Photo by Srinrat Wuttichaikitcharoen

จุดเด่นของหมากรุกไทย ก็บ่งบอกถึงการสัประยุทธ์แบบไทย ๆ ได้เป็นอย่างดี คือเราใช้อาวุธสั้นต่อสู้กัน ไม่เหมือนหมากรุกฝรั่ง ซึ่งใช้อาวุธยาวมีปืนใหญ่ที่ทรงประสิทธิภาพคือควีน ที่ไล่อาละวาดไปทั่วกระดาน แม้จะตายไปแล้วแต่ก็ยังสามารถฟื้นคืนชีพได้อีกครั้ง ดังนั้นตรงนี้นี่เองทำให้หมากรุกไทยยังทรงเสน่ห์อยู่มิคลาย

หากกล่าวถึงหมากบนกระดานที่เป็นอาวุธสั้น และไล่ล่าอาละวาดได้ทั่วกระดาน เราคงมองข้ามเม็ดหรือเบี้ยหงายไม่ได้เลย เพราะพลังในการรุกไล่อำมหิตยิ่งนัก แล้ว “โคน” มีอะไรดีหรือ

โคน เป็นหมากที่คอยรุกกระหน่ำในเกม ในขณะเดียวกัน ยังเป็นกองหลังที่ทรงประสิทธิภาพ โดยส่วนมากจะใช้เป็นหมากผูกให้เม็ดหรือม้า

การเดินหมาก โคน จะเดินไปด้านหน้าได้ 3 ตาคือ เฉียงซ้าย ตรง และเฉียงขวา แต่จะเดินถอยหลังได้แค่ 2 ตาคือ เฉียงซ้าย และเฉียงขวา ทำให้เวลาต้องรุกไล่จะต้องต้อนให้คู่ต่อสู้หนีไปทางด้านหน้าโคน ว่ากันว่าหากหมากถึงปลายกระดาน แล้วยังเหลือโคนอยู่ครบทั้งสองตัว และต้อนให้คู่ต่อสู้อยู่หน้าโคนแล้ว โอกาสแพ้มีมากเหลือเกิน ทั้งคู่จะช่วยกันทั้งรุกและป้อง คู่ต่อสู้ทำได้คือหนีห่างอย่างน้อย 1 ตา หรือหาทางเข้าตาอับเท่านั้น จึงจะมีโอกาสเสมอ

ตามศักดิ์หมากแล้ว โคน จะมีศักดินามากกว่า เม็ด และ เบี้ย อยู่อีก 1 เท่าตัว เปรียบในกองทัพก็คงประมาณฝ่ายเสนาธิการบัญชาการรบ

กล่าวถึง โคน ทำให้ผมนึกถึงอาจารย์แว่นน้ำ (สุมาเต๊กโช) และคิดถึงโคนในตำแหน่งของจิวยี่ ในสามก๊ก คือคิดว่าตัวเองมีพลานุภาพมากพอ จนประมาทคู่ต่อสู้ ทำให้พลาดพลั้งถึงชีวิต และก่อนตายยังกล่าวคำเย้ยหยันตัวเองเพื่อประท้วงฟ้า ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ

เทียน กี้ แซยี่ …… ฟ้าส่งยี่ (จิวยี่) มาเกิด
ฮ่อ ปิ๊ด แซเหลียง …… ไฉนจึงให้เหลียง (ขงเบ้ง) มาเกิดด้วยเล่า
เทียน กี้ แซ ยี่ …… ฮ่อ ปิ๊ด แซ เหลียง
เทียน กี้ แซ ยี่ ………… ฮ่อ ปิ๊ด แซ เหลียง …….คร่อกกกก

กล่าวคำนี้อยู่ 3 ครั้ง ก่อนที่จิวยี่จะกระอักเลือดตาย

โคน ก็เช่น จิวยี่ บางครั้งหากประมาทเกินไป หลงเดินเข้าสู่วงล้อมของเหล่าข้าศึก ก็อาจต้องถึงจุดสูญเสียได้ เนื่องจากเดินถอยหลังได้เพียง 2 ตาเท่านั้น ดังนั้นในการเดินหมากจึงต้องระวังเรื่อง ผูกกันไว้ด้วย ผูกเพื่อป้องกันว่าไม่ตายฟรีแน่ อย่างไรเสียก็ต้องมีหมากแลกหมาก แม้จะต่างศักดิ์กัน แต่เพื่อผลโดยรวมของการแข่งขันกระดานนั้น ทุกสิ่งก็ล้วนคู่ควรกับการเสียสละเสมอ

สาย ๆ ของวันเสาร์ที่ 11 กันยายน 2536 ทิดโสลงแข่งหมากรุกไทยขุนทองคำครั้งที่ 8 ที่พันทิพย์พลาซ่า เจอคู่ต่อสู้ “เซียนโบ๊ะ สุพรรณ – วาณิชย์ แก้วประสิทธิ์” มองดูแกนิ่ง ๆ อายุอานามน่าจะเข้า 50 ปี แต่ขอโทษ สมัยหนุ่มยังไม่รู้จักพยัคฆ์ วันนั้นกะไว้ลายเคี้ยวให้นุ่ม ที่ไหนได้ล่ะ ไม่เกิน 30 นาที หมาก 2 กระดาน

วันนั้นได้รู้ ได้เห็น วิธีขุดบ่อล่อสมัน วิธีรุกโดยโคน และวิธีใช้กุ้งฝอยตกปลากะพง

แพ้แล้วจะเป็นไร… ชนะแล้วจะเป็นไร… ทั้งผลแพ้หรือชนะ ไม่มีผลทางด้านจิตใจเลย หากแพ้ก็ตั้งหมากอีกครั้ง ก็เท่านั้น แต่ที่ได้รับมาในวันนั้น ซึ่งในชีวิตนี้ถือเป็นตำรา เป็นแผนที่ให้ชีวิตดำเนินและกระทำตาม ตรงนี้สำคัญยิ่งกว่า

การแข่งขัน ก็เป็นแค่เพียงเกม ๆ หนึ่ง แพ้ก็ได้ ชนะก็ดี คู่ต่อสู้ที่เข้มแข็งจะเป็นครูสอนเรา จงพร้อมชนะเมื่อหมากได้เปรียบ และจงยอมรับการพ่ายแพ้ หากสู้ไม่ได้ กล่าวถึงตรงนี้ ก็ขออนุญาตเอ่ยนามเพื่อขอบพระคุณ เซียนโบ๊ะ สุพรรณ อีกครั้ง

หมากท้ายกระดาน เราสามารถปรับรูปแบบการต่อสู้ได้อีกมากมายนัก แม้จะเสียโคนไปหมดแล้ว แต่ใช่ว่าจะไร้โคน ประดุจจอมยุทธผู้ผ่านการฝึกฝนจนเชี่ยวชาญแล้ว กระบี่อยู่ที่ใจกระนั้นแล เบี้ยเทียม 2 ตัว มีคุณภาพเทียบเท่าและมากกว่าโคน 1 ตัวเสียอีก พลังการรุกไล่มีอยู่รอบตัว รวมถึงเก็บไว้ปกป้องคุ้มครองขุน ยิ่งหากมีเบี้ยผูกเพิ่มมาอีกสักตัว โลกนี้ก็ไม่มีอะไรน่ากังวลอีกแล้ว

นี่คือ โคน คำตอบหลังการสูญเสีย การดำเนินชีวิตอย่างมีแบบแผน เมื่อคนเราทำอะไรจนถึงที่สุดแล้ว แม้จะสูญเสียอะไรๆ ไปบ้าง แต่อย่างน้อยก็คงไม่คร่ำครวญ กล่าวคำประท้วงฟ้าแน่นอน

ทิดโส โม้ระเบิด