เพลงเพื่อชีวิตนั้นหากจะกล่าวโดยความหมายตรงๆ ก็คงหมายถึงบทเพลงที่สะท้อนสังคมด้วยความเป็นจริง หรือบทเพลงที่ตีแผ่ความทุกข์ยากของผู้ถูกกดขี่หรือบทเพลงแห่งมวลมนุษยชาติอะไรทำนองนั้น ความหมายของคำก็อาจจะตีความกันไปได้ต่าง ๆ นานา แล้วแต่จะว่ากันไป
อันที่จริงเพลงไทยสมัยคุณพ่อคุณตาเรามีเพลงประเภทนี้อยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะไม่เป็นที่แพร่หลายในวงกว้างมากนัก อันเนื่องมาจากเงื่อนไขของการจำกัดสิทธิทางการรับรู้ของประชาชนในสมัยนั้นและความที่เพลงเหล่านี้ยังไม่เป็นเอกภาพที่ชัดเจนนัก
อย่างเช่นเพลงของ คำรณ สัมปุณนานนท์, ชาญ เย็นแข, ไพบูลย์ บุตรขันธ์ หรือแม้กระทั่งเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุงหลาย ๆ เพลงก็น่าจะนับเข้าเป็นเพลงเพื่อชีวิตโดยความหมายของประเภทเพลงได้
ผมขอยกตัวอย่างเพลงเก่าสักเล็กน้อยอย่างเช่น เพลง “กลิ่นโคลนสาบควาย” โดย ไพบูลย์ บุตรขันธ์
“อย่าดูหมิ่น ชาวนาเหมือนดั่งตาสี
เอาผืนนาเป็นที่ พำนักพักพิงร่างกาย
ชีวิตเอยไม่เคยสบาย ฝ่าเปลวแดดแผดร้อนแทบตาย
ไล่ควายไถนาป่าดอน
เหงื่อรินหยด หลั่งลงรดแผ่นดินไทย
จนผิวพรรณเกรียมไหม้ แดดเผามิได้อุธรณ์
เพิงพักกายมีควายเคียงนอน สาบควายกลิ่นโคลนเคล้าโชยอ่อน
ยามนอนหลับแล้วใฝ่ฝัน
กลิ่นโคลนสาบควายเคล้ากายหนุ่มสาว แห่งชาวบ้านนา
ไม่ลอยเลิศฟ้าเหมือนชาวสวรรค์
หอมกลิ่นน้ำปรุงฟุ้งอยู่ทุกวัน กลิ่นกระแจะจันทร์
หอมเอยผิวพรรณนั้นต่างชาวนา
อย่าดูถูก ชาวนาเห็นว่าอับเฉา
มือถือเคียวชันเข่า เกี่ยวข้าวเลี้ยงเราผ่านมา
ชีวิตคนนั้นมีราคา ต่างกันแต่ชีวิตชาวนา
บูชากลิ่นโคลนสาบควาย”
จะเห็นได้ว่าโดยเนื้อหาใจความ ก็น่าจะตรงกับคุณสมบัติของเพลงเพื่อชีวิตทุกประการ
หรือแม้กระทั่งนักคิดนักเขียนรุ่นเก่านาม จิตร ภูมิศักดิ์ ก่อนถูกยิงเสียชีวิต เขาก็ได้เขียนบทเพลงที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ซึ่งได้รับความนิยมมาทุกยุคทุกสมัยแม้กระทั่งในปัจจุบันไว้หลายเพลง แต่ที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคงไม่พ้นเพลงที่ชื่อ “แสงดาวแห่งศรัทธา”
“พร่างพรายแสง ดวงดาวน้อยสกาว
ส่องฟากฟ้า เด่นพราวไกลแสนไกล
ดั่งโคมทอง ส่องเรืองรุ้งในหทัย
เหมือนธงชัย ส่องนำจากห้วงทุกข์ทน
พายุฟ้า ครืนข่มคุกคาม
เดือนลับยาม แผ่นดินมืดมน
ดาวศรัทธา ยังส่องแสงเบื้องบน
ปลุกหัวใจ ปลุกคนอยุ่มิวาย
ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้ผืนฟ้า มืดดับเดือนลับละลาย
ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน
ดาวยังพราย อยู่จนฟ้ารุ่งราง”
อันที่จริงคำว่า เพลงเพื่อชีวิต ตามความเข้าใจของผมนั้น น่าจะมาจากหนังสือชื่อ “ศิลปะเพื่อชีวิตและศิลปะเพื่อประชาชน” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ นี่เอง โดยตอนนั้นเขาใช้นามปากกาว่า “ทีปกร” ซึ่งหนังสือเล่มนี้แพร่หลายเป็นอย่างยิ่งในยุคก่อน โดยเฉพาะตอนเอามารวมเล่มพิมพ์ใหม่อีกครั้งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ใหม่ๆ (จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกล้อมยิงเสียชีวิต วันที่ 5 พฤษภาคม 2509 ที่จังหวัดสกลนคร)
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ช่วงนั้นเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับสงครามในแถบอินโดจีน ที่อเมริกาใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพในการทำสงครามกับเวียตนาม, ลาว และกัมพูชาด้วย ด้วยการสื่อสารทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ทำให้เราได้ยินได้ฟังบทเพลงประท้วงสงครามจากศิลปินตะวันตก โดยมีแหล่งใหญ่มาจากอเมริกา
บทเพลงต่อต้านการเหยียดผิวของ บิลลี่ ฮอลิเดย์ (Billie Holiday) ที่เล่าเรื่องการจับคนผิวดำมาแขวนคอจากต้นป๊อลลาร์ของคนผิวขาวผู้บ้าคลั่งทางดินแดนตอนใต้ของอเมริกา หรือบทเพลงต่อต้านอำนาจรัฐของราชาเพลงโฟล์คอเมริกานาม วู้ดดี้ กูธรี (Woody Guthrie) หรือเพลงฉ่อยอเมริกาต่อต้านสงครามเวียตนามของ บ็อบ ดีแลน (Bob Dylan) เป็นที่จับใจวัยรุ่นในวัยแสวงหาของเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง
บทเพลงประท้วงสงครามเหล่านี้มีอิทธิพลต่อนักดนตรีบ้านเราในยุคนั้นมาก สาเหตุสำคัญก็เพราะสถานการณ์สงครามได้เกี่ยวพันกับเมืองไทยโดยตรง เพราะอเมริกามาตั้งฐานทัพหลายแห่งในเมืองไทยเพื่อไปทำสงครามกับประเทศในแถบอินโดจีนเหล่านั้น
ย้อนกลับไปในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เมื่อคลื่นมหาชนห้าแสนคนเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลเผด็จการตามท้องถนนราชดำเนิน ท่ามกลางความเหนื่อยล้าตึงเครียดและเร่าร้อนของสถานการณ์ผู้นำนักศึกษาในขณะนั้น คือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้แต่งเพลงให้มวลชนได้ร้องเป็นการปลุกปลอบกำลังใจชื่อเพลง สู้ไม่ถอย
เพลงนี้นับได้ว่าเป็นแนวทางที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนของความหมายตามชื่อ “เพื่อชีวิต” และน่าจะถือได้ว่าเป็นเพลงในยุคบุกเบิกของสาธารของบทเพลงในลักษณะนี้
แต่หากกล่าวโดยลักษณะ “รูปแบบ” ที่เป็นระบบของวงดนตรีแล้ว การที่ชายหนุ่มนักคิดนักเขียนสองคนนาม สุรชัย จันทิมาธรและ วีระศักดิ์ สุนทรศรี ที่ตั้งวงดนตรีชื่อ “ท.เสนและสัญจร” น่าจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ทำเพลงเพื่อชีวิตให้เป็นวงดนตรีอย่างเต็มรูปแบบแม้จะมีเพียงกีตาร์โปร่งเพียง 2 ตัวก็ตาม
สุรชัย นั้นได้รับอิทธิพลจากเพลงตะวัตกของ บ็อบ ดีแลน (Bob Dylan) และ Crosby, Stills, Nash (& Young) มากพอดู จนมีผู้กล่าวกันว่าเขาเป็น “บ๊อบ ดีแลน เมืองไทย” นั่นเลยทีเดียว – เขาเคยเล่าให้ผมฟังว่าแหล่งฟังเพลงฝรั่งของเขาคือบ้านของ รงค์ วงษ์สวรรค์ และบ้านของ มโนภาษ เนาวรังสี
กระแสการเมืองในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานก่อให้เกิดแนวรบด้านวัฒนธรรมขึ้นมาอย่างคึกคักไม่ว่าจะเป็นดนตรี ละคร หรือศิลปะแขนงอื่น ๆ
พูดถึงด้านดนตรีแล้วในเวลาต่อมา “ท.เสนและสัญจร” ได้จับมือกับวงดนตรีจากโคราช ชื่อ “บังคลาเทศ แบนด์” ซึ่งมี มงคล อุทก และ ทองกราน ทานา เป็นแกนหลักตั้งวงใหม่ในชื่อ “คาราวาน” ขึ้นมา (ภายหลัง พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ศิลปินโคราชมาเสริมทีมอีกคนหนึ่ง)
นอกจากนี้กลุ่มนักศึกษาในสถาบันต่างๆ ก็ได้ตั้งวงดนตรีของตัวเองกันอย่างคึกคัก อาทิ กรรมาชน, โคมฉาย, กงล้อ, รวมฆ้อน, ต้นกล้า, ลูกทุ่งสัจจธรรม, คุรุชน เป็นต้น งานหลักของวงดนตรีเหล่านี้คือการเล่นในงานที่มีการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมีอยู่อย่างสม่ำเสมอไม่เว้นแต่ละวัน
กล่าวโดยสไตล์และฝีมือแล้ววงอื่นๆ ทั่วไปล้วนแล้วแต่เป็นนักศึกษาที่เล่นในแบบสมัครเล่นเป็นส่วนใหญ่ คงมีเฉพาะ คาราวาน เท่านั้นที่ดูเป็นมืออาชีพมากกว่าเพื่อน ถึงขนาดเช่ารถตู้เดินสายเล่นตามโรงหนังในต่างจังหวัด แบบนักดนตรีอาชีพเลยทีเดียว ราคาบัตรก็ตกในราคาประมาณห้าบาทหรือสิบบาท แล้วแต่จะว่ากันไป
ชูเกียรติ ฉาไธสง
ขอบคุณครับพี่ชูเกียรติ… กำลังหาข้อมูลอยู่เลย…