กิจวัตรที่ผมมักจะทำในช่วงบ่ายๆ ของวันอาทิตย์ก็คือขับรถไปเช่าวิดีโอที่ร้านประจำแถวท่าพระจันทร์ เส้นทางที่ผมใช้จนติดเป็นนิสัยก็คือ ไปทางถนนราชดำเนินจนสุดทาง แล้วเลี้ยวขวาไปสนามหลวง (บริเวณนั้นมีลักษณะเป็นสี่แยกคือ ถ้าเลี้ยวซ้ายก็ไปศาลฎีกา ถ้าตรงไปก็คือสนามหลวง ถ้าเลี้ยวขวาก็จะขึ้นสะพานพระปิ่นเกล้า) ทุกครั้งที่ผมขับรถมาถึงแยกนี้ ผมมักจะนึกถึงเหตุการณ์ที่ครั้งหนึ่งผมเคยขับรถมากับเพื่อนคนหนึ่งเพื่อจะไปดู Concert ที่หอประชุมธรรมศาสตร์ ตอนนั้นเรารีบกันมากเพราะว่ากลัวจะไปไม่ทันประตูเปิด เมื่อขับมาถึงแยกนี้ ด้วยความที่รถติดมากและผมเกิดความสับสนว่า เลนไหนบ้างที่จะใช้ตรงไป สุดท้ายผมก็เข้าเลนผิดจนต้องขับรถขึ้นสะพานไปฝั่งธนบุรี ผมจำได้ว่าถูกเพื่อนคนนั้นต่อว่าเสียยกใหญ่
ผมคิดว่าคงเป็นเพราะในชีวิตของแต่ละคนนั้น ต้องพานพบสิ่งต่าง ๆ มากมายจนสมองของเราเก็บเรื่องราวเหล่านั้นไว้ทั้งหมดไม่ไหว เลยต้องไปฝากไว้กับธนาคาร เมื่อเราต้องการจะระลึกถึงเรื่องไหนก็ไปเบิกจากธนาคารที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วไป เพียงแต่ว่าลักษณะธนาคารของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน และแต่ละคนก็สามารถเปิดบัญชีกับธนาคารมากกว่าหนึ่งแห่ง บางคนมีความทรงจำฝากไว้กับโรงหนังแห่งหนึ่งว่าเคยมาที่นี่มาดูหนังเรื่องนี้กับใครคนนั้น บางคนมีความทรงจำฝากกับโต๊ะตัวนี้ว่าเคยมานั่งที่นี่ ดีดกีตาร์ร้องเพลงเฮฮากับเพื่อนทุกเย็น ตลอดช่วงชีวิตในมหาลัย เช่นเดียวกับ เจาได๋ ที่มีเรื่องราวของความรักของเธอฝากไว้กับถนนสู่หมู่บ้านของเธอใน “The Road Home”
หนังเรื่องนี้ได้รับเกียรติให้เป็นหนังฉายเปิดงาน Bangkok Film Festival 2000 เมื่อเดือนกันยายน 2543 หลังจากที่ไปคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยื่ยมจากงาน Berlin International Film Festival มาก่อนหน้านี้ หนังเรื่องนี้นำแสดงโดย จาง ซิยี่ (Crouching Tiger, Hidden Dragon) และกำกับการแสดงโดย จางอี้โหมว ผู้กำกับแถวหน้าของประเทศจีน เขาเริ่มมีชื่อเสียงจาก Ju Dou (1990) และ Raise the Red Lantern (1990) ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์เข้าชิง Oscar ในสาขาหนังต่างประเทศยอดเยื่ยม 2 ปีซ้อน (ต่อมา Raise the Red Lantern ถูกเด็กมือบอนแถวหมอชิตเอามาแปลงสัญชาติเป็นไทย โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นละครมงกุฎดอกส้ม)
หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของชายหนุ่ม ลั่วหยูเช็ง ซึ่งต้องเดินทางกลับบ้าน หลังจากได้รับข่าวการตายของพ่อ พ่อของเขาชื่อ ลั่วชางหยู เป็นครูคนแรกของโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ซึ่งสอนที่โรงเรียนแห่งนี้มา 40 กว่าปีแล้ว ได้เกิดล้มป่วยลง เพราะต้องเดินเท้าฝ่าพายุหิมะเพื่อไปเรี่ยรายเงินมาสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ ทดแทนอาคารเดิมที่ทรุดโทรมเต็มที
เมื่อกลับมา เขาก็พบว่าแม่ของเขาอยู่ในสภาพซึมเศร้า แต่เธอก็ยืนกรานให้ปฏิบัติตามประเพณีดั้งเดิมของหมู่บ้านที่ว่า ถ้ามีใครตายลงนอกหมู่บ้าน ต้องแบกศพของเขาเดินกลับมาที่หมู่บ้าน พร้อมทั้งตะโกนเรียกผู้ตายให้ตามกลับบ้านตลอดทาง เพื่อที่ว่าวิญญาณของผู้ตายจะได้กลับมาที่บ้านถูก ปัญหาอยู่ที่ว่าคนหนุ่มสาวในหมู่บ้านต่างก็ย้ายไปทำงานในเมืองกันหมด ระยะก็ห่างไกล รวมทั้งสภาพอากาศก็เลวร้ายในฤดูหนาว
หลังจากนั้นหนังก็พาเราย้อนไปรับรู้เรื่องราวความเป็นมาของความรักระหว่าง ลั่วชางหยู กับ เจาได๋ ตอนที่ ลั่ว-ชางหยู เดินทางจากในเมืองมาถึงหมู่บ้านนั้นเขาอายุเพียง 20 ปี ส่วน เจาได๋ อายุ 18 ปี เจาได๋ นั้นเป็นฝ่ายมีใจให้กับ ลั่วชางหยู ก่อน เธอจึงพยายามทำทุกวิธีเพื่อให้ได้รู้จักกับเขา เช่น ยอมเดินไปตักน้ำที่บ่อน้ำหน้าโรงเรียนทุกวัน ทั้งที่มันไกลกว่าบ่อที่ใช้อยู่เดิม เพื่อจะได้ผ่านหน้าโรงเรียนทุกวัน หรือวิ่งข้ามเขาเป็นลูก ๆ เพื่อจะไปแอบดักรอตอนที่เขาพานักเรียนไปส่งที่บ้าน แต่แล้วเมื่อทั้งสองเริ่มมีใจให้กัน ก็มีเหตุให้ต้องพลัดพรากเมื่อ ลั่วชางหยู ถูกทางการเรียกตัวไปสอบสวน เขาสัญญาว่าจะกลับมาก่อนโรงเรียนเปิด ทุกวัน เจาได๋ จะเดินฝ่าหิมะไปยืนรอเขาที่ริมถนนทางเข้าหมู่บ้าน ตั้งแต่เช้าจรดเย็นจนล้มป่วยลง ส่วน ลั่วชางหยู ก็ทนคิดถึง เจาได๋ ไม่ได้จึงหนีกลับมาหาเธอ ทั้งสองจึงได้รับรู้ถึงความรู้สึกที่แท้จริงที่มีให้แก่กัน แม้ว่าต่อมา ลั่วชางหยู จะถูกจับเพราะเรื่องที่แอบหนีมา และต้องติดคุกอีก 2 ปี แต่เธอก็รอจนเขากลับมาเพื่อจะได้ใช้ชีวิตร่วมกัน หลังจากนั้นเขาก็ไม่เคยจากเธอไม่ไหนอีกเลย
เรื่องราวความรักของเขาและเธอเกิดขึ้น และดำรงอยู่บนถนนสายนี้ ดังนั้นสำหรับเธอแล้วการแบกศพของเขาเดินกลับมาที่บ้านนั้นเป็นยิ่งกว่าเรื่องของประเพณี แต่มันหมายถึงโอกาสสุดท้ายที่เขาและเธอจะได้เดินเคียงข้างกันบนถนนสายนี้
ในความคิดของผมหนังเรื่องนี้ เป็นหนังที่ดูตลาดมากที่สุดของ จางอี้โหมว หนังเรื่องนี้มีองค์ประกอบทุกอย่างที่หนังรักชั้นดีเรื่องหนึ่งควรจะมี ทั้งเนื้อเรื่องที่กินใจ ภาพที่สวยงาม โดยเฉพาะตัวนางเอกคือ จาง ซิยี เธอทำให้ เจาได๋ เป็นตัวละครที่คนดูทุกคนต้องหลงรัก แม้ว่าพฤติกรรมของเธอจะดูแก่แดดแก่ลมไปบ้าง แต่ก็เป็นด้วยความคิดแบบเด็ก ๆ ชนิดที่คนดูเห็นแล้วต้องอมยิ้มในความน่ารักมากกว่าจะหมั่นไส้
แต่อย่างไรก็ตาม จางอี้โหมว ก็ยังสอดแทรกแง่มุมที่สะท้อนให้เห็นสภาพปัญหาในสังคมจีนในปัจจุบันไว้ในหนัง เช่น เรื่องความด้อยโอกาสทางการศึกษาของเด็กในชนบท (ลั่วหยูเช็งเป็นคนเดียวในหมู่บ้านที่จบมหาวิทยาลัย) การไหลบ่าเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกสู่ชนบท (มีโปสเตอร์ของ เดนนิส เบิรก์แคม และ ไททานิก ติดอยู่ในบ้านของ ลั่วหยูเช็ง) การล่มสลายของชุมชนชนบท (คนหนุ่มสาวเข้าไปทำงานในเมืองกันหมด เหลือไว้เพียงคนแก่และเด็ก) การไร้ซึ่งจิตสำนึกของการเสียสละเพื่อส่วนรวม (จริง ๆ แล้ว ลั่วหยูเช็ง เรียนจบทางครู แต่เขาไม่ต้องการกลับมาเป็นครูประจำหมู่บ้านแทนพ่อ เขาเลือกเข้าไปทำงานกับบริษัทในเมืองแทน ในตอนสุดท้ายที่ ลั่วหยูเช็ง ยอมไปสอนหนังสือเป็นเวลาหนึ่งวัน แทนครูคนใหม่ที่ยังมาไม่ถึง เขาก็ทำไปเพราะไม่อยากขัดใจแม่เท่านั้น)
ผมคิดว่าสิ่งที่ยอดเยื่ยมที่สุดของหนังเรื่องนี้ก็คือ การที่ จางอี้โหมว กล้าแหกทฤษฎีของหนังด้วยการใช้ภาพขาวดำกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน และภาพสีกับเหตุการณ์ในอดีต เหมือนกับจะบอกว่าอดีตที่งดงามนั้นผ่านไปแล้ว เหลือไว้เพียงเรื่องราวให้ระลึกถึง เพื่อปลอบประโลมใจเมื่อบาดเจ็บจากปัจจุบันที่โหดร้ายเท่านั้น
ม้าก้านกล้วย
ชอบเรื่องนี้เหมือนกัน
แอบมาอ่านพี่หมงเขียนค่ะ
สำหรับคนที่ชอบหนังเรื่องนี้ ผมขอแนะนำให้ไปหาหนังอีกสองเรื่องของจางอี้โหมว คือ Not one less กับ Happy time เพื่อให้ครบไตรภาคหนังร่วมสมัยของผู้กำกับท่านนี้ครับ