Photo by Annop Nipitmetawee

– 1 –

เย็นวันหนึ่งกลางปี พ.ศ. 2546 – ผมเดินทางไปซอยสามัคคี แจ้งวัฒนะ ตามคำนัดกับเพื่อนรุ่นน้อง (การะเกด) ที่สนิทคนหนึ่งในจำนวนหลาย ๆ คนที่ได้รู้จักกันผ่านทางเว็บไซต์เพลงเพื่อชีวิตเว็บหนึ่งที่ผมเป็นคนทำ ที่ผมไปเพราะได้รับการติดต่อให้ช่วยทำเว็บไซต์ของนักดนตรีคนหนึ่ง ที่เจ้าการะเกดไปช่วยงานอยู่ บ้านหลังนี้…. เจ้าของก็คือนักดนตรีคนที่ว่านั้นเอง

ผมจอดรถหน้าบ้าน ต่อท้ายรถจิ๊บ Land Rover สีดำ ก่อนลงจากรถ ผมโทรศัพท์หาเจ้าการะเกดเพื่อยืนยันการมาถึงของผม พร้อมตรวจสอบให้แน่ใจว่า ผมไม่ได้มาผิดบ้าน เมื่อเพื่อนรุ่นน้องยืนยันและเดินออกจากบ้านมารับผม ผมก็ลงจากรถพร้อมหยิบสมุดบันทึกงานส่วนตัว พร้อมด้วยความประหม่าสำหรับการพบ “คนในตำนาน” เมื่อผมเดินเข้าไปในบ้าน บริเวณหน้าบ้านมีโต๊ะไม้ชุดงามอยู่หน้าประตูเข้าบ้าน โต๊ะที่เป็นคล้าย ๆ ทั้งไว้รับแขก ทั้งประชุมและเขียนงาน เจ้าของบ้านนั่งรอผมอยู่ตรงนั้น ชายร่างเล็กวัย 50 ใส่แว่น เสื้อยืดขาว กางเกงขาว สะอาดสะอ้านหากแต่ดูเข้มข้นในที เมื่อเปิดรอยยิ้มต้อนรับกลับดูอบอุ่น ใจดี เป็นกันเอง

ผมยกมือไหว้ “หวัดดีครับ…..น้า”

นั้นคือครั้งแรกที่ผมได้พบ น้าต้อม สองวัย – กิตติพงศ์ ขันธกาญจน์

– 2 –

สมัยผมทำกิจกรรมนักศึกษา ออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท สิ่งหนึ่งที่เป็นสิ่งที่แทบจะขาดไม่ได้ในการดำเนินไปของกิจกรรม และชีวิตฅนค่าย ก็คือ “ดนตรี” หรือ “เพลง (ที่ร้องใน) ค่าย” นั้นเอง ส่วนมากแล้วเพลงที่ร้อง ๆ กันก็มักจะเป็น “เพลงเพื่อชีวิต” ที่เนื้อหา ความหมายมันสื่อและสอนพวกเราได้ เพลงอีกส่วนหนึ่งก็จะเป็น “เพลงค่าย” ซึ่งแต่ละสถาบัน แต่ละชมรมก็จเป็นเพลงที่ซ้ำ ๆ กัน เช่น เพลงเราอาสา ศรัทธาเมื่อมาค่าย คนสร้างบ้าน (ของวงโคมฉาย) ฯลฯ แล้วก็จะมีเพลงของสถาบันตัวเอง ที่แต่งกันขึ้นเอง

ในจำนวนเพลงมากมายเหล่านี้ จะมีเพลงอยู่ประเภทหนึ่ง ที่จะว่าเป็นเพลงเพื่อชีวิตก็ไม่เต็มขั้น จะว่าเป็นเพลงค่ายก็ไม่เชิง แต่เชื่อผมเถอะว่า มีร้องกันทุกๆ ค่ายฯ ก็คือ “เพลงเด็ก” เพลงที่มีเนื้อหาที่น่ารัก สดใส เป็นนิทานเพลงหรือมีเนื้อหาเพื่อสื่อ สอนให้เด็ก ๆ ทำดี เช่น ลูกหมูใส่รองเท้า, ปลูกดอกไม้, เจ้าผีเสื้อเอย, กระแตตื่นเช้า หรือมหากาพย์เพลงเด็กอย่าง สะพานสายรุ้ง หรือ คิดถึงกันบ้างนะ เพลงบอกลาที่ทุก ๆ ค่ายต้องใช้ร้องในวันอำลา และยังมีเพลงอื่น ๆ อีกมากมาย เพลงเหล่านี้มีอายุกว่า 25 ปี แต่ก็ยังคงใช้ร้องกันอยู่เสมอ ๆ ร้องกันโดยไม่รู้ว่าเพลงของใครก็เยอะ

เพลงที่กล่าวทั้งหมด เป็นเพลงของ “วงสองวัย” ที่มี น้าต้อม (กิตติพงศ์ ขันธกาญจน์) , น้าวี (วีระศักดิ์ ขุขันธิน) , น้าซู (รพินทร์ พุฒิชาติ) เป็นกำลังหลัก

– 3 –

ผมได้รับรู้อาการป่วยของน้าต้อม เป็นระยะ ๆ จากเพื่อน ๆ พี่ ๆ จนเมื่อมีโอกาสไปช่วยงาน คอนเสริต์ “คิดถึงสองวัย” เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2548 น้าต้อมก็ป่วยหนัก จนไม่สามารถมาเข้าร่วมเล่นดนตรีในคอนเสริต์ครั้งนี้ได้ (แต่เมื่อตอนแถลงข่าวงานคอนเสิรต์ ที่ร้านบ้านไร่กาแฟ น้าต้อมยังมา นั้นคือครั้งสุดท้ายที่ผมได้เจอน้าต้อม)

เช้าวันที่ 1 สิงหาคม 2548 ผมได้รับโทรศัพท์จากพี่คนหนึ่งในกลุ่มเพื่อชีวิตแต่เช้า ซึ่งจะเป็นที่รู้ ๆ กันทันทีว่า นี่เป็นเรื่องผิดปกติหรือเรื่องฉุกเฉิน เนื่องจากช่วงเวลาเช้ามักจะไม่ใช่เวลาที่เราจะติดต่อหากัน เพราะเรามักจะเจอกันตอนเย็น ๆ ค่ำ ๆ แล้วก็แยกย้ายกันตอนดึก ดึกมาก ๆ ไม่ก็ตอนเกือบเช้า ดังนั้นการโทรหากันตอนเช้าย่อมไม่ใช่ปกติวิสัยที่จะประพฤติกันในหมู่พรรคพวกกลุ่มนี้

น้าต้อมเสียแล้ว เมื่อคืน ตีสอง!!!

ลายมือน้าต้อม ที่ผมขอให้เขียนเพื่อในไปประกอบในเสื้อคอนเสิร์ตคิดถึงสองวัย เขียนให้ในวันแถลงข่าว ที่ร้านบ้านไร่กาแฟ

– 4 –

ผมไม่สนิทกับน้าต้อมนัก ไม่ได้พบเจอกันบ่อย เจอกันส่วนมากก็ตามงานแสดงดนตรี งานกิจกรรมต่าง ๆ แต่ผมรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของ วงสองวัย และตัว กิตติพงศ์ ขันธกาญจน์ เป็นอย่างดี ซึ่งผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องพูดถึงมัน ทุกท่านน่าจะทราบดีอยู่แล้ว

การสูญเสียครั้งนี้ใหญ่หลวงยิ่งนักสำหรับวงการดนตรี วงการนักกิจกรรม…

น้าต้อม มักเรียกตัวเองว่า “หมาป่าเฒ่า” (น่าจะมาจากเพลง ลูกแกะกับหมาป่า) บ้างก็ใช้ “ผีเสื้อ” เป็นสัญลักษณ์ (จากเพลง เจ้าผีเสื้อเอย) ไม่ว่าในรูปแบบไหน ก็แสดงถึงตัวตน กิตติพงศ์ ขันธกาญจน์ เป็นอย่างดี ตัวตนที่งดงาม อบอุ่น ใจดี อาทรน้อง ๆ หลาน ๆ ทุกคน

ขอให้น้าไปสู่สุขคติ พวกเราทุกคนจะระลึกถึงน้าและเพลงของน้าตลอดไป

อรรณพ นิพิทเมธาวี

งานแถลงข่าวงานคอนเสิร์ตคิดถึง….สองวัย ณ ร้านบ้านไร่กาแฟ เอกมัย
Photo by Annop Nipitmetawee
งานศพน้าต้อม สองวัย (สิงหาคม 2548)
Photo by Annop Nipitmetawee
งานศพน้าต้อม สองวัย (สิงหาคม 2548)
Photo by Annop Nipitmetawee