เสียงกลองเร้าใจเรียกให้นักท่องเที่ยวบนถนนคนเดินหันมาให้ความสนใจ บ้างจับกลุ่มนั่งริมขอบทางรอชมการแสดง บางส่วนยืนมองดูอยู่ห่าง ๆ เพราะทราบว่าจะมีการแสดง “พ่นไฟ” ด้วย อีกฟากหนึ่งหนุ่ม ๆ สมาชิกจากชมรมดอกหญ้าอาสา เตรียมพร้อมสำหรับการแสดงครั้งนี้ ที่รวบเอาศิลปะล้านนาหลายแขนงเข้าไว้ด้วยกันอย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นสะล้อ ซอ ซึง กลองสะบัดไชย ฟ้อนเล็บ ฯลฯ เมื่อพร้อมแล้ว… การแสดงก็เริ่มต้นขึ้นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
ค่ายสร้างคน คนสร้างสรรรค์ ปันน้ำใจ
จุดกำเนิดของชมรมดอกหญ้าอาสา เกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักเรียนเพียง 7-8 คนที่ต้องการสร้างสรรค์กิจกรรมดี ๆ ให้เกิดขึ้นในโรงเรียนพาณิชยการเชียงราย “โอ” อาจารย์หนุ่มเล่าถึงที่มาของการเกิดกลุ่มดอกหญ้าอาสาว่าจุดเริ่มต้นคือการรวมตัวกันทำค่าย ทำสิ่งดี ๆ เพื่อนคนอื่น ๆ ที่ยังด้อยโอกาส
“ตอนที่เรียนอยู่ที่ราชภัฏเชียงราย ผมมีโอกาสทำกิจกรรม ตอนนั้นก็เป็นชมรมเหมือนกัน ชื่อชมรมเกลียวเชือก พอกลับมาสอน ก็มีความคิดว่า อยากให้เด็ก ๆ ได้เริ่มทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เพราะกิจกรรมช่วยหล่อหลอมเด็กหลายทาง ทั้งห่างจากยาเสพติด ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และสร้างจิตอาสา แต่ก่อนเราก็ไม่มุ่งหวังให้ขยายขนาดนี้ แค่อยากให้มาเข้าค่าย ช่วยเหลือผู้อื่น ก็เท่านั้น จึงเริ่มรวมตัวกันตั้งเป็นชมรมดอกหญ้าอาสาในโรงเรียน” อาจารย์โอ กล่าว
กิจกรรมแรก ๆ ของชมรม จึงเน้นการออกค่าย สร้างโรงเรียน สร้างอาคาร บริจาคเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ผ้าห่มให้กับพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล และขาดแคลน แต่ในระยะหลังเริ่มมีการนำเอาศิลปะพื้นบ้าน ที่มีความเป็นล้านนาเข้ามาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของกิจกรรมในชมรม โดยจุดกำเนิดเกิดจากความคิดที่ต้องการแบ่งปันการเรียนรู้ด้านศิลปะกับพื้นที่อื่น ๆ
“เริ่มมาทำกลองสะบัดไชยกันเมื่อปี 51 ครับ ตอนนั้นกลุ่มเราได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว เพราะเป็นการรวมตัวของเยาวชนที่ออกไปทำฝาย ทำแนวกันไฟ บวชป่า ตอนนั้นมีหลายที่ครับในเขตเชียงราย พอได้รางวัลมา ก็มีการแลกเปลี่ยนกับกลุ่มอื่นที่ได้รางวัล เราได้ไปดูงานที่พังงา ช่วงเกิดสึนามิ นอกจากไปช่วยกันเรื่องค่ายอาสาแล้ว ก็ยังได้คุยกัน เขาสนใจการแสดง สิ่งที่มีความเป็นล้านนา เราก็เลยเริ่มหากิจกรรมที่มันจะสะท้อนความเป็นล้านนา และด้วยความที่ผู้ชายเยอะ เรี่ยวแรงเหลือเฟือ เลยเลือกเอากลองสะบัดไชยมาเป็นหลัก แต่อื่นๆ ก็เอาด้วย เช่นดนตรี สะล้อซอซึงก็หัดเหมือนกัน เอาทุกอย่าง ก็เริ่มซ้อม เริ่มแสดงกันมาตั้งแต่นั้น” อาจารย์โอ กล่าวต่อ
แม้ตอนที่อยู่พังงา จะยังไม่ได้เตรียมกลองสะบัดไชยไป การแสดงในค่ายจึงเป็นการตีกลองลูกเล็ก ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม แต่เมื่อกลับมา กลุ่มแกนนำชมรม จึงเริ่มเตรียมหาอุปกรณ์ที่จะสามารถนำมาฝึกฝนศิลปะวัฒนธรรมล้านหลาย ๆ อย่าง ทั้งฟ้อนเจิง ตีกลองสะบัดไชย ตบมะผาบ และดนตรี โดยเชิญผู้รู้มาอบรมและฝึกให้ ขณะเดียวกันในกลุ่มชมรม ใครพอเป็นศิลปะแขนงไหนก็ช่วยกันสอน ช่วยกันฝึกฝนจนเกิดความชำนาญและเมื่อออกแสดงก็ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก ทำให้พวกเขาเริ่มคิดจะขยายการทำงานออกไปให้กว้างกว่าแค่การออกค่ายประจำปีเท่านั้น
“ตอนนี้เชียงรายนักท่องเที่ยวเยอะ เรามามองว่า นี่เป็นศิลปะพื้นบ้าน มีความน่าสนใจ เราสนใจ นักท่องเที่ยวสนใจ ก็เลยคิดอยากเผยแพร่ อยากให้เด็ก ๆ สนใจฝึกด้วย และอยากให้เป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วย เลยขยายกิจกรรมมากกว่าออกค่าย คือมาขอทุนโครงการสานศิลป์ เพื่อให้เกิดพื้นที่ในการขยายการแสดง แต่โดยหลักการสมาชิกที่จะมาร่วมโครงการก็จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของชมรม คือการเรียนต้องไม่เสียต้องเรียนได้ 2.05 ถึงจะเข้าร่วมกิจกรรมออกค่ายได้” อาจารย์โอ กล่าวทิ้งท้าย
ชัยโย เป็นกรณีตัวอย่างที่ทำให้รู้ว่า เมื่อตั้งใจจริงแล้ว อะไรก็ทำได้ เพราะก่อนเข้าชมรม ชัยโยเรียนได้เกรดเฉลี่ย 0.04 เขามีโอกาสรับฟังพี่ ๆ ที่ไปเข้าค่ายแล้วรู้สึกอยากออกไปทำกิจกรรมบ้าง แต่เมื่อเขาต้องการเข้าชมรม และชมรมมีเงื่อนไขว่าต้องเรียนดี ในเทอมที่สองเขาจึงพยายาม เพียงเทอมเดียวเกรดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาเป็น 3.06
“ค่ายมันมีแรงดึงดูดมาก ผมอยากออกค่าย อยำไปทำกิจกรรมอย่างพี่เขา มีหนทางเดียวที่เขาจะให้ไป คือต้องให้ได้เกรด 2 ขึ้นไป ผมก็ตั้งใจเรียนเลย เทอมถัดมา ทำทุกทางเพื่อให้ได้ไปค่ายครับ จริง ๆ ก็ไม่ได้มาจากความตั้งใจเรียน แต่ตั้งใจอยากไปค่ายมากกว่า ผลพลอยได้คือทำให้ตั้งใจเรียนไปด้วย” ชัยโย กล่าว
ค่ายจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างคนคุณภาพให้กับเยาวชนในชมรม ทั้งด้านความตั้งใจจริง การมีจิตอาสาที่จะทำเพื่อคนอื่น และกระตุ้นความหวงแหนและรู้สึกอยากสืบต่อศิลปะอันเป็นวิถีชีวิตของพวกเขาด้วย แม้ในตอนแรกพวกเขาจะเน้น “ค่ายสร้าง” คือออกไปสร้างอาคารให้กับพื้นที่ต่าง ๆ แต่ระยะหลังก็เรียนรู้ว่า บางครั้งพื้นที่ไม่ได้ต้องการให้มาสร้าง กิจกรรมจึงเป็นการปรับเป็นค่ายเรียนรู้ เช่น ไปอยู่ร่วมกับชาวบ้านที่พัทลุง เพื่อศึกษาเรื่องท่าเรือน้ำลึก โดยกินนอนกับชาวบ้านในหมู่บ้าน เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเรียนรู้วิถีชีวิตที่แตกต่างอย่างเข้าใจ
ไม่ใช่แสดงตามเงื่อนไข แต่แสดงด้วยใจที่รักศิลปะ
ผลจากการได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ ทำให้เยาวชนในพาณิชยการเชียงรายกว่า 50 คน สนใจเข้าร่วมกิจกรรมฝึกฝนการตีกลอง เล่นดนตรี ฟ้อนเจิง และตบมะผาบ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หนึ่งของการจัดทำโครงการ คือการฝึกฝนให้เยาวชนรุ่นใหม่ หันมาสนใจและเรียนรู้ศิลปะอันเป็นรากเหง้าและวิถีชีวิตของพวกเขาเอง เพื่อให้ในอนาคตพวกเขาจะสามารถเป็นเยาวชนต้นแบบที่รู้จักการเสียสละ การสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ การทำงานเป็นกลุ่ม และพร้อมที่จะเปลี่ยน ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านความคิด อีกส่วนหนึ่งที่เป็นเป้าหมายของโครงการ คือการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่พวกเขาหวงแหนให้คนนอกวัฒนธรรมได้รู้จัก ขณะเดียวกันก็กระตุ้นจิตสำนึกคนร่วมวัฒนธรรมให้หันมาเห็นความสำคัญและความมีคุณค่าของวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตนเอง พวกเขาจึงเปิดการถึงแปดรอบบนพื้นที่ถนนคนเดินในจังหวัดเชียงราย ด้วยการสนับสนุนอย่างดีจากเทศบาล
“ในโครงการเราคิดว่าเผยแพร่เดือนละครั้งในงานถนนคนเดิน แต่พอทำจริงก็อยากทำเยอะกว่านั้นเป็นเดือนละสองครั้ง ตอนแรกเราขอเป็นอาทิตย์ที่ 2 และ 4 ของเดือนแต่เทศบาลเขาก็บอกว่าขอเขาเป็นคนจัดให้ดีกว่า เพราะว่ามีคนขอเยอะ ก็แล้วแต่เขา เขาจะกำหนดให้ว่าให้เล่นวันไหน พื้นที่ก็จัดให้ เราไม่ต้องเสียเงินค่าเช่าเลย เพียงแต่เตรียมอุปกรณ์มาเอง เล่นครั้งแรกตรงสี่แยกบาจาครับ ก็ไกลมากเนาะ เพราะตอนแรกเขาบอกว่า เฮ้ยอะไรสานศง สานศิลป์ ไม่รู้เรื่องเอาที่โน่นไปแล้วกัน แต่พอเห็นคนสนใจมากอาทิตย์ที่สองก็ขยับใกล้จุดคนเยอะมากขึ้นมาที่สี่แยกศาลนี้ แล้วคราวนี้ก็เล่นใจกลางเลย เพราะนักท่องเที่ยวสนใจมากจริง ๆ” สมาชิกชมรมดอกหญ้าอาสา กล่าว
ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังใช้โอกาสนี้สร้างโอกาสให้ผู้อื่นด้วย โดยรับบริจาคเงินเพื่อนำไปซื้อผ้าห่มให้กับคนบนดอยดังที่ชมรมเคยทำมาเป็นประจำตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปีที่แล้วได้มีรายการ “ร้อยแปดพันไมล์” มาถ่ายทำสารคดีกิจกรรมของพวกเขาด้วย
“ทุกครั้งที่แสดงเราก็ตั้งกล่องบริจาคเพื่อนำเงินไปซื้อผ้าห่ม เหมือนที่เราเคยทำค่ายทุกปีครับ ตั้งเป้าไว้พันผืน (ราคาผืนละ 100 บาท) ตอนนี้ได้ 400 ผืนแล้ว โดยปีนี้จะไปที่อำเภอเวียงแก่น ประสานกับกลุ่มรักษ์เชียงของแล้ว เขาจะเอารถมารับไป ค่าน้ำมันเขาออกให้ ปีที่แล้วไปแม่สรวย ผ้าห่มมันใช้ได้จริง คนที่ยังลำบากยังไม่มียังมีอีกมากครับ ก็อยากให้มีประโยชน์ตรงนี้ด้วย ไม่ใช่แค่มาโชว์การแสดงเฉย ๆ” สมาชิกชมรมดอกหญ้าอาสา กล่าว
ปัจจุบันสมาชิกชมรมดอกหญ้าอาสา มีทีมกลองสะบัดไชย 3 ชุด (ชุดละ 13 คน) ซึ่งสามารถผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปแสดงได้ พร้อมทั้งเริ่มมีการฝึกตีกลอง ฟ้อนเจิงให้กับกลุ่มเด็กผู้หญิงเพิ่มเติมจากการฟ้อนเล็บซึ่งฝึกอยู่แล้ว เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มผู้หญิง และตอนนี้ประชาชนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ให้ความสนใจกิจกรรมของชมรมเป็นอย่างมาก โดยได้ไปแสดง ออกงานเป็นประจำ เดือนละ 2-3 ครั้ง ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่
บทสะท้อนความรู้สึกและการเรียนรู้
“คือว่าแต่ก่อนนี่จะเป็นค่ายสร้างอย่างงี้ แล้วก็ไปสร้างฝาย ทำแนวกันไฟ มันเป็นโอกาสที่คนส่วนมากไม่ได้ไปทำในจุดนั้นครับ ผมคิดในใจว่าอย่างน้อยไม่มีใครทำในจุดนี้ ผมคนหนึ่งที่ทำ อย่างน้อยก็ได้ช่วยอะไรกับโลกนี้”
“เข้ามาเพราะอยากจะเห็น อยากจะรู้ อยากจะทำครับ อยู่บ้านก็อยู่เฉยๆ เล่นเกมส์ ปั่นรถถีบ แอ่วขึ้น ๆ ล่อง ๆ ขี่รถเครื่องแว้นขึ้นแว้นล่องครับ พอมาทำตรงนี้รู้สึกว่ามีคุณค่า ได้เรียนรู้ ศิลปะวัฒนธรรมมันทำแล้วมีความสุข มีความภูมิใจในตัวเองมาขึ้น ดีกว่าการอยู่ไปวัน ๆ เยอะเลยครับ”
“ตอนปีหนึ่งผมรู้สึกว่าผมเป็นละอ่อน ใช้เงินพ่อแม่ไปเรื่อยๆ ผมอยู่บ้านเฉยๆ เล่นเกมส์ไปวันๆ ครับ แล้ววันหนึ่งผมก็คิดขึ้นมาว่า ผมอยู่เฉยๆ ไปมันไม่มีประโยชน์ครับ มันเหมือนกับเราใช้เงินพ่อแม่ เปลืองไปเปล่า ๆ พอไปออกค่ายบนดอย หนาวมาก เขาไม่มีเงินเหมือนกับเรา ทำไมเขาอยู่ได้ เวลาเราอยู่บ้านเราใช้เงินไป แล้วเขาวันๆ เขาทำอะไร คิดมาคนเดียวว่าทุกวันนี้เราใช้อะไรเปลืองมากเกินไปหรือเปล่า เลยติดค่าย หลังจากนั้นก็นำไปสู่กิจกรรมอื่น ๆ ของชมรมต่อมา ผมอยากทำทุกอย่างเพราะรู้ว่ามันมีประโยชน์ต่อเราเองและต่อคนอื่น”
“เพื่อน ๆ ในโรงเรียนก็มีบ้างที่มองว่าแสดงออกเกินหน้าเกินตา บางครั้งก็ว่าเป็นผีบ้าเหรอ แต่เราก็ไม่สนใจครับ เพราะว่าเรากล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้องครับ อย่างเรามาถนนคนเดินเรามาเปิดกล่องรับบริจาค ฝึกให้น้องมีความกล้าแสดงออก มีจิตอาสาเราก็ไม่ได้ไปหลอก ไปโกงใคร เราไม่ได้ไปขอ แบบไปลักเงินใคร”
“สำหรับการทำงานครั้งแรกรู้สึกดีใจที่อย่างน้อยทำให้สังคม ประชาชนชาวเชียงรายเริ่มตระหนักถึงความเป็นเอกลักษณ์ ตัวตนที่แท้จริงของชาวล้านนา”
“การมีโอกาสได้สัมผัสกับงานด้านศิลป์ท้องถิ่น ถือว่าเป็นโชคดีของชมรมดอกหญ้าอาสา และสมาชิกชมรมได้รับประสบการณ์มากมาย สามารถนำประสบการณ์เหล่านี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ หากมีโอกาส อยากจะแนะนำ พี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ ได้หากิจกรรมด้านศิลป์ท้องถิ่นทำ ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของประเทศ ภาคไหน ก็ทำได้ และจะมีความภาคภูมิใจ ในชุมชนท้องถิ่นของเรา”
จากคำพูดเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาทั้งหมดได้เรียนรู้จากการทำงานในโครงการว่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการเองนั้น บางทีก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องแก้ปัญหาตลอดเวลา แต่ผลลัพธ์ที่ได้รับยิ่งใหญ่ และสร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวดอกหญ้าอาสาฯ เพราะทุกคนให้ความร่วมมือกัน เกิดเป็นความภูมิใจขึ้น เมื่อเสร็จค่ายความเหนื่อย ที่ได้รับก็หายไปพร้อมกับมีรอยยิ้มเข้ามาแทน
การนำเอาประสบการณ์ทำงานด้านจิตอาสามาประยุกต์ถือว่าเป็นจุดเด่นของกลุ่มที่ได้รวมแรงร่วมใจกัน การแสดงกลองสะบัดชัยซึ่งนักท่องเที่ยว ชาวเชียงราย ตลอดจนพ่อค้าแม่ขายต่างชมเชยพวกเขาที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจจึงถือเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาก้าวต่อไป
“การทำงานเพื่อสังคม เป็นสิ่งที่ท้าทาย ถึงแม้จะยากแต่ไม่เกินความสามารถของพวกเราเด็กค่าย ความเสียสละของเราอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ในอนาคต จึงอยากบอกว่าให้ทุกคนสู้ต่อไป และ ทำงานเพื่อสังคมอย่าได้ย่อท้อ การทำดีทำยากแต่เราสามารถที่จะนำผลสำเร็จไปใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้ตราบนานเท่านาน”
ชาวดอกหญ้าอาสา กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิด…
รายงานการถอดบทเรียนและประเมินผลโครงการสานศิลป์รักถิ่นเกิด
โดย ผศ.ปรารถนา จันทรุพันธุ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะ, กรกฎาคม 2554
*โครงการสานศิลป์รักถิ่นเกิด ดำเนินการเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 – สิงหาคม 2554 มูลนิธิกองไทย เป็นเจ้าของโครงการ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. มีเป้าหมายให้เยาวชน “รู้ และ รัก” ท้องถิ่นบ้านเกิด ด้วยการสืบค้นหาข้อดีของชุมชนท้องถิ่น จนทำให้เกิดความภาคภูมิใจและนำเสนอผ่านงานศิลปะวัฒนธรรม โดยสนับสนุนทุนให้กับ 58 กลุ่มเยาวชนจากทั่วประเทศ – คลิกดูรายละเอียดโครงการ