ด้วยข้อจำกัดของเวลาที่ตัวเองมีและความน่าสนใจของโปรแกรมหนังที่เข้ามาฉายในบ้านเราในช่วงหลัง ๆ ทำให้ผมห่างหายจากการเขียนบทความไปนานมากกกกก (กว่าที่จะพบจุดบรรจบของเงื่อนไขข้างต้น ในความรู้สึกส่วนตัวของผม มันเหมือนกับอุบัติการณ์ประเภทมาฆบูชาขนาดย่อมๆ เลยที่เดียว) ผมนั่งคิดอยู่นานว่าจะหยิบหนังเรื่องไหนมาเขียนถึงดี ที่สุดแล้วก็มาลงเอยที่หนังเรื่อง “The Twilight Samurai” ผลงานกำกับและเขียนบทเมื่อปี 2002 ของผู้กำกับ โยจิ ยามาดะ (ผู้กำกับรุ่นหญ่ายของญี่ปุ่น ถ้าเทียบเคียงกับในบ้านเรา ก็น่าจะอยู่ในระดับเดียวกับท่านมุ้ย ท่านมุ้ยเคยนำผลงานของเขาในปี 1977 เรื่อง The Yellow Handkerchief มาทำใหม่เป็น ถ้าเธอยังมีรัก นำแสดงโดย สรพงษ์ ชาตรี, เนาวรัตน์ ยุกตะนัน จากนั้นก็มีการนำไปสร้างเป็นเวอร์ชั่นฮอลลีวู้ดด้วย)

ตอนที่หนังเรื่องนี้ลงโรงในบ้านเรา ผมอยากดูมากด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่าง ทั้งบทวิจารณ์ที่ออกมาในแง่ดีมาก ๆ ที่สำคัญคือพระเอกของเรื่องคือ ฮิโรยูกิ ซานาดะ ซึ่งยังคงติดตาผมจากบทบาทของ ยูจิโอะ มือขวาของ นายพลคัตสึโมโต้ ในเรื่อง The Last Samurai แต่แล้วผมก็ไม่มีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้ในโรง เพียงเพราะหนังเรื่องนี้เข้าโปรแกรมเพียงโรงเดียวที่เอ็มโพเรียม ในโรงฮันนีมูนซีท สำหรับคนซึ่งนิยมวิสัยสันโดษในการดูหนังอย่างผมแล้ว การที่จะต้องเสียเงิน 250 บาทสำหรับดูหนัง 1 เรื่องมันออกจะผิดวิสัยเกินไป

The Twilight Samurai เป็นเรื่องราวของ เซเบ อิงุจิ (ฮิโรยูกิ ซานาดะ) ซึ่งรับราชการเป็นเสมียนในคลังเสบียง ในช่วงปลายของยุคซามูไร (ก่อนการปฏิรูปเมจิ) เซเบ มี ฐานะค่อนข้างยากจน (เขาได้รับศักดินาเป็นที่ดินทำกิน 50 โกคุ แต่ต้องเสียภาษีให้ทางแคว้นปีละ 20 โกคุ) หนำซ้ำภรรยาก็เพิ่งเสียชีวิตด้วยวัณโรค (ซึ่งเป็นเหตุให้ เซเบ มีหนี้สินมากมายจากค่ารักษาพยาบาลในครั้งนั้น) ยังไม่ต้องพูดถึงภาระที่เขาแบกรับอยู่ในเรื่องของการดูแลแม่ที่แก่ชราและลูกสาววัยกำลังโตอีก 2 คน

แม้เงื่อนไขของครอบครัวจะบีบรัดเขาจากทุก ๆ ด้าน แต่ เซเบ ไม่เคยเสียเวลาไปกับการพร่ำบ่นหรือจ่อมจมอยู่กับความทดท้อในโชคชะตาที่เป็นอยู่ เขาก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่เสาหลักของครอบครัวอย่างแข็งขัน หลังเลิกงานในแต่ละวัน ขณะที่เพื่อนร่วมงานชวนกันไปดื่มสังสรรค์ ไม่ว่าจะถูกชักชวนสักกี่ครั้ง เซเบ ก็ได้แต่ปฏิเสธ และเดินตรงดิ่งกลับบ้าน (จนได้รับฉายาว่า เซเบ ยามสายัญ) ที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องจากเขาต้องกลับมาดูแลทั้งงานบ้านและงานไร่เพียงลำพังคนเดียว นี่เป็นเหตุให้ เซเบ แทบจะไม่เหลือเวลาที่จะดูแลตัวเอง เขาปล่อยตัวเองให้อยู่ในสภาพทรุดโทรม เสื้อผ้าขาดวิ่น ผมเผ้ารุงรัง น้ำท่าไม่ได้อาบ จนโดนเพื่อนร่วมงานต่อว่าอยู่เป็นประจำ

จากข้อมูลข้างต้นดูเหมือนว่านี่จะเป็นหนังสูตรตีแผ่ชีวิตรันทดของชนชั้นล่างในสังคม คนที่ดูเหมือนจะเกิดมาเพื่อเป็น “ผู้พ่ายแพ้” เป็นเหมือนเรือที่ไม่มีไม้พายเป็นของตนเองล่องลอยอยู่ท่ามกลางมรสุมแห่งโชคชะตา แต่หลังจากนั้นเราก็ได้รู้ว่า “สิ่งที่เห็น” หาใช่หนึ่งเดียวกับ “สิ่งที่เป็น”

เซเบ มีเพื่อนสนิทชื่อ อินุมะ ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่สูงกว่ามาก อินุมะ มีน้องสาวชื่อ โทโมเอะ (ฮิเอะ มิยาซาว่า) ทั้งสามเป็นเพื่อนเล่นกันมาตั้งแต่เด็ก เซเบ นั้นแอบชอบ โทโมเอะ มาตั้งแต่เด็ก แต่ก็มิได้สานต่อความรู้สึกนั้นให้กลายเป็นการกระทำใด ๆ ด้วยสำนึกตนว่าไม่ควรคู่กับบุตรีของตระกูลใหญ่ที่มีศักดินาถึง 400 โกคุ ต่อมา โทโมเอะ ถูกบังคับให้แต่งงานไปกับคนที่คู่ควร อย่างบุตรชายของแม่ทัพโคดะเจ้าของศักดินา 1,200 โกคุ สุดท้าย อินุมะ ได้จัดการให้เธอได้หย่าจากสามี เหตุเพราะเขาชอบเมาแล้วอาละวาดทุบตีภรรยา โทโมเอะ จึงได้มีโอกาสมาพบกับ เซเบ อีกครั้ง การหย่าในครั้งนั้นเป็นเรื่องเสียหน้าอย่างแรงของสามีเก่าของนาง เขาจึงมา (เมา) อาละวาดที่บ้านอินุมะ พร้อมทั้งท้า อินุมะ ดวลดาบ เซเบ เข้ามารับอาสาที่จะเป็นคู่ต่อสู้ให้แทน (เขารู้ดีว่า อินุมะ นั้นเป็นพวกขุนนาง ไม่ใช่นักรบ ขนาดที่ว่าแค่ได้ยินเสียงปืนไฟ ก็ตกใจจนทำอะไรไม่ถูกแล้ว) ในที่สุด เซเบ ก็ชนะการดวลดาบได้ด้วยท่อนไม้ที่เขาใช้แทนดาบจริง

การชนะประลองครั้งนั้นเป็นโอกาสให้ เซเบ สร้างชื่อเสียง เพื่อสร้างฐานะตนเองให้ดีขึ้นได้ แต่เขาก็ไม่สนใจโอกาสนั้น กระทั่งว่านักดาบมือหนึ่งของแคว้นมาขอท้าประลองเขาก็ปฏิเสธที่จะสู้ด้วย ที่ยอมสู้ในครั้งแรกก็เพียงเพราะอยากช่วยเพื่อนและปกป้องคนที่รักเท่านั้น

ที่จริงแล้ว เซเบ เคยเป็นครูฝึกดาบสั้น (ดาบที่เหน็บอยู่ที่เอวของซามูไร โดยทั่วไปในการต่อสู้จะใช่ดาบยาวเป็นหลัก) ในสำนักดาบมีชื่อเสียง แต่ด้วยความที่เขาตั้งมั่นที่จะดำเนินชีวิตบนวิถีแห่งความสมถะและเรียบง่าย เซเบ ไม่ทะเยอทะยานที่จะต้องรับราชการในตำแหน่งใหญ่โต (อินุมะ ชวนให้ เซเบ ไปทำงานเป็นทหารในวังพระจักรพรรดิ์ เพราะเสียดายที่คนมีฝีมืออย่างเขาจะต้องมาจมปลักอยู่ในแคว้นเล็กๆ เช่นนี้ แต่เขาไม่สนใจ) เขาต้องการเพียงทำหน้าที่ของบุตร, สามี และบิดา อันเป็น “สถานภาพขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์” ให้สมบูรณ์

แต่ที่สุดแล้ว…. มนุษย์ทุกคนเมื่อเข้ามาอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่น….. ย่อมไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้สมบูรณ์ตามที่ต้องการ ภายหลังเกิดการแย่งชิงอำนาจภายในแคว้นหลังจากผู้ครองแคว้นสิ้นลง เซเบ ได้รับคำสั่งจากคณะของผู้ปกครองแคว้นคนใหม่ ให้ไปฆ่าซามูไรอันดับหนึ่งซึ่งเป็นข้ารับใช้ฝ่ายที่พ่ายแพ้ หากไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกขับไล่ออกจากแคว้น เซเบ จึงจำใจไปสู้ แม้จะเอาชนะและรอดตายจากการต่อสู้ในครั้งนั้นมาได้ แต่ในที่สุด เซเบ ก็โดนยิงเสียชีวิตในสงครามปฏิรูปเพียงล้มล้างระบบโชกุนในช่วง 3 ปีหลังจากนั้น

เมื่อพิจารณาช่วงเวลาของยุคสมัยที่ปรากฏในหนัง อันหมายถึงช่วงสิ้นสุดของระบบขุนศีกและซามูไร และเปลี่ยนผ่านเข้าสู่“ยุคสมัยใหม่” ของประเทศญี่ปุ่น กับชื่อหนัง The Twilight Samurai พอจะตีความหมายได้ว่า ละครอย่าง เซเบ อิงุจิ อาจเปรียบได้กับลำแสงสุดท้าย (หรือซามูไรคนสุดท้าย) ก่อนพระอาทิตย์ตก และนำโลกเข้าสู่ความมืดของราตรีกาล (จริง ๆ แล้วคำว่า Twilight ที่เป็นคำนามนั้นมีความหมายถึง ช่วงเวลาฟ้าสลัวที่มีแสงสว่างไม่มาก ในช่วงก่อนพระอาทิตย์ขึ้นหรือหลังพระอาทิตย์ตก โดยส่วนตัวผมตีความโดยให้ความหมายว่าเป็นช่วงเวลาหลังพระอาทิตย์ตก ซึ่งอ้างอิงจากเรื่องราวในหนังที่ เซเบ มักโดนแซวเรื่องรีบกลับบ้านก่อนพระอาทิตย์ตกอยู่หลายครั้งในเรื่อง ส่วนความหมายของคำ ๆ นี้ในฐานะที่เป็นคำขยายคือ การตกต่ำหรือเสื่อมถอย) ใน “ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน” เช่นนี้ แน่นอนที่ว่าจะต้องมีการปรับสภาพให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ในขณะที่บางสิ่งบางอย่างได้ “ริ-เริ่ม” บางสิ่งบางอย่างก็ต้อง “ละ-เลิก”

ตัวละครอย่าง เซเบ อิงุจิ เป็นตัวแทนของความดีงามดั้งเดิมแบบตัวละครในแนว Romance (รักครอบครัว ยึดมั่นในความรัก แน่วแน่ในอุดมการณ์ของตน) ซึ่งต้องจบชีวิตลงด้วยอาวุธสมัยใหม่อย่างปืน นับเป็นแบบสรุปที่น่าสลดใจไม่น้อย หากคิดว่าคนมีฝีมือ “ดาบ” อย่าง เซเบ ต้องมาจบชีวิตด้วยอาวุธ “ปืน” นับเป็นการพ่ายแพ้ที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีของผู้พ่ายแพ้อย่างแรงพิจารณาถึงขนาดของหัวใจที่เทียบกันไม่ได้ของผู้ใช้อาวุธทั้งสองชนิด (ดาบเป็นอาวุธสำหรับการรบระยะประชิด ส่วนปืนเป็นอาวุธสำหรับการรบระยะไกล)

แต่แล้วเมื่อมาคิดทบทวนอีกทีจากที่ได้ดูหนังซ้ำอีกหลายรอบ ผมพบว่ามีหลายฉากหลายตอนที่หนังแสดงให้เห็นด้านมืดของขนบธรรมเนียมดั้งเดิม อย่างเช่น สภาพสังคมซึ่งผู้ชายเป็นใหญ่ อันเป็นปัจจัยหนุนส่งให้เพศหญิงตกอยู่ในสภาวะที่ถูกกดขี่ทางเพศ ผ่านตัวละครอย่างสามีเก่าของ โทโมเอะ และลุงของ เซเบ ที่ทาบทามลูกสาวของผู้ใหญ่บ้าน ให้มาเป็นเมียใหม่ของ เซเบ เพียงเพื่อที่ว่าจะได้มีคนคอยดูแลงานบ้านและมีลูกชายให้ เซเบ ไว้สืบตระกูล ( เซเบ ปฏิเสธที่จะแต่งงานใหม่ เพราะเขาเห็นว่า การมีเมียไม่ใช่การซื้อวัวซื้อควายมาเลี้ยงเพื่อทำพันธุ์ อีกทั้งยังห่วงว่าเธอจะรักลูกสาวทั้งสองของเขามากเท่ากับที่เขารักหรือไม่) หรือการไม่เห็นด้วยที่ เซเบ สนับสนุนให้ลูกสาวเรียนหนังสือเหมือนเด็กผู้ชาย เพราะเห็นว่าไม่จำเป็น

ดูเหมือนหนังต้องการบอกว่ามนุษย์เราเลือกเส้นทางผิดกันมาตั้งแต่ต้น ทิวทัศน์แห่งความศิวิไลต์แสนสวยที่เชิญชวนให้เราวิ่งเข้าไปหานั้น แอบซ่อนหนามแหลมไว้กรีดเฉือนจิตวิญญาณไฝ่ดีให้ขาดวิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ ดูเหมือนวงล้อแห่งวิวัฒนาการได้พิพากษาว่ามนุษย์แบบ เซเบ (หรือ ฯพณฯท่านปรีดี หรือ อาจารย์ป๋วย) นั้นคือ “ส่วนล้นเกิน” ของยุคสมัย ที่เป็นเช่นนั้นไม่รู้ว่าเราควรนับเป็น “คำอวยพร” หรือ “บทสาบแช่ง” แห่งโชคชะตาจึงจะเหมาะสม

แสงสว่างริบหรี่เพียงหนึ่งเดียวท่างกลางความมืดมิดของรัตติกาลนั้น เกิดจากกองไฟเล็ก ๆ ในบ้านตอนที่ เซเบ นั่งคุยกับลูกสาวว่า “ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร เราสามารถเอาตัวรอดไปได้ถ้าเรามีความคิดและสติปัญญา”

ม้าก้านกล้วย