ละครสลึงเดียว

ประมาณกลางหรือปลายปี 2517 ผมจำไม่ได้แน่ชัดรัฐบาลของท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ประกาศขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ในกรุงเทพมหานคร (ซึ่งในตอนนั้นกิจการรถเมล์เป็นของเอกชน ยังไม่ได้รวมเป็น ขสมก. อย่างในปัจจุบัน) จากเดิม 75 สตางค์ เป็นหนึ่งบาท ขบวนการนักศึกษายุคนั้นเริ่มเคลื่อนไหวคัดค้าน ตอนนั้นผมเพิ่งเข้าเรียนธรรมศาสตร์ปีแรกได้ไม่นานไม่ได้รู้หรือเข้าใจความเป็นมาเป็นไปทางการเมืองอะไรมากมายนัก รู้แต่ว่าการเคลื่อนไหวนี้ก็เพื่อช่วยเหลือคนจนที่ต้องอาศัยรถเมล์เป็นพาหนะในการเดินทาง ไม่ให้ต้องเพิ่มภาระอีกหนึ่งสลึง แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ผมกระโจนเข้าไปร่วมคัดค้านกับเขาบ้าง

ภาระหน้าที่ของผมก็คือ การออกล่าลายเซ็นต์ประชาชนที่ลงชื่อเป็นหางว่าว คัดค้านการขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ดังกล่าว ผมกับเพื่อนสองสามคนยึดเอามุมหนึ่งของตลาดนัดสนามหลวงในตอนนั้นเป็นยุทธภูมิ (ถ้าจำไม่ผิดในจำนวนนั้นมี วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ปัจจุบันเป็น NGOs ที่ถูกจับกุมเมื่อครั้งเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูลรวมอยู่ด้วย) ตั้งโต๊ะเข้าตัวหนึ่ง วางสมุดกับปากกาที่จะให้ประชาชนร่วมลงชื่อคัดค้านไว้ตรงหน้าแล้วการทำงานก็เริ่มขึ้น หน้าที่หลักของผมคือการพูดผ่านโทรโข่งชักชวนประชาชนที่ผ่านไปมาในตลาดนัดให้ร่วมกันลงชื่อคัดค้าน พูดกันตั้งแต่เช้ายันบ่ายยันเย็น จนคอแหบคอแห้งด้วยคำพูดซ้ำๆ ซากๆ เหมือนพวกรถเร่โฆษณาขายของ จากแรกที่พูดติด ๆ ขัด ๆ จนกลายเป็นพูดคล่องปรื๋อ ชนิดที่เรียกว่าไหลลื่นเป็นจาระบี พอตลาดนัดเริ่มจะวาย เราก็เก็บโต๊ะเก็บของ เดินตัดสนามหลวงกลับเข้าธรรมศาสตร์

การประท้วงครั้งนั้นขึ้นสู่กระแสสูง จนในที่สุดขบวนการนักศึกษากำหนดวันที่จะจัดชุมนุมประชาชนหรือที่เรียกกันในหมู่นักศึกษาขณะนั้นว่า “ก่อม็อบ” ขึ้นที่ลานจดรถข้างคณะสงเคราะห์ศาสตร์ใกล้ๆ กับหอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภารกิจของผมที่เพิ่มขึ้น คือการตระเวนติดโปสเตอร์เชิญชวนประชาชนมาชุมนุมตามกำหนดนัด ตอนนั้นโปสเตอร์ที่พวกเราออกติดยังเป็นโปสเตอร์ที่เราต้องเขียนขึ้นเองบนกระดาษปรู๊ฟด้วยปากกาเคมี ไม่ได้มีการจัดพิมพ์ทีละหมื่น ๆ แผ่น เหมือนช่วงหลัง ๆ เพื่อนคนไหนอยู่ใกล้และมีปากกาเคมีพอก็ระดมกันเขียนได้เลย และในการเขียนโปสเตอร์แบบนี้ ก็แล้วแต่ว่าใครจะมีสำบัดสำนวนอย่างไร ขอให้สามารถสื่อสารให้พ่อแม่พี่น้องประชาชนของเราทราบว่า จะมีการประท้วงเรื่องนั้นเรื่องนี้เมื่อไหร่ที่ไหนเป็นอันใช้ได้ แรกๆ พวกเราก็เขียนกันตามแบบแผนที่ว่ามา แต่พอเขียนไปสักสองสามชั่วโมงก็ชักจะออกลายคือชักจะเลอะเทอะไปตามอารมณ์คะนอง ยังจำได้ว่าเพื่อนคนหนึ่งเขียนกลอนวรรคทองของ “วิสา คัญทัพ” ที่ว่า “ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า….ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ลงในโปสเตอร์ของเขาก่อน แล้วจึงรวบในตอนล่างถึงวัน เวลา สถานที่ที่จะนัดชุมนุมประท้วงเรื่องค่าโดยสารรถเมล์ จนถึงเดี๋ยวนี้ผมยังนึกไม่ออกว่ากลอนบทนั้นมันสัมพันธ์กับการขึ้นค่าโดยสารรถเมล์อย่างไร แต่สุดท้ายพวกเราก็เอาไปตระเวนติดตามสถานที่ต่างๆ จนหมดทุกแผ่น

ใกล้วันชุมนุมเข้ามา แต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายก็มีหน้าที่ตามที่ได้ประชุมแบ่งงานกันไว้ ฝ่ายดำเนินการบนเวทีอภิปรายก็วางแผนว่าจะให้ใครขึ้นมาพูดบ้างในประเด็นไหน การไฮด์ปาร์คดูเหมือนเป็นรายการหลักรายการเดียว ยังคิดหารายการอื่นมาประกอบไม่ได้ ช่วงนั้นวงดนตรีเพื่อชีวิตมีวงเดียวคือวงคาราวาน แต่รู้สึกว่างานนี้คาราวานจะไม่ได้เข้าร่วม ตกหนักที่ฝ่ายจัดรายการจะต้องหาการแสดงบางอย่างมาสลับฉากการอภิปราย ผมเองกำลังเพลินกับการตระเวนเชิญชวนประชาชนลงชื่อในบัญชีหางว่าวอยู่ทีเดียว แต่แล้วเพื่อนคนหนึ่งที่มีหน้าที่จัดรายการก็เข้ามาหาผม และขอร้องแกมบังคับขู่เข็ญให้จัดการแสดงอะไรสักอย่างเพื่องานนี้ อันที่จริงผมไม่ได้มีความรู้ความถนัดทางด้านการแสดงอะไรมาก่อนเลย เหตุผลสองประการที่เพื่อนโยนงานนี้ให้ผมคือ หนึ่ง เพราะจนตรอกไม่รู้จะไปหาใคร อย่างที่บอกแล้วว่าในช่วงนั้น นอกจากวงคาราวานแล้ว (ตอนนั้นยังใช้ชื่อว่า ท.เสนและสัญจร) สิ่งบันเทิงในม็อบแทบจะหาไม่ได้เอาเลย จะมีอยู่บ้างก็เป็นละครล้อการเมืองแต่ก็เป็นลักษณะเตี๊ยมกันอยู่หลังเวที แล้วก็ขึ้นแสดงเลย (ซึ่งผิดกับยุคหลัง ๆ ช่วงปี 2518-2519 วงดนตรีเพื่อชีวิต คณะละครจากกลุ่มต่าง ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ขนาดจะต้องนั่งรอคิวการแสดงของวงตัวเอง บางครั้งก็เป็นครึ่งค่อนคืนกว่าจะได้แสดง) เหตุผลประการที่สอง ก็เพราะช่วงก่อนหน้านั้นไม่นาน กลุ่มกิจกรรมที่ผมสังกัดอยู่ได้จัดสัมมนาสมาชิกใหม่ที่น้ำตกสามหลั่น จังหวัดสระบุรี ระหว่างการเดินทางไปและกลับ พวกเราก็ร้องรำทำเพลงไปตามเรื่องตามราว บางครั้งผมก็ออกโขนออกลิเกไปบ้างข้างๆ คูๆ เพื่อนมันคงเห็นแววตั้งแต่ตรงนั้น ก็นับว่ามันตาถึงทีเดียว

พอผมรับมอบหมายภาระหน้าที่มาก็ลองมานั่งขีดๆ เขียนๆ ดู ก็อย่างที่บอกคือผมไม่ได้มีความรู้เรื่องการแสดงอะไรมาก่อนที่พอจะออกโขนร้องลิเกหรือเล่นลำตัด ตลอดจนเล่นงิ้วในบางโอกาสได้บ้าง ก็อาศัยจด ๆ จำ ๆ และมั่ว ๆ จากที่เคยดูเคยฟังมา ประกอบกับผมชอบเขียนกลอนเป็นทุนอยู่แล้ว การแต่งละครล้อเลียนการเมืองของผมจึงต้องอาศัยเอาความรู้เก่า ๆ เหล่านี้แหละมาหากิน การแสดงวันนั้น ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่ามันเป็นอะไรกันแน่ จะเป็นลิเกก็ไม่ใช่ เพราะมีบทร้องลิเกอยู่ท่อนเดียว แล้วก็ใช้บทเจรจาของโขนใส่ลงไป อยู่ๆ ก็มีขับเสภาโผล่ออกมา เผลอ ๆ ก็แทรกด้วยการร้องงิ้ว ร้องลำตัด และเพลงหุ่นกระบอก เรียกว่ามีครบทุกอย่างเท่าที่ผมพอจะร้องได้ ความที่เคยเขียนกลอนมาก่อน การจะจับสัมผัสของบทร้องที่คุ้นหูมาแต่เด็กจึงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร ส่วนเรื่องงิ้วที่แต่งออกมาได้ ก็ด้วยสมัยเด็ก ๆ แม่ผมติดงิ้วงอมแงม ทุก ๆ ปีบ้านผมที่ต่างจังหวัดจะมีการแสดงงิ้วปีละ 2-3 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 4-5 คืน ผมก็เลยต้องติดสอยห้อยตามแม่ไปนั่งอยู่หน้าเวทีเป็นประจำ บางคืนเลิกเร็วหน่อยก็เที่ยงคืน ถ้างิ้วเรื่องไหนยาวหน่อย อาจจะเลิกเอาตีหนึ่งตีสอง ทำนองเพลงงิ้วและท่วงทำนองบทเจรจาของพวกงิ้วนี้แหละที่ผมงัดออกมาใช้ในตอนนั้น

เขียนบทเสร็จก็หนักใจกับการแสดง ปัญหาคือจะเอาใครแสดง ผมแก้โดยไล่ต้อนเอาเพื่อนฝูงในกลุ่มนั่นเอง มีน้อยคนมาด้วยความสมัครใจ ส่วนใหญ่ถูกบังคับขู่เข็ญให้จำต้องจำยอม ในบรรดานักแสดงจำเป็นรุ่นแรกของผมนี้เท่าที่พอจะเป็นที่รู้จักกันเห็นจะมี “รสนา” แห่งโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองอยู่ด้วยคนหนึ่ง โดยเจ้าหล่อนถูกจับให้รับบท “คุณหญิงเห่อศักดิ์” (ล้อเลียน คุณหญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ รมต.คมนาคม ในยุคนั้น) อีกคนที่มีบทบาทมากคือ วีระ ปิ่นบุตร หรือ “เช” ของเพื่อน ๆ (เดี่ยวนี้เจ้า ‘เช’ คนนี้เป็นทนายความ)

พอเขียนบทและมีนักแสดงแล้ว ปัญหาก็ตามมาว่าใครจะเป็นคนร้อง คนพากย์ เพราะตัวผมเองก็ต้องออกไปแสดงอยู่หน้าเวที เครื่องดนตรีประกอบการร้องรำก็ไม่มี ในที่สุดเพื่อนที่แสนดีผู้ชักนำผมเข้าสู่วงการก็พาผมขึ้นไปที่ชุมนุมดนตรีไทยของมหาวิทยาลัย ขอร้องให้เพื่อนของเพื่อนที่อยู่ชุมนุมนั้นร้องและเล่นดนตรีอัดใส่เทปไว้ พอเวลาแสดงจริงก็เปิดเทปไว้ และให้ตัวแสดงอ้าปากพะงาบ ๆ และออกท่าทางตามไปคล้าย ๆ กับการร้องเพลงแบบลิปซิ๊งในยุคหลัง ๆ ผมมารู้เอาภายหลังว่าเพื่อนของเพื่อนที่ช่วยผมร้องและเล่นดนตรีอัดเทปในคราวนั้นคือ “ป่อง ต้นกล้า” นักดนตรีและนักร้องนำของวงดนตรีไทยเพื่อชีวิต “ต้นกล้า” ที่มีบทบาทมากในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

แก้ปัญหาเรื่องเสียงร้องและพิณพาทย์ไปได้ ผมก็เริ่มซ้อมบรรดานักแสดงจำเป็นทันที ตำแหน่งผู้กำกับเป็นของผมโดยปริยาย เพราะเป็นคนเขียนบทเอง ซักซ้อมกันอยู่สองวันก็ถึงวันแสดงจริง พอผมเห็นจำนวนผู้ชมในคืนนั้น จิตใจของผมพลันฝ่อลงถนัด เพราะมากมายกว่าที่ผมคิด อีกทั้งผมเองก็ไม่เคยเหยียบย่างขึ้นเวทีเพื่อการแสดงอะไรมาก่อนเลยในชีวิต เพียงแค่ว่าออกไปร้องเพลงหน้าห้องเรียนในวิชาขับร้องตอนเรียนอยู่ชั้นประถมผมก็ปากคอสั่นจนจำเนื้อเพลงแทบไม่ได้เสียแล้ว แต่คืนนั้นพอขึ้นเวที จะเป็นเพราะซ้อมมาดี หรือเพราะแสงจากสป็อตไลท์ส่องตาจนมองไม่เห็นผู้ชมก็สุดจะเดา แทบทุกบททุกตอนเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้อย่างต่อเนื่อง

การแสดงจบลงด้วยความโล่งอกของทั้งผมและเพื่อน ๆ ที่ช่วยกันลุ้นอยู่หลังเวที ในตอนนั้นผมคิดว่ามันคือการแสดงบนเวทีครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในชีวิต ไม่มีใครคิดเลยว่าหลังจากก้าวขึ้นเวทีในคืนนั้นแล้ว จะมีการก้าวขึ้นๆ ลงๆ เวทีการแสดงต่าง ๆ อย่างสืบเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี และไม่เคยคิดเลยว่าบทละครที่เขียนขึ้น จำความรู้งู ๆ ปลา ๆ ที่ใช้แสดงในคืนนั้น จะยังผลให้เกิดละครอีกร่วมร้อยเรื่องตามมาอีกในภายหลัง

คืนนั้นหลังจากจบการแสดง ผมกับเพื่อนยังต้องช่วยกันรื้อเวที เก็บข้าวของเครื่องเสียงอยู่จนดึก เพื่อนผู้ชักนำผมเข้าสู่วงการเอ่ยขึ้นขณะที่เรากำลังช่วยกันเก็บของว่า “เฮ้ย มึงแสดงได้ดีนี่ ตั้งเป็นคณะละครเลยเป็นไง”

ผมรีบปฏิเสธ แต่แล้วอีกไม่กี่เดือนต่อมา ผมก็ต้องขึ้นเวทีอีกครั้ง และจากนั้นก็อีกหลายร้อยครั้ง ถี่ห่างตามจังหวะกระแสการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาในห้วงปี 2517-2519

เมื่อมองย้อนจากวันนี้ไป ก็อดที่จะขำไม่ได้ว่า ชีวิตในวงการละครของผมมีกำเนิดมาจาก เงินเพียง “สลึงเดียว” ที่รัฐบาลยุคนั้นจะปรับราคาค่าโดยสารรถเมล์

ซ้าย – ธีระศักดิ์ อัจจิมานนท์ (ตือ กงล้อ), สุขุม เลาหพูนรังษี (ดวงดาว รังสิยา), ปกรณ์ รวีวร (สาบสูญ มีผู้พบครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2542) ถ่ายที่บ้านพญาไท เมื่อครั้งที่ตือเปิดสอนดนตรีให้เพื่อนๆ ประมาณ พ.ศ. 2523-2524 // ขวา – สุขุม เลาหพูนรังษี ในปัจจุบัน

ประกายไฟไหม้ลามทุ่ง

คิดดูก็แปลกดี คณะละครของเราก่อตั้งขึ้นมาโดยไม่มีใครในคณะที่ร่ำเรียนหรือมีประสบการณ์ในทางการละครเลยแม้แต่คนเดียว คณะผู้ก่อตั้ง 3-4 คน นั่งประชุมกันที่ม้าหินข้างหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ด้านติดสนามหลวง หลังจากถูกเพื่อน ๆ รบเร้าให้ตั้งคณะละครขึ้น สืบเนื่องมาจากการแสดงในงานต่อต้านการขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ได้สองสามวัน

“มึงจะเอามั้ย” ผมถามไอ้เชเป็นคนแรก

“มึงเอา กูก็เอา” ไอ้เชตอบกวนๆ ตามสไตล์ของมัน และเพื่อนอีกสองสามคนก็ตอบด้วยคำพูดเดียวกับไอ้เช ทุกคนพร้อมใจกันโยนภาระการติดสินใจมาให้ผม

“งั้นถ้าพวกมึงเอา กูก็เอา” ผมจำได้ว่าหลุดปากออกไปอย่างนั้น แล้วคณะละครของเราก็ถูกสถาปนาขึ้นตรงนั้นอย่างไม่เป็นทางการ เราคิดชื่อคณะหลายต่อหลายชื่อ เรื่องชื่อคณะนี่ก็แปลก ผมตั้งใจจะให้ชื่อว่า “ตะวันแดง” แต่เพื่อน ๆ พากันทักท้วงว่ามัน “ซ้าย” เกินไปจนต้องเปลี่ยนมาเป็น “ตะวันเพลิง” เพื่อให้ลดความ “ซ้าย” ลงไปบ้าง ในใจผมยังติดใจชื่อ “ตะวันแดง” มากกว่า แต่ก็เอาวะ “ตะวันเพลิง” มันก็มีสีแดง ๆ เหมือนกัน จะซ้ายน้อยไปสักหน่อยก็คงไม่เป็นไร

ควรต้องบันทึกไว้ ณ ที่นี้ว่าในยุคหลัง 14 ตุลา 16 กระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์ยังเข้มข้นอย่างยิ่ง ถึงแม้กลุ่มเผด็จการทหารเต็มรูปแบบถูกไล่ตะเพิดออกนอกประเทศไปแล้วก็ตาม แต่การปลุกผีคอมมิวนิสต์ก็ยังถูกหยิบมาใช้อย่างต่อเนื่อง ทางด้านนิสิตนักศึกษาหัวก้าวหน้าในยุคนั้นก็ใช่ย่อย ยิ่งเคยถูกบีบอัดทางความคิดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดึงดันไปในทางตรงกันข้ามอย่างสุดขั้ว การจัดนิทรรศการ “จีนแดง” ที่ธรรมศาสตร์ พร้อมกับจัดพิมพ์สรรนิพนธ์ “เหมาเจ๋อตุง” หลัง 14 ตุลา 16 ไม่นานคงจะพอเป็นตัวอย่างได้ดี มีคนพูดว่า มันเหมือนลูกตุ้มนาฬิกา ยิ่งแกว่งไปทางขวามากเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มพลังงานศักย์ให้ตัวมันเองที่จะแกว่งมาทางซ้ายมากขึ้นเท่านั้นอันนี้ผมอยากให้คนในยุคนี้พึงระวังสังวรณ์ไว้ให้จงหนัก

กลับมาเรื่องชื่อคณะละครที่ได้ข้อยุติว่าจะให้ชื่อ “ตะวันเพลิง” แทนที่จะเป็น “ตะวันแดง” ก็อดน้อยใจไม่ได้ว่าในยุคนั้นเรามีข้อจำกัดมากมายเหลือเกิน ผิดกับยี่สิบกว่าปีให้หลัง ชื่อ “ตะวันแดง” “ดาวแดง” และชื่อที่เราเห็นว่าซ้ายๆ อีกหลายชื่อ กลายเป็นชื่อผับกลางกรุงได้อย่างสง่าผ่าเผย โดยไม่เห็นจะมีใครไปบอกว่ามัน “ซ้าย”

เมื่อประชุมก่อตั้ง ตะวันเพลิง เสร็จ เราก็เดินตัดสนามฟุตบอลตรงไปเลี้ยงฉลองคณะละครใหม่ของเราด้วยข้าวแกงที่ร้านจั๊ว ท่าพระจันทร์ ที่นั่นเราพบเพื่อนอีกกลุ่ม (ก็ไอ้กลุ่มที่เร่งเร้าให้ผมตั้งคณะละครนั่นแหละ) พอมันรู้ว่าเราเอาจริง มันก็เลยสั่งน้ำแข็งเปล่ามาเลี้ยงฉลอง (น้ำแข็งเปล่าสมัยนั้นแก้วละสลึงเดียว) ถ้าเป็นสมัยนี้คงต้องเปิดแชมเปญฉลองกันในโรงแรมชั้นหนึ่งไปแล้ว

ละครเรื่องที่สองในชีวิตผมชื่อเรื่อง “ไอ้เสือแดง” ผมคิดพล็อตเรื่องเอง เขียนเอง กำกับเอง แสดงเอง ตามเคย ดูเหมือนแสดงที่หอประชุมใหญ่ในธรรมศาสตร์ ในการจัดงานนิทรรศการ “โลกที่สาม” จากละครเรื่องนี้เองเราได้ “ดารา”ประจำคณะเพิ่มขึ้นมาอีก 2 คน คนแรกคือ “ปั้ม” (กฤษณพงษ์ นาคธน ปัจจุบันเป็นผู้กำกับภาพยนตร์) คนที่สองคือ “แอ๊ด” (อรทัย วิจิตรสุคนธ์ (วิฑูรธีรศานติ์) ปัจจุบันเป็นเถ้าแก่เนี้ยร้านหนังสือและร้านอาหารหลายแห่งที่จันทบุรี)

เริ่มกันที่ “แอ๊ด” ก่อน ผมดึงแอ๊ดเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ใน ตะวันเพลิง ด้วยเหตุผลเดียวคือ “หน้าแก่” เหมาะที่จะรับบทเป็นแม่ (ซึ่งเจ้าหล่อนยังคงค่อนขอดผมอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้) ในละครเรื่อง “ไอ้เสือแดง” เธอลงทุนซื้อหมากซื้อพลูขึ้นไปนั่งเคี้ยวปากแดงบนเวทีอย่างสมจริงสมจัง และจากละครเรื่องนี้เองที่ทำให้เธอไม่สามารถรับบทอื่นได้อีกเลยนอกจากเป็น “แม่” เรียกว่าพอแจกบทละครเรื่องใหม่ให้ปั๊บ เป็นอันไม่ต้องบอกเลยว่าใครจะเป็น “แม่” ในเรื่องนั้น

ส่วน “ปั้ม” ถูกดึงตัวมาจากรามคำแหงโดยเพื่อนอีกคน ที่จริงปั้มเรียนหลายแห่ง ดูเหมือนจะเคยเรียนครูที่วิทยาลัยครูที่ไหนสักแห่ง แต่จนแล้วจนรอดผมก็ไม่รู้ว่าปั้มของเราจบจากสถาบันไหน และด้วยปั้มของเราคนนี้เองที่ช่วยเพิ่มสีสันให้ “ตะวันเพลิง” อย่างมากมาย เพราะปั้มมีลูกอำเจ็บ ๆ ให้เพื่อน ๆ ในคณะได้ครื้นเครงอยู่ไม่ขาด ปั้มพูดได้เป็นน้ำไหลไฟดับ ปั้มมีมุขมัน ๆ ไว้แสดงขัดตาทัพในขณะที่วงดนตรีที่จะแสดงยังตั้งสายกีตาร์ไม่เสร็จ หนักเข้าปั้มจึงกลายเป็นโฆษกและผู้ดำเนินรายการให้คณะละครและคณะดนตรีแทบทุกคณะในช่วงนั้น บทบาทสุดท้ายบนเวทีของปั้มเท่าที่ผมทราบคือถูกยิงจากด้านหลังเข้าที่ขาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถูกยิงพร้อม ๆ กับ “หมู กรรมาชน” (มือเบส วงกรรมาชน) ถ้าอยากรู้รายละเอียดมากกว่านี้ เห็นทีจะต้องไปถามเอาจาก “คุณปั้ม” ที่ผับ “ตะวันแดง” กันเอาเอง

“ปั้ม” แสดงได้แทบทุกบทบาท เป็นพระเอก เป็นชาวนา เป็นจิ้กโก๋ แมงดา ไปจนถึงตัวตลก และเป็นคนเดียวในคณะที่มีความรู้เรื่องการละครมากที่สุด เพราะเคยเข้าไปคลุกคลีกับพี่ชายที่แสดงละครอยู่กับกลุ่ม “พระจันทร์เสี้ยว”

ผมยังคงรับหน้าที่เขียนบทละคร และกำกับการแสดง มีแอ๊ดเป็นคนแกะลายมือจากบทละครต้นฉบับ (หาคนทำงานนี้ได้ยากมาก) และพิมพ์แจกให้ตัวละคร ปั้มเป็นตัวละครและบางครั้งช่วยกำกับฯ อีกทั้งช่วยต่อเติมเสริมบทให้บ้าง ละครเรื่อง “ไอ้เสือแดง” ของเราแสดงผ่านไปได้ด้วยความทุลักทุเล ถ้าวัดเป็นคะแนนก็เรียกว่าสอบได้คาบเส้น เพราะความอ่อนหัดในเชิงศิลปการละคร ผมเริ่มตระหนักถึงข้ออ่อนของตนเอง แต่ก็จนใจไม่รู้จะหันไปพึ่งใครจริง ๆ

วันหนึ่ง…ปั้มมาชวนผมไปดูละครเรื่อง “ชนบทหมายเลข 2” ของกลุ่มละครจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี อาจารย์คำรณ คุณะดิลก เป็นโต้โผช่วงนั้นตระเวนแสดงที่โรงละครคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมจึงได้พบว่าความรู้ทางการละครของผมมันแค่หางอึ่งจริง ๆ

ผมยังคงใช้วิชา “ครูพักลักจำ” จากละครเรื่องนี้ เพื่อเอามาใช้เป็นต้นแบบเขียนละครของตัวเอง เทคนิคที่ได้มากที่สุดคือการแสดงละครที่ไม่ต้องมีฉาก ไม่ต้องมีอุปกรณ์ประกอบฉาก

ภาพโปสเตอร์กำหนดการแสดงละครของ “ตะวันเพลิง”

หลังจาก “ไอ้เสือแดง” ก็มีเรื่อง “ฉันไม่อยากเป็นดอกไม้” แสดงในงานวันสตรีสากล ปี 2518 ในเรื่องนี้มีการเปรียบเทียบการซื้อขายผู้หญิงในซ่องโสเภณีกับการเลือกซื้อรองเท้าในร้านขายรองเท้า สร้างความฮือฮาให้ผู้ชมได้ไม่น้อย

ตัวแสดงในคณะที่ไม่อาจละเลยที่จะพูดถึงได้อีกสองคนคือ “ก้อย” กับ “ต้อ” (ปัจจุบัน ก้อย ศุภลักษณ์ สุวรรณประสพ ทำงานบริษัทโฆษณา ส่วน ต้อ จารุณี พลอยประสิทธิ์ เป็นแม่บ้าน) ทั้งสองถูกดึงเข้าร่วมใน ตะวันเพลิง ตั้งแต่เรื่อง “ฉันไม่อยากเป็นดอกไม้” ทั้งสองเดิมเป็นสมาชิกของชุมนุมนาฏศิลปของมหาวิทยาลัยฯ จำได้ว่าสองสาวศิษย์เก่าสตรีวิทย์มีผ้านุ่งโจนกระเบนสีแดงแจ๋อยู่คนละผืน เพื่อไว้นุ่งไปซ้อมรำนาฏศิลป์ทุกวันพุธ คืนหนึ่งหลังจากผมกับเจ้าเชและเพื่อนอีกสองสามคนกลับจากติดโปสเตอร์ถึงมหาวิทยาลัยก็เหงื่อไหลไคลย้อยเหนียวเหนอะไปทั้งตัว ก็ได้ขโมยผ้านุ่งสีแดงของสองสาวนี่แหละฉีกแบ่งเป็นสี่ชิ้นใช้ต่างผ้าขาวม้า นุ่งลงไปอาบน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ท่ามกลางแสงเดือนแสงดาวเป็นที่สำราญใจ นับแต่นั้น ทั้งสองสาวก็เลยไม่ได้ไปฝึกรำนาฏศิลป์อีกเลย

ก้อยกับต้อผลัดกันรับบทเป็น “นางเอก” ของละครแทบทุกเรื่องของตะวันเพลิง คุณูปการที่สำคัญของทั้งสองสาว นอกจากด้านการแสดงที่หาตัวจับยากแล้ว ความสวยความน่ารักของเธอทั้งสองยังช่วยให้คณะของเราได้ตัวนักแสดงหนุ่ม ๆ มาเพิ่มอีกหลายคน โดยผมไม่ต้องไปงอนง้อกะเกณฑ์ใครต่อใครเหมือนเมื่อก่อน

ปิดภาคฤดูร้อนปี 2518 ปั้มมาแจ้งข่าวดีให้พวกเรารู้ว่า อาจารย์คำรณ คุณะดิลก จะมาถ่ายทอดวิชาการละครให้กับพวกเรา โดยใช้สถาบันเกอเต้ (สมัยนั้นอยู่แถวถนนพระอาทิตย์) เป็นที่ฝึกสอนและทำ Workshop ผมและคณะจึงได้เข้าร่วมอบรมวิชาการละครอย่างจริง ๆ จัง ๆ เป็นครั้งแรก ใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนก็จบหลักสูตรแบบเร่งรัด

จาก “ตะวันเพลิง” คณะละครที่ไม่มีพื้นฐานความรู้ทางการละครแม้แต่น้อยก็ได้ผ่านเข้าสู่มิติใหม่ สามารถประกาศได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า “….เราก็ศิษย์มีอาจารย์ หนึ่งบ้าง” ขอขอบคุณปั้มและอาจารย์คำรณมา ณ ที่นี้

พร้อม ๆ กับการจบหลักสูตรการละครภาคฤดูร้อน ความคิดเห็นที่แตกต่างกันบางอย่างทำให้ปั้มและพรรคพวกจากรามคำแหง แยกตัวไปตั้งคณะละคร “แฉกดาว” ซึ่งส่งผลต่อมาเป็น “เปลวเพลิง” และอีกหลายคณะจากอีกหลายสถาบัน หลังจากขาดปั้ม ตะวันเพลิง ตกอยู่ในสถานะที่ค่อนข้างล่อแหลมต่อการล่มสลาย จนมีหลายคนพูดว่ามันกำลังจะกลายเป็น “ตะวันพัง” เสียแล้ว พวกเราหลายคนรู้สึกท้อถอยและสับสนกับความขัดแย้งดังกล่าว หลายคนเสนอให้ไปชวนปั้มกลับมา แต่จะด้วยทิฐิของผมหรือตอนนั้นเราเริ่มมีความรู้พื้นฐานการละครเพิ่มขึ้นแล้วก็ไม่ทราบได้ เราจึงยังเดินหน้าสร้างงานละครในนามของ ตะวันเพลิง สืบมา

เมื่อมองย้อนจากวันนี้ไป ผมก็ดีใจที่ไม่ได้ไปชวนปั้มกลับมาร่วมกับ “ตะวันเพลิง” เพราะหากทำอย่างนั้นก็อาจไม่เกิด “แฉกดาว” หรือ “เปลวเพลิง” และกลุ่มละครอื่น ๆ ในกาลต่อมา แนวรบทางวัฒนธรรมด้านการละครก็คงจะกระจุกตัวอยู่เพียงแห่งเดียว ไม่แพร่กระจายกว้างออกไปเท่าที่ควรจะเป็น พูดแบบซ้าย ๆ (ยุคโน้น) ได้ว่าปรากฏการณ์ “ประกายไฟไหม้ลามทุ่ง” ของวงการละครเพื่อชีวิตอาจจะเกิดมาจากจุดนี้กระมัง

ยึดชุมนุมฯ

ตะวันเพลิง ยังมีสมาชิกที่สำคัญอีกอย่างน้อย 2 คน หนึ่ง คือ “ติ๊ก” (วิเชียร บุญญพิเชษฐ์) และ “ท้วม” (ชัยพร วินิจฉัยพัฒนกิจ) ทั้งสองเข้ามาเป็นสมาชิกของตะวันเพลิง โดยการฉุดกระชากลากถูของผม (เดิมทั้งสองสังกัดอยู่ชุมนุมปาฐกถาและโต้วาที) เหตุที่ทั้งสองยอมร่วมหอลงโรงกับคณะของเรามีเพียงประการเดียว คือความที่เคยเป็นเพื่อนร่วมห้องเดียวกันมาตั้งแต่ชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ปัจจุบัน ท้วมเป็นนักขายประกันที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เมื่อครั้งที่เขามาขายประกันให้ผม เขาพูดถึงหลัก “ตลาดธรรมชาติ” ให้ผมฟังบ่อยๆ เมื่อลงมือเขียนบันทึกนี้ ผมจึงพบว่าการขยายตัวของคณะละครของเราหนีไม่พ้นกฎเกณฑ์ของ “ตลาดธรรมชาติ” ไปได้

ในการแสดงละครของเรา ท้วมมักรับบทเป็นนายทุน ด้วยคุณสมบัติทางกายภาพ คือเขามีรูปร่างท้วมสมชื่อ ส่วนติ๊ก ผอมสูงท่าทางยียวนเป็นธรรมชาติ จึงได้รับบทจิ๊กโก๋ หรือตัวผู้ร้ายเป็นประจำ และพร้อมกับบทที่ได้รับในละครแต่ละเรื่อง ท้วมยังได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเรื่องระบบไฟ (แสง) ส่วนติ๊กรับผิดชอบเรื่องเพลงประกอบ (เสียง) ไปพร้อมๆ กันด้วย

ประมาณต้นปี 2518 คณะละครของเราก็มีทุกอย่างเกือบครบตามที่คณะละครเล็ก ๆ คณะหนึ่งที่เพิ่งก่อตั้งพึงมี กล่าวคือ ผู้เขียนบทและผู้กำกับ (ผมควบทั้งสองตำแหน่ง) มีตัวละครประจำ 5-6 คน มีเวทีสำหรับแสดง (วิกประจำคือหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ ส่วนวิกจรก็คือบนเวทีไฮด์ปาร์ค อาจจะเป็นที่ท้องสนามหลวง ริมถนนหน้าโรงเรียน หรือแม้แต่หน้าสถานฑูตสหรัฐฯ ที่ถนนวิทยุ) ส่วนฉากและอุปกรณ์อื่นๆ นั้นไม่มีความจำเป็นเพราะคณะละครของเราต้องการสิ่งเหล่านี้น้อยมาก ที่มีใช้อยู่ก็เพียงหมวกตำรวจ 1 ใบ กระบอกเก็บเงินของกระเป๋ารถเมล์ 1 อัน ปืนแก๊ปเด็กเล่นที่มักจะด้านในฉากที่สำคัญๆ หนึ่งกระบอก ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในย่ามใบเก่งของแอ๊ด ซึ่งรับผิดชอบเป็นฝ่ายพัสดุของคณะโดยปริยาย

ปัจจัยเดียวที่พวกเราขาดแคลนมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อตั้งคณะขึ้นมาคือ สถานที่ซ้อมละคร แต่ก็ดูเหมือนพวกเราไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรกับมันมากนัก เพราะเราสามารถใช้ที่ว่าง ๆ ใต้ตึกศูนย์ภาษาฯ หรือไม่ก็มุมใดมุมหนึ่งของสนามหญ้าหน้าโดมเป็นที่ซ้อมละครได้เสมอ เพื่อนนักศึกษาและอาจารย์ที่เดินผ่านไปมามักจะมองพวกเราด้วยสายตาประหลาดๆ แต่นั่นก็มิได้ทำให้พวกเราเก้อเขินเลยแม้แต่น้อย ก็ในเมื่อคณะละครของเราไม่เคยจำกัดเวทีของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นหอประชุมใหญ่ฯ ลานโพธิ์ ริมถนนหน้าทำเนียบรัฐบาล หรือแม้กระทั่งริมฟุตบาทของถนนสายต่าง ๆ แล้วทำไมเราจะต้องมาพะวงกับสถานที่ซ้อมเล่า

แต่อีกนั่นแหละ การซ้อมละครอย่างประเจิดประเจ้อเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นผลดีแก่ทั้งพลพรรคของเราและโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการเรียนการสอนของนักศึกษาและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแน่ ลองนึกภาพดูว่าขณะที่อาจารย์และเพื่อนนักศึกษากำลังเรียนกำลังสอนกันอยู่อย่างสงบ ก็มีเสียงร้องไห้โฮๆ จากนักศึกษาหญิงคนหนึ่งดังขึ้นที่ลานโล่งข้างตึก จนอาจารย์ต้องพักการสอนและวิ่งออกมาถามว่าเกิดอะไรขึ้น ผลลัพธ์คือพวกเราต้องกลั้นหัวเราะกันแทบแย่ในขณะที่อาจารย์ผู้หวังดีเดินกระฟัดกระเฟียดจากไป เมื่อรู้ว่านั่นเป็นเพียงการซ้อมละคร

ด้วยเหตุที่คณะละครของเราเป็นคณะละครที่อิสระ ไม่ได้สังกัดอยู่ในชุมนุมกิจกรรมที่เป็นทางการใด ๆ ของมหาวิทยาลัย เราจึงไม่มีสถานภาพเพียงพอที่จะใช้บริการด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัยได้เลย อาการทุลักทุเลในแทบทุกด้านจึงเกิดขึ้นจนเป็นเรื่องปกติของคณะละครของเรา “การซ้อมใหญ่” (Technical Run – Through) จึงต้องนับว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการแสดงจริง ซึ่งนั่นย่อมทำให้เกิดปรากฏการณ์แปลกๆ บนเวทีเสมอๆ ครั้งหนึ่งเราไปแสดงเรื่อง “ฉันไม่อยากเป็นดอกไม้” เนื่องในวันสตรีสากล ที่โรงละครเอ.ยู.เอ. ซึ่งในยุคนั้นนับได้ว่าเป็นโรงละครที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง ตัวละครคนหนึ่ง (อย่าให้เอ่ยนาม ณ ที่นี้เลย) ใสเสื้อกลับตะเข็บออกไปแสดงได้หน้าตาเฉย โดยไม่เฉลียวใจกับเสียงหัวเราะคิกคักที่ดังมาจากผู้ชม สาเหตุของเรื่องคือ เมื่อเปลี่ยนฉาก โรงละครแห่งนี้จะปิดไฟมืดสนิท เราต้องเปลี่ยนเสื้อผ้ากันในความมืดโดยใช้ประสาทสัมผัสที่เหลืออยู่ และผลของมันก็ปรากฏออกมาดังกล่าวข้างต้น

เรื่องทุลักทุเลในคณะละครของเรายังมีอีกมาก ถ้าจะเขียนคงได้หนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มเขื่อง แต่ที่เจ็บแสบที่สุดดูเหมือนจะเป็นการแสดงละครต่อต้านจักรพรรดินิยมอเมริกา (จำชื่อเรื่องไม่ได้เสียแล้ว) ตามคิวแล้วในตอนจบของเรื่องจะต้องมีการชูธงชาติไทย ฝ่ายอุปกรณ์ประกอบฉาก (แอ๊ด) ก็ดีใจหาย เตรียมธงชาติไว้เรียบร้อยโดยไปค้นได้จากตู้เก่าๆ บนตึกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) พอถึงฉากจบของเรื่องอันเป็นฉากไคลแม็กซ์สำคัญ ติ๊กก็วิ่งเข้าไปหลังเวที คว้าธงชาติผืนที่เตรียมไว้ออกมาชูขึ้น ขณะนั้นผมนอนตายอยู่กลางเวที นัยว่าแสดงเป็นประชาชนไทยที่ถูกสังหารโดยลัทธิจักรพรรดินิยม พอหันไปเห็นธงชาติที่ติ๊กคลี่ออกเท่านั้น ผมแทบอยากจะตายอยู่ตรงนั้นจริงๆ เพราะแทนที่จะเป็นธงชาติไทย กลับเป็นธงชาติฝรั่งเศสไปเสียฉิบ ฉากจบที่ควรจะเป็นไคลแม็กซ์ของเรื่อง จึงกลายเป็นฉากแอนตี้ไคลแม็กซ์ไปพร้อม ๆ กับเสียงฮาจากผู้ชม

มาทราบความจริงในภายหลังว่า ธงชาติที่แอ๊ดเตรียมไว้นั้นได้มาจากตู้เก่าของชุมนุมฝรั่งเศส และบังเอิญสีของธงชาติที่พับไว้เป็นอย่างดีก็มีสีแดง ขาว น้ำเงิน เหมือนกับธงชาติไทย ถ้าไม่คลี่ออกดูจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเป็นธงชาติของชาติไหน นอกจากนั้นยังมีควันหลงจากเหตุการณ์นี้ที่ขำไม่ออก ก็คือ อีกสองสามวันให้หลังสถานีวิทยุแห่งหนึ่ง (เข้าใจว่าเป็นสถานีวิทยุยานเกราะ) ได้ออกอากาศโจมตีนักศึกษาว่ามีการแสดงละครปลุกระดมให้มีการปฏิวัติโค่นล้มราชบัลลังก์ เหมือนการปฏิวัติฝรั่งเศส…

คณะละครของเราทำงานแบบ “แบกะดิน” ต่อไปจนกลางปี 2518 จะเป็นด้วยงานละครของเราพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ หรือเพราะไม่มีตัวเลือกอื่นก็สุดจะเดาได้ จู่ๆ “พี่โป๊ะ” (วัชรพันธุ์ จันทรขจร) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหาร อมธ. ฝ่ายวัฒนธรรมก็เรียกผมไปคุย พี่โป๊ะบอกว่าชุมนุมนาฏศิลป์และการละครในความรับผิดชอบของฝ่ายวัฒนธรรม อมธ.ไม่มีผลงาน มีแต่รายชื่อกรรมการ 6-7 คน และงบประมาณสองพันกว่าบาท จึงอยากให้พวกเรา ตะวันเพลิง เข้าไปยึดชุมนุมฯ นี้เสีย ถ้าจะพูดให้ทันสมัยก็ต้องใช้คำว่า Take-Over

ปฏิบัติการยึดชุมนุมฯ จึงเริ่มขึ้นโดยการเกณฑ์เพื่อนฝูงทั้งที่เป็นและไม่เป็นสมาชิกของ ตะวันเพลิง เขียนใบสมัครเป็นสมาชิกชุมนุมฯ แล้วก็เปิดการประชุมเลือกกรรมการชุดใหม่ กรรมการชุมนุมนั้นเท่าที่จำได้ นอกจากผมรับบทประธานชุมนุมฯ แล้ว พวกเราแทบทุกคนก็ได้กลายเป็นกรรมการกันโดยถ้วนหน้า ไม่ว่า “ติ๊ก ท้วม ก้อย ต้อ และมน” (มณฑาทิพย์ ต่อมาภายหลังคือภรรยาของติ๊ก)

สิ่งที่เราได้รับจากการยึดชุมนุมฯ ในครั้งนั้นคืองบประมาณสองพันบาท ตู้เหล็กเก็บเอกสารเก่า ๆ หนึ่งใบ ซึ่งเมื่องัดออกมาดูในภายหลังจึงพบว่ามีเพียงชุดแต่งตัวประหลาด ๆ เช่นชุดหมีที่ซีกหนึ่งเป็นสีแดง อีกซีกหนึ่งเป็นสีเหลือง และหัวจดหมายที่พิมพ์อย่างดีว่า “ชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” อยู่อีกปึกใหญ่

เงินงบประมาณของชุมนุมที่มีอยู่สองพันบาทนี้มีผลต่อการก่อกำเนิดงาน “สัปดาห์ละครเพื่อชีวิต” ในกาลต่อมาเป็นอย่างมาก แต่ที่สำคัญกว่าก็คือเราได้ชุมนุมฯ อันมีผลให้เรากลายสภาพจากคณะละครไร้สังกัดนอกกฎหมาย (เรียกให้เท่ๆ ว่า ‘กลุ่มอิสระ’) ไปเป็นชุมนุมที่ถูกต้องตามกฎหมายของมหาวิทยาลัย

และหลังจากนั้นไม่นาน จะโดยการจัดการของใครผมจำไม่ได้เสียแล้ว ชุมนุมฯ ของเราก็รุกคืบไปอีกก้าวโดยเข้ายึดห้องปีกขวาชั้นล่างของตึก อมธ. เป็นที่ตั้งของชุมนุมฯ โดยได้ยึดชุมนุมบริดจ์ (นัยว่าชุมนุมนี้นอกจากเล่นบริดจ์แล้ว ยังเป็นแหล่งมั่วสุมของนักศึกษาที่ชมชอบการพนันได้เสียทุกประเภท ตั้งแต่ไพ่รัมมี่ไปจนถึงปั่นแปะ จนทางมหาวิทยาลัยต้องแจ้งตำรวจมาจับหลายครั้ง) กลุ่มหรือชุมนุมของเราจึงมีสถานที่เป็นของตัวเองเสียที นักศึกษารุ่นหลัง (รหัส 18 เป็นต้นมา) จึงไม่มีโอกาสได้เห็นการซ้อมละครใต้ถุนตึกศูนย์ภาษาฯ หรือสนามหญ้าหน้าตึกโดมอีก

เมื่อเขียนถึงบรรทัดนี้ มีสองสิ่งที่ผมอยากให้ท่านผู้อ่านระลึกไว้ หนึ่งคือชื่อ “ชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ซึ่งต่อมาในเดือนตุลาคม 2519 คือชุมนุมที่มีบทบาทอย่างสำคัญต่อกรณีนองเลือด 6 ตุลาคม 2519 อีกประการหนึ่งก็คือ คำพูดของมหากวีจีน หลู่ ซิ่น ที่ว่า “ทางคือที่ที่ไม่มีทาง แต่เมื่อเราย่ำเข้าไป มันก็กลายเป็นทางทั้งสิ้น” และคำพูดของ เหมา เจ๋อ ตง ที่ว่า “ขอเพียงแต่เรามีคน เราก็มีทุกสิ่งทุกอย่าง”

สัปดาห์ละครเพื่อชีวิต

เมื่อเรายึดชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร อมธ. ได้แล้ว เราต้องยืนอยู่บนสองสถานภาพ หนึ่งคือเป็น ตะวันเพลิง ที่พร้อมจะเคลื่อนไหวไปแสดงในทุกๆ แห่งที่มีการประท้วงการต่อสู้ของประชาชน อีกด้านหนึ่งเราต้องเป็น “ชุมนุมนาฎศิลป์และการละคร” ของนักศึกษาที่ต้องผลิตผลงานเพื่อก่อผลสะเทือนให้เพื่อนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย บทบาทหลังนี้เราไม่คุ้นเคยเอาเสียเลย ด้วยเหตุที่คณะละครของเราเกิดและเติบโตขึ้นมาในม็อบและบนเวทีไฮด์ปาร์ค ซึ่งการแสดงในลักษณะนั้น ไม่ต้องอาศัยศิลปการแสดงหรือเทคนิคที่สูงส่งอะไรนัก เพียงสามารถสื่อความหมายที่เราต้องการสู่กลุ่มผู้ชมได้ ก็นับว่าประสบความสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว

แต่สำหรับงานศิลปเพื่อเพื่อนนักศึกษาทั่ว ๆ ไปนั้น เทคนิคดังกล่าวดูเหมือนจะไม่เพียงพอ หลายคนปฏิเสธการแสดงแบบ “แบกะดิน” ของเรา เพราะเมื่อกล่าวถึงละคร เขาคุ้นชินกับละครเวทีที่มีองค์ประกอบด้านเทคนิค ไม่ว่าฉาก แสง สี และอื่นๆ จนไม่สามารถทำใจยอมรับการนำเสนอละครในแนวของเราได้ เมื่อเรามีสถานภาพเป็นชุมนุมฯ ภาระหนักประการแรกๆ จึงได้แก่ ทำอย่างไรจะสร้างความยอมรับให้กับเพื่อนนักศึกษาของเราได้

พวกเรามีพื้นฐานจากการเข้า Workshop กับอาจารย์คำรณเพียงช่วงสั้นๆ ซึ่งความรู้เพียงเท่านั้นไม่สามารถยกระดับงานของเราให้สูงขึ้นสู่มาตรฐานที่นักศึกษาทั่วไปจะยอมรับได้ ความจำเป็นเฉพาะหน้าทำให้เราต้องหาทางออกด้วยการพึ่งตนเองในทุกวิถีทางที่พอจะนึกออก

เราเคยส่งเพื่อนบางคนไปลงทะเบียนเรียนวิชาการละคร กับสาขาวิชาการละครของคณะศิลปศาสตร์ แต่อาจารย์หัวหน้าสาขา ซึ่งในภายหลังทราบว่าเป็นหนึ่งในสมาชิกที่เอาการเอางานของกลุ่มขวาจัดที่ชื่อ “กลุ่มนวพล” ก็ปฏิเสธไม่ยอมให้ลงทะเบียนเรียน

ในยุคนั้น ละครเวทีดีๆ หาดูได้ไม่ง่ายนัก นานๆ จะมีละครของนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ให้ดูสักเรื่อง ซึ่งแน่นอน ถ้าไม่ติดธุระอะไรจริงๆ ผมจะไม่เคยพลาดแม้แต่สักเรื่องเดียว ทั้งที่ค่าบัตรผ่านประตูของละครแต่ละเรื่องจะแพงจนน่าตกใจ ภายหลังผมจึงค้นพบว่ายังมีอีกสถานที่หนึ่งที่ผมสามารถเรียนรู้วิชาการแสดงได้ในราคาที่ไม่แพงนัก นั่นคือ “โรงหนัง”

ช่วงนั้น ผมดูหนังอย่างบ้าคลั่ง มีเพื่อนคนหนึ่งที่เป็น “คอหนัง” ซึ่งเรามักไปด้วยกันเป็นประจำคือ “เยล” (สมชาย ชินรักษาปัจจุบันเป็นทนายความ) วันไหนที่ผมรู้สึกอยากดูหนังก็แค่เอ่ยปากชวนเยล “เฮ้ย ! เยลไปดูหนังกัน” เยลเพียงแต่พยักหน้ารับ แล้วเราก็เดินออกไปทางหน้าหอประชุมใหญ่ฯ แวะแผงหนังสือพิมพ์เพื่อเปิดดูโปรแกรมหนังก่อนที่จะกระโจนขึ้นรถเมล์ไป หรือมิฉะนั้น เราก็พากันไปที่สยามสแควร์ซึ่งมีโรงหนังดีๆ อยู่ติดกันถึง 3 โรง โดยที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า วันนี้จะดูหนังเรื่องอะไร

เมื่อพูดถึงเยล อดไม่ได้ที่จะระลึกถึงข้อเสนออย่างผู้มองการณ์ไกลของเขา เยลเคยเสนอให้ผมรวมเล่มบทละครของตะวันเพลิง ออกพิมพ์ขาย หรือทำสำเนาเก็บไว้ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยฯ เผื่อว่ามีการรัฐประหารขึ้นอีกก็ยังมีร่องรอยผลงานของเราเหลืออยู่ ผมเพียงแต่รับคำอย่างไม่กระตือรือร้นกับข้อเสนอนี้มากนัก แต่ลึก ๆ ผมก็แอบคิดถึงการรวมเล่มบทละครของตนเองมาโดยตลอด แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เคยทำตามที่คิดไว้เลย

ผมไม่รู้ว่าคนอื่นเขาดูหนังกันอย่างไร รู้แต่ว่าผมอยากดูหนังเพื่อค้นหาเทคนิคมาใช้ทำละคร กับหนังดีๆ บางเรื่องผมถึงกับยอมเสียเงินตีตั๋วดูถึง 5-6 รอบ โดยรอบแรกๆ เพื่อดูการวางโครงเรื่องและการตัดต่อ รอบต่อๆ มาเพื่อดูการแสดงอารมณ์ในแต่ละซีน รอบท้ายผมจะตั้งใจดูภาพรวมของหนังทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก การให้แสง และเพลงประกอบ จนน่าจะพูดได้ว่า สำหรับผมแล้ว วิทยาลัยการแสดงของผมอยู่ที่สยามสแควร์

“พี่รัศมี เผ่าเหลืองทอง” เป็นอีกคนหนึ่งที่มักเอื้อเฟื้อให้ความรู้เกี่ยวกับงานละครแก่ผมเสมอ ผมรู้จักพี่รัศมีผ่านทาง “ปุ้ม” (วัชรี เผ่าเหลืองทอง) น้องสาวแท้ๆ ของเธอ พี่รัศมีมักจะให้ผมยืมตำรับตำราและบทละครที่เธอเคยเขียนและกำกับเมื่อครั้งที่ยังเรียนอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ อยู่เนืองๆ มีบทละครอย่างน้อยสองเรื่องกับตำราการละครอีกจำนวนหนึ่งที่ผมยืมมาจากพี่รัศมี และสูญหายไปในช่วงเดือนตุลาคม 2519 ในภายหลังเมื่อเธอติดตามทวงคืน ทำให้ผมรู้สึกละอายใจอย่างที่สุด

กลางปี 2518 นั่นเอง “กลุ่มพระจันทร์เสี้ยว” กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง โดยการนำของอาจารย์คำรณ และได้จัดแสดงละครเรื่อง “แม่” ของ แม็กซิม กอร์กี้ ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีปั้ม ต๊ะ พิณ และเพื่อนอีกหลายคนที่เคยร่วม Workshop รุ่นเดียวกันเข้าไปสมทบด้วย หลังจากดูละครเรื่องนั้น ผมกลับบ้านด้วยความรู้สึกที่ค่อนข้างรุ่มร้อน ผมเกิดกิเลสเสียแล้ว เฝ้าแต่พร่ำบอกตัวเองว่า จะต้องทำละครอย่างนี้ให้ได้สักวันหนึ่ง ละครที่มีองค์ประกอบด้านต่างๆ ครบครัน สมจริงสมจัง ฯลฯ แต่ก็มีข้อแม้ในใจอยู่ว่าจะต้องเป็นเรื่องไทย ๆ (ผมจะหงุดหงิดทุกครั้งที่ดูละครที่แปรมาจากละครฝรั่ง เป็นความหงุดหงิดที่ติดตัวผมมาตราบเท่าทุกวันนี้อย่างแก้ไม่หาย)

หลังจากนั้นราว 2-3 อาทิตย์ ผมก็เขียนบทละครเรื่อง “ระเบียงของแม่” เสร็จ เป็นละครเรื่องแรกที่ผมตั้งใจเขียนให้เป็นละครเวที ไม่ใช่ละคร “แบกะดิน” อย่างที่ผ่าน ๆ มา แต่ภายใต้เงื่อนไขความจำกัดจำเขี่ยในทางเงินทุน เครื่องไม้เครื่องมือ และประสบการณ์ที่พวกเรามีอยู่ในตอนนั้น เราทำได้อย่างดีที่สุดก็แค่แสดงบนเวทีหอประชุมใหญ่ โดยใช้บอร์ดมากั้นเป็นฉากตามมีตามเกิด โดยไม่ต้องพูดถึงอุปกรณ์ด้านแสงเสียงอื่นๆ ทำให้ความหวังที่จะทำละครเวทีให้ได้สักครั้งในชีวิต ดูจะริบหรี่ลงไปอีก

ปีงบประมาณทางการเงินของ อมธ. กำลังจะสิ้นสุดลง แต่ชุมนุมฯ ของเรายังไม่ได้ใช้งบประมาณดังกล่าวเลยแม้แต่บาทเดียว รุ่นพี่ที่เป็นกรรมการฝ่ายการเงินจึงเร่งรัดให้เราทำโครงการเพื่อใช้งบประมาณนี้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว มิฉะนั้น อมธ. จะต้องส่งเงินงบประมาณจำนวนนี้คืนแก่มหาวิทยาลัยตามระเบียบ พวกเราจึงต้องตาลีตาเหลือกเรียกประชุมกันเพื่อคิดโครงการทำอะไรสักอย่าง ในที่ประชุม ผมโพล่งออกไปว่าอยากทำละครเวที หลังจากอภิปรายกันเพียงเล็กน้อย ทุกคนก็มีมติเห็นด้วยเป็นเอกฉันท์ โครงการ “สัปดาห์ละครเพื่อชีวิต” จึงถูกร่างขึ้นอย่างเร่งด่วน

นับว่าเป็นความกล้าอย่างบ้าบิ่นของพวกเราโดยแท้ เพราะนอกจากพวกเราจะไม่เคยทำละครเวทีจริง ๆ แม้แต่เรื่องเดียว ผมยังบังอาจกำหนดให้ทำละครทีเดียว 3 เรื่อง โดยขอใช้หอประชุมเล็กเป็นสถานที่จัดแสดง ตั้งเป้าว่าจะแสดงเรื่องละประมาณ 3 วัน วันละรอบในวันปกติ และสองรอบในวันเสาร์และอาทิตย์ ทั้งที่เรามีเวลาเตรียมการกันจริง ๆ ไม่ถึงเดือน

ผมเขียนบทละครเพิ่มอีกสองเรื่องคือ “บ้านร้าง” ในนามของ “ดวงดาว ศรัทธามั่น” และ “กลับไปสู่คันไถ” ในนาม “ตอฟาง” ซึ่งเมื่อรวมกับ “ระเบียงของแม่” ที่เขียนในนาม “ตะวันเพลิง” ก็ครบตามจำนวนที่ต้องการพอดีเป็นอันว่าปัญหาเรื่องบทละครเป็นอันตกไป (เหตุที่ต้องใช้นามปากกาหลากหลาย เพราะต้องนำเสนอโครงการให้ทางมหาวิทยาลัยพิจารณา ซึ่งต้องแนบบทละครไปด้วย และคงจะไม่ดีนักที่จะแสดงละครทั้ง 3 เรื่อง ของผู้แต่งเพียงคนเดียว)

ในทางเทคนิค อุปกรณ์ด้านแสงเช่นเครื่องหรี่แสง (Dimmer) และดวงไฟชนิดต่าง ๆ ดูเหมือนจะเป็นอุปกรณ์ที่มีปัญหามากที่สุดเพราะเราไม่อาจขอหยิบยืมจากสถาบันใดได้เลย และงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดเต็มที ก็ไม่เพียงพอที่จะเช่าจากใครได้

แต่ในที่สุด เราก็ได้ ฉัตรชัย และ ทรวง เพื่อนจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าบางมด ช่วยจัดสร้าง Dimmer ให้ด้วยราคาเพียงพันกว่าบาท ซึ่งเมื่อเรานำไปใช้จริง ปรากฏว่ามันทำงานได้ดีไม่แพ้เครื่องจากต่างประเทศราคาหลายหมื่น ในส่วนของดวงไฟ หลังจากที่ผมไปสำรวจไฟหลากหลายชนิดที่ใช้ในวงการละคร ผมก็ตัดสินใจออกแบบแคน (Can) หรือจะเรียกว่า กระป๋องไฟ ก็พอได้ โดยเอาแบบไปจ้างร้าน ทำรางน้ำสังกะสีแถวพรานนกทำให้ได้ไฟชนิดนี้มากว่า 20 ดวง ในราคารวมประมาณห้าหกร้อยบาทเท่านั้น เจ้ากระป๋องไฟที่ว่านี้เกือบทำให้ผมเซ่นสังเวยชีวิตให้กับวงการละคร เพราะหลังจากประกอบเสร็จ ผมก็จับมันลองฉายไปฉายมาอยู่ในชุมนุมของเรา ปรากฏว่ามีอยู่ใบหนึ่งที่ไฟรั่วด้วยความบกพร่องของผมเอง ทำให้ผมถูกไฟดูดจนยืนตัวแข็งทื่อ ร้องก็ร้องไม่ออก ปล่อยก็ปล่อยไม่ได้ ดีที่ท้วมตั้งสติได้ทัน รีบดึงปลั๊กไฟออกเสียก่อน ผมจึงรอดตายมาได้อย่างหวุดหวิด

“จิ๋ว” (สุรศักดิ์ เพทายรำลึก ปัจจุบันมีอาชีพเกี่ยวกับกิจการท่องเที่ยว) เพื่อนจากฝ่ายบอร์ดของ อมธ. รับอาสาเข้ามาเป็นธุระจัดการเรื่องของฉากละคร จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ฉากละครทั้ง 3 เรื่อง ถูกสร้างขึ้นภายในวงเงินที่เหลืออยู่เพียงพันกว่าบาทเท่านั้น

สมัยนั้น หอประชุมเล็กยังต้องใช้สำหรับการเรียนการสอนด้วย เพราะอาคารเรียนไม่พอกับความต้องการ วันสุกดิบก่อนการแสดง ผมยังจำได้ว่า จิ๋ว ขออนุญาตอาจารย์ที่ทำการสอนอยู่เข้าไปทาสีฉากละคร ที่ติดตาผมก็คือ ภาพที่อาจารย์นั่งบรรยายอยู่หน้าฉากละคร ในขณะที่จิ๋วกำลังนั่งบ้างนอนพังพาบบ้าง ทาสีฉากละครอย่างเอาเป็นเอาตายอยู่เบื้องหลัง ผมไม่เชื่อว่าสมัยนี้จะมีภาพเช่นนี้ให้เห็นได้อีกไม่ว่าที่ไหน

คืนสุดท้ายก่อนการแสดง เราระดมเพื่อนฝูงทั้งหมดเข้าไปช่วยจัดการกับฉาก อุปกรณ์ประกอบฉาก และระบบแสงเสียงกันแบบโต้รุ่ง โดยเฉพาะด้านแสงที่พวกเรามีความรู้น้อยที่สุด เพื่อนหลายคนจาก “แฉกดาว” ก็สละเวลามาช่วยเราด้วยอีกหลายแรง

ในรอบปฐมทัศน์ อาจจะเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์เรายังทำได้ไม่ดี ทำให้คนดูค่อนข้างบางตา ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้เก็บค่าผ่านประตูเลยแม้แต่บาทเดียว ทำเอาพวกเราใจเสียไปตามๆ กัน แต่พอรอบถัดๆ มา ผู้คนไม่ทราบว่ามาจากไหน แน่นไปหมดขนาดต้องนั่งกับพื้น ทั้ง ๆ ที่อากาศในหอประชุมก็แสนจะร้อนอบอ้าว เพราะเราไม่มีงบประมาณพอที่จะจ่ายค่าเปิดแอร์ให้ทางมหาวิทยาลัย

พวกเราบางคนเสนอให้ตั้งกล่องรับบริจาคไว้ที่หน้าประตูทางเข้า ซึ่งผมเองไม่สู้เชื่อมั่นว่าจะได้อะไรกับวิธีการนี้มากนักแต่ก็ลองดู ผลปรากฏว่าในบางรอบของการแสดง เมื่อเราเปิดกล่องรับบริจาคก็พบแบงค์ร้อยอยู่ในกล่องครั้งละ 2-3 ใบ ปะปนกับแบงค์สิบแบงค์ยี่สิบ และเศษสตางค์อีกจำนวนไม่น้อย ในอีกมุมหนึ่งเราก็วางแผงขายน้ำกระเจี๊ยบที่ช่วยกันต้มเองในราคาแก้วละ 1 บาท ผลปรากฏว่า หลังจากสัปดาห์ละครเพื่อชีวิตจบลง เงินที่ได้จากกล่องรับบริจาครวมกับกำไรที่ได้จากการขายน้ำกระเจี๊ยบแล้วเป็นเงินกว่า 5 พันบาท เท่ากับเราได้กำไรจากงานนี้ถึงสองพันกว่าบาท ซึ่งผลลัพธ์เช่นนี้ เราไม่เคยคาดฝันมาก่อนเลย

“สัปดาห์ละครเพื่อชีวิต” ผ่านพ้นไปโดยที่เราไม่ได้มีการประชุมสรุปงาน เพราะทุกคนต่างเหนื่อยล้าเกินกว่าจะมาถกเถียงอภิปรายอะไรกันอีก มันเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่พวกเรา ตะวันเพลิง หรืออีกนัยหนึ่ง “ชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร” ได้แสดงละครเวทีที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ เพราะหลังจากนั้นไม่นานสถานการณ์ทางการเมืองก็ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ ตะวันเพลิง จึงต้องหวนกลับไปสู่การแสดงละคร “แบกะดิน” อีกครั้ง ทิ้งฉากและอุปกรณ์แสงเสียงที่พะรุงพะรังไว้เบื้องหลัง

ในส่วนตัวผมเอง ภาวะอัดอั้นทางใจได้รับการปลดปล่อยแล้วโดยสิ้นเชิง “ละครเวที” ซึ่งครั้งหนึ่งผมเคยใฝ่ฝันอยากทำและท้าทายผมมาโดยตลอดก็ได้สำเร็จลุล่วงไปแล้วในงานนี้ หลังจากนั้นไม่นาน ผมเคยแอบเลียบ ๆ เคียง ๆ ถามเพื่อนฝูงในคณะว่า

“เรามาลองทำหนังเพื่อชีวิตกันสักเรื่องไหม?” คำตอบก็คือ “มึงจะบ้าอีกแล้วหรือ” 

ทำเอาผมต้องเก็บงำความคิดเรื่องการสร้างหนังไว้อย่างมิดชิด จนถึงวันนี้ผมยังเชื่อว่า ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ขึ้นเสียก่อน ขบวนการนักศึกษาคงจะมีหนังเพื่อชีวิตไว้ฉายสลับการอภิปรายไฮด์ปารค์อย่างแน่นอน…

บทละครในคอห่าน

“อาเฮีย” (อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวานิชย์) “หน่อย” (อนุพงษ์ พงษ์สุวรรณ) “ต้อม” (ชลธิรา ศรีนาคอ่อน) และเพื่อนรุ่นน้องอีกหลายคนทยอยเข้ามาเป็นสมาชิกของชุมนุมฯ และของ ตะวันเพลิง เรื่อย ๆ ตั้งแต่กลางปี 2518 และเมื่อกรรมการชุมนุมฯ ชุด “ยึดชุมนุมฯ” สิ้นสุดวาระลง หน่อยก็ได้รับเลือกให้เข้ามาเป็นประธานชุมนุมฯ รุ่นต่อมา ในขณะที่ผมและกรรมการชุดเก่าทุกคนถอยออกมาเป็น ตะวันเพลิง อีกครั้ง

ในช่วงนั้น ที่ตั้งชุมนุมฯ ของเรายังเป็นที่พักพิงของวงดนตรีไทยเพื่อชีวิต “ต้นกล้า” ที่มีป่องเป็นโต้โผและวงดนตรี “กงล้อ” อีกด้วย การยืมตัวซึ่งกันและกันจึงเกิดขึ้นเสมอๆ เช่น ก้อยอาจจะไปร้องเพลงให้วงกงล้อ ผมอาจไปช่วยตีฉิ่งตีฉาบให้วงต้นกล้า กลายเป็นเรื่องปกติ จนในที่สุดเราแทบแยกไม่ออกว่าใครอยู่สังกัดวงไหนคณะใด

ย่างเข้าปี 2519 เค้าลางแห่งความรุนแรงทางการเมืองทวีขึ้นทุกขณะ การปาระเบิดใส่การชุมนุมประท้วง การลอบสังหารผู้นำนักศึกษา กรรมกร และชาวนา เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยจนกลายเป็นเรื่องสามัญ สมาชิกคนหนึ่งของวงกรรมาชน (ปู่) ถูกลอบสังหาร คำขวัญ “เลือดต้องล้างด้วยเลือด” ถูกเปล่งดังครั้งแล้วครั้งเล่า กระแสการ “เข้าป่าจับปืน” ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายกันบ่อยยิ่งขึ้น พวกเราหลายคนไม่เว้นแม้แต่ตัวผม ต้องพกพาอาวุธป้องกันตัว แม้จะรู้ดีว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย

ละครหลายเรื่องของเราในช่วงปี 2519 จึงมีเนื้อหารุนแรงขึ้นตามสถานการณ์ที่เป็นจริงของสังคม ทั้งที่โดยส่วนตัวผมเองขอสารภาพไว้ตรงนี้ว่า “ความกลัว” เริ่มเข้าเกาะกุมหัวใจอย่างเงียบ ๆ หลังจากสังเกตพบว่ามีคนคอยติดตามผม จากมหาวิทยาลัย ถึงบ้านหลายครั้ง ผมเคยเขียนกลอนไว้บทหนึ่ง ยังจำได้ดี…

“เมื่อความตายกรายมาถึงหน้าบ้าน
ความห้าวหาญที่เคยมีก็หนีหาย
เหลือเพียงความสับสนทุรนทุราย
ความวุ่นวายเข้าสุมประชุมประชัน”

บางครั้งอยากจะเลิกทำกิจกรรมทั้งหมดแล้วหันหน้ากลับเข้าห้องเรียน แต่จนแล้วจนรอด ผมก็ไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ ไม่ใช่เพราะห้าวหาญอะไร แต่เป็นเพราะผมกับห้องเรียนแปลกแยกกันเกินกว่าจะอยู่ร่วมกันได้เสียแล้ว

กลางปี 2519 ตะวันเพลิงได้รับมอบหมายให้ทำละครเพื่อแสดงในงานวันกรรมกร โดยมีเวลาเตรียมตัวเพียงอาทิตย์เดียว ผมต้องเขียนบทละครอย่างหามรุ่งหามค่ำ เช้าก็ต้องรีบซ้อมและกำกับละคร ตกเย็นต้องกลับไปเขียนละครฉากต่อไปจนดึกดื่นอีก ละครเรื่องนั้นชื่อ “พบกันใหม่เมื่อได้ชัยชนะ” จำได้แต่เพียงเลาๆ ว่า ฉากสุดท้ายผู้นำกรรมกรหญิง (แสดงโดยก้อย) ถูกติดตามไล่ล่าจนไม่สามารถทำงานในเมืองต่อไปได้ จึงอำลาคนรักและเพื่อนฝูงเพื่อมุ่งสู่การต่อสู้ในเขตป่าเขา แล้วเสียงเพลง “ภูพานปฏิวัติ” ก็ดังขึ้น ในขณะที่ม่านค่อยๆ เลื่อนปิดลง

ผมไม่ได้สังหรณ์ใจสักนิดว่า ละครเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องสุดท้ายที่ ตะวันเพลิง ได้แสดงบนหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ เวทีที่เราคุ้นเคยที่สุด หนึ่งอาทิตย์เต็มๆ กับการเขียนบทและกำกับละครเรื่องนี้อย่างเอาเป็นเอาตายทำให้ผมอ่อนเพลียมาก ตั้งใจว่าเมื่อกลับถึงบ้านจะนอนหลับให้เต็มอิ่ม แต่เมื่อล้มตัวลงนอนเข้าจริง ๆ ผมกลับนอนไม่หลับ ทำอย่างไรก็นอนไม่หลับ รุ่งเช้ารู้สึกใจหวิวๆ มือไม้สั่นผิดปกติ เดือดร้อนทางบ้านต้องพาไปหาหมอ หมอจ่ายยานอนหลับให้สองซอง (จวบจนทุกวันนี้ 20 ปีแล้ว ผมยังต้องใช้ยานี้อยู่อย่างสม่ำเสมอ)

ตะวันเพลิงและชุมนุมฯ ยังทำงานละครต่อมา ส่วนใหญ่เป็นละครเล็กๆ บนเวทีปราศรัย เพราะการชุมนุมประท้วงมีอยู่อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย โชคดีที่ในช่วงหลัง คณะละครและวงดนตรีเพื่อชีวิตผุดพรายขึ้นมาเป็นดอกเห็ด เราจึงไม่ต้องรับบทหนักเหมือนช่วงแรก ๆ

ซ้าย – ศพ 2 พนักงานไฟฟ้าที่นครปฐม // ขวา – การแสดงละครสะท้อนเหตุการณ์สังหาร 2 ช่างไฟฟ้าที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

เดือนสิงหาคม 2519 จอมพลประภาสกลับเข้าประเทศไทย มีการยิงกันหน้าหอประชุมใหญ่ฯ มีนักศึกษาตายไป 2 ศพ และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง แต่หน่วยรักษาความปลอดภัยของเราก็จับกุม กระทิงแดง ที่แทรกซึมมาได้คนหนึ่งและได้อาศัยชุมนุมฯ ของเราเป็นที่สอบสวนโดยปิดประตูหน้าต่างมิดชิด เราไม่รู้เลยว่าเขาสอบสวนกันอย่างไร รู้เพียงว่ารุ่งเช้า พวกเราต้องระดมกันเช็ดล้างคราบเลือดเป็นลิ่มๆ ในชุมนุมของเราอย่างขนานใหญ่ “เลือดต้องล้างด้วยเลือด”อาจจะมีความหมายทางนามธรรมเป็นอย่างหนึ่ง แต่สำหรับพวกเราชาวตะวันเพลิง กลับต้องหิ้วถังน้ำมาล้างเลือดอย่างเป็นรูปธรรม!

เดือนตุลาคม 2519 จอมพลถนอมบวชเป็นเณรกลับเข้ามาประเทศไทยอีก พนักงานไฟฟ้าที่นครปฐมถูกทำร้ายจนตายขณะออกติดโปสเตอร์คัดค้าน แล้วยังถูกเอาศพไปแขวนคออย่างทารุณ ภาพร่างของกรรมกรทั้งสองคนถูกแขวนคอในสภาพลิ้นจุกปากปรากฏเต็มหน้าหนังสือพิมพ์ในเช้าวันรุ่งขึ้น องค์การนักศึกษาหลายสถาบันเตรียมการเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้ง แต่ติดอยู่ว่าช่วงเดือนตุลาคมเป็นช่วงสอบประจำปีของเกือบทุกสถาบัน เราจึงได้รับมอบหมายให้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยงดการสอบ

วันที่ 4 ตุลาคม 2519 ผมมาถึงชุมนุมฯ ตอนสายๆ เฮียวิโรจน์ หน่อย และพรรคพวกอีกหลายคนกำลังถกเถียงกันว่าจะจัดการแสดงที่ลานโพธิ์เพื่อเรียกร้องให้งดสอบอย่างไร ตอนที่ผมเข้าไปนั้นบางคนกำลังเสนอว่าให้ทำหุ่นเป็นรูปคนแล้วแขวนคอ ด้วยความที่เคยดูหนังมามาก ผมจำได้ว่ามีหนังเรื่องหนึ่งพระเอกถูกจับติดคุกเลยใช้อุบายแกล้งแขวนคอตัวเองโดยใช้ปมเชือกหลอก ๆ พอผู้คนเดินเข้ามาก็เตะผู้คุมแล้วแหกคุกออกไปได้ ผมจึงเสนอให้ใช้คนจริงๆ แสดงอย่างในหนังเรื่องนั้นเพื่อให้ดูสมจริงและได้อารมณ์มากกว่า เราก็เลยช่วยกันคิดหาวิธีการต่างๆ เพื่อจำลองการแขวนคอให้สมจริงที่สุด ไม่นานนักเราก็ทำสำเร็จโดยอาศัยผ้าโปสเตอร์เก่า ๆ ผูกโยงลำตัวแบบพลร่ม แล้วทำห่วงคล้องคอหลอ ๆ เมื่อลองแขวนดูก็เหมือนจริงดีมาก

เราจะต้องจัดการแสดงนี้ในตอนพักกลางวัน โดยกำหนดสถานที่ไว้ที่ลานโพธิ์ บังเอิญมีต้นไม้เล็กๆ อยู่ต้นหนึ่งข้างต้นโพที่เราหมายตาไว้ ปัญหาก็คือต้นไม้ต้นนี้เล็กมาก ดังนั้นผู้ที่จะแสดงบทนี้จะต้องมีน้ำหนักเบา มิฉะนั้นกิ่งไม้จะรับน้ำหนักไม่ไหว คนแรกที่อาสารับบทนี้คืออาเฮียวิโรจน์ เพราะเฮียดูเหมือนจะตัวเล็กที่สุดในชุมนุมฯ ส่วนอีกคนเรายังหาไม่ได้ ก็พอดี “เจี๊ยบ” (อภินันท์ บัวหภักดี) นักดนตรีของวงต้นกล้าเดินเข้ามาในชุมนุม

ถึงแม้ เจี๊ยบ จะเป็นนักรักบี้ แต่ก็ตัวเล็กและน้ำหนักเบา พวกเราจึงช่วยกันคะยั้นคะยอให้เจี๊ยบรับบทบาทนี้ แต่เจี๊ยบกลับรีบปฏิเสธแล้วเดินหนีไป ทำเอาพวกเราเกือบหมดหนทาง มีเด็กขายหนังสือพิมพ์อายุราว 12-13 ปี คนหนึ่งป้วนเปี้ยนอยู่แถวนั้น เป็นที่คุ้นตาของพวกเรารีบเสนอตัวเอง “พี่เอาผมเถอะ ผมตัวเล็ก ผมแสดงได้” เราเกือบตัดสินใจใช้เด็กคนนั้นอยู่แล้ว แต่ก็ยังลังเลอยู่ว่าเขายังเด็กเกินไป อาจทำให้เสียเรื่องได้ ก็พอดีในอึดใจนั้นเจี๊ยบกลับเข้ามาในชุมนุมฯ อีกครั้งเพื่อหยิบของที่ลืมทิ้งไว้ เราก็เลยช่วยกันคะยั้นคะยอเจี๊ยบอีก คราวนี้ได้ผลเจี๊ยบใจอ่อนยอมเป็นหุ่นให้เราแขวนคอเวลากระชั้นเข้ามาทุกที ขณะที่คนอื่นช่วยกันเตรียมการเกี่ยวกับการผูกโยงตัวเจี๊ยบกับเฮียเป็นชุลมุน ผมก็นึกขึ้นได้ว่าน่าจะทำให้สมจริงสมจังยิ่งขึ้น โดยการแต่งหน้าแต่งตาให้เหมือนโดนซ้อมอย่างทารุณมาก่อน จึงรีบไปหยิบเครื่องสำอางที่เราใช้แต่งหน้าเวลาเล่นละครออกมาละเลงหน้าของเจี๊ยบและเฮียวิโรจน์โดยมีก้อยช่วยอยู่ด้วยอีกแรงหนึ่ง ที่ผมใช้คำว่าละเลงก็เพราะเราทำอย่างนั้นจริง ๆ คือเอาสีป้าย ๆ โปะ ๆ เอาลิปสติกแต้ม ๆ ให้เหมือนรอยฟกช้ำดำเขียว โดยไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่านั้นเลย

พอเตรียมการเสร็จ พวกเราก็ยกขบวนกันไปที่ลานโพ ก่อนที่เจี๊ยบจะถูกดึงขึ้นไปแขวนบนต้นไม้ ผมยังกระซิบบอกให้เจี๊ยบทำลิ้นจุกปากให้เหมือนรูปในหนังสือพิมพ์ พอเริ่มการแสดง ผมซึ่งไม่มีบทบาทอะไรก็ยืนสังเกตการณ์อยู่ห่าง ๆ มีนักศึกษา อาจารย์ และนักหนังสือพิมพ์ให้ความสนใจมามุงดูและถ่ายรูปกันมากมาย ผมยังนึกชมเจี๊ยบอยู่ในใจว่าแสดงได้ดี ทั้งที่เจี๊ยบไม่เคยร่วมแสดงละครกับพวกเรามาก่อนเลย

อภินันท์ บัวหภักดี ผู้แสดงละครที่ถูกแขวนคอ ซึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าแสดงละคนหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากภาพที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางฉบับมีใบหน้าคล้ายองค์รัชทายาท

แล้วการชุมนุมก็เริ่มขึ้น คืนวันที่ 5 ตึก อมธ. ทั้งตึก รวมทั้งชุมนุมฯของเรา ถูกกันไว้เป็นศูนย์บัญชาการ ชาวตะวันเพลิง และชุมนุมฯ ถูกไล่ออกมากางเต๊นท์อยู่ตรงซอกระหว่างตึก อมธ. กับตึกคณะนิติศาสตร์ ผมนึกในใจว่าคงเป็นการชุมนุมที่ยืดเยื้ออีกครั้งหนึ่ง จึงตั้งใจกลับบ้านไปเขียนบทละครเตรียมไว้ ผมบอกลาเพื่อน ๆ ในเต๊นท์ ขอตัวกลับบ้านประมาณ 6 โมงเย็น

คืนนั้นผมเขียนบทละครอยู่จนดึกโดยไม่ได้สนใจฟังวิทยุหรือดูโทรทัศน์เลย พอเขียนเสร็จก็กินยาแล้วก็หลับไป มารู้สึกตัวในตอนเช้าเมื่อมีเสียงเคาะประตูดังถี่ยิบ “เขายิงกันแล้ว อย่าไปธรรมศาสตร์นะ” เสียงของคุณอาและพี่สาวผมดังลั่น ผมรีบลุกขึ้นเปิดวิทยุฟังคร่าวๆ พอจับใจความได้ว่ามีการล้อมปราบที่ธรรมศาสตร์แล้ว ตอนนั้นผมไม่สนใจอะไรอีกแล้ว มีแต่ความห่วงใยเพื่อนๆ ที่อยู่ในนั้น ผมรีบแต่งตัวและโดดขึ้นรถเมล์มุ่งไปยังธรรมศาสตร์โดยไม่มีใครทัดทานผมได้

ผมลงรถเมล์ที่หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ เดินข้ามสะพานมายังแผงหนังสือข้างรูปปั้นพระแม่ธรณีฯ เห็นควันไฟลอยกรุ่นอยู่หลายหย่อม มีฝูงลูกเสือชาวบ้านมุงกันอยู่รอบควันไฟ จึงแทรกตัวเข้าไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น ภาพที่เห็นคือ ศพถูกเผานั่งยางอยู่กลางถนน โดยมีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มอภิรักษ์จักรี” และกลุ่ม “ลูกเสือชาวบ้าน” ยืนยิ้ม ยืนหัวเราะ บางคนเอายางรถยนต์โยนเพิ่มเข้าไปอีก ผมรู้ได้ในทันทีว่าความรุนแรงครั้งนี้ต้องหนักกว่าทุกครั้งที่เราเจอมา กึ่งเดินกิ่งวิ่งตัดสนามหลวงมายังฝั่งธรรมศาสตร์ ตอนนั้นเกือบ 9 โมงเช้าแล้ว ยังมีเสียงปืนดังรัวอยู่เป็นระยะ ๆ พวกลูกเสือชาวบ้านวิ่งหลบกระสุนหัวซุกหัวซุนทุกครั้งที่เสียงปืนดังขึ้น แต่ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเสียงปืนที่ดังอยู่นั้นเป็นเสียงที่เกิดจากการยิงเข้าไปมากกว่าการยิงออกมา ผมจึงเดินดูเหตุการณ์ต่อไปด้วยท่าทางเหมือนปกติ ที่ใต้ต้นมะขามต้นหนึ่งข้างหอประชุมใหญ่ ผมพบคราบเลือดเป็นรูปตัวคน ผมจะอธิบายอย่างไรดี มันเป็นรอยเลือดหมาดๆ บนพื้นดินที่มองเห็นได้ชัดว่าเป็นรูปร่างคน คล้ายๆ กับสีสเปรย์ที่ตำรวจจราจรฉีดพ่นไว้บนถนน เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนคนตาย จะต่างกันเพียงว่า รอยนี้ถูกฉีดพ่นโดยสีแดงของเลือดสดๆ อันธพาลคนหนึ่งบอกกับคนที่มาทีหลังว่า “เอามันไปเผาแล้ว” ผมยืนตัวแข็งทื่ออยู่ตรงนั้น ทำอะไรไม่ถูก

มีมือของคนคุ้นหน้าคนหนึ่ง เข้าใจว่าเป็นนักศึกษารามฯ ฉุดผมออกมาจากบริเวณนั้น เขาบอกให้ผมรีบกลับเสียก่อนที่พวกมันจะจำได้ ผมได้สติรีบเรียกแท็กซี่ตรงดิ่งกลับบ้านทันที

กลับถึงบ้านผมจัดเสื้อผ้าสองสามชุดกับแฟ้มบทละครของผมลงกระเป๋า แล้วกราบลาคุณอาและพี่สาว ทุกคนคงพอจะคาดเดาได้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น จึงไม่ทัดทานห้ามผมแม้แต่คำเดียว ผมหลบไปอยู่ที่แห่งหนึ่ง เย็นนั้นเองก็มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินออกอากาศทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์ทุกสถานี

รุ่งขึ้น ผมจึงได้รู้จากหน้าหนังสือพิมพ์ว่าสมาชิกชุมนุมฯ ของเรามี อาเฮีย หน่อย เจี๊ยบ และชาติ (บุญชาติ เสถียรธรรมมณี ผู้ช่วยค้นคิดวิธีการผูกโยงลำตัวตอนแสดงละครแขวนคอ) ถูกจับกุมพร้อมกับ สุธรรม แสงประทุม เลขาธิการศูนย์นิสิตฯ ในขณะขอเข้าพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) เพื่อแสดงความบริสุทธ์ใจต่อข้อหาว่า นักศึกษาแสดงละครแขวนคอองค์รัชทายาท

สองสามวันถัดมา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ก็ประกาศออกหมายจับบุคคลจำนวนมาก และในรายชื่อที่ต้องหมายจับนั้น พวกเราชาว “ชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร” มีชื่อของ “โมทย์”(ปราโมทย์ แสดงเป็นทหารในละครวันที่ 4) และผมรวมอยู่ด้วย ข้อหาที่ผมถูกยัดเยียดให้คือเป็นผู้แต่งหน้า (ให้เจี๊ยบ) เลียนแบบองค์รัชทายาท ผมฟังประกาศฉบับนั้นด้วยอาการเลื่อนลอยอย่างอาการของคนที่เสียขวัญสุดขีด เราไม่เคยเตรียมความคิดเลยว่าจะรุนแรงและโหดร้ายป่าเถื่อนถึงปานนี้ และยิ่งคาดไม่ถึงเลยว่าคณะละครของเรา และการแต่งหน้าเลียนแบบ “ละเลง” ที่ผมทำให้เจี๊ยบในวันนั้น จะกลายเป็นชนวนที่คณะรัฐบาลใช้อ้างในการปราบปรามนักศึกษาอย่างนองเลือด

ที่ที่ผมหลบอยู่นั้นเป็นห้องแถวสร้างใหม่ยังมีผู้อยู่อาศัยไม่เต็ม แต่ด้วยความเสียขวัญและเกรงว่าเจ้าของบ้านจะต้องเดือดร้อนไปกับผมด้วยหากทางการจับกุมผมได้ ผมจึงตัดสินใจทำลายบทละครในแฟ้มที่นำติดตัวมาด้วย ซึ่งรวมๆ แล้วเกือบร้อยเรื่อง เกือบร้อยเรื่องที่ผมเขียนมาตลอดเวลา 2 ปี จะเผาก็ไม่ได้ ผมจึงใช้วิธีฉีกมันออกเป็นชิ้นๆ แช่น้ำให้เปื่อย แล้วยัดลงไปในคอห่าน!

ผมราดน้ำตามลงไป…..ลงไป บทละคร “ตะวันเพลิง” ทั้งหมดของผมบัดนี้ถูกทำลายลงหมดสิ้นแล้ว น้ำตาผมไม่ไหลสักหยด มันคงไหลย้อนกลับเข้าไปข้างใน เคยมีบ้างในยามที่ผมท้อ ผมเหนื่อย ผมเพี้ยน อยากจะเลิกทำกิจกรรม แต่ผมก็รักบทละครของผม เก็บรักษามันไว้อย่างดีมาโดยตลอด แต่วันนั้นผมกลับต้องฉีกมันยัดลงคอห่านด้วยมือของตัวเอง

ถึงตอนนั้นสังคมไทยเหลือทางเลือกให้ผมน้อยเต็มที ถ้าผมต้องการอยู่ในเมืองก็ต้องอยู่อย่างคนนอกกฎหมายหลบๆ ซ่อนๆ ไม่วันใดก็วันหนึ่งก็คงต้องถูกจับเข้าคุกในข้อหาเดียวกับอาเฮีย หน่อย และเจี๊ยบ หรือมิฉะนั้นก็ต้องหนีเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ เวลาที่จะไตร่ตรองมีไม่มากนัก ข่าวการกวาดล้างจับกุมนักศึกษามีปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์แทบทุกวัน พอๆ กับข่าวว่าเพื่อนคนโน้นคนนี้เข้าป่าไปแล้วที่โน่นที่นี่

วินาทีที่เสร็จจากการฉีกทำลายบทละครของตัวเอง เป็นวินาทีที่ผมเลือกแล้วว่าหนทางข้างหน้าของผมจะอยู่ ณ ซีกฝ่ายใดของสังคม

ลาก่อนกรุงเทพฯ…….. ลาก่อนธรรมศาสตร์…….. ลาก่อน “ตะวันเพลิง”

สุขุม เลาหพูนรังษี
คณะกรรมการประสานงาน 20 ปี 6 ตุลา, ตุลากาล, ตุลาคม 2539, หน้า 154-183