6 ตุลา ผ่านมาครบ 2 ทศวรรษ เป็นประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองที่หลายๆ คนไม่อยากจะจดจำ คนจำนวนมากไม่อยากให้มีการรื้อฟื้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่นำไปสู่การ “ล้อมปราบ” สิ่งที่เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา แตกต่างจากเหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อ 3 ปีก่อนหน้านั้น และเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมเมื่อ 4 ปีที่แล้ว คือ ทั้งสองเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจากความเห็นพ้องในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการและนำไปสู่ชัยชนะร่วมกัน (แม้ภายหลังจะถูกใครปล้นชิงไปก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) แต่ 6 ตุลา เป็นเหตุการณ์ที่สุดแห่งความขัดแย้งในสังคมและการเมืองไทย เป็นรอยแผลที่บาดลึกในใจอย่างทั่วถึง อันอาจทำให้ไม่มีใครอยากเปิดรอยแผลนั้น อย่างน้อยก็ในตอนนี้
เวลาสามารถสมานแผล 20 ปีผ่านไป สิ่งที่เหลืออยู่คือรอยแผลเป็นซึ่งอาจเลือนจางลงไปอีกโดยวันเวลาที่ยังคงเคลื่อนไป และถึงวันที่รอยแผลนั้นไม่ทำให้ใครเจ็บปวดต่อไปอีกแล้ว การพิสูจน์เปิดเผยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์บางแง่มุมที่ยังคงคลุมเครือ ซ่อนเร้น และ ปิดบัง อาจเกิดขึ้น
แต่วันนี้ ภาพเหตุการณ์ในความรู้สึก ความทรงจำ ของคนที่ผ่านเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีก่อน โดยประสบการณ์ต่างๆ กันยังแจ่มชัด เป็นภาพที่อาจบรรยายได้ด้วยเพลงเพลงนี้ เป็นภาพที่ “จริง” โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาถึงที่มาและที่ไป
“ดินสอโดมธรรมศาสตร์เด่นสู้ศึก
ได้จารึกหนี้เลือดอันเดือดดับ
หกตุลาเพื่อนเราล่วงลับ
ความแค้นคับเดือดระอุอกคุไฟ
เรามีเพียงมือเปล่ามันล้อมปราบ
ระเบิดบาปกระสุนบ้ามาสาดใส่
เสียงเหมือนแตรงานศพซบสิ้นใจ
สนามหญ้าคลุ้งกลิ่นไอคาวเลือดคน”
วัฒน์ วรรลยางกูร, เพลง จากลานโพธิ์ถึงภูพาน
วัฒน์ เขียนบทเพลงนี้ในป่าเขา เมื่อสถานการณ์วันที่ 6 ตุลา บีบให้คนหนุ่มสาวแห่งขบวนการประชาธิปไตยไม่เหลือทางเลือกมากนัก และแทนที่จะตาย ถูกจับ หรือหลบหนีอย่างขาดความมั่นคงในชีวิต ทางที่มี “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” ยืนอ้าแขนรับพวกเขาอยู่ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
เช่นเดียวกับ วัฒน์ และคนร่วมยุค ร่วมแนวคิด คนร้องและบรรเลงเพลงเพื่อชีวิตยุคใหม่ที่เพิ่งก่อกำเนิดภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ก็ (เลือกหรือต้องเลือก) เดินไปบนทางสายเดียวกัน ยคุแรกของเพลงเพื่อชีวิตยุคใหม่ ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงเวลา 2 ปีเศษนับจากกำเนิดวงคาราวาน เมื่อกลางปี 2517 วงกรรมาชน จากมหาวิทยาลัยมหิดลออกเทปและซิงเกิลเพลงเพื่อชีวิตชุดแรก ช่วงหลังจากนั้นไม่นาน จะมีการหนุนเนื่อง โดยวงนักศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัย เช่น กงล้อ, รวมฆ้อน, โคมฉาย, คุรุชน, และวงเพลงไทยเดิมเพื่อชีวิต คือ ต้นกล้า ต้องจบโน้ตตัวสุดท้ายในวันที่ 6 ตุลา เมื่อเสียงปืนนัดแรกดังขึ้น
20 ปีผ่านไป แต่เหมือนว่าผ่านไปไม่นานเลย “คาราวาน คืนเมือง” และคืนเวทีใน Concert For Unicef เมื่อปี 2525 และยังคงมีบทบาท ยังคงเคลื่อนไหว และยังคงมีผลงานทั้งเก่าและใหม่ทยอยออกมา ภายใต้ความเคารพนับถือในฐานะตำนานที่ยังมีชีวิตของเพลงเพื่อชีวิตไทย เพลงเก่า ๆ ของพวกเขาเมื่อสิบยี่สิบปีก่อนยังคงถูกขับขาน ร้องบรรเลง และจดจำกันขึ้นใจ
แต่ 20 ปีผ่านไป ก็คล้ายผ่านไปแสนนาน พร้อมกับการเปลี่ยนผ่านทางสังคม เพลงจากยุคสมัยนั้นไม่ได้ขับขานกันบนเวทีชั่วคราวกลางคลื่นคนแห่งการชุมนุมประท้วง ในบรรยากาศคุกรุ่นของความขัดแย้งทางความคิดและอุดมการณ์ และในบางครั้งอาจแทรกแซมด้วยเสียงปืน เสียงระเบิดอีกแล้ว หากแต่ร้องและเล่นกันบนเวทีคอนเสิร์ตที่จัดเตรียมระบบเสียงแสงแบบมืออาชีพ ในบรรยากาศรื่นรมย์ของการกินเหล้าเคล้าเสียงเพลงในผับเพื่อชีวิต และสำหรับผู้ที่ต้องการรำลึกถึงคืนวันที่ผ่านมากับเสียงร้องของตัวเอง ก็มีวิดีโอคาราโอเกะเพื่อชีวิตพร้อมภาพกึ่งนู้ดตอบสนองความต้องการนั้น
เป็นการเปลี่ยนผ่านที่ทำให้หลายคนงุนงง วัฒน์ วรรลยางกูร เคยแสดงความสงสัยดังๆ ผ่านข้อเขียนของเขาว่า หากว่าเพลง “จากลานโพธิ์ถึงภูพาน” ของเขากลายเป็นคาราโอเกะ เขานึกภาพไม่ออกเลยจริงๆ ว่ามันจะเป็นอย่างไร นับตั้งแต่ขึ้นวรรคแรกว่า “ดินสอโดมธรรมศาสตร์เด่นสู้ศึก”
นั่นคือช่องห่างของความรู้สึกในหน่วยเวลาที่เท่ากัน คำถามสำคัญก็คือ เกิดอะไรขึ้นในระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงวันที่เรายังฟังเพลงของ 2 ทศวรรษที่แล้วด้วยความรู้สึกดื่มด่ำกับอารมณ์ของยุคสมัยที่ผ่านไป ในบรรยากาศแวดล้อมการฟังที่ผิดแผกไปโดยสิ้นเชิง พร้อม ๆ กับที่กระแสเพลงเพื่อชีวิตซึ่งเคยซัดแรงทั้งทางสังคมในยุคหนึ่ง และทางธุรกิจในอีกยุคหนึ่งเริ่มราแรงลงไปคล้ายคลื่นกระทบฝั่ง
“มันตามจับตามล่าฆ่าถึงบ้าน
อ้างหลักฐานจับเข้าคุกทุกแห่งหน
เราอดทนถึงที่สุดก็สุดทน
จึงเปลี่ยนหนทางสู้ขึ้นภูพาน
อ้อมอกภูพาน คือชีวิตใหม่
คือมหาวิทยาลัยคนกล้าหาญ
จะโค่นล้มไล่เฉดเผด็จการ
อันธพาลอเมริกาอย่าหวังครอง
สู้กับปืนต้องด้วยปืนยืนกระหน่ำ
พรรคชี้นำตะวันแดงสาดแสงส่อง
จรยุทธ์นำประชาสู่ฟ้าทอง
กรรมาชีพลั่นกลองอย่างเกรียงไกร”
วัฒน์ วรรลยางกูร , เพลงเดียวกัน
จำเป็นต้องย้อนทวนไปที่กระแสเพลงเพื่อชีวิตยุคที่ 2 ที่เกิดเป็นกระแสคู่ขนานหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา กระแสแรกเกิดในป่าเขา โดยกลุ่มคนที่สร้างเพลงเพื่อชีวิตกระแสแรกนั่นเอง หากกระแสเพลงเพื่อชีวิตยุคใหม่จากเหตุการณ์ 14 ตุลา อาจอธิบายในฐานะ “บทเพลงประท้วง” กระแสเพลงเพื่อชีวิตยุคที่ 2 ในป่าเขาอาจเรียกได้ว่า “บทเพลงปฏิวัติ” ด้วยความรุนแรงในเนื้อหาจากสถานการณ์การสู้รบที่ปฏิวัติ (แบบ สู้กับปืนต้องด้วยปืนยืนกระหน่ำ) และกรอบกำหนดทางทฤษฎีความคิดภายใต้การชี้นำของพรรคฯ (พรรคชี้นำตะวันแดงสาดแสงส่อง) สองสิ่งนั้นประกอบกับข้อจำกัดในการเผยแพร่ ทำให้บทเพลงเพื่อชีวิตกระแสนี้มีเพียงไม่กี่เพลงที่คงทนผ่านกาลเวลามาได้ (ส่วนหนึ่งถูกนำมาบันทึกใหม่ในเทปชุด ‘บทเพลงจากภูผา’)
“ในวันนี้ลานโพธรรมศาสตร์อาจเงียบหงอย
ก็เพียงช่วงรอคอยสู่วันใหม่
วันกองทัพประชาชนประกาศชัย
จะกลับไปกรีดเลือดพาลล้างลานโพ”
วัฒน์ วรรลยางกูร, เพลงเดิม
ส่วนในเมืองกระแสที่ 2 ของยุคเดียวกัน เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การเมืองเริ่มผ่อนคลายลงระดับหนึ่งประมาณปลายปี 2521 ถึงต้นปี 2522 วงเพื่อชีวิตเจเนอเรชันที่ 2 ในรั้วมหาวิทยาลัยเริ่มปรากฎตัว เช่น น้ำค้าง, ประกายดาว, พิราบ, หยาดฝน, ทานตะวัน, ฟ้าสาง, สนมร., ชีวี, วงสตริง อมธ. แต่ก็ไม่มีเงื่อนไขที่จะขยายวงคนฟังออกมานอกรั้วได้ ไม่ว่าจะโดยทางสังคม-การเมืองที่ไม่อาจนำบทเพลงสู่ท้องถนนเหมือนช่วงหลัง 14 ตุลา หรือโดยช่องทางตลาดและสื่อ ซึ่งการทำเทปยังถูกจำกัดในกรอบทำกันเอง-ขายกันเอง-และฟังกันเอง ในขณะที่ช่วงนั้นเพลงไทยเริ่มเข้าสู่ระบบธุรกิจเทปเพลงแล้ว
“ลานโพธรรมศาสตร์อาจเงียบหงอย” เหมือนดังเพลง หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็กลายเป็นเวทีของวงสตริงชื่อดังยุคนั้น ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าเพลงเพื่อชีวิตกระแสนี้ยึดครองคนฟังได้เฉพาะแต่นักกิจกรรมเท่านั้นเอง และเทปเพลงเพื่อชีวิตที่ขายกันอย่างแพร่หลายจนเป็นธุรกิจสาธารณะ ก็คือเทปเพลงที่ก๊อปปี้มาจากงานเพลงช่วงก่อน 6 ตุลาคม
วงดนตรีแถวหน้าของยุคนี้จึงเป็น “แฮมเมอร์” ที่มีความเป็นมืออาชีพมากกว่า แฮมเมอร์ สั่งสมประสบการณ์จากเวทีประกวดดนตรีหลายแห่ง และสร้างชื่อจากเพลง “บินหลา” เทปชุดแรกของวงและอีกหลายชุดที่ออกตามมา ช่วยขยายวงเพลงเพื่อชีวิตออกไปได้มากกว่าที่ทุกวงในมหาวิทยาลัยทำได้รวมกัน
แต่การที่หลายเพลงของแฮมเมอร์ (รวมทั้งของวงในมหาวิทยาลัย) เป็นเพลงที่ถูกส่งจาก “ป่า” และผ่านกระบวนการทำให้เป็น “เมือง” ดังนั้นเมื่อถึงยุคของ “คนป่าคืนเมือง” ซึ่งในวงการเพลงถือว่า การแสดงของคาราวานในคอนเสิร์ตเพื่อยูนิเซฟคือสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่ บทบาทแฮมเมอร์ก็ค่อยๆ ลด และเลือนไป มีคนบอกว่าเมื่อตัวจริงกลับมาลงสนาม ตัวสำรองก็ต้องกลับไปนั่งม้ายาว แฮมเมอร์ใช้เวลาอยู่ระยะหนึ่งกับความพยายามหาแนวทางใหม่ของตัวเอง แต่ผลงานหลายชุดนั้นก็ไม่อาจสร้างผลได้เท่า “บินหลา” หรือชุด “ปักษ์ใต้บ้านเรา”
“โอ้ยอดรักฉันกลับมา
จากขอบฟ้าที่ไกลแสนไกล
จากโคนรุ้งที่เนินไศล
จากใบไม้หลากสีสัน
ฉันเหนื่อย ฉันเพลีย ฉันหวัง”
สุรชัย จันทิมาธร, เพลง คืนรัง
การกลับมาของคาราวานและเพื่อนร่วมสมัยร่วมอุดมการณ์ ที่บอบช้ำจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาประเทศไทย อาจบรรยายได้ด้วยเพลง “คืนรัง” พวกเขาไม่ได้กลับมาเพื่อ “กรีดเลือดพาลล้างลานโพธิ์” อีกต่อไปแล้ว แต่มาพร้อมบาดแผลและข้อกล่าวหาที่หลายคนบอกกันว่า “มีการกระทำอันไม่เป็นคอมมิวนิสต์” และในขณะเดียวกัน คอนเสิร์ตเพื่อยูนิเซฟ ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ถึงจะไม่ใช่ลานโพธิ์) ที่ประกาศถึงการ “คืนรัง” ของพวกเขา ก็ถือเป็นการเริ่มกระแสยุคที่ 3 ของเพลงเพื่อชีวิต ซึ่งเป็นการปรับเข้าสู่ระบบธุรกิจดนตรียุคใหม่ การแสดงสดวันนั้นนำไปสู่เทปเพลงชุดแรกของการกลับมาและชุดแรกในสัญญาทำเทป 3 ชุดกับ บริษัท EMI ประเทศไทย แม้ว่าจะไม่ใช่สัญญาที่มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ แต่สำหรับเพลงเพื่อชีวิตที่เคยถูกตั้งความคาดหวังดังหนึ่งเป็นกิจกรรมสาธารณะ นั่นคือมูลค่าที่เกินความคาดหมาย
ความคาดหมายทำนองนั้นยังคงฝังรากลึกผ่านช่วงเวลายาวนาน และนำมาโยงใยกันยุ่งเหยิงระหว่างทัศนะคนเขียนเพลงบรรเลงชีวิตกับการใช้ชีวิตของพวกเขา ไม่เว้นแม้กระทั่งการทดลองทางแนวดนตรี ช่วงหนึ่ง สุรชัย จันทิมาธร เคยมีฉายา “หงา บีเอ็ม” ในคอนเสิร์ตเพื่อยูนิเซฟ ครั้งที่ 2 คาราวาน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงกับการใช้วงร็อกเป็นแบ็กอัป ไม่เพียงแต่ประเด็นความบกพร่องไม่สมบูรณ์ทางการแสดง แต่โยงไปถึงอุดมการณ์
แต่การเรียนรู้และฝึกฝนตัวเองให้ยืนอยู่ได้ในระบบการแข่งขันของธุรกิจเพลงไทย ทำให้คาราวานสามารถยืนหยัดในฐานะมืออาชีพ และความเป็นอิสระในวิถีทางของตนระดับหนึ่งที่ชัดเจน ก็ทำให้พวกเขายืนระยะอยู่บนการยอมรับของแฟนเพลงเก่า ๆ ได้ในที่สุด แต่วงที่ประสบความสำเร็จจริง ๆ ในการ “จัดการ” กับระบบธุรกิจ และกลายเป็นวงเพื่อชีวิตที่ประสบความสำเร็จสูงสุด คือ คาราบาว ที่เกิดไล่หลังแฮมเมอร์ไม่นานนัก
“วณิพก” คือความสำเร็จที่ปลุกกระแสเพลงเพื่อชีวิตขึ้นมา กลายเป็นกระแสใหญ่ของวงการเพลงไทยอย่างที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องบังเอิญ คาราบาว ทำงานกันหนัก และผู้นำวงอย่าง ยืนยง โอภากุล คือคนที่อาจกล่าวได้ว่า มองหาช่องทางของความสำเร็จขนานใหญ่อยู่ตลอดเวลา การตระเวนแสดงอย่างเข้าถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ คือพื้นฐานสำคัญของความสำเร็จ และในที่สุดเมื่อองค์ประกอบทุกอย่างสมบูรณ์แบบ “เมด อิน ไทยแลนด์” ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ในทุก ๆ ทาง ไม่เว้นแม้กระทั่งการใส่จิงเกิลที่ทำให้แก่สปอนเซอร์ใหญ่ลงไปในเทป เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, โฮป, คนด่านเกวียน, กะท้อน, คีตาลชลี, นิรนาม (ในยุคแรก) มาจนถึง ซูซู, พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์, อินโดจีน รวมอีกหลายคน หลายวง รวมถึงงานเดี่ยวของสมาชิกวงคาราวาน คาราบาว จะมากจะน้อยก็ล้วนมีส่วนหนุนเนื่องให้กระแสเพลงเพื่อชีวิตยุคที่ 3 ถาโถมรุนแรงจนถึงที่สุด
แต่ในขณะเดียวกัน เพลงเพื่อชีวิตยุคที่ 3 ก็เปลี่ยนโฉมไปอีกระดับหนึ่งจากบทเพลงประท้วง เพลงแห่งอุดมการณ์ (โดยไม่ต้องรวมเพลงปฏิวัติ) กลายมาเป็นเพลง “สะท้อนสังคม” ที่คลายความรุนแรงลงไปตามกระแสการเมือง และความเปลี่ยนแปลงทางสภาพเศรษฐกิจสังคมที่เคลื่อนสู่สังคมทุนนิยม บริโภคนิยม (ไม่นับรวมบางส่วนในงานเพลงของคาราบาวที่ตกกระแสไปเป็น “เพลงการเมือง” อย่างชัดเจนนับแต่งานชุดที่ 6 ซึ่งสามารถอ่านชื่อชุดกลับหัวได้ว่าเป็น 9 ก.ย.)
จุดเปลี่ยนของกระแสเพลงเพื่อชีวิตในยุคนี้ ได้สร้างความสับสนและคำถามมากมาย โดยเฉพาะในกลุ่มปัญญาชนผู้ที่ยังยึดถือกรอบบทเพลงยุค 14 ตุลาทั้งนี้ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะกระแสเพลงเพื่อชีวิตยุคที่ 2 ไม่ได้ทำหน้าที่เชื่อมต่อยุคแรกกับยุคที่ 3 ได้ ส่วนที่น่าจะเป็นรอยต่อได้ในบางจุดอย่างแฮมเมอร์ ก็ผ่านข้ามมาสู่ยุคที่ 3 โดยไม่เป็นที่จดจำกันมากนัก ถึงที่สุดแล้วในภาพที่เด่นชัด จึงมีเพียงคาราวานที่ผ่านข้ามมาจากจุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้
กรอบกำหนดนั้นทำให้หลายคนแนวทางมวลชนที่นำคาราบาวข้ามพ้นจากเขตแดนแคบ ๆ ของกลุ่มคนฟังระดับปัญญาชน หลายเกิดวิกฤตศรัทธากับลีลาชีวิตของศิลปินพลงแขนงนี้ บางคนถึงกับเหยียดหยามศิลปินนอกสายคนแรก ๆ ที่เอาเพลงเพื่อชีวิตไปร้องใหม่และหลายคนเหลือเพียงคาราวานเป็นสรณะสำหรับเพลงเพื่อชีวิต นอกนั้นล้วนเป็น “ของปลอม”
ความชอบ รสนิยม การคาดหวัง การกำหนดสถานะ การให้คุณค่าแก่เพลงเพื่อชีวิตในกรอบที่แตกต่างกันของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม เป็นสิ่งที่ไม่อาจหักล้างและไม่จำเป็นด้วย แต่ในภาพรวมแล้ว การทบทวนความคิดและนิยามของเพลงเพื่อชีวิตกันใหม่เป็นสิ่งจำเป็น เพราะไม่ใช่ว่าทุกเพลงของศิลปินที่ได้รับการประทับตราให้อยู่ในปีกเพลงเพื่อชีวิต จะเป็นเพลงเพื่อชีวิตโดยกลไกของตราประทับนั้น และไม่ใช่ว่าเพลง “ดอกไม้ให้คุณ” เมื่อร้องโดย ดนุพล แก้วกาญจน์ เรื่อยมาจนถึง อรวี สัจจานนท์ และงานเพลงคาราบาวจากเสียงของ นรีกระจ่าง คันธมาส จะไม่ใช่เพลงเพื่อชีวิตอีกต่อไป
อีกด้านหนึ่ง บางเพลงของ เฉลียง งานยุคแรกของ อัสนี-วสันต์ โชติกุล บางส่วนในงานของ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ งานของ จรัล มโนเพ็ชร และเพลงในแบบของ ฤทธิพร อินสว่าง คือส่วนที่ไม่อาจคัดแยกออกจากกระแสเพลงเพื่อชีวิตอย่างเด็ดขาดได้
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญก็คือ ในยุคที่ 3 เพลงเพื่อชีวิตได้เข้ายึดครองเขตแดนที่แน่นอนบริเวณหนึ่งในตลาดเพลงไทยแล้ว นั่นคือความสำเร็จ และในทางยุทธศาสตร์ พันธมิตรที่ขยายวงออกไปก็เป็นสิ่งที่ควรยินดี อีกด้านหนึ่ง การดื่มอย่างดื่มด่ำกับเพลงเพื่อชีวิตในผับเพื่อชีวิต และภาพสาวงามในคาราโอเกะเพลงเพื่อชีวิต ที่เหมือนจะล้อเลียนขั้วต่างของคำคู่สองคำที่ใช้กันมากในช่วงหลัง 14 ตุลา คือ “ปลุกระดม-ปลดกระดุม” หากจะถือเป็นผลพวงธรรมดาของระบบธุรกิจ ก็ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนราคาแพงแต่อย่างใด
ปัญหาที่น่าสนใจมากกว่าจึงอยู่ที่ว่า หลังยุคที่ 3 กระแสเพลงเพื่อชีวิตจะสาดซัดไปทางไหน
วันนี้ของกระแสเพลงเพื่อชีวิตเริ่มต่ำลง หลายคนตั้งข้อสังเกตถึงภาวะที่ถดถอย เพลงที่สร้างออกมาใหม่ ๆ ดูจะไม่มีพลังหรือมนต์ขลังเท่ากับเพลงของวันวาน และในมุมมองทางการตลาดกระแสนิยมของแดนซ์มิวสิก แร็ป มาจนถึงอัลเทอร์เนทีฟ เป็นตัวชี้วัดเปรียบเทียบที่ทำให้เห็นว่า แม้แต่คาราบาวก็ไม่อาจสร้างแรงดึงดูดเท่าที่เคยทำ และในที่สุดก็เกิดคำถามว่า หรือเพลงเพื่อชีวิตได้มาถึงทางตัน
เป็นธรรมดาที่การขึ้นสู่ความนิยมสูงสุดและถดถอยไปคือวัฏจักรที่เที่ยงแท้ กระแสดนตรีทุกยุคสมัยในทุกสังคม ล้วนเคลื่อนไปในวงจรของความเปลี่ยนแปลงนี้ แต่อาจอธิบายได้มากกว่านั้นด้วยความเปลี่ยนแปลงทางสภาพสังคมและเศรษฐกิจ ในภาวะการเมืองที่ค่อนข้างคงที่ในสังคมไทย ตลอดจนกระแสดนตรีโลกที่เปลี่ยนแปลงและแผ่อิทธิพลเข้ามา ซึ่งอาจเรียกให้ครอบคลุมด้วยคำว่า “การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย” ที่มีผลเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดคน เปลี่ยนแปลงสภาพปัญหาที่ผู้คนในสังคมต้องเผชิญ หากแต่เพลงเพื่อชีวิตยุคที่ 3 กำลังก้าวตามไม่ทัน ไม่ว่าจะโดยแนวดนตรี กรอบความคิดในการสร้างงาน หรือแม้กระทั่งด้วยความไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ทั้งที่โดยสาระสำคัญด้านหนึ่งของเพลงเพื่อชีวิตคือการสะท้อนภาพความเป็นไปในสังคม ของผู้คน ของปัญหา
เมื่อปัญหาเปลี่ยน คนเปลี่ยน เพลงเพื่อชีวิตจำเป็นต้องเปลี่ยน
“ตั้งแต่นั้นชาติชายก็ตื่นเช้า
เขาต้องเข้าเมืองเหมือนทุกคน
สามชั่วโมงอยู่บนถนน
ถึงธนาคารนับเงินทุกวัน
นั่งนับเงินมากมายก้อนใหญ่
ที่เขานั้นไม่เคยได้มัน
แล้วเขาก็เมากลับบ้านทุกวัน
นี่คือวัฏจักรของชาติชาย”
จักรวรรดิ พ. , เพลง วัฏจักรของชาติชาย
เพลงเพื่อชีวิตกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุคที่ 4 และมันอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ชีวิตที่ต้องเร่งรีบตลอดเวลา แต่กลับเชื่องช้าติดขัดในแทบทุกเรื่อง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้การทำงานสะดวกสบายขึ้นใช้เวลาน้อยลง แต่สร้างแรงบีบคั้นของกำหนดและเส้นตายให้รัดแน่นขึ้น การบริโภคและค่านิยมทางวัตถุที่เติมไม่เต็ม ความกระหายไม่มีที่สิ้นสุด รวมตลอดจนถึงความรู้สึกคับข้องใจอันเนื่องมาจาก “ทุกขโนโลยี” และ “เทคโนโลยี (ไร้) สาร (ะ) (อันน่า) สนเท่ห์” น่าจะเป็นประเด็นสำคัญของการคลี่คลายในแนวทางเนื้อหาเพลงเพื่อชีวิตยุคใหม่ที่กำลังก่อร่างในวันนี้
การสร้างเพลงเองของนักร้องนักดนตรีในเงื่อนไขที่อิสระขึ้น จะทำให้การสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกแบบนั้นแสดงผ่านออกมาง่ายขึ้น มากขึ้น โดยมีปัจจัยเสริมจากการเกิดบริษัทดนตรีรายย่อยและตราที่ได้รับการกระจายอำนาจการบริหารในเครือบริษัทดนตรีรายใหญ่ ซึ่งระบบการกำกับแนวทางการสร้างงานทุกขั้นตอนแบบเดิมที่ครอบงำวงการดนตรีไทยมา 10 กว่าปี ไม่อาจทำได้เบ็ดเสร็จครอบคลุมอีกต่อไปในเงื่อนไขการตลาดของโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวัน นั้นจะทำให้เพลงเพื่อชีวิตยุคที่ 4 ไม่อาจตีตราด้วยตัวศิลปิน แต่จะเป็นเพลงที่กระจายอยู่ในงานของศิลปินทั่วไปแทน และไม่มีขีดจำกัดทางรูปแบบดนตรี โฟล์ก อะคูสติก แจ๊ซ พ็อป ร็อก เฮฟวี ไปจนถึงแร็ป และอัลเทอร์เนทีฟ
จะชอบหรือไม่ชอบ การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง และผู้คนในยุคหนึ่ง ๆ ก็จะต้องมีเพลงสะท้อนภาพแห่งยุคสมัยของเขาเอง….
ปณิธาน
คัดจากนิตยสารสารคดี ปีที 12 ฉบับที่ 140 ประจำเดือนตุลาคม 2539 และปีที่ 12 ฉบับที่ 141 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2539