ปลายปี 2550

ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังยืนอยู่บนยอดเขาตอนหนึ่งของ เทือกเขาภูพาน สายลมพัดโหมแรงตลอด เสมือนมันจะโหมแรงเช่นนี้ชั่วนิจนิรันดร์ กระแสลมที่พัดผ่านช่องเขาที่ชูตระง่านเย้ยและท้าทายโชคชะตา ทำให้เกิดเสียง “หวิว หวู” อย่างประหลาด ฟังเหมือนเสียงคนเป่าขลุ่ยขนาดใหญ่มหึมา ฟังแล้วพาให้ใจสะท้านยิ่ง

“สหายสวรรค์” เฒ่าผู้นำทาง เดินมายืนข้าง ๆ ข้าพเจ้า แล้วชี้ให้ดูที่ราบด้านล่าง ข้าพเจ้ามองตาม

“เวลานั้น ที่ตรงนี้มีการเผาป่า ไฟลามไปทั่ว ควันไฟลอยคลุ้งไปหมด จิตร จึงเขียนว่า ‘เพลิง…ปฏิวัติ แผ่สะพัดโหมฮือเป็นเปลวลุกลาม’” ผู้เฒ่าเอ่ยขึ้นด้วยสำเนียงอีสาน

ใจข้าพเจ้าเต้นแรง ขนลุกชัน เมื่อตระหนักเตือนตัวเองอีกครั้งว่า ข้าพเจ้ากำลังยืนอยู่บน “ภูผาลม” ตรงตำแหน่งเดียวกันเป๊ะ ๆ กับที่ “สหายปรีชา” หรือ “จิตร ภูมิศักดิ์” เคยยืนอยู่ เมื่อย้อนเวลาไปหลายสิบปี และตรงนี้จิตรกำลังยืนเขียนเพลง “ภูพานปฏิวัติ” ขึ้น จากเสียงลมบนภูสูง จากควันไฟ จากบรรยากาศทั้งหมดที่ข้าพเจ้ากำลังสัมผัส

“จิตร เคยบอกว่าถ้าปฏิวัติสำเร็จ เขาจะใช้เพลงภูพานปฏิวัติ เป็นเพลงชาติ” สหายสวรรค์ ผู้เป็น “สหายพิทักษ์” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวต่อ

*สหายพิทักษ์ คือ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ รับหน้าที่ดูแลและให้ความช่วยเหลือกลุ่มปัญญาชน นิสิต นักศึกษา ที่หนีภัยจากเมืองเข้ามาต่อสู้ในป่าเขา ด้วยความเป็นคนเมืองมาอยู่ป่าก็ลำบากมาก พรรคฯ จึงกำหนดให้มีผู้พิทักษ์ประจำให้แต่ละคน

ชาย พรหมวิชัย (สหายสวรรค์) สหายพิทักษ์ของ จิตร ภูมิศักดิ์ (ถ่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550)
เสียชีวิตด้วยโรตไตวาย เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 วัย 80 ปี
Photo by Annop Nipitmetawee

ข้าพเจ้าไปเข้าร่วมกิจกรรมค่าย “เพลงค่ายฯ เพลงชีวิต และ จิตรภูมิศักดิ์” น้อง ๆ กลุ่มผู้จัดได้เชิญสหายสวรรค์มาเป็นวิทยากร เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ข้าพเจ้าก็ได้มีโอกาสไปร่วมด้วย เราจัดค่ายตรงที่ที่ จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกยิงตาย (ปัจจุบันคือ อนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์) แล้วเดินป่าย้อนรอยจิตร ภูมิศักดิ์ ไปยังภูผาลม

ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้อ่านหนังสือ ศิลป์เพื่อชีวิต ศิลป์เพื่อประชาชน เล่มนี้ ตัวเองก็ยังโง่ดักดาน งมโข่ง หลงชูหัวควาย นั่งเกวียน ใส่แว่นตาดำ แจ็คเก็ตยีนต์ แจ็คเก็ตทหาร แล้วเรียกตัวเอง หรือเรียกคนอื่นที่มีลักษณะที่ว่ามานี้ว่าเป็นพวกเพื่อชีวิต โดยเข้าใจว่าเป็นความหมายที่แท้จริง ทั้ง ๆ ที่มันเป็นเพียง Marketing Contents

ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ คงมี ดวงตามืดบอด มีดวงใจแคบคับ แยกไม่ออกระหว่าง “ศิลป์ที่หลอกหากินกับประชาชน” กับ “ศิลป์เพื่อประชาชน” ที่แท้จริง

ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ คงไม่มีวันสำเหนียกได้ว่า “ศิลปิน” ก็เหมือน “นักรบ” และ “ศิลปะ” เป็นเสมือน “หอกอันแหลมคมและโคมไฟอันจ้าสว่าง”

ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ คงไม่มีวันรู้แจ้งเห็นจริงว่า ศิลปิน หรือ นักรบ ของเราหลายคน ได้ใช้หอกและโคมของเขาอย่างผิดพลาด แทนที่เขาจะใช้หอกทิ่มแทงศัตรู และชูโคมไฟนำทางไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า เขากลับใช้หอกนั้นทิ่มตำประชาชนเอง และใช้โคมนั้นส่องนำทางประชาชนไปสู่ห้วงเหวอันล้ำลึก

จิตร ภูมิศักดิ์

“ศิลป์ที่ส่งผลสะท้อนออกไปทำให้ประชาชนหลงละเมอเพ้อฝันกับความเกษมสำราญแบบเอาตัวรอด ชักจูงให้ประชาชนละเลยและลืมสภาพความเป็นจริงในสังคม มอมเมาให้ประชาชนไร้ความสำนึกในฐานะทางสังคม (Social Consciousness) ไม่เป็นสัญลักษณ์อันแสดงถึงการสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ และก็ไม่มีพลังอันยั่วยุให้เกิดการสร้างสรรค์ความเคลื่อนไหวพัฒนาไปสู่สภาพที่ดีกว่าของชีวิต เช่นนี้ย่อมมิใช่ ‘ศิลป์เพื่อประชาชน’ หากเป็น ‘ศิลป์ที่มอมเมาประชาชน’” – จิตร ภูมิศักดิ์ (ทีปกร), 2500

อรรณพ นิพิทเมธาวี
23 มิถุนายน 2563