
วันนี้ก็เป็นวันแรม 11 ค่ำเดือน 10 แล้วสิ กำลังนั่งนึกอะไรเพลิน ๆ พลางทอดสายตาให้กับม่านฝนพรำพอดีมีเสียงโทรศัพท์ดังลั่น ปลุกชีวิตให้ตื่นจากภวังค์ น้ำเสียงที่ปลายสาย มีทั้งความอ่อนโยน เอื้ออาทร ให้ผู้รับได้ปลื้มปีติยิ่ง ใช่แล้วครับ แม่ผมโทรมาหา ไอ้เราก็ใส่เลย “แหม หนูว่าจะโทรหาแม่อยู่แล้วนะเนี่ย 5555” ก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ เป็นเพียงโทรมาถามหาหลานสาวน่ะ ก็น้องอุ้ม นางฟ้าประจำบ้านนั่นแหละ แหม ไอ้เราก็หลงเข้าข้างตัวเองนึกว่าแม่จะแอบคิดถึงนี่เนอะ 5555
เหมือนทุกครั้งครับ ก่อนวางสายแม่ถามว่า “สารทไทย” ปีนี้ จะไปทำบุญที่ไหนกันล่ะ…อะโห! นี่หากแม่ไม่โทรมาก็ ลืมไปเลยนะเนี่ย ขอบคุณครับแม่ อิอิอิ
ใช่แล้วครับ “สารทไทย” ตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวันสำคัญทางวัฒนธรรมอีกวันหนึ่ง ปีนี้ก็ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน 2546 นี่แหละ เพราะแม่โทรมาหาแท้ ๆ จึงทำให้ผมนึกถึงความสนุกสนานในวันดังกล่าว เอ้อ คือว่า มีสิ่งมาปลุกเร้าให้ความทรงจำเมื่อหนหลังได้ตื่นขึ้นมาน่ะครับ
โดยเนื้อแท้แล้วประเพณีสารท เกิดมาจากต้นตอของทางพราหมณ์ เมื่อถึงเดือน 10 ข้าวในท้องนาออกรวงอ่อน ชาวนาต่างก็เด็ดรวงข้าวมาทำข้าวยาคูเลี้ยงพราหมณ์ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ข้าวในนาและถือเป็นนักขัตฤกษ์ มีการอุทิศบุญกุศลแก่บรรพชนผู้จากไป ต่อมาพุทธสาสนิกชนเห็นว่าดี เลยทำตามอย่าง จนเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมา จนมีของหวานประจำงานนี้ไปแล้วเรียกว่า “กระยาสารท” ประกอบไปด้วย ข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่ว งา มะพร้าว น้ำตาล นำมากวนรวมกันจนเหนียวติดกันเป็นแผ่น นอกจากกระยาสารทแล้วยังมีการทำข้าวยาคู ข้าวมธุปายาสและข้าวทิพย์ ซึ่งกรรมวิธีก็จะแตกต่างกันไป
ที่บ้านผม พอใกล้ถึงวันสารท ก็จะแบ่งหน้าที่กันไป ตามแต่กำลังจะรับไหว เริ่มจากปีนต้นมะพร้าวเก็บลูกแก่มาทำน้ำกระทิ ซึ่งคนที่ปีนนั้นก็ไม่พ้นไอ้หนูน้อยหน้ามนคนหน้าหวานคนนี้ไปได้เลย ได้มะพร้าวมาปอกเปลือกขูดผิวให้สะอาด ผ่าซีกแช่น้ำไว้ รอใช้กระต่ายขูดและคั้นน้ำต่อไป
ในระหว่างนั้น ยายจะพาไปตักทรายมาใส่กระทะ ตั้งไฟฟืน คั่วถั่วดิน (ถั่วลิสง) ทั้งเปลือกให้สุกหอม ขั้นตอนนี้ต้องใจเย็น ๆ ค่อย ๆ คั่วใช้ไฟปานกลางไปเรื่อย คนบ่อย ๆ เดี๋ยวสุกไม่ทั่วกัน ….หลังจากสุกได้ที่แล้วก็นำมากระเทาะเปลือกให้สะอาด (กว่าจะแกะเปลือกเสร็จ ผมก็แทบอิ่มละครับ แหมก็มันหอมน่ากินจริง ๆ) ยายต้องเตือนอยู่เรื่อย หนัก ๆ เข้า พอหลานทะโมนไม่เชื่อฟัง ยายก็จะอ้าง “ระวังเถอะ กินก่อนพระ มันบาป!!”
ขั้นตอนต่อไปก็คั่วข้าวเม่า ข้าวตอกแตก (ก็ข้าวตอกนั่นแหละ) ข้าวเม่าคั่วนี่เป็นเรื่องธรรมดา แต่คั่วข้าวตอกนี่สิ สนุกมาก ยายจะแช่ข้าวเปลือกในน้ำใบเตยสักครู่ใหญ่ จึงเทน้ำทิ้ง ปล่อยให้สะเด็ดน้ำ จึงนำมาคั่วในกระทะร้อน ๆ ตรงนี้ต้องมีฝาปิดด้วย ไม่งั้นข้าวตอกจะหกกระจายเต็มพื้น แหม มันน่าตื่นตาจริง ๆ ครับ จากข้างเปลือกเม็ดนิดเดียว พอคั่วไปเดี๋ยวเดียว พองขึ้นเบ้อเริ่ม แล้วแตกกระเด็นโดนฝาครอบ โกร๊งเกร๊ง ๆ ตลอดเวลา นึกถึงตอนนี้ยังนั่งอมยิ้มอยู่คนเดียวเลยครับ
งาขาวนี่คั่วพอเหลืองสวย อย่าให้ไหม้ และห้ามนำไปคั่วพร้อมกับถั่วเชียวนะเพราะว่า “กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ไปก่อนแล้ว 5555”
พอได้เครื่องเคียงครบหมดแล้ว ก็เริ่มคั้นกระทิ นำกระทะใบบัวตั้งไฟอ่อน ๆ (จะให้ดี ฟืนต้องใช้ไม้สักทอง เพราะเป็นไม้เนื้ออ่อน 5555) ผสมน้ำตาลปี๊บ (ควรเป็นน้ำตาลมะพร้าว จะหวานหอม) เคี่ยวไปเรื่อย ช่วงนี้ใช้ไม้พายคนละอัน สัก 3-4 คนช่วยกันจ้วง ช่วยกันกวน ผสม “แบะแซ” ในสัดส่วนที่เหมาะเจาะ เพราะแบะแซจะเป็นหัวใจอีกอันหนึ่ง หากใช้น้อยเกินไป กระยาสารทก็จะร่วนไม่เกาะกัน แต่หากใช้มากเกินไปก็จะแข็งไม่อร่อย ยายจะสอนผมอยู่เสมอ ให้ใช้ชีวิตเหมือนเช่น “แบะแซ” นี่แหละ หัดเดินสายกลางเข้าไว้ อย่าหนักหรือเบาในข้างใดข้างหนึ่งจนเกินไป ในความรู้สึกของมิตรสหายก็เช่นเดียวกัน อยู่ใกล้เกินไปก็จะร้อน แต่หากห่างกันมากไปก็จะเหน็บหนาว ต้องรักษาระยะห่างไว้ช่วงหนึ่ง แล้วทุกอย่างจะคงทน เอ๊า…นี่ออกนอกเรื่องอีกแล้วเรา 5555
ถึงไหนแล้ว อ้อ…เริ่มเติมถั่ว ข้าวพอง (ข้าวเม่าคั่วแล้ว) ข้าวตอก เอ้า อย่าอู้ ช่วยกันกวนเข้า เติมฟืนอีกหน่อย 2 ดุ้นพอ เอ้อ พอ 5555 กวนไปเรื่อยจนทุกอย่างเริ่มเกาะเกี่ยวกัน โรยเกลือป่นไปเล็กน้อย กวนจนเริ่มไม่ติดกระทะโน่นแหละ จึงโรยงาขาวที่คั่วแล้วให้ทั่ว กวนต่ออีกหน่อย (แหม แกนะ ให้กวนจัง 5555) พอได้ที่แล้วก็ เด็ดใบตอง แต้มน้ำมันเล็กน้อย ปูให้ทั่วกระด้ง ตักกระยาสารทเทลงไป ใช้ขวดสะอาด ๆ คลึงให้ความหนาบาง เท่ากันทั่วแผ่น (คะเนด้วยสายตาก็พอนะ ไม่ต้องเอาเวอร์เนียมาวัดหรอก 5555) โรยงาอีกหน่อย เพื่อความสวยงามน่ากิน รอให้เย็น ใช้มีดบางตัดตามยาวแล้วก็ตัดตามขวาง ให้ได้ขนาดชิ้นที่พอเหมาะ (ประมาณกว้าง 2 เมตร ยาว 1 เมตร 5555) นำทั้งหมดเรียงใส่หม้อ เด็ดดอกมะลิเกือบบาน วางก้นหม้อไว้ด้วย (จะหอมน่ากิน) เหลือช่องว่างไว้หน่อย พอเสร็จเรียบร้อย จุดเทียนตั้งในแก้วนำไปวางบนขนม …ดับเทียนแล้วปิดฝาหม้อ เป็นการอบกลิ่นเทียนไว้หนึ่งคืน (อ้าว แย่เลย ยังไม่ได้ชิมน่ะ อิอิอิ)
เช้ามาก็จัดอาหารใส่ตะกร้า อาบน้ำแต่งตัวแบบให้ดูหล่อสุด ๆ กางเกงเหลือง เสื้อแดง รองเท้าเขียว หมวกแก๊ปสีฟ้า (อะโห) ตอนช่วงยายจัดกระยาสารทเพื่อนำไปวัด ก็ขอแบ่งมารองท้องหน่อย แหม ช่างอร่อยแท้ ๆ เลยพี่น้องเอ๊ย นี่หากได้กล้วยซักลูกนะ แจ่มแท้ ๆ
พิธีกรรมในวัด กว่าจะเสร็จสิ้น กินเวลาไปเกือบ 10 โมงแล้ว หลังจาก สัพพีตีโย…เสร็จสิ้น เราก็ล้อมวง ทำตัวเป็นศิษย์วัดกัน ข้าวปลาอาหาร กระยาสารท กล้วยไข่ เราเหล่าเด็ก ๆ อิ่มกันจนจุกแทบลุกไม่ขึ้น….
เป็นความทรงจำที่แวบเข้ามาในช่วงนี้พอดีครับ เพียงได้เขียนผมก็มีความสุขแล้ว
** แบะแซ (Corn syrup) หรืออาจเรียกได้ว่า กลูโคสไซรัป (Glucose syrup) หรือกลูโคสก้อน เป็นสารชีวิโมเลกุลที่ได้มาจากการย่อยแป้งมันสำปะหลัง จะมีลักษณะเหนียวใส หนืด มีทั้งแบบใสและสีเหลืองน้ำตาล ส่วนมากใช้ทำขนม เพราะใส่แบะแซแล้วจะทำให้มีความเหนียว เช่น ใน กระยาสารท ท๊อฟฟี เป็นต้น
ทิดโส โม้ระเบิด
อยากถามว่า แบะแซ มีความหวานประมาณกี่เท่าเมื่อเทียบกับน้ำตาลทรายคะ
เพิ่งเข้ามาอ่านครั้งแรก แต่เนื้อหาดีจังเลย
