Photo by Srinrat Wuttichaikitcharoen

บ่อยครั้งที่เราได้ยิน ได้เห็น ได้สัมผัส กับสิ่งที่เรียกว่าความจริงที่ควรจะเป็นให้ทัศนะของเรา และมีไม่กี่ครั้งที่เราหรือใคร ๆ ตอบมันได้ว่าสิ่งที่เราเผชิญอยู่ทุกวันมันคืออะไรกันแน่ อาจจะเป็นความจริงหรือไม่ใช่? คำถามง่าย ๆ ก็คือแล้วเราจะหาคำตอบกับสิ่งที่เราคุ้นเคย ชินชาที่เกิดขึ้นกับเราทุกวันไปทำไม? หากมิใช่เป็นการพิจารณาตัวเองในบทบาท ตัวตน หรือแม้กระทั่งวิถีแห่งตนในการก้าวย่างไปบนเส้นทางชีวิตที่มีแต่มายาคติ แปลกแยก ขัดแย้ง ครอบงำ ชี้นำ

ในหลายครั้งที่มายาคติทำให้เราเชื่อในสิ่งที่เราคิดว่าน่าจะเชื่อ ซึ่งมันเป็นเพียงตรรกะที่ไร้การพิจารณาและการเชื่อมโยง เชื่อในสิ่งที่มีการสร้างภาพที่แนบเนียนให้มองเห็นเพียงด้านที่สวยงาม แต่อีกด้านหนึ่งที่มีกระบวนการสร้าง ครอบงำ ชี้นำ กับไม่ถูกเปิดเผยหน้าที่เลวร้ายออกมา เป็นเหรียญสองด้านที่แยกกันไม่ออก จะมีเพียงบางคนเท่านั้นที่มองเห็นหลังฉากอันสามานย์ในการที่เก็บซ่อนความเหลวแหลกของระบบการศึกษาที่ไร้ซึ่งทัศนะที่มองนักศึกษาไม่ใช่มนุษย์ เป็นเพียงเฟืองอะไหล่ที่พร้อมจะทอดทิ้งเมื่อฟันเฟืองตัวนั้นหมดสภาพพร้อมที่จะถูกทดแทนด้วยตัวใหม่เมื่อไรก็ได้ มหาวิทยาลัยและระบบการศึกษากำลังสร้างหุ่นยนต์ที่ทำงานได้ดีเพียงด้านเดียวเท่านั้น โดยที่ไม่สนใจว่าเกิดอะไรกับสังคมรอบข้าง

ระบบสังคมแบบมหาวิทยาลัยสอนให้นิสิตนักศึกษาเป็นคนที่อ่อนแอทางจิตวิญญาณ กลัว อับอาย ในสิ่งที่ถูกที่ควร กลัวในสิ่งที่ควรที่จะทำ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งสะท้อนความล้มเหลวของระบบการศึกษามหาวิทยาลัย มันเป็นสิ่งที่ทำคนให้เข้าสู่ระบบแล้วทำลายความเชื่อมั่นศรัทธา จำนนต่อระบบที่ว่าด้วยการแข่งขันที่บ้าคลั่งของการเรียนแบบท่องจำ เป็นมาตรฐานการวัดคุณภาพของผู้เรียนที่ผลการเรียนโดยไร้อิสรภาพในความคิดและการแสดงออก ในสังคมที่เป็นอยู่ถูกทำให้หลงใหลคลั่งไคล้กับลัทธิเสรีนิยมที่อยู่ในตำราอย่างไม่ลืมหูลืมตา เรามีสิทธิเสรีภาพจะทำอะไรก็ได้แต่บางครั้งสิ่งเหล่านี้เสมือนตัวที่ฉุดรั้งความคิดเอาไว้กับเสรีภาพจอมปลอม เป็นเพียงคำพูดที่ฟังดูดีแต่ในทางปฏิบัติกลับสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง

ในยุคที่ระบบการศึกษาเป็นตลาดวิชาการคนที่มีเงินเท่านั้นที่จะซื้อได้ มันสะท้อนคุณค่าของความเป็นปัญญาชนมันจะมีค่าอะไรกันเล่า จะเอ่ยได้เต็มภาคภูมิหรือเปล่าที่จะเรียกตัวเองว่าปัญญาชน ทั้งที่เป็นคนที่เอาเปรียบสังคมอย่างไร้ยางอายที่สุด บริโภคนิยม เงินทองคือพระเจ้า มองข้ามหัวประชาชนผู้ให้ จ่าย แบกภาระของระบบมหาวิทยาลัยไว้อย่างมหาศาล แต่ไม่เคยมีใครซักคนที่จะมองเห็น ผลักภาระให้กับสังคม เพื่อนร่วมสังคมทั้งที่ตัวเองเป็นพลังที่สามารถขับเคลื่อนสังคม สร้างสรรค์สังคมที่ควรจะเป็นร่วมกันได้ แต่น่าเสียหายที่ปัญญาชนเหล่านี้ เป็นปัญญาชนที่ไร้จิตวิญญาณ ไร้ชีวิต มหาวิทยาลัยก็เป็นได้เพียงสถานเลี้ยงเด็กที่ไม่มีวันโต

ตอนนี้เหมือนเรากำลังมองกระจกที่อยู่ข้างหน้าเรา เราเห็นตัวเราอยู่ในกระจกมันเหมือนตัวเราทุกอย่าง เราจึงเชื่อว่าสิ่งที่กระจกนั่นคือตัวตนของเรา แต่อนิจจาสิ่งที่อยู่ในกระจกมันไม่ใช่ตัวเราแม้แต่น้อยแต่มันเป็นเพียงภาพเสมือนจริง แต่ไม่ใช่ความจริง สิ่งที่อยู่ข้างนอกกระจกต่างหากคือความจริง เหมือนที่เราเป็นอยู่ทุกวันที่มองแต่กระจกไม่คอยเฝ้าความจริงของเราแม้แต่น้อย การเรียนให้จบเป็นเรื่องที่ไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการเป็นปัญญาชนที่ไม่เป็นภาระของสังคม และไม่หลงระเริงกับภาพมายาคติของสังคมบริโภคนิยม

สองแขนที่ฉันมี
กับสองมือที่ว่างเปล่า
ฉันมีเพียงสองเท้า
กับย่างก้าวที่ที่ยาวไกล

ฉันมีเพียงสองตา
กับไฟฝันอันยิ่งใหญ่
ฉันมีเพียงหนึ่งใจ
ที่มอบให้มวลประชา

ปิยะวัฒน์ นามโฮง
16 กรกฎาคม 2550