ในยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์เพลงไทยสากล ช่วงทศวรรษ 2480 ถึงทศวรรษ 2490 “นารถ ถาวรบุตร” บรมครูนักแต่งเพลงแบ่งแนวเนื้อหาของเพลงได้เป็น 3 กลุ่มคือ

  1. กลุ่มเพลงปลุกใจ ให้รักชาติ รักความเป็นไทย
  2. กลุ่มเพลงรัก
  3. กลุ่มเพลงชีวิต คือเพลงที่หยิบยกเอารายละเอียดชีวิตของคนในอาชีพต่างๆ มาพรรณนาด้วยคำร้องที่เรียบง่ายแต่กินใจ มุ่งสะท้อนสภาพทางสังคมและเสียดสีการเมืองบ้างพอสมควร บทเพลงแนวนี้ประพันธ์โดยศิลปินเช่น แสงนภา บุญราศรี เสน่ห์ โกมารชุน ไพบูลย์ บุตรขัน คำรณ สัมปุณณานนท์

หลังจากปี พ.ศ. 2500 มาแล้ว จึงมีการแบ่งประเภทเพลงไทยสากลออกเป็น

  1. เพลงลูกกรุง เช่น เพลงของสุนทราภรณ์ สุเทพ วงศ์กำแหง ชรินทร์ นันทนาคร ฯลฯ
  2. เพลงลูกทุ่ง เช่น เพลงของสุรพล สมบัติเจริญ ฯลฯ

จนกระทั่งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อันมีการต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทำให้จิตสำนึกเพื่อชีวิต เพื่อมวลชนเบ่งบาน จนเป็นจุดกำเนิดของบทเพลงประเภทที่ 3 “เพลงเพื่อชีวิต” ตามที่รู้จักกันในปัจจุบัน และได้รับความนิยมตั้งแต่นั้นมา

เพลงเพื่อชีวิตถือกำเนิดขึ้นโดยได้รับอิทธิพลจากแนวคิด “ศิลปะต้องรับใช้ประชาชน” ซึ่งปรากฏในหนังสือ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดนักเขียนฝ่ายก้าวหน้า ซึ่งขบวนการนักศึกษาให้การยอมรับ

นับตั้งแต่ประมาณช่วงปี พ.ศ. 2514 เป็นต้นมา ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองด้วยกฎอัยการศึกของจอมพลถนอม กิตติขจร สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นเป็นบรรยากาศของเผด็จการทหารสมบูรณ์แบบ นักศึกษาประชาชนถูกจำกัดการแสดงออกทางความคิดเห็น การปกครองด้วยกฎอัยการศึกของรัฐบาลทหารได้สร้างความกดดันอึดอัดใจให้แก่ประชาชน ในช่วงปี พ.ศ. 2516 ความกดดันยิ่งเพิ่มมากขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์กรณี “ทุ่งใหญ่” ที่จังหวัดกาญจนบุรี ที่เกิดเหตุเครื่องบินตก และได้เปิดเผยความเหลวแหลกของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่ใช้เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ของทางราชการพาดาราสาวไปเที่ยวล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ในการนี้ มีคณะนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงออกหนังสือเสียดสีเหตุการณ์ดังกล่าว มีผลให้ถูกตั้งกรรมการสอบสวนและถูกลบชื่อจากมหาวิทยาลัย นักศึกษาและประชาชนจำนวนหนึ่งเห็นว่าเป็นการไม่ยุติธรรม จึงรวมตัวกันชุมนุมประท้วง บทเพลงเพื่อชีวิตบทเพลงแรกๆ ที่สะท้อนอุดมการณ์แห่งยุคสมัยก็ถือกำเนิดขึ้น คือเพลง “สู้ไม่ถอย” โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

ในเวลาเดียวกัน สุรชัย จันทิมาธร ซึ่งร่วมในการประท้วงด้วย ได้แต่งเพลง “สานแสงทอง” โดยเอาทำนองมาจากเพลง Find the Cost of Freedom ของ Crosby Stills Nash & Young เพลงทั้งสองกลายมาเป็นจุดกำเนิดเพลงเพื่อชีวิตในยุคต่อมา

แม้การประท้วงจะประสบความสำเร็จ เหตุการณ์บ้านเมืองก็ยังตึงเครียดต่อไปด้วยปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหากรรมกรชาวนา การคอรัปชั่น นักศึกษาและประชาชนจำนวนหนึ่งได้รวมกลุ่มกันเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งแม้ผู้เผด็จการทั้งสามจะหนีออกนอกประเทศแล้ว ก็ยังมีการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาโดยต่อเนื่อง

วงดนตรีเพื่อชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยนั้นคือ คาราวาน

สุรชัย จันทิมาธร กับ วีระศักดิ์ สุนทรศรี ได้ร่วมกันก่อตั้งวงดนตรี ท.เสนและสัญจร เพื่อร่วมแสดงดนตรีในการชุมนุมประท้วง มีบทเพลงที่ได้รับความนิยมเช่น เพลงคนกับควาย เปิบข้าว และข้าวคอยฝน ซึ่งต่อมา ทั้งสองได้มีโอกาสรู้จักสนิทสนมกับวงดนตรี บังคลาเทศแบนด์ ที่มี ทองกราน ทานา และ มงคล อุทก จนได้มารวมตัวกัน กลายเป็นวงดนตรีคาราวานในที่สุด

ในช่วงนี้ เพลงเพื่อชีวิตได้รับความนิยมสูงสุดในแวดวงนักศึกษา ปัญญาชน วงดนตรีเพื่อชีวิตหลายวงเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ พวกแรกใช้เครื่องดนตรีอะคูสติก เช่น กีตาร์ ไวโอลิน ซึง ฮาโมนิก้า และเครื่องดนตรีเคาะจังหวะ และมีท่วงทำนองผสมผสานตะวันออกกับตะวันตก ได้แก่ คาราวาน คุรุชน กงล้อ รวมฆ้อน โคมฉาย ส่วนอีกพวกหนึ่งจะใช้เครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์บรรเลง เพื่อปลุกเร้าให้เกิดความคึกคัก เช่น กรรมาชน รุ่งอรุณ และ ไดอะเล็คติค และอีกพวกหนึ่งจะมีท่วงทำนองเพลงไทยเดิมและพื้นบ้านประยุกต์ ได้แก่ ต้นกล้า และ ลูกทุ่งสัจธรรม ฯลฯ เนื้อหาของเพลงเพื่อชีวิตมักเกี่ยวกับกิจกรรมนักศึกษา สถานการณ์บ้านเมือง บทกวีจากนักคิดนักเขียนรุ่นเก่าๆ อุดมการณ์สังคมนิยม และต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา

ระหว่างปี พ.ศ. 2516-2519 สถานการณ์บ้านเมืองวุ่นวาย สับสน และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ในที่สุด จุดแตกหักก็มาถึง เมื่อนักศึกษารวมตัวกันต่อต้านการกลับมาเมืองไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร กลายเป็นเหตุการณ์นองเลือดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นิสิต นักศึกษา ประชาชน ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวง

วงดนตรีคาราวานได้ทราบข่าวก็ยุติการแสดง หลบหนีการล่าสังหารไปพร้อมกับเพื่อนนักดนตรีจากวงโคมฉาย รวม 11 คน เดินทางเข้าป่า

นักศึกษาประชาชนกลุ่มหนึ่งเข้าป่าไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ในช่วงระยะเวลาต่อเนื่องจาก 14 ตุลาคม 2516 ถึง หลัง 6 ตุลาคม 2519 ในช่วงนี้มีการผลิตผลงานเพลงเพื่อชีวิตแนวหนึ่งที่เรียกว่า “เพลงปฏิวัติ” ตัวอย่างผู้ประพันธ์เพลงในแนวนี้ก็ได้แก่ จิตร ภูมิศักดิ์ เช่น เพลงภูพานปฏิวัติ แสงดาวแห่งศรัทธา วาศ สุนทรจามร เช่น เพลงแดนตะราง นายผี อัศนี พลจันทร์ วัฒน์ วรรลยางกูร จิ้น กรรมาชน และ ส.เพลิง นาหลัก เป็นต้น บทเพลงเหล่านี้มีแนวร่วมคือ สะท้อนอุดมคติพรรคคอมมิวนิสต์ นำเสนอค่านิยมหลักของชาติในอุดมคติที่มีความเสมอภาค เป็นประชาธิปไตยและเป็นของประชาชน

ในสมัยนั้น มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพทางความคิดเป็นอย่างมาก มีการตรวจสอบสิ่งพิมพ์และมีประกาศรายชื่อหนังสือที่ห้ามอ่าน หรือมีไว้ในครอบครอง มีการควบคุมสื่อมวลชน ในยุคสมัยนี้ ไม่มีเวทีให้เพลงเพื่อชีวิตมาแสดงได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดมีขบวนการนักศึกษา และบทเพลงที่สอดแทรกอุดมการณ์เพื่อสังคมนำมาแสดงอย่างไม่เป็นที่เปิดเผย ตัวอย่างวงดนตรีในแนวนี้ก็ได้แก่ วงฟ้าสาง วงชีวี วงสตริง อมธ. ขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนั้น ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงยังมี วงเกี่ยวดาว ดาวเหนือ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มี วงนฤคหิต และที่มหาวิทยาลัยมหิดลมี วงประกายดาว มศว.บางแสนมี วงกอไผ่ นอกจากวงดนตรีเหล่านี้แล้ว ก็มี วงลูกทุ่งเปลวเทียน พลังเพลง น้ำค้าง พรีเชียสลอร์ด (เป็นวงชนะเลิศการประกวดเพลงโฟล์คซอง) ทะเลชีวิต เป็นต้น วงดนตรีเหล่านี้ล้วนแต่สืบสานแนวคิดมาจากยุคสมัย 14 ตุลา และ 6 ตุลา ทั้งสิ้น

ในโอกาสครบรอบสามสิบปี 6 ตุลาคม 2519 ที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงที่ยากจะเลือนหายไปจากความทรงจำของชาวไทย เพลงดนตรีจะมาพูดคุยกับตัวแทนผู้ที่เป็นนักศึกษาสมัยนั้น ที่มีส่วนร่วมในขบวนการเพลงใต้ดิน ในนามของ วงน้ำค้าง และ วงพลังเพลง ว่า ในสภาพบ้านเมืองอันไม่เอื้อต่อการใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือการเผยแพร่อุดมการณ์เพื่อชีวิต พวกเขาผ่านคืนวันเหล่านั้นมาได้อย่างไร

วงพลังเพลง – เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ คเณศวร์ วรรณโชติ และ น้ำทิพย์ โยธินพัฒนะ

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 การเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกรูปแบบมีอันต้องหยุดชะงักไปอย่างเด็ดขาด นักศึกษาปัญญาชนส่วนใหญ่เดินทางเข้าป่าเพื่อสานต่ออุดมการณ์ที่ตนยึดมั่น ส่วนนักศึกษาปัญญาชนที่ยังอยู่ในเมืองก็ต้องยุติบทบาทของตนไปโดยปริยาย แต่ก็ยังมีหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันขึ้นในฐานะที่เป็นตัวแทนแนวร่วมด้านวัฒนธรรมในภาคสังคมเมือง และเริ่มการเคลื่อนไหวอีกครั้งในรูปแบบของการออกเทปเพลงใต้ดิน เพื่อใช้เพลงเพื่อชีวิตเป็นสื่อเชื่อมประสานระหว่างเมืองกับป่า ให้เสียงเพลงเป็นกำลังใจปลุกปลอบขวัญนิสิตนักศึกษาปัญญาชนที่บอบช้ำและเคว้งคว้างให้มีหลักยึดร่วมกัน และให้เสียงเพลงทำหน้าที่ปลุกเร้าจิตสำนึกของความถูกต้องดีงามในสังคม หล่อเลี้ยงกำลังใจที่ยังหลงเหลืออยู่ เสริมสร้างพลังใจให้เต็มเปี่ยมขึ้นมาใหม่ด้วยพลังของเสียงเพลง และเป็นกำลังใจให้กับคนที่เข้าไปอยู่ในป่า ว่าสิ่งที่สร้างมาร่วมกันจะดำเนินอยู่ต่อไป

หนุ่มสาวเหล่านี้รวมตัวกันขึ้นในนามของ “กลุ่มพลังเพลง”

กลุ่มพลังเพลง (น้ำทิพย์ โยธินพัฒนะ และ คเณศวร์ วรรณโชติ)

กลุ่มพลังเพลงผลิตผลงานออกจำหน่ายทั้งสิ้น 3 ชุด เทปชุดแรกชื่อชุด “พลังเพลง” (พ.ศ. 2520) เกิดจากการรวมตัวกันของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อผลงานได้รับการเผยแพร่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในหมู่นิสิตนักศึกษาสถาบันต่างๆ อย่างรวดเร็ว กลุ่มพลังเพลงก็ออกผลงานชุดที่สอง “เธอคือความหวัง” (พ.ศ. 2521) ตามมา โดยมีสมาชิกเป็นนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยหอการค้า เพิ่มเข้ามา ตามมาด้วยผลงานชุดที่สาม คือ “ชุดปรับปรุงใหม่” (พ.ศ. 2522) โดยมีศิลปิน วงโฮป (สุเทพ ถวัลย์วิวัฒนกุล – ผู้เขียน) ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่มพลังเพลงได้นำเอาเพลงในชุดที่ 1 มาเรียบเรียงดนตรีและเสียงประสานใหม่ ทำเป็นเทปชุดที่สามออกเผยแพร่

ในปี พ.ศ. 2523 การแตกแยกทางความคิดของนักศึกษาที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในป่า รวมทั้ง นโยบาย 66/23 “ป่าคืนเมือง” ของรัฐบาล เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยล่มสลาย เหตุการณ์การต่อสู้ทางการเมืองเปลี่ยนไป นักศึกษาและผู้รักความเป็นธรรมทยอยกลับคืนสู่เมือง ประกอบกับมีวงดนตรีเพื่อชีวิตที่จัดการแสดงดนตรีอย่างเปิดเผยเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก บทบาทของกลุ่มพลังเพลงในการออกเทปใต้ดินเพื่อเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างเมืองกับป่าจึงสิ้นสุดลง

แต่ช่วงเวลาเพียงแค่ 3 ปีกับผลงานเพลง 3 ชุด ก็ทำให้ชื่อของกลุ่มพลังเพลงได้จารึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการเพลงเพื่อชีวิตของไทย ในฐานะที่เป็นกลุ่มศิลปินเพลงเพื่อชีวิตเพียงกลุ่มเดียวที่สามารถผลิตผลงานออกเผยแพร่ได้ในช่วงเวลาแห่งการจำกัดสิทธิเสรีภาพทางความคิด

ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2519 ก่อนจะมาเป็นวงพลังเพลง นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รวมตัวกันตั้งวงดนตรีกลุ่มผู้หญิงจุฬา เพื่อเคลื่อนไหวเรื่องปัญหาผู้หญิง และพยายามเคลื่อนไหวให้นิสิตนักศึกษาเข้าใจแนวคิดทางการเมือง คเณศวร์ วรรณโชติ ซึ่งขณะนั้นเป็นนิสิตปริญญาโทคณะวิทยาศาสตร์ได้เข้าร่วมเล่นดนตรีกับวงผู้หญิงจุฬาด้วย

ช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1 ปี พ.ศ. 2519 ประมาณช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม เป็นช่วงที่วงดนตรีกลุ่มผู้หญิงจุฬาเริ่มออกแสดง โดยตระเวนเล่นดนตรีตามคณะต่างๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะที่วงอื่นๆ เริ่มเล่นเพลงเพื่อชีวิตหนัก ๆ มีเพียงวงดนตรีกลุ่มผู้หญิงจุฬาวงเดียวที่ยังคงเล่นเพลงเบาๆ ที่เข้าถึงผู้ฟังในวงกว้าง ตัวอย่างเช่น เพลงฉันปรารถนา สิ่งฝันในใจนี้ สลัม เป้าหมายการศึกษา แต่วงดนตรีเปิดแสดงอยู่ได้ไม่นานก็ต้องยุติบทบาทตัวเองลงด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาผ่านพ้น คุณคเณศวร์จึงรวบรวบเพื่อนพ้องที่เคยเล่นดนตรีด้วยกันในกลุ่มผู้หญิงจุฬาอีกครั้ง และตั้งวงพลังเพลงขึ้นในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2520

“การเคลื่อนไหวทางการเมืองตอนช่วงนั้นอันตรายมากเลยนะครับ ไม่ว่าจะทำอะไรนี่ มีโอกาสจะตายได้ตลอด ทุกครั้งที่มีการชุมนุมนี่จะมีการขว้างระเบิดใส่หมู่นักศึกษา ตายกันไปเยอะ

เหตุการณ์มันวิกฤตมาตลอด การเมืองมันใกล้จุดแตกหักมาเรื่อยๆ แต่ละคนไม่กลัวอะไรแล้ว จะคิดอะไร พูดอะไร ทำอะไร ก็แสดงออกมาหมด ทุกคนเคลื่อนไหวกันอิสระมาก มันก็เลยบีบสถานการณ์ให้งวดเข้ามาเรื่อยๆ แต่พอหลัง 6 ตุลาถือเป็นจุดแตกหัก ทุกอย่างหยุดหมดเลย เพราะถูกจับง่ายมาก มีโอกาสเสี่ยงสูงมาก

การเคลื่อนไหวต่างๆ ตายสนิท เราทำอะไรไม่ได้เลย ยาวนานมาก มหาวิทยาลัยปิดไปเลย ปิดไปนานมาก จนเปิดเทอมการเคลื่อนไหวก็ไม่เกิด เพราะพวกเด็กกิจกรรมจำนวนมากหายไปหมดแล้ว หากันไม่เจอเลย เรียกว่าไม่เหลืออะไรแล้ว มันหมดไปแล้ว เหมือนกับมืดแปดด้าน ก็งงกับสถานการณ์ว่าทำไมมันถึงผิดพลาดทำให้ต้องหยุดเคลื่อนไหวไปอย่างนี้

พอเปิดเทอมมา ผมก็พยายามตั้งสติ รู้สึกเหมือนเราถูกปิดล้อม ก็ค่อยๆ ตั้งสติ คิดว่าทำยังไงจะสร้างความเคลื่อนไหวได้ ผมจึงรวบรวมคนที่เคยเล่นดนตรีด้วยกัน มาคุยกันว่า เราน่าจะมาเคลื่อนไหวด้วยเพลงเพื่อชีวิตอีกครั้งไหม เพราะว่าถ้าเป็นเพลงที่มีลักษณะเป็นการเมืองจริงๆ ก็คงจะทำไม่ได้ เพราะคงจะอันตรายเกินไป ก็คิดว่าน่าจะลองดูด้วยเพลงลักษณะนี้ พยายามจะเปิดความเคลื่อนไหวให้ได้”

กลุ่มพลังเพลงได้รวบรวมเพลงที่เป็นที่รู้จักกันในขณะนั้น นำมาเรียบเรียงดนตรีใหม่ เพลงที่วงพลังเพลงนำเสนอนั้น มีจุดเด่นอยู่ที่เนื้อหาของเพลงที่ออกไปในแนวสร้างสรรค์ ให้กำลังใจ สร้างความหวัง และสร้างศรัทธาในพลังของนักศึกษา โดยนำเสนอผ่านท่วงทำนองที่ไพเราะ อ่อนหวาน ไม่ได้ออกไปในแนวเสียดสีสังคมหรือปลุกระดมให้เกิดความคิดที่รุนแรง คุณคเณศวร์อธิบายเหตุผลในการคัดเลือกเพลงเหล่านี้ว่า

“จุดประสงค์ของวงตอนนั้น เราพยายามเผยแพร่เพลงที่มีเนื้อหาง่ายๆ เราพยายามรวบรวมเพลงที่มีอยู่ในสมัยนั้นให้มากที่สุดเพื่อมาเผยแพร่ ตอนที่ทำงานตอนนั้นเราไม่ได้สนใจว่าเป็นเพลงขอใคร มาจากไหนยังไง แต่เป็นเพลงที่มวลชนฟังได้ รับได้ เราก็รวบรวมมา

เราเล่นเพลงที่ไม่รุนแรง มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสังคม เพลงที่เกี่ยวข้องกับตัวเขา (นักศึกษา) สมัยนั้น ในช่วงนั้นวงอื่นๆ เล่นเพลงปฏิวัติ จับปืนกันหมดแล้ว เราเห็นว่ามีแนวร่วมอีกจำนวนมากที่ไม่ฟังเพลงแนวนั้น เพราะฟังแล้วเขาอาจจะกลัว อาจจะรู้สึกแปลกแยก

กระแสการเมืองยุคนั้นมันบอกว่า ถ้าคุณเล่นแต่เพลงรัก คุณก็จะเป็นคนไม่มีคุณค่า กระแสสังคมมันแรง ใครๆ ก็อยากเล่นเพลงแบบนี้ แต่ถ้าแรงเกินไป จะจับแต่ปืน คนส่วนใหญ่ก็ไม่เอาด้วย มันเลยมีขอบเขตมาให้เราเคลื่อนไหวอยู่ตรงนี้ เพลงมันไม่ใช่เพลงรัก มีเนื้อหาพอใช้ได้ แต่บางทีก็มีความเพ้อฝัน พูดถึงสิ่งสวยงาม บางคนในสมัยนั้นก็มองว่าเราเล่นเพลงอ่อนเกินไป อยากจะให้เล่นอะไรที่แรงกว่านี้”

นอกจากจะรวบรวมเพลงเพื่อชีวิตที่ไพเราะ ฟังง่าย มานำเสนอแล้ว วงพลังเพลงยังได้แต่งเพลงใหม่เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากเห็นว่าเพลงที่รวบรวมมาบางส่วนยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนมากพอ คุณคเณศวร์เล่าถึงการแต่งเพลงในยุคนั้นว่า

“อย่างเพลงสู่เส้นชัย เพลงนี้เป็นของพลังเพลงเองครับ เพราะว่าเริ่มต้นมีคนในวงแต่งบรรทัดแรกขึ้นมา ผมก็ใส่ทำนองเข้าไป พอได้คู่แรกปั๊บ คนในวงก็มาช่วยกันทีละบรรทัดสองบรรทัด จนออกมาเป็นเพลง ไม่มีเพลงไหนของพลังเพลงที่แต่งคนเดียวเลย

รำวงสามัคคี ผมสตาร์ทไว้ 2 บรรทัดแรก ใส่ทำนองไว้ แล้วคนในวงอีก 2 คนก็มาช่วยแต่งต่อจนจบ

ในการแต่งเพลง เนื้อเพลงจะมาก่อน ดังนั้น ทำนองเพลงของเราจะถูกบังคับด้วยเสียงวรรณยุกต์ของคำ แล้วก็ใส่คอร์ดพื้นฐานเข้าไปเป็นเพลง เพลงที่เล่นส่วนใหญ่ก็เป็นเพลงโฟล์คซองน่ะครับ แล้วก็มีเครื่องดนตรีอื่นเพิ่มเข้าไปบ้าง เช่น มีขลุ่ยบ้าง ออร์แกนบ้าง กลองเล็กๆ บ้าง”

หลังจากรวมกลุ่มกันได้แล้ว กลุ่มพลังเพลงก็เริ่มการเคลื่อนไหวด้วยการทำเทปเพลงใต้ดิน โดยตั้งใจจะทำเทปเพลงอย่างเดียว ไม่แสดงดนตรีเป็นอันขาด เนื่องจากคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ เพราะสถานภาพของนิสิตนักศึกษาตอนนั้นยังไม่มั่นคงเพียงพอ

“จุดที่เริ่มตั้งหลักได้คือเดือนมกรา ปี 20 เราก็ทดลองเริ่มการเคลื่อนไหวดู แต่ทำเป็นเทป ไม่ได้เป็นตัวคน ก็ยังอุ่นใจว่าอันตรายมันน่าจะไม่มาก แต่ก็ไม่ได้มั่นใจว่าจะปลอดภัย เพียงแต่ว่าในกระบวนในการทำงาน สิ่งสำคัญก็คือเราปิดลับทุกขั้นตอน ที่สำคัญก็คือคนในวงเป็นคนที่รู้จักกันมายาวนาน ทุกอย่างปิดลับหมด ก็จะปลอดภัย

เราทำเทป ไม่มีใครรู้จักตัวเรา เราบันทึกเสียง เราไม่ใช้ห้องอัด เราใช้บ้าน เพราะฉะนั้นก็ไม่มีใครรู้การเคลื่อนไหว เราไม่เคยจ้างใคร ทำเองหมด มันเลยปิดลับอยู่ทุกขั้นตอน การขายก็กระจายไปตามสายงาน เป็นคนคนเดียวที่รู้จักผม พอมันกระจายออกไปเรื่อยๆ ก็มีคนที่รู้จักมารับไปบ้าง แต่ก็มีแค่ 2-3 คนที่สนิทกันจริงๆ ทุกอย่างมันก็เลยปิดลับอยู่ได้

ตอนมกรานี่เราเริ่มนัดพบกัน ซ้อมดนตรีกันจริงๆ ตอนปิดเทอม ช่วงเดือนเมษา ซ้อมกันที่ศาลาพระเกี้ยวชั้นบน ตรงที่มันเป็นมุมๆ ตอนแรกเราตั้งใจว่าเปิดเทอม ปี 20 เทอมหนึ่ง เราจะเคลื่อนไหว แต่ทำไม่ทัน ช้าไปเดือนนึง แต่พอเทปออกไปสัก 2-3 สัปดาห์ เดินผ่านหอประชุม เอ๊ะ มีคนเปิดเพลงเรา ก็ยังแปลกใจว่ามาได้ยังไง เพราะคนที่เราให้ไป ที่เป็นสายงานก็ไม่ใช่คนในจุฬา ก็ไม่รู้เหมือนกัน”

น้ำทิพย์ โยธินพัฒนะ เล่าให้เราฟังถึงบรรยากาศในการทำเทปเพลงใต้ดินในช่วงนั้นว่า

“เราไม่เปิดตัว เราออกจากบ้านก็ไม่บอกพ่อแม่ เราได้ยินเพลงเราก็ทำเป็นไม่รู้ว่าเป็นเพลงของใคร แต่เรารู้สึกว่าเป็นพันธกิจที่เราต้องทำ ต้องเดินทางไปไกลแค่ไหนเราก็ไปกัน ไปเจอกันทุกอาทิตย์เลย ช่วยกันทำเทป ก็เป็นช่วงที่เหนื่อยกันมาก การทำเพลงเหมือนกับเป็นการทำงานใต้ดิน ต้องทำกันตามบ้าน เราตระเวนไปเรื่อยๆ ตามบ้านเพื่อน ใช้ห้องนอนเกือบทุกบ้านเพราะมันเงียบสงบที่สุด

จริง ๆ ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เสี่ยงเลยนะ สมาชิกบางคนอย่างนักร้องชื่อน้องกุ้งเต้น (นันทนา เดชะบุญประทาน – ผู้เขียน) นี่ เสียงเป็นเอกลักษณ์มากเลย คือถ้าเรียกมาร้องเทียบกับเทปนี่ก็รู้เลยว่าเป็นใคร ติดคุกได้เลย เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่ามันไม่เสี่ยงนะ มันก็เสี่ยงมาก แต่เขาก็ยังอยู่กับเรามาตลอด อันนี้มันทำให้เห็นว่าพลังนักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์ ถึงเราจะไม่มีแนวคิดทางการเมืองที่เข้มแข็งหรือว่าซ้ายสุดขั้ว แต่เรื่องใจรักความเป็นธรรมนี่ เราเชื่อว่าทุกคนมีอยู่ ทุกคนมีใจให้”

สำหรับวิธีการบันทึกเสียงนั้น คุณคเณศวร์เล่าว่า “ในการบันทึกเสียง เราจะเล่นเครื่องดนตรีทุกเครื่องพร้อมกัน ความดัง ความชัด ความเบามันจะขึ้นอยู่กับระยะห่างระหว่างเครื่องดนตรีกับเครื่องบันทึก ไม่ได้อัดเสียงทีละชิ้นแล้วค่อยเอามามิกซ์กันเหมือนสมัยนี้ เราเล่นพร้อมกันหมดหลาย ๆ รอบ พอรอบไหนสมบูรณ์เราก็หยุด เพลงนั้นเราก็จะไม่แตะมันอีก เปลี่ยนไปอัดเพลงใหม่

ช่วงทำเทป จะนัดกันอาทิตย์ละครั้ง ทั้งซ้อม ทั้งบันทึกเสียง การซ้อมกับการบันทึก จริงๆ มันก็คือสิ่งเดียวกัน ซ้อมไปด้วยอัดไปด้วย จนกว่ามันจะใช้ได้ เพลงไหนอัดแล้วก็ทิ้งมันไปเลย ไม่หยิบมาเล่นอีกเพราะไม่ได้แสดง เพลงเดิมเสร็จเราก็แสวงหาเพลงใหม่มาทำอีก ไม่เล่นเพลงเดิมซ้ำ มาทำซ้ำเพลงเดิมก็ตอนชุดที่สาม

ส่วนชุดสองห่างจากชุดแรกไม่เกิน 1 ปี ช่วงนั้นการผลิตเป็นเรื่องหนักมาก ผลิตได้ช้ามากเพราะใช้เทปคาสเซ็ทมาต่อกัน ทั้งการสั่งของและอื่นๆ เป็นปัญหามาก ช่วงที่ผมผลิตเองมีประมาณ 6,000-7,000 ม้วน พอเราได้เงินทุนกลับมาส่วนนึงเราก็ไปซื้อ tape deck มาพ่วง ให้มันเพิ่มปริมาณมากขึ้น พอการผลิตมันอยู่ตัว ก็เริ่มมาทำเพลงชุดสอง ทำกันหามรุ่งหามค่ำ 24 ชั่วโมงน่ะครับ เพราะว่าเครื่องมันน้อย แทบไม่ได้นอนเลยครับ ความคิดที่ว่าเราจะไม่จ้างใครผลิต มันปลอดภัยมากขึ้น แต่ก็เหนื่อยมาก

แต่ก็ดีที่ช่วงแรกๆ เขาก็สั่งนะครับ ไม่ไปก๊อปปี้กันต่อ พอผ่านไปสักปีก็มีคนเอาไปก๊อปปี้ขายกันเยอะ ซึ่งเราก็ว่าดีนะ เพราะเราต้องการให้มันแพร่หลายไปในวงกว้าง ครั้งสุดท้ายมี tape deck 10 เครื่อง การผลิตเกือบไม่หยุดเลย ทุกวัน เป็นปีๆ สลับเวรกันทำ ระหว่างผมกับแม่

เราไม่มีเวลาคิดถึงผลของมันเลย มีคนสั่งมาก็ทำไป ผลของมันแค่ไหนยังไงนี่ไม่ได้อยู่ในหัวเลย เรื่องผลกระทบของมันเราก็ไม่ได้นึกถึง เราแค่พยายามผลักดันให้มีการเคลื่อนไหวเท่าที่เป็นไปได้”

คุณคเณศวร์ได้เล่าถึงแรงผลักดันที่ทำให้เขาทุ่มเทให้กับวงพลังเพลงให้เราฟังว่า “สำหรับผม การทำงานเกี่ยวกับพลังเพลง ไม่เคยคิดว่ามันสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่เวลาที่ผ่านมายาวนาน ความคิดสำคัญที่ทำพลังเพลงมาได้ มี 2 อย่าง

หนึ่งก็คือ เรามีปรัชญาที่เรียนรู้มา สอนเราว่า ท่ามกลางความมืด มันต้องหาหนทางให้เจอ ในวัยของเราที่อยู่ตอนนั้น เราไม่รู้หรอกว่านี่มันคือสิ่งที่เป็นจริง มันเหมือนกับว่ารู้จักสิ่งนี้มานะ อ่านจากสรรนิพนธ์มา เราจะพยายามทำมัน มันเป็นเหมือนการชี้นำที่สำคัญ ทำให้เราพยายามหาหนทางนี้ออกมาให้ได้ ท่ามกลางความมืด มันต้องมีหนทางที่ฝ่าได้

อีกอย่างนึงก็คือ การทำงาน มันเหมือนลุงโง่ย้ายภูเขา เราต้องทำให้เหมือนลุงโง่ให้ได้ ความรู้สึกยากลำบากในการทำงานของเราที่อยู่กับงานนี้อาจจะไม่เหมือนคนอื่น คนอื่นอาจจะไม่รู้สึกว่ามีความยากลำบาก แต่ผมรู้สึกว่าการทำงานนี้เป็นสิ่งที่หนักมากสำหรับชีวิตผม และผมรู้ว่าในชีวิตนี้ทำอย่างนี้ได้เพียงครั้งเดียว ให้ทำอีกครั้งนึงไม่มีวันทำ แต่ที่ทำมาได้เพราะนิทานเรื่องลุงโง่ย้ายภูเขาเป็นสิ่งที่ชี้นำเรา ผมจึงอดทนทำมาได้เป็นเวลาหลายๆ ปี

ปรัชญาชีวิตจึงเป็นสิ่งที่เราควรให้กับเยาวชนของเรา เพราะถ้าไม่มีมัน มันยากที่จะให้เขาก้าวไปสู่สิ่งที่ดีได้ และให้เขาคิดเองไม่มีวันเจอ ผมเองก็ไม่ได้เจอมันด้วยตัวเอง แต่เป็นเพราะว่าเรียนรู้จากหนังสือ จากสิ่งที่คนอื่นสอน อะไรหลายๆ อย่าง มันจึงทำให้เราเดินบนหนทางนี้ได้มาตลอดรอดฝั่ง ผมว่า ถ้าไม่มี 2 สิ่งนี้ก็จะไม่มีพลังเพลง ไม่รู้จะต้องขอบคุณอะไร อาจจะขอบคุณสรรนิพนธ์ กับขอบคุณลุงโง่ ท่ามกลางความยากลำบาก ถ้าไม่มีอะไรชี้นำเรา เราอดทนทำมันไม่ได้หรอกครับ”

แม้เวลาจะผ่านมาแล้วถึง 30 ปี สมาชิกในกลุ่มพลังเพลงต่างแยกย้ายกันไปดำเนินชีวิตตามวิถีที่แตกต่าง แต่ก็ยังคงไปมาหาสู่ติดต่อกันอยู่อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากความผูกพันแนบแน่นที่ก่อตัวขึ้นจากการทำงานร่วมอุดมการณ์กันในครั้งนั้น คุณน้ำทิพย์ เล่าถึงความประทับใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพลังเพลงว่า

“บรรยากาศที่เรามาร่วมกันทำงาน เป็นอะไรที่ประทับใจ เราไม่ได้รู้จักเพื่อนจากมหาวิทยาลัยอื่นมาก่อน แต่ก็มีการเชื่อมประสานกันได้โดยธรรมชาติ บางทีเพื่อนจากประสานมิตรก็มาช่วย ไม่รู้ว่าใครพาเข้ามา มันมีความหลากหลาย แล้วทุกคนก็มีความตั้งใจที่จะผลักดันให้มีอะไรดีๆ ออกมาให้สังคม สิ่งเหล่านี้ เพลงเหล่านี้เป็นตัวหล่อเลี้ยงเป็นกำลังใจให้เราอยากทำสิ่งดีๆ อยู่ ถึงแม้เราจะไม่เข้าใจคนที่อยู่ในป่า เพื่อนฝูงที่เข้าไป หรือไม่ได้เข้าใจระบบพรรคมากมาย เพลงมันมีความหมายด้วยตัวมันเอง แม้จะไม่มีใครมาบอกเราเป็นคำพูดก็ตาม

ในความที่เรามีส่วนร่วมในการร้องเพลง เรารู้สึกว่าเพลงที่เราร้องมันไม่ใช่แค่เพลง แต่มันเหมือนเป็นการ commit ตัวเองด้วยนะ ถ้าเราร้องเพลงออกมาแล้ว มันเหมือนกับเราจะต้องเป็นแบบสิ่งที่เราร้องด้วย ไม่อย่างนั้นเราจะร้องไม่ได้ สิ่งที่จะฝากกับคนรุ่นใหม่ก็คือ อยากให้หาอะไรที่มันเป็นแรงจูงใจให้มีเป้าหมาย ให้เห็นคุณค่าของชีวิตที่จะทำให้เดินไปข้างหน้าได้”

นับจากปี พ.ศ. 2520 ที่กลุ่มพลังเพลงได้ผลิตเทปเพลงชุดแรกออกจำหน่าย เพลงทุกเพลงในอัลบั้มก็ได้รับความนิยมแพร่หลายในเวลาอันรวดเร็ว แต่ก็ไม่มีใครได้รู้จักสมาชิกในกลุ่มพลังเพลงที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงเลย จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2541 องค์กร 14 ตุลา ได้ใช้ความเพียรพยายามในการค้นหากลุ่มพลังเพลงซึ่งปิดตัวมานาน และในที่สุด กลุ่มพลังเพลงก็ได้เปิดตัวแสดงสดเป็นครั้งแรกที่ท้องสนามหลวง ในงาน 25 ปี 14 ตุลา คนเดือนตุลาและคนในวงการเพลงเพื่อชีวิตจึงได้มีโอกาสได้รู้จักตัวตนของวงดนตรีที่ได้รับความนิยมสูงสุดจนกลายเป็นตำนานของเพลงเพื่อชีวิตในยุคหลัง 6 ตุลา 2519

นอกจากวงพลังเพลง อีกผลงานจากวงดนตรีนักศึกษาที่เคลื่อนไหวอยู่ในยุคนั้นที่ทางเพลงดนตรีได้ตามเจอตัวก็คือ วงน้ำค้าง เราได้พูดคุยกับ หมอสัญญา ภัทราชัย (ภาควิชาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี) ผู้เป็นทั้งนักดนตรีและผู้สร้างสรรค์งานเพลง ที่มีความเชื่อมโยงกับวงดนตรีกลุ่มพลังเพลงเป็นอย่างมาก

วงน้ำค้าง – เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ ผศ.นพ.สัญญา ภัทราชัย

แม้ภารกิจในอาชีพปัจจุบันของคุณหมอสัญญาจะอยู่นอกวงการดนตรี แต่ด้วยอิทธิพลครอบครัวที่หล่อหลอมมาแต่เด็ก ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่ทำให้คุณหมอผลิตงานเพลงเพื่อชีวิตที่ไพเราะเป็นที่จดจำออกมาได้ คุณหมอสัญญาเกิดในครอบครัวคนรักดนตรี พ่อเล่นซอจีนและฮาร์โมนิก้าได้เก่งมาก พี่ชายเล่นเมาท์ออร์แกน แถมยังเป็นนักฟังเพลง สะสมแผ่นเสียงเพลงคลาสสิกเป็นพันแผ่น คุณหมอจึงได้ฟังเพลงพวกนี้ตั้งแต่เด็ก ตอนที่พี่ชายไปอเมริกา ก็ยกแผ่นเสียงเหล่านั้นมาให้น้องชายฟังต่อ จนเกิดความคุ้นเคย

พอไปอยู่โรงเรียนอัสสัมชัญซึ่งมีวงออร์เคสตร้าที่สมบูรณ์แบบ ได้เห็นบราเธอร์เล่นไวโอลินชั้นเยี่ยมจากเยอรมัน ก็ไปขอเรียนด้วย เรียนจนจบ บราเธอร์แถมไวโอลินเยอรมันมาให้อีกต่างหาก คุณหมอสัญญาจึงเล่นไวโอลินมาเรื่อย ๆ

จนมาเป็นนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ไม่ได้ละทิ้ง ไปร่วมเล่นไวโอลินในวงจามจุรีออร์เคสตร้าที่อาจารย์โกวิทย์ (รศ.ดร.โกวิทย์ ขันธศิริ – ผู้เขียน) ก่อตั้งขึ้น พอตกเย็น บางทีอาจารย์ไปรับเล่นดนตรีในงานต่างๆ เช่น งานแต่งงาน คุณหมอก็ตามไป ได้ประสบการณ์พิเศษ แล้วอาจารย์ยังได้ให้คำแนะนำเทคนิคการเล่นเพิ่มเติมให้ด้วย

ช่วงปี พ.ศ.2516 คุณหมออยู่ปีสาม เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา วันมหาวิปโยค ตอนนั้นเพลงเพื่อชีวิตได้รับความนิยม คุณหมอก็ได้ฟังเพลงของวงคาราวาน เช่น เพลงเปิบข้าว คนกับควาย ก็ถูกใจว่าเป็นเพลงสไตล์ที่ไม่เคยฟังมาก่อน เมื่อทางสโมสรนิสิตแพทย์พยายามจะฟอร์มวงเพื่อชีวิตเพื่อเคลื่อนไหว คุณหมอจึงไม่รีรอที่จะเข้าร่วมด้วย โดยตั้งชื่อวงว่า วงน้ำค้าง ออกเทปชุด “ตะวัน” มีการนำเพลงของวงคาราวานมาเล่นบ้าง เพลงของจิตร ภูมิศักดิ์บ้าง นอกจากนั้นก็มีเพลงของคุรุชน อินโดจีน ฯลฯ

คุณหมอเล่าให้ฟังถึงกำเนิดของเพลงที่วงน้ำค้างเล่นและมีชื่อเสียงมาจนทุกวันนี้ว่า “มีอยู่วันหนึ่งคณะอักษร จุฬาฯ จัดงานชื่อ ‘งานพลังเพลง’ เห็นคณะแพทย์มีวง ก็เชิญมาเล่น คืนนั้นผมก็เลยนั่งเขียนเพลง พลังเพลง อาศัยว่าเราคุ้นเคยกับเพลงคลาสสิก เขียนโน้ต เขียนคอร์ดได้ มันมาด้วยกัน ความจริงก่อนหน้านั้นก็เขียนเพลงมาแล้ว แต่ว่ามันห่วย… ผมเล่นไวโอลิน กีตาร์ เมาท์ออร์แกน สามอย่าง ก็เขียนเพลงมา คืนนั้นแต่งสองเพลงเลย เพลงพลังเพลง กับเพลงน้องใหม่ พอตอนเช้าก็มาเล่นให้เพื่อนฟัง เขาก็บอกว่าเพลงน้องใหม่ดี ไม่ได้แก้อะไรเลย ส่วนเพลงพลังเพลง เพื่อนแก้คำร้องบางคำ บอกว่าเนื้อมันอ่อนไป ก็ไปเล่นในงาน”

วงน้ำค้าง – ผศ.นพ.สัญญา ภัทราชัย

งานนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ได้รับคำชมเชยจากทุกฝ่าย รวมถึงผู้ใหญ่อย่าง คุณอนุช อาภาภิรมย์ด้วย จากนั้นคุณหมอก็ทดลองเอา เพลงเป้าหมายการศึกษา ของ วิทยากร เชียงกูล มาใส่ Part ไวโอลิน เป็น Counterpoint เล่นมาเรื่อยๆ

จน 3 ปีต่อมา เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คุณหมออยู่ปี 4 ขึ้นปี 5 ในฐานะที่เป็นวงดนตรีนักศึกษาแนวเคลื่อนไหว ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ด้วย จึงต้องหยุดกิจกรรม เนื่องจากเกรงจะถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ คุณหมอเล่าถึงเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคมว่า

“พอบ่ายตำรวจก็มาบุกที่ทำงานของภาควิชา สโมสรนิสิตจุฬาฯ มาไล่จับรุ่นพี่ ค้นหอพัก จับหนังสือสรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุงอะไรแบบนี้ จากนั้นขบวนการนักศึกษาก็ตายสนิทเลย มีไม่ได้เลย นักศึกษากลายเป็นผู้ร้าย ในขณะที่ 14 ตุลา นักศึกษาเป็นพระเอก ขึ้นสามล้อฟรี กินข้าวฟรี ชาวบ้านเห็นว่าขับไล่ทรราชได้ แต่หลัง 6 ตุลา นักศึกษากลายเป็นผู้ร้าย ไปไหนคนก็เขม่นกัน ว่ามันเป็นแนวร่วมคอมมิวนิสต์หรือเปล่า และวงการเพลงเพื่อชีวิตก็ไม่มี เข้าป่ากันหมดเลย มีแต่เพลงอย่างดาวใจ ไพจิตร เพลงผัวๆ เมียๆ เพลงเมียน้อย อะไรแบบนี้”

แม้จะกระทำกิจกรรมดนตรีกันอย่างต่อเนื่องมา แต่ก็ไม่เปิดเผยตัวมากนัก คุณหมอเล่าว่า “จะอัดเสียงเอง ผลิตเอง ไม่ถึงกับวางขายตามห้าง และเวลาแสดงก็ไม่เคยถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน ถ้าอยากได้รูปต้องไปถามสันติบาล สันติบาลจะมี สมัยนั้นผู้ใหญ่ไม่สนับสนุน การเมืองก็ยังมีรัฐบาลที่เป็นทหารอยู่ ไม่มีใครกล้าไปชนหรอก วงนี้ก็เลยต้องกระเสือกกระสนเล่นไปตามมีตามเกิด นักศึกษาก็ต้อง support กันเอง ไปเล่นเขาก็เลี้ยงข้าวเรา มีข้าวห่อ อัดเทปก็ไปอัดห้องไม่ดีเท่าไหร่ สุ้มเสียงก็แย่”

ในท่ามกลางความมืดมนของการสร้างสรรค์และการเคลื่อนไหวของกิจกรรมนักศึกษา มีเทปเพลงชุดหนึ่งเกิดขึ้นมา เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างคุณหมอกับวงดนตรีนักศึกษาอีกคณะที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

“มีเทปชุดหนึ่งเกิดขึ้นมาในวงการนักศึกษา เพลงแรกของเทปคือเพลงพลังเพลง เป็นเพลงที่ผมแต่ง มันเหมือนกับเป็นฝนที่ตกลงมาในทุ่งกุลาร้องไห้หยดแรก มันก็ดังมาก ๆ ดังจากเหนือจรดใต้ อีสานจรดตะวันตก ทุกๆ คนก็ถามว่าวงนี้เป็นใคร พยายามจะหา ขอเชิญไปเล่น วงนี้ก็ไม่ยอมเปิดตัว กลัวกระแสการเมือง ขออยู่ใต้ดินดีกว่า ขายเทปไปเรื่อย”

แม้จะไม่รู้จักกันมาก่อน คุณหมอสัญญาก็รู้สึกยินดีที่เพลงของตนได้รับการเผยแพร่ “วงพลังเพลงนี่มารู้จักทีหลัง เขามาขอลิขสิทธิ์กลัวว่าผมจะว่า ผมก็บอกว่าเอาไปเหอะ ไม่ว่าหรอก ต้องขอบคุณที่วงของคุณทำเทปออกมาจุดประกาย”

นอกจากเพลงพลังเพลงและเพลงน้องใหม่ ของคุณหมอสัญญาที่ทางวงพลังเพลงเอามาเผยแพร่อย่างลับๆ แล้ว เพลงที่โด่งดังได้รับความนิยมอื่นๆ ก็เช่น เพลง “น้ำค้างบนปลายหญ้า” อันเป็นที่มาของชื่อวง “น้ำค้าง” คุณหมอได้รับแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงนี้จากภาพถ่ายในนิตยสารฝรั่งเกี่ยวกับธรรมชาติ และได้ดัดแปลงทำนองเพลง Bridge of London มาเป็นทำนองเพลงเพลงนี้ เนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นไปของธรรมชาติ ความไม่คงทนของสรรพสิ่งทั้งหลาย ต่อมา วงพลังเพลงได้นำเพลงนี้ไปขับร้องและเปลี่ยนเนื้อท่อนสุดท้ายเป็น “มองน้ำค้างบนปลายหญ้า ล่วงเวลาก็มลาย แต่ชีวิตมีความหมาย อยู่เพื่อใครในสังคม” เพื่อให้มีเนื้อหาเป็นลักษณะ “เพื่อสังคม” มากขึ้น

อย่างไรก็ดี บทเพลงที่เป็นผลงานของคุณหมอสัญญาที่โด่งดังที่สุดและได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือเพลง “อยากให้ความรักแก่คนทั้งโลก” คุณหมอเล่าความเป็นมาของบทเพลงเพลงนี้ว่า

“เกิดจากการที่เพื่อนผมที่เป็นหมออีกคนหนึ่ง เอากลอนเปล่ามาให้ บอกว่าความหมายมันดี อยากให้ยูแต่งเพลงให้ ผมก็ไปใส่คอร์ดให้ ใส่ไวโอลิน คือลักษณะเด่นของวงผมนี่ก็คือว่า ไวโอลินจะเป็นทั้ง Leading Melody, เป็น Harmony และบางทีก็เล่นคอร์ดด้วย เป็น Double Stopping อย่างเพลงนี้ก็ใส่ Double Stopping เยอะมาก มันก็สนุก คนฟังก็ติดหูก่อน ก็ไปเล่น แสดงที่หอประชุมจุฬาฯ หาเงินช่วยน้ำท่วมภาคใต้ คนเต็มหอประชุมเลย เพราะตอนนั้นนักศึกษาไม่รู้จะฟังอะไร พอมีวงนี้มาก็มากันเต็มเลย เป็นพันเลย

ทีนี้เพื่อนผมที่เป็นโฆษกก็เกิดไปบอกว่า เรามีเพลงใหม่มาเสนอ อยากให้ความรักแก่คนทั้งโลกเนี่ย เป็นเพลงที่เราแต่งเอง ปรากฏว่าเล่นไปคนฟังชอบมาก ตบมือกันใหญ่เลย แต่ปรากฏว่าเล่นๆ ไปมีผู้ชายคนหนึ่งกระโดดขึ้นมาบนเวที บอกว่า ‘คุณไม่ละอายใจเหรอ คุณแอบอ้างผลงานคนอื่น’ เขาชื่อ ‘ดอกตะแบกสีม่วง’ เป็นนิสิตวิศวะ ใช้นามแฝงเขียนในหนังสือรุ่นที่เพื่อนผมเอามาให้นั่นแหละ ผมเลยบอกว่าขอโทษจริงๆ ไม่รู้ว่าเป็นคุณ ผมก็ได้เนื้อมาจากเพื่อนอีกคนหนึ่ง ผมก็ไม่รู้ว่าใครแต่ง ไม่รู้จะติดต่อกันได้ยังไง แต่ที่พลาดไปก็คือไปประกาศว่าแต่งเอง ทั้งๆ ที่แต่งแต่เฉพาะทำนองน่ะแหละ ไม่ได้แต่งเนื้อด้วย ผมขอโทษจริงๆ คุยไปคุยมา เขาก็ดีใจ บอกว่าไม่เป็นไร คุณก็ทำดนตรีได้ดีนะ คราวหน้าจะเอาอีกก็มาบอกละกัน จากนั้นก็ไม่เจอกันอีกเลย”

เพลงอยากให้ความรักแก่คนทั้งโลก นอกจากจะโด่งดังในฐานะเพลงใต้ดินของขบวนการนักศึกษาที่จัดทำโดยกลุ่มพลังเพลงแล้ว ต่อมายังขยายความโด่งดังไปสู่คนทั่วไปโดยการที่วงระดับอาชีพนำมาขับร้อง เช่น วงคีตาญชลี และ วงดนตรีแกรนด์เอ็กซ์ ในเวลาต่อมา

วงน้ำค้างของคุณหมอสัญญายังคงทำกิจกรรมดนตรีมาโดยต่อเนื่อง ในยุคเดียวกันกับที่มี วงฟ้าสาง ของรามคำแหง วง อมธ. ของธรรมศาสตร์ วงประกายดาว ของมหาวิทยาลัยมหิดล บทเพลงนักศึกษาเหล่านี้ แม้จะไม่ได้มีเนื้อหาหนักหน่วงแบบเพลงปฏิวัติ แต่ก็มีเนื้อหาปลุกเร้าให้ผู้ฟังเกิดสำนึกที่ดีต่อสังคม

“ไม่ถึงขนาดปฏิวัติ เพราะต้องการให้คนรับได้ เพราะคนก็ระแวงอยู่แล้วว่านักศึกษาจะเป็นคอมมิวนิสต์ เลยจะออกเป็นสายลมแสงแดดเสียเยอะ”

อย่างไรก็ดี บทเพลงที่วงน้ำค้างสร้างสรรค์ก็มีความตั้งใจว่า “หนึ่ง เป็นเพลงที่ทำให้นักศึกษาได้เกิดแนวคิดที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคมแทนที่จะเรียนไปเพื่อตัวเองเท่านั้น อย่างเพลงน้องใหม่ “เรียนไปเพื่อรับใช้มวลชน สร้างตนสร้างสังคมให้สมบูรณ์” ไม่ใช่เรียนไปเพื่อตัวเอง ตอนนั้นมีสูตรเพลงเพื่อชีวิต เพลงอะไรที่เพื่อชาวนาก็เพื่อชีวิต เพลงอะไรที่ด่านายทุนก็เพื่อชีวิตหมด เพลงอะไรที่พูดถึงความคับแค้นของกรรมกรก็เป็นเพื่อชีวิต แต่สำหรับวงผมนี่ผมคิดว่าไม่อยากเข้าสูตรนี้หรอก ดนตรีมันมีอะไรมากกว่านั้น มันมีดนตรีเพื่อดนตรี มันไม่ใช่ดนตรีเพื่อชีวิต ดนตรีดีๆ มันก็ดี เพลงคลาสสิกมันก็ดี ถึงจะเพื่อนายทุน แต่มันก็ดี ผมก็พยายามจะเขียนให้มันออกมาดี ไม่ให้มันออกมาลวก ๆ”

วงดนตรีนักศึกษาที่ชื่อว่า “น้ำค้าง” มีผลงานบันทึกเทปสองชุด ชุดแรกชื่อว่าชุด “ตะวัน” ส่วนชุดที่สองเป็นที่น่าเสียดายที่ไม่ได้นำไปเผยแพร่หรือจำหน่ายที่ใด วงดนตรีน้ำค้างรับงานเล่นดนตรีไปเรื่อยๆ จะอยู่ในลิสท์ได้รับเชิญไปเล่นตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เวลาที่นักศึกษามีกิจกรรมเคลื่อนไหว จนกระทั่งเรียนจบคณะแพทย์ ต่างคนก็ต่างแยกย้ายกันไปประกอบอาชีพตามสายงานของตน เหลือไว้แต่บทเพลงเนื้อหามีสาระ สะท้อนทัศนคติหนุ่มสาวนักกิจกรรมยุค 6 ตุลาจนถึงทุกวันนี้

ในปีนี้ เหตุการณ์วิปโยค 6 ตุลาคม 2519 เวียนมาครบสามสิบปีแล้ว หลายบทเพลงที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพลงปฏิวัติ หรือเพลงเพื่อชีวิต ก็ยังคงได้รับความนิยมมาจวบจนปัจจุบัน ด้วยเนื้อหาสาระที่สอดแทรกอุดมการณ์ความเสียสละเพื่อสังคม และการต่อสู้เพื่อความดีงาม เพลงใต้ดินในสมัยหนึ่งกลายมาเป็นเพลงบรรเลง “บนดิน” ได้โดยเสรี และยังคงถูกบรรเลง กู่ก้องประกาศอุดมการณ์ ทุกครั้งที่บ้านเมืองตกอยู่ในสภาวะมืดมน และการต่อสู้เพื่อความถูกต้องยังคงดำเนินต่อไป

กองบรรณาธิการ หนังสือเพลงดนตรี
ฉบับที่ 6 ปีที่ 12 ตุลาคม 2549