ใครว่าวัยรุ่นไม่มีพลัง คงต้องคิดใหม่ หากได้เจอการทำงานของ “กลุ่มเยาวชนฅนไทบ้าน” จ.อุบลราชธานี ที่รวมตัวกันสืบสานศิลปวัฒนธรรมของหมู่บ้าน ด้วยแรงใจ แรงกาย และแรงความคิดของเยาวชนในหมู่บ้าน ผลงานปรากฏผ่านกิจกรรมของโครงการสานศิลป์รักถิ่นเกิด พวกเขาทำอะไร ทำอย่างไร ทำไปทำไม ลองไปฟังพวกเขาเล่า…
รักและตั้งใจจริง เป็นสองสิ่งแห่งการเริ่มต้น
จุดเริ่มต้นของโครงการเกิดจากความคิดของ “ทูน” ภูวนัตถ์ กอมมณี พี่ใหญ่ของกลุ่ม ซึ่งเป็นเยาวชนที่เกิดและเติบโตในหมู่บ้าน เห็นการละเล่นดนตรีพื้นบ้านอีสานมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งเป็นศิลปะในพื้นที่ที่เขาซึมซับ และซาบซึ้งมาตลอด และคิดว่าหากมีโอกาสทำให้ดนตรีอีสานมีการสืบทอดต่อไปได้ เขาก็จะทำ และด้วยประสบการทำงานที่หลากหลาย ทั้งด้านงานค่าย งานเอดส์ งานอาสา ต่าง ๆ ทำให้เขามีประสบการในการจัดกิจกรรมกับเยาวชนอยู่เป็นทุนเดิม ดังนั้นแม้ปัจจุบันเขาจะทำงานประจำเป็นผู้ช่วยพยาบาล แต่ก็แบ่งเวลามาทำโครงการอย่างทุ่มเทเช่นกัน
“ผมเคยทำกิจกรรมพวกนี้มาก่อน เคยทำงานองค์กรแคร์ รู้สึกชอบงานที่ทำเพื่อคนอื่น งานที่มีอุดมการณ์ เหมือนกับว่าเราสบายแล้วแต่คนอื่นสบายหรือยัง ก็ตั้งคำถามแล้วคิดทำค่าย ทำอะไรมากมาย จากความรู้ที่ได้จากองค์กรแคร์ มีเครือข่ายจากหลาย ๆ ที่ ทำให้รู้แนวทางการทำงานกับเยาวชน”
ทูนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของตัวเอง ที่เคยทำงานเยาวชนมาหลายครั้ง ก่อนที่จะเริ่มทำงานกับเยาวชนในหมู่บ้าน ซึ่งเขาเห็นว่า หลายคนสนใจดนตรีพื้นบ้าน อยากเรียนรู้ แต่ไม่รู้ช่องทางว่าจะเริ่มต้นอย่างไร จุดเริ่มต้นทูนได้หารือกับน้อง ๆ เยาวชนในหมู่บ้านสองสามคนที่ตีกลองยาวเป็น เพราะหัดเล่นตั้งแต่เด็ก และมีบางคนที่ฝึกเป่าแคน ว่าจะทำกิจกรรมนี้ ประกอบกับมีเพื่อนที่ชื่อปรีชา รู้จัก พี่เกด (โครงการสานศิลป์) บอกว่ามีโครงการแบบนี้ จึงเริ่มลงมือร่างโครงการอย่างจริงจัง
“ปรีชาเป็นเพื่อนอยู่คนละตำบลแต่เคยทำค่ายร่วมกัน ตั้งกลุ่มเยาวชนร่วมกัน เป็นกลุ่มต้นน้ำ ระดมทุนเพื่อสร้างบ้านให้ผู้ด้อยโอกาส พอปรีชามาบอกว่ามีโครงการนี้เลยสื่อสาร คุยกับน้อง ๆ เขียนโครงการขึ้นมา”
แม้ตอนเริ่มทำทูนเองก็กลัวว่าจะเวลาคงจะไม่พอเพราะติดงานประจำ แต่เขาก็เชื่อว่าน้อง ๆ จะช่วยกันทำให้โครงการผ่านไปได้ด้วยดี
“พอดีได้น้อง ๆ มาช่วยก็เบาใจ ตอนไปชวนเราเล่าให้เขาฟังว่าอยากจะทำไหมโครงการแบบนี้ พอทุกคนบอกอยากทำ จึงเล่าภาพรวมให้ฟัง ก็มีมาช่วย 3-4 คน แล้วบางคนก็เข้ามาหลังจากที่ทำโครงการแล้ว ชุดแรกที่เป็นแกนนำด้วยกันคือกลุ่มนี้”
ประสบการณ์ทำงานของทีมงานแม้จะไม่เคยทำกิจกรรมด้านศิลปะวัฒนธรรมมาก่อน แต่ก็เป็นกลุ่มที่เข้มแข็งเพราะเคยทำเรื่องการอนุรักษ์ป่ามาก่อน ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะทุกคนทำด้วยใจและเรียนรู้ไปพร้อมกัน
“เด็ก ๆ ที่มาช่วยเคยทำงานด้านอนุรักษ์ป่าชุมชนดงใหญ่ เป้นลูกมือ ไปช่วยงานเช่น รณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม บางคนเป็นมัคคุเทศ เพราะเราตั้งกลุ่มเยาวชนฅนไทบ้านขึ้นมาเพื่อทำเรื่องป่ามาได้ประมาณ 3 ปี”
แกนนำมีพื้นฐาน ชาวบ้านช่วยสนับสนุน
เยาวชนที่ร่วมโครงการมีทั้งพวกที่เล่นไม่เป็นเลย เช่น แก้ว และ พิมพ์ และพวกที่เล่นดนตรีเป็นอยู่ก่อนแล้ว เช่น โอแล่นแคนมาก่อนสามปีมาแล้ว และเพิ่งได้ออกงานกับวงหมอลำของหมู่บ้าน วรวัฒน์กับเล่นมา 2-3 ปีแล้ว นัทก็เล่นมาแบบเล่น ๆ หยุด ๆ คนที่เล่นไม่เป็นแต่ยังอยากเข้าร่วม รู้สึกว่าอยากเล่นเป็น ส่วนคนที่เล่นเป็นอยู่แล้วอย่าง ออฟ (วรวัฒน์ บุญประสิทธ์) เล่นกลอง โอ (อภิชัย อนุสนธ์) เล่นแคน และนัท (อาทร ศรีสมุทร) เล่นกลอง ที่ตัดสินใจเข้ามาร่วมเพราะสนุก
“ชอบครับ มาเล่นแล้วก็สนุก เล่นแล้วก็ชอบ อยากเล่นให้เก่ง ๆ” ออฟ
“ใจมักครับ อยากเล่น” โอ
“ผมต้องไป ๆ มา ๆ ระหว่างอุบลกับกรุงเทพฯ เพราะต้องไปทำงาน พอกลับมาอยู่บ้านก็มาเล่นดนตรี แต่พอถึงช่วงไม่ทำนาก็เข้ากรุงเทพฯ ไปทำงาน แต่ถ้าเป็นช่วงทำนา ก็อยู่บ้าน รับจ้าง ถ้ามีเวลาผมก็จะเล่นดนตรีด้วย เพราะเล่นแล้วมีความสุข” (นัท)
นอกจากหนุ่ม ๆ นักดนตรี ยังมีนางรำด้วย คือ นิด (ณันทิยา พุทธาจู) อ้อ (ภานิณี พุทธาจู) และกิ๊ฟ (วรกมล ศรีสมุทร) ซึ่งเข้ามาร่วมแต่แรกทั้งหมด
“พวกเราตัดสินใจร่วมกิจกรรมเพราะสนุก แต่ก่อนพี่ทูนบอกว่าจะมีโครงการมาให้ทำ ก็ถามมาเป็นปี พอโครงการมาก็มาร่วมเลย ที่อยากทำเพราะอยากรักษาวัฒนธรรม มันเป็นของหมู่บ้าน เราไม่อยากให้มันหายไป และได้เจอเพื่อน ๆ ได้มาร้องรำด้วยกันก็มีความสุข” (นิด)
พื้นฐานเริ่มต้นของการทำโครงการนี้คือใจรัก ที่เยาวชนมีต่อศิลปะพื้นบ้านของชุมชนตนเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำงานทุกแขนง องค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้โครงการขับเคลื่อนไปได้ด้วยดีคือชุมชน ซึ่งชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่มีวงหมอลำประจำหมู่บ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่จะมาซ้อมหมอลำกันอยู่เป็นประจำ และพร้อมที่จะสอน ถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ให้กับเด็ก ๆ ทำให้การทำงานโครงการเป็นไปอย่างราบรื่น
การทำกิจกรรมของโครงการ
หลังจากได้คนและโครงการผ่าน ทูนก็ดำเนินการประชุมกับน้อง ๆ แจ้งให้ทราบว่าจะทำในกลุ่มแกนนำก่อน เมื่อได้รับงบประมาณมาก็วางแผนกับผู้นำชุมชน และปราชญ์ชาวบ้านด้านดนตรีในหมู่บ้าน เอาเท่าที่มีในหมู่บ้านมีปราชญ์ 8 คน รวมฟ้อน นักดนตรีเหล่านี้ไม่ได้รวมตัวกันเป็นวง แต่ต่างคนต่างอยู่บ้านตัวเองเล่นดนตรีของท่านเอง บางท่านก็เล่นกับวงกลองยาวของหมู่บ้าน
กิจกรรมหลัก ๆ คือสืบค้นข้อมูลของปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นนักดนตรี เพื่อติดต่อให้ท่านมาเป็นครูสอนเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ หลังจากนั้นเป็นการฝึกซ้อม และการแสดง
“หลังจากได้ปราชญ์ก็ไปสืบค้นประวัติของปราชญ์แต่ละท่าน ว่าท่านทำอะไร เล่นเครื่องดนตรีอะไร และจะยอมเป็นครูสอนเราไหม เหมือนไปดักเอากลางทาง ไปเข้าหาอาจารย์ ช่วงนั้นจะอยู่ทุ่งนา บางคนนอนทุ่งตั้งไกล เราก็ขี่มอเตอร์ไซค์ตามหา เจอครึ่งทางก็จอดสัมภาษณ์ ใช้ไฟแบตเตอรรี่ส่องจดข้อมูล คนไหนจะเรียนอะไรก็ไปหาปราชญ์ชาวบ้านด้วยกันเป็นกลุ่ม ใครไปได้ก็ไป ไปหาว่าท่านถนัดเรื่องอะไร จะสอนเราได้ไหม ถามประวัติความเป็นมา ตั้งแต่รุ่นแรก ๆ”
แม้จะไม่เคยเรียนเรื่องการสืบค้นข้อมูล แต่คณะทำงานก็มีความพยายาม โดยเลือกคำถามที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์
“เคยได้ยินการสืบค้นแต่ไม่รู้เทคนิคแล้วก็คิดหาว่าเราวควรจะถามอะไร ซึ่งเป็นคำถามพื้นฐาน ส่วนใหญ่ปราชญ์ชาวบ้านก็ยินดีจะเล่าให้ฟัง เพราะอยากเล่าอยู่แล้ว แล้วก็ได้ประวัติปราชญ์แต่ละคน แล้วเชิญเป็นปราชญ์ชาวบ้านให้สอนน้อง ๆ ไม่มีใครปฏิเสธยินดีทั้งหมด แม้จะรู้ว่าจะต้องเจียดเวลามาสอน ท่านก็ยินดี”
เมื่อได้ข้อมูลของปราชญ์แต่ละท่านแล้ว ก็มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ก่อนที่จะดำเนินการฝึกซ้อมให้เยาวชนที่ร่วมโครงการ
“ตอนที่ไปบอกปราชญ์ ปราชญ์บอกว่ายินดีหน้าตาตื่นเต้น พอจัดเวทีเสวนาทุกคนก็ออกท่าทางสนุกมาก”
ปราชญ์ชาวบ้านที่มาช่วยก็มีหลายท่าน ได้แก่ กลองยาว คุณพ่อสเถียร (ถนัดกลองทุกอย่าง), หมอลำกลอน พ่อสงวน, ลำแม่นวลจันทร์ มงคลแก้ว, โหวดพ่อพรหมมา มงคลแก้ว(เป็นปู่) แก่แล้วเสียงลมไม่ถึงโหวด โหวดเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยากเพราะต้องเป็นโน้ต โหวตมีคนเล่นน้อยเพราะเล่นยาก ส่วนกลองยาว กลองรำมะนา จะมีเยอะ, พ่อประสิทธ์ ศรีพิมพ์เล่น ซุง ที่ประดิษฐ์ด้วยมือ
“คนจะดีดซุงต้องทำเอง ของใครของมัน หน้าตาคล้ายพิณ แต่ซุงจะไม่ใส่รายละเอียดมาก พิณจะสวยกว่าที่มีหัวนาค ซุงจะธรรมดามาก แต่ เล่นสด ๆ เหมือนกัน การเล่นซุงจะเล่นตามอารมณ์คนเล่น พิณเล่นตามคอร์ด น้อง ๆ ที่มาก็เล่นเครื่องดนตรีตามที่ตัวเองชอบ”
ในตอนแรก คณะทำงานคิดว่าจะฝึกซ้อมกันแค่ในหมู่ทีมงาน เพราะตั้งใจมาเรียนรู้จริง ๆ แต่หลังจากคุยกันไปคุยกันมาก็เลือกที่จะเปิดให้เยาวชนคนอื่น ๆ เข้าร่วมด้วย
“พอเริ่มคุยกับกลุ่มก็เห็นตรงกัน ถ้าเราจะซ้อมแค่เรากันเอง มันก็จะไม่สนุก น่าจะหาแนวร่วม คนน้อยไม่สนุกคนเยอะสนุกกว่า และเห็นน้อง ๆ หลายคนมาถาม อยากมาขอร่วมซ้อมด้วย เด็กหญิงจะซ้อมฟ้อนรำอยากซ้อมรำ อยากแสดงออก ส่วนผู้ชายพอได้ยินข่าวว่าจะซ้อมดนตรี ก็จะมา ส่วนมากพวกเล่นพิณจะชอบเพราะได้โชว์สาว ถ้ามีความรู้ตรงนี้ก็มีแฟนได้ ก็เริ่มมีคนสนใจ พอรับสมัครจริงจังก็ประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย ใครสนใจให้มา พอรับสมัครเสร็จก็มีคนเข้ามาร่วมเยอะ”
หลังจากที่ปราชญ์ชาวบ้านและชุมชนร่วมประชุมกัน และตกลงที่จะช่วยสอน ทีมงานก็ประกาศชวนเยาวชนในหมู่บ้านเข้าร่วมกิจกรรม โดยมีเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 30 คน ในจำนวนนี้มีทั้งนักดนตรีและนางรำ (นางรำรวมเด็ก มีทั้งหมด 7 คน) มีตั้งแต่รุ่นเล็กมาก มีต่างบ้านมาร่วมด้วย 1 คน โดยคณะทำงานหลักได้รวมตัวกันซ้อม และเปิดโอกาสให้เยาวชนในหมู่บ้านได้ข้ามาร่วม การตัดสินใจเข้าร่วมเกิดจากการได้เห็นการซ้อมของกลุ่มแกนนำเยาวชนที่ร่วมโครงการสานศิลป์ ซึ่งมีการซ้อมอยู่ในหมู่บ้าน
“การหาสมาชิกใหม่ เป็นการเปิดโอกาสให้น้อง ๆ สมัครเข้ามาเอง ใครมาดูซ้อมแล้วอยากทำก็เข้ามาร่วม มีตั้งแต่ 4 ขวบ พ่อแม่พามา จนถึงเจ็ดขวบ บางคนเด็กมากเราก็ให้ร่วม ไม่ได้คิดว่าเขาจะต้องเล่นจนเก่ง แต่เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้รู้จัก ได้เข้ามาร่วมอาจจะยังไม่ได้เล่นจริง หรือเล่นยังไม่เก่งแต่ก็ถือเป็นการปลูกจิตสำนึก แล้วอนาคตเมื่อสนใจอย่างจริงจังก็จะทำได้ไปเอง”
หลังจากได้เยาวชนที่ร่วมโครงการครบ 30 คนแล้ว จึงเปลี่ยนที่ซ้อมไปเล่นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวังอ้อของตำบล เพราะมีพื้นที่กว้างขวางกว่า และสุดท้ายก็ย้ายไปที่บ้านพ่อครูสมเกียรติ
“ตอนแรกว่าจะซ้อมกลางวัน แต่ไม่ว่างกัน ก็ว่าจะซ้อมศุกร์เสาร์อาทิตย์ เสาร์กลางวันอาทิตย์กลางวัน แต่ดูแล้วไม่ไหวเพราะต้องทำการบ้าน ต้องทำงานเลยนัดตอนเย็นทุกเย็น บางวันที่ติดภารกิจจริง ๆ ก็จะงดซ้อม แต่ส่วนใหญ่ทุกเย็นจะมีปราชญ์ชาวบ้านมาสอนแล้วแต่สะดวก ศูนย์กลางอยู่พ่อสมเกียรติ เพราะเป็นที่เก็บกลองยาว ตอนแรกจะใช้ศาลากลางบ้าน แต่ไม่ไหวเพราะรถมาก จึงเอาที่ถนนที่รถไม่ผ่าน คือใช้บ้านพ่อสมเกียรติแทน มาฝึกที่นี่ทั้งหมดทุกอย่าง”
ในส่วนของกลอน และนางรำก็ฝึกฝนควบคู่ไปกับการเล่นดนตรีด้วยเช่นกัน โดยน้องผึ้ง (นริศรา ครุฑเสน) เป็นหนึ่งเดียวที่หัดลำกลอนในโครงการนี้
“ครูกลอน (พ่อสงวน) จะแต่งมาให้แล้วฝึกให้ร้อง หมอลำเล่าได้ทุกเรื่อง วิถีชีวิต สถานการณ์ สภาพแวดล้อม เพลงในโครงการอาจารย์ก็ช่วยแต่งมา บอกว่าเขียนขึ้นมาใหม่เพื่อกิจกรรมนี้ ส่วนนางรำมีครูมาสอน เยาวชนที่เข้าร่วมเคยมีพื้นฐานที่รำพอเป็นมาบ้าง คนที่ไม่เป็นเลยก็มาสมัครได้ เพราะพอได้ลองทำก็จะค่อย ๆ เป็นไปเอง”
ด้วยความช่วยเหลือและสนับสนุนของชุมชน และปราชญ์ชาวบ้าน ประกอบกับความตั้งใจจริงของเยาวชนที่ร่วมโครงการ ทำให้การทำโครงการขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี
“เรามีการประชุมกันตลอด ว่าจะทำอย่างไร แต่ไม่ได้จัดประชุมเป็นทางการ คือเจอกันที่ไหนก็คุยที่นั่น บางทีก็คุยที่สนามตะกร้อ และนัดแนะเวลาที่จะทำกิจกรมต่อไป”
การฝึกซ้อมดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีบางช่วงที่ขลุกขลัก หรือหยุดไปบ้าง แต่ทุกคนก็ยังกลับมาซ้อม เท่าที่จะทำได้
“เดือนกุมภาพันธ์มีการแข่งกีฬาตำบล เล่นกีฬาทุกคนทั้งเดือน ผู้หญิงก็เล่นกีฬาหมดเลย บลวอลเล ตะกร้อ ทำให้ต้องพักเพลงไปก่อนเพราะเป็นหน้าตาหมู่บ้าน เดือนมีนาค่อยเริ่มอีกครั้ง แต่เพราะห่างบางคนก็ลืม ต้องมาเคาะสนิม บางช่วงรู้สึกว่าเบื่อ ๆ แต่ก็เข้าใจบางช่วงจังหวะ มีนาอากาศร้อน แม่น้ำลด น้อง ๆ ไปมุดยิงปลา จากนั้นก็มาซ้อมดนตรี”
ในส่วนของการแสดง พวกเขาเปิดการแสดง 3 ครั้งครั้งแรก วันที่ 5 เมษายน ที่ศูนย์เด็กเล็กของหมู่บ้าน ครั้งที่ 2 วันที่ 10 ต้อนรับดาราคณะปัญญาเรณู และครั้งที่ 3 ในงานประจำปีของหมู่บ้าน หลังจากฝึกซ้อมแล้ว เยาวชนจึงได้ร่วมแสดงฝีมือในหมู่บ้าน ประกอบกับมีการจัดเสวนากลางบ้าน เพื่อให้ชุมชนรับรู้การทำงานของโครงการอย่างทั่วถึง
“เราเชิญทุกคนในหมู่บ้าน ใครสนใจก็มา ทั้งผู้นำ คนในชุมชน เยาวชนในกลุ่มและนอกกลุ่มเท่าที่มาได้ มามากเท่าไหร่ยิ่งดี เราทำเกียรติบัตรให้ปราชญ์ชาวบ้านต่อหน้าผู้คน บอกเล่าเรื่องการจุดประกายและการสืบสานต่อ ทำให้ปราชญ์ชาวบ้านเกิดความภูมิใจในตัวเอง”
อนาคตที่คาดหวัง
“ในอนาคตเราน่าจะดึงรุ่นเด็ก ๆ มาต่อ เพราะวงกลองยาวจะรับงานเรื่อย ๆ ช่วงนี้จะมีประกวดบุญบั้งไฟ ขบวนฟ้อน เดือนพฤษภาคม ถึงกรกฎาคม บางช่วงเลยไปถึงมิถุนายนก็มี ถ้าซ้อมเก่ง แม่นแล้วก็อาจจะตระเวณไปแข่งขันแล้วแต่ว่าจะมีแรงส่งไหมเพราะมีค่าแต่งตัว ขึ้นอยู่กับผู้นำชุมชน และสมาชิกในกลุ่มด้วยว่าจะอยากทำต่อไหม ทุกวันนี้เราก็ยังซ้อมอยู่ ตามกิจกรรมที่จะต้องมี อาจจะห่างซ้อมบ้าง แต่ไม่ทิ้ง ตอนนี้ต่างคนต่างเล่นได้แล้ว”
ทูน กล่าวถึงอนาคตที่เขาและน้อง ๆ มองว่าอาจจะเป็นไปได้ที่จะมีการสืบสานกิจกรรมนี้ต่อไป เพราะทุกคนเล่นดนตรีได้แล้ว ประกอบกับมีกิจกรรมและโอกาสที่จะได้แสดงฝีมืออีกเป็นระยะ
“ไม่ได้คิดไว้ว่าจบโครงการไป กลุ่มเราจะยังอยู่ครบไหม ไม่แน่ใจ แต่ที่อยู่ ก็อาจจะเป็นน้องเล็ก ๆ เท่าที่พอจะมี บางทีก็มีคนเข้ามาศึกษาดูงานในหมู่บ้านเราอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งจริง ๆ ก็เหมือนกับว่ามีงานให้ทำต่อเนื่อง เช่น ป่าชุมชนดงใหญ่มาศึกษาดูงานก็จะมีนางรำเปิดงาน เชิญขวัญ มีกลองยาวต้อนรำ ทีมเราก็จะได้เล่น ได้รำอยู่แล้ว”
สมาชิกบางคนก็เริ่มมีการทำงานต่ออย่างจริงจัง
โอ (อภิชัย อนุสนธ์) ตอนนี้ก็ไปร่วมแสดงกับวงหมอลำแล้ว เพราะเรียนรู้ตั้งแต่เด็กอยู่วงโปงลางที่โรงเรียน เป่าแคนมาตั้งแต่เล็ก ปัจจุบันมีแคนเป็นของตัวเอง
เอ็ม (ธวัชชัย บุญประสิทธิ์) เพิ่งเล่นเบสมาเมื่อสองเดือนที่แล้วเพราะเล่นกีต้าแล้วอยากลองเบส
แก้ว (หริพันธ์ เข็มเพชร) หัดกีต้าและพิณชอบทั้งสองอย่าง เรียนอยู่ที่ศรีษะเกศ ถ้ามีโอกาสก็จะมาเล่น
เมฆ กับ หนึ่ง เพิ่งเล่นได้ลายเดียว แต่ก็ยังจะเล่นไปเรื่อย ๆ
ดูเหมือนว่าพวกเขามีเป้าหมายที่จะทำอะไรต่อในชีวิต แต่ก็จะไม่ทิ้งศิลปะ และดนตรีพื้นบ้านที่พวกเขาได้เรียนรู้มา เพราะเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นตัวตนของพวกเขาเอง ดังที่ทูนมองว่า มีเด็ก ๆ ที่ต้องการสืบสานศิลปะพื้นบ้านอยู่มาก เพียงแต่เขาไม่มีโอกาสเจอกัน หรือได้ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ค้นพบตัวเอง ถ้าหากมีกิจกรรมแบบนี้มาก ๆ ก็จะสร้างเยาวชนที่รักษา และพัฒนาศิลปะพื้นบ้านให้คงอยู่ต่อไปได้
“เด็กที่อยากทำงานเพื่อหมู่บ้านแต่ไม่ได้เจอกันมีอยู่มาก ถ้ามีกิจกรรมหรือโครงการดึงตัวตนของเด็กออกมาจะดีมาก ที่ไปเข้าค่ายการสื่อสารเรื่องเอดส์ ทำให้รู้จักตัวตนของตัวเองหลังจากได้ทำงาน อยากให้น้อง ๆ ได้มีประสบการณ์ตรงนี้ ถ้ามีค่ายต้องให้เข้าร่วมเพื่อให้ค้นพบตัวเอง ได้อะไรเยอะจริง ๆ นอกจากความสงบ จะได้เห็นตัวตนที่แท้จรงิของตัวเองว่าเราคือใคร ชอบอะไร จะทำอะไร”
พวกเขาไม่ได้คิดถึงผลประโยชน์ในทางทรัพย์สิน เพียงแค่มีความภูมิใจ พอใจ สนุกกับสิ่งที่เป็นตัวของตัวเอง เป็นรากเหง้า เป็นสิ่งที่คุ้นเคยของคนรุ่นปู่ย่าตายาย ที่พวกเขาอยากจะสืบสานต่อไป นั่นคือสิ่งที่เป็นเป้าหมายของเยาชนที่เข้าร่วมโครงการเกือบทั้งหมด ดังที่นิดสะท้อนไว้
“พวกหนูก็บอกไม่ถูก ว่าทำแล้วได้อะไร รู้แต่ว่ามันสนุกในตัว ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็อยากดูรุ่นหลาน เราทำให้เห็นว่ามันหายไปนาน แต่มันกลับมาได้ เราอยากให้ทำ พอทำแล้วผลตอบรับออกมาดี ผู้เฒ่าผู้แก่ชื่นชอบมาก เห็นลูกหลานตัวเองก็ภูมิใจ”
“มีคนไม่เห็นด้วยบอกว่า ‘มันจะรอดไหม’ เขาไม่ได้ดูถูกแต่เป็นห่วง ก็เลยอธิบายว่าไม่ลองก็ไม่รู้ ถ้าคิดอย่างนั้นเด็กจะเตลิดไปไกล ถ้าไม่เริ่มก็จะไม่มีใคร วัฒนธรรมต้องเริ่มจากจุดศูนย์ก่อนถ้ามีคนคิดจะทำ ก็ถือเป็นเรื่องดี ได้เท่าไรค่อยว่ากัน แต่มันได้ประโยชน์แน่ ๆ ไม่ได้น้อยก็ได้มาก”
ทวน กล่าวทิ้งท้ายถึงจุดยืนของเขา ที่มีต่อการสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้าน ซึ่งวันนี้พิสูจน์แล้วว่าพวกเขา… เยาวชนฅนไทบ้านทำได้แล้ว และทำได้ดีประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้
รายงานการถอดบทเรียนและประเมินผลโครงการสานศิลป์รักถิ่นเกิด
โดย ผศ.ปรารถนา จันทรุพันธุ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะ, กรกฎาคม 2554
*โครงการสานศิลป์รักถิ่นเกิด ดำเนินการเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 – สิงหาคม 2554 มูลนิธิกองไทย เป็นเจ้าของโครงการ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. มีเป้าหมายให้เยาวชน “รู้ และ รัก” ท้องถิ่นบ้านเกิด ด้วยการสืบค้นหาข้อดีของชุมชนท้องถิ่น จนทำให้เกิดความภาคภูมิใจและนำเสนอผ่านงานศิลปะวัฒนธรรม โดยสนับสนุนทุนให้กับ 58 กลุ่มเยาวชนจากทั่วประเทศ – คลิกดูรายละเอียดโครงการ