บางคนเชื่อว่า “ภัยพิบัติธรรมชาติ” คือ บทลงโทษของพระผู้เป็นเจ้าต่อมนุษย์ผู้ทำลาย โดยแสดงอาการพิโรธออกมาให้บรรดาคนตัวเล็กตัวน้อยได้รับรู้พิษสงจากการกระทำที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์บ้าง ในขณะที่ทางวิทยาศาสตร์อาจมองว่า มันเป็นเพียงปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกพื้นที่ทุกเวลา โดยไม่เลือกว่า จะเป็นพื้นที่ใด ชนชาติใด และภาษาใด
ทุกครั้งที่ภัยพิบัติธรรมชาติได้อุบัติขึ้น ล้วนส่งผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติในวงกว้าง ทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งนับวันจะเพิ่มความถี่และทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ เช่น เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่มในแถบทะเลอันดามัน เมื่อ 3 ปี ก่อน เหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กีสถล่มที่ประเทศพม่า และล่าสุดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศจีน
ในประเทศไทย แม้ภัยพิบัติธรรมชาติจะถือเป็นเรื่องใหม่ แต่เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ หรือ โคลนถล่มใน จ.อุตรดิตถ์ ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดกระแสการตื่นตัวในสังคมไทยอยู่มาก หลายหน่วยงานหันมาให้ความสนใจในเรื่องภัยธรรมชาติ เกิดการสำรวจและติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัย เกิดศูนย์เฝ้าระวังและบรรเทาสาธารณภัย มีบทเรียน ประสบการณ์ และองค์ความรู้มากมายเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน ทั้งในขณะเกิดเหตุการณ์และภายหลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัติได้สิ้นสุดลง แต่กระนั้นการทำงานก็เป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ แนวคิด แนวทาง แผนปฏิบัติการ รวมถึงระบบการเตือนภัยล่วงหน้า ทั้งในระดับพื้นที่และระดับรัฐที่จะสร้างแบบแผนหรือเครื่องมือทางปัญญาที่รองรับ ป้องกัน หรือเยียวยา ลดทอนความสูญเสียนั้น กลับดูกระจัดกระจาย ไม่เป็นระบบ และไม่มีครอบคลุมภัยในทุกประเภท อาจจะมีก็แค่ระดับ “วัวหายล้อมคอก” แต่ในระดับเชิงรุกที่เป็นระบบและเตรียมพร้อมอย่างที่สุดยังไม่ปรากฎ
โครงการ “Beyond Disasters: Thailand EAR-ARM Data & Media 2008” อันเป็นความร่วมมือกันระหว่าง มูลนิธิกองทุนไทย มูลนิธิกระจกเงา กลุ่มรองเท้าแตะ โดยมี องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย (Actionaid Thailand) เป็นผู้สนับสนุน จึงเกิดขึ้น
เป้าหมายหลักของโครงการ คือ การรวบรวมความรู้ ข้อมูล ประสบการณ์ ทั้งในระดับท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชน มาสังเคราะห์โดยอาศัยทั้งหลักวิชาการ ภูมิปํญญาท้องถิ่น ชุดประสบการณ์จากอาสาสมัครกลุ่มต่าง ๆ โดยจัดเป็นฐานข้อมูลเพื่อการใช้ประโยชน์ในอนาคต และผลิตสื่อหรือคู่มือในการป้องกันและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุ 8 ภัยพิบัติ โดยสื่อที่นำเสนอในรูปแบบเข้าใจง่าย 4 ประเภท (วิดีโอคลิป หนังสือคู่มือ โบรชัวร์ และบอร์ดนิทรรศการ) เพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องมือที่ช่วยให้ประชาชนและผู้ปฏิบัติงานจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้ตระหนักถึงความเข้าใจในแนวทางการป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติ และความร่วมมือช่วยเหลือเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
8 ภัยพิบัติธรรมชาติ ที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ได้แก่
- แผ่นดินไหว (Earthquake)
- สึนามิ (Tsunami)
- พายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone)
- น้ำท่วม (Flood)
- โคลนถล่ม (Landslide)
- ไฟป่า (Wildfire)
- ภัยแล้ง (Droughts)
- ภัยหนาว (Cold)
เมื่อความสูญเสียจากเหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติ และหลาย ๆ เหตุการณ์ไม่สามารถคาดเดา และมิอาจหลีกเลี่ยงได้ การมีแนวทางในการป้องกัน มีแผนการรับมือที่ดี และการเตรียมความพร้อมแก้ไขสถานการณ์อย่างเร่งด่วน จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยเฉพาะกับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อบรรเทาเบาบางความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงที
กรกฎาคม 2551