วสันตกาล พ.ศ. 2535 – เช้าวันนั้นผืนฟ้าอึมครึมคล้ายฝนจะหล่นโปรย ผืนนากลับแลโล่งดั่งแล้งเข็ญมายาวนาน คนอีสานเผชิญกับช่วงฝนทิ้งเสียจนชาชิน ยิ่งปีนี้แปดสองหนหรือเดือนแปดสองครั้ง ยิ่งตอกย้ำความเชื่อดั่งเดิมว่าจะแล้งแห้งเป็นสาหัส

ผมเห็นเป็นภาพแรกเมื่อแรกก้าวลงจากรถโดยสารปรับอากาศชั้นดี ครั้นรถแล่นเลยไปแล้ว คืนวันเก่าๆ ก็ผุดพรายขึ้นมาในห้วงความคิดคำนึง

ฟากทางด้านโน้นมีทางแยกเข้าสู่ที่ว่าการอำเภอเสนางคนิคม ครั้งแรกที่ผมมาถึงแถวถิ่นนี้ มันยังมีฐานะเป็น “กิ่งอำเภอ” เล็ก ๆ ของจังหวัดอุบลราชธานี ตามเส้นทางลูกรังสายนั้นมีชุมชนน้อยใหญ่ตั้งเรียงรายเป็นระยะ ๆ เริ่มต้นจากปากทางเข้าบ้านไร่ใหญ่ ผ่านบ้านหนองทับม้า (ที่ตั้งอำเภอ) บ้านบก บ้านโป่งหิน บ้านหนองดน บ้านสวนโคก และ บ้านโพนทอง

บ้านโพนทองมิใช่บ้านสุดท้ายของทางสายนี้ แต่มันเป็นจุดพักท้ายสุดแห่งการสัญจรอีสาน หรือแสวงหาสัจจะของชายหนุ่มวัย 20 เศษเมื่อหลายปีก่อนโน้น

จำเนียรกาลผ่านเลยมา 15 ปีแล้ว ใจนั้นยังจำได้แม่นมั่น…

เดือนสามคล้อย ลมวอย ๆ พัดใบไม้อ่อน เป็นช่วงเวลาที่ผมเดินทางเข้าเหยียบดินถิ่นนี้เป็นหนแรก เวลานั้นพาหนะที่นำพาชาวบ้านออกไปติดต่อกับชุมชนเมืองมีเพียงรถโดยสารประจำทาง 2 คัน วันหนึ่งวิ่งรับส่งคนเที่ยวเดียว คือเช้าไป บ่ายกลับ ใครไม่ทันเวลาก็ตกรถ หากไม่นอนค้างในเมือง ทางกลับทางเดียวก็เห็นจะต้องย่ำเท้าเป็นระยะทางเกือบ 20 กิโลเมตร

วันนี้มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างคอยบริการแต่เช้าจรดค่ำ จากปากทางบ้านนาไร่ใหญ่ส่งถึงบ้านใดก็ได้ ผมบอกหนุ่มมอเตอร์ไซค์เป็นภาษาถิ่นอีสานว่าจะไปบ้านสวนโคก

“อ้ายเป็นคนสวนโคก……..” เขาถามคืน ดูจะงุนงงเพราะไม่คุ้นหน้า

“แม่นแล้ว ไปโลดอ้าย”

เขาหันกลับไปทำหน้าที่สารถี พลันเร่งเครื่องทะยานออกจากคิวรถนำพาผมมุ่งสู่จุดหมายปลายทางในบรรยากาศทึบทึมพิกลบนท้องฟ้า

ผิดกับช่วงก่อนโน้น ผมเป็นคนแปลกหน้านั่งบนรถโดยสารประจำหมู่บ้าน ใช้ปากถามต่างแผนที่ชี้ทาง ใช้จดหมายฉบับหนึ่งต่างบัตรประจำตัวหรือใบรับประกันความบริสุทธิ์ใจ จดหมายนั้นเพื่อนชาวอุบลเขียนแนะนำตัวผมมา พร้อมจ่าหน้าถึงคนคนหนึ่ง “พ่อบุญมี – บ้านสวนโคก”

ต้นปี พ.ศ. นั้นฟ้าสูงแดดใสก็จริงอยู่ ทว่าความมืดดำแฝงเร้นอย่างน่าสะพรึงกลัว

ดั่งเหตุร้ายที่ได้เกิดขึ้นในคืนหนาวปลายปี พ.ศ. 2518 หนุ่มบ้านสวนโคกสามคนถูกลอบยิงเสียชีวิตใต้ต้นตาลคู่ ริมทางสายนาไร่ใหญ่ – โพนทอง ใกล้ ๆ ทางแยกเข้าบ้านโป่งหิน

ความตายของหนุ่มรุ่นเรียกร้องให้ชาวบ้านมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง กลุ่มหนึ่งมุ่งหน้าสู่ภูโพนทอง พ่อบุญมีกับเพื่อนบ้านอีกส่วนหนึ่งเดินทางเข้ากรุงเทพ เพื่อร้องขอความเป็นธรรมกับ “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)” เพราะคนหนุ่มคนหนึ่งที่ถูกฆ่าตายเป็นลูกชายของพ่อบุญมี

ชาวบ้านย่านตำบลโพนทองปักใจเชื่อว่า สามหนุ่มตายด้วยน้ำมือของตำรวจและ อส. (อาสาสมัครรักษาดินแดน)

กลุ่มชาวบ้านที่เข้าไปดงบังอี่ (ดงกว้างใหญ่อยู่ด้านหลังภูโพนทอง) ได้กลับออกมาพร้อมกับปืนดาวแดง สหายทหารป่าประจำเขตงานภูสระดอกบัวเป็นผู้มอบอาวุธปืนให้ และมอบหมายหน้าที่สังหารเจ้าหน้าที่บ้านเมือง

ปฏิบัติการล้างแค้นบังเกิดขึ้นในอีก 2-3 เดือนถัดมา ข่าวหนุ่มเลือดร้อนบุกฆ่า อส. บนหลังคารถโดยสารประจำทางแพร่สะพัดไปทั่วถิ่นเสนางคนิคม เมื่อสิ้นเสียงปืนแห่งความเคียดแค้น หนุ่มใจตายกลุ่มนั้นพลันหายตัวไปในไพรลึก

ผมย่างก้าวเข้ามาสู่ดินแดนอันตราย หรือเขตสีแดง (จัด) ต้นปี พ.ศ. 2519 เหตุที่เข้าดงคอมมิวนิสต์ก็เพราะความอยากรู้อยากเห็นโดยแท้ ประสบกับมีการร้องเรียนเรื่องเยาวชนในหมู่บ้านถูกสังหารโหด ใครเป็นมือฆ่า…..และฆ่าทำไม……นี่ก็อยากรู้เหมือนกัน

ครั้นผมได้ใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้านสวนโคกในระยะแรกแล้ว จึงรู้ว่าตัวเองตกอยู่หว่างเขาควาย เขาเบื้องซ้ายเป็นทหารป่า เรียกชื่อเต็ม ๆ ว่า “ทหารปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย” และเรียกย่อ ๆ ว่า “พวกสหาย” เขาเบื้องขวาเป็นอาสาสมัครรักษาดินแดน เรียกย่อ ๆ ว่าพวก อส. (อ่านว่า ออสอ)

จริงๆ แล้วคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มเดียวกันโดยพื้นฐานชาวไร่ชาวนาร่วมบ้านร่วมตำบล บ้างเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน บ้างเป็นเพื่อนร่วมโรงเรียน อุดมการณ์กับหน้าที่ทำให้สองฝ่ายกลายเป็นศัตรูกัน

เมื่อผมกลับมาบ้านสวนโคกหนหลังนี้ ได้เห็นภาพของพวกเขาที่กลืนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นสามัญชน ไร้ยศไร้ตำแหน่ง ต่างดำรงชีพทำนาเช่นเดิม ว่างงานนาก็เข้าป่าไปตัดไม้มาสร้างบ้าน หรือไปถางป่าทำไร่ทำสวน

ต่างแบ่งฝักแบ่งฝ่ายต่อสู้กันมาร่วมสองทศวรรษ จนไม่มีเวลาสร้างอยู่ทำกิน ชีวิตเพิ่งเริ่มต้นเมื่อสงครามยุติ

อย่าง “อส.สุนัย” นักล่ามือฉมัง สังกัดหน่วยพรานเจตบุตรและเคยมีชื่ออยู่ในบัญชีแดงของทหารป่า เขาเพิ่งถูกไล่ออกจาหน่วย อส. ประจำอำเภอเพราะขัดแย้งกับปลัดหนุ่มหน้าใหม่ที่ไม่คำนึงว่าเขาเป็นใครในอดีต

กาลเวลาผันแปร ทุกสิ่งก็ผันเปลี่ยนแน่นอนยิ่งนัก มีรุ่งโรจน์มีโรยรา มีเกิดก็ต้องมีดับเป็นกฎของโลก ดั่งชีวิตพ่อบุญมีที่พลัดพรากจากลูกหลานไปแล้ว เหลือเพียงอัฐิบรรจุในธาตุสีขาวไว้เป็นอนุสรณ์ เฉกเช่นเดียวกับธาตุของหนุ่มทั้งสามที่วางเรียงอยู่ขอบรั้ววัด

สมัยพ่อบุญมียังดำเนินวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ผมรู้สึกประทับใจตัวแกมาก นอกจากความโอบอ้อมอารีแล้ว แกเป็นคนสุขุมลุ่มลึกมีภูมิปัญญาแน่นพอจะเป็นที่ปรึกษาให้ชาวบ้านได้ถึง 3 หมู่บ้าน คือ บ้านหนองโน บ้านโพนทอง แล้ะบ้านสวนโคก

แปลกอย่างหนึ่งที่ผมมาทราบภายหลังว่า คนเยี่ยงพ่อบุญมีไม่ได้อยู่ในสารบบแกนนำในบ้านของสหายทหารป่า

ผมพักพิงอยู่เรือนหลังเก่าของพ่อบุญมี มีเพื่อนหนุ่มชาวสวนโคกคอยบอกสอน ทั้งการกินอยู่หลับนอน ตลอดจนการพูดจาภาษาท้องถิ่น เมื่อผมหัดพูดอีสานหนแรก พวกนั้นหัวเราะกลิ้งไปเลย เรื่องอื่นๆ ที่มากหรือลึกไปกว่านี้ ต่างฝ่ายยังสงวนท่าทีกันอยู่ ด้วยรู้หน้าไม่รู้ใจ

ความบันเทิงเริงรมย์กับหนุ่มสาวดูจะขาดจากกันเสียมิได้ ผมเริ่มเขียนเนื้อเพลงเพื่อชีวิตในเมืองให้เพื่อนร่วมบ้าน 4-5 คน ได้ฝึกร้องกันไว้ ร้องกันอยู่สองสามหน คราวต่อไปก็ออกงานกลางทุ่ง เคาะกะโหลกกะลาเป็นที่สนุกสนาน

งานหลักของผมในช่วงนั้นคือการเลี้ยงควายสลับกับขุดบ่อปลา กลางวันพวกเรามักจะต้อนควายไปปักหลักเลี้ยงแถวป่าโคก เพราะมีเถียงนา (กระต๊อบ) พอเป็นที่หลบร้อนได้ บังเอิญจุดนี้อยู่ใกล้ทางเดินเล็ก ๆ เชื่อมระหว่างหมู่บ้านกับภูโพนทอง ตอนบ่ายคล้อยค่ำผมจึงสังเกตเห็นหนุ่มสาวจับกลุ่มเดินกันออกมาจากป่าตีนภู ผมแอบเก็บงำความสงสัยไว้ ไม่อยากถามเพื่อนหนุ่ม ประเดี๋ยวเขาจะหาว่าเป็นคนชอบซอกแซก แล้วจะอยู่กับพวกเขาลำบากเปล่า ๆ

ภูโพนทองที่เห็นในวันกลับบ้านเก่าอีกครั้งยังเป็นภูลูกเดิมที่ชาวบ้านฝากผีฝากไข้ได้ ไม่มีนาไร่ก็แบกมีดแบกขวานไปถางป่า ป่าดงบังอี่ทั้งป่ายังหนาแน่นแม้สัตว์ป่าตัวใหญ่ที่สุดเหลือแค่หนูหวาย พงไพรเป็นดั่งตลาดสด ธรรมชาติให้พวกเขาจับจ่ายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ภูลูกนั้นในวันนี้ไม่มีอยู่สิ่งเดียวคือ ทหารป่า

จำได้ว่าผมคลุกคลีอยู่กับเพื่อนหนุ่มชาวสวนโคกนานร่วมเดือนทีเดียว จึงค่อย ๆ ได้รับรู้ข่าวสารการเมืองจากราวไพร บทเพลงรำวงทำนองสนุกๆ เป็นสิ่งแรกที่ผมได้รับมา พวกเขาชอบร้องกันมาก

“จากท้องนา” เพลงนี้เนื้อหาเข้ากับบรรยากาศในละแวกตำบลโพนทองมาก มีเยาวชนตำบลนี้ทยอยหายไปจากเรือนชานบ้านช่องทีละคนสองคน หากใครเอ่ยถามพ่อแม่ของหนุ่มสาวว่าลูกไปไหนก็ได้คำตอบแทบจะเหมือนกันว่า “มันไปทำงานกรุงเทพฯ”

จริงๆ แล้ว หนุ่มสาวชาวโพนทองไปร่วมกิจกรรมการเมืองเหมือนเพลงบอกไว้

“จากท้องนา จะอำลา พ่อแม่ห่างไกล
สู่เขาดงพงไพร ด้วยดวงใจ เคียดแค้นทวี
บ้านเมืองเรานั้น ถูกโจรมาร ปล้นสิทธิ์เสรี
รวมพลังเถิดเรา น้องพี่ สามัคคีช่วงชิงชาติไทย
จับมันมาตัดหัว รับกรรมแสนชั่ว ที่มันสร้างไว้
จับมันมาแขวนคอ รับกรรมที่ก่อ ให้มันสาใจ
กลับสู่ท้องนา เมื่อโจรา สูญสิ้นหมดไป
สร้างสังคมของไทย ให้สดใส รุ่งเรืองไพบูลย์”

อีกเพลงหนึ่งที่ร้องแล้วออกจะให้จินตนาการอันกว้างไกลแก่คนหนุ่มสาวสมัยนั้น ด้วยทุกคนอยากเห็นเทือกเขาภูพาน อยากเป็น “ทหารลำเลียง”

“เทือกเขาภูพาน สูงตระหง่าน ยอดยืนทะนง
เขตแคว้นแดนดง แสนสลับซับซ้อน ดอนไพร
ห้วยน้ำลำธาร ไหลผ่าน หนทางแสนไกล
ยากเย็นไม่เคยหวั่นไหว จะปักใจ สู้ทนลำเลียง
เหงื่อไหลโซมกาย เช้าและบ่าย ทั้งคืนและวัน
แดดฝนทนนาน สู้ไม่หวั่น หญิงชายพร้อมเพรียง
พรรคและประชา ให้เรามา ขนส่งเสบียง
แนวรบด้านการลำเลียง จะหยัดยืน ไม่มีท้อใจ”

ยามที่ออกไปอยู่กลางทุ่ง พวกเรามักจะตะเบ็งเสียงร้องเพลงป่ากันสนุกสนาน แต่เวลาร้องเพลงนี้ต้องเหลียวหน้าเหลียวหลังเหมือนกัน ถ้าเห็นกลุ่ม อส. ลาดตระเวนผ่านมาใกล้ ๆ ต้องหยุดร้อง เผลอ ๆ ก็ร้องเพลง “อส. รอรัก” ส่งไปเลย ช่วงนั้นศักดิ์สยาม เพชรชมภูร้องไว้โด่งดังสุดขีด

เพลงป่าอีกเพลงหนึ่งที่ผมได้ซึมซับไว้ในตอนแรกคือเพลง “เพื่อพรรคเพื่อมวลประชา”

“เพื่อพรรคเพื่อมวลประชา พวกเราก้มหน้า ทำงานเรื่อยไป
เสียสละหยาดเหงื่อแรงกาย เพื่อผองไทย จะสุขเสรี
ทนยากตรากตรำลำเค็ญ เพื่อประชา อยู่ดีกินดี
แสงสว่างข้างหน้ายังมี ฉันขอถามที ว่าคุณทำอะไร
ผมน่ะ…..เป็นทหาร รบพุ่งประจัญ หมู่มารไพรี
ฉันเป็นสตรี เป็นหมอที่ดี ของประชาชน
เราเป็นคนลำเลียง ขนส่งเสบียง ด้วยใจอดทน
ลุงบุกเบิกมวลชน หลานเป็นเยาวชน หลานทำอะไร
หลานเป็นคนทำครัว ต้มแกงแป้งถั่ว หลานทำสุดใจ
เอ๊ะ…นั่นชื่อเรียงเสียงใด พรรคเคยมอบให้ คุณทำอิหยัง
ฉันเป็นศิลปิน สร้างชุบชีวิน ให้มีพลัง
ร้องเพลงจากใจ ไหลหลั่ง เพิ่มพูนพลังให้เรารื่นเริง”

บทเพลงจากลำเนาไพรมีท่วงทำนองเรียบง่าย คนแต่งเพลงเหล่านี้คงหวังให้ร้องติดปากแบบไม่ยากนัก อีกด้านหนึ่ง บรรดานักรบปฏิวัติล้วนแต่เป็นหนุ่มลูกทุ่ง จึงชอบเพลงสนุกแถมปลุกใจรับใช้องค์กรสู้รบในเขตป่าเขาเป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน มันเป็นเพลงเถื่อนในสายตาของผู้ปกครองบ้านเมืองยามนั้น ภายหลังกลิ่นไอสงครามจางหายไป เพลงไพรเพลงเถื่อนถูกนำมาแต่งตัวเสียใหม่ให้เป็นเพลงถูก (กฎหมาย)

เพลง “เพื่อพรรคเพื่อมวลประชา” ในเสื้อคลุมตัวใหม่ปรากฎโฉมครั้งแรกในฐานะเพลงประกอบภาพยนต์เรื่อง “ครูดอย” ของ “สุรสีห์ ผาธรรม” ผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากเรื่อง “ครูบ้านนอก” เวลานั้นมี นันทิดา แก้วบัวสาย กับ วาสนา สิทธิเวช เป็นผู้ขับร้องร่วมกันในภาพยนต์เรื่องนั้น และเปลี่ยนชื่อเป็น “แรงศรัทธา” และถูกนำมาจับใส่ตลับเทปเมื่อประมาณกลางปี พ.ศ. 2516 คงมีใครสักคนได้ซื้อเทปม้วนนี้ไปฟัง อีก 6 ปีต่อมามันจึงถูกนำมาขับขานอีกครั้งโดยน้ำเสียงใส ๆ ของ ศันสนีย์ นาคพงศ์ และมี ปิยะ ตระกูลราษฏร์ (พระเอกหนัง ครูบ้านนอก) ร้องคู่ด้วย

ผู้ที่แต่งโฉมใหม่ให้เพลงเถื่อนเพลงนี้คือ วิสา คัญทัพ

ส่วนนักแต่งตัวจริงนั้น ในครั้งกระโน้น ผมและเพื่อนหนุ่มอยากรู้จักตัวเขาเป็นอย่างมาก ใครหนอ…เป็นคีตกวีบ้านนาที่จุดไฟหวัง ไฟฝันให้คนหนุ่มสาวชาวทุ่งชาวไพร

แคน สาริกา