ลูกโซ่ – ลูกศร

ในสังคมยุค Digital เรามักจะได้ยินถ้อยคำจาก “ผู้ใหญ่” ที่คอยแสดงความเป็นห่วงเป็นใยในตัวเด็กวัยรุ่นไทยอยู่เสมอ ก็น่าจะเป็นเช่นนั้นอยู่ เพราะสังคมปัจจุบันมันเปลี่ยนไปเร็วมากซะจนตามกันแทบไม่ทัน แฟชั่นก็หวือหวา สิ่งยั่วยุ ความรุนแรง ก็มีมากกว่าในสมัยก่อนนัก ท่านก็คงอดไม่ได้ที่จะเป็นห่วงเป็นใยกันไปตามประสาผู้หลักผู้ใหญ่

ประเด็นหลักๆ ที่มักจะถามไถ่กันมา ก็คงจะหนีไม่พ้นในเรื่องของบทบาทของวัยรุ่นไทยในสังคม การมีส่วนร่วมในด้านต่างๆ ทางสังคม ทางการเมืองที่ยังไร้ทิศทาง แต่ยังไม่วายที่จะถามหาการมีส่วนร่วมจากเยาวชน มีคำถามเกิดขึ้นมามากมายว่า เดี๋ยวนี้เยาวชนไทยไม่ใส่ใจสังคม แล้วเด็กไทยเขาทำอะไรกัน ?

ข้อกล่าวหาที่มีต่อเยาวชน คนรุ่นใหม่ วัยรุ่นที่ดูเหมือนจะเป็นข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นในทุกยุค ทุกสมัย อาจด้วยสาเหตุเนื่องจากปริมาณของเด็กวัยรุ่น (จริงๆ แล้วก็เป็นในทุกๆ วัย) ที่ทำกิจกรรม หรือมีบทบาทในสังคมมักจะเป็น “คนส่วนน้อย” อยู่เสมอๆ และท่ามกลางกลุ่มวัยรุ่นที่ตามกระแสแฟชั่น ใช้ชีวิตหรูหรา จากทุนของบุพการี ก็มิได้หมายความว่า เค้าเหล่านั้นจะนิ่งนอนใจและเฉยเมินต่อความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมสังคมทุกๆ คน อย่างสองสาว “ลูกโซ่” ปริตอนงค์ ถวัลย์วิวัฒนกุล และ “ลูกศร” วฤทธรัชต์ ถวัลย์วิวัฒนกุล แก้วตาดวงใจแห่งบ้านโฮป (Hope Family) ที่ไม่ว่าจะเป็นงานขับเคลื่อนทางสังคม หรือในแวดวงศิลปินพวกเธอก็มีส่วนร่วมได้ทั้งนั้น เป็นเมล็ดพันธุ์ใหม่ ความหวังใหม่ (New Hope) ในสังคมไทย

และกว่าจะมายืนตรงนี้ได้ เพราะมีหัวใจรักที่จะทำ พวกเธอเล่าว่าเพราะสมัยยังเด็กได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนชาวบ้านที่ จะนะ (จ.สงขลา) ทำให้มีโอกาสได้เห็นสังคมในแง่มุมที่ซับซ้อน ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเราอยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่คอยทำประโยชน์ให้แก่กัน จากวันนั้นก็ทำงานเกี่ยวกับส่วนนี้มาโดยตลอด วันนี้ในฐานะคนรุ่นใหม่เธอทั้งสองจะมาแง้มหัวใจให้รู้ว่า คนรุ่นใหม่มีวิธีคิด และจัดการอย่างไร? มีพื้นที่ในการมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน? พร้อมแสดงทรรศนะต่อคำถามที่ว่า เดี๋ยวนี้ วัยรุ่นไทย…ทำอะไรอยู่?

ลูกศร : “คือจริงๆ แล้วมันมี 2 มุมมองนะคะ อย่างที่เราทำงานตรงนี้มาหลายปีแล้ว ผู้ร่วมงานของเราไม่ได้เป็น เอ็นจีโอแก่ (เน้นสียง) ซะทีเดียว เป็นคนรุ่นใหม่นะ รุ่นเดียวกับเรา ขนาดคนที่สัมภาษณ์เรายังอายุน้อยกว่าพี่โซ่เลย (หัวเราะ) ในมุมมองก็คือว่าคนรุ่นใหม่ที่ทำงาน เพื่อสังคมมีไม่ใช่น้อยนะ แต่ว่าสังคมเขามองไม่เห็น ในยุคไฮเทคโนโลยีแบบนี้ สิ่งที่มองเห็นง่ายก็จะมาก่อนเสมอ เช่น สื่อที่เห็นอะไรง่ายๆ ก็จะได้รับการรับรู้ที่ไว ส่วนกิจกรรมที่เรารู้สึกว่าทำแล้วเหมือนปิดทองหลังพระ มักไม่ได้รับความสนใจ กลายเป็นเหมือนว่าไม่มีตัวตนอยู่ในสังคม

จริงๆ แล้วคนรุ่นใหม่เขาขับเคลื่อนกันอยู่ เพียงแต่สื่อไม่ได้ให้ความสนใจเท่านั้นเอง หรือบางทีให้ความสนใจแต่ไปอยู่ในกรอบแบบ เล็กๆ ไม่มีพื้นที่ให้มากมาย เช่น เวลาใครจะลงหนังสือพิมพ์ก็ต้องดูว่าข่าวเขาต้องขายได้ด้วย

ยกตัวอย่าง เราไปทำกิจกรรม โซ่ศร วงโฮป ลงไปเยี่ยมเยียนและร้องเพลงปลอบขวัญ ให้กับชาวจะนะ ที่ต่อต้านท่อก๊าซไทย – มาเลย์ และกำลังจะสร้างโรงไฟฟ้าอีกด้วย หากเทียบกับข่าว นางสาว กอไก่ แต่งตัวโป๊วววว….มากกกก แล้วล่ะก็ อะไรมันทำให้คนสนใจมากกว่า อะไรขายได้มากกว่า คนอยากอ่านข่าวไหน

เรากำลังลงไปร้องเพลงให้กับผู้ทุกข์ยาก ถามคนอีกกลุ่มหนึ่งเขาก็จะรู้สึกว่าเราไปทำ เราสร้างประโยชน์ ไปรับรู้ไปช่วยเหลือ แต่ถามว่าข่าวขายได้ไหม มันแทบไม่มีข่าวคนรุ่นใหม่ทำกิจกรรมดีๆ เลย เช่นลงไปช่วยชาวมอแกน ผู้ประสบภัย ซึนามิ ไปสอนหนังสือเด็ก ถ้าถามว่า มันมีไหมในสังคม มันมีนะคะ เขาก็เห็นแต่เขาก็ไม่ได้เผยแพร่”

นั่นเป็นเสียงสะท้อนจาก ลูกศร ที่ยืนยันว่า คนรุ่นใหม่ไม่ได้ทอดทิ้งสังคมไปไหน ตรงข้ามมีกลุ่มคนอยู่มากมายที่คอยทำอะไรดีๆ เพื่อสังคม เพียงแต่ขาดพื้นที่ที่จะสื่อสารกับคนในสังคมให้รับรู้เท่านั้นเอง

สวนกระแสหรือเปล่า? เพราะความที่มีความแตกต่างจากเด็กวัยรุ่นทั่วๆ ไปในวัยเดียวกัน ที่ยังคร่ำเคร่งอยู่กับตำรา หรือไม่ก็หลงใหลไปกับกระแสวัฒนธรรมข้ามชาติ ไม่ว่ารสนิยมแบบตะวันตก หรือกระแสเกาหลีฟีเวอร์ที่มีอยู่ในขณะนี้ ที่ผู้ใหญ่หลายท่านมกลัวว่า มันกลืนกินบ้านเราไปทั่วทุกซอกมุม ในขณะที่ทั้งสองคนยังยืนยันแนวดนตรีเพื่อชีวิต ตามแบบฉบับของ (Hope Family) และหันมาใส่ใจสังคมในมิติของความรุนแรง หรือการเมือง

ลูกโซ่ : “ถ้าเกิดถามว่าสวนกระแสรึเปล่าอันนี้ต้องถามคนอื่น ว่าเราสวนกระแสไหม จริงๆ เราสองคนก็เป็นแค่เด็กวัยรุ่นธรรมดา ไม่ได้ทำตัวแปลกแยก จากคนอื่นเนอะ (หันไปทางลูกศร) แต่ผู้ใหญ่จำกัดบทบาทของวัยรุ่นหรือเปล่า คำว่าวัยรุ่น…จริงๆ แล้วมันควรจะแค่ไหน มันควรที่จะอยู่แค่การไปเที่ยวดูหนังฟังเพลง กลับบ้าน ถึงเวลาก็ไปสอบรึเปล่า แต่งตัวแนวๆ เท่านั้นหรือ นั่นคือบทบาทที่ผู้ใหญ่ไปจำกัดรึเปล่า จริงๆ แล้วเรามีโอกาสที่จะเปิดให้คนรุ่นใหม่ๆ เค้าได้ทำมากมายกว่านี้ไหมได้ทำอะไรเพื่อสังคมไหม ได้คิด ได้ลงชุมชน…

ทุกวันนี้คือสื่อที่เราเห็น ไม่ว่าจะทางทีวีหรือจะเป็นอะไรก็ตาม มันทำให้เกิดความรู้สึกในตัววัยรุ่น และผู้ปกครองว่า วัยรุ่นมีความคิดแค่นี้ แต่ความจริงมันไม่ใช่ บางทีเด็กวัยรุ่นบางคนเขา อาจจะไม่ได้มีความคิดแค่นั้นก็ได้ แต่ความที่เขาได้รับการปลูกฝังจากสื่อหรือสภาพแวดล้อมว่า…วัยรุ่นต้องมีพฤติกรรมแบบนี้นะ ถึงจะสมวัย พอทำอะไรที่คิดว่ามันดูจริงจัง หรือเป็นสิ่งที่ควรทำให้แก่สังคม ก็อาจมองว่าสวนกระแส ทั้งๆ ที่มันเป็นสิ่งที่เราควรจะทำอยู่แล้วในสังคม เป็นหน้าที่ที่เราควรจะรับผิดชอบสังคมบ้างก็กลับกลายเป็นว่า มันไม่ใช่หน้าที่ของวัยรุ่น แต่เป็นหน้าที่ของคนอื่น

คือมันอาจมีหลายปัจจัยในสังคมที่ทำให้มันมีความเปลี่ยนแปลง และก็มีความคิดที่ว่า วัยรุ่นมีบทบาทในสังคม ในการรับผิดชอบทางสังคมน้อยจากเมื่อก่อน”

การศึกษากับงานอาสา ปัจจุบันนอกจากงานของโฮปแล้ว ลูกโซ่ ก็มีงานในลักษณะ กราฟฟิคเฮ้าส์ ที่มีชื่อเก๋ๆ ว่า “เท็ดดีโซ่ดีไซน์” (TediSo DeSign) ซึ่งเป็นงานอิสระ ประเภท สิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ ตามสาขาที่จบมา คือนิเทศศาสตร์ สาขาโฆษณา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ส่วน ลูกศร ยังเรียนอยู่ที่ คณะดุริยางค์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ชั้นปีที่ 3 แล้ว เธอเล่าว่าไปเรียนแค่วันเดียวจริงๆ นอกนั้นวันไหนอยากไปก็ค่อยไป

ครอบครัวดนตรี โฮป แฟมิลี่

“ตอนแรกก็รู้สึกว่าไม่ค่อยมีปัญหานะ ปัญหามันอยู่ตรงที่ ระบบการศึกษาของไทยต่างหาก” ลูกศร เริ่มเกริ่นถึงปัญหา ระหว่างการเรียนกับการทำงาน เพราะตอนนี้นอกจากงานแสดงดนตรีแล้ว ยังมีกิจกรรม งานเคลื่อนไหวต่างๆ รวมทั้งการเป็นพรีเซ็นเตอร์ของ แอมเนสตี้ ประเทศไทย ว่ามีผลกระทบต่อการเรียนอย่างไร

ลูกศร : “คือระบบการศึกษาของไทย ยังไม่ค่อยสนับสนุนให้ทำกิจกรรม หรือทำงานต่างๆ เพื่อสังคม เช่นเราหยุดเรียนไป เขาก็ไม่รับรู้ว่าเราไปทำอะไร รู้แค่เพียงว่าเราขาดเรียนนะ มีใบลามาล่ง ไม่ได้ส่งโปรเจค ในวันนั้น

บางทีเราก็รู้สึกว่าเราพายเรือทวนน้ำ เราอยากให้เขารู้นะว่าเราไปทำอะไ ร ไม่ใช่ว่าทำเพื่อชื่อเสียงหรือ เราต้องการอภิสิทธิ์ในการหยุดเรียน แต่บางครั้ง เราแค่ต้องการความเข้าใจ มันเลยกลายเป็นว่า วัยรุ่นต้องเรียนหนังสืออย่างเดียว อย่างอื่นทำไม่ได้ เพราะเดี๋ยวเดียวเรียนไม่ทัน (บ้าเหรอ)

การเรียน กับการเรียนรู้ มันต้องควบคู่กัน แล้วชีวิตจะเป็นชีวิตได้ยังไง จะเอาประสบการณ์มาจากไหน เรียนแต่อยู่ในห้องแอร์สี่เหลี่ยม อย่างนั้นเหรอ? มันไม่ใช่สำหรับศร

ศร รู้สึกว่าการเรียนรู้เป็นอะไรที่ เรามีแรงที่จะทำวันนี้เราต้องทำ บางทีมันก็ควรจะเป็นอย่างนั้นบ้าง การได้ลองผิดลองถูก เราเป็นครูของตัวเราเอง มันจะสร้างประสบการณ์สร้างความภูมิใจให้เรา แต่เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกว่าตำราคือพระเจ้า เราก็ไม่ได้ต่างอะไรกับคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เราแยกแยะอะไรไม่ออก

บางช่วงงานค่ายเยอะ งานเยอะมากจริงๆ ต้องทัวร์คอนเสิร์ตทุกวัน ก็ดรอพ เทอมนั้น อย่างเทอมที่แล้วก็ดร็อพ อย่างเทอมนี้ก็มีใบลา ไม่สบายก็ลา ไปทำกิจกรรมก็ลา มันก็ต้องใช้วิธีนี้ ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่ศรรู้ว่าตัวเองมีสติ หรือทำอะไรอยู่ รู้ว่าสิ่งที่ทำมันคืออะไร ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน แต่เรากำลังทำประโยชน์ ให้กับสังคม เพราะฉนั้น ศร ไม่แคร์ว่าใครจะว่าเราไม่สนใจการเรียนหรือ เพราะรู้สึกว่า เราโชคดีกว่าคนอื่นอีก เราดีใจ ที่เรามีประสบการณ์ ดีใจที่เราออกไปทำกิจกรรมข้างนอก ดีกว่าคนที่มานั่งเรียนอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม เรามีโอกาสได้ไปพบพี่น้องที่ จะนะ (สงขลา) ได้พบชาวมอแกน ทำไมเราจะไม่ไปล่ะ? มันเป็นโอกาสที่ดีในชีวิตเรามากมาย ทำไมเราจะไม่ทำ”

ครอบครัว กับงานเพื่อสังคม แม้จะเห็นภาพการขึ้นเวทีคอนเสิร์ต งานชุมชุมมเคลื่อนไหวมาก็มาก แต่ในมุมหนึ่งพวกเธอบอกว่า จริงๆ แล้วก็เป็นเพียงวัยรุ่นธรรมดาทั่วไป ที่มีกลุ่มเพื่อน ไปดูหนัง ฟังเพลงอย่างคนอื่นๆ แต่อาจจะเป็นเพราะการเลี้ยงดูที่บ้าน แบบไปไหนไปกันเป็นครอบครัว เลยทำให้ดูแลกันได้ตลอดเวลา อีกทั้งเป็นบ้านที่ไม่เคยมีความลับต่อกัน ถ้ามีคนเข้ามาจีบ หรือพูดคุยอะไร เมื่อไหร่ ก็จะบอกให้พ่อแม่รับรู้ด้วย แล้วท่านจะคอยดูอยู่ห่างๆ คนไหนดูไม่ค่อยปลอดภัย ก็จะคอยตักเตือนกัน คือทั้งสองคนก็ยังคนอยู่ในสายตาผู้ปกครองเสมอ

ลูกโซ่ : “การเสี้ยงดูที่บ้านก็มีส่วนนะ อย่างบางบ้านอาจจะรู้สึกว่า ทำไมเราต้องไปมีส่วนในเรื่องของการเมือง ทำไมเราต้องมีส่วนในเรื่องของแรงขับดัน ชุมนุมประท้วงหรือคัดค้าน ภาครัฐหรือภาคทุนแบบนี้ แต่บ้านเราไม่เคยคิดแบบนั้น ซึ่งพ่อแม่ก็เป็นห่วงเรานะ แต่ด้วยความที่ว่าเราเป็นครอบครัวที่ไปไหนก็ไปด้วยกัน พ่อ แม่ ลูก เราจึงดูแลกันเองได้”

ลูกศร : “เราเป็นครอบครัวดนตรีค่ะ คือจริงๆ แล้วการเรียกร้องในแง่ต่างๆ ที่เราผ่านบทเพลง ผ่านการพูดบนเวทีก็ดี มันเป็นสิ่งที่เราเคิด สิ่งที่เราเอยากทำ แต่ว่าในส่วนตัวของเรา เราคือ ครอบครัวหนึ่ง ที่มีคุณพ่อมีความรู้ทางด้านดนตรี และมีคุณแม่ร้องเพลง ซึ่งมันก็ปลูกฝังมาถึงลูกสองคน ในความรู้สึก ของเราก็คือมีหน้าที่ ที่จะสร้างสรรค์ ศิลปะในแง่ที่เราถนัด เพื่อที่จะรับใช้สังคมไปเรื่อยๆ แต่ขึ้นอยู่กับแนวคิด ที่อยู่กับสังคมในทุกๆ วันตรงนั้นด้วยว่า มันจะผลักดันให้เราคิดอะไรออกมาได้บ้าง”

ถามว่าถ้ามีครอบครัวอยากให้ครอบครัวเป็นแบบนี้หรือไม่ พวกเธอบอกว่า “อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน ถ้าไม่ได้เป็นครอบครัวดนตรีก็จะให้ฟังเพลงตากับยายแทน แต่สังคมจะคอยบอกพวกเราเองว่า เราควรจะเสี้ยงลูกเราอย่างไร”

ถามว่า…จะฝากอะไร ถ้ามีใครยึดเป็นคนต้นแบบ?

ลูกศร : “อย่าเอาเราเป็นต้นแบบเลย (หัวเราะ)”

ลูกโซ่ : “จริงๆ แล้ว เราไม่อยากจะเอาตัวเองเป็นต้นแบบให้ใครหรอกค่ะ แต่ถ้าเขามองว่า เราเป็นต้นแบบได้ แล้วเขาไปทำความดีเราก็ภูมิใจนะ เพราะเราอาจจะพลาดซักวันนึง เราก็ไม่รู้ว่าเราจะเป็นอย่างไร

ฝากถึงคนรุ่นใหม่ คนที่กำลังทำเพื่อสังคมอยู่ ก็ขอให้ทำต่อไป และเป็นกำลังใจให้กับคนที่ กำลังคิดจะเข้ามา อย่าลังเลดีกว่า เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนะ ต้องเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม จะยิบจะย่อยยังไงก็ตาม เหมือนที่คนโบราณเค้าเรียกว่า “มดขยัน” ให้เหมือนกับว่าเราเป็นมดแม้จะตัวเล็กนิดเดียว แต่เราสร้างรัง สร้างความยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นกับเราได้ ความจริงแล้ว วัยรุ่นเป็นวัยที่มีพลังมาก เป็นวัยที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะประสบผลสำเร็จ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวัยรุ่นด้วยว่า พวกเขาเลือกที่จะรับหรือเปล่า

ฝากถึงสื่อ ด้วยนะคะ ถ้ามีโอกาสให้ช่วยกันโน้มน้าวเพื่อนๆ เรา หรือคนในครอบครัว ให้หันมา มีแนวคิดมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมบ้าง บางคนกล้าจะสูบบุหรี่ แต่แปลกที่พอหันมาทำอะไรดีๆ เพื่อสังคมกลับไม่กล้า อายรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องของเราบางครั้งคนเราก็กล้าในสิ่งที่ผิด

ถ้าสถาบันต่างๆ ในสังคม ไม่เปิดโอกาส ให้เด็กรุ่นใหม่ได้เจอตัวอย่างที่ดีในการทำความดี พวกเขาก็อาจหมดกำลังใจที่จะทำ หรือว่าการทำความดีบางครั้งมันไม่เห็นเงิน ก็เลยไม่มีแรงบันดาลใจให้กับผู้ใหญ่หลายๆ องค์กรรึเปล่า ที่จะให้เขามีตัวอย่างที่ดี ในการที่เขาจะทำ อะไรสักอย่าง”

ลูกศร : “ฝากว่า อย่าอายค่ะ คือคนรุ่นใหม่สมัยนี้ ออกแนวอายนิดๆ อย่าอายที่จะเริ่มต้นความคิดที่จะทำอะไรดีๆ อย่าอายที่จะรู้สึกว่าการที่เรามีนิสัย จิตสำนึกจริงจังๆ ในเรื่องของสังคม ในเรื่องกิจกรรม การบำเพ็ญประโยชน์ การเป็นอาสาสมัครก็ตามมันเป็นสิ่งที่ดี และเป็นสิ่งที่ไม่น่าอาย เป็นสิ่งที่เท่ห์ด้วย ทำอะไรปิดเทอม ไปทำงานกับเอ็นจีโอ

และอยากฝากถึงผู้ปกครองของเยาวชนหลายๆ คน ที่น้องๆ หรือเพื่อนๆ กำลังก้าวเข้ามาทำหน้าที่รับผิดชอบสังคมอยากให้ สนับสนุนเขาหล่านั้นที่จะได้รับประสบการณ์ดีๆ ในชีวิต ในการทำกิจกรรม ให้เขามาเป็นนักกิจกรรม สังคมต้องการอะไรมากที่สุดตอนนี้ สังคมต้องการนักกิจกรรรม ค่ะ ไม่ได้ต้องการนักวิชาการ นักร้องเพื่อชีวิตมากชึ้น สิ่งสำคัญที่สุดคือนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว อย่าคาดหวังให้เราสืบทอดเพลงเพื่อชีวิตเลยนะ เพราะว่าเราจะเป็นนักกิจกรรม”

ในวัยเด็ก

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาในพื้นที่ตรงนี้ เป็นสิ่งที่สองวัยรุ่นไทย แทนเสียงของ คนเล็กๆ ที่พยายามจะสื่อ เพื่อให้ คนใหญ่ๆ ได้รับรู้ถึงแนวความคิด แน่นอนว่า มันอาจจะแทนเสียงของเยาวชนไทยไม่ได้ทั้งหมดเสียทีเดียว เพราะหากจับเอาเยาวชนมาเข้าแถวเรียงกัน แล้วบอกเล่าถึงความต้องการของแต่ละคน เพื่อมากำหนดนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการมากที่สุดแล้วล่ะก็ มันคงจะเป็นไปได้ยาก

แต่สิ่งที่พวกเธอเล่ามา หลายคนอาจจะทราบบ้างแล้วว่า คนรุ่นใหม่มีพลังมากน้อยแค่ไหนที่จะขับเคลื่อนต่อไปในสังคม ควรจะสนับสนุนหรือพัฒนาตรงจุดไหน เพราะพฤติกรรมบางอย่างมันก็ฟ้องอยู่แล้วว่า “คนรุ่นใหม่เขาคิด หรือทำอะไรกันอยู่?” แล้วผู้ใหญ่อย่างเราๆ ท่านๆ ล่ะ อย่าให้เด็กๆ ต้องมาตั้งคำถามกลับเลยว่า “ผู้ใหญ่ เขาทำอะไรกัน?”

20 มีนาคม 2550