
ผมฟังเพลงของอ้าย “จรัล มโนเพ็ชร” มาตั้งแต่ชุดแรก ๆ และติดตามมาตลอด ด้วยความรู้สึกแรกที่ได้ยินคือ ภาษาที่แปลกหู การนำภาษาคำเมืองมาถ่ายทอดผ่านบทเพลง เป็นจุดเด่นที่สุดที่มองเห็นในงานของอ้ายจรัลเมื่อแรกสัมผัส แต่เมื่อฟังไปหลาย ๆ
ความสวยงามของภาษาถิ่นคือสิ่งแรก ดนตรีจังหวะฟังง่าย ๆ มีเครื่องดนตรีพื้นเมืองเข้ามาผสม คืออีกหนึ่งเสน่ห์ของบทเพลง การถ่ายทอดเรื่องราวใกล้ตัว เป็นสิ่งที่รับได้ง่ายของนักฟังเพลงทั้งหลาย
หากจะกล่าวว่า อ้ายจรัลคือผู้บุกเบิกภาษาคำเมืองให้คนถิ่นอื่นได้รู้จัก ได้เข้าใจจากภาษาของบทเพลง ก็ไม่น่าจะผิดไปจากนั้น ผมเองก็หัด “อู้กำเมือง” จากเพลงของอ้ายจรัลนั่นเอง
บทเพลง สาวมอเตอร์ไซค์ พี่สาวครับ เป็นเพลงที่คนทุกพื้นที่สามารถร้องได้ ส่วนเพลง อุ๊ยคำ มะเมียะ มิดะ ก็ทำให้คนฟังอดสะท้อนสะท้านใจด้วยความรันทดไม่ได้ หรือแม้กระทั่งบทเพลง เอื้องผึ้ง-จันผา วังบัวบาน (ไม่แน่ใจผู้แต่ง เพราะ อ.มัณฑนา โมรากุล ก็เคยร้องไว้) ที่ใครได้ฟังก็ทราบได้ในวิบากของความรัก ที่หนุ่มสาวมีต่อกัน
ในส่วนของทิดโสเองนั้น กลับชอบงานเพลงสไตล์บัลลาดของอ้ายจรัลมากกว่า บทเพลงโฟล์คเบา ๆ แต่บรรยายชีวิต ความทุกข์ยากของคนได้หนักแน่นกินใจยิ่งนัก อาทิ อุ๊ยคำ มะเมียะ มิดะ แม่ค้าปลาจ่อม ลุงต๋าคำ ตากับหลาน ฯลฯ
หากถามกันอีกว่า ในเพลงบัลลาดที่กล่าวมานั้น ทิดโสชอบเพลงไหนมากที่สุด ก็ขอบอกเลยว่าเพลง “แม่ค้าปลาจ่อม” เป็นเพลงที่บรรยายออกมาได้เห็นภาพแห่งความทุกข์ยากลำเค็ญ ชีวิตคนจนๆ ส่วนใหญ่ล้วนไม่ต่างจากนั้น หากเป็นภาพเขียน สีที่ปรากฏในภาพน่าจะแทนด้วยสีน้ำตาล มีความหม่นหมองในใบหน้า ต้นไม้ใบหญ้าที่ประกอบในฉากคงแห้งเกรียม
“แม่เอยแม่เฒ่า เก่าแก่ซิ่นถุง ….. เสื้อนุ่งหุ้มหนัง นั่งขายปลาจ่อม
ขายถ้วยละบาท ปากแก้มแห้มผอม ….. ค่อมคู่ลู่หลัง ยังต้องหากิน
ปากเดียวบ่ยาก สามปากต้องดิ้น ….. กิ๋นดินบ่ได้ กิ๋นทรายบ่พาน
อี่พรนั่นเหลน อี่เพ็ญนั่นหลาน ….. กานโก๊ะกานโก้ง ซี่โครงซ้างซ้าง
พ่อมันอยู่แป้ แม่มันอยู่ฝาง ….. นางนายลูกฮัก นักสร้างปัญหา
แลงมาวอยวอย เซาะหอยปู๋ป๋า ….. มายำปล๋าจ่อม ย่อมนี้เอาขาย
ย่อมนั้นบ่ดี บ่มีไผซื้อ ….. มื้อนี้จะเสีย กิ่นเหียหลานฮัก
กิ่นกั๊บหน่อไม้ ใส่ข้าวนักนัก ….. ใส่ผักติกติก ใส่พริกใส่หอม
กิ่นเต๊อะหลานเหย เก๊ยกิ๋นยั่งหนอม ….. ผอมจะได้ตุ้ย อุ๊ยจะได้นอน”
นี่คือชีวิตจริง นี่คือสิ่งที่คนยากคนจนสัมผัสได้ ชีวิตครอบครัวที่พ่อ-แม่แยกทางกัน ปล่อยลูกให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงดู ชีวิตของแม่เฒ่าที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ หาปลามาทำปลาจ่อมไปขาย เพื่อเลี้ยงตัวเองและหลานสาวอีก 2 คน ซึ่งอาหารการกินในแต่ละมื้อก็คือปลาจ่อม ตรงไหนดีก็เอาไปขาย ตรงไหนไม่ดีก็เก็บไว้กิน ไม่แปลกใจที่ในเพลงบอกเล่าถึงสุขภาพหลานทั้งสอง กานโก๊ะกานโก้ง ซี่โครงซ้างซ้าง จะให้แข็งแรงเหมือนเด็กทั่งไปก็คงไม่ได้ เพราะอาหารมีเพียงหน่อไม้และปลาจ่อม เป็นกับข้าว
ผมฟังเพลงนี้ทีไรแล้วสะทกสะท้อนใจ จนต้องนึกไปถึงผู้มีวาสนาบารมี ที่จะพูดจะคุยเรื่องอะไรกันก็ไม่พ้น หูฉลาม โดยไม่เคยนึกสำเหนียกกันบ้างว่า ได้เป็นผู้สนับสนุนการล่าฉลามกันเพียงใด แม้ว่าคนทั่วโลกจะร่วมรณรงค์ต่อต้าน คงคิดกระหยิ่มในใจกันสิว่า เมื่อมีอำนาจ จะทำอะไรก็น่าอภิรมย์ไปหมด ก็คนมันหน้าง่าวนี่เนอะ จะไปอนาทรร้อนใจกับเรื่องอะไรพรรค์นี้
หากอ้ายจรัลยังอยู่ คำถามที่ทิดโสต้องถามให้ได้คือ “อ้ายจรัลครับ …ตอนนี้ อี่พรกับอี่เพ็ญ เป็นจะไดบ้างครับ”
ทิดโส โม้ระเบิด
เป็นอีกหนึ่งความคิดที่ร่วมสืบสานตำนานเพลงคำเมือง ทุกท่วงทำนองแห่งดนตรีที่ไม่มีวันตายไปจากผืนแผ่นดินนี้ ทุกยุคทุกสมัยยังคงตราตรึงในใจทุก ๆ ครั้งที่นั่งฟังเสียงเพลงอันเพราะพริ้ง ได้อารมณ์และอ่อนไหวตามเสียงกีตาร์…
ความทรงจำยังเป้นเช่นดังเดิม พี่จรัลยังอยู่ในใจตลอดเวลา ร่วมรำลึกนึกถึงกับพี่ทิดโสด้วยคน…
ไม่ว่าอยู่แห่งหนของประเทศไทย ดนตรีคือมิตรภาพที่ดีที่ทำให้คนเรารักกันเสมอ ต่างถิ่นต่างภาคต่างภาษา เมื่อนำมารวมกันได้เป็นคนไทย…
..
เป็นตำนานขานไข
ของผู้ชายคนหนึ่งผู้ซึ่งเกิดมา
ได้ใช้เวลาอย่างมีคุณค่ากับภาษาพื้นเมือง
และกีตาร์ใส ๆ ให้ขจรไปไกล
..
จรัญ มโนเพชร
จึงยังคงอยู่ในใจของผู้คนไปอีกนานแสนนาน
แลงนี้แดดอ่อน บ่หันอุ๊ยคำ
เคยมาประจำ อุ๊ยคำไปไหน
…..
…..
ฟ้ามืดมัวหม่น เมฆฝนครึ้มดำ
เสียงพระอ่านธรรม…ขออุ๊ยคำไปดี…
น่าฟังทุกเพลงครับ