ปลาหลด

“หลด”

ชื่ออื่น ๆ – หลดจุด
ชื่ออังกฤษ – Spotted Spiny Eel
ชื่อวิทยาศาสตร์ – Macrognathus siamensis
ลักษณะทั่วไป – ลำตัวยาวเรียว ด้านข้างแบน หัวเล็ก จะงอยปากเรียวแหลมและที่ปลาย มีหนวดที่สั้นอยู่ 1 คู่ ปากเล็กและอยู่ใต้ ตาเล็ก ครีบเล็กปลายกลม ครีบหลังและครีบก้น ยาวมีขนาดใกล้เคียงกัน ครีบหางมีขนาดเล็กปลายกลมมน ไม่มีครีบท้อง หลังมีสีน้ำตาล ท้องมีสีน้ำตาลอ่อนปนเหลือง มีจุดสีดำที่ครีบหลัง 3-5 จุด บางตัวมีจุดดำที่โคนหางหนึ่งจุด
ถิ่นอาศัย – พบตามแม่น้ำ ลำคลอง หนองและบึง ชอบฝังตัวในดินโคลนหรือบริเวณที่มีใบไม้เน่าเปื่อย
อาหาร – กินสัตว์เล็ก เช่น ไส้เดือน ตัวอ่อนของแมลงและเนื้อสัตว์ที่เน่าเปื่อย
ขนาด – ความยาวประมาณ 15-30 ซม.

หากมีใครถาม อะไรเอ่ย? “ไอ้หน้าแหลม จอมมุด” จงตอบไปได้เลยว่า “ปลาหลด” เพราะในตระกูลหน้าแหลม ที่เป็นจอมมุดโคลน ไม่มีใครเกินหน้าปลาหลด ได้อีกแล้ว

หลังเกี่ยวข้าวเสร็จ ชาวนาจะเริ่มวิดปลากัน เพราะช่วงนี้น้ำเริ่มงวดแล้ว ที่สำคัญเป็นช่วงที่เรียกว่า “ข้าวใหม่ ปลามัน” ลมหนาวเริ่มพัดต้องผิวกายเอื่อย ๆ เราเตรียมอุปกรณ์ประกอบด้วย สวิง แหแบบมีเพรา มีด จอบ เสียม โอ่งน้ำ (ไว้ขังปลา) กระป๋องน้ำ ปี๊บ รวมทั้งข้องไว้ใส่ปลา บรรทุกใส่เกวียนเทียมวัว ออกไปนอกทุ่ง

การวิดปลาก็คือ จ้วงน้ำออกให้หมด แล้วคอยเก็บปลาตอนน้ำแห้ง ปลาที่เก็บไว้ได้นานเช่น ปลาช่อน ปลาดุก ปลาหมอ หากจับได้จะขังไว้ในโอ่งน้ำ ส่วนปลาเล็ก ๆ ที่ใจเสาะตายง่ายก็ขังรวมในข้องบ้าง ในกระชุบ้าง สุดแท้แต่อุปกรณ์ที่นำไปด้วย เมื่อเก็บปลาเสร็จ จะถึงคราวหาของดีกันแล้ว นั่นคือ โกยปลาหลด กรรมวิธีก็ไม่ยาก คือเริ่มโกยโคลนไปข้างหน้าเรื่อย ๆ ต้องทำด้วยความไว เพราะปลาหลดเวลาอยู่ในโคลนจะเปรียวมาก จับก็ยาก เพราะตัวมันลื่น แต่เวลาได้แล้วจะคุ้ม เพราะแต่ละตัวประมาณนิ้วมือทั้งนั้น เอามาต้มส้ม ต้มยำ อร่อยมาก

อีกวิธีหนึ่งเวลาหาปลาหลดคือ ใช้สระโอ ซึ่งก็เป็นเหล็กด้ามยาวประมาณ 1 ช่วงแขน ตีเป็นรูป สระโอ นั่นแหละ เอามาลากไปมาในโคลน เวลาติดปลาหลดจะติดช่วงหัว ดึงขึ้นมาไม่หวาดไหว

เบ็ดพวง ก็เป็นอีกวิธีในการหาปลาหลด ผูกเบ็ดกับปลายไม้ประมาณ 10 กว่าตัว เกี่ยวไส้เดือน ทิ้งไว้ในน้ำ ประมาณ 5 นาที พอยกขึ้นมาจะขาวพราวไปหมด

แต่เช้านี้ พ่อปลุกผมตั้งแต่ยังไม่เห็นแสงอาทิตย์ ฝนพรำ ๆ ในเช้าวันเสาร์มันช่างน่ารื่นรมย์เสียนี่กระไร อ๋าย ไม่อยากลุกอ่ะ คลุมโปงต่อ พ่อก็ไม่ว่าอะไร แต่สักครู่เสียงลูกแห กระทบกันดังกราว อ้าว! พ่อนัดไว้จะพาไปสอนทอดแหนี่นา เอ้า ลุกก็ลุก กลิ่นควันไฟที่เกิดจากการหุงต้มของแม่ โชยมากระทบจมูก ผมคว้าข้องได้ก็เดินตามพ่อออกมาทันที แม่ไม่ลืมยื่นงอบมาให้ไว้กันฝน เราเดินไปห้วยกันสองพ่อลูก จนตีนฟ้าเปิด เราก็มาถึงห้วยมะโหด พ่อไม่ฟังอีร้าค่าอีรม ขึ้นแหได้ก็เหวี่ยงโครมลงไปเลย

แหที่พ่อใช้ เรียกว่า “แหก้นบุหรี่” เนื่องจากจะเป็นแหตาถี่มากเพียงก้นบุหรี่ลอดได้ เป็นอุปกรณ์จำเพาะในการหาปลาหลด ที่ตีนแหจะมีเพรา ซึ่งก็คือการรวบตีนแหขึ้นมามัดกับเนื้อแหไว้ สูงประมาณ 1 คืบ เมื่อดึงแหขึ้นมา ปลาจะไปกองรวมกันอยู่ที่เพราแห เช้านั้นพ่อสาวแหขึ้นมาแต่ละครั้ง ติดปลาหลดขึ้นมาขาวโพลน ผมจับปลาหลดโดยแอบมองพ่อ พ่อจะใช้ปลายเล็บนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ จิกที่ช่วงคอปลาหลด มันจะดิ้นไม่หลุด เราก็จับเข้าข้องสบาย แค่ 10 กว่าครั้งของการสาวแหขึ้นมา ปลาหลดก็ย้ายมานอนอยู่ในข้องเกินครึ่งแล้ว พ่อบอกว่า เวลาร้อน ๆ ปลาหลดจะมุดโคลน แต่พอฝนตกได้ที่ น้ำจะเย็นลง ปลาหลดจะออกมาจากโคน เพื่อหาที่วางไข่ ผมก็เห็นเช่นนั้น เพราะปลาหลดที่เราได้แต่ละตัว ท้องนูนไปด้วยไข่ทั้งนั้น

ต้มปลาหลด
Photo from Facebook: ส.เส้นขนมจีนแห้ง

พ่อไม่ลืมสัญญาที่ให้ไว้ พ่อสอนผมทอดแห อะฮ้า! ไม่ยาก ขั้นแรกสุดให้ใช้มือซ้ายจับที่ จอมแห ซึ่งก็คือจุดกึ่งกลางของแห จะทำเป็นม้วนเชือกแหไว้ ปุ่มแข็ง ๆ ได้จอมแล้วก็รวบเนื้อแหเข้ามาประมาณ 3 ทบ แหก็จะสั้นเหลือประมาณช่วงเอว หลังจากนั้น แบ่งแหออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเอาเนื้อแหพาดไว้กับข้อศอกซ้าย ส่วนที่สอง รวบตีนแหด้วยมือขวา ส่วนสุดท้ายถือไว้ด้วยมือซ้าย ตั้งท่าให้ดี เหวี่ยงจากซ้ายมาขวา โอ๊ะ โอ๋…. แหแตกออกครับ แต่บานไม่สวยเหมือนที่พ่อเหวี่ยง มันขยุ้มยังไงพิกล แต่พ่อบอกว่า ดีแล้ว หัดอีกหน่อยก็ชำนาญ ผมสาวแหขึ้นมา ว้าว!!!! ปลาตัวแรกในชีวิตการทอดแห เป็นปลาหลด 3 ตัว พ่อหัวเราะบอกว่า “สงสัย ไอ้พวกนี้มันตาบอด ฮ่า ฮ่า ฮ่า”

เราสนุกแบบเอาจริงกันจนตะวันโด่ง ทั้งหนาว ทั้งเหนื่อย ทั้งหิว ที่สำคัญปลาหลดตัวเขื่องๆ เกือบจะล้นข้องอยู่แล้ว เราสองพ่อลูกก็หาไม้ขนาดพอเหมาะ หามข้องปลากลับ!!!! พ่อแบกแหพร้อมกับยกไม้หามเดินนำ แวะเก็บผักแว่นยอดอวบๆ บ้าง ผักแต้วบ้าง เรามาถึงบ้านกับจนเกือบเพลแล้ว แม่บ่นเรื่องลูกจะหิวข้าว แต่พ่อก็หัวเราะ หึหึ เท่านั้น

ผมเก็บยอดมะขามอ่อนและดอกมะขามให้แม่ วันนั้นแม่ต้มส้มปลาหลดใบมะขามอ่อนให้ซดกัน เครื่องเคราก็หาได้ในสวน ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริกขี้หนู ใบกะเพรา แม่บุบหอมแดงใส่ด้วย บอกว่ากันไว้ เผื่อลูกเป็นหวัด หอมแดงช่วยได้ อีกทั้งยอดมะขามดอกมะขามก็เป็นยาไล่ไข้ดีนัก กลิ่นกะเพราที่โรยในหม้อต้มมันหอมกรุ่นยิ่งนัก ปลาหลดแต่ละตัว ไข่เต็มท้อง ส่วนที่เหลือแม่แช่น้ำปลาไว้ วันนั้นผมกินข้าวอิ่มจนจุกลุกไม่ขึ้น

ทิดโส โม้ระเบิด