โครงการสืบสานหัตถกรรมพื้นบ้าน ศิลปะสัมพันธ์คนสองวัย จุดเริ่มต้นเกิดจากพื้นฐานการดำรงชีวิตของคนในชุมชน ที่ใช้เวลาว่างจากการทำการเกษตร ทำไร่ทำนา โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น เนื่องจาก ชุมชนฟองข้าว ตำบลวังกวาง อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นพื้นที่ที่มีภูเขาล้อมรอบ ทำให้มีทรัพยากรป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ในช่วงว่างจากการทำนาชาวบ้านก็จะมาทำการจักสานไม้ไผ่ เพื่อทำเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระติ๊บข้าว กระด้ง สุ่มเลี้ยงไก่ หรือเครื่องมือประมง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ได้รับการสืบทอมาจากบรรพบุรุษ แต่ในปัจจุบันภูมิปัญญาเหล่านี้ก็กำลังจะสูญหายหรือลดน้อยลงไป เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่ได้มีการสืบสานวัฒนธรรมเหล่านี้
ปัญหาของชุมชนในปัจจุบัน เกิดจากการอพยพแรงงานไปทำงานต่างจังหวัด การดิ้นรนทำมาหากิน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวลดลงไป รวมทั้งการที่เด็กใช้เวลาว่างกับกิจกรรมที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่นมั่วสุมยาเสพติด แก๊งค์รถซิ่ง การติดเกมส์อินเตอร์เน็ต ทำให้กลุ่มของนักพัฒนาเอกชนที่ทำงานในพื้นที่อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ เห็นความสำคัญของปัญหา และได้ร่วมกันพัฒนาโครงการร่วมกับครูโรงเรียนบ้านฟองใต้ และองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในการทำกิจกรรมได้
“จุดเริ่มต้น ช่วยกัน ครูและอาจารย์ ไม่สามารถเข้าถึงต้นตอแหล่งทุนได้ กลุ่มเครือข่ายน้ำพองเก่า กลุ่มเครือข่ายเทือกเขาเพชรบูรณ์ เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ดูแลในพื้นที่” อาจารย์ทวิต ราษี เล่า
กิจกรรมที่วางเอาไว้ในช่วงแรกของคณะครูโรงเรียนบ้านฟองใต้ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่เป็นพี่เลี้ยงในพื้นที่ ไม่ใช่เรื่องของภูมิปัญญาในการจักรสานแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับประเพณีพื้นบ้านที่พวกเขาปฏิบัติกันอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะประเพณีบุญผะเหวด ที่เป็นเรื่องพิธีกรรมทางศาสนาที่มีความน่าสนใจ สามารถเชื่อมโยงกับเรื่องประวัติพุทธศาสนา เรื่องศิลปะต่างๆ แต่สุดท้ายก็คิดกันว่า น่าจะเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ในชุมชน จึงได้พัฒนาออกมาเป็นกิจกรรมเรียนรู้ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านจัดสานขึ้น
“ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านอีสาน จักสาน ศิลปะไม่เคยทำ เราคิดกันครั้งแรกเกี่ยวกับประเพณีบุญมหาชาติมากกว่า ว่ามีอะไรที่น่าสนใจ เช่น ศิลปะการวาดภาพผ้าใบ บุญมหาชาติ เทศน์มหาชาติ แต่กรอบที่เขาให้มาอยากให้ทำเกี่ยวกับหัตถกรรมพื้นบ้าน ให้ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่กับรุ่นเก่ามีความสัมพันธ์กันมากขึ้น” แกนนำเยาวชนของกลุ่มเล่า
จุดเริ่มต้นของกิจกรรมดังกล่าวจึงเกิดขึ้นจากการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนบ้านฟองใต้ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเป็นแหล่งของการเรียนรู้ระหว่างคนสองวัย และสืบสานภูมิปัญญาเหล่านี้ให้ดำรงอยู่ต่อไป โดยใช้วัฒนธรรมพื้นบ้านเป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของชุมชน และใช้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น โดยเฉพาะไม้ไผ่ ที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในบ้านฟองใต้ ซึ่งอยู่ติดกับภูเขา โดยกิจกรรมหัตถกรรมพื้นบ้าน ศิลปะสัมพันธ์คนสองวัย เป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงโรงเรียนเข้ากับชุมชน รวมทั้งเชื่อมโยงเด็กกับพ่อแม่ และคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน
“บ้านเราเป็นแหล่งไม้ไผ่ มีไม้ไผ่อยู่ใกล้ตัว รอบตัว คิดว่าเอาไม้ไผ่มาเรียนรู้และสร้างความสัมพันธ์ผ่านการจักสานได้ เราเห็นว่าทรัพยากรเรามี ก็เลยเกิดประเด็น บางครั้งคนรุ่นใหม่มองว่า คนทำอย่างนี้ ไม่ทันสมัย เชย ซึ่งสื่อไปในทางที่ผิด ก็เลยให้เด็ก ไหนๆเขาก็เติบโตและอยู่กับป่าไม้อยู่แล้ว ก็ให้เขามาเรียนรู้จากกิจกรรมนี้ เพราะปัจจุบันเด็กอายุ 13-14 ทำกันไม่เป็น” อาจารย์ทวิต ราษี กล่าวต่อ
เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่เรียนในโรงเรียนบ้านบ้านฟองใต้ซึ่งเป็นเปิดสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น โดยได้มีการนำเอาเยาวชนหมู่บ้านฟองใต้ ซึ่งเป็นเด็กในโรงเรียนบ้านฟองใต้เป็นกลุ่มนำร่องก่อน โดยประชาสัมพันธ์ให้เด็กรับรู้เกี่ยวกับโครงการ จากนั้นก็เป็นการประชาสัมพันธ์กับศิษย์เก่าที่จบไปแล้วและไปเรียนต่อที่โรงเรียนอื่น และเยาวชนในชุมชนที่ไม่ได้เรียนต่อมาทำกิจกรรมร่วมกับน้อง
ในอดีตการจักสาน เป็นอาชีพที่ช่วยชาวบ้านลดรายจ่าย ชาวบ้านมีเงินทองใช้ หน้าฝน ชาวบ้านหาหน่อไม้มาขาย หน้าแล้งก็มาทำจักสาน หน้าหนาวนั่งผิงไฟไปจักสานไป ไว้ใช้ในครัวเรือน พึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก ปัจจุบันกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การให้ความสำคัญกับวัตถุนิยม ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของชาวบ้านที่นี่ค่อนข้างจะยากจน เพราะหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจ ไม่มีพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เกิดข้อพิพาท ความขัดแย้งในชุมชน เมื่อก่อนชุมชนอยู่อย่างสงบสุข ได้ทำไร่ข้าว ต่อมาข้าวโพดก็เข้ามาแทนที่ พื้นที่เลี้ยงสัตว์ขาดแคลน ชาวบ้านเป็นหนี้ ธกส.และหนี้นอกระบบ ต้องทำมาหากินอย่างหนักเพื่อเอามาใช้หนี้ ทำให้พวกเขาลืมภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ตัวเองมี องค์ความรู้เหล่านี้แม้ว่าจะมีอยู่ในท้องถิ่น โดยคนเฒ่าคนแก่หรือผู้ใหญ่ในชุมชนแต่ก็ไม่ได้มีการถ่ายทอดให้กับลูกหลาน เนื่องจากค่านิยมของพ่อแม่ที่อยากให้ลูกมีอนาคตที่ดีและต้องการให้ลูกให้ความสำคัญกับการเรียน จึงหลงลืมที่จะถ่ายทอดทักษะและภูมิปัญญาเหล่านี้ให้กับบุตรหลาน
“บางคนพ่อแม่เป็นจักสาน แต่ลูกไม่ได้เรียนรู้ เปิดโอกาสให้พ่อแม่จักตอกให้ สอนให้ลายหนึ่ง ลายสอง ลายสาม นักเรียนส่วนใหญ่เป็นลายสอง แต่เรื่องการเก็บรายละเอียดยังไม่ชำนาญ เพราะทำกิจกรรมน้อยไปหน่อย เพราะการจักสานต้องอาศัยทักษะ ต้องอาศัยใจรัก และทำไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่ในโครงการนี้” พ่อฟอง คำหมู่
ก่อนจะมาเป็นโครงการสานศิลป์ ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านคนสองวัย เริ่มจากการรวมกลุ่มสร้างความตระหนัก ประชุมร่วมกับกับปราชญ์ชาวบ้าน ให้เรียนรู้เรื่องไม้ไผ่ในท้องถิ่น แต่ละชนิด เอามาทำอะไรได้บ้าง คนเฒ่าคนแก่เล่าความเป็นมา ประวัติหมู่บ้านเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาที่มีอยู่ในชุมชน กระบวนการดังกล่าวเป็นเสมือนการแสวงหาผู้เชี่ยวชาญในหมูบ้านเบื้องต้นเพื่อเชิญมาร่วมเป็นวิทยากรของโครงการ
“ปราชญ์ชาวบ้านไม่ค่อยมีแรง ในหมู่บ้านของเรามีประมาณ 10 คน เป็นผู้เฒ่ามาแล้ว บางคนก็จักตอกไม่ไหว มันจับมันตึงไม้ไม่ไหว คนอายุประมาณ 65 ปีขึ้นไป ทำเก่ง ๆ อายุ 70-80 หมดไม่มีแล้ว คนที่มีแรงและมาร่วมโครงการเรามีประมาณ 4-5 คน เราเชิญมาร่วมโครงการ เป็นปราชญ์ในเรื่องจักสาน และให้สอนแยกกลุ่มเป็นกลุ่มจักสาน กลุ่มทักเน็ตติ้ง โคเช เพื่อเน้นทักษะ ไม่มีค่าตอบแทน”
กระบวนการจัดกิจกรรมในครั้งแรก ได้มีการประชุมคณะทำงานเพื่อทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องและชุมชน โดยได้มีการเชิญผู้ปกครองนักเรียน กรรมการสถานศึกษา นักเรียนและครู เพื่อประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินโครงการและปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อวางรูปแบบการทำกิจกรรมแต่ละกิจกรรม รวมทั้งค้นหาองค์ความรู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้านที่จะเข้ามาถ่ายทอดความรู้กับกับเด็ก โดยในที่ประชุมได้มีการคัดเลือกปราชญ์ชาวบ้าน ประกอบด้วย พ่อทองดี กองเกิด ปราชญ์ชาวบ้านผู้เชี่ยวชาญการจักสานไม้ไผ่เพื่อนำมาเป็นเครื่องใช้สอยและทำมาหากิน เช่น กระติบข้าว ตะกร้า ข้อง ไซ สวิง และแห พ่อฟอง คำหมู่ ปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญการจักสานไม้ไผ่เพื่อใช้ทำเป็นที่อยู่อาศัย เช่น เสื่อขัดแตะ ฝาผนังลาย 2-3 รั้วบ้าน เล้าไก่ ไพหญ้าคา และแพไม้ไผ่ และ แม่สุวรรณา ทองจำรัส ผู้เชี่ยวชารการเย็บปักถักร้อย เช่น ตุ๊กตา ปลอกหมอน ผ้าพันคอ ผ้าคลุมตู้เย็น กล่องกระดาษชำระ โดยให้มีการเรียนการสอนในเวลา 13.00 น. ทุกวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ เพื่อให้เด็กเข้าใจเรื่องของหัตถกรรมพื้นบ้านแขนงต่าง ๆ
“ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ให้เด็กสามารถนำทรัพยากรรอบตัวที่มีในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ เรียนรู้ภูมิปัญญาอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจากบรรพบุรุษ เกิดสำนึกรักท้องถิ่นและภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน” อาจารย์ทวิต ราษี
หลังจากประชุมทำความเข้าใจกับชุมชนและค้นหาบุคคลที่มีองค์ความรู้ทางด้านหัตถกรรมแล้วก็ได้มีการจัดทำค่ายขึ้น โดยลักษณะค่ายเป็นการเรียนรู้ผ่านการปฎิบัติร่วมกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ ที่เรียกว่า ค่ายสืบสานหัตถกรรมพื้นบ้าน ศิลปะสัมพันธ์คนสองวัย โดยได้จัดกลุ่มตามความสนใจของเด็กออกเป็น 3 กลุ่ม 3 ฐานคือ กลุ่มจักสานเครื่องใช้และเครื่องมือหากินจากไม้ไผ่ กลุ่มจักสานไม้ไผ่เพื่อที่อยู่อาศัยและกลุ่มถักทอ เย็บปักถักร้อย โดยเริ่มแรกพัฒนาทักษะพื้นฐานของเด็กเกี่ยวกับลวดลาย และการจักรสาน ใช้วัสดุง่ายๆ เช่น เอากระดาษย้อมสีมาสานก่อน สานลายง่ายๆ ยังไม่ให้ใช้ไม้ไผ่ เพราะต้องให้เด็กรู้จักลายและมีทักษะเบื้องต้นก่อนลงมือสานจริง ลายสอง สายสาม ลายขัด ในการจักสาน
จากนั้นก็แบ่งเด็กเป็นกลุ่มตามความสนใจ ให้แต่ละกลุ่มไปเรียนรู้ 1 เดือนก็เปลี่ยนกลุ่ม เช่น เด็กผู้ชายเคยสานก็ให้ไปถัก เพื่อเรียนรู้ให้ครบ คนร่วมกิจกรรมก็เด็กทั้งโรงเรียนตั้งแต่ ป.1 – ป.6 ในตอนแรก การเรียนจะนัดกันช่วงบ่ายสองหลังเลิกเรียนไปแล้ว และสถานที่เรียนเรียนคือโรงเรียน ตอนหลัง ๆ ปราชญ์ชาวบ้านบอกว่าเดินทางมาสอนไม่ไหว เนื่องจากต้องขนอุปกรณ์จากบ้านมาที่โรงเรียน ก็เลยให้นักเรียนไปเรียนที่บ้านปราชญ์แทน โดยทางกลุ่มได้ให้ครูที่ปรึกษาของนักเรียนไปดูแลการทำกิจกรรม บางครั้งครูที่ปรึกษาบางคนก็ทำกิจกรรมร่วมไปกับเด็กด้วย ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูกับเด็ก เด็กกับชาวบ้าน และครูกับชาวบ้าน กิจกรรมโดยหลัก ๆ คือ
กิจกรรมของกลุ่มที่ 1 เป็นการเรียนรู้จากของจริง โดย พ่อทองดี ได้นำขบวนเด็กออกจากโรงเรียนเพื่อเข้าไปในหมู่บ้าน เพื่อสอนเทคนิคการเลือกสรรไม้ไผ่ที่จะนำมาใช้จักสานทำเครื่องใช้ประจำวันและใช้ทำมาหากิน โดยดูลักษะของไม้ สีและอายุ ซึ่งกิจกรรมนี้ ทำให้เด็กเรียนรู้การเลือกไม้ไผ่มาใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมกับลักษณะของงานหัตถกรรม เมื่อเลือกไม้ไผ่ได้ก็จะตัดและนำมาจักตอกเพื่อเตรียมตัวใช้สานในวันต่อไป ในครั้งแรกเด็กได้เริ่มลงมือทำผลงานโดยเริ่มต้นจากการสานกระติบข้าว ในระหว่างของการสาน ก็เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เด็กและผู้ใหญ่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความทรงจำระหว่างกัน โดยพ่อทองดีได้มีการเล่าถึงประวัติศาสตร์ชุมชน นิทานพื้นบ้านและประสบการณ์ในชีวิตมาถ่ายทอดให้เด็กฟัง
กิจกรรมของกลุ่มที่ 2 กิจกรรมคล้ายกลุ่มแรกที่พามาดูและเลือกไม้ไผ่เพื่อการใช้งาน แต่แตกต่างที่การจักสานจะเริ่มจากการสานไม้ไผ่เป็นเสื่อ ฝาผนัง ซึ่งมีลวดลายที่หลากหลายและซับซ้อน ในระหว่างที่ทำการสอนก็จะมีการเล่นดนตรีพื้นบ้านคือ แคนประกอบ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด สร้างความสนุกสนานและทำให้เด็กได้ซึมซับศิลปวัฒนธรรมดนตรีท้องถิ่นไปในตัวด้วย
กิจกรรมของกลุ่มที่ 3 ได้มีการจัดเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือยับปักถักร้อยไว้เรียบร้อย โดยที่นักเรียนไม่ต้องออกไปเรียนนอกห้องเรียนเหมือนสองกลุ่มแรก โดยวิทยากรได้อธิบายถึงลักษณะด้ายที่นำมาใช้ถัก โดยให้ทักผ้าพันคอที่ทำจากผ้าฝ้าย ซึ่งถือว่าง่ายที่สุดเพื่อให้เด็กเกิดกำลังใจในการทำงานและมองเห็นความสำคัญและประโยชน์ของงานศิลปะที่เชื่อมโยงคนสองวัยเข้าด้วยกันในการถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตระหว่างรุ่นสู่รุ่น
หลังจากเด็กมีทักษะในเรื่องของศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านระดับหนึ่งและสามารถผลิตผลงานของตัวเองได้ ก็ได้มีการจัดเวทีแสดงผลงานศิลปหัตถกรรม พื้นบ้านจากวัสดุที่มีในท้องถิ่น นักศึกษาแต่ละคนก็มีผลงานของตัวเองมาแสดง คนละชิ้น สองชิ้นบ้างแล้วแต่ความสามารถ นอกจากนี้ในงานได้มีการเชิญผู้ปกครอง ครูภูมิปัญญา และกรรมการสถานศึกษา รวมทั้งเชิญโรงเรียนบ้านห้วยหินลับ ซึ่งอยู่ในตำบลเดียวกัน มาร่วมกิจกรรมเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับทีมงานและเด็ก ๆ ที่ร่วมกันจัดโครงการศิลปะสัมพันธ์คนสองวัย
หลังจากกิจกรรมนี้เสร็จสิ้นทาง กลุ่มฟองใต้สร้างสรรค์รักถิ่นเกิด ได้ช่วยกันสรุปบทเรียน การดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมาของโครงการ และระดมสมองเพื่อออกแบบกิจกรรมต่อไปในอนาคต เพราะหากไม่มีการต่อยอดทางด้านความคิดและการสรรหากิจกรรมอนุรักษ์รูปแบบใหม่เข้ามาในพื้นที่ ก็จะทำให้กระบวนการกลุ่มและแนวทางปฏิบัติที่ทำมาทั้งหมดก็จะหายไป ไม่มีผู้สืบทอดอุดมการณ์ด้านงานอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านนี้
จากการพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน สืบสานความสัมพันธ์คนสองวัย เด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมมองว่ากระบวนการของกิจกรรมทำให้พวกเขาได้ซึมซับศิลปะและภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งพวกเขาได้สัมผัสหรือคุ้นเคยจากพ่อแม่มาตั้งแต่เด็ก แต่ก็เพิกเฉย ละเลยหรือไม่ได้ให้ความสำคัญ เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ความทันสมัยต่างๆที่เข้ามาและชักนำให้เด็กหมกมุ่นในสิ่งเหล่านี้ เมื่อมีโครงการนี้เข้ามาได้ทำให้เด็กเหล่านี้เข้าใจถึงสิ่งที่พ่อแม่ทำ เกิดความซาบซึ้งในภูมิปัญญาท้องถิ่น และสนใจที่เรียนรู้ศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้าน
“ศิลปะเข้าไปในวิถีชีวิต แยกกันไม่ออก บางครั้งการศึกษาทำให้พวกเขาแปลกแยก แยกศิลปะออกไปจากชีวิต จากวิถีชุมชนของพวกเขา เราก็ใช้กิจกรรมนี้ เพื่อให้เขากลับสู่ฐานเดิม รากเหง้าเดิม” อาจารย์ทวิต ราษี บอก
เช่นเดียวกับ ปิยะพร ที่ได้เข้าร่วมโครงการและมองว่า กิจกรรมดังกล่าวทำให้เธอเข้าใจภูมิปัญญาที่พ่อของเธอทำมากขึ้นว่า “ได้เข้าใจสิ่งที่พ่อแม่ทำ พ่อทำจักสานเข้าใจภูมิปัญญา จักสาน ก็ตั้งแต่เกิดมาก็เห็น แต่วัยรุ่นเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยสนใจทำ ติดอินเตอร์เน็ตลืมภูมิปัญญาของคนเฒ่าคนแก่ โครงการนี้ทำให้ได้กลับมาเรียนรู้ภูมิปัญญาของท้องถิ่นตัวเอง”
นอกจากนี้กิจกรรมดังกล่าวยังช่วยหล่อหลอมบุคลิกภาพของเด็กที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมให้เป็นคนใจเย็น สุขุมและอดทนต่อการทำงาน เพราะการจักสานต้องใช้ระยะเวลาในการทำมาก รวมทั้งกิจกรรมดังกล่าวยังได้สร้างพื้นที่ของความสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ พ่อแม่กับลูก ผู้เฒ่าผู้แก่กับเด็ก โดยใช้กระบวนการถ่ายทอดความรู้เรื่องหัตถกรรมพื้นบ้านเป็นตัวประสาน
“ตอนแรกก็เป็นคนใจร้อน ได้มาเรียนรู้เรื่องการจักสานก็ใจเย็นขึ้น เพราะกิจกรรมการจักสาน สอนให้เราอดทน และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์” ปิยะพรเล่าต่อ
สอดคล้องกับ ดารุณี คำเจียก ที่สะท้อนสิ่งที่ตัวเองได้รับจากกิจกรรมนี้ว่า “ได้แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน ได้มีเวลาอยู่กับคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่มากขึ้น แต่ก่อนลูกหลานไม่ค่อยได้สนใจ แต่ทำให้เราได้มีกิจกรรมทำร่วมกัน”
ดังนั้นอาจสรุปได้ว่าการจัดกิจกรมโครงการสานศิลป์รักถิ่นเกิดของกลุ่มฟองใต้ ตลอดระยะเวลากว่า 5 เดือน ทำให้เด็กได้เรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นจากผู้ใหญ่ ได้รับการยอมรับและความชื่นชมจากผู้ใหญ่ในชุมชนมากขึ้น และสามารถนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้กับการใช้ชีวิตประจำวัน และสามารถต่อยอดความรู้ดังกล่าว เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านนี้ให้ดำรงอยู่สืบไปในอนาคต รวมทั้งชุมชนก็ตระหนักและเห็นความสำคัญของเยาวชนและภูมิปัญญาในท้องถิ่นมากขึ้นกว่าในอดีต และสามารถถ่ายทอดภูมิปัญญาหัตถกรรมพื้นบ้านนี้ให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน
รายงานการถอดบทเรียนและประเมินผลโครงการสานศิลป์รักถิ่นเกิด
โดย ผศ.ปรารถนา จันทรุพันธุ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะ, กรกฎาคม 2554
*โครงการสานศิลป์รักถิ่นเกิด ดำเนินการเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 – สิงหาคม 2554 มูลนิธิกองไทย เป็นเจ้าของโครงการ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. มีเป้าหมายให้เยาวชน “รู้ และ รัก” ท้องถิ่นบ้านเกิด ด้วยการสืบค้นหาข้อดีของชุมชนท้องถิ่น จนทำให้เกิดความภาคภูมิใจและนำเสนอผ่านงานศิลปะวัฒนธรรม โดยสนับสนุนทุนให้กับ 58 กลุ่มเยาวชนจากทั่วประเทศ – คลิกดูรายละเอียดโครงการ