่ง ตอนนี้เป็นคนที่ทำงานหนัก ด้วยตำแหน่งค่อนข้างสูง แต่ได้ข่าวว่าจะลาออก ทำไม ?

หมง : หนักมาก…ผมก็ยังยืนยันว่าไม่ชอบงานที่ทำ คือมันไม่ชอบตั้งแต่ตอนเริ่มทำแล้วละ แต่ตอนทำงาน 3-4 ปีแรกมันสบาย ๆ ยังไงเราก็ถือว่าเป็นมันเป็นอาชีพ ทำงาน 5 วัน อย่างมาก 6 วัน แล้วก็…เลิก มีเวลาส่วนตัว มีรายได้ที่ดีในระดับหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นแค่อาชีพการทำงาน ตอนนั้นก็ยังไม่ได้คิดอะไรก็ทำไปเรื่อย ๆ แต่พื้นฐานก็ไม่ได้ชอบนะ จำได้ช่วงทำงานปีแรกตอนนั้นเบื่อมาก ยังปรับตัวไม่ได้ เคยมาคุยกับอาจารย์สาคร จะมาสมัครเป็นอาจารย์ ABAC เขาบอกไม่ผ่านคุณวุฒิ เพราะว่าเขาเอาปริญญาโทขึ้นไป เท่าที่จำได้ตอนนั้นมาสมัครเป็นอาจารย์ Q4 มาอยู่ศูนย์กิจกรรม เขาบอกว่าถ้าเกรดอย่างนี้ไปเป็นอาจารย์สอนบัญชีดีกว่า’ ก็เลยบอกไม่เอา จะสมัครเป็นอาจารย์กิจกรรม เขาบอกว่ามีอีกคนมาสมัครเหมือนกัน ซึ่งคุณสมบัติดีกว่าเราเยอะ แล้วเขารับแค่ตำแหน่งเดียว ยังไงก็ต้องให้คนนั้นได้ไป ตอนนั้นก็เลยล้มไป ช่วงคาบเกี่ยวตอนนั้นก็ทำงานเกือบ ๆ ครบปีแล้ว พอเริ่มขึ้นปีที่สองเราก็เริ่มปรับตัวกับการทำงานได้ดีขึ้น การปะทะระหว่างเรากับผู้ร่วมงานในเรื่องของวิธีการปฏิบัติก็น้อยลงเยอะ เราก็สบาย ๆ อยู่ได้เรื่อย ๆ จนเราก็ลืมบางทีเราีก็เพลิน เราก็ลืมไปว่า ‘เราไม่ชอบนะเว้ย’ จนมาช่วง 2 ปีหลัง งานมันหนักมาก หนักแบบ จริง ๆ มีความคิดที่จะออกตั้งแต่ปีที่แล้ว เริ่มรู้สึกว่ามันไม่ไหว ไม่ใช่ละ่ แล้วยิ่งทำมานาน 6 ปีแล้ว ถ้าไม่รีบขยับตัวมันจะขยับตัวยากแล้ว อายุก็ 27 28 จะ 30 ปี ก็พอดีมีรุ่นพี่ที่เคารพกันอยู่เขาก็มาช่วยให้เลื่อนตำแหน่ง โดยคุณสมบัตินี่ผมไม่ผ่าน ผมขาดอีกข้อหนึ่งที่ไม่ผ่าน เขาช่วยคุยให้ เขาไปคุยจนได้เลื่อนตำแหน่ง พอได้เราก็รู้สึกว่า ‘เฮ้ย..ไม่ได้แล้ว ถ้าเราออกเขาเสีย’

อรรณพ นิพิทเมธาวี : เป็นเรื่องของบุญคุณ

หมง : ตอนนี้เป็นเรื่องบุญคุณอย่างเดียวเลย ก็เลยตั้งใจว่าทำให้ครบปีละกันไม่ให้เขาเสียแล้วค่อยออก แล้วพอดีที่บริษัทก็กำลังมีปัญหาด้วย

อรรณพ นิพิทเมธาวี : เรื่องเงินเป็นปัญหากับชีวิตเราไหม

หมง : ไม่น่าจะ

อรรณพ นิพิทเมธาวี : อีกภาพหนึ่งของ หมง คือเรียบง่าย สมถะ ทั้ง ๆ ที่ได้เงินเดือนสูง ขัดแย้งไหม ?

หมง : ผมรู้สึกว่าเงื่อนไขในการใช้จ่ายเงินของมันน้อย อาจจะเพราะผมอยู่คนเดียวด้วย ถ้าเกิดมีแฟน คงมีพันธะอีกเยอะ ผมคิดว่าองค์ประกอบการใช้เงินของผมแต่ละเดือน ไม่ต่างจาก 5 ปีที่แล้วซักเท่าไร แต่อาจจะมากขึ้นในส่วนของภาษีสังคมเยอะขึ้น เพราะว่ามีรุ่นน้องไปทำงานก็ต้องเลี้ยงเขาบ้าง เพราะว่าตอนเราเป็นเด็ก ๆ หัวหน้าเราก็เลี้ยงเราเหมือนกัน มันก็เป็นลักษณะการความสัมพันธ์ที่ดี

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ไม่มีเรื่องของฟุ้งเฟ้อ แฟชั่น ทรัพย์สินต่าง ๆ นานา สิ่งยั่วยุต่าง ๆ

หมง : จำได้ว่าทำงานมา ซื้อของแพงสุดก็ซื้อโทรศัพท์มือถือ 9,000 บาท

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ไม่คิดซื้อรถ ซื้อห้องชุด ซื้อบ้าน อย่างที่ชนชั้นกลางที่มีอายุขนาดนี้ แล้วเงินเดือนขนาดนี้เขาทำกัน

หมง : รถนี่ผมไม่คิดจะซื้อ ผมทำงานจริง ๆ แล้วจนถึงปีที่แล้วนะ ก่อนผม Promote ผมก็ยังนั่งรถเมล์ไปทำงานอยู่ นอกจากเวลาไปต่างจังหวัดถึงจะขับรถไป ธรรมดานั่งรถเมล์เช้านั่งรถเมล์เย็น แต่ว่าพอทำงานปีที่ผ่านมามันต้องใช้รถทุกวัน เพราะว่าบางวันไปพบลูกค้า ไป ๆ มา ๆ การเดินทางมันเยอะ หรือว่าบางทีเลิกเที่ยงคืน ตี 1 จะนั่งแท็กซี่ก็คงค่าใช้จ่ายไม่ไหวเหมือนกัน

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ความเรียบง่ายตรงนี้มาจากการออกค่ายฯ ด้วยไหม

หมง : ก็มีส่วน มันเหมือนกับพอไปอยู่ในค่าย เรารู้สึกว่าชาวบ้านที่เราว่าเขาลำบาก ๆ นี่ เขาก็อยู่ในองค์ประกอบของเขา แต่เราเอาองค์ประกอบเราไปจับ ว่าชีวิตเขาจะต้องมี 10 อย่าง เขามีแค่ 6 อย่าง เราบอกเขาขาดแคลน แต่เขาสามารถอยู่ได้อย่างสมบูรณ์ด้วยการมีแค่ 6 อย่างนั้น ผมเลยรู้สึกว่าอย่างที่ 7 อย่างที่ 10 มันมีไว้ทำไม ผมก็เลยไม่สนใจตรงนั้น

อรรณพ นิพิทเมธาวี : จริง ๆ แล้วการออกค่ายมีผลกับการใช้ชีวิตของเรามากน้อยแค่ไหน

หมง : ถ้ากับตัวเองค่อนข้างสูง อย่างที่บอกว่าชีวิตผมเรียบง่ายมาตลอด ….หมายความว่า ราบเรียบมาตลอดดีกว่า คือไม่มีอะไรมาเป็นตัวเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ฉนั้นค่ายนี้แทบจะเป็นจุดหักเหชีวิตเหมือนกัน เราเรียนรู้จากมันมาเยอะ ณ ถึงตอนนี้ มันยังเป็นคำตอบของเราอยู่ในการใช้ชีวิต เราก็ยังอิงกับมันอยู่ในการดำเนินชีวิต

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ตอนนี้มีความสุขกับชีวิตดี ?

หมง : ก็จริง ๆ ไม่ถึงขนาดมีความสุข คือเรื่องของงานหนัก อย่างที่บอกตอนนี้เหมือนกับช่วงรอการเปลี่ยนแปลงมากกว่า ถ้าตามที่คิดไว้ ปีนี้จะลาออก พอลาออกเราก็คงเคว้งเหมือนกัน เพราะเราเอาตัวเองไปผูกอยู่กับอะไรบางอย่างมาตั้ง 7 ปี แล้วอยู่ ๆ ต้องมาเริ่มต้นใหม่หมด คงเป็นจุดหักเหอีกจุดหนึ่งของชีวิต

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แล้ว มงคล ในอีก 7 ปี ข้างหน้าเป็นยังไง

หมง : ถามตอนนี้ยังนึกไม่ออก จริง ๆ ผมยังคิดไม่ออกเหมือนกันว่าผมจะออกไปทำอะไร ตอนนี้คิดแค่ลาออก เพราะว่ารู้สึกว่าตอนนี้ชีวิตเหมือนกับ …เราไม่ใช่คนกำหนดจังหวะเองแล้ว รู้สึกเหมือนเราโดนอะไรบางอย่างมาบังคับทุกวัน ทุกวัน เรารู้สึกว่าเราอึดอัดจนทนไม่ไหวแล้ว เลยคิดว่าถ้าลาออกก็คงอยู่เฉยๆ สักพักนึง ถามตัวเองให้แน่ว่าจะเอาอะไรกันแน่กับชีวิต ตอนนี้มันไม่มีช่วงเวลาแบบนั้นเลย

อรรณพ นิพิทเมธาวี : คิดว่าชีวิตตัวเองเป็น Case Study เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับน้องรุ่นใหม่ได้ไหม ยังไง ?

หมง : คือผมคงไม่กล้าบอกว่าเอาตัวเองเป็นแบบอย่างให้คนอื่น ผมคิดว่าอย่างนั้นในภาพรวมทั้งหมดนะ แต่ผมมองว่าอย่างน้อยเนี้ย…ถ้าจะหาตัวอย่างว่า เมื่อไปค่ายแล้ว การใช้ชีวิตโดยความคิดของค่ายเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจการใช้ชีวิตนี่ มันก็คงพอได้้เห็นบ้างในหลาย ๆ จังหวะ แต่อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด เพราะว่าก็ยังมีหลายอย่างที่ผมยังขัดแย้ง ไม่สามารถเป็นไปตามนั้นได้ทั้งหมดเหมือนกัน มีข้อจำกัดอยู่หลาย ๆ เรื่อง

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ถ้าคุณเจอเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่ง จะพูดอย่างไงให้เขาไปออกค่าย มันมีประโยชน์อย่างไร ?

หมง : ผมบอกว่า ….มันเหมือนกับใช้เวลา 10 วัน 15 วัน ซึ่งเวลามันอาจจะไม่เยอะ ถ้าคุณอยู่กรุงเทพฯ คุณอาจจะดูหนังได้ 30 เรื่อง ดูวันละ 2เรื่อง แต่ไปค่ายฯ 10 วัน 15 วัน กลับมามันอาจเปลี่ยนแปลงชีวิตคุณทั้งชีวิตได้เลย ผมว่ามันเป็นโอกาสที่น่าลอง เพราะถ้าระยะเวลาสั้นแค่นั้น แล้วมันสามารถให้ผลสะท้อนได้ขนาดนั้นนี่ ผมว่ามันค่อนข้างเข้มข้นพอสมควร

อรรณพ นิพิทเมธาวี : คำถามสุดท้าย จะฝากอะไรถึงน้อง ๆ ในค่ายฯ หรือคนที่ได้เข้ามาอ่านซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นนักกิจกรรม คนทำค่ายอาสาฯ

หมง : ผมอยากจะบอกว่า คือ…เราหลาย ๆ ครั้ง เมื่อเรารู้สึกว่าเรารู้อะไรมากขึ้น มากกว่าคนอื่น เราอาจจะรู้ในแง่มุมต่าง ๆ อะไรมากขึ้นกว่าคนอื่นนี่ แต่ว่าบางครั้งแง่มุมที่เราคิดไม่ถึงก็ยังมีอีกเรื่อย ๆ ผมเคยได้ยินคำพูดว่า ‘ยิ่งเรียนก็ยิ่งรู้ว่าเราโง่มากขึ้นเรื่อย ๆ’ ฉนั้นเราควรจะเปิดตัวเอง ยอมรับกับสิ่งใหม่ตลอดเวลา เพราะบางทีเราฝั่งอยู่กับตัวเองหรือเอาตัวเองไปฝั่งอยู่กับอะไรบางอย่างนานจนเกินไป มันมองเงาตัวเองไม่เห็น

ค่ายฯ 19 จ.อุบลราชธานี (ตุลาคม 2547)

เรื่องราวชีวิตของ พี่หมง คงจะมีแง่คิดดี ๆ ให้น้อง ๆ ได้นำไปเป็นกรณีศึกษาให้ตัวเอง ว่ากันว่าเค้าเป็นคนที่มีชีวิตที่ใกล้เคียงกับโลกทั้ง 2 ด้าน คือคือ โลกความเป็นจริงและโลกในอุดมคติ ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาแลกเอาความเข้าใจชีวิตในส่วนนั้นมาด้วยราคาที่ไม่ถูกเลย

วันนี้ หมง กลายเป็นคนทำงานบริษัทเอกชนชื่อดัง เงินเดือนสูง (มาก) เป็นเด็กค่ายฯ คนเดียวที่จบการศึกษาโดยเกียรตินิยมพ่วงท้าย แต่หมงยังมีชีวิตเรียบง่ายเหมือนเดิม ไม่ได้หรูหรา สิ้นเปลือง – ดูหนัง อ่านหนังสือ กินเหล้า พูดคุยเรื่องค่ายฯ เรื่องสังคม และตั้งชีวิตตัวเองบนพื้นฐานของความดีงามตามอย่างที่เขาเรียนรู้จากค่ายฯ ตามที่รักและผูกพัน

หมง ยังเป็นเด็กค่ายฯ ยุคแรก ๆ ไม่กี่คนที่ยังอยู่ ยังทำหน้าที่รุ่นพี่ของชมรม เพื่อสานฝันในการสร้างสังคม เพื่อยืนยันชัดเจนว่า “ค่ายฯ สอนคนได้จริงๆ” เพราะเด็กค่ายฯ คุณภาพ คนที่เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าในสังคมไทย ต้องมีชื่อ หมง อยู่ด้วยแน่นอน

อรรณพ นิพิทเมธาวี : สัมภาษณ์ – รายงาน
เอ พันทิวา : บันทึก – ถอดเทป

15 เมษายน 2547 ณ ร้านอาหารครัวเสรีไทย สุขาภิบาล 3