แม้เพลงกระแสหลักจะเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นทั่วไป จากการประชาสัมพันธ์ของค่ายเพลงตามช่องทางสื่อต่าง ๆ แต่ในปัจจุบัน พบว่ายังมีวัยรุ่นอีกจำนวนไม่น้อยที่นิยมชมชอบ เพลงนอกกระแส อย่าง “บทเพลงเพื่อชีวิต” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนิสิต นักศึกษา หรือนักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย

ซึ่งนิสิตนักศึกษาเหล่านั้น ได้ขับร้องเพลงที่เต็มไปด้วยจินตนาการ ความหลากหลาย และจิตวิญญาณ ด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจในเนื้อหาสาระของบทเพลงเพื่อชีวิตเหล่านั้นเลย อันเนื่องมาจากการไม่มีแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง ข้อมูลอันเป็นจริง ทำให้ไม่มีการตีความหมายหรือเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้แต่ง ซึ่งน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง บทเพลงที่ขับขานผ่านขบวนการนักศึกษาสะท้อนทัศนคติบางอย่างที่สำคัญในการมองสังคมรอบข้างอย่างพินิจพิเคาระห์ อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่อันจะนำไปสู่สังคมที่เอื้ออาทรต่อกัน พร้อมทั้งการร้องเพลง แต่งเพลงด้วยความเข้าใจในประวัติศาสตร์ความเป็นมาคณูปการของบทเพลงเพื่อชีวิต ที่อิทธิพลต่อการบทบาทนักศึกษาในการสร้างสรรค์ศิลปะที่รับใช้สังคม อันเป็นพื้นฐานของสังคมที่เป็นสุขที่รออยู่ข้างหน้า กว่าจะเป็นบทเพลงเพื่อชีวิตให้ได้ร้อง ได้ฟัง ในทุกวันนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร

จึงเป็นโจทย์สำคัญในค่ายพลงฯ ปี 2 ตอน “น้ำหมึก น้ำเสียง สำเนียงชีวิต” โดย กลุ่มรองเท้าแตะ ร่วมกับ ชมรมฅนสร้างฝัน ม.มหาสารคาม ให้นักกิจกรรม คนรุ่นใหม่ และเยาวชน เป็นการสัมมนา แลกเปลี่ยน เรียนรู้ เรื่องราว ความเป็นมาของเพลงเพื่อชีวิต และอบรมเชิงปฏิบัติการการเขียนเพลง การแต่งเพลง การสร้างทำนอง การทำดนตรี บทเพลงเพื่อชีวิต จากผู้รู้ ศิลปินเพื่อชีวิตและศิลปินในท้องถิ่น

ทวีศักดิ์ ประกอบมัย (ป๋อง) แกนนำกลุ่มคนสร้างฝันบอกเราว่า “คือปีที่แล้วเราไปจัดค่ายเพลงที่จังหวัดสกลนครครับ ที่ ๆ จิตร ภูมิศักดิ์ เสียชีวิต ไปกิน ไปนอน และไปแต่งเพลงที่นั่นกัน เพราะจิตรฯ ถือเป็นนักต่อสู้ เคลื่อนไหวทางสังคม และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักิจกรรมรุ่นใหม่ที่จะเจริญรอยตาม เราจึงได้เรียนรู้ปัญหาที่ว่า จริง ๆ แล้วคนรุ่นใหม่ ๆ รู้จักเพลงเพื่อชีวิตค่อนข้างเยอะเหมือนกัน แต่ที่รู้ความหมายและที่มาที่ไป จริง ๆ นั้น มีน้อยเหลือเกิน ปีนี้ก็เลยต่อยอดมาเป็นเรียนรู้เรื่องราวเพลงเพื่อชีวิต และสอนแต่งเพลงให้กับเด็กรุ่นใหม่ ๆ ที่จะก้าวเข้ามาสู่ถนนนักกิจกรรม”

ส่วน มนตรี ชายผา (มาศ) แกนนำจัดค่ายในครั้งนี้ กล่าวว่า “กิจรรมในค่ายครั้งนี้นะครับ เราให้น้อง ๆ แต่งเพลงและเล่าเรื่องราวต่าง ๆ สู่กันฟังเป็นการแลกเปลี่ยนกัน เพลงค่าย กิจกรรมค่ายอาสาฯ มีที่มาที่ไปอย่างไร น้อง ๆ รู้สึกอย่างไรกับการมาค่ายอาสา รวมทั้งคิดอย่างไร กับเพลงที่เรานำมาใช้ในการทำกิจกรรม ซึ่งมันก็มีทั้งเพลงเพื่อชีวิต และเพลงอื่น ๆ อีกมากมาย ล้วนแล้วแต่มีความหมายที่ดีงาม เป็นการให้กำลังใจ ซึ่งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้แต่ง

เพลงที่น้อง ๆ แต่งขึ้นมาในค่ายมีเยอะมาก เราก็ได้ช่วยกันใส่ทำนองให้ หลายเพลงเหมือนกัน ค่ายนี้สำหรับผม ผมว่ามันเป็นการจุดประกายให้น้อง ๆ ที่อยากทำกิจกรรมได้เข้ามาเรียนรู้ มารู้จักเพลงเพื่อชีวิตอย่างลึกซึ้ง แล้วพวกเขาจะเข้าใจเรื่องการต่อสู้ของคนรุ่นก่อน จะได้มีแรงบัลดาลใจในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม”

บทเพลงที่ได้จากสมาชิกค่าย ได้แก่ “คนโบกรถ” ที่บอกเล่าเรื่องราวของเด็กค่ายกับการโบกรถที่เป็นของคู่กันมายาวนาน ซึ่งเขียนจากประสบการณ์โดยตรงของผู้เขียน “เพลงแม่จ๋า” ที่กล่าวถึงหญิงสาวที่มาเรียนไกลบ้าน และหากเรียนจบจะกลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตน

ณัฏฐ์ จุฑาสงฆ์ หรือ “อาจารย์ตู้” นักแต่งเพลงมืออาชีพ ที่ผันตัวเองมาเป็นนักวิชาการและศิลปินท้องถิ่น วิทยากรในค่ายครั้งนี้กล่าวว่า รู้สึกประทับใจค่าย และเด็กๆ กลุ่มนี้ เนื่องจากเป็นการรื้อฟื้นความหลัง มีหลากหลายบทเพลงที่ไม่ได้ยินนานแล้ว อย่าง คนกับควาย หรือเพลงอื่น ๆ ไม่คาดคิดว่าจะได้ยินกับเด็กที่อายุน้อยขนาดนี้ร้องให้ฟัง นอกจากนี้ยังบอกอีกว่า ค่ายนี้ทำให้มองเห็นอะไรในตัวคนรุ่นใหม่อีกหลายมุม

“งานเขียน เป็นการสื่อความหมายอย่างหนี่งที่ออกมาจากความรู้สึก มันเป็นสิ่งที่บอกให้รู้ว่า คน ๆ นั้นรู้สึกอย่างไร หรือคิดอะไรอยู่ ผ่านเรื่องราวที่เขียนออกมา การเขียนเพลงก็เป็นการเล่าเรื่องเช่นเดียวกัน แต่เป็นเรื่องราวที่ สั้น กระชับ ได้ใจความ ภายใต้การเขียนสั้น ๆ หรือมันอาจจะเรียกได้ว่า เป็นเรื่องเล่าที่มีทำนอง ซึ่งจากค่ายเพลงในครั้งนี้ บ่งบอกให้รู้ว่า เด็กยุคนี้ สมัยนี้ ค่อนข้างมีปัญหาเรื่องการเขียนมาก ความจริงแล้ว ถ้ามองให้ลึกลงไป ผมกำลังหมายถึงระบบความคิดที่มีปัญหาด้วย เรารู้ได้อย่างไร คือ เราเขียนเพราะเราต้องการสื่อใช่ไหมครับ แต่ดูเหมือนงานที่เด็ก ๆ เขียนออกมาเขายังไม่รู้ว่าต้องการสื่ออะไร ไม่แปลกที่หลายคนมักจะพูดว่าเด็กสมัยนี้สมาธิสั้น แต่หลายคนก็ทำได้ดี มีความพยายาม ผมเห็นมีหลายเพลงเหมือนกัน ซึ่งเรื่องการเขียนเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน โดยเฉพาะการเขียนเพลงที่ต้องกระชับและได้ใจความ”

วรวุฒิ เทือกชัยภูมิ (อันโต)สมาชิกค่ายคนหนึ่ง กล่าวถึงความรู้สึกที่มาร่วมค่ายว่า “การมาค่ายในครั้งนี้ก็รู้สึกประทับใจครับ สิ่งที่ได้เรียนรู้เป็นการแต่งเพลง การอยู่ร่วมกัน ร้องเพลง กินข้าวด้วยกัน มีโอกาสน้อยมากที่เราจะได้ใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อน ๆ หลายคน หรือทำอะไรพร้อม ๆ กันแบบนี้ในชีวิตประจำวัน แม้คนบอกว่าทำกิจกรรมมันไร้สาระ เรียนดีกว่า ผมว่า เขาคงไม่เคยสัมผัสชีวิตการออกค่ายมากกว่า นอกจากนี้ยังได้รู้ถึงจิตวิญญาณนักแต่งเพลง กว่าเขาจะได้มาเพลงหนึ่งมันยากเย็นแค่ไหน พอมาแต่งเพลงเองถึงได้รู้และเข้าใจความหมายข้อนี้ ว่าเพลงที่เราเขียนมาคนอื่นจะเข้าใจไหม จะว่ายากก็ยาก แต่ผมว่าถ้าเรามีหลักการแต่ง อย่างที่ได้เรียนรู้จากกวิทยากรไป มันก็ไม่ยากนะ สำหรับเพลงที่ผมแต่งก็มีเช้าวันใหม่กับคนโบกรถ ซึ่งมาจากประสบการณ์ตรงของผมเอง เวลาไปทำกิจกรรมต่าง ๆ”

แม่จ๋า (เพลงที่เกิดขึ้นในโครงการ)

ลมหน้าหนาวโชยมา
แม่จ๋า แม่เป็นอย่างไร
ลูกนั้นอยู่แสนไกล
อยากไป ซบไออุ่นรัก

*ยามแดดส่องทอแสง
ตะวันแดงสาดแสงสดใส
เห็นคนแก่คราวแม่ยามใด
หัวใจลูกยังห่วงหา

**เมื่อลูกจบจากการศึกษา
จะหวนคืนกลับมาบ้านไพร
มาพัฒนาบ้านเราก้าวไกล
ให้ทุกคนนั้นมีความสุข

ThaiNGO.org
กุมภาพันธ์ 2552