บนเวทีปราศรัยของการชุมนุมประท้วงทางการเมืองนั้น กิจกรรมของผู้เข้าร่วมการชุมนุม นอกจากการปราศรัย การแสดงละครเสียดสี การโต้ตอบถ้อยสงสัยแบบย้อนแย้งวาทกรรม การใช้วาทศิลป์ปลุกเร้า การกล่าวสุนทรพจน์ ฯลฯ ดังนี้แล้ว การร้องเพลง การเล่นเพลงประท้วง ย่อมคือ กุญแจสำคัญที่จะนำให้การประท้วงนั้นไปสู่ความสำเร็จได้
การชุมนุมโดยสันติ อหิงสา ย่อมต้องมีเพลงประท้วงเกิดขึ้น เพื่อการต่อสู้ที่ยึดเยื้อ ยาวนาน เพลงประท้วงจะทำให้ฝูงชนมีพลัง ศักยภาพของเพลงประท้วงนั้นจะไม่เกินเลยไป ถ้าจะกล่าวว่า เปรียบเสมือนการท่องมนต์โดยผู้ชุมนุม เป็นสมาธิพลังจุดศักยภาพจิตวิญญาณให้กล้าแกร่ง และเป็นอีกแนวทางแห่งศิลปะ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จต่อการประท้วงในกรณีนั้น ๆ เสมอมา ไม่มีการประท้วงใดที่ได้รับชัยชนะโดยปราศจากเพลงประท้วง
ในประวัติศาสตร์ มีเพลงประท้วงมากมาย เรามาย้อนกงล้อประวัติศาสตร์ ดูและฟังเพลงประท้วงของโลกร่วมกัน โดยเพลงประท้วงในยุคที่เฟื่องฟูที่สุดนั้น ก็มีมาเนิ่นนานนับแต่ยุค 60s เป็นต้นมาแล้ว นั่นคือโลกสองฝ่ายในยุคสงครามเย็น ในโลกและประเทศเสรีประชาธิปไตย ในยุโรป อเมริกา และกลุ่มประเทศละตินอเมริกามีเพลงประท้วงเป็นตำนานมากมาย แต่ที่เด่นๆ ก็เห็นจะเป็นช่วงสงครามเวียดนามในยุคนั้น ที่เพลงประท้วงรุ่งเรืองถึงขีดสุด
เพลงประท้วงย่อมมีนับหมื่นนับพัน ในหลายประเทศ หลายร้อยศิลปิน เป็นเพลงหลากหลายแนว และต่างมีประวัติศาสตร์ ในบริบทที่เกี่ยวข้องที่จะนำมาเล่าทั้งหมดก็จะไม่รู้จบ
เรามาฟังเพลงประท้วงกันสัก 6 เพลง ที่ถือว่าคลาสสิกในยุคนั้น ตราบจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ประวัติศาสตร์ก็ยังคงจารึกไว้ ไม่ลืมเพลงเหล่านี้เลย เรามาเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อเทียบเคียงกับปัจจุบันอันจะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต
1. แซม คุก (Sam Cooke) – A Change is Gonna Come (1963)
เพลงประท้วงเพลงนี้ ถ้าจะพิจารณากันถึงที่สุดโดยตัวเพลง มันก็จะปรากฎรากเหง้า เริ่มมาตั้งแต่ยุคทาสผิวสี และการเลิกทาสในยุคของลินคอล์น แต่ครั้งกระโน้นเลยทีเดียว การร้องเพลงประท้วงสมัยนั้น ก็เพียงเพื่อพร่ำหาเสรีภาพสิทธิเท่าเทียมในภราดรภาพพื้นฐาน ร้องเพื่อต่อต้านลัทธิเหยียดผิว ที่มีมาตั้งแต่นั้น เป็นการเรียกร้องให้มีการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างปกติสุข ไม่แบ่งแยกสีผิว แยกเชื้อชาติ หรือชั้นวรรณะ ยังไม่ถึงการร้องเพื่อเรียกหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอื่นใดไม่
บ็อบ ดิแลน (Bob Dylan) ได้ชื่อว่าเป็นผู้อำนวยการเพลงประท้วงเสาหลักของปากเสียง นับแต่เขาได้รังสรรค์เพลงอมตะ Blowin’ in the Wind ในยุค 60s เป็นต้นมา เพลงนี้เป็นต้นแบบคลาสสิกยิ่งใหญ่ของบทเพลงแนวนี้ แซม คุก (Sam Cooke) คือศิลปินอีกผู้หนึ่งที่สานภารกิจนี้ต่อ โดยจิตวิญญาณของผู้บุกเบิกในนามราชันแห่งเพลงโซล ซึ่งทำได้ซึ้งกินใจและทรงพลังในศิลปะยิ่ง
2. บ็อบ ดิแลน (Bob Dylan) – The Times They are a Changing (1964)
ในปี 1985 ดีแลน ให้สัมภาษณ์นิตยสารโรลลิงสโตน เกี่ยวกับเพลงประท้วงนี้ว่า “เพลงนี้ ก็แน่นอนนะ มันเป็นเพลงที่มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะเขียนขึ้นเพื่อให้ภาพที่กว้างใหญ่ ผ่านอุปลักษณ์และถ้อยความ/คำที่กระชับสั้น ๆ โดยตั้งใจให้มันซ้อนทับอยู่กับเรื่องราวของจิตสำนึกรวมหมู่ ของการเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนผ่านดนตรีโฟล์ก ผมตั้งใจให้มีศักยภาพ พอ ๆ กับเพลง Blowin’ in the Wind”
เพลงนี้คือ เพลงที่ผู้นำต่อการเรียกร้องประชาธิปไตย ต้องการให้มีความเปลี่ยนแปลง แต่ทว่า… ไม่มีคำถามและคำตอบ เชิงปรัชญา ว่า “จะต้องมีคนอีกสักกี่คนที่จักต้องตาย เพื่อความหมายของความเป็นมนุษย์ผู้เท่าเทียม”
3. CCR (Creedence Clearwater Revival) – Fortunate Son (1969)
ยุคสงครามเวียดนาม เป็นยุคของ บีต เจเนอเรชัน สภาพสังคมโลก กรุ่นไปด้วยไอสงครามเย็น เป็นยุคบุปผาชนเบ่งบาน การประท้วงของเหล่าบรรดาศิลปิน และเหล่าฮิปปี้มีทุกวัน เกิดขึ้นเกือบทุกมุมเมือง “ลูกชายผู้โชคดี” (ที่สภาซีเนตอเมริกัน ในสมัยสงครามเวียดนาม ออกบังคับกฎหมายว่าต้องไปรบ) CCR เขียนเพลงนี้ประท้วงในทำนองว่าลูกหลานอเมริกันของผู้ถูกเกณฑ์ไปรบล้มตายนับหมื่น สงครามนี้เป็นสงครามส่วนตัวของพวกเศรษฐี ผู้ลากมากดี และนักการเมืองผู้มั่งคั่งได้ลุแก่อำนาจ พากันตรากฎหมายใช้ให้คนหนุ่มไปตายแทนในสงครามของพวกเขา และพวกเขาต่างประท้วงย้อนแย้งว่า ทำไมไม่ส่งลูกชายของผู้คนในสภาออกไปรบบ้างเล่า
พวกเขาต่างตายแทนลูกของพวกคุณ เพื่อให้ครอบครัวและลูก ๆ ของคุณได้อยู่ดีมีสุข พวกเขาอีลิตชนเหล่านี้ มีสิทธิ์เหนือประชาชี โดยคนในครอบครัวของตนไม่ต้องไปตายในสงคราม นี่ยุติธรรมหรือ?
4. จิล สก็อต เฮอรอน (Gil Scott Heron) – The Revolution Will Not Be Televised (1970)
การปิดหูปิดตาประชาชนนั้นมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย จิล สก็อต เฮอรอน (Gil Scott Heron) เคยร้องเพลงแรปเสียดสี เหน็บแนมนักการเมืองได้อย่างเจ็บปวดก่อนจะจากไป ข่าวการประท้วง วิถีการปฏิวัติปฏิรูปประเทศ และอะไรต่อมิอะไรที่จะแฉโพย ความไม่ชอบมาพากลของผู้มีอำนาจรัฐ ย่อมถูกปิดกั้น สื่อต่าง ๆ ไม่ถ่ายทอด ยุคนั้นเป็นยุคนิกสัน นัยว่า สื่อก็มีเสรีภาพดีอยู่ แต่ก็ถูกปิดกั้นด้วยอำนาจฉ้อฉลอะไรบางอย่าง เป็นไปได้ และเป็นเรื่องปกติธรรมดามาแต่อดีตแล้ว
5. ครอสบี สติลส์ แนช แอนด์ ยัง (Crosby Stills Nash & Young) – Ohio (1970)
Ohio เขียนโดย นีล ยัง (Neil Young) นักเพลงแนวพิโรธวาทังจอมประท้วงตัวพ่อ เขาใช้ศิลปะจากเสียงเพลงต่อต้านสงคราม และเรียกร้องสิทธิมนุษยชนมาทุกยุค ตลอดชีวิตการเป็นศิลปิน เขาแต่งเพลงนี้เพื่อประท้วงรัฐบาลที่สั่งกองกำลังทหารเข้าควบคุมการเคลื่อนไหวประท้วงของบรรดากลุ่มนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยเคนท์ สเตท ที่ชุมนุมต่อต้านสงครามเวียดนามขณะนั้น อันนำไปสู่เหตุการณ์การสังหารโหดกลุ่มนักศึกษาผู้ประท้วงจำนวนหนึ่ง เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 1970
บทเพลงอันทรงพลังนี้ ชี้ให้ชาวอเมริกันทุกคนได้ตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการประท้วงเพื่อยุติสงคราม เมื่อพลังของปัญญาชนได้ร่วมลุกฮือขึ้น เพื่อชี้นำสังคม อำนาจแห่งทรราชจักเสื่อมถอย มิหาญกำลังแข็งขืนยั่งยืนอีกต่อไปได้ นี่คือ สัจธรรมของประวัติศาสตร์ที่มีปรากฏทุกยุคทุกสมัย Ohio คือ เพลงประท้วงที่ยอมรับกันว่าเป็นประวัติศาสตร์ และเกียรติยศสูงส่งของวง CSNY
6. บ็อบ มาเลย์ (Bob Marley) – Get Up, Stand Up (1973)
แม้ราชันแห่งเรกเก้จะได้ชื่อว่า เป็นศาสดาแห่งลัทธิราสตาฟาเรียน (ที่นิยมการเสพกัญชาเป็นชีวิตจิตใจ) ต่ออารมณ์ศิลปินผู้เคลิ้มฝันมากสุนทรียะ แต่อีกด้านหนึ่งของความเป็นศิลปิน ไอดอลเสรีชนที่มีสาวกเดินตามแนวทางมากมาย เขาคือศิลปินตัวพ่อแห่งการประท้วง ต่อการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพที่ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่ง ของประวัติศาสตร์ดนตรีประท้วงทางการเมือและสิทธิมนุษยชน
“We’re sick and tired of your ism and skism game
Die and go to heaven in Jesus’ name, Lord
We know when we understand
Almighty God is a living man
You can fool some people sometimes
But you can’t fool all the people all the time
So now we see the light
We gonna stand up for our right”
เพลงนี้มีท่อนแยกที่ได้ต่อยอดความคิดและขยายถ้อยวาทะอมตะวาทะ ลินคอล์น แบบแตกแขนงต่อยอดออกไปจากวาทะอมตะเดิมที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้วนั้นออกไปอีกว่า “คุณสามารถหลอกคนบางคน ในบางครั้ง แต่คุณไม่สามารถหลอกทุกคนได้ตลอดเวลา ดังนั้น ตอนนี้เราได้เห็นแสงแจ้งบรรลุแล้ว เราจะพร้อมกันลุกขึ้นยืนเพื่อประท้วงเพื่อทวงสิทธิของเรา”
แทร็กนี้ มาในทำนองธีมเดียวกับเพลงประท้วง Ohio ในด้านอารมณ์และความรู้สึกของผู้ถูกกระทำ
ประมวล ดาระดาษ