ภาคภูมิ ศรีดาร

“เป้ง – ภาคภูมิ ศรีดารา” อดีตรองประธานชมรมฅนสร้างฝัน รัฐศาสตรบัณฑิตหนุ่มจากรั้ว มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และอดีตนักศึกษาฝึกงาน ThaiNGO มูลนิธิกองทุนไทย ก้าวเดินบนเส้นทางกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาอย่างมากมาย ตั้งแต่เรียนจนจบการศึกษา วันนี้ในฐานะนักพัฒนาคนหนึ่งสู่ภารกิจที่เขาเรียกว่า “การเปลี่ยนแปลง” ครั้งยิ่งใหญ่ ที่ทำให้ผู้ชายขี้อายอย่างเขาเข้าสู่ชุมชนอย่างอิ่มเอมใจ และไม่กระดากอายอีกต่อไป พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสังคมที่เป็นรูปธรรมที่มีเครื่องมือคือ หนังสือนิทานและดินสอวาดรูป ในฐานะ นักเล่านักนิทานกับ Book Bike คู่ใจ

“การมอบและสร้างโอกาสสำหรับเด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เปิดสำหรับการเรียนรู้ จินตนาการ ทัศนคติ ดูเหมือนว่าสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับชุมชนเมืองที่หลายองค์กรต่าง ๆ ก็เคยทำกิจกรรมแบบนี้ กิจกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจในการอ่านหนังสือสำหรับเด็กๆ และการเข้าถึงแหล่งองค์ความรู้ตั้งแต่วัยเยาว์ อันเป็นฉากสะท้อนการไม่เท่าเทียม ในการกระจายทรัพยากรที่ควรจะเข้าถึงเด็ก ๆ ทุกคน แต่มีเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่เข้าถึงสิ่งเหล่านี้ เด็กในชุมชนเมืองหลายชุมชนที่ถูกเมินเฉยในการเข้าถึงหนังสือที่ดีๆ จึงเป็นโจทย์ในการค้นหาสิ่งที่เด็กควรจะมีโอกาส อ่านหนังสือดี ๆ สร้างจินตนาพร้อมทั้งการเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด” นั่นคือทัศนะของ ภาคภูมิ ศรีดารา กับภารกิจ Book Bike เพื่อการอ่าน

การพัฒนาเด็กและเยาวชนเป็นประเด็นที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งที่สังคมให้ความสนใจ และหาวิธีอันจะนำมาส่การพัฒนาที่เหมาะสมยั่งยืนสำหรับเด็ก ๆ การสร้างนิสัยรักการอ่านเป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาเด็ก ให้มีจินตนาการไม่ใช่แค่การการท่องเพียงในตำรา ด้วยแนวคิดการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพต้องสร้างต้องแต่วัยเด็ก จึงเป็นหลักการสำคัญในโครงการ Book Bike เพื่อการพัฒนาเด็กที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงหนังสือดีได้รับการเหลียวแลและเรียนรู้ให้เกิดการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม ถึงแม้โครงการ Book Bike อันมีเป้าหมายหลักคือการสร้างนิสัยการอ่าน แต่อีกเป้าหมายถึงที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การสร้างสายใยในครอบครัวและชุมชน ให้มีความกลมเกลียวกันอันจะเป็นหนทางสู่การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของเด็กอย่างสมวัย พร้อมทั้งการเปลี่ยนชุมชนให้กลายเป็นเบ้าหลอมที่ดีสำหรับสร้างสมาชิกใหม่ที่มีคุณภาพต่อไป

“การเล่นนิทานให้เด็กฟัง ทำกิจกรรม รู้สึกว่ามันมีความสุข สนุก ลักษณะงานที่ทำคืองานพัฒนาเด็กเล็กจากแรกเกิดถึง 3 ขวบ พัฒนาผ่านการเล่าให้เขาฟัง เป็นการสร้างจินตนาการให้เด็กเขาจะดูนิทานไปกับเรา เขาอ่านไม่ออกอยู่แล้ว ไม่จำกัดอายุทุกคนฟังได้หมด แต่เน้นที่เด็กตั้งแต่ 0-3 ขวบ

การร่วมโครงการคือการมอบหนังสือนิทานให้พ่อแม่อ่านนิทานให้ฟัง เพราะเราไม่ได้เล่าให้เขาฟังทุกวันอยู่แล้ว เขาเรียว่า First Book ให้พ่อแม่เขา คือมอบหนังสือให้ฟรี แต่เด็กโตถึงแม้ว่าจะไม่มอบหนังสือให้ แต่เราก็จะไปอ่านหนังสือให้ฟังทุกวัน ตรงนั้นไม่ได้จำกัดว่าจะเป็นเด็กโตเท่าไหร่เราจะเล่าให้ฟังหมด ไม่ได้เล่านิทานทั้งหมดอาจจะเล่าไปแล้วเอากิจกรรมมาแทรก วาดรูป เล่นเกมส์ เราว่าการอ่านหนังสือเป็นสิ่งที่ดี ส่วนหนึ่งทำให้เด็กติดหนังสือแล้วมองว่าเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่าย จับง่าย ๆ แล้วอยากอ่านจากเนื้อหาน้อยๆ ก่อน เริ่มจากดูรูปเยอะๆ ก่อน เราพยายามคัดเลือกหนังสือที่เหมาะสำหรับวัยของเขา เช่น น้องหมีสร้างบ้าน อะไรที่เขาเข้าใจง่าย ๆ ที่จริงแล้วเด็กวัย 0-6 ปีเป็นวัยที่ควรได้รับการพัฒนามากที่สุด เพราะเป็นวัยที่เขาเติบโตได้มากที่สุด ทุกด้านได้อย่างรวดเร็ว เป็นช่วงที่เราควรจะเอาเรื่องดี ๆ ให้เขามากที่สุด ให้เขาได้ฝังใจพัฒนาต่อ

สังเกตดูว่าเด็กที่เคยผ่านตรงนี้ไปเข้าสู่ระบบโรงเรียน เขามีการเรียนรู้ที่ดีกว่าเด็กในวัยเดียวกันที่ไม่เคยผ่านการพัฒนาแบบนี้ ในปัญหาของมันก็คือทุกชุมชนมันไม่ได้รับการพัฒนาทั้งหมดเพราะเด็กมันเยอะมากในแต่ละชุมชน เราพยายามให้เข้าถึงเด็กให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ พยายามให้เด็กรู้จักเราแล้วกล้าเข้ามาฟังนิทาน วิธีการคือ อันดับแรก เรามีรถนิทาน คือเป็นเหมือนรถขายไอศครีมขี่เข้าไปในชุมชนมันจะดึงดูดเด็กให้เข้ามา เห็นเด็กที่ไหนเราก็จอดอ่านหนังสือให้ฟัง 2-3 คนก็จอดแล้วเล่านิทานให้ฟัง ไป ๆ มา ๆ เด็กก็รู้จักชุมชนก็รู้จักว่ารถพวกนี้มาเล่านิทานให้ฟัง แต่ก่อนหน้านั้น เราก็จะเข้ามาเป็นทางการก่อน คือมาทำความเข้าใจกับพ่อแม่ ผู้นำในชุมชน ว่าจะมีโครงการมาอ่านนิทานให้เด็กฟัง

การเล่านิทานไม่ใช่ว่า เด็กไม่เยอะไม่เล่า แต่มากี่คนก็ต้องเล่าคนเดียวก็ต้องเล่า คนเดียวยิ่งต้องเล่าเพราะเขาจะได้โดยตรงเลย บางครั้งหลายคนเราอาจจะเข้าไม่ถึงแน่นอนว่าเรามีน้อยบางครั้งเขาก็ได้ไม่หมดทุกคน แต่ถ้าเด็กน้อย 1-2 คน ถ้าเราละเลยที่จะไม่เล่าเป็นที่เสียดายมาก ๆ เพราะเขาจะรับสิ่งที่เราให้เขาได้เติมที่และตั้งใจ พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กส่วนใหญ่เห็นด้วยอยู่แล้วกับกิจกรรมแบบนี้และมีส่วนร่วมมากพอสมควร อับดับแรกเลยเขาจะมองเราว่ามาขายหนังสือหรือป่าว ต้องการอะไรหรือไม่ แต่เราก็ทำความเข้าใจว่าเราจะไม่ทิ้งไปเฉยๆ แต่เราจะกลับมาเรื่อยๆ เราก็ไปตลอดเล่าเรื่อย ๆ จนกระทั่งเราเดินเข้าไปเขาก็รู้จักเราเลย คือมันสนิทกันไปเลย ขั้นตอนในการเข้าไปในชุมชนเราเลือกชุมชนที่ควรถูกปลูกฝังก่อน” เขากล่าวนำประเด็น

ถึงแม้พื้นที่ทำงานส่วนใหญ่ของ “สมาคมไทสร้างสรรค์” จะอยู่ในเขตชุมชนเมืองขอนแก่น แต่ปัญหาที่ได้สัมผัสก็เป็นเรื่องที่คนข้างนอกแทบคาดเดาไม่ออก ว่าปัญหามันหนักหนาเพียงไหน โครงการ Book Bike จึงเป็นเสมือนเครื่องมือ การสร้างการรับรู้ในระดับชุมชนรากฐาน ให้มีความตะหนักถึงความสำคัญของเด็ก ๆ ในชุมชน และการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับการการสร้างจินตนาการให้เด็กได้คิดต่ออย่างเป็นเหตุเป็นผล

ภาคภูมิ ศรีดาร กับ Book Bike ของเขา

นอกจากนั้นปัญหาการเข้าถึงหนังสือดีๆ ก็เป็นเป้าหมายที่สำคัญของการสร้าง Mini Library หรือ ห้องสมุดชุมชน ที่เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย ๆ ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ใน 2 ชุมชนต้นแบบของชุมชนเมืองขอนแก่น

ภาคภูมิ ศรีดารา กล่าวเพิ่มเติม “การทำงานเมื่อเด็กอิ่มตัวกับหนังสือแล้ว เราก็จะหาสิ่งที่ใหม่แต่ให้เขาคิดต่อได้ และพยายามสร้างห้องสมุดน้อยของชุมชน ให้ทุกคนมีโอกาสได้เข้าถึงหนังสือ เป็นการเปิดโอกาสทั้งการเรียนรู้สำหรับเด็กละผู้ใหญ่ในชุมชนในการดูแลกันและกัน ห้องสมุดก็เกิดขึ้น 2 ชุมชนแล้ว กระบวนการง่าย ๆ ของการส่งเสริมการอ่านเท่าที่เราคิด คือการไปเล่านิทานให้เด็กๆ ในชุมชนฟังแล้ว เมื่อเราต้องไปพื้นที่อื่นก็จะสร้างห้องสมุดไว้เพื่อเขาจะได้อ่านสม่ำเสมอ ที่มีปัญหามากๆ แต่ก่อนคือ หนึ่งล่ะห่างไกลจากหนังสือ ห้องสมุด ไกลจากหนังสือดีที่เราควรจะได้รับ เราก็เอาหนังสือดี ๆ ใส่รถแล้วเอาไปให้เขา หนังสือพวกนี้ก็เป็นนิทานภาพมาจากทั้งมาจากทั้งในและต่างประเทศที่มันมีคุณค่าต่อเด็ก เด็กน้อยกล้ามเนื้อเขาไม่แข็งแรงพอที่จะจับดินสอปากกาเขียน ก ข ค ง อะไร ให้เขาได้ฟังได้เห็นภาพสวยๆ ไปตามคำบรรยาย ไม่รู้หรอกว่าหนังสือเขียนว่าอย่างไร แต่ถ้าเราบอกว่า หนังสือบางเล่มบอกว่า น้องหมีถือพลั่วจะไปเล่นทราย มันก็จะมีรูปหมีถือพลั่วคือเขาเห็นภาพ คือมันจะทำให้เขาไม่ต้องแตะต้องอะไร แต่ให้เขามีจินตนาการรับรู้จากที่เขาได้ฟังและภาพที่เขาเห็น เพราะฉะนั้นภาพที่เขาเห็นต้องสอดคล้องกับคำที่เราบรรยายชัดเจนมากๆ เพราะเขาไม่รู้ตัวหนังสืออยู่แล้ว

เด็กชอบนิทานนะเวลาที่เราจะกลับเขาก็มักจะถามว่า ‘พรุ่งนี้พี่จะมาอีกหรือป่าว?’ เสมอ ๆ นิทานกับเด็กเป็นสิ่งที่ดึงดูดกันอยู่ ผู้ปกครองเขาก็ขอให้มาบ่อย ๆ แต่ศักยภาพของเรามันมีไม่เพียงพอ ห้องสมุดชุมชนหรือ Mini Library จึงถูกนำมาใช้เพื่อการเข้าถึงหนังสือทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในชุมชน เพราะอย่างที่รู้กันการสร้างควรสร้างตั้งแต่วัยเด็กก็จริง แต่พ่อแม่ผู้ปกครองก็ควรจะได้รับโอกาสเช่นเดียวกัน ดังนั้นหนังสือในห้องสมุดน้อยในชุมชนจึงไม่ได้จำกัดแต่เพียงหนังสือเด็กเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่ก็ควรได้รับพัฒนาเช่นกัน นี่แหละจึงจะเข้าถึงชุมชนเมืองอย่างแท้จริง แต่มันไม่ใช่การบังคับกันแต่มันคือสถานที่หาความรู้ความเข้าใจของคนในสังคมที่เป็นรูปธรรมที่สุดแล้ว”

รถเครื่อง Book Bike ขับเข้าเขตชุมชน 2 ชายหนุ่มเริ่มเรียกร้องความสนใจจากเด็กๆ และผู้ปกครอง ได้ผลอย่างยิ่ง เด็ก ๆ และชาวบ้านต่างหันมามอง บางคนโบกมือให้ เด็กบางคนวิ่งตามรถ จนกระทั่งถึงพื้นที่เป้าหมาย คือ บริเวณที่ว่างในชุมชนต่าง ๆ ชายหนุ่มหน้าตาแปลกตาทั้ง 2 คน หาที่จอดรถที่เหมาะ ๆ ปูเสื่อ จัดหนังสือขึ้นชั้นแต่ไม่น่าแปลกใจสำหรับเด็ก ๆ เพราะเด็กกับหนังสือดีเป็นสิ่งดึงดูดกันเสมอ

“เราได้ลงพื้นที่เล่านิทานอ่านหนังสือให้น้องฟัง รวมถึงการรับสมัครสมาชิกตัวน้อยและครอบครัวเข้าสู่โครงการ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแห่งการอ่าน และการเรียนรู้ ได้รับความกรุณาจากชุมชนเป็นอย่างดีที่ได้ใช้บริการรถนิทานเคลื่อนที่ และคาดว่าโครงการนี้จะไปถึงเด็กๆ ที่อยู่ในเขตเทศบาลนครขอนแก่นทุกชุมชนในการอ่าน อันจะนำไปสู่การพัฒนาในด้านอื่นๆ ต่อไป เราว่าการอ่านเป็นสิ่งที่ดีนะ เพราะเรารู้สึกว่าการที่เด็กมันอ่านหนังสือน้อย เพราะมันขี้เกียจไม่ใช่หรอกแต่เราว่ามันไม่มีหนังสือดี ๆ ให้เขาอ่านมากกว่า”

การเปลี่ยนแปลงของเด็กนั้นอาจจะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วย ดังนั้นการสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสำหรับเด็กจึงเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุดว่า การกำหนดอนาคตไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่อีกต่อไป แต่ผู้ใหญุ่ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงสำหรับเด็กในทางที่ดีให้มากที่สุดเท่านั้นเอง

“แต่ตอนนี้เราทำงานกับเทศบาล แต่ถามว่าเราเป็นนักพัฒนาไหม…เราก็ว่าเข้าข่าย อย่างน้อยมันก็คือการคิดงานต่อว่าจะพัฒนางานเราอย่างไร ให้เด็กน้อยมีจินตนาการของตัวเองไปเรื่อยๆ เพราะเราว่าจินตนาการมันสำคัญกว่าการเรียนรู้จริงๆ จินตนาการมันดีนะ แต่ล่ะวันของเขาสิ่งที่เขาเป็น ชุมชนแออัดเป็นอย่างไรเราก็รู้ ๆ กันอยู่ คือมันมีทั้งกระบวนการอ่านให้ฟังและให้พ่อแม่อ่านให้ฟัง แล้วมาติดตามว่าเป็นอย่างไรบ้างต้องการหนังสือใหม่หรือป่าวอย่างคือ ไม่ใช่เราเข้าไปแล้วหายไปเลย เราก็แวะเวียนเข้าไปเรื่อยว่าผลที่เราทำมันเป็นอย่างไรบ้าง ก็เหมือนการตรวจสอบกลายว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ที่ทำให้เข้าอ่านหนังสือ

การอ่านหนังสือมันไม่ใช่แค่การพัฒนาเด็กนะ มันรวมถึงผู้ใหญ่ด้วย ที่ให้ตระหนักถึงการเข้าใจใส่เด็กเพียงเท่านี้มันก็เหมือนกับการปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว คือเด็กเป็นตัวหลัก แต่เราก็เขาหาผู้ปกครองด้วย เด็กบางคนเข้าก็ไม่ได้มาฟังเราทุกวัน แต่อย่างน้อยเราเอาหนังสือให้พ่อแม่อ่านให้ฟัง มันก็เป็นผลดีอย่างมาก ๆ แก่เด็ก คือเราพยายามทำความเข้าใจกับพ่อแม่ตั้งแต่เราจะเขาไปในชุมชนแล้ว การเปลี่ยนแปลงรู้สึกว่ามันดีขึ้นอยู่ไม่ถึงขนาดเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีมากๆ แต่ว่าสิ่งที่เราขอคือ ให้เวลากับเด็กนิดหน่อยไม่ต้องมากอยู่กับลูกให้เด็กรู้สึกว่าเราไม่ได้ขาดอะไร เล่านิทานก่อนนอนก็ยังดี ให้เขาฟังแค่นี้จินตนาการมันก็เกิดแล้ว” เขาทิ้งท้าย

หากผู้ใหญ่ในวันนี้ยังมัวแต่พะว้าพะวงกับเรื่องของเด็ก แล้วไม่ลงมือทำอย่างจริงจังสักที การสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพย่อมเข้าสู่ทางตัน อย่างน้อยที่สุด….การพยายามเข้าไปในชุมชนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงสิ่งที่ดี ๆ ของ “ภาคภูมิ ศรีดารา” แม้จะเป็นเพียงจุดเริ่มเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ย่อมดีกว่าที่จะยืนมองแล้ววิเคราะห์โดยไม่ลงมือทำมิใช่หรือ