คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าจุดเด่นของ “คาราบาว” มาจากสิ่งสำคัญสองอย่าง – หนึ่ง นั้นคือความคิดในเชิงสังคมอย่างเป็นระบบของหัวหน้าวงอย่าง ยืนยง โอภากุล รวมทั้งฝีมือการเขียนเพลงและเสียงร้องที่ทรงพลังของเขาด้วย สอง นั้นคือฝีมือดนตรีของเพื่อนร่วมวงที่อยู่ในระดับมือพระกาฬทุกตัวคน ซึ่งจะหาวงดนตรีเพื่อชีวิตรุ่นนั้นเทียบได้ยาก
คาราบาว มีนักดนตรีในวงที่ล้วนแล้วแต่มาจากมืออาชีพส่วนใหญ่จะเล่นเป็นอาชีพมาอย่างยาวนานและโชกโชน ฝีมือโซโลกีตาร์ของ ปรีชา ชนะภัย และ เทียรี่ เมฆวัฒนา นั้นอยู่ในระดับแนวหน้าของเมืองไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิ ฝีมือเรียบเรียงดนตรีของ ธนิศน์ ศรีกลิ่นดี นั้นเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง รวมทั้งฝีมือทางเครื่องเป่าอย่างแซกโซโฟนหรือขลุ่ยไทยของเขาด้วย ฝีมือกลองของ อำนาจ ลูกจันทร์ ก็ได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนานหรือแม้กระทั่งคนอื่นๆ
สิ่งนี้รวมกันเป็นองค์ประกอบที่สมบูรณ์สำหรับวงดนตรีเพื่อชีวิตที่เยี่ยมยอดดวงหนึ่ง
คาราบาว เริ่มสร้างชื่อขึ้นมาอย่างน่าจับตามอง ด้วยผลงานในชุดแรกๆ ของพวกเขาอย่าง ลุงขี้เมา หรือ แป๊ะขายขวด ที่เป็นที่ต้องตาต้องใจวัยรุ่นไทยยุคใหม่เป็นอย่างยิ่ง
ในช่วงนี้เองที่บรรดานักดนตรีในป่าพากันคืนสู่เมืองกันหมด พวกเขาส่วนหนึ่งยังคงว่ายเวียนในวงการเพลงนี่เอง แต่ก็มีบางส่วนที่เลิกราไปทำมาหากินอย่างอื่นไปเลย
ระหว่างนั้นมีการจัดงาน คอนเสิร์ตฟอร์ยูนิเซฟ ครั้งที่ 1 ขึ้นที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ ในงานนี้มีนักร้องนักดนตรีชั้นนำของเมืองไทยในยุคนั้น มาร่วมแสดงอย่างคับคั่งร่วม 10 วง และหนึ่งในจำนวนนั้นคือนักดนตรีที่เพิ่งกลับออกมาจากป่านาม “คาราวาน“
มงคล อุทก เล่าให้ผมฟังว่าเขายังเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทางที่ยาวนานของชีวิตอยู่เลย งานนี้มีเวลาซ้อมเพียงสิบกว่าวัน บางเพลงที่ สุรชัย จันทิมาธร แต่งใหม่ๆ เขายังจำเนื้อเพลงได้ไม่หมดก็ยังมี แต่การแสดงครั้งนั้นก็ผ่านไปได้อย่างงดงาม ด้วยแรงเชียร์ของคอเพลงเพื่อชีวิตขนานแท้ ที่แห่กันเข้าไปดูการกลับมาของกองเกวียนคนทุกข์ทั้งสี่คนอย่างล้นหลาม
พิบูลศักดิ์ ละครพล นักเขียนโรแมนติก ซึ่งตอนนั้นเป็นบรรณาธิการนิตยสาร “สู่ฝัน” มาบอกกับผมทีหลังว่าเขาถึงกับหลั่งน้ำตาเมื่อได้รับฟังเพลง “คืนรัง” ในวันนั้น
การแสดงเปิดตัว คาราวาน ภาค 2 ในครั้งนั้นจบลงพร้อมกับความสำเร็จที่งดงาม ขนาดที่ว่ามีบริษัทเทปยักษ์ใหญ่ ขอซื้อลิขสิทธิ์การแสดงสดของพวกเขาออกจัดจำหน่ายในทันที
ระยะเวลาไล่ๆ กันเกิดวงดนตรีใหม่ ๆ ขึ้นอย่างมากมาย อาทิ โฮป, อมตะ, คีตาญชลี, โคบาล ฯลฯ ไม่รวมวงที่โด่งดังจนเป็นที่รู้จักอยู่แล้วอย่าง คาราบาว หรือ แฮมเมอร์ และศิลปินเพลงรุ่นเก๋าชาวโคราช ผู้เพิ่งออกมาจากราวไพรนาม พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เริ่มมีผลงานเดี่ยวของตัวเองในชุด ห้วยแถลง โดยได้รับการช่วยเหลือด้านดนตรีจากเพื่อน ๆ วงคาราบาวอย่างดียิ่ง
พงษ์เทพ เป็นอีกคนหนึ่งที่โดดเด่นจนเป็นที่น่าจับตามองสาเหตุหนึ่งก็เพราะความเป็นอดีตสมาชิกวงคาราวาน เก่าทำให้เขามีแฟน ๆ ที่แน่นอนอยุ่ในจำนวนหนึ่ง พงษ์เทพ ร่วมทัวร์กับวงคาราบาวโดยตลอดในช่วงแรกๆ ของการกลับมาของเขา ลูกเล่นลูกฮาอันเป็นพรสวรรค์พิเศษของเขายังคงยอดเยี่ยม เรียกเสียงหัวเราะของแฟนเพลงเก่า ๆ ได้เหมือนเดิม
สมัยเมื่อครั้งที่ยังอยู่ในป่า พงษ์เทพ เคยถูกตังฉายาจากมหากวีอย่าง นายผี ให้เป็น “กวีศรีชาวไร่” มาแล้ว ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าภาษาเพลงของเขาจะสวยงามราวภาษากวี ยกตัวอย่างเพลงนี้
“บนพื้นดินรอยแยกระแหงไกล ข้าวซบใบโอบรวง
กำด้ามเคียว มือเรียวเกี่ยวรับรวง รวงข้าวลีบหล่นร่วงลงดิน
บนพื้นดินแยกแตก เราไม่แยกแตกกัน
กำด้ามเคียวมือเรียวเกี่ยวสัมพันธ์ พลิกฟื้นดินถิ่นฐานบ้านเรา”
ช่วงนั้นในความคิดของคอเพลงเพื่อชีวิตขนานแท้ทั่วไป ต่างพากันคิดว่าเมื่อ “ของจริง” ที่เป็นหัวขบวนอย่างคาราวาน ออกมาสู่วงการอีกครั้งแล้ว พวกที่เป็นวงใหม่ ๆ ที่เกิดที่หลังก็คงค่อย ๆ ลดความโดดเด่นของตัวเองลง เพราะเกือบทุกวงก็อยู่ใต้อิทธิพลของคาราวาน อย่างละนิดอย่างละหน่อยแทบทั้งนั้น
แต่ทุกอย่างกลับผิดคาด วงดนตรีที่สร้างปรากฏการณ์สั่นสะเทือนระบบธุรกิจค่ายเทปอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนกลับเป็นวงคาราบาว
รัศมีของพวกเขาเริ่มปรากฏให้เห็นบ้างแล้วเมื่อออกอัลบั้มชุด ท.ทหารอดทน และ กัมพูชา โดยยอดขายที่พุ่งแรงจนแซงหน้าวงอื่นๆ แต่ที่มาแรงจนทะลุเป้าที่รู้จักไปทั่วประเทศ คือ ชุด เมด อิน ไทยแลนด์ ซึ่งเป็นอัลบั้มที่พวกเขาทำได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งด้านดนตรีหรือเนื้อหาสาระ
เมด อิน ไทยแลนด์ ทำเป้าได้เลยหลักล้านม้วน ซึ่งหาวงดนตรีเพื่อชีวิตที่จะทำได้ขนาดนี้ได้ยากมาก
ว่ากันจริง ๆ แล้วฝีมือการเขียนเพลงของยืนยงนั้นเน้นหนักไปที่การเสนอแง่คิด ในเรื่องสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นเป็นส่วนใหญ่ บางทีก็เป็นเรื่องตัวบุคคลที่ตกอยู่ในกระแสสังคมในช่วงเวลานั้น ๆ อย่างเช่น ตอนเกิดกรณีเรียกร้องทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ขึ้นมา เขาก็แต่งเพลง ทับหลัง ได้อย่างทันท่วงที หรือเกิดกรณีต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าเขาก็แต่งเพลง หลวงพ่อประจักษ์ หรือ เกิดกรณีปัญหาสิทธิมนุษยชนในพม่า เขาก็แต่งเพลง อองซานซูจี ขึ้นในทันที
เรียกได้ว่าเขาเป็นนักแต่งเพลงที่มีความสามารถรอบตัว เหนือสิ่งอื่นใดเขาสามารถจับประเด็นสำคัญในสถานการณ์นั้น ๆ มาเป็นเนื้อเรื่องได้อย่างค่อนข้างลงตัว ลองนับเพลงในลักษณะนี้ก็คงได้ดังนี้ ทับหลัง, กอทูเล, หลวงพ่อประจักษ์, สุรชัยสามช่า, สืบทอดเจตนา, บิ๊กสุ, จ่าง แซ่ตั้ง, โนพรอมแพลม, นิกค์, เขื่อน, กระบี่มือเดียว, มหาจำลองรุ่น 7, นายกอ เป็นต้น
แต่จากการตั้งข้อสังเกตของผม มีผลงานเพลงบางส่วนของยืนยงที่มีภาษางดงามในเชิงกวีที่แฝงปรัชญาความคิด ซึ่งในส่วนตัวแล้วผมค่อนข้างชอบเพลงสไตล์แบบนี้ของเขามากกว่า อย่างเช่นเพลง ทะเลใจ, ผู้เฒ่า, ขลุ่ยไม้ไผ่, เรฟูจี, รักต้องสู้ ฯลฯ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
“ลืมตามาชำเลืองดูโลก เกิดมาเป็นทารกสามัญชนธรรมดา
หากินกันจนหนังหน้าเหี่ยว กว่าจะได้ขบเขี้ยวก็ย่างวัยชรา
ฟันฟางจวนจะหักหมดปาก ตามันจนจะมองไม่เห็น
ริ้วรอยของความลำเค็ญดูที่เส้นเอ็นปูดโปน
คำนึงถึงคนเฒ่าคนแก่ เมื่อครั้งเป็นพ่อแม่ยังเลี้ยงดูลูกน้อย
อดออมวันละนิดละหน่อยเก็บสิบเป็นร้อย ส่งลูกน้อยเล่าเรียน
หวังเพียงให้ลูกลูกเติบโต ได้เป็นผู้มีการศึกษา
หนทางในภายภาคหน้า เป็นเจ้าคนนายคน
ผู้เฒ่าเอ๋ย เนื้อหนังหย่อนยาน สมบัติมโหฬาร ลูกหลานมาเอาใจ
นะผู้เฒ่าเอ๋ย เนื้อหนังเหี่ยวย่น ถ้าสมบัติมากล้น คงพอมีคนเอาใจ
ใครเลยเคยคิดถึงผู้เฒ่า ที่เส้นผมหงอกขาวและดวงใจอาดูร
ค้ำจุนให้ลูกหลานเติบใหญ่ ก็ตอบแทนน้ำใจแค่รดน้ำดำหัว
สังคมทวีความดิ้นรน สอนคนให้คิดเห็นแก่ตัว
คนเฒ่าที่ฟันหักตามัว กลัวไม่มีคนไปเผา”
เพลง ผู้เฒ่า โดย คาราบาว
ชูเกียรติ ฉาไธสง