ห้องน้ำ โรงเรียน ศาลา ผลงานยอดฮิตเด็กค่ายยุคโบราณ วันนี้ หนุ่มสาวจิตใจอาสา ทำอะไรได้มากกว่านั้น
ขึ้นชื่อว่าคนค่าย ไม่มีใคร ไม่เคยร้องเพลงนี้
“โอ้เพื่อนเอ๋ย เคยร่วมสนุกกันมา
แต่เวลา ต้องพาให้เราจากกัน
ไม่นานหรอกหนา เราคงได้มาพบกัน
ไม่มีสิ่งใดขวางกั้น เพราะเรามั่นในสัญญา
หากแผ่นดิน ไม่ฝังกาย
จะสุขจะทุกข์เพียงใด น้อมกายยิ้มสู้ฟันฝ่า
ร้อยรัดดวงใจ มั่นในคำสัญญา
สร้างสรรค์เพื่อมวลประชา นี่คือสัญญาของเรา”
บทเพลง “คำสัญญา” ที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นเป็นเครื่องยืนยันได้ดีถึงการมีอยู่ของ “ค่ายอาสา” กิจกรรมเพื่อการพัฒนาสังคมของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “คนค่าย” อันเกิดจากการรวมตัวของบุคคลหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นยุวชน เยาวชน หรือคนหนุ่มสาว ซึ่งกลุ่มหลังนี้ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการทำค่ายทุกยุคทุกสมัย นับตั้งแต่ “ค่ายสร้าง” ที่มาพร้อมกับการพัฒนาประเทศในยุคผู้ใหญ่ลี สู่ค่ายเรียนรู้วิถีชุมชนและการขยายแนวคิดทางการเมืองยุคคนเดือนตุลา จนมาถึงการพัฒนารูปแบบค่ายอาสายุคล่าสุดที่เน้นเพิ่ม “มูลค่า” มากกว่าแก้ปัญหาเชิงสังคม
และนี่คือเศษเสี้ยวหนึ่งแห่งพัฒนาการของกิจกรรมที่เรียกว่า “ค่ายอาสา”
ปฐมบทค่ายอาสา
ไม่ปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ค่ายอาสาในประเทศไทยเริ่มขึ้นเมื่อใด แต่จากการพูดคุยกับ รศ.สุรัสวดี หุ่นพยนต์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและประกันคุณภาพ สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้ทราบว่า ค่ายอาสาในยุคแรกๆ นั้น (ราวปี 2501-2509) เกิดจากองค์กรศาสนาที่เน้นการทำค่ายเพื่อการพัฒนาตัวเองเป็นหลัก
“ยุคแรกสมัยอาจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน ตอนนั้นเริ่มต้นจากการอยู่ค่ายเป็นการพัฒนาตนเอง เอาแนวคิดแบบพุทธเข้ามาใช้ ค่ายในเมืองไทยช่วงแรกๆ เป็นแบบนั้น ฝึกให้นักศึกษาอยู่ด้วยกัน ทำงานด้วยกันเป็นหลัก ไปอยู่ชนบท เรียนรู้ปัญหาชนบท สมัยนั้นนักศึกษาจะไปรวมกัน รวมตัว รวมเงิน รวมกำลังสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา”
ระหว่างปี 2512-2514 เป็นยุคที่นักศึกษาเน้นทำค่ายถาวรวัตถุ อาจารย์สุรัสวดี บอกว่า นักศึกษาจะเลือกไปในพื้นที่ชนบทห่างไกลและขาดแคลน เป็นยุคที่ค่ายอาสาค่อนข้างได้รับความนิยม
หลัง 14 ตุลา กิจกรรมค่ายนอกจากทำงานซ่อมสร้างในชนบทแล้ว ตัวนักศึกษาเองก็จะมีงานด้านวิชาการด้วย เป็นการถกเถียงปัญหาของประเทศ มีค่ายของกลุ่มนักศึกษาอาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้ง มีการจัดเวลาเรื่องงานวิชาการ ดูปัญหาสังคม มีกิจกรรมกับเด็กและเยาวชน ออร์กาไนซ์ให้เด็กเห็นปัญหาและพัฒนาพื้นถิ่นของตัวเอง เป็นค่ายสัมมนาคุยปัญหาสังคมของประเทศ ความไม่เท่าเทียมกัน เริ่มใช้กิจกรรมค่ายฝึกนักศึกษาด้วยกันเอง เรียกร้องให้สนใจปัญหาสังคม ใช้แรงงานร่วมกับชาวบ้าน เน้นให้เห็นสภาพปัญหาที่ลำบากว่าเป็นยังไง บางกลุ่มเรียกค่ายฝึกกำลังคน
สอดคล้องกับความคิดเห็นของ อัฐ – พงศธร กิจเวช อดีตประธานกรรมการนักศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ปี 2531 และสมาชิกค่ายชุมนุมค่ายอาสาพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่บอกว่า ค่ายอาสายุคนั้น (ปี 2510-2516) เป็นเครื่องมือหนึ่งที่เหล่านิสิตนักศึกษาในร่มรั้วมหาวิทยาลัยใช้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมตามความเข้าใจที่ว่า เงินภาษีของชาวบ้านคืองบประมาณที่รัฐบาลนำมาสนับสนุนการศึกษา จนทำให้นักศึกษากลายเป็นชนชั้นใหม่ในสังคมไทยที่มีสถานภาพทางสังคมสูง
ดังนั้นเพื่อเป็นการสลายความคิดที่ว่า “นักศึกษาเป็นหนี้สังคม” ปรัชญาในการทำค่ายยุคแรกๆ จึงออกมาในรูปแบบของ “การให้” ให้โรงเรียน ให้ห้องสมุด ให้ห้องน้ำ ให้ศาลากลางหมู่บ้าน ให้ถนน ให้หลายๆ อย่างที่เป็นถาวรวัตถุเพื่อลดช่องว่างทางสังคม โดยไม่มีการสร้างความเข้าใจกับชุมชนเลยว่า ต้องการสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นหรือไม่
สร้างกันเข้าไป ใช้แค่เลี้ยงควาย
ต่อมาเรื่องสั้น “เหมือนอย่างไม่เคย” จากหนังสือ “ฉันจึงมาหาความหมาย” ของ วิทยากร เชียงกูร ที่ออกมาในช่วงปี 2516-2518 ทำให้ปรัชญาในการทำค่ายถูกตีความหมายใหม่ คนค่ายเริ่มตระหนักถึงการเป็นผู้ให้และผู้รับในคราวเดียวกัน จากค่ายสร้างจึงค่อยๆ ผันมาเป็นค่ายศึกษาและเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนตามกระบวนการของการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รูปแบบของค่ายในยุคนั้นจึงมีทั้งค่ายสร้าง ค่ายสอน ค่ายศึกษา ค่ายสัมมนา ค่ายสาธารณสุข ค่ายสันทนาการ และค่ายผสม (รวมหลาย ๆ กิจกรรมเข้าด้วยกัน)
“สะท้อนให้เห็นถึงการที่นิสิตนักศึกษาออกไปค่าย สร้างศาลา สร้างอะไรให้กับชาวบ้านแล้วไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง บางอย่างกลายเป็นที่เลี้ยงควาย จึงมีการตั้งคำถามว่า ไปสร้างแล้วเกิดประโยชน์อะไรกับชาวบ้านจริงๆ บ้าง ก็เลยคิดว่า เราไปศึกษาจากชาวบ้านดีกว่า แทนที่จะไปให้ คือเป็นความคิดเดิมที่คล้ายกับว่า เราดูเหนือกว่า ดีกว่า เลยไปช่วย ความคิดเหนือกว่านี้เลยค่อย ๆ ลดลงมาที่ระดับเท่า ๆ กัน หลัง ๆ ค่ายจึงเป็นลักษณะผสม”
อย่างไรก็ดี การทำค่ายในยุค “ประชาธิปไตยเบ่งบาน” ได้มีการสอดแทรกแนวคิดทางการเมืองไว้ด้วย ทำให้ถูกจับตามองเป็นพิเศษในฐานะ ผู้ที่มีแนวคิดอาจจะเป็นคอมมิวนิสต์ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 บรรยากาศการทำค่ายจึงค่อนข้างซบเซา คล้ายกับจะแห้งเหือดไปจากสถาบันอุดมศึกษา กระทั่งกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 แต่การทำค่ายอาสายุคหลังกลับถูกมองว่า ไร้พลัง และขาดความเข้าใจในการทำค่ายที่ชัดเจน
“เมื่อก่อนจะไปค่ายแต่ละครั้งต้องประชุมกันอย่างเคร่งเครียด ตั้งคำถามว่า ค่ายคืออะไร เราจะไปทำอะไรกัน ทำไมไปที่นี่ แน่นอนว่าเป็นการไปเที่ยว แต่เป็นการไปเที่ยวที่มีประโยชน์ ไม่เหมือนสมัยนี้ ไปเที่ยวที่ไหนดี ไม่มีคำถามเชิงปรัชญาว่า ค่ายคืออะไร ทำไมต้องไป เขาตอบคำถามไม่ได้ เวลาจัดไปเหนือไปใต้ คนเพียบเลย แต่อีสานคนน้อย คือจะไปเที่ยวไง แล้วที่น่าสนใจคือเรื่อง Gender ระยะหลังไม่รู้ทำไมเด็กผู้หญิงจะทำค่ายเยอะกว่าเด็กผู้ชายมาก ประธานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ค่ายก็เลยออกแนวเพศหญิง ซึ่งต่างจากสมัยก่อนมาก” พงศธร ชี้
ในมุมมองของผู้ที่คลุกคลีอยู่กับการสร้างค่ายมานานกว่า 30 ปี รศ.สุรัสวดี มองว่า ความเข้มข้นของการทำค่ายอาสาขึ้นอยู่กับลักษณะของค่ายและการสืบทอดเจตนารมณ์จากรุ่นสู่รุ่น อาจารย์ยอมรับว่า นักศึกษายุคนี้ให้ความสำคัญและปรึกษากันเกี่ยวกับการทำค่ายน้อยมาก อย่างไรก็ดี อาจารย์มองว่า ค่ายอาสายังเป็นกิจกรรมสำคัญที่ช่วยหล่อหลอมให้ทุกคนเข้าใจประเด็นเชิงสังคมร่วมกัน เป็นการปรับตัวเองในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งเหมาะสมกับช่วงวัยหนุ่มสาวที่รักการแสวงหาเป็นที่สุด
เดินหน้าสู่ “ค่ายประเด็น”
แน่นอนว่า เมื่อโลกหมุนเวียน กาลเวลาเปลี่ยนผ่าน ความหมายของ “ค่ายอาสา” จึงไม่อาจหยุดนิ่งอยู่แค่เพียง “การพัฒนาขั้นพื้นฐาน” อีกต่อไป
“ค่ายเด็กไร้สัญชาติเป็นค่ายใหม่ ซึ่งมีประเด็นกว่า ในฐานะคนรุ่นใหม่เมื่อมีโอกาสศึกษาปัญหาสังคมก็ลองไปทำในสถานที่จริง คือตอนนั้นจับพลัดจับผลูไปกับโครงการจิตอาสา ก็ไปทำบ้านเลขที่ให้เขา ไปทำนามสกุลให้เขา รู้สึกว่าตอนนี้จะได้สัญชาติกันหมดแล้ว” ลูกอม – จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม สมาชิก กลุ่มรองเท้าแตะ (กลุ่มคนทำกิจกรรมค่ายอาสา เริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยเอแบค เน้นกิจกรรมเชิงศิลปวัฒนธรรมมากกว่าค่ายสร้าง ปัจจุบันมีสมาชิกจากหลากหลายสถาบัน) เล่าถึงกิจกรรมค่ายอาสาแนวใหม่ ที่เธอเรียกว่า ค่ายประเด็น ซึ่งส่วนมากเป็นกิจกรรมที่มาจากหน่วยงานหรือองค์กรภาคสังคม
“พยายามผลักดันเข้ามหาวิทยาลัยเหมือนกัน แต่ทำแล้วไม่เวิร์ค เพราะเด็กมหาวิทยาลัยก็เหมือนเราตอนที่มาใหม่ ๆ คืออยากรู้อะไรที่ยังไม่เคยทำ ค่ายสร้างมีโอกาสทำก็ตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ก็เลยยังไม่สำเร็จ จริง ๆ ไร้สัญชาติเป็นค่ายที่แปลก ซึ่งพอทำแล้วมันเห็นผลจริง ๆ บางคนไม่เคยออกค่ายมาก่อนในชีวิต พอไปถึงเขาก็พยายามทำความเข้าใจกับปัญหา หลังจากนั้นก็ตามต่อ มีประเด็นอะไรก็จะเรียกร้อง คือฝังแนวคิดอยากช่วยเหลือไปเลย”
ในสถานการณ์เดียวกัน ใช่ว่าทุกคนจะมีมุมมองไปในทางเดียวกันเสมอ ลูกอม บอกว่า มีคนค่ายหลายคนเหมือนกันที่ไม่ว่าจะคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านนานเท่าไร ก็ยังมองชุมชนว่าห่างไกลเสมอ
“บางคนที่ไปค่ายจะรู้สึกว่า หมู่บ้านนี้ดีจังเลย สบายจัง ทำไมคนในหมู่บ้านชอบออกไปหางานทำข้างนอก ทำไมอยู่หมู่บ้านตัวเองไม่ได้ คือเขาเป็นเด็กค่ายไปแล้วก็กลับ แต่ชาวบ้านต้องอยู่ตรงนั้นต่อ เขาไม่เข้าใจ เด็กก็ไป Romanticized ชุมชนว่าดี ทำไมบางคนต้องไปเป็นสาวโรงงาน มันก็คล้าย ๆ กับเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวนั่นแหละ ปัญหาต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ทำให้เด็ก ๆ น้อง ๆ ในหมู่บ้านต้องดิ้นรน” ลูกอม บอก
นอกจากค่ายต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างหรือเติมเต็มความต้องการพื้นฐานของชุมชนแล้ว ปัจจุบันยังมีค่ายลักษณะ “ที่ปรึกษา” ของชุมชน โดยเน้นการสร้างมูลค่ามากกว่าแก้ปัญหาปัจจัยพื้นฐานของชีวิต ซึ่งค่ายลักษณะนี้เน้นการพัฒนาควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวในแบบที่เรียกว่า Voluntourism
อาจคลาดเคลื่อนกับการทำค่ายอาสาในยุคอดีตอยู่บ้าง แต่ Voluntourism ก็เป็นค่ายอาสาที่มุ่งพัฒนาชุมชนในภาพรวมเหมือนกัน ซึ่ง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดทำขึ้นภายใต้โครงการ “ท่องเที่ยวเรียนรู้ชุมชน” โดยคัดเลือกชุมชนที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวแต่ยังขาดศักยภาพทางด้านอื่นๆ ที่ต้องการให้มีผู้เข้าไปพัฒนา เช่น มีสินค้าแต่ยังขาดตลาด ผลิตอาหารแต่ยังขาดความรู้ด้านบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ
จากนั้นจึงรับอาสาสมัครนิสิตนักศึกษาเข้าไปช่วยกันพัฒนาตามความต้องการของชุมชน โดยหมู่บ้านตัวอย่างคือ หมู่บ้านถ้ำเต่า จังหวัดสกลนคร ที่ขึ้นชื่อเรื่อง การย้อมครามและการทอผ้าคราม
“ปกติผ้าย้อมครามของชาวบ้านสามารถขายได้อยู่แล้วแต่ลูกค้ายังไม่สามารถจดจำได้ จึงจำเป็นต้องมีแบรนด์และโลโก้ ทำให้ลูกค้าจดจำสินค้าได้มากขึ้นจากแบรนด์และโลโก้ที่เราทำให้ ชาวบ้านก็ขายได้” กษม อมันตกุล อาจารย์คณะวิชาศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอก
ด้าน มิ้น – จุรีรัตน์ ราชพัฒน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในสมาชิกโครงการ Voluntourism บอกว่า เธอมีส่วนร่วมในการทำวีดิทัศน์ให้ชาวบ้านโดยใช้ความรู้ที่มีอยู่ประยุกต์เข้ากับธรรมชาติรอบๆ ตัว ทำให้งานที่ออกมาไม่ทันสมัยมากจนเกินไป
“อยากให้เป็นงานที่อยู่กับท้องถิ่น กับบรรยากาศ ต้องดัดแปลงให้เข้ากับชาวบ้าน เช่น พิธีไหว้ปอบผีฟ้าของชาวบ้านเราก็ใช้สีน่ากลัวๆ หน่อย ให้มันเข้ากัน เรามาทำงานที่นี่รู้สึกภูมิใจ ชาวบ้านเห็นภาพตัวเองอยู่ในกล้องก็ดีใจ ที่ภูมิใจมากที่สุดคือภูมิใจที่สร้างรอยยิ้มให้พ่อแม่ที่เราอยู่ด้วย”
นักศึกษาจากหลายสถาบันร่วมกันใช้ความรู้ที่เรียนมา ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับชุมชน เป็นการทำค่ายอาสาที่อิงกับหลักการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ถือเป็นพัฒนาการอีกด้านหนึ่งของ “ค่ายอาสา”
“มาแรก ๆ รู้สึกกดดัน ประชุมกับเพื่อนว่า เราจะรอดมั้ย ยังไม่คุ้นกับใครเลย ต้องประสานงานกับคนในหมู่บ้านเอง ยังไม่คุ้นกับคนในพื้นที่ด้วย ต้องไปกินข้าวกับชาวบ้าน ต้องแยกกันนอนกับเพื่อน แต่สองสามวันต่อมาก็ปรับตัวเข้ากันได้ พ่อ แม่ ทำกับข้าวให้เรากิน วันพระก็จะเตรียมของให้ใส่บาตร สิ่งที่ค่ายนี้ต่างจากค่ายอื่น เพราะค่ายนี้ต้องปรับตัวมากกว่าค่ายอื่น เรามาอยู่ในชุมชน อยู่กับคนในหมู่บ้านที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน การปรับตัวคือสิ่งที่จำเป็นที่สุด” สุพจน์ ผลเจริญ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยราชธานี บอก
คล้าย ๆ กับ เอก – วรรณนิกร มวลสุข นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่สะท้อนถึงสิ่งที่ได้จากการทำค่ายอาสา ในรูปแบบ Voluntourism ว่า “ผมได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ได้ทำงานกับคนหลายกลุ่ม เห็นปัญหา ทำให้ผมเป็นผู้ใหญ่ ผมได้ข้อคิดว่าคนทุกคนไม่เหมือนกัน สังคมทุกสังคมไม่เหมือนกัน การปรับตัวและการยอมรับความแตกต่างนั่นแหละคือเสน่ห์ ชาวบ้านยอมรับนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวไม่รังเกียจชาวบ้าน นี่คือสิ่งที่เราควรหันมาให้ความสำคัญจะได้ไม่เกิดปัญหา เราต้องยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น อยากให้สังคมเราเป็นแบบนี้ อยู่ที่นี่ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีวิทยุ ไม่มีอินเทอร์เน็ต อยากให้ชีวิตเราเป็นแบบนี้ เราไม่ได้วิ่งตามเทคโนโลยี ไม่ได้ไขว่คว้าหาสิ่งที่เกินตัว เราอยู่ตามอัตภาพก็มีความสุขได้”
พัฒนาการของการทำค่ายอาสาแม้จะเปลี่ยนแปลงไปทั้งในเรื่องรูปแบบ เนื้อหาและเงื่อนไข ทว่าสิ่งหนึ่งที่คนค่ายทุกยุคทุกสมัยได้รับ นั่นก็คือการปรับตัวให้อยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข
นิภาพร ทับหุ่น, เบญจรัตน์ หงส์แก้ว
คอลัมน์ Life Style นสพ.กรุงเทพธุรกิจ