
ในจักรวาล 25 ปี บนโลก เท่ากับการหมุนรอบตัวเองของดวงอาทิตย์ 365 รอบ ซึ่งเทียบกับอายุ 4.57 พันล้านปีของตัวเองแล้ว 25 ปี ดูจะไม่ค่อยมีความหมาย ถ้าเป็นอายุของหินผา หินอาจจะไม่สะทกสะท้านเพราะอายุมันนั้นก็ยาวนานกว่านี้นัก ถ้าเป็นเวลาของคน ก็อาจจะเกือบๆ ครึ่งชีวิต และถ้าเป็นเวลาของการทำงาน 25 ปี ก็ถือว่ายาวนานมากทีเดียว
“พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ” ที่ตอนนี้กลายเป็น “น้าหมู” ของใครต่อใคร ทั้ง ๆ ไม่ได้เกี่ยวดองกันสักนิด ก็จะมีอายุงานครบ 25 ปี ในปีหน้านี้
แลเหมือนยาวนาน แต่ก็สั้นแป๊บเดียวในความรู้สึกของคนทำ
ตอนแรกนั้น น้าหมูที่ว่าจะทำอะไรรับ 25 ปี สักหน่อย คิดจะจัดคอนเสิร์ตของตัวที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย แต่แล้วก็เปลี่ยนใจ หนีจากคอนเสิร์ตใหญ่กลับไปหาความเรียบง่ายแบบบ้านนอก อันเป็นตัวตนแท้ของตัว ด้วยการทำคอนเสิร์ตเล็กๆ ในไร่ดอกเหงื่อของตัว ที่ปากช่อง โคราช กะคนดูไม่มากแค่ 500 คน กับมีแขกรับเชิญที่เคยร่วมงานกัน อย่าง น้าหงา-สุรชัย จันทิมาธร, น้าหว่อง-มงคล อุทก, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี มีการทำกับข้าว ตำน้ำพริกเลี้ยงให้กินกันไป ขณะที่ตัวเขาเองจะนั่งเล่นเพลงไปเรื่อยๆ แบบอบอุ่น
ส่วนเรื่องออกอัลบั้มใหม่ ในวาระนี้ เขาบอกยังไม่คิด
“อัลบั้มครบ 25 ปี ต้องคิดมากหน่อย ทำอะไรที่มันอยู่ในใจจริงๆ งานที่ออกมาต้องเป็นตัวเราในปีนี้”
เขายังบอกอีกว่าถึงวันนี้ไม่ได้คาดหวังเรื่องงานมาก เพราะรู้ตัวว่าได้ผ่านจุดสูงสุดของชีวิตมาแล้ว เมื่อ 10 กว่าปีก่อน
แต่ก็จะทำต่อไป
ใครจะว่าเพลงเพื่อชีวิตตกตายไปแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้ไม่มีเรื่องให้เขียน ทำให้เพลงไม่มีทางพัฒนาต่อไป ก็ไม่เชื่อ
พงษ์เทพในฐานะที่เป็นศิลปินเพลงเพื่อชีวิต และน่าจะเป็นคนเดียวที่ทำเพลงเพื่อชีวิตให้มีหน้าตาหลากหลายตั้งแต่ร็อค, บลู, รำวง ไปจนถึงจังหวะแปลก ๆ อย่างคาลิปโซ่ เชื่อว่าที่ทางของเพลงแนวนี้ยังมีอีกเยอะ และที่สำคัญเรื่องราวที่จะเขียนก็ยังมีอีกมาก
“ชีวิตคนมันมหัศจรรย์ เรื่องราวมันเยอะ 25 ปีนี่ ผมเขียนแค่คนในประเทศไทยประเทศเดียวยังไม่หมด ยังไม่ได้เขียนชาวไร่ ชาวประมงก็เขียนตังเกเพลงเดียว ตอนนี้ยังมีชาวนารุ่นใหม่ ที่ทำแล้วก็มีหนี้สิน ผมไปเจอลูกชาวนา เขาบอกพ่อผมทำนาเหมือนคนโง่ ยิ่งทำยิ่งจน แต่ก่อนทำนา 3 เดือน อีก 8 เดือนก็เที่ยวทำบุญ ทำข้าวตอก ทำขนมตาล ยิงนกตกปลาไป เดี๋ยวนี้ทำปีนึง 3-4 ครั้ง ก็เป็นทาสอุตสาหกรรม ต้องไปซื้อรถไถ ซื้อปุ๋ย ซื้อยา ก็ยิ่งเป็นหนี้ แล้วจะไปว่าคนเขียนเรื่องหมดแล้ว ใช่ที่ไหน ไม่งั้นก็เขียนเรื่องตัวเองสิ จนมาจากบ้านนอกใช่ไหม”
นี่ไม่ได้พูดเล่น เพราะล่าสุดเขาก็เขียนเรื่องตัวเอง เอาประสบการณ์ทำไร่นาน 10 ปี มาเขียนได้ชิ้นหนึ่ง
…มีที่ดินผืนเล็ก ๆ เรียกว่าไร่ เอาไว้เดินร้องไห้เวลาเหงา ตื่นตี 3 มาถามดาว วันนี้เงาฝนฟ้าไม่มาอีกหรือ สงสารแผ่นดินแห้งเฉาที่เราไถหว่าน เข้าใจเม็ดหินดินดานดังอ่านหนังสือ จะเก็บดินไว้ไม่ให้เปลี่ยนมือ ให้รักร่ำลือเราเป็นเจ้าของไร่…
ในทรรศนะของเขา พงษ์เทพว่าสถานการณ์ในปัจจุบันเหมาะที่สุด ที่เพลงเพื่อชีวิตจะออกมามีบทบาทอีกครั้ง เพราะสังคมมีความแตกแยก ทั้งยังอยู่ในความสับสนและตื้นเขิน เพราะเขาเองก็เป็นศิลปินที่เกิดมาจากผลพวงของสภาวะสังคมแบบนี้เหมือนกัน ในสมัย 14 ตุลา 2519
“ผมว่านักคิดนักเขียนรุ่นใหม่ออกมาเขียนได้แล้ว สังคมมันเละ การเมืองก็เละ จับขั้วด่ากันทุกวัน อายุ 60-70 ยังออกมาด่า แล้วจะให้เด็กมันเคารพ มีมารยาทอ่อนน้อมกันได้ยังไง ก็ผู้ใหญ่มันยังงี้ ขนาดเป็นนอมินี ก็ออกมาประกาศกันหน้าตาเฉย ไม่สะทกสะท้าน ไม่มียางอาย ก็กูจะเป็นนอมินี ก็กูชอบเขา ถึงเขาจะโกงก็ไม่สน เป็นไปได้ไง อีกฝ่ายหนึ่ง ก็ไอ้นั่นมันเลว มันซื้อเสียง แต่ผมดี อ้าว…แล้วมึงรู้ได้ไง ก็ต้องอยู่ในวงการนั้นมา ไม่งั้นจะรู้หรือ”
ถ้าจะว่าเพราะสังคมซับซ้อน ทำให้การพูดถึงอะไรอย่างหนึ่งมันยากขึ้นนั้น พงษ์เทพเห็นว่าไม่จริงเลย และสังคมก็ไม่ได้ซับซ้อนด้วย เพียงแต่คนรู้จริงมีน้อยลง คนที่สนใจศึกษาสถานการณ์แบบนี้น้อยลง
“ผมจะรู้เรื่อง 14 ตุลาได้ยังไง ถ้าไม่เข้าไปอยู่ในม็อบ แต่เดี๋ยวนี้มีม็อบ เด็กรุ่นใหม่ก็ไม่ไป ต้องเรียกพวกแก่ ๆ อย่างพงษ์เทพ, สุรชัย, ยืนยง (ยืนยง โอภากุล-แอ๊ด คาราบาว) ไป มีแต่คนแก่ แต่เวลาไปเล่นดนตรีในบาร์มันเล่นเพลงเรา พอจะทำเพลงเอง ก็ไม่ออกไปศึกษาข้างนอก หนังสือก็ไม่อ่าน แล้วก็ไม่รู้ว่าโลกเขาเป็นยังไง”
สภาพการณ์ก็เลยเป็นเช่นนี้ไง
สำหรับเขาเรื่องการเมืองนั้น พงษ์เทพว่าแก้ไม่ได้แน่ ๆ ถ้านักการเมืองยังไม่มีจิตสำนึก ไม่มีจรรยาบรรณ ฉะนั้นจะใช้รัฐธรรมนูญกี่ฉบับ ก็คงแก้ไม่ได้-นี่คนซึ่งเห็นรัฐธรรมนูญมาแล้ว 18 ฉบับ และแต่ละฉบับล้วนมีความพยายามจะให้นักการเมืองมีจรรยาบรรณบอก
“เลือกตั้งไปก็เป็นเดอะ ลาสต์ ซับเปอร์ ของนักการเมือง มันก็ต้องมากินกันอยู่ดี”
แล้วอะไรจะดีขึ้น?
พงษ์เทพบอกด้วยว่า จริง ๆ แล้วเขารู้สึกช้ำใจเสียด้วยซ้ำ ที่ตอนนี้พรรคพวกที่เคยเข้าป่าด้วยกันส่วนหนึ่งดันไปอยู่กับแกนนำขวาจัด ที่เคยเป็นสาเหตุให้พวกเขาต้องถูกไล่ยิงไปอยู่เข้าป่า ซึ่งคิดแล้วมันน่าหดหู่
แล้วจะมีใครไหมในช่วงเวลานี้?
“ต้องเข้าใจว่าคนรุ่นผมถึงจุดหนึ่งแล้ว” เขาออกตัว เมื่อเราถามว่าเขาจะอาสาเข้าไปทำงานเพื่อตอบโจทย์สังคมตอนนี้ไหม
“จุดหนึ่ง” ที่ว่าก็คือ เขาไม่สามารถทำงานที่กระทบกับสังคมได้เท่าสมัยก่อน ด้วยวัยและความอ่อนล้าในชีวิต ดังจะเห็นได้ว่างานเพลงยุคหลัง ๆ ของเขาจะเกี่ยวกับต้นไม้ใบหญ้าเสียเยอะ
“อ่านหนังสือของพี่ปุ๊ รงค์ วงษ์สวรรค์ สิ ตอนนี้แกก็เขียนเรื่องที่แกจำได้ เพราะแกจะเดินไปไหนล่ะ แก่แล้ว มันเป็นซากความคิดที่เหลืออยู่ อีกไม่นานก็ตาย ผมก็เหมือนกัน อีกไม่นานก็เหนื่อยล้า แล้วตาย”
พงษ์เทพเปรียบว่าถ้าเขาเป็นม้า ก็อาจจะเป็นพ่อพันธุ์ชั้นเลิศ การแพร่พันธุ์ของเขาก็คือผลงานเพลง เพียงแต่ตอนนี้เขาก็วิ่งมายาวนาน จนเล็บฉีกเสียแล้ว
“ต้องมีม้ารุ่นใหม่ เป็นลูกพันธุ์ที่ดี แต่มันไม่เห็นมาซักที พ่อพันธุ์ก็ผสมพันธุ์จนจะตายอยู่แล้ว จะหมดสภาพแล้ว จะให้ผมไปเดินลุยป่าเหมือนสมัยก่อนยังไง”
ทุกวันนี้ที่เขาทำได้ จึงเป็นเพียงการมีความสุขที่ได้ร้องเพลงของตัวเอง และเจอแฟนเพลงที่ให้ความชื่นชม ซึ่งก็ถือเป็นบำเหน็จในฐานะศิลปินที่ทำงานอย่างหนักหน่วงมา 25 ปี และใกล้จะถึงเวลาพักผ่อนเต็มที่
แน่นอนว่า ระหว่างนี้เขาก็ยังเฝ้ารอ เพื่อเห็นม้าหนุ่มออกมาทำหน้าที่ในสังคมนี้ต่อไป
นสพ. มติชน รายวัน
3 ธันวาคม 2550
ขอแสดงความยินดีกับ 25 ปี น้าหมูด้วยคนนะครับ ผมชื่นชอบและติดตามงานเพลงของน้าหมูมาโดยตลอด ผมเชื่อว่าน้าหมูยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่น้าหมูจะเนรมิตขึ้นมาให้เป็นเพลงและทำนองที่ทำให้ทุกคนต้องชื่นชอบและหลงใหล เพลงเพื่อชีวิตไม่มีวันตาย เพราะตราบใดในโลกยังคงมีสิ่งมีชีวิต ตราบนั้นก็จะมีเพลงเพื่อชีวิตตลอดไป
หนึ่งใน ปริมาณบำเหน็จ ให้น้าหมูครับ