Photo by Jularat Damrongviteetham

28 พฤศจิกายน 2552 มูลนิธิโกมล คีมทอง ร่วมกับ สสส.ได้จัดงาน “มหกรรมค่ายสร้างสุข ตอนคบเด็กสร้างค่าย” ณ สวนสันติไชยปราการ ที่เป็นการร่วมตัวกันของนักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิโกมล คีมทอง ซึ่งในงานมีการจัดซุ้มกิจกรรมของชมรมต่างๆ รวมทั้งการแสดงความสามารถทางดนตรีของกลุ่มกิจกรรมที่มาร่วมงานอย่างชื่นมื่น และในช่วงค่ำยังมีการจัดเสวนาเรื่อง “เล่าขานตำนานเพลงค่ายฯ” ที่สะท้อนถึงความยาวนานของการทำกิจกรรมค่ายอาสาในยุคต่าง ๆ ร่วมทั้งการยกประเด็นของศิลปวัฒนธรรมเพลงเพื่อชีวิต เพลงค่ายที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวในประวัติศาสตร์ของนิสิตนักศึกษา และพัฒนาการของเพลงเพื่อชีวิตในยุคต่าง ๆ ที่เป็นคุณูปการแก่สังคม โดยมีผู้เข้าร่วมพูดคุย คือ

  • จักรกฤษ ศิลปะชัย ผู้คร่ำหวอดในวงการเพลงเพื่อชีวิต เจ้าของตำแหน่งแฟนพันธุ์แท้เพลงเพื่อชีวิต
  • อนันต์ ลือประดิษฐ์ คอลัมน์จุดประกาย
  • อรรณพ นิพิทเมธาวี จากกลุ่มรองเท้าแตะ นักกิจกรรมเจ้าของผลงาน เพลงค่ายฯ ที่ว่างระหว่างเส้นลวด 6 สาย

อรรณพ นิพิทเมธาวี จากกลุ่มรองเท้าแตะ กล่าวถึงอิทธิพลเพลงเพื่อชีวิตต่อกิจกรรมค่ายอาสาว่า

“กิจกรรมค่ายอาสาฯ ในแต่ละยุคสมัยล้วนมีที่มาที่ไปและมีจุดหมายปลายทางที่แตกต่างกัน ค่ายฯ ที่เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยล้วนเป็นแหล่งบ่มเพาะจิตใจที่งดงาม มีจิตอาสา และสร้างจิตสาธารณะ สร้างการเรียนรู้และเข้าใจสังคม ให้แก่นิสิตนักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ และบทเพลงค่ายฯ ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งในการอธิบายประวัติศาสตร์สังคม การเมือง และวัฒนธรรมได้ง่ายแต่ลึกซึ้ง

เพลงที่ร้องๆ กันอยู่ในค่ายต่าง ๆ นี่แหละ ที่ส่วนมากเป็นเพลงที่เราเรียกว่า เพลงเพื่อชีวิต หรือ ศิลปะเพื่อชีวิต แล้วแต่ใครจะนิยาม เพลงเหล่านี้ไม่เพียงจะเล่าเรื่องว่าอะไรเกิดขึ้นกับสังคม แต่มันยังเรียกร้องถึงการค้นหาหนทางออกด้วย การร้องเพลงเพื่อชีวิตมันก็เหมือนเราเล่าประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 หรือ6 ตุลาคม 2519 ให้กันฟังโดยใช้เวลาไม่กี่นาที

ค่ายอาสาพัฒนาฯ ทุกรูปแบบต่างมีเป้าหมายอย่างหนึ่งร่วมกัน ก็คือให้นักศึกษาออกมาเรียนรู้สังคมภายนอกตำราและนอกรั้วมหาวิทยาลัย ส่วนตัวกิจกรรมที่เกิดขึ้นมันก็คือรูปแบบการอยู่ร่วมกัน การเรียนรู้ผ่านงานศิลปวัฒนธรรมทางเลือกแบบนี้ จึงเป็นอีกอย่างหนึ่งที่หล่อหลอมกล่อมเกลาให้แต่ละคนเอาไปคิดต่อได้และเข้าใจในประวัติศาสตร์ทางสังคมที่สำคัญได้ง่ายและเร็ว”

จักรกฤษณ์ ศิลปชัย กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของเพลงเพื่อชีวิตที่เป็นทั้งภาพสะท้อนความจริงของสังคม และการให้กำลังใจร่วมทั้งการเป็นพลังขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชนในยุคสมัยต่าง ๆ อันเป็นรากฐานที่สำคัญของงานศิลปะที่ต้องสะท้อนประเด็นทางสังคม

“แม้ เพลงเพื่อชีวิต ในเมืองไทยมันจะไม่ได้มีรูปแบบที่ชัดเจน ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไร เพราะเพลงเพื่อชีวิต หรือ ศิลประเพื่อชีวิต ก็ตาม ก็ล้วนต้องการสื่อสารให้เห็นถึงปรากฏการณ์ทางสังคมของยุคสมัยให้ชัดเจนเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามรากเหง้าของประวัติศาสตร์ส่วนนี้ต้องยอมรับว่างานของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในทศวรรษที่ 2500 เป็นแนวคิดที่สำคัญมากในการก่อกำเนิดงานแนวเพื่อชีวิตขึ้นมา ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ การรับไม่ได้กับสภาพสังคมที่เป็นอยู่ในขณะนั้น เป็นแรงขับที่สำคัญในการสร้างงานเพลงเพื่อชีวิต เราแทบไม่ต้องถกเถียงกันว่า เพลงเพื่อชีวิต คือ ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ในเรื่องต่าง ๆ ที่สะท้อนผ่านตัวละครที่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมที่ถูกละเลยความสำคัญ

ดังนั้นเพลงเพื่อชีวิตเมื่อมันทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์แบบ จึงเป็นภาพที่น่าสนใจเป็นอย่างมากทั้งในแง่ของการสร้างการเรียนรู้เพื่อจะเข้าใจและการเป็นแนวทางการปฏิบัติ หลายครั้งหลายยุคสมัยที่เพลงเพื่อชีวิตเป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมไทย เพียงเท่านี้ก็พิสูจน์แล้วว่าอิทธิพลต่อคนหนุ่มสาว ต่อสังคม ของเพลงเพื่อชีวิตมีมากเพียงใด ผมรู้สึกว่าค่ายอาสาพัฒนาฯ เป็นเหมือนการจำลองสังคมเพื่อการเรียนรู้ซึ่งผมมองว่าเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ควรให้ความสำคัญ”

ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเมื่อแนวทางการทำเพื่อสังคมมันมีหลายแบบมากขึ้น ทำให้กิจกรรมค่ายอาสาที่เน้นเนื้อหาการเรียนรู้สังคมเริ่มน้อยลง คนทำกิจกรรมค่ายอาสาก็ควรทำความเข้าใจและปรับตัวให้ทันเข้าใจโลกแห่งความเป็นจริง มิเช่นนั้นก็เหมือนการก้าวไม่พ้นกรอบทางความคิดซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายเป็นอย่างมากต่อนักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่จะเป็นพลังทางสังคมต่อไป

อรรณพ นิพิทเมธาวี จาก กลุ่มรองเท้าแตะ กล่าวส่งท้าย “ที่ผ่านมาเรามักพูดถึงปรากฏการณ์ของค่ายอาสาฯ หรือกิจกรรมเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่เกิดในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความกดดันและสังคมที่บีบรัด 2516 หรือ 2519 แต่ปัจจุบันเมื่อสังคมมันเปลี่ยนไป สิ่งหนึ่งที่ผมมองว่ามันสำคัญมากคือการจะต้องปรับตัวของนักกิจกรรมรุ่นใหม่ ที่ควรจะพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่ามีผลต่อการทำกิจกรรมและรูปแบบที่คุ้นเคย ไม่ใช่การติดกรอบทางความคิดทำให้ก้าวไม่พ้น อันจะนำมาซึ่งความสับสนในการดำเนินกิจกรรม หลายคนเป็นแบบนั้น ไม่เปิดรับในสิ่งที่ใหม่ ๆ ที่ขัดกับแนวคิดเดิม ๆ ไอ้การปรับตัวที่ผมพูดถึงคือการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นจริงกับสังคม ไม่ใช่การละทิ้งคุณค่าเก่า ๆ ไปเสียทั้งหมด ซึ่งผมว่าพวกทำค่ายฯ ล้วนเป็นนักเรียนรู้ที่ดีจึงน่าจะมีความหวังได้

อีกอย่างถ้าเราเชื่อว่า เพลงเพื่อชีวิต เป็นเครื่องมือที่สำคัญของคนออกค่ายฯ ที่จะต้องเรียนรู้และให้ความสำคัญ เราก็ควรจะพร้อมที่จะสร้างงานดนตรีใหม่ ๆ ของตัวเอง ออกมาให้สังคมภายนอกได้รับรู้ด้วย ไม่ใช่แค่ร้องกันในค่ายฯ แล้วจบไป ซึ่งการคิดต่อยอดในสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก”

ไม่ว่าจะยุคใดสมัยใด ค่ายอาสาพัฒนาชนบท ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม ล้วนทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้สังคมที่สำคัญของนิสิตนักศึกษา พร้อมทั้งการสร้างปัญญาชนออกมารับใช้สังคม การลดช่องทางการทำกิจกรรมนักศึกษาระบบของการศึกษา เริ่มมีบทบาทสำคัญในการลดทอนพลังของนิสิตนักศึกษาจำนนต่อระบบ

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม มหกรรมค่ายสร้างสุข ตอนคบเด็กสร้างค่าย ก็ยังเป็นคำตอบที่ดีว่าพลังนักศึกษาไม่ได้หายไปไหนแต่ยังต้องรอโอกาสในการแสดงพลัง ซึ่งก็คือการสนับสนุนให้มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์ทำ เพราะสังคมไทยต้องพึ่งพาคนรุ่นใหม่เหล่านี้อีกการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องผู้ใหญ่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมากมาก

ThaiNGO.org