“ฮัลโหล…ครับ” ผมหยิบ Small Talk ขึ้นเสียบหู หลังจากที่โทรศัพท์มือถือของผมดังขึ้น
มันเป็นช่วงเวลาบ่ายที่แสนวุ่นวายอีกวันหนึ่ง ผมกำลังเตรียมเอกสารสำหรับการประชุมแผนการตลาดของสินค้าตัวใหม่ที่กำลังจะวางตลาด เนื่องจากมีนัดประชุมกับผู้จัดการตอน 6 โมงเย็น
“………………” ไม่มีเสียงตอบรับ จากคนที่โทรเข้ามา
ผมจึงพูดขึ้นอีกครั้ง “ฮัลโหล…ฮัลโหล” พร้อมทั้งหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูชื่อคนที่โทรเข้ามา หน้าจอของโทรศัพท์แสดงหมายเลขที่ผมไม่คุ้นเคย
“………………” ยังคงไม่มีเสียงพูดขึ้นมาจากอีกฝ่าย
ผมจึงพูดขึ้นว่า “ขอโทษนะครับ ผมไม่ได้ยินเสียงคุณเลย รบกวนโทรมาใหม่อีกครั้งนะครับ” ขณะที่ผมกำลังจะเอื้อมมือไปกดปุ่มวางสาย ก็มีเสียงดังขึ้นมา
“ว่าไง…ฝ้ายเองนะ”
น้ำเสียงและคำพูดนั้นทำให้ผมชาไปชั่วขณะ เสียงต่าง ๆ ในที่ทำงานทั้งเสียงพูดคุยของเพื่อนที่นั่งอยู่ใกล้ ๆ เสียงการทำงานของเครื่อง Printer เสียงเพลงจากวิทยุที่เปิดฟังกันในแผนก พลันอยู่นอกเหนือการรับรู้ของผมไปทันที
“เธอ…เองเหรอ..อา..นี่เธอกลับมาตั้งแต่เมื่อไหร่”
ผมพยายามสงบสติอารมณ์ให้เป็นปรกติที่สุด แต่ก็รู้สึกว่าการที่จะหยิบตัวอักษรแต่ละตัวมาสร้างเป็นคำ จากคำเป็นประโยค ช่างยากลำบากหรือเกิน
“เรากลับมาได้เกือบเดือนแล้วหละ แต่หลาย ๆ อย่างยังยุ่ง ๆ อยู่ เลยไม่มีเวลาติดต่อหาใคร นี่เธอยังทำงานที่เก่าอยู่รึเปล่า เราไม่แน่ใจ ก็เลยโทรเข้ามือถือแทน”
ใช่แล้ว เป็นเธอแน่ ๆ ผมจำยังสไตล์การพูดแบบของเธอได้
“เราก็ยังอยู่ที่เดิมนั่นแหละ ยังหาที่ไปไม่ได้ ก็เลยยังดักดานอยู่ที่นี่” ผมรู้สึกว่าตัวเองสามารถควบคุมสถานการณ์ของตัวเองได้ดีขึ้น
“เรามีเรื่องอยากจะคุยกับเธอเยอะแยะเลย เอาอย่างนี้ละกัน เย็นนี้เธอว่างไหม ไปกินข้าวกันซักมื้อ”
“วันนี้เหรอ คงจะไม่ได้ เพราะเรามีประชุมตอน 6 โมงเย็น กว่าจะเสร็จก็คงปาเข้าไป 2-3 ทุ่มแล้ว เธอก็รู้นี่ว่าที่นี่ชอบนัดประชุมหลังเลิกงาน ขอเป็นพรุ่งนี้เย็นแล้วกัน เธอว่างรึเปล่าหละ”
“พรุ่งนี้เหรอ…ก็ได้ เรายังไม่มีโปรแกรมอะไร ให้เธอเลือกเวลาและสถานที่ละกัน พ่อนักธุรกิจพันล้าน” เธอยังคงชอบพูดจาประชดประชันเหมือนเคย
“เจอกันซักหนึ่งทุ่มก็แล้วกัน สถานที่ก็…ร้านเก่าที่เลี้ยงส่งตอนเธอไปเมืองนอกดีไหม ใกล้ที่ทำงานดี”
“OK! ว่าแต่ ร้านนั้นยังอยู่อีกเหรอ นี่มันตั้ง 3 ปีแล้วนะ”
“ก็ไปดูเอาเองละกัน ยังไงซะถ้าร้านมันเจ็งไปแล้ว ก็พาเธอไปดินเนอร์บะหมี่เกี้ยวข้างปั้มน้ำมันก็ได้”
ผมเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปรกติ จึงต้องตอบโต้เธอไปบ้าง นี่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการพูดคุยของเราสองคน
“ตกลงตามนั้น เจอกันพรุ่งนี้ตอน 1 ทุ่มนะจ๊ะ Bye”
“OK พรุ่งนี้เจอกัน… ดีใจที่จะได้เจอเธออีกนะ Bye”
แล้วผมก็กดปุ่มวางสาย
ผมยังคงช็อกกับเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อครู่ คิดว่ากาแฟร้อน ๆ ซักแก้ว คงช่วยให้ผมปะติดปะต่อเรื่องราวต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ผมจึงเดินไปชงกาแฟที่ห้องครัวของบริษัท ระหว่างที่นั่งดื่มกาแฟอยู่นั้น ผมก็มองทะลุหน้าต่างออกไปที่ท้องถนนเบื้องล่าง ถนนสาธรในช่วงเวลานี้ รถราบนท้องถนนยังไม่มากซักเท่าไหร่ ผมทอดสายตาไปตามความยาวของถนนสายนี้ มองย้อนขึ้นไปจนสุดถนนตรงสะพานสาธร เหมือนกับว่าผมกำลังถอยหลังไปในอดีต ตอนที่ผมได้รู้จักกับ “ฝ้าย”
ผมพบกับ ฝ้าย ตั้งแต่ตอนอยู่มหาวิทยาลัย เปล่าครับ… เราไม่ได้เรียนที่เดียวกัน ฝ้าย เป็นเพื่อนที่มหาลัยของ “ไอ้ชาย” เพื่อนซี้สมัยมัธยมของผม ผมได้รู้จักกับ ฝ้าย ก็เพราะว่า ไอ้ชาย มันได้เป็นประธานค่ายอาสาฯ ของคณะ พอดีช่วงปิดเทอมทางชมรมมีกิจกรรมออกค่ายอาสาฯ ไอ้ชาย มันเห็นว่าผมเองก็สนใจทางด้านนี้ ก็เลยชวนผมไปด้วย ผมได้รู้จักกับ ฝ้าย ที่นั่น เธอเป็นหนึ่งในสมาชิกค่ายเหมือนกับผม
การใช้ชีวิตในค่าย สำหรับผมก็สบายดี ไม่ได้รู้สึกว่ายากลำบากจนทนไม่ไหว ตอนกลางวันก็ช่วยเขาแบกหามขุดดินไปเรื่อย ตามแต่ว่าจะมีใครเรียกใช้ พอตกเย็นก็นั่งล้อมวงรอบกองไฟ ร้องเพลงกันบ้าง พูดคุยกันบ้างตามแต่ว่าจะมีใครเสนอหัวข้อขึ้นมา ด้วยความที่เป็นคนต่างมหา’ลัย ผมมักจะทำตัวเป็นผู้ฟังมากกว่าที่จะแสดงความคิดเห็นอะไรออกมา เท่าที่จำได้หัวข้อที่นำมาพูดคุยกัน มีตั้งแต่เรื่องการเผยแพร่ของวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่ควบคู่มากับระบบทุนนิยม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จนถึงเรื่องความล่มสลายของสังคมชนบท
เท่าที่ผมสังเกตดูปฏิกิริยาของสมาชิก หลายคนก็ไม่ได้เตรียมตัวมาพบกับเรื่องอะไรแบบนี้ บางคนคิดเพียงแค่อยากหาประสพการณ์ในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ความลำบากอยู่ในระดับที่กำลังดีไม่มากเกินไป เรียกว่าระดับที่ความประทับใจกำลังงาม บางคนก็มีใจอยากช่วยเหลือคนที่ลำบากกว่าจริง ๆ แต่น่าเสียดายที่พวกเขามองการทำอะไรเพื่อคนอื่นเป็นสูตรสำเร็จจนเกินไป ประเภทที่ว่า 10 วัน 15 ห้าวันนี้ ฉันทุ่มเททำทุกอย่างเต็มที่นะ พอวันสุดท้ายฉันก็ได้ความภูมิใจสบายใจในตัวเองที่ได้ทำความดี ได้เป็นคนดี แต่กลับจากค่ายไปแล้วก็ขอใช้ชีวิตตามปรกติเหมือนเดิม ไว้มีเวลาว่าง ก็ค่อยหาโอกาสมาทำความดีใหม่ สำหรับคนพวกนี้ การเรียกร้องให้ทำอะไรที่ต้องไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตตามปรกติของพวกเขา เลิกหวังไปได้เลย
เมื่อการพูดคุยสิ้นสุดลง ก็ปล่อยให้สมาชิกพักผ่อน ผมมักจะนั่งกินเหล้าร้องเพลงอยู่รอบกองไฟกับไอ้ชาย และสมาชิกอีกสามสี่คน รวมทั้งพวกกรรมการค่ายฯ ผมจำได้ว่าในตอนนั้น จะเหลือผู้หญิงนั่งอยู่คนเดียว คือ ฝ้าย ตลอดสิบวันที่อยู่ค่าย สมาชิกวงเหล้าก็มีอยู่เท่านี้ ขาดเกินไปจากนี้ก็ไม่เท่าไหร่ ตอนนั้นผมค่อนข้างทึ่งในตัว ฝ้าย ไม่น้อย เพราะผมไม่เคยรู้จักผู้หญิงประเภทถึงไหนถึงกันขนาดนี้ แต่แล้วตลอดสิบวันนั้น ผมก็ไม่มีโอกาสได้คุยกับเธอเลย นอกจากพูดว่า “เหล้าหมดแล้วฝ้าย …ช่วยเติมให้หน่อย”
หลังจากกลับจากค่ายฯ ผมก็มีโอกาสได้เจอกับฝ้ายอีกหลายครั้ง เวลามีนัดกินเหล้ากับ ไอ้ชาย หลังจากได้เจอกันหลาย ๆ ครั้งเข้า เราได้พูดคุยทำความรู้จักกันมากขึ้น ผมพบว่าเรามีรสนิยมหลาย ๆ อย่างที่คล้ายกันมาก ทั้งเรื่องความคิดและทัศนคติต่อความเป็นไปต่าง ๆ ของสังคม เราคุยกันได้ทุกเรื่องทั้งเรื่องทั้งเรื่องหนัก ๆ อย่าง การเมืองและสังคม หรือเรื่องเบา ๆ อย่างเรื่องหนังหรือเพลง จนในที่สุดเรากลายเป็นเพื่อนซี้กันไปเลย
เมื่อเรียนจบบังเอิญผมกับ ฝ้าย ได้ทำงานที่เดียวกัน เราสองคนได้ทำงานที่ฝ่ายการตลาดของบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการสินค้าอุปโภคบริโภครายหนึ่ง ในช่วงหนึ่งปีแรกของการทำงาน ผมต้องเผชิญกับความขัดแย้งทางความคิดกับเพื่อนร่วมงานในหลาย ๆ เรื่อง อย่างเช่น ในการประชุมฝ่ายเกี่ยวกับการ Re-Packaging ของสินค้าในกลุ่มแชมพูและครีมนวดผม
“ขอโทษนะครับ ผมไม่เห็นด้วยกับการที่เราจะต้องมีการ Re-Packaging สินค้าทุกๆ 6 เดือนอย่างที่ทำกันอยู่เลย ในเมื่อตัวของสินค้าก็ไม่ได้แตกต่างกับของเดิมซักเท่าไหร่ เป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุเปล่า ๆ” ผมเสนอความเห็นต่อที่ประชุมเป็นครั้งแรกหลังจากนั่งฟังด้วยความอึดอัดมานาน
“แต่น้องก็รู้อยู่แล้วนี่ว่า กลุ่มเป้าหมายของสินค้าคือ นักศึกษาและคนทำงาน ซึ่ง Life Style ของพวกนี้ จะไม่ชอบอะไรที่ซ้ำซากจำเจ ต้องการอะไรที่แปลกใหม่ตลอดเวลา อีกทั้งการ Re-Packaging ของเรายังเป็นโอกาสที่เราจะปล่อยโฆษณาตัวใหม่ของสินค้าเพื่อตอกย้ำ Awarenedd ของลูกค้าต่อสินค้าด้วย มันเป็น Tradition ที่ทุกบริษัทใน Industry ทำเหมือนกันนะน้อง” พี่ชิน Senior ของฝ่ายชี้แจงให้ฟังเป็นฉาก ๆ
“เรื่องของหนังโฆษณาตัวใหม่ของสินค้าก็เป็นอีกเรื่อง ที่ผมจะขอเสนอความเห็นนะครับ จาก Storyboard ที่ได้ดู ผมคิดว่าเนื้อหาตรงที่ว่าเมื่อใช้สินค้าของเราแล้ว เส้นผมจะเงางามเป็นประกายจนสามารถสะท้อนภาพออกมาได้เหมือนส่องกระจกเนื่ย มันออกจะเกินจริงไปหน่อยนะครับ เข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคเลยทีเดียว”
“โธ่เอ๋ย เรื่องนั้นน้องไม่ต้อง Sercous ไปหรอก อย่าลืมสิน้องว่ากลุ่มเป้าหมายของเราเป็นคนมีการศึกษานะคะ เขาแยกแยะได้อยู่แล้ว ว่าส่วนไหนเป็นของจริง ส่วนไหนเป็นเทคนิคพิเศษ ที่เราใส่เข้าไปก็เพื่อให้มันมีอะไรที่ตื่นตา เพื่อช่วยให้ลูกค้าจดจำได้ง่ายขึ้นเท่านั้น” คุณแก้ว AE จาก Agency โฆษณา อธิบายเสริม
“แต่ว่าโฆษณามันออกอากาศทั่วประเทศนะครับ ชาวบ้านตามต่างจังหวัดที่เขาได้ดูเข้าจะเข้าใจหรือครับ เกิดเขาซื้อสินค้าไปใช้เพราะเชื่อโฆษณา ถ้ามันเป็นเรื่องขึ้นมา เราอาจโดน สคบ. (สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) เล่นงานขึ้นมา มันจะเสียชื่อนะครับ”
“น้องขา… พี่ว่าน้องยังไม่ค่อยเข้าใจนะ ความเป็นจริงในบ้านเรานะคะ กฎหมายบ้านเรามันหละหลวมจะตาย สคบ. มันก็แค่เสือกระดาษนั่นแหละ ไม่มีอำนาจอะไรหรอก อย่างมากก็แค่เรียกไปตักเตือน ดูอย่างเรื่องนมสิ ที่โฆษณาว่าเป็นนมโคสดแท้ๆ ที่จริงแล้วก็เอานมผงผสมน้ำปนเข้าไปด้วยทั้งนั้น เพราะต้นทุนมันถูกกว่ามาก สคบ. ก็ตรวจพบ แต่ก็ไม่เห็นว่าจะทำอะไรได้” ข้อมูลที่ได้ยินจากคุณแก้ว ทำเอาผมพูดอะไรไม่ออกอีกต่อไป
สถานการณ์ในตอนนั้น ผมเหมือนกับแปลกแยกจากคนอื่น เสนอความคิดอะไรออกไปก็โดนตีกลับมาหมด จริง ๆ แล้วเพื่อนร่วมงานที่บริษัทหลาย ๆ คนก็เรียกได้ว่านิสัยดี ช่วยเหลือเกื้อกูนกันตลอด ไม่คิดร้ายอะไรกับใคร ซึ่งหาได้ยากจากคนที่เกื่ยวข้องสัมพันธ์กันด้วยเงื่อนไขของผลประโยชน์เพื่อหาเลี้ยงชีวิต เพียงแต่ว่าพวกเขาจำกัดขอบเขตของการหยิบยื่นความเอื้ออาทรไว้เพียงแค่นั้น
อาจเป็นเพราะวิถีชีวิตแบบคนชั้นกลางในเมือง ที่องค์ประกอบทุกอย่างของการใช้ชีวิตได้มาโดยเอาเงินไปแลก พวกเขารู้เพียงว่าข้าวที่กินเข้าไปซื้อมาจากร้านอาหารปากซอย โดยที่ไม่เคยสนใจที่จะรับรู้ว่า ชาวนาที่อยู่ห่างออกไป 300 กิโลเมตร ต้องลงแรงเหน็ดเหนื่อยเป็นแรมเดือนแทนพวกเขา เพื่อให้เขาได้มีข้าวกิน หนำซ้ำกลไกตลาดอันบิดเบี้ยวยังซ้ำเดิมให้คนเหล่านั้นขาดแคลนแม้กระทั่งปัจจัยขั้นพื้นฐานของการดำรงชีวิต
สำหรับเพื่อนเหล่านี้ ผมเชื่อว่าพวกเขาเข้าใจคำว่า “สำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม” เพียงแต่ว่า “ส่วนรวม” ที่เขาสังกัด มันแคบไปซักหน่อย แต่ยังมีอีกหลาย ๆ คนที่ไม่เคยแม้แต่จะคำนึงถึงคำๆ นี้ สำหรับผม คนกลุ่มแรกสร้างปัญหาให้กับผมมากกว่าคนประเภทหลังมาก เพราะมันทำให้ผมกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ผมไม่ได้อยู่ในฐานะที่ใคร ๆ จะต้องเชื่อในสิ่งที่พูด ในขณะที่องค์กรที่มีบทบาทในเรื่องนี้โดยตรงก็ละเลยที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตน ส่วนคนประเภทหลังนั้นผมทำบุญกรวดน้ำไปให้นานแล้ว
“พี่โชคครับ เมื่อกี้ เจน เลขาฯ ผู้จัดการโทรมาบอกว่า ขอเลื่อนการประชุมเรื่องสินค้าใหม่จาก 6 โมงเย็น เป็น 9 โมงเช้าวันพรุ่งนี้ครับพี่” ไอ้สิทธิ์ ลูกน้องที่ฝ่ายเดินมาบอกผมที่ห้องครัว
“อะไรวะ เลื่อนอีกแล้ว… ถ้างั้นสิทธิ์ช่วยโทรไปแจ้งคุณแจงที่บริษัทโฆษณาให้หน่อยนะ ไม่รู้ว่าทางโน้นจะว่าอะไรรึเปล่า”
จริง ๆ แล้ว ผมดีใจที่การประชุมเลื่อนออกไป เพราะนั่นหมายความว่าผมมีเวลาเตรียมงานมากขึ้น
“เจน เขาบอกว่าแจ้งทางคุณแจงไปแล้วนะครับ ทางโน้นไม่มีปัญหา” สิทธิ์ ตอบทันที
“OK ขอบใจมาก”
ผมกลับมานั่งทำงานต่อที่โต๊ะ สินค้าตัวใหม่ที่ผมได้รับมอบหมายให้ดูแลเป็นขนมขบเคี้ยวที่แปรรูปจากกล้วยน้ำว้า โดยนำกล้วยน้ำว้าดิบไปทอดแล้วปรุงรสเป็นรสต่าง ๆ เช่น รสทุเรียน รสกระเพา สินค้าพวกนี้เป็นผลผลิตจากชุมชนเกษตรกร ซึ่งทางบริษัทส่งฝ่ายวิจัยและพัฒนาไปคอยให้คำแนะนำ เมื่อผลิตเสร็จแล้วก็นำมาบรรจุหีบห่อให้ดูทันสมัย บริษัทจะดูแลเรื่องการตลาดและการจัดจำหน่ายให้
บริษัทเริ่มหันมาให้ความสนใจเรื่องการส่งเสริมสินค้าจากชุมชนเมื่อ 4 ปีก่อน จริง ๆ แล้วทางบริษัทเองก็ไม่ได้มุ่งหวังว่ามันจะมีผลตอบแทนที่ดีทางธุรกิจ เพียงแต่เห็นว่ามันจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของบริษัท ในแง่ที่เป็นมิตรกับชุมชนรวมทั้งลดแรงเสียดทาน ในแง่ที่เป็นบริษัทต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศนี้
นโยบายอันนี้ช่วยยืดอายุการทำงานของผมที่นี่ให้ยาวนานขึ้น ไม่ว่าจุดมุ่งหมายของบริษัทคืออะไร สำหรับผม อย่างน้อยมันก็ช่วยให้วิธีการเลี้ยงชีวิตกับความพึงพอใจต่อการมีชีวิตทะเลาะกันน้อยลง
ผมเคลียร์งานทั้งหมดเสร็จตอน 6 โมงครึ่ง ผมกำลังคิดอยู่ว่าจะโทรไปเลื่อนนัดฝ้ายดีไหม?
“พรุ่งนี้ก็ดีแล้ว จะได้มีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจอีกซักวัน” ผมได้ข้อสรุปสำหรับตัวเองของเย็นวันนี้แล้ว
ผมออกจากที่ทำงานแล้วเดินข้ามถนนมาทะลุเข้าซอยศาลาแดง ผมเดินผ่านร้าน “มะขามเปียก” ร้านนี้ตอนกลางวันจะขายอาหารตามสั่ง ตกเย็นจะแปรสภาพเป็นร้านขายเหล้า เจ้าของร้านชื่อ “ป้าดา” ที่นี่เป็นบ้านของแกเอง บ้านแกเป็นบ้านไม้เก่า ๆ สองชั้น แกเห็นว่ามีพื้นที่ของสนามหญ้ารอบ ๆ บ้านเหลือเยอะ ประกอบกับแถวนั้นมีตึกสำนักงานมาอยู่มาก แกก็เลยเปิดบ้านเป็นร้านอาหาร
เมื่อก่อนเวลาที่ผมมีเรื่องไม่สบายใจจากที่ทำงาน ตกเย็นผมก็มักจะชวน ฝ้าย มานั่งกินเหล้าที่นี่เป็นประจำ สำหรับ ฝ้าย เธอไม่ได้แปลกแยกกับที่ทำงานถึงขนาดที่ผมเป็น แต่เธอก็เข้าใจในสิ่งที่ผมรู้สึก เธอมักจะปลอบผมว่า “ฝ้ายเข้าใจนะว่าเธอรู้สึกยังไง แต่เธอก็ต้องยอมรับในความจริงที่ว่า คนส่วนใหญ่เขาคิดกันอย่างนั้น เราเป็นเด็กจะไปเปลี่ยนความคิดอะไรของเขาได้ ที่เธอทำไปมันก็ดีที่สุดเท่าที่เธอจะทำได้แล้ว”
“แต่สุดท้าย เราก็ไม่ได้สามารถทำให้อะไร ๆ มันดีกว่าที่เป็นอยู่ได้ ใช่ไหม” ผมพูดออกไปด้วยความคับแค้นใจ
“ฝ้ายคิดว่า ถ้าเธอไม่ถอดใจยอมแพ้ไปซะก่อน มันก็คงมีซักวันที่เธอจะชนะแน่นอน ฝ้ายเอาใจช่วยเธอนะ”
ผมเดินทะลุซอยศาลาแดงออกมาถึงถนนพระรามสี่เพื่อจะขึ้นรถเมล์กลับบ้าน ตรงปากซอยมีแผงขายหนังสือ ผมมักจะแวะที่แผงเพื่อดูว่านิตยสารที่อ่านออกเล่มใหม่หรือยัง มันเป็นนิตยสารเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ผมติดตามอ่านมาได้ 4 ปีแล้ว จำได้ว่าตอนที่ฉบับแรกวางแผง ผมมาดูที่แผงหนังสือกับ ฝ้าย ปรากฏว่ามีเหลือเพียงเล่มเดียว ผมกับฝ้ายตกลงกันว่า เราจะหุ้นกันซื้อหนังสือเล่มนั้นโดย ให้ฝ้ายเอาไปอ่านก่อน จนถึงวันนี้ผมก็ยังไม่มีโอกาสได้อ่านนิตยสารฉบับนั้น
ผมกลับมาถึงบ้านตอนเกือบ 1 ทุ่ม หลังกินข้าวเย็นเสร็จแล้ว ผมเข้าไปนั่งฟังเพลงในห้องนอน เครื่องเสียงเล่นเพลงจากแผ่น CD ที่ค้างอยู่ในเครื่อง มันเป็นเพลงของ มาโนช พุฒตาล เมื่อได้ยินผมหวนนึกย้อนไปถึงคอนเสิร์ตของเขา ตอนนั้นผมไปดูกับ ฝ้าย
จะว่าไปแล้ว เหตุการณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ตอนเลิกงานมาถึงตอนนี้ มันเหมือนเป็นการฉายซ้ำสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับผมเมื่อนานมาแล้ว ในเป็นช่วง 1 ปีหลังจากฝ้ายไปทำงานเมืองนอก ตอนนั้นชีวิตผมยังคงเป็นไปตามปรกติ เพียงแต่ไม่ว่าผมจะทำอะไรมันต้องมีเหตุให้นึกไปถึงฝ้าย มันเหมือนกับว่าเธอยังอยู่ใกล้ ๆ ไม่ได้จากกันไปไหน มาคิด ๆ ดูแล้ว ฝ้าย มีส่วนเกี่ยวพันกับท่วงทำนองต่างๆ ของชีวิตผมค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นตอนที่รื่นรมย์หรือตอนที่ขมขื่น
หลังจากเธอไปแล้ว เรายังมีการติดต่อถึงกันในช่วง 7-8 เดือนแรก หลังจากนั้นการสื่อสารระหว่างเราก็ทิ้งระยะห่างมากขึ้นเรื่อยๆ จนขาดหายไปในที่สุด ตอนนั้นผมเองตกอยู่ในอาการเสียศูนย์ไปพักใหญ่เลยทีเดียว อาจเป็นโชคดีที่ภาระหน้าที่ในการทำงานมีมากขึ้น ในแต่ละวันตื่นมาก็ปล่อยให้ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ฉุดลากไปจะกว่าจะหมดวัน เมื่อกลับถึงบ้านก็ไม่อยากทำอะไรแล้วนอกจากนอน ทำให้ผมไม่มีเวลาเหลือพอที่จะคิดถึงเรื่องของ ฝ้าย อีก จนมาถึงวันนี้ที่ผมได้รับโทรศัพท์จากเธอ
การประชุมเมื่อเช้านี้ผ่านพ้นไปด้วยดี ตลอดบ่ายผมใช้เวลาหมดไปกับการนั่งเก็บข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อใช้ประกอบการประชุมครั้งต่อไปในวันพุธหน้า วันนี้ผมตั้งใจว่าจะไปถึงที่ร้านซัก 6 โมงเย็น อย่างน้อยก็เพื่อให้ผมมีเวลาเตรียมตัวช่วงสุดท้ายสำหรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ราว 5 โมงครึ่ง ผมก็ออกจากบริษัท
ผมใช้เวลาเดินมาที่ร้านราว 20 นาทีก็มาถึงที่ร้าน ผมไม่ได้มาที่ร้านนี้นานแล้ว ครั้งสุดท้ายก็คือตอนงานเลี้ยงส่ง ฝ้าย จริง ๆ แล้วระแวกนี้มีร้านอาหารกึ่งผับเปิดอยู่หลายร้าน ส่วนใหญ่เวลาไปนั่งดื่มหลังเลิกงานกับพรรคพวกที่บริษัท ผมก็มักจะหาที่ลงแถว ๆ นี้เสมอ เรียกว่าลองมาเกือบครบทุกร้านแล้ว แต่ที่นี่เป็นข้อยกเว้น ผมถือมันเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่ผมไม่อนุญาตให้ใครบุกรุก
หลังจากดื่มเบียร์หมดไป 1 ขวด ผมก็เห็นฝ้ายเดินเข้ามาในร้าน เธอดูอ้วนขึ้นเล็กน้อย ผมที่เคยยาวประบ่าแถมหยิกเล็กน้อย ก็ถูกตัดให้สั้นลงเหลือแค่ระดับท้ายทอย ดูคล่องแคล้วเป็น Working Woman ดีแท้ แต่ที่ไม่เปลี่ยนไปเลยก็คือดวงตากลมโตคู่นั้น
“ว่าไง… นักธุรกิจใหญ่” ฝ้ายยังคงทักทายด้วยสำนวนที่เป็นเอกลักษณ์ของเธอ
เราสั่งอาหารมาสองสามอย่างพร้อมด้วยเบียร์ ผมให้เธอเป็นคนเลือกรายการอาหารเพราะเห็นว่าเธอไม่ได้กินอาหารไทยมานาน คงมีอะไรที่อยากทานเป็นพิเศษ
“ที่นี่ดูไม่เปลี่ยนไปจากเมื่อ 3 ปีก่อนลยนะ” ฝ้ายเปรยออกมา
“เออนี่ เพื่อน ๆ เป็นยังไงกันบ้าง เธอเล่าให้ฝ้ายฟังหน่อยซิ”
“จะเอาใครก่อนดีหละ อย่าง ไอ้ชาย มันแต่งงานไปเมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้ก็กลับไปทำธุรกิจที่ขอนแก่น ส่วน ไอ้นัท มันก็ทำงานเป็นเอ็นจีโออยู่ที่โคราช” ผมเล่าความเป็นไปของพวกเพื่อนๆ ที่เคยออกค่ายด้วยกันให้เธอทราบ
“แล้วป้อมกับน้องหนิงหละ แต่งกันไปหรือยัง” เธอถามถึงคู่รักที่พวกเราช่วยกันเชียร์จนสำเร็จตอนออกค่าย
“อ๋อ มันเลิกกันได้ 2 ปีแล้ว ตอนที่เลิกนะ ไอ้ป้อม มันลากเรากับ ไอ้ชาย ไอ้นัท ไปกินเหล้าที่บ้าน 3 วัน 3 คืน หมดเหล้าไปเกือบลัง แทบแย่เลยหละ” ผมเล่าถึงวีรกรรมของพรรคพวก แล้วอดนึกขำไม่ได้
“เหรอ แย่จัง นึกว่าจะไปได้ตลอดรอดฝั่งซะอีก”ฝ้ายบ่นเสียดาย
“แล้วเธอล่ะ เป็นยังไงบ้าง”
“ของเราก็เรื่อย ๆ งานก็ยังไปได้ สินค้าที่เราดูแลยังเป็นพวกสินค้าชุมชนเหมือนเดิม แล้วเธอหละ ทำงานที่โน่นเป็นยังไงบ้าง ยากกว่าที่นี่ไหม” ผมรู้ดีว่าเธอถามเรื่องอะไร แต่ก็เฉไฉไปเรื่องงานแทน
“ก็ติดเรื่องภาษาในช่วงแรกๆ แต่พอปรับตัวได้ก็ไม่มีปัญหาอะไรแล้วหละ ที่กลับมานี่ ก็เพราะสัญญาที่เซ็นไว้หมดพอดี”
“แล้วเรื่องส่วนตัวหละ โชคชัย เป็นยังไงบ้าง”
เธอเรียกชื่อเต็มของผมอย่างชัดเจน เป็นการยืนยันว่าต้องการคำตอบจากผม
“เราเองก็ไปเรื่อย ๆ เสาร์อาทิตย์ก็ไปกินเหล้ากับพรรคพวก ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”
“อะไรกัน! เธอยังทำตัวเหมือนเด็กพึ่งจบอยู่เหรอ เธอไม่คิดจะคบกับใครจริงๆจังๆ แล้วแต่งงานอย่างชายบ้างรึไง”
ผมยกเบียร์ขึ้นดื่ม รู้สึกกว่าที่เบียร์แต่ละหยดจะผ่านลำคอ มันช่างยากลำบากซะจริงๆ
“ไม่ใช่ว่าไม่เคยคิด แต่ทำไงได้ เรายังไม่เจอใครที่เหมือนอย่างเธอเลยนี่ ถ้าเธอเห็นที่ไหนก็บอกเราด้วยแล้วกัน”
จะเป็นเพราะเบียร์หรืออะไรก็ตาม แต่มันก็ทำให้ผมได้พูดมันออกไปจนได้
ฝ้ายนิ่งไปพักหนึ่ง แล้วก็พูดขึ้นว่า “จะบ้าเหรอ พูดเป็นเล่นอีกแล้ว ฝ้าย เป็นห่วงเธอจริงๆ นะ”
“เอาหละเอาหละ เปลี่ยนเรื่องคุยดีกว่านะ บรรยากาศชักไม่ค่อยดีแล้ว” ผมรีบตัดบท เพราะไม่อยากให้มันลุกลามไปมากกว่านี้
หลังจากนั้นเรานั่งคุยกันต่อไปอีกพักใหญ่ ผมได้รู้ว่าตอนนี้ ฝ้าย ได้งานใหม่ที่บริษัทผลิตอาหารกระป๋องแห่งหนึ่ง ก่อนกลับบ้านเธอเอื้อมมือไปหยิบของในกระเป๋า แล้วยื่นซองกระดาษสีครีมมาให้ผม
“ฝ้ายกำลังจะแต่งงานเดือนหน้า! ฝากเชิญเพื่อน ๆ ที่ค่ายด้วย เธอเองก็…มาให้ได้นะ”
สงกรานต์
แหม หักมุมเลยน่ะ มีตอนต่อไปไหม?
เฮ้อ……