เช้าสดใสกลางปี 2538 ผมเดินสะพายย่ามเข้ามหาวิทยาลัย ผมเอาเรื่องการจะทำชมรมค่ายฯ ใน ABAC มาคุยกับเพื่อนที่คณะที่เคยทำกิจกรรมในคณะด้วยกัน ก็คือ ช้าง

ช้าง เป็นคนเก่ง เป็นผู้บทบาทสูงในงานกิจกรรมของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในช่วงหนึ่ง เขาเป็นคนดึงงาน Atom Game ซึ่งเป็นงานแข่งกีฬาของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกสถาบัน มาจัดที่ ABAC โดยที่คณะเราเป็นเจ้าภาพร่วม ซึ่งงานก็ออกมาดีทีเดียว แต่ด้วยสไตล์การทำงานแบบช้างที่เป็นคนตรง โผงผาง ถนัดการทำงานคนเดียว จึงทำให้หลังจากนั้นเขาไม่ค่อยกลับไปทำกิจกรรมในคณะอีก แต่เรา 2 คนถือว่าสนิทกันพอสมควร เราเรียนรุ่นเดียวกัน Major เดียวกัน และเขาชอบความคิดเรื่องค่ายฯ ที่ผมเล่าให้ฟัง

ช้างแนะนำหลักการ-ขั้นตอนต่าง ๆ ในเรื่องกิจกรรมใน ABAC ที่ผมไม่รู้เรื่องเลยให้ฟัง แล้วเขาก็พาผมขึ้นไปที่ ตึก Q ชั้น 4 (ศูนย์กิจกรรมและกีฬา) เพื่อไปคุยกับอาจารย์เพชร ที่ช้างรู้จักและสนิทสนมด้วยจากการทำกิจกรรมให้กับคณะ

คำแรกที่อาจารย์ถามผม หลังจากที่ผมเล่าความต้องการสร้างชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบทขึ้นใน ABAC ก็คือ “จะทำไปทำไม เรามีชมรม Rotaract อยู่แล้ว การตั้งชมรมขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หรือกิจกรรมที่เหมือนกันขึ้นมาซ้ำกันคงเป็นไปไม่ได้”

นั้นเป็นครั้งแรกในชีวิตผมที่รู้ว่าชมรม Rotaract ทำค่ายอาสาฯ ด้วย ผมจึงถามอาจารย์กลับไปตรง ๆ ว่า “ถ้าผมจะทำชมรมค่ายฯ โดยมีวัตถุประสงค์ต่างจากวัตถุประสงค์ของ Rotaract จะได้ไหม”

ความคิดตอนนั้นก็ถามไปโดยไม่ได้มีความคิดลึกซึ้งอะไร เป็นเพียงแต่อาการออกเดินแล้วหยุดไม่ได้ อาจารย์เพชรตอบว่าการสร้างชมรมค่ายฯ ขึ้นใหม่มีเหตุผลและความเป็นไปได้ 2 ทาง คือ หนึ่ง ถ้านักศึกษาที่ต้องการจะเข้าร่วมกิจกรรมค่ายฯ มีมากมาย ล้นหลาม จนชมรมที่มีอยู่รองรับไม่ไหว และ สอง วัตถุประสงค์ในการทำค่ายฯ ไม่เหมือนกัน

ตอนนั้นชมรมที่มีการออกค่ายฯ ก็มี ชมรม Rotaractชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ Preserver, บางส่วนของ หน่วยงานส่องทาง, ค่ายอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยของชมรมรังสรรค์ไทย, ค่ายผู้นำของ ชมรมFitness และค่ายสุขภาพของคณะพยาบาล – ค่ายอาสาพัฒนาชนบท ที่ผมตั้งใจจึงมีความใกล้เคียงทั้งรูปแบบและวัตถุประสงค์กับค่าย Rotaract มากที่สุด

ผมจึงคิดว่าต้องหาความเป็นตัวของตัวเองของค่ายฯ ที่ผมจะทำก่อน แล้วจึงนำมาเปรียบเทียบกับ Rotaract เพื่อปรับเปลี่ยน เพื่อให้้เข้ากับหลักการที่อาจารย์บอกไว้ ผมจึงเริ่มต้นด้วยการหาต้นแบบ ที่ที่ผมจะได้เรียนรู้เรื่องการทำค่ายฯ วิธีคิดของคนทำค่ายฯ และปรัชญาของมัน และที่ผมนึกถึงก็คือ ชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชมรมที่ สมรักษ์ อยู่นั้นเอง

สมรักษ์ พาผมเข้าไปหารุ่นพี่ที่ทำค่ายฯ หลายคน เช่น พี่ชู ผู้เป็นแม่แบบของเด็กค่ายหอฯ ส่วนใหญ่ เก่ง-กล้า-ฮาเฮ, พี่เจมส์ นายกสโมสรนักศึกษาหอการค้า ที่ต่อมาหันมาทำธุรกิจร้านอาหาร ที่ผมไปเล่นดนตรีให้ด้วย, พี่เจี๊ยบ รุ่นพี่ผมยาว…ที่ต่อมาใกล้ชิดกับค่ายฯ ABAC มากที่สุดคนหนึ่ง, พี่เสก นกเสรี ที่ปัจจุบันยังอยู่เป็นที่ปรึกษาให้น้อง ๆ ทุกคน และยังมีพี่ ๆ อีกหลายคน (ขออภัยที่มิอาจเอ่ยชื่อได้หมด)

เรากับ ชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงกลายเป็นพันธมิตรกันเงียบ ๆ ผมได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมายหลายอย่างจากค่ายหอฯ ไม่เท่านั้น…การช่วยเหลือในรูปแบบอื่นก็มีมากมาย เช่น การให้ยืมอุปกรณ์ต่างๆ อีกทั้งคำแนะนำในการทำงาน เทคนิคในการทำค่ายฯ โดยไม่รังเกียจว่าเรามาจากต่างสถาบัน ตรงนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจ ผม, สมรักษ์ และ เอ ร่วมกันแต่งเพลง “เรา” ซึ่งต่อมาก็ใช้เป็นเพลงค่ายด้วย

นอกจากนั้น…ผมก็ยังเข้าไปพูดคุยกับชมรมที่ทำงานค่ายฯ ใน ABAC ทุกชมรม ทั้งเล่าให้ฟัง ขอคำปรึกษา ขอความช่วยเหลือ ทุกชมรมที่ไปบรรยากาศจะคล้ายๆ กันก็คือ “จะทำทำไม ชมรมที่ออกค่ายมีอยู่แล้ว” “จะทำได้เหรอ” “ตั้งชมรมขึ้นมาก็เป็นการแย่งสมาชิกกันนะสิ”

ทุกครั้งที่เดินออกจากชมรมต่าง ๆ ในสถาบันเดียว ความรู้สึกผมเหมือนมดตัวเล็ก ๆ ที่โดนคนเยี่ยวรดหน้า… มันไม่มีความมั่นใจ ไม่มีใครสนับสนุน ไม่มีให้ใครคำปรึกษา ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม แต่การคุยกับชมรมค่ายหอฯ สบายใจกว่ากันเยอะเลย

สาย ๆ ของวันหนึ่ง….หลังจากศึกษา เก็บข้อมูล วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละชมรม แต่ละกิจกรรมแล้ว ผมกับช้างเดินขึ้นไปหาอาจารย์ที่ตึก Q ชั้น 4 อีกครั้ง ผมเล่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมคิด รูปแบบชมรมที่ผมจะตั้งให้อาจารย์ฟัง พร้อมขอคำตอบเรื่องการตั้งชมรมค่ายฯ โดยหลักการอาจารย์เห็นด้วยกับการทำกิจกรรมอยู่แล้ว แต่การจะก่อตั้งเป็นชมรมมันมีกฎเกณฑ์ ระเบียบกำหนดอยู่ คือ ต้องตั้งเป็นกลุ่ม 1 ปี และใน 1 ปีนั้น ต้องมีผลงานชัดเจน มีสมาชิกชมรม มีกิจกรรมที่สนองวัตถุประสงค์ได้ จากนั้นจึงสามารถทำเรื่องเป็นชมรมได้ อาจารย์เล่าว่าที่ผ่านมาเคยมีกลุ่มแบบนี้เกิดขึ้นหลายกลุ่มแล้ว แต่ที่ต่อเนื่องไปเปิดชมรมได้มีแค่ 1 กลุ่ม ก็คือ ชมรมลีลาศ

แต่อาจารย์แนะนำอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งน่าจะมีความเป็นไปได้กว่าการทำตามระเบียบ ก็คือให้ผมไปขอกับ สโมสรนักศึกษา ให้มาเป็น Back Up ในการทำค่ายก่อน 1 ปี คือออกค่ายในนามของสโมสรนักศึกษา ให้สโมสรนักศึกษาเป็นเจ้าของโครงการ เป็นคนออกเงิน ซึ่งใน 1 ปีถ้าเราสามารถทำค่ายให้ประสบความสำเร็จได้ ในปีต่อมาค่อยทำเรื่องขอเป็นกลุ่มค่ายอาสาพัฒนาชนบท แล้วเสนอเป็นชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบทในปีถัดมาอีก ก็เท่ากับว่าใช้เวลาประมาณ 2 ปี

ผมและช้างเห็นด้วย…

เร็วเท่าใจคิด…เรา 2 คนลงลิฟต์จากตึก Q ชั้น 4 แล้วเดินขึ้นไปที่สโมสรนักศึกษาเลยทันที

ระหว่างทางผมคิดถึงบรรยากาศในการไปคุยเรื่องค่ายฯ กับชมรมอื่น คือไม่สนับสนุน ผมกลัวว่าถ้าสโมสรนักศึกษาไม่เอาด้วยจะทำยังไง

พอเปิดประตูเข้าไป เล่าเรื่องราวทุกอย่างให้คน ๆ หนึ่งในนั้นฟัง (มารู้ตอนหลังว่าเขาคนนั้นอยู่ชมรม Rotaract) โดยที่ไม่รู้เหมือนกันว่าเขามีตำแหน่งอะไรในสโมสรฯ หรือไม่ แล้วเราก็ได้ยินคำพูดสุด Classic จากชายผู้นั้นอีกครั้ง คือ “จะทำทำไม ชมรมที่ออกค่ายมีอยู่แล้ว Rotaract ไง”

แต่โชคดีครับ เขาไม่มีตำแหน่งแห่งหนโดยตรงกับงานนี้ คนที่มีอำนาจเต็มและเป็นผมต้องคุยด้วยก็คือ ประธานฝ่ายพัฒนาสังคม ชื่อ พี่กิ๊ต เคยเป็นประธานและผู้ก่อตั้งชมรม Preserver ซึ่งตอนนั้นแกไม่อยู่ ผมเลยฝากเรื่องไว้พร้อมกับนัดหมายว่าตอนเย็นๆ จะขึ้นมาหาใหม่ แล้วผมก็ไปเรียน

ระหว่างนั้นผมเซ็งสุด ๆ กับความไร้น้ำใจของนักกิจกรรม ABAC

ทำไมว่ะ!! คนมันคิดจะทำค่าย จะตั้งชมรมค่ายฯ เพื่อสร้างกิจกรรมดี ๆ กับสังคม มันเสียหายตรงไหนว่ะ มันจะมีกี่ชมรมก็ให้ปล่อยให้มันมีไปสิ จะขัดขวาง จะเรื่องมากทำไม คุยกับใครก็ทำหน้าปานว่ากูจะมาจีบแฟนมึงงั้นแหละ เบื่อ!!!

แล้วไอ้เจ้าประธานฝ่ายพัฒนาสังคมที่ชื่อก๊กชื่อกิ๊ตอะไรเนี่ย… ก็คงไม่ต่างกันหรอกเพราะมันสายพันธุ์เดียวกัน แล้วมันก็คงไม่ช่วยเราอีกนั้นแหละ ABAC หนอ ABAC กูย้ายไปเรียนรามดีกว่ามั้ง….

ตกเย็น…หลังเลิกเรียนผมเดินขึ้นไปที่สโมสรนักศึกษาอีกครั้ง แล้ว พี่กิ๊ต ก็อยู่ที่นั้น

“นก กับ ช้าง ใช่ไหม…?”

“ครับผม”

“อืม…เรื่องทำค่ายฯ ใช่ไหม?”

“……………………………………”

แล้วผมก็เล่าเรื่องราวเป็นครั้ง 80 ให้เขาฟัง ด้วยอารมณ์เซ็งๆ และโมโหหน่อยๆ

แล้ว พี่กิ๊ต ก็บอกว่า “อืม…เอาสิ เดี๋ยวพี่ช่วย แต่เรา 2 คนก็เป็นคนจัดงานค่ายฯ เองนะ”

“……………………………………”

ผมกับช้างอึ้งไป 5 วินาที….ทำไมมันง่ายจังว่ะ

“เราลองไปเขียนโครงการมาแล้วกัน มีปัญหาอะไรปรึกษาพี่ได้ เสร็จแล้วเอาโครงการมาคุยกัน”

หลังจากนั้นผมได้คุยกับ พี่กิ๊ต และได้ถามถึงสาเหตุของการเข้ามาช่วยผมวันนั้น ทั้ง ๆ ที่สโมสรนักศึกษาทั้งองค์กร ทั้ง 2 รุ่น ทุกคนคัดค้านการกระทำของพี่กิ๊ตครั้งนั้น แถมยังถูกด่าจากเพื่อน ๆ อีก เหตุผลของพี่เขาก็คือ เขาต้องให้ “โอกาส” คนที่ตั้งใจ ผมถามกลับไปว่าแล้วรู้ได้ไงว่าผมตั้งใจจริง พี่แกก็ว่า “พี่มองตาเรา ดูท่าทางเรา พี่ก็พอรู้ แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันต้องดูกันต่อไป แต่ถ้าเด็กรุ่นใหม่คิดสร้างสรรค์แต่ไม่สนับสนุน แล้วสังคมจะดีขึ้นได้อย่างไร”

นี่แหละครับ…คนที่ผมอยากให้น้องๆ ทุกคนรู้จักและตระหนักไว้ว่า ไม่มีพี่กิ๊ตวันนั้น ก็ไม่มีชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบทในวันนี้

ผมไม่มีรูปพี่กิ๊ตเก็บไว้เลย แต่พี่ยังอยู่ในใจผมตลอด คำสอน คำแนะนำของพี่ทุกคำผมจำได้ดีเสมอ

ขอบคุณมากครับ

อรรณพ นิพิทเมธาวี