
“ไม้กลางกรุง” เป็นชื่อของร้านอาหารอีกแห่งหนึ่งของ จรัล มโนเพ็ชร และผู้จัดการส่วนตัวของเขา มานิด อัชวงศ์ หลังจากที่คุณมานิดปิดกิจการร้านอาหาร ร้านแรกบนถนนสุโขทัย ย่านเขตอำเภอดุสิต
บ้านหรือร้านอาหารแห่งนี้ตั้งอยู่ริมถนนเศรษฐศิริ ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟสามเสนและไม่มีที่จอดรถ เพราะแม้แต่ริมฟุตบาทหน้าร้านก็กลายเป็นเขตห้ามจอด หลังจากมีการสร้างทางด่วนใกล้ ๆ กับร้านไม้กลางกรุง… บรรดาผู้คนที่จะมากินอาหารที่นี่จะต้องขับรถมาจอดไว้แถวๆ สถานีรถไฟหรือไม่ก็ในซอยเล็กๆ แคบๆ ซอยหนึ่งในย่านนั้น แล้วเดินไปยังร้านหรือบ้านพักอาศัยของเขา ต่อเมื่อเลยเวลาสองทุ่มไปแล้วนั่นแหละ ริมฟุตบาทข้างถนนเศรษฐศิริหน้าร้านไม้กลางกรุงจึงจะจอดรถราได้
จะเดินเข้าบ้านหลังนี้ต้องผ่านต้นไม้ร่มครึ้ม ตลอดสองข้างทางเดินเล็ก ๆ แคบ ๆ ซึ่งจรัลจงใจจัดแต่งให้คดเคี้ยวเลี้ยวลด
ทางทิศตะวันออกของบ้านเป็นด่านเก็บเงินของทางด่วน เป็นเส้นทางที่มุ่งสู่ถนนพระรามเก้า ส่วนทิศตะวันตกอยู่ติดกับโรงพยาบาลชื่อดัง วิชัยยุทธ แทบทุกวันจะได้ยินเสียงไซเรนของรถพยาบาล ทั้งในยามเช้า สาย บ่าย เย็นไปจนถึงดึกดื่นค่อนคืน และอีกเสียงหนึ่งที่คุณจะได้ยินอยู่เสมอเมื่อนั่งอยู่ที่นั่นคือ เสียงเบรคอย่างกระทันหันจากรถยนต์หรือไม่ก็เสียงโครมครามจากอุบัติเหตุบนถนน ตรงบริเวณสามแยกซึ่งเป็นด่านเก็บเงินของทางด่วน
เสียงที่ดังสนั่นหวั่นไหว ราวฟ้าถล่มเกิดขึ้นเป็นประจำจนเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนกับดวงอาทิตย์ที่ขึ้นทางทิศตะวันออกเพื่อที่จะตกทางทิศตะวันตก
เมื่อกลับจากทำธุระปะปังนอกบ้าน จรัลจะเดินผ่านร่มไม้ในซอยแคบซึ่งมุ่งสู่ตัวบ้าน กลิ่นเหม็นของน้ำเสียจากท่อระบายน้ำข้างถนนของ กทม. จะโชยฉมมาเป็นพัก ๆ เขาจะเดินผ่านผู้คนที่มานั่งดื่มและกินอาหารอยู่ตามโต๊ะต่าง ๆ ผู้ชายในเครื่องแบบสีเขียวของทหารที่นั่งกินกันอยู่เป็นกลุ่ม ผู้หญิงในชุดทำงานประณีตงดงามราคาแพง ผู้ชายที่แต่งกายในมาดนักธุรกิจ เด็กสาวเด็กหนุ่มที่สวมใส่กางเกงยีนส์ เสื้อยืด สะพายเป้ ที่มานั่งฆ่าเวลาเพื่อรอรถไฟขบวนถัดไป นักการเมืองที่เพิ่งเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับเช้า นายแพทย์หรือนางพยาบาลที่เพิ่งจะเสร็จสิ้นจากการดูแลคนไข้ในโรงพยาบาล บางวันคุณอาจได้เห็นนักร้องหรือนักแสดง ที่แวะเวียนมาที่นี่หลังจากไปเยี่ยมเยียนเพื่อนฝูงในวงการบันเทิงสักคนที่เพิ่งมาคลอดบุตรที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ
จรัลจะเดินผ่านความสับสนวุ่นวายจากชั้นล่างของบ้านเช่าแห่งนี้ ก้าวขึ้นบันไดไม้สู่โลกของเขาที่อยู่บนชั้นสองของตัวบ้าน ที่นั่นเต็มไปด้วยเสียงดนตรี ตัวโน้ตทุกตัวในโลกแห่งคีตการรอคอยเขาอยู่ ณ ที่นั้น ในห้องซึ่งกว้างเพียง 3X4 เมตร เครื่องไม้เครื่องมือนานาชนิวางอยู่ระเกะระกะ เพื่อการสร้างสรรค์ผลิตเสียงดนตรีดังที่หัวใจของจรัลคิดฝันและได้ยิน ทั้งท่วงทำนองเพลงและถ้อยคำแห่งเนื้อร้อง
และจากที่นี่เอง ในห้องซึ่งรกเรื้อและคับแคบ… เมื่อมองออกไปทางหน้าต่างบานสูงราวสองเมตร คุณจะได้เห็นหลังคากระเบื้องลอนคู่กระดำกระด่าง ซึ่งลาดเทไปยังต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ซึ่งมีใบดกหนาและเขียวครึ้มอยู่ตลอดชั่วนาตาปี และไกลกว่านั้นออกไปเป็นตึกรามบ้านช่องของชาวกรุงเทพฯ ไม่มีผืนดินปรากฎต่อสายตาแม้สักกระผีกเดียว
แต่จากที่นั่น เมื่อจรัลมองออกไป เบื้องหน้าศิลปินหนุ่มแห่งล้านนา มันคือทัศนียภาพอันวิจิตรงดงามต่อ จรัล มันคือป่า คือภูเขาและสายน้ำ …ทั้งหมดเป็นของเขา
ค่ำคืนหนึ่งเขาเชิญชวนให้ฉันขึ้นไปที่นั่น เพราะชั้นล่างของร้านไม้กลางกรุงมีลูกค้าเต็มไปหมด จรัล ชี้ชวนให้ฉันดูนอกหน้าต่าง
“นี่ยังไงหมู…คือป่า คือภูเขาของอ้ายล่ะ” เขาบอก
บทเพลที่งดงามด้วยภาษาอันไพเราะดุจบทกวีที่ถูกขับขาน และท่วงทำนองของดนตรีที่เปี่ยมพลังสร้างสรรค์ เพลงแล้วเพลงเล่าอุบัติขึ้นจากที่นี่
ยามบ่ายของวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2536 ฝนปลายฤดูลงเม็ดมาปรอยๆ ไม่มีกลิ่นดินหอมชื่น ณ ที่นั้น นอกจากไออุ่นที่ระเหยออกมาจากหลังคากระเบื้องด้านนอกหน้าต่างบานสูง ไม่มีน้ำในเย็นจากลำธาร ไม่มีสายหมอกหรือเมฆหนาดุจดังบนดอยสูง ยามที่ จรัล ออกท่องเที่ยวไปตามป่าเขาลำเนาไพร บ่ายของวันนั้น จรัล ก้าวเดินออกไปทางหน้างต่างบานสูง เท้าทั้งสองของเขาก้าวย่ำอยู่บนหลังคาบ้าน อาณาบริเวณที่เขาทึกทักเอาว่าคือป่าและภูเขาของเขาเอง และดุจดังกระแสน้ำป่าที่ไหลถะถั่งอย่างไม่อาจหยุดยั้ง บางสิ่งบางอย่างในร่างของชายวัยสี่สิบกว่าปีผู้ยึดครองตำแหน่งศิลปินโลดแล่นออกมา เป็นบทเพลงอันงดงามสุดวิเศษจากเขา จากจิตวิญญาณอันเก่าแก่ดวงหนึ่งของชาวล้านนา
จรัล มโนเพ็ชร แต่งเพลง “ซึงสุดท้าย” ได้ในวันนั้น แต่มันไม่เคยถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ
อันยา โพธิวัฒน์
จากหนังสือ ‘รักและคิดถึง จรัล มโนเพ็ชร’
พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2544 แพรพิมพ์สำนักพิมพ์ (เชียงใหม่)