“ลูกะนู” มาจากคำว่า “ลูก-นู” ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นภาคใต้ หมายถึง กระสุนของหนังสติ๊ก ทำด้วยดินเหนียว นำมาปั้น คลึงจนกลมแล้วนำไปตากแดดอ่อนๆ จนแห้ง ถึงจะใช้งานได้ ที่ปั้นคลึงให้กลมและตากให้แห้งก็เพราะว่า เวลายิงจะทำให้วิถีกระสุนออกไปตรงเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ
“ปลาสองน้ำ” เป็นคำเปรียบเทียบถึงสิ่งมีชีวิตที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ทุกสภาวะแวดล้อม ดังเช่น ปลาบางชนิดสามารถอยู่ได้ทั้งน้ำเค็มและน้ำกร่อย รวมทั้งน้ำจืด อีกทั้งนำมาประกอบเป็นอาหารอันอร่อยของคนได้อีกหลายอย่าง เช่น ปลาบอก (ปลากระบอก) ทำแกงส้ม ต้มส้ม หรือนำไปทำเป็นปลาแห้งก็ได้ เป็นต้น “ปลาสองน้ำ” หรือ “คนสองยุค” อาจหมายถึง คนที่ดำรงชีวิตอยู่ รับรู้เห็นปฏิบัติในยุคเก่าก่อนวัยเยาว์และได้ดำเนินชีวิตมาสู่ยุคใหม่ที่ได้สัมผัส
ลูกะนู มีสมาชิกกี่คน
ป๋อง : (วีระศักดิ์ เกื้อหลง) มี 3 คนครับ คือผม พี่สุทิน และสมรักษ์
ก่อนจะมาเป็น ลูกะนู ไม่ทราบว่า ทำอะไรกันมาก่อ
ป๋อง : ผมเรียนศิลปากร จบทางด้านศิลปะ แผนกสาขาจิตกรรม และได้รู้จักกับ มาลีฮวนน่า สมรักษ์ก็เช่นกัน แต่สมรักษ์เรียนคนละรุ่นกับผม จริงๆ แล้ว แต่เดิมเรา 3 คนจบจากศิลปนคร นครศรีธรรมราช พร้อมกัน รวมทั้ง อ.ไข่ด้วย และต่อมาก็มาเอ็นทรานซ์เข้าศิลปากร แต่ อ.ไข่ เอ็นติด แต่ผมเอ็นไม่ติด อ.ไข่ก็เลยกลายเป็นรุ่นพี่ผม 2 ปี พอจบจากศิลปากรแล้ว ก็ได้เขียนภาพจิตกรรมไทยตามวัน ส่วนสมรักษ์ พอจบแล้ว ก็ไปเป็นครูสอนอยู่ที่ ร.ร. ไทยวิจิตรศิลป์ อยู่ 1 ปีช่วงที่สมรักษ์สอนอยู่ที่นี่ ได้รู้จักกับเพื่อนผม ซึ่งก็เป็นครูด้วยเหมือนกัน แต่ตอนนั้น ผมกับสมรักษ์ยังไม่รู้จักกัน แล้วทีนี้สมรักษ์เขาไปเล่นดนตรีให้เพื่อนผมฟังที่หอพัก เพื่อนผมก็บอกว่า ผมเล่นดนตรีอยู่ด้วยนะ สมรักษ์ก็เลยหอบกีตาร์มาหาผมทุกวัน ก็เลยรู้จักกัน …แต่ตอนนั้นยังไม่ได้คุยเรื่องเพลงกันสักเท่าไหร่ เพราะยังไม่สนิทกัน ผมก็จะมีกลุ่มของผม สมรักษ์เขาก็จะมีกลุ่มของเขา จนที่สุดผมก็ได้มาเรียนต่อปริญญาโทพร้อม อ.ไข่ ก็เลยเป็นว่า ลูกะนูทุกคนจบทางด้านศิลปะ
ทุกวันนี้ก็ยังทำงานด้านศิลปะอยู่บ้าง
ป๋อง : หลังจาก หยุดมาเกือบปี เพราะลงมาทำอัลบั้ม นี้ แต่คิดว่า พอตรงนี้มันลงตัว ก็จะกัลับไปทำงาน ตรงจุดนี้ต่อ..
แล้วมาเป็นลูกะนู ได้อย่างไร…
ป๋อง : ผมเริ่มทำก่อนกับพี่ทิน (พี่สุทิน) และเพื่อนอีกคนหนึ่ง ตอนมันมันเกิดเพลง พร้าว ขึ้นมา ซึ่งเป็นเพลงที่พี่สุทิน เป็นคนเขียน และผมคิดว่าจะทำกับแก แต่ก็ไม่ได้ทำเพราะติดภาระกิจอย่างอื่น ก็เลยหยุด พอดี อ.ไข่ วงมาลีฮวนน่า เกิดชอบขึ้นมา พี่เขาจะทำ ก็เลยให้พี่ไข่ทำ ซึ่งตอนนั้นผมมีความไม่พร้อมหลายอย่าง ผมเลยหยุดไปได้ปีกว่าๆ ตอนนั้นยังไม่เริ่มเลย ยังไม่เป็นลูกะนู แล้วบังเอิญผมได้ไปเจอกับสมรักษ์ ซึ่งรู้จักกันมาก่อนแล้ว ก็เลยชวนมาทำเพลงด้วยกัน ตอนนั้นสมรักษ์ ได้เขียนเพลงไว้หลายเพลง ผมเองก็เขียนไว้หลายเพลงเหมือนกัน ก็ลองมาเล่นกัน มาจอยกัน ก็เลยเกิดเพลงใหม่ ๆ ขึ้นมา ก็ประมาณปีครึ่ง นี่คือจุดเริ่มต้น 2 คน คือ ผมกับสมรักษ์ ต่อมาประมาณปี 43 ผมก็มาชวนพี่สุทิน เข้ามา ซึ่งจริง ๆ แล้วผมเล่นกับพี่สุทินมาก่อน ก็เลยเป็น 3 คน….แต่ตอนนั้น ยังไม่ได้คิดว่าจะทำเทป แค่คิดว่าอยากจะซ้อม อยากจะทำใต้ดินมากกว่า…. ต้องยอมรับว่าในส่วนของลูกะนูนี่ ทุกคนไม่ได้เรียนทางด้านดนตรีกันมาเลย เพราะเรียนทางด้านศิลปะ ต่อมา หลังจากออกเทปมาแล้ว ลูกะนูก็จะไปเล่นเป็นวงเปิดให้กับมาลีฮวนน่าทุกงาน แต่ตอนนี้ไม่ได้ไปแล้ว เพราะพี่เขา (มาลีฮวนน่า) ต้องการให้เราทำกันเอง ให้ศึกษาเอง ให้เล่นเอง พอออกมาจากพี่เขาแล้วก็เหมือนเด็กหัดเดิน เพราะพวกผมไม่ใช่นักดนตรีอาชีพ ไม่เคยเล่นตามร้านกันมาก่อน อะไร ๆ ก็ยังไม่ลงตัว แม้แต่ทีมงานก็ยังไม่มี กระแสความนิยมจากต่างจังหวัดก็มีบ้าง เพราะเพลงในชุดของผม ถึงจะต่างจากมาลีฮวนน่าในเรื่องภาษา เพราะผมไม่ได้ใช้ภาษาทางใต้เลยทีเดียว แต่สำเนียงมันก็บอกให้รู้ว่าเป็นเพลงใต้
ที่มาของชื่ออัลบั้ม ชุด เสียงฝัน…ปลาสองน้ำ
ป๋อง : มันเหมือน คน 2 ยุคมาผสมกัน เหมือนเช่นว่า ผมอยู่ปักษ์ใต้ เป็นน้ำหนึ่ง พอมาอยู่กรุงเทพก็เป็นอีกน้ำหนึ่ง มาอยู่ตรงนี้ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับตรงนี้ให้ได้… ในอัลบั้มนี้ผมชอบเพลง นิทานมด แต่ตอนโปรโมทนี่ ทีมงานทางบริษัท ได้ฟังหลาย ๆ คน แล้ว ลงความเห็นตรงกันว่าเพลง อดีตรัก น่าจะเป็นเพลงที่ติดหูได้เร็วกว่า จึงได้ส่งอดีตรักมาก่อน ซึ่งอาจจะเป็นที่เนื้อหาที่ฟังแล้วโดนใจหลาย ๆ คนก็ได้ ที่มาของเพลงน้ คือ ที่จริงแล้วเพื่อนผมคนหนึ่งมีความรักที่เจ็บปวด มีความหลัง เพื่อนก็บอกว่า เขียนเพลงให้เขาหน่อยสิ ก็เลยนั่งคุยกันบังเอิญเขาหลุดคำว่า อดีต ออกมาว่า นี่นะ เป็นอดีตของเขา และผมก็มาคิดว่า เออนะ คำว่าอดีตนี่ ยังไม่เคยมีใครเอามาใช้ ก็เลยได้ประโยคแรก ขึ้นมาว่า “ในอดีตฉันเคยมีความรัก” ก็ต่อมาเรื่อย ๆ จนได้ครึ่งเพลง แล้วจะไปยังไงดี ก็เลยพักไว้ก่อน พอสมรักษ์เข้ามาก็เลยมาได้อีกท่อน กว่าจะจบท่อนนึงก็เป็นเดือน
ผมอยากออกตัวสักนิดว่า ที่ผมทำเพลงขึ้นมาไม่ได้คิดว่าจะต้องการให้มันฮิตติดตลาดสุดขีด แต่ผมอยากนำเสนอความคิดมากกว่า ส่วนที่ว่าการทำเพลงลูกทุ่งตามกระแสนิยม ผมคิดว่าเพลงของผมมีความเป็นลูกทุ่ง ผสมผสานอยู่บ้างแล้วเหมือนกัน จากสำเนียงการร้อง จากสไตล์การใช้ลูกคอ ของนักร้องลูกทุ่งรุ่นเก่าก็มีอยู่แล้ว ยังไง ๆ เพลงลูกทุ่ง นักรัองลูกทุ่งเขาทำได้ดีกว่าอยู่แล้ว
พูดถึง ที่มาของเพลง ขุนแผนพิมพิลาไลย (อ. ไข่ – ธนัญญา) และขุนช้างขุนแผน (วีระศักดิ์ – ธนัญญา)
ป๋อง : จริง ๆ แล้ว เพลงขุนแผน ผมเขียน เพื่อที่จะนำไปประกอบภาพยนตร์เรื่อง ขุนแผน ของพี่ปื๊ด และพอดีผมเขียนภาพลายไทย ประกอบในหนังเรื่องนี้ด้วย พอดีรุ่นพี่ผมที่เป็นฝ่ายศิลป์ เขารู้ว่าผมเขียนเพลงด้วย ก็เลยติดต่อให้ผมลองเอาไปทำดนตรีดู ผมก็ทำ แต่เพราะความที่ผมยังไม่เป็นที่รู้จักทั่วไป ก็เลยลองให้ อ.ไข่ ร้อง บังเอิญเขาชอบเสียงของพี่ไข่ แต่ที่นี้ทำไปทำมาปรากฎว่า ไม่ทันแล้ว หนังกำลังจะเข้าฉาย เขาก็ไม่เอา Cancle เลย จะทำไงล่ะ เพลงก็ไม่ได้อยู่ในฟิล์ม เพราะหนังมันฉายไปแล้ว แต่ผมต้องเอาเพลงไปใส่ไว้ในอัลบั้มอยู่แล้ว ก็เลยกลายเป็น 2 เวอร์ชั่น คือเวอร์ชั่นผมร้องและที่พี่ไข่ร้อง แต่ก็จะมีข้อแต่กต่าง คือเปลี่ยนเนื้อร้องท่อนจบ ซึ่งตอนแรกที่ผมทำมันเป็นแบบอคูสติค และเนื้อเพลง ส่วนประกอบต่าง ๆ มันสั้น ก็เลยเอามาทำซ้ำใหม่ให้ดูยาวขึ้น
สำหรับเพลงนิทานมด นี่เป็นยังไง เห็นว่ามีที่มาที่ไป
สมรักษ์ : ที่จริงแล้ว ผมกับป๋องคุยกันว่า พวกเรานี่ยังเด็กมากนะที่จะไปแต่งเพลง ปรัชญาสอนคนอื่นคงลำบาก เพราะเราเองยังต้องให้คนอื่นสอนอยู่เลย ผมมองว่าถ้าผมจะพูดว่า เออ..คุณอย่าทำอย่างนี้นะ อย่าทำอย่างนี้นะ โดยสื่อออกมาในเพลง รู้สึกว่าด้วยวัยวุฒิของเราแล้วนี่ จะไปเอาคำคมที่ไหนมาสอนใครคงลำบาก แต่งเพลงแนวสนุกๆ แปลกๆ ดีกว่า อย่างเพลงนิทานมดนี่ ผมไปนอนหอ ป๋องเขา แล้วก็มีการดื่มกันนิดหน่อยแล้วก็นอน พอตื่นเช้าอยากทานกาแฟ พอเปิดขวดน้ำตาล ปรากฎว่าเห็นมดเต็มเลยในขวด ก็มานั่งหน้าบ้าน ลองหยิบกีตาร์มาเล่นดู เลยได้เป็นเพลงนี้ขึ้นมา ซาวด์ดนตรีออกแนว เด็ก ๆ ฟังสบาย ๆ
แล้วเพลงแดงล่ะ ที่อะไร ๆ ก็เป็นสีแดงไปหมด มีแรงบันดาลใจมากจากไหน
ป๋อง : เพลงนี้พี่ทินเป็นคนเขียน ก็ไม่มีอะไรมาก ส่วนมากก็เกิดมาจากการนั่งคุยกัน แกก็เขียนขี้นมานำเสนอในวงว่า เออนี่อย่างนี้นะ ช่วยใส่ดนตรีให้หน่อย คืออยากให้แดงหมดเลยนะ ก็เลยมาเป็น สาวพระประแดง ขายข้าวหมูแดง ชูธงแดง คือหาอะไรก็ได้ให้ลงว่าแดง ก็เลยได้มาเป็นเพลงแดง
ชุดที่ 2 คิดว่า จะเว้นระยะนานแค่ไหน
ป๋อง : ตอนนี้ก็ได้เตรียม ๆ ไว้แล้ว คือตอนนี้ทำเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้เข้าห้องอัด ส่วนมิวสิควีดีโอของชุดแรกก็ได้ถ่ายเสร็จแล้ว และได้ออกอากาศไปแล้วด้วย คือถ่ายกันเอง จัดฉากกันเองหมดทุกอย่าง ส่วนเรื่องคาราโอเกะต้องรออีกสักพัก ผมไม่ได้คิดว่าจะรีบจะร้อนอะไร ไปตามเสต็ป เพราะตอนนี้พวกผมคงต้องหาประสบการณ์ทางดนตรีกันอีก ยอมรับว่ามีน้อยมากเพราะว่าในจุดหนึ่ง คิดว่าศิลปะกับดนตรีมันมีอะไรที่เหมือน ๆ กันอยู่ไม่ได้แตกต่างอะไรกันมาก ตอนเรียนศิลปะ ก็มีบางวิชาที่ต้องเรียนเกี่ยวกับดนตรีด้วย
ต่อคำถามที่ว่า เพลงเพื่อชีวิต ตายแล้ว จริงหรือ คิดอย่างไร
ป๋อง : ตอนที่ผมเรียนศิลปะ คนนั้นก็บอกว่า Painting ตายแล้ว คนนี้ก็บอกว่า ศิลปะตายแล้ว งานจิตกรรมที่ผมเขียนด้วยสีน่ะ ตายแล้ว เดี๋ยวนี้มันต้องเป็นจับวางบ้าง อะไรบ้าง แต่หลายคนก็บอกว่ามันไม่มีอะไรตายหรอก อย่างเพลงเพื่อชีวิตก็แค่จังสายแนวเพลงก็คือเพลง แต่ก็ต้องมีการเปลี่ยนแหลงบ้างตามสถานะการณ์ ปัจจุบัน แต่ไอ้ที่จะว่าตายคงไม่ตาย
สุดท้าย อยากจะฝากอะไรถึงแฟนเพลงบ้างไหม
ป๋อง : อยากให้ช่วยกันสนับสนุนเพลงเพื่อชีวิตต่อๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นวงไหน ทุกวง ทุกคนทำงานด้วยใจทั้งนั้นเลย เหมือนวงผมเหมือนกัน ตั้งใจทุกคน ถ้าว่าทุกคนมีความฝัน ผมก็มีความฝันอยากสร้างสรรค์ของผม อยากให้ทุกคนได้รับรู้ความรู้สึก ความคิดของผม ในสถานะการณ์ ปัจจุบัน เหมือนกับศิลปินที่ผ่านมา เหมือนกับน้าหงา หรือคนอื่นๆ ที่เขาทำบทเพลงขึ้นมาด้วยความตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นผม หรือรุ่นพี่ คนอื่น ๆ ต่างก็ทำงานอย่าง จริงใจและตั้งใจทุกคน ก็ขอฝากไว้เท่านี้แหละครับ
เพลงประชาชน