ความแหลมคมของสถานการณ์ในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 ใหม่ ๆ ก่อให้เกิดสายธารวัฒนธรรมเพื่อชิวิตอย่างต่อเนื่อง คงไม่ผิดนักที่จะนับได้ว่าเพลงเพื่อชีวิตเป็นเพลงอันตรายในความรู้สึกของผู้มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ
เพลง “คนกับควาย” ถึงกับถูกสั่งห้ามร้องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง นำมาซึ่งการต่อต้านจากเหล่าศิลปินและนักศึกษาประชาชน อย่างกว้างขวางในคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมนั้น
ในสมัยนั้นเพลงเพื่อชีวิตยังไม่มีระบบธุรกิจเข้ามาพัวพันเหมือนสมัยนี้ ยิ่งเผยแพร่ให้มวลชนรู้จักได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น อันเนื่องมาจากความเข้มข้นของสถานการณ์ทางการเมือง และเพลงลักษณะนี้เป็นอาวุธทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่กลุ่มชนชั้นปกครองหวาดผวา
ดังนั้นการตอบโต้ด้วยความรุนแรงของฝ่ายอำนาจมือจึงเกิดแก่ศิลปินผู้มีสองมืออันว่างเปล่าอยู่เนือง ๆ
ค่ำคือหนึ่งในงานแสดงดนตรีของวงฅาราวานที่อยุธยา ในขณะที่กำลังบรรเลงดนตรีอยู่บนเวที มีมือมืดยิงปืนเอ็มสิบหกรัวขึ้นไปอย่างถี่ยิบการแสดงต้องสิ้นสุดลงในทันที แต่โชคดีที่ไม่มีใครได้รับอันตราย
ในงานแสดงดนตรีต่อต้านฐานทัพอเมริกาที่บริเวณอนุสาวรีย์ทหารอาสา ข้างโรงละครแห่งชาติ ขณะที่วงดนตรี “ฟ้าใหม่” ซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลกำลังแสดงก็ถูกมือมืดโยนระเบิดตรงข้างเวที เป็นผลให้มีคนได้รับบาดเจ็บไปหลายคน
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2519 ปรีดา จินดานนท์ ซึ่งเป็นฝ่ายเทคนิคของวงดนตรีกรรมาชน ถูกมือมืดรอบฆ่าโดยใช้รถพุ่งชนหน้ามหาวิทยาลัยมหิดลในตอนกลางคืน
ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้ได้เกิดขึ้นราวกับจะไม่ยอมให้จบสิ้นเอาเสียเลย นักดนตรีของวง “แคนอีสาน” ถูกยิงที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก และนักดนตรีวง “โคมฉาย” ถูกรุมซ้อมที่อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนครและ ฯลฯ
สถานการณ์ราวกับท้องทะเลที่โดนมรสุมจนปั่นป่วน
ตอนนั้นเริ่มมีผลงานของเพลงเพื่อชีวิตออกจัดจำหน่ายแล้ว โดยวงฅาราวานได้ทำแผ่นเสียงขนาดเล็ก ซึ่งมีเพลงบันทึกอยู่ 4 เพลงคือ คนกับควาย, เปิบข้าว, นกสีเหลือง และ จิตร ภูมิศักดิ์ ทำครั้งแรกประมาณ 500 แผ่น ขายแผ่นละ 25 บาท และพวกเขาได้เพื่อนจิตรกรนาม “ธรรมศักดิ์ บุญเชิด” เป็นผู้ออกแบบปกให้ นอกจากนั้นวงดนตรีอย่างกรรมาชน หรือโคมฉาย ต่างก็เริ่มมีผลงานของตัวเองออกมาในรูปเทปคาสเซ็ต
และแม้จะถูกตีตราจากฝ่ายอำนาจรัฐว่าเป็นดนตรีอันตราย แต่เพลงเพื่อชีวิตก็ได้มีโอกาสเผยแพร่ทางทีวีหลายครั้งหลายหน วงที่ได้แสดงบ่อยที่สุดก็คือวงคาราวานตามเคย
มีอยู่ครั้งหนึ่งในรายการชื่อ “มันส์” ทางทีวีช่อง 3 มีการเชิญ ฅาราวาน ให้เล่นประชันกับวงดนตรีสตริงคอมโบที่โด่งดังที่สุดของประเทศไทยในตอนนั้นคือ “วงดิอิมพอสซิเบิล” ซึ่งโดยแนวดนตรีและแนวความคิดแล้วก็จะเห็นได้ว่าแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และหลังจากรายการนี้จบลงปรากฏว่ารายการ “มันส์” ถูกสั่งยุบทันทีและนำมาซึ่งคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยในตอนนั้น ให้ถือว่าเพลงคนกับควาย เป็นเพลงต้องห้าม แต่ผลที่ออกมากลับกลายเป็นว่ายิ่งทำให้เพลงของฅาราวานโด่งดัง และอัลบั้มเพลงของพวกเขายิ่งขายดียิ่งขึ้นไปอีก
สำหรับรูปแบบของวงดนตรีเพื่อชีวิตในขณะนั้นจะเป็นแบบอะคูสติคเป็นส่วนใหญ่ โดยมีกีตาร์โปร่งและฮาโมนิก้าเป็นหลัก จะมีที่แตกต่างออกไป ก็เช่น วงกรรมาชน ที่ใช้เครื่องไฟฟ้า เช่น กลองชุด กีตาร์และเบสไฟฟ้า, ออร์แกน หรือ วงต้นกล้า ก็จะเป็นลักษณะแบบไทยเดิม
ด้านเนื้อหาส่วนใหญ่จะสะท้อนความทุกข์ยากของกรรมกรและชาวนา ต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกาหรือไม่ก็ปลุกใจให้ต่อสู้กับผู้กดขี่ ตัวอย่างเช่น เพลง “โลกที่สาม”
“น้ำตารินหยด หัวใจร้าวราน
หนีซมหนีซาน บ้านเราเขามาครอบครอง
น้ำแรงรินหลั่ง สร้างโลกสีทอง ผองเราถูกหยาม
โลกที่สามจงปลดแอก โลกที่สามจงปลดแอก สร้างโลกในฝัน
ไม่ยอมเป็นทาส ฟาดฟันศัตรู
เพื่อให้โลกรู้ ว่าเราคือโลกที่สาม
เสรีเขาให้ จักไม่เสรี ชั่วนาตาปี
โลกที่สามเพื่อเสรี โลกที่สามต้องต่อสู้ จึงได้ดังปอง”
ลักษณะจะเป็นแบบนี้เป็นส่วนใหญ่ จนคล้ายๆ กันไปหมด เพราะสถานการณ์ส่นรวมค่อนข้างตึงเครียดและคนดนตรีหนุ่มสาวเหล่านั้นจะมีจิตใจห้าวหาญเสียสละจริง ๆ เพลงที่สื่อออกมาจึงบริสุทธิ์และตรงไปตรงมา เรื่องราวที่นำเสนอคือความจริงใจและตัวตนของพวกเขา ซึ่งปัจจุบันจะหากลุ่มคนดนตรีในลักษณะนี้คงยากเต็มที
และแม้นักดนตรีเหล่านี้จะถูกลอบฆ่าหรือลอบทำร้ายจากอิทธิพลมือไปมากต่อมาก แต่พวกเขาก็ยังยืนหยัดต่อสู้ไม่ยอมหนีไปไหน ทั้งๆ ที่มีเพียงดนตรีเป็นอาวุธ ลักษณะเนื้อหาในช่วงนั้นถ้าเป็นเชิงกวีและมีสัญลักษณ์ให้ต้องตีความมากกว่าวงอื่นคงไม่พ้น วงคาราวาน
เรื่องนี้ใครที่รู้พื้นฐานของพวกเขาก็คงไม่แปลกใจนัก เพราะ “สุรชัย จันทิมาธร” หัวหน้าวงนั้นเป็นนักเขียนและกวีด้วย อันทำให้ได้เปรียบในเรื่องการใช้ภาษา (สุรชัย มีผลงานด้านวรรณกรรมมากมาย)
บางเพลงเขาใช้เวลาเขียนเพียงไม่กี่นาที มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาไปร่วมชุมนุมในงานประท้วงกรณีเข่นฆ่าผู้นำชาวนาหลายศพ งานนี้จัดที่สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ เขาเกิดแรงบันดาลใจเขียนเพลงนี้สด ๆ อย่างฉับพลันและขึ้นเล่นบนเวทีเลย
“มองดูความจริงสิ พี่น้องผองเพื่อน
มองดูความจริงสิ ชั่วดีโปรดเตือน
มองเห็นผู้คนหลาย เห็นความตายความอยาก
มองเห็นผู้ข่มเหง บรรเลงเพลงชื่อกดขี่
มองเห็นผู้คนแค้น ทั้งแดนดินดังแดนบาป
มองหาก็มองหาย ความจริงตายเลือดแดงอาบ
ถูกเขาปราบ เขาปราม เขาตาม เขาตาม เขาตามหาเพื่อฆ่าเข่น
ยืนบนความเป็นธรรม ส่องนำด้วยสัจจะ
ตายในความเป็นธรรม คนจดจำติดตรา
ตายสิบเกิดเป็นแสน เพื่อถมแทนผู้สูญดับ
เคียวคมประกายแสง จรัสแรงคมกล้า
ฟันเฟืองจักรผัน เพื่อลงทัณฑ์ผู้เอาเปรียบ
นักศึกษาประชาชน ทั้งมวลชนผู้ข่มขื่น
รวมกันหยัดยืน แม้ดาบปืนจะฟันฝ่า
แล้ววันหนึ่ง ของเรา จะมาถึง มาถึง มาถึงซึ่งชัยโชติ
เอาดวงใจมารวม ร่วมพลังหวังสู้
เอาดวงใจมารวม ร่วมฟันศัตรู
น้ำหนึ่งใจเดียวกัน คือเผ่าพันธุ์ที่ยิ่งใหญ่
ไม่ใช่ทาสแต่เป็นไท รวมใจสร้างผลผลิต
ผู้ใดกอบผู้ใดโกย ต้องถูกโบยเพราะมันผิด
เรามีงานเรามีกิน และแผ่นดินไม่มีเจ้า
เรามีเหตุเรามีผล เราต่างคนต่างเทียมเท่า
เราทำงานเราทำงาน สุขสำราญไม่มีเศร้า
สังคมใหม่ผู้คนใหม่ คือคนไทยใช่คือทาส
เข้ามาเถิด เข้ามา เดินเข้ามา มาหา มวลประชาผู้เป็นใหญ่”
เพลง ตายสิบเกิดแสน คำร้องโดย สุรชัย จันทิมาธร
ทำนองมาจาก เพลง It’s a Hard Rain are Gonna Fall ของ Bob Dylan
ชูเกียรติ ฉาไธสง