สุรชัย จันทิมาธร

หลายคนชื่นชอบบทเพลงของคาราวาน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วแต่งโดย “สุรชัย จันทิมาธร” ความชื่นชมส่วนหนึ่งนั้นย่อมมาจากถ้อยคำอันสละสลวยเป็นบทกวีที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์เชิงเปรียบเทียบ เป็นเพลงปฏิวัติที่แสนโรแมนติกสำหรับใครหลายคน เป็นเพลงที่มีท่วงทำนองเรียบง่ายแต่กลับส่งต่อกำลังใจให้ผู้คนได้อย่างมีพลัง และที่สำคัญ ก็คือ มีความต่อเนื่องยาวนานนับได้ 30 ปี ที่ “บทกวีในเสียงเพลง” ของ “หงา คาราวาน” สะท้อนภาพสังคม ปลุกปลอบจิตใจ พร้อมทั้งเพรียกหาอุดมคติมาจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน

“จุดหนึ่งที่เราตั้งใจ คือ สอดใส่ภาษาถ้อยคำบทกวีเท่าที่จะเป็นไปได้ลงในเสียงเพลง เราเคยคิดว่าเพลงเราไม่ใช่เพลงทั่วไปเท่าไร แต่มันก็ไม่ใช่เพลงพิเศษอะไรมากมาย เราได้แค่จุดบันดาลใจแปลก ๆ ทำอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาในช่วงนั้น ผลของมันต่อมามีส่วนผลักดันให้สังคมเปลี่ยน อาจเป็นเพราะเราเป็นนักเขียน จึงหนีไม่พ้นเรื่องชีวิตคน ความคิด ความหวัง ความฝัน ถึงจะเป็นเรื่องความรัก ก็ยังต้องเป็นการรักคนในอุดมการณ์”

คงกล่าวได้ไม่เกินเลยนักว่า หากไม่มีโลกวรรณกรรมและนักเขียน ก็คงไม่มี “หงา คาราวาน” บนถนนดนตรี และหากจะนับการโลดเล่นอยู่บนเวทีนักเขียน กลับยาวนานกว่า นับได้ร่วม 10 ปี ที่คลุกคลีอยู่กับงานและผู้คนบนถนนหนังสือ สุรชัย ย้อนความหลังให้ฟัง

“เริ่มต้นคงเพราะชอบอ่านหนังสือ เป็นนักอ่าน ได้จากในครอบครัว อ่านหมดทุกคน เป็นครอบครัวที่อ่านหนังสือ พ่อเป็นครูใหญ่ สมัยก่อนจะรับสยามรัฐรายสัปดาห์ ก็รู้ความเคลื่อนไหวของวงการนักเขียนบ้าง

เข้ากรุงเทพฯมาปี พ.ศ.2508 ก็พยายามเขียนหนังสือ เขียนอยู่ปีสองปีถึงได้ลงที่ชัยพฤกษ์ เป็นบทกลอนได้ตังค์ยี่สิบห้าบาท จากนั้นเป็นเรื่องสั้นได้ลงที่สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ มีคุณประมูล อุณหธูป เป็นคนคัดเรื่อง ทีแรกแกวงแดง ๆ เต็มไปหมดเลยนะ ให้เอากลับมาแก้ เราก็แก้ คือ เห็นด้วยกับการที่แนะนำมา ได้เงินสามร้อยบาท เรื่องแรกที่ได้ลงนี่ยังไม่รู้สึกเป็นตัวเราเท่าไร แต่พอเรื่องสองเรื่องสามนี่เริ่มรู้ทางแล้ว ได้ลงสยามรัฐนี่เริ่มเป็นที่รู้จัก ถือว่ามีชื่ออยู่ในวงการ”

สุรชัยเริ่มเข้าออกตามโรงพิมพ์ต่าง ๆ ทำงานตรวจบรู๊ฟอันเป็นบันไดขั้นแรกของนักเขียน และคนทำงานหนังสือทุกคนในสมัยนั้น ยังเคยนั่งบรู๊ฟหนังสืออยู่ข้าง ๆ เปลว สีเงิน เจ้าของไทยโพสต์ในปัจจุบัน

“อีกอย่างที่เราอยากเป็นคือคนเขียนรูป เพราะชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก อยากทำงานศิลปะ ช่วงเรียนเพาะช่าง มีบางวันเราได้ไปโรงพิมพ์ ดูเขาเขียนรูปกัน คนเขียนการ์ตูนก็มีสังคมของเขา เขานั่งเขียนกันเป็นแถว งานนี้เป็นงานที่เราอยากทำ แต่เราไม่พอ ไม่มีความพยายามพอ ศึกษาไม่พอ จะพูดอย่างงั้นก็ได้ ไม่สันทัดพอ เขานั่งเขียนมาก เขียนทน แล้วก็ต้องจ่ออยู่กับงานนั่นทั้งวันทั้งคืนเลย เราไม่ใช่อย่างงั้นแน่ๆ ศิษย์เก่าช่างศิลป์ รุ่นน้องพี่ชวน หลีกภัย รำพึงรำพัน”

ชีวิตหลังจากนั้น จึงพาตัวเองเข้าไปคลุกคลีอยู่กับแวดวงศิลปิน-นักเขียนศิลปากร ที่หน้าพระลาน กระทบไหล่ทั้ง ท่านจันทร์ ท่านอังคาร ท่านกูฎ รวมถึงขรรค์ชัย บุนปาน สุจิตต์ วงษ์เทศ เรื่อยมาถึง สุวรรณี สุคนธา เทพศิริ สุขโสภา ล้วน เขจรศาสตร์ อีกแหล่งหนึ่งที่มักไปชุมนุม คือ รายการวิทยุ จักรวาลกวี เชิงสะพานพุทธ ของนเรศ นโรปกรณ์ ทำให้ได้พบทั้งวิทยากร เชียงกูล กรณ์ ไกรลาศ หรือ ปกรณ์ พงศ์วราภา เจ้าของจีเอ็มในปัจจุบัน โดยเฉพาะกับ ประเสริฐ จันดำ ซึ่งกลายเป็นเสี่ยวรักในเวลาต่อมา

“เราเป็นเด็ก แต่อยู่ท่ามกลางผู้ใหญ่ บิ๊กๆ ทั้งนั้น เรานั่งเงียบ ๆ ฟังเขาคุยกัน ไม่ได้เป็นอย่างตอนนี้หรอก ไม่พูดเลย เวลาเราอยู่กับงานเขียน สองสามวันไม่พูดกับใคร เราอยู่ได้ เขียนอย่างเดียว ตะกร้าใบใหญ่ๆ ที่เขาไว้ใส่เสื้อผ้าซักน่ะ กระดาษทั้งนั้น เขียนแล้วใช้ไม่ได้ โยนทิ้งจนล้นกองเต็มพื้น”

อยู่กับผู้อาวุโสกว่า ไม่รู้สึกตัวเองแก่แดดหรือ?

“ก็ไม่นะ ดวงคนมั้ง แบบเจอท่านจันทร์ ท่านจันทร์โปรดภาษา ภาษาเจ้าเค้าเรียก ท่านโปรด ท่านจันทร์โปรดเขียนกลอนเขียนโคลงอะไรต่อกัน เราก็เขียนด้วย ต่อโคลงสดกันน่ะ ตอนนี้ท่านจันทร์ท่านเสียแล้วนะ ท่านจันทร์เป็นลูกของ น.ม.ส.ศิลปินมาก ท่านจันทร์ชอบนั่งอยู่ที่ท่าช้าง ข้างศิลปากรน่ะ ร้านไอ้เนี้ยว นามปากกาเขา คือ นายโต๊ะ ณ ท่าช้าง แกนั่งอยู่อย่างนั้นแหละ เป็นเจ้าที่ไม่รวยนะ เจ้าธรรมดา ๆ”

ฉากและชีวิตถูกบรรยายผ่านน้ำเสียงที่ราวกับว่าเรื่องราวเพิ่งเกิดขึ้นวันวาน ด้วยความหลงใหลในงานวรรณกรรมชนิดต้องพก คนนอก ของอัลแบร์ กามูส์ อ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าบนรถเมล์ กินข้าวก็ต้องอ่านทั้ง หลู่ซิ่น หรือ แมกซิม กอร์กี้ ทยอยเข้ามาอยู่ในความชื่นชม

“เราเห็นว่า นักเขียนเหล่านี้ทำงานศิลปะ ถึงแม้จะเป็นฝ่ายซ้าย เรียกว่าผลงานเขาฝ่ายขวายังต้องนับถือ นักเขียนไทยที่ชื่นชอบในลีลาเรื่องสั้น คือ มนัส จรรยงค์ ส่วนเสถียร จันทิมาธร-ลูกลุง ถือว่าเป็นคนหนึ่งที่มีอิทธพลต่อเราในด้านงานเขียน อีกคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้สนใจการเมืองมาแต่เด็ก คือ เปลื้อง วรรณศรี เราได้ไปนั่งฟังแกปราศรัยที่สุรินทร์ แกพูดว่า คอมมิวนิสต์เป็นพวกแดงใช่ไหม แล้วก็หยิบแบงก์ร้อยขึ้นมา แล้วนี่สีอะไร สีแดงหรือเปล่า โอโฮ เท่จริงๆ หลายคนก็เคยบันทึกฉากนี้ไว้ในหนังสือที่เขียนเชิงประวัติศาสตร์ แล้วเราเป็นคนหนึ่งที่นั่งอยู่ในฉากนั้นด้วย ถือว่าเป็นวีรบุรุษในดวงใจ”

ชะตาชีวิตผกผัน ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองอันเข้มข้น ยุคสมัยการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของคนหนุ่มสาวมาถึง นับจาก 14 ตุลาคม 2516 สุรชัย จันทิมาธร จับกีตาร์ร้องเพลง กลายไปเป็น หงา คาราวาน ในที่สุด พร้อม ๆ กับการจากไปของ “ท.เสน” อันเป็นนามปากกาในการเขียนเรื่องสั้น

สุรชัย จันทิมาธร

“คนเรามันต้องเลือกนะ ทำอะไรมันต้องทำสักอย่างหนึ่ง เราเองไม่ใช่คนแบบว่าทำได้ทุกอย่างนี่ พอมาทำดนตรีเราก็รู้แล้วว่า เออ…ต้องเลือกตอนนี้ เราก็ต้องทิ้งงานวรรณกรรมไปในช่วงนั้น”

สุรชัย อธิบายพร้อมเหตุผลตามมาว่า “งานดนตรีมันเป็นงานที่เป็นโลกใหม่ของเรา เราไม่รู้หรอกมันเป็นยังไง ทำตอนแรก เมื่อทำออกมา เรียกว่ามันประสบความสำเร็จนะ ได้รับการต้อนรับ อันนี้ก็เป็นโลกใหม่ของเราที่มันท้าทายน่ะ ที่เราต้องสานต่อจนเดี๋ยวนี้ เราว่าโลกนี้มันก็สวยงามสำหรับเรา”

เสียดายไหม ถ้าตอนนั้นทำงานเขียนต่อ ป่านนี้อาจมีงานชิ้นใหญ่ ๆ แล้ว

“ไม่แน่ว่าจะมี ถ้าไม่มีจิตใจให้มันนะ คนเราบางทีมันเลือกที่จะทำไม่ได้ มันไม่เลือกที่จะเป็น เลือกไม่ค่อยได้ ไม่นึกว่าจะเป็น ก็เป็น มันจะมีอย่างนี้อยู่ สถานการณ์ผลักดันให้เขาเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย มีเยอะ โดนถีบออกไปอะไรงี้” หงา ตอบกลั้วหัวเราะ

ถึงจะมีใครต่อใครเรียกขานว่า “อาจารย์ใหญ่เพลงเพื่อชีวิต” หรือจัดให้ตำนานของดนตรีประเภทนี้อยู่ร่ำไป แต่ สุรชัย กลับคิดว่า เขายังเป็นคนวรรณกรรม ไม่เปลี่ยนแปร

“อย่างงานเพลงตอนเริ่มต้น เราคิดว่ามันเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ คือ เพลงเราอาจไม่ได้ตั้งใจรับใช้ แต่ตัวเราเข้าไปรับใช้ขบวนการประชาชนอย่างสุดจิตสุดใจ เราเขียนเพลงแบบของเราก่อนจะไปรู้จักศิลปะเพื่อชีวิต ได้ไปอ่านของทีปกร หรือ จิตร ภูมิศักดิ์ นั่นก็ในป่าแล้วถึงได้รู้ อ๋อ…มันเป็นอย่างนี้ เป็นข้อ ๆ อย่างนี้นี่เอง…แต่กับวรรณกรรมเราถือว่าเป็นเรื่องลึกซึ้ง เป็นงานศิลปะ เป็นโลกส่วนตัวที่เราเขียนอย่างที่เราอยากเขียน….ตอนนี้กลับมาเขียนหนังสือด้วยแล้ว เขียนคอลัมน์ประจำทุกอาทิตย์เลย เขียนเยอะด้วย เขียนจนบรรณาธิการเขางง.. ไอ้นี่ขยันจังเลย ค่าเรื่องก็ได้ไม่เท่าไหร่ คือ ชักรู้สึกว่าอยากเขียนแล้ว ตอนแรกเคยมีความคิดว่าทำทีละอย่าง ต้องวางกีตาร์ก่อนถึงจะเขียนหนังสือได้ ปัจจุบันนี้ทำได้สองอย่าง ดีใจ พัฒนาขึ้นมาหน่อยหนึ่ง”

เป็นเพราะดนตรีไม่สามารถเติมเต็มเราได้แล้วหรือเปล่า?

“ก็อาจมีส่วน โดยตอนนี้แล้ว ชีวิตเปลี่ยนไปคือว่าไม่ได้ไปไหนเลย แล้วไม่อยากจะไปไหน แต่ก่อนนี่ไปเที่ยว กินเหล้า หาเพื่อน มีสังคม เดี๋ยวนี้ไม่ได้รับตรงนั้น อยู่บ้านตลอด แล้วมีเหตุผลที่จะอยู่ด้วยนะ เวลาใครมาชวนไปโน่น ก็กูอยู่บ้าน อยู่ทำไม? ก็อยู่กะลูก ซึ่งไม่มีมาก่อนเรื่องแบบนี้ แต่ไม่ใช่ว่าอบอุ่นอะไรนะ อยู่ทะเลาะกันก็มี ไม่ใช่ แหม อบอุ่นอะไรงั้น ไม่ใช่แฟมิลี่ที่ดีมาก แต่ตัวเองอยากอยู่ ไปไหนไม่ได้ รู้สึกไม่ไปไหน เวลาน้อยแล้วอะไรงี้ อยากจะอยู่ตรงนี้ เลยทำให้มีเวลา

เท่าที่สังเกต เราว่าเราเขียนมากกว่าคอลัมนิสต์คนอื่น ๆ นะ ชิ้นหนึ่งเราเขียนที 3 หน้าครึ่ง ถึง 4 หน้ากระดาษเอ 4 เขาต้องพิมพ์ย่อตัวหนังสือเราเล็กมากเพื่อจะเก็บได้หมด ขณะที่คนอื่นน่าจะอยู่ประมาณ 1-2 หน้าเอ 4 พิมพ์ออกมาตัวใหญ่เลย ที่เขียนเยอะเพราะมันเพลิน เขียนไปเขียนมา..เอ้า.. 4 หน้าแล้ว หลายครั้งเราต้องบังคับตัวเองให้เขียนไม่เกิน 4 หน้า ก่อนไปญี่ปุ่นครั้งหลังสุด 10 วันกับน้าหว่อง เขียนได้ 10 หน้า แบ่งได้ 3 ตอน เลยส่งล่วงหน้าได้ 3 ตอน ทั้งที่เขียนวันเดียวเสร็จ เรื่องมันไม่หมด แต่ดีไม่ดีอีกเรื่องนะ ต้องอ่านดูเอง” คอลัมนิสต์หน้าใหม่แต่ไฟแรงแดงโร่มาแต่ก่อนเก่า เล่าอย่างออกรส

แต่ถึงกระนั้นก็อาจจะน่าแปลกใจสำหรับใครหลายคนอยู่บ้าง หากทราบว่าสถานที่เขียนต้นฉบับสำหรับส่งคอลัมน์ประจำของสุรชัยนั้น เป็นห้างสรรพสินค้าใกล้แหล่งพำนักอันแสนจะพลุกพล่านด้วยผู้คน ด้วยเหตุผลเรียบง่ายว่า ที่นั่นมีโต๊ะและเก้าอี้ให้นั่งเขียนหนังสือได้

“เราจะนั่งเขียนในร้านคอฟฟี่ช็อป เขียนเสร็จก็แฟกซ์ให้ไปเลย เป็นลายมือเรานี่แหละ ลายมือล้วนๆ ไม่สวยแต่อ่านง่าย เราไม่มีโต๊ะทำงาน ที่บ้านต้องใช้นอนเอกเขนกเขียนเอา บางทีก็หลับไป เลยออกมาหาที่เขียนให้พอเป็นที่เป็นทาง พิมพ์ดีดก็พิมพ์ได้ คอมพิวเตอร์ก็พอเป็น แต่ไม่อยากใช้เป็นเรื่องเป็นราวไป ไม่ค่อยเหมาะกับชีวิตที่ต้องเดินทางบ่อย ๆ แบบเรา”

ด้วยอาการชีพจรลงเท้าดังว่า เป็นผลให้สุรชัยเองได้อ่านหนังสือแบบจริงจังไม่มากนัก ส่วนใหญ่มักจะเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ ติดตามข่าวสารข้อมูล

“อ่านบนรถ เดี๋ยวนี้แก่แล้ว ต้องใส่แว่นอ่าน เลยทำให้ขี้เกียจอ่าน งานวรรณกรรมพอพ้นยุคตัวเอง ก็ไม่ได้อ่าน พ็อคเกตบุ๊คนี่ไม่ได้แตะเลย แต่ก็ซื้อนะ ซื้อเก็บไว้ ให้ลูกอ่าน ที่อ่านจะเป็นพวกสารคดี วิจารณ์ หนังสือพิมพ์ งานเขียนมุมมองทัศนะ หลัง ๆ ที่ประทับใจ ก็เป็นโมน สวัสดิ์ศรี พี่คำสิงห์ ศรีนอก แล้วก็เก่าเลย อ.อุดากร มนัส จรรยงค์ หรือไม่ก็เป็นวรรณกรรมอเมริกัน ของ เฮมมิ่งเวย์ ซีไรต์ตั้งแต่รุ่นวาณิชมาก็ไม่ค่อยได้อ่านแล้ว”

พร้อมกันนี้ นักเพลงที่เติบโตมาจากแวดวงวรรณกรรม แสดงความรู้สึกต่อผลงาน ของคนเขียนหนังสือรุ่นใหม่ต่อไปว่า “อ่านแล้วไม่ถึงใจ ไม่ถึงเนื้อเยื่อ ยังไม่กระแทก อ่านต้นก็เดาตอนท้ายได้ แต่เราถือว่าเราไม่ห่างเหิน เราเข้าใจเขา สิ่งที่เขาคิด เราเคยคิด เคยเข้าใจ มันเหมือนซ้ำรอยความคิด บางทีเราผ่านเส้นทางความคิดนั้นมาแล้ว ”

โดยส่วนตัว มีงานเขียนอื่น ๆ ที่กำลังทำ หรืออยู่ในใจแล้วยังไม่ได้ทำบ้างไหม

“มีอยู่ชิ้นหนึ่ง เป็นข้อเขียนของตัวเองเตรียมไว้ว่าจะออกให้ทันงานคอนเสิร์ต ชื่อ ‘เนื้อนัยเพลง’ เกี่ยวกับเพลงเพื่อชีวิต เก็บข้อมูล เขียนไปเรื่อยๆ ถึงแฮมเมอร์ คาราบาว แล้ว เสร็จจากอันนี้ ว่าจะคุยกับเสี้ยวจันทร์ แรมไพร ให้ช่วยคัดงานพวกปกิณกะ ความคิด รวมเป็นเล่ม มีอยู่อีกอย่างที่ทำเป็นเรื่องเป็นราวไม่ได้เสียที คือ ภาพถ่าย รูปสไลด์ กองอยู่เต็มบ้าน เน่าไปหรือยังก็ไม่รู้

ส่วนเรื่องสั้น เป็นสิ่งที่รักมาก ยังอยู่ในใจเสมอ มีโอกาสก็อยากเขียน ถ้าเขียนลึกขนาดนั้น คงต้องหยุดเล่นดนตรี” สุรชัย สรุปเหมือนบอกกับตัวเอง

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น เสียงเพลงจาก “หงา คาราวาน” ยังคงขับขานตำนานการต่อสู้แสวงหาของคนหนุ่มสาวที่ยังคงหมายมั่นถึงสังคมที่ดีงาม “ดนตรีเพื่อชีวิต” อาจถูกตีความไปต่างๆ นานา แต่สำหรับ “สุรชัย จันทิมาธร” นี่คือ โลกวรรณกรรมที่ใส่ท่วงทำนองของตัวโน้ตและสายกีตาร์

เพื่อบอกเล่าเรื่องราวอันเต็มไปด้วยความหวังกำลังใจให้กับผู้คน

ผู้สื่อข่าวสายเดี่ยว
กรุงเทพธุรกิจ จุดประกาย – 4 พ.ค. 2546