บินหลากู้เสรี
คำร้อง : วิสา คัญทัพ
ทำนอง : กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ (ดัดแปลงจากเพลงพื้นบ้านมุสลิม)

บินหลา บินหลา บินลอยมาเล่นลม
ชื่นชมธรรมชาติ อันพิลาศสะอาดตา
ต้นยางยืนทนง อวดทรวดทรงมิยอมให้ข่ม
ต้านทานแรงลม ไม่เคยพรั่นภัยพาล

บินหลา บินหลา บินลอยลาไปแห่งใด
โพยภัยทุรชาติ มาพิฆาตเลือดสาดแดง
หมู่โจรครองเมือง เรืองอำนาจพิฆาตเธอสิ้น
หมู่มารใจทมิฬ กินเลือดเรามวลประชา

บินหลา บินหลา บินคืนมากู้เสรี
แผ่นพื้นปฐพี ไม่ยอมให้ใครครอบครอง
บินหลา บินหลา ชาวใต้มาร่วมพลัง
ด้วยใจมุ่งหวัง อธิปไตยของไทยกลับคืน

จับปืนยืนทนง สู้อาจองมิยอมให้ข่ม
บินหลาเริงลมสู่สังคมอุดมการณ์

บินหลากู้เสรี เป็นอีกบทเพลงที่เกิดขึ้น “ในป่า” ซึ่งหมายถึงบทเพลงต่าง ๆ แต่งขึ้นเพื่อรับใช้การต่อสู้ให้กับ กองทัพปลดแอกประชาชน โดยเพลงส่วนใหญ่เกิดในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีนักศึกษาปัญญาชนหนีภัยการเมือง “เข้าป่า” ไปร่วมกับ พรรคคอมมิวนิตส์แห่งประเทศไทย

โดยเพลงบินหลากู้เสรี กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ (จิ้น กรรมาชน) แต่งทำนองขึ้น จากเค้าโครงทำนองเพลงพื้นบ้านมุสลิม ที่เขาได้ยินจากชาวบ้านทางปักษ์ใต้เมื่อครั้งที่เขาและวงกรรมาชน ยกวงไปแสดงให้กำลังใจการต่อสู้ กรณีปราบปรามผู้นำชาวมุสลิมที่จังหวัดปัตตานี เมื่อประมาณต้นปี 2519 ก่อนเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม ไม่นาน ก่อนการจัดตั้งหน่วยศิลป์

จิ้น ได้มีโอกาสพบกับ วิสา คัญทัพ นักกลอนเจ้าของวรรคทอง “…เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ทั้งสองจึงได้มีโอกาสร่วมกันแต่งเพลงเป็นครั้งแรก โดยจิ้น นำทำนองที่เขียนขึ้นให้ วิสา คัญทัพ ใส่เนื้อร้อง

นิตยา บุญประสิทธิ์ (นิด กรรมาชน) ผู้ขับร้องเพลงนี้ได้เล่าใฟ้ฟังว่า “เพลงบินหลานี่ ก็เกิดขึ้นช่วงเดียวกันกับ 7 สิงหาสู้บนทางปืน ช่วงนั้นเราว่างมาก ว่างจากการที่รอคอยเพื่อน ๆ นักดนตรีจากทุกสาระทิศมารวมกัน ใช้เวลากว่า 2 ปี กว่าจะรวมเป็นวงใหญ่ได้ ก็มีคุณวิสา คุณจิ้น กรรมาชน ร่วมแต่งเพลงบินหลานี้ขึ้นมา ซึ่งเป็นทำนองเพลงของปักษ์ใต้ ชื่อว่าเพลง เอนด๋ง”

ในช่วงนั้น จิระนันท์ พิตรปรีชา (สหายใบไม้) ได้เขียนบทความเผยแพร่ โดยใช้นามปากกา“บินหลา นาตรัง (บินหลา เป็นภาษาปักษ์ใต้ แปลว่า นกกางเขนในภาษากลาง) วิสา คัญทัพ ชอบคำ ๆ นี้ เพราะได้คุยกับจิระนันท์ที่ได้อรรถาธิบายถึงเหตุผลที่เธอใช้นามปากกาว่า บินหลา นาตรัง ว่า “นกบินหลา เป็นนกป่า มันต้องอยู่อย่างเสรี ถ้าเอามันมาเลี้ยงไว้ในกรงมันจะตาย…” 

วิสา คัญทัพ จึงใส่เนื้อร้อง จนเกิดเป็นเพลงบินหลากู้เสรี และได้ถูกบันทึกเสียง เผยแพร่ทางวิทยุคลื่นสั้น โดยในครั้งนั้น นิตยา บุญประสิทธิ์ (สหายน้อง) ภรรยาของ กิตติพงษ์ บุญประสิทธิ์ (ตี้ กรรมาชน หรือ สหายแดง) เป็นผู้ขับร้อง จิ้นเป็นคนเป่าขลุ่ย, วิสา คัญทัพ เล่นกีตาร์, ตี้ เป็นคนร้องเสียงประสาน และอดิศร เพียงเกศ (สหายศร) เป็นมือเบส นับเป็นเพลงฮิตอีกเพลงหนึ่งของคนป่าในยุคนั้น…

ขณะเดียวกันในเมือง… วง แฮมเมอร์ วงดนตรีโฟลค์ซองได้ยินเพลงนี้ออกอากาศทางวิทยุ สถานีเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ก็รู้สึกชอบจึงได้ก็อปปี้ทำนองเพลงและดัดแปลงเนื้อร้อง ตั้งชื่อเพลงใหม่ว่า บินหลา แล้วนำมาบันทึกเสียงและขับร้องจนสร้างชื่อเสียงโด่งดัง แต่ไม่ได้อ้างถึงผู้แต่งจริงในปกเทป เนื่องจากไม่มีข้อมูล ไม่รู้ว่าใครเป็นคนแต่ง จึงใส่ชื่อตัวเองลงไปแทน จนในภายหลังก็มีคดีฟ้องร้องกัน

นอกจากเพลงบินหลาสู้เสรีแล้ว วงแฮมเมอร์ก็ยังมีการนำเพลง ความแค้นของแม่ เพลงในป่าอีกเพลงของ สุรชัย จันทิมาธร (หงา คาราวาน หรือ สหายพันตา) เอามาดัดแปลงเนื้อร้องและบันทึกเทปในชื่อเพลง แม่ อีกด้วย

บินหลากู้เสรี เวอร์ชั่นบันทึกเสียงและเผยแพร่ทางวิทยุ สปท.
บินหลากู้เสรี – แสดงสด