ช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปเดินเล่นแถว ย่านสยามสแควร์ซึ่ง เป็นที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมของวัยรุ่นมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ จนมาถึงรุ่นผม หนุ่มสาวน้อยใหญ่แต่งตัวตามกระแสมาเดินอวดกัน บางทีที่แห่งนี้อาจเป็นแหล่งกำหนดแฟชั่นของเมืองไทยว่า ควรมีทิศทางไปทางไหน ถ้าคุณอยากรู้ว่าตัวเอง Intrend หรือเปล่า ผมแนะนำให้มาเดินที่นี่ครับ แล้วคุณจะรู้ว่าตัวเองยัง “in” อยู่หรือเปล่า

สิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องประดับนอกจากเสื้อผ้าแล้วที่ทุกคนควรมีในยุคนี้ ก็คือ โทรศัพท์มือถือ ในยุคที่บ้านเมืองเรามีผู้นำเป็นเจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เจ้าเครื่องมือสื่อสารชนิดนี้เหมือนเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายของคนรุ่นใหม่ อวัยวะส่วนนี้จะมีหน้าที่ควบคุมและกำหนดชีวิต ว่าแต่ละวันเราควรมีชีวิตอย่างไร

ถ้าใครยังจำได้ เมื่อประมาณเกือบ 10 ปีที่แล้ว สมัยที่มือถือมีขนาดใหญ่เป็นกระติกน้ำ และด้วยราคาที่แสนแพง จะมีโฆษณามือถือที่มีนักธุรกิจหนุ่มไฟแรง กับโทรศัพท์รุ่นกระติกพร้อมกับความสำเร็จอันยิ่งใหญ่

แต่ถ้าเทียบกับโฆษณาสมัยนี้ กลับเป็นเด็กวัยรุ่นที่ยังแบมือขอเงินพ่อแม่ พร้อมกับค่านิยมที่ใครมีมือถือรุ่นยิ่งใหม่ ยิ่งเท่ห์ เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป

ช่วงเวลา 4-5 ปีให้หลัง มือถือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตโดยไม่รู้ตัว เหมือนกับธุรกิจประเภท Wholesaler ที่เข้ามาใกล้พวกเราทีละนิด กว่าจะรู้ตัว คนไทยก็เสียระบบการค้าปลีกไปเกือบทั้งประเทศ แล้วเราก็มาตามแก้ที่หลัง

คนไทยส่วนใหญ่นอกจากขี้ลืม เรื่องเจ็บปวดในอดีตแล้ว ยังไม่รู้จักใช้วัฒนธรรม และเทคโนโลยีที่เข้ามา

ผมไม่รู้ว่า ไอ้เจ้าโทรศัพท์มือถือนี้มันจะส่งผลร้ายแรงกับเรายังไงในภายหลัง แต่ในความคิดเห็นส่วนตัวแล้ว สำหรับบางคนมันไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องใช้ ซึ่งในความเป็นจริง แม่ค้า นักเรียน คนขับรถเมล์ หรือใครต่อใคร ก็มีสิ่งนี้ข้างกายตลอดเวลา

บางคนอาจจะให้เหตุผลว่ามันสะดวกในการติดต่อ สามารถตามตัวได้ทันที – ครับอันนี้ผมไม่เถียง แต่มันไม่ใช่สำหรับทุกคน ผมคิดว่ามันทำให้คนเราไม่รู้จักบริหารเวลาตัวเองให้ดี เพราะเราถือว่ามีมือถือ เราจะนัด หรือเลื่อนนัดเมื่อไรก็ได้ โดยการขาดการแคร์ความรู้สึกของคนที่รอนัดว่า เขามีสิ่งสำคัญอื่นอีกหรือป่าวที่ต้องทำ

เพื่อนสาวผมบางคนบอกว่ามันทำให้รู้สึกปลอดภัย สามารถโทรไปบอกทางบ้านได้ทุกเมื่อว่าอยู่ไหนเวลากลับค่ำมืด หรือพ่อแม่บางคนซื้อมือถือให้ลูกสาวเพื่อเอาไว้โทรตามได้ทุกเมื่อ ผมอยากจะบอกว่า “คุณกำลังผลักตัวเอง ลูกสาวตัวเอง ออกจากครอบครัว” ถ้าลูกสาวคุณไม่รู้จักใช้

เวลาคุณโทรไปหา ลูกคุณบอกว่าทำรายงาน แต่ในความเป็นจริง อาจกำลังมั่วยาอยู่กับเพื่อนก็ได้ ระบบการไปรับส่งโดยพ่อแม่ ยังคงดีอยู่ในสายตาผม อย่างน้อยมันก็เพิ่มความสัมพันธ์ด้วยการพูดคุยกันระหว่างทางได้

ผมชอบสโลแกนของมือถือระบบนึง ที่ว่า “พูดกันมากขึ้น ฟังกันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น” ซึ่งผมคิดว่าคนเราถ้าจะสนิทกันมากขึ้น  น่าจะมีสิ่งนี้ แต่ไม่ใช่การพูดคุยผ่านโทรศัพท์ จริงอยู่มันอาจจะมีส่วนอยู่บ้าง แต่มันเป็นแค่ส่วนเล็กๆเท่านั้น ถ้าคุณอยาก “พูดกันมากขึ้น ฟังกันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น” คุณก็ไปพบปะกัน ให้เห็นหน้าเห็นตากันไม่ดีกว่าหรือ

พระเจ้าให้ลักษณะท่าทางกับมนุษ์มาเพื่อให้ได้ศึกษานิสัยกันและกันผ่านทางภาษาร่างกาย ว่าใครมีนิสัย บุคลิกอย่างไร ขนาดคนเราเห็นหน้ากันบ่อยๆ เรายังไม่รู้ตัวจริงของเขาเลยว่าเป็นคนยังไง

ที่ผมชักแม่น้ำมาเกือบร้อยสาย ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะปลุกระดมให้ใครต่อใครเลิกใช้มือถือกันไปเลย (แต่ถ้าเลิกไปเลยก็ดีนะ) สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือ การที่เราจะใช้สิ่งใด ควรรู้จักใช้ให้ถูกจุดประสงค์ ใช้ให้พอดี ทุกสิ่งทุกอยางบนโลกนี้จะมีความหมายก็ต่อเมื่อ มันอยู่ถูกที่ถูกทาง แล้วมันจะก่อประโยชน์

อีกอย่างที่อยากจะบอกก็คือ โปรโมชั่น หรือ ระบบส่งเสริมการขายต่างๆ ไม่ได้ช่วยให้คุณโทรได้คุ้ม เพราะเขากำลังปลุกฝังนิสัยการคุยไร้สาระให้กับคุณ เพื่อให้คุ้มกับวงเงินโปรโมชั่น จำไว้ว่าของฟรีไม่มีในโลก พฤติกรรมของคุณเหล่านี้ กำลังช่วยให้นามสกุลนามสกุลหนึ่งมีเงินสร้างมหาวิทยาลัย และบางทีเลือกตั้งครั้งสมัยหน้า เขาอาจกลับเข้ามาดูแลบ้านเมืองเรา ด้วยระบบนายทุนนิยมเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ไอ้เปี๊ยก
มกราคม 2546