กลุ่มเยาวชนกับคนสังเคราะห์แสง หรือ กลุ่ม Chlorophyll เป็นกลุ่มเยาวชนที่แตกกลุ่มย่อยออกจากสถานีวิทยุคลื่น 106 เอฟเอ็ม กรีนเรดิโอ วิทยุสาธารณะที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ โดยกลุ่มเยาวชนดังกล่าวมีแกนนำคนสำคัญและเป็นพี่ใหญ่ของน้อง ๆ ในกลุ่มชื่อว่า “เต่า” นพพล ไม้พลวง อายุ 23 ปี จัดตั้งขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะทางการแสดงออกด้านศิลปะให้แก่เด็กเยาวชน โดยแนวคิดหลักของกลุ่มคือนำศิลปะทุกแขนงมาบูรณาการเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ และสืบสานศิลปวัฒนธรรมพื้นฐานในฐานะที่เป็นรากฐานของชุมชน
“ตัวกลุ่มก็เกิดขึ้นมาหลายปีแล้วฮะ มีเด็ก ๆ ในกลุ่มประมาณ 10 คนได้ งานหลัก ๆ ของกลุ่มก็คือจัดงานศิลป์ในสวนทุกวันเสาร์เพื่อเป็นพื้นที่ให้เด็ก ๆ ในจังหวัดสุรินทร์มาแสดงความสามารถทางด้านศิลปะในทุกรูปแบบ แล้วก็มีพื้นที่ที่ตลาดเขียวเป็นอีกที่หนึ่งที่เราทำการสอนศิลปะและแลกเปลี่ยนความสามารถทางด้านศิลปวัฒนธรรมกับเด็ก ๆ ในอำเภอเมืองจังหวัดสุรินทร์” เต่า กลุ่มคนสังเคราะห์แสง กล่าว
เมื่อกลุ่มคนสังเคราะห์แสงได้ถูกจัดตั้งขึ้นมา เต่า และน้องในกลุ่มได้พยายามจัดตั้งกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะและเยาวชนเรื่อยมา จนกระทั่งได้รับรู้ข่าวสารว่ามีโครงการสานศิลป์ที่เปิดโอกาสให้ทำโครงการเกี่ยวกับศิลปะ สมาชิกในกลุ่มจึงตัดสินใจที่จะเข้าร่วมกับโครงการโดยหวังว่าพื้นที่การทำงานกับเยาวชนในเมืองจะเป็นสถานที่การทำงานหลักในครั้งนี้ โครงการ “คบเด็กสร้างเรื่อง” จึงเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามแผนการที่วางไว้ว่าจะใช้พื้นที่เมืองและกลุ่มเยาวชนในเมืองจัดทำกิจกรรมก็ต้องถูกเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเงื่อนไขของโครงการที่กำหนดระยะเวลาให้แล้วเสร็จใน 3 เดือน จึงทำให้กลุ่มเป้าหมายเดิมที่จะลงทำงานด้วยเกิดปัญหาไม่สามารถลงทำงานได้ทัน ทางกลุ่มจึงเปลี่ยนแปลงพื้นที่การดำเนินงานไปยังชุมชนบ้านจรูกแขวะ หนึ่งในพื้นที่การทำงานที่มีโครงการ และพื้นฐานการทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แข็งแกร่งอยู่ก่อนหน้า
“จริง ๆ ผมอยากทำที่ตลาดเขียว อยากทำกับเด็กในเมือง แต่เค้าให้เวลาแค่นิดเดียว กว่าเงินจะมาก็กุมภาแล้ว เหลือเวลาให้ทำจริง ๆ เดือนสองเดือน ใช้พื้นที่เมืองก็ไม่ทัน เพราะมันต้องทำกิจกรรม ปรับกิจกรรมเยอะ เลยมาเลือกบ้านจรูกแขวะ เขามีโครงการ เขามีพื้นอยู่ก่อนแล้ว แล้วทางโรงเรียนเขาก็สนใจเลยเปลี่ยนพื้นที่มาทำที่นี่” เต่ากล่าวต่อ
บ้านจรูกแขวะ กับงานสานศิลป์
โรงเรียนบ้านจรูกแขวะ ตำบลโคกยาง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ถือเป็นพื้นที่การทำงานหนึ่งของกลุ่มสังเคราะห์แสง โดยโรงเรียนบ้านจรูกแขวะ ด้วยการนำของคุณครูทำนอง คุ้มวงษ์ได้จัดทำค่ายอบรมนาฏศิลป์พื้นบ้านให้กับเด็ก ๆ ในโรงเรียนบ้านจรูกแขวะ และโรงเรียนโดยรอบตำบลมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2540 ซึ่งการจัดอบรมค่ายนาฏศิลป์ดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เยาวชนในระบบโรงเรียนได้เรียนรู้และสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านของตนเองให้ดำรงอยู่
“ครูจัดอบรมค่ายมาตั้ง 9 ครั้งแล้ว ทำทุกปีปีละ 1 ครั้ง รวมครั้งนี้ด้วยก็เป็นเวลา 10 ปี เราจัดมาครั้งหนึ่งมีคนมาร่วมเป็นโรงเรียนรอบ ๆ ตำบล มีคนร่วมครั้งหนึ่งก็ประมาณ 200 คน เป็นค่ายที่เน้นให้เด็กเรียนรำแบบพื้นบ้าน จัดกันเองจนมาเจอกับเต่าที่งานศิลป์ในสวน เขาให้เด็ก ๆ ที่โรงเรียนไปจัดการแสดงในสวน แล้วได้คุยกับเขาแล้วความคิดบางอย่างเหมือนกัน เลยทำงานกับกลุ่มนี้เรื่อยมา” ครูทำนอง คุ้มวงษ์
จากการเป็นพื้นที่การทำงานทางด้านศิลปวัฒนธรรมที่เข้มแข็งมากว่า 10 ปีประกอบกับเงื่อนไขของโครงการสานศิลป์ที่กำหนดให้กลุ่มคนสังเคราะห์แสงต้องจัดโครงการให้เสร็จภายในระยะเวลา 3 เดือน หมู่บ้านจรูกแขวะจึงกลายมาเป็นพื้นที่การทำงานหลักในโครงการสานศิลป์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือการสรุปบทเรียนการทำงานตลอดระยะเวลา 10 ปี และจัดมหกรรมสานศิลป์ด้วยการทำแสง สี เสียง ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของชุมชนบ้านจรูกแขวะผ่านการแสดงละคร และนาฏศิลป์พื้นบ้านของนักเรียนทั้งหมดของโรงเรียนบ้านจรูกแขวะ
“การจัดการแสดงกับสานศิลป์ครูก็คิดของครูมาก่อน เต่าเขาก็คิดของเขามา สุดท้ายมาคุยมันก็คล้ายกัน คิดตรงกัน เราก็ใช้งานแสดงที่เด็ก ๆ มีพื้นมาก่อนมาจัดการแสดง เติมเรื่องราวการแสดงละครที่เต่าเขาเป็นคนจัดกระบวนการเข้าไป ครูก็ให้เด็ก ๆ มาเล่น มาซ้อมบท และจัดเป็นเรื่องราวการแสดงขึ้นมาเพิ่มเติม การแสดงที่เราทำอยู่แล้วเลยมีเรื่องราวและเกี่ยวข้องกับชุมชนที่เด็ก ๆ เขาเกิดมา เขาก็รู้สึกมีส่วนร่วม รู้สึกภูมิใจที่จะทำมากขึ้น” ครูทำนอง คุ้มวงษ์
ค่ายอบรม ค่ายสร้างคน
หลังจากเลือกพื้นที่โรงเรียนบ้านจรูกแขวะเป็นสถานที่หลักในการทำงาน โครงการก็ถูกออกแบบมาให้เป็นค่ายโดยมีกระบวนการในการทำงานแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลาด้วยกัน โดยในช่วงแรกนั้นเป็นช่วงของการวางแผนโครงการซึ่งจะมีทั้งทางกลุ่มสังเคราะห์แสง ทางโรงเรียน และทางชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบค่ายให้มีประสิทธิภาพทั้งกับทางกลุ่มที่ทำหน้าที่ประสานงานกับทางสานศิลป์ และทางโรงเรียนที่เป็นผู้จัดการดำเนินการคนสำคัญ และกับชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน ด้วยการร่วมแรงร่วมใจดังกล่าวทำให้บทสรุปของโครงการมีรูปแบบของกิจกรรมหลัก ๆ ดังนี้ กิจกรรมลงสำรวจข้อมูลของชุมชนบ้านจรูกแขวะเพื่อนำไปใช้เป็นเรื่องราวสำหรับการแสดง กิจกรรมสรุปบทเรียนการทำงานตลอดระยะเวลา 10 ปี และกิจกรรมการแสดงแสง สี เสียง สื่อผสมผสานศิลปะกับวัฒนธรรมพื้นบ้านของชุมชน
“ที่ผมคิดว่าต้องเอาการแสดงที่เป็นเรื่องราวท้องถิ่นของชุมชน เพราะว่าเวลาคนทั่วไปพูดถึงสุรินทร์ก็จะคิดถึงแต่ช้าง เป็นเป็นภาพใหญ่ที่ทุกคนคิดถึง แต่เราจะทำเรื่องนี้มันก็ซ้ำ ผมก็เลยคิดกับครูว่าเราน่าจะทำเรื่องราวของชุมชนเรา ชุมชนของเด็ก ๆ เลยเล่าเรื่องความเป็นมาของชุมชนผ่านการแสดงของเด็ก ๆ เป็นหลัก” เต่าอธิบายต่อ
สำหรับการทำงานในช่วงที่สองหลังจากออกแบบกิจกรรมที่จะจัดทำเสร็จสิ้น ช่วงเวลาในการเริ่มดำเนินการก็เริ่มจากกิจกรรมในการให้เด็กในโรงเรียนลงไปเก็บข้อมูลเรื่องราวของชุมชนผ่านผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวประสบความสำเร็จในแง่ของการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนและชุมชนเป็นอย่างดี เพราะนอกจากเยาวชนจะได้รับรู้เรื่องราวของบ้านที่ตนเองถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว เด็ก ๆ ยังได้ทำความรู้จักและพูดคุยกับผู้อาวุโส และผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชนมากขึ้นอีกด้วย
“ได้เข้าไปคุยกับตาหลายคนเลย ส่วนใหญ่ก็เล่าว่าทำไมถึงชื่อหมู่บ้านแบบนี้ อย่างตาแสวงก็บอกว่าบ้านนี้แต่เดิมไม่มีคนอยู่ มีแต่สัตว์มาอยู่ หมูมีอยู่เยอะเลยตั้งชื่อว่าบ้านหมูขวิด แต่ตอนหลังเพี้ยนไปเป็นบ้านจรูกแขวะเลยเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน ตอนเข้าไปคุยก็สนุกค่ะ ได้คุยกันเยอะแยะ ไม่มีใครดุ เพราะรู้จักกันอยู่แล้ว พอคุยเสร็จก็รู้อะไรเยอะ แบ่งกันไปคุย คุยเสร็จแล้วก็กลับมานั่งเป็นคุ้ม ๆ เล่าเรื่องที่ตัวเองได้มา” น้องหลิว นักเรียนโรงเรียนบ้านจรูกแขวะ
เมื่อลงไปสัมภาษณ์เพื่อหาข้อมูลชุมชนเสร็จแล้ว เด็ก ๆ จะแบ่งเป็นกลุ่ม เพื่อนำข้อมูลที่ตนเองได้มาแลกเปลี่ยนกัน และทำเป็นข้อมูลสรุปให้กับคุณครูเพื่อที่จะนำข้อมูลที่ได้เหล่านี้มาทำเป็นบทละคร และแบ่งตัวละครออกไปให้กับเด็ก ๆ ทุกคนได้มีส่วนร่วม
กิจกรรมในช่วงเวลาที่สาม ถูกจัดรูปแบบกิจกรรมให้มีลักษณะค่ายอบรม โดยเป็นค่ายที่จัดขึ้นในวันที่ 14 กรกฎาคม 2553 เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 น. ไปจนกระทั่ง 22.00 น. ในช่วงแรกของค่ายนั้นเริ่มจากกิจกรรมสรุปบทเรียนในการทำงานของโรงเรียนบ้านจรูกแขวะที่จัดค่ายอบรมนาฏศิลป์พื้นบ้านมาทั้งหมด 10 ครั้ง โดยแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มของคุณครู และผู้บริหารของโรงเรียนในตำบลโคกยาง กลุ่มที่ 2 จะเป็นกลุ่มของผู้นำหมู่บ้าน ทั้งอบต. กำนัน และผู้ใหญ่บ้านในหมู่ต่าง ๆ ของตำบลโคกยาง กลุ่มที่ 3 จะเป็นกลุ่มนักเรียนในโรงเรียนบ้านจรูกแขวะ ซึ่งข้อมูลที่ได้หลังจากการสรุปบทเรียนจะพบว่า คนทำงานส่วนใหญ่ต้องการให้มีผู้สนับสนุนทั้งในเรื่องงบประมาณ และทัศนคติต่อการทำกิจกรรม โดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชน และผู้บริหารของโรงเรียน ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการสรุปบทเรียนกลุ่มผู้จัดทำโครงการจะนำมาพัฒนาจัดกิจกรรมโครงการครั้งที่ 11 ต่อไป
“ส่วนใหญ่ที่เห็นสะท้อนออกมาอย่างเด็ก ๆ เค้าต้องการคนสนับสนุน คนให้กำลังใจ อย่างเวลาที่เด็ก ๆ ไปเข้าร่วมกิจกรรมบางครั้งต้องขาดเรียน เขาก็อยากให้โรงเรียนเข้ามาช่วยตรงนี้ หรืออย่างเรื่องปัญหาในการขาดงบประมาณ ทั้งเรื่องการเดินทาง อาหารการกิน ก็อยากให้ผู้ใหญ่เข้ามาช่วยเหลือ และอยากให้ผู้ปกครองในชุมชนเข้าใจในการไปเข้าร่วมกิจกรรม เพราะบางครั้งเขาก็โดนว่าว่าไปทำอะไร ยิ่งเด็กผู้หญิงพอบอกว่าไปทำกิจกรรมก็จะหาว่าไปเที่ยวเล่นหรือเปล่า เขาก็เลยอยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจ ซึ่งก็ไม่ใช่แค่เด็ก ๆ แต่ทั้งทางชุมชน และทางโรงเรียนก็มีบทสรุปที่คล้ายกัน คืออยากให้สนับสนุนและเข้าใจในการทำกิจกรรม” ครูทำนอง คุ้มวงษ์
หลังจากสรุบบทเรียน ในช่วงบ่ายกลุ่มเด็ก ๆ ที่เป็นนักแสดงจะทำการซักซ้อมเป็นครั้งสุดท้ายก่อนไปแสดงจริงในช่วงเวลากลางคืน โดยตัวละครที่เด็ก ๆ ได้รับถูกจัดแบ่งไปตามความถนัดของนักเรียน เช่น นักเรียนที่เรียนมาทางนาฏศิลป์ และเป็นนักเรียนที่แสดงนาฏศิลป์อยู่เป็นประจำก็จะรับหน้าที่นางรำ ส่วนนักเรียนที่อยู่ในชั้นสูง ๆ ก็จะได้รับบทตัวละครหลัก ส่วนนักเรียนในชั้นที่ต่ำลงมา เช่น ป.1 ป2. จะรับบทเป็นตัวประกอบ อาทิชาวบ้าน พระสงฆ์ และสิงสาราสัตว์ ส่วนพี่ ๆ ในชุมชนที่จบจากโรงเรียนบ้านจรูกแขวะก็เข้ามาช่วยทั้งในเรื่องการเขียนบทละคร การทำซาวน์ การใช้แสง ดังนั้นเยาวชนในชุมชนแทบทุกคนจึงเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของโครงการในครั้งนี้
เมื่อฟ้าสาง ผู้ใหญ่ทั้งในชุมชนชนและนอกชุมชนกว่า 50 คนก็มานั่งรวมตัวกันอยู่ลานหลังโรงเรียนที่ถูกใช้เป็นเวทีในการแสดงละครชุมชน เพื่อดูละครที่เด็ก ๆ ตั้งใจทำมาหลายสัปดาห์ การแสดงดังกล่าวเกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของเยาวชนทุกคนในชุมชน และจบลงด้วยความชื่นชมของผู้ใหญ่หลายคนที่ได้เข้ามาชมการแสดง ซึ่งผลของการจัดการค่ายอบรมดังกล่าวได้ทำให้เกิดการพัฒนาและผลักดันให้เกิดโครงการที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมของชุมชนมากขึ้น อีกทั้งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ยังเป็นเสมือนการจุดประกายให้กับผู้นำชุมชนอื่น ๆ อีกหลายชุมชนที่เริ่มหันมาสนใจในการทำงานกับเยาวชน รวมทั้งเล็งเห็นความสำคัญในการจัดกิจกรรมเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนตนเอง
“ส่วนตัวผมว่าการจัดครั้งนี้มันให้อะไรทั้งกับตัวผม กับโรงเรียน กับเด็ก ๆ ลองดูเอาก็ได้ว่าเด็กที่เล่นเป็นพระ 3 คน เขาโกนผมจริง ๆ เพราะอยากเล่นให้สมจริง เขาตื่นเต้นที่มีคนมาสนใจ เขาตื่นเต้นที่ได้ทำอะไรแล้วคนในชุมชนชื่นชม” เต่า ทิ้งท้าย
รายงานการถอดบทเรียนและประเมินผลโครงการสานศิลป์รักถิ่นเกิด
โดย ผศ.ปรารถนา จันทรุพันธุ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะ, กรกฎาคม 2554
*โครงการสานศิลป์รักถิ่นเกิด ดำเนินการเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 – สิงหาคม 2554 มูลนิธิกองไทย เป็นเจ้าของโครงการ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. มีเป้าหมายให้เยาวชน “รู้ และ รัก” ท้องถิ่นบ้านเกิด ด้วยการสืบค้นหาข้อดีของชุมชนท้องถิ่น จนทำให้เกิดความภาคภูมิใจและนำเสนอผ่านงานศิลปะวัฒนธรรม โดยสนับสนุนทุนให้กับ 58 กลุ่มเยาวชนจากทั่วประเทศ – คลิกดูรายละเอียดโครงการ