หากจะถามหนุ่มสาววัยรุ่นนักฟังเพลงสักหนึ่งร้อยรายในกรุงเทพมหานครนี้ว่า คุณรู้จักเพลง “คนกับควาย” ไหม ก็อาจจะมีใครสักคนหนึ่งตอบว่า “เอ่อ หนูคิดว่าแฟนของหนูที่อยู่ธรรมศาสตร์เขาเคยพูดถึงเหมือนกันแหละค่ะ” หรือมิฉะนั้นก็อาจจะเป็นว่า “คุณคิดว่าผมเชยหรือ ผมก็เล่นกีต้าร์เป็นเหมือนกันนะ” แต่ถ้าจะถามกันต่อไปอีกว่า “คุณรู้ไหมว่าใครเป็นคนเล่นเพลงนี้” เด็กนักเรียนมัธยมก็จะแย่งกันตอบว่า “ก็คาราวานซีพี่… แต่หนูชอบวงกรรมาชนมากกว่านะ เล่นมันส์กว่าตั้งแยะ” แล้วนักศึกษามหาวิทยาลัยในชุดเสื้อม่อฮ่อมกางเกงยีนจะตอบด้วยน้ำเสียงอันมั่นใจว่า “พวกเขาเป็นนักปฏิวัติ ปฏิวัติด้วยเสียงเพลงไงล่ะ” แล้วในทันทีนั้นเองนักศึกษาอีกสองสามคนที่นั่งอยู่ใกล้ๆ จะตะโกนขัดขึ้นมาทันทีว่า “ผมไม่เห็นว่าพวกมันจะวิเศษตรงไหนเลย ความจริงเพลงก็เพราะดี แต่พวกนักดนตรีกลับทำตัวยะโส น่าหมั่นไส้ชะมัด”

เสนีย์ มงคล คนหนึ่งของวง “คาราวาน” ผ่านมาทางสำนักงานประชาธิปไตย วิรัช แสงรัตนมณี นักข่าวของเราจึงเดินเข้าไปทักทาย

วิรัช: “คุณเสนีย์ครับ เพื่อนๆ ผมเขาถามว่าเดี๋ยวนี้ทำไมพวกคุณถึงทำตัวแบบชนิดไม่ติดดิน”

เสนีย์: “เดี๋ยวก่อนครับ ตีนไม่ติดดินหมายความว่ายังไง ผมก็เห็นพวกผม เขาใส่รองเท้าเดินกันไปตามหมู่บ้านเปื้อนดินเปื้อนฝุ่นทุกที”

วิรัช: “คืออย่างนี้ครับ คือพวกเขาว่าพวกคุณทำตัวลึกลับ หยิ่งและไม่ยอมทำตัวเหมือนกับคนอื่นๆ”

เสนีย์: “ที่คุณพูดนี่หมายถึงคนในกรุงเทพฯ ใช่ไหม”

วิรัช: “ใช่ เขาว่าพวกคุณไปถึงเวทีก็ไม่ยอมพูด แสดงเสร็จก็กลับ ไม่ยอมสังสรรค์กับประชาชน”

เสนีย์: “ประชาชนไม่ใช่คนในกรุงเทพฯ นะ ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในชนบท”

วิรัช: “ถูกครับ”

เสนีย์: “นั่นซี เราจึงไม่แคร์คนในกรุงเทพฯ เพราะคนในกรุงเทพฯ เบื่อง่าย ชอบเร็ว เบื่อเร็ว และต้องการของใหม่อยู่เสมอ เราจึงมุ่งออกไปชนบท เพื่อเล่นดนตรีให้ประชาชนจริงฟังกัน”

วิรัช: “ผมเข้าใจในข้อนี้ แต่ที่เป็นปัญหาก็คือว่า คนที่เขามีความนิยมเพลงของคุณนั้นนะ เขามีความรู้สึกเฮิร์ทครับ”

เสนีย์: “ผมไม่เข้าใจ ก็มันเป็นเรื่องส่วนตัวของผม และเป็นความผิดของคนจัดรายการที่บางทีเอาชื่อเราไปขึ้นป้ายไว้ ทั้งที่ยังไม่ได้มาบอกให้เรารู้ว่าจะให้ไปเล่น”

วิรัช: “ครับ แต่ที่ผมว่าคนเขาเฮิร์ท ก็เพราะเขาคิดว่าเขาอยากจะรู้จักพวกคุณบ้าง เขาอยากจะรู้ว่าอะไรทำให้คุณแต่งเพลงต่างๆ เหล่านั้นออกมา เหมือนกับว่า อะไรบันดาลใจให้นักเขียนเขียนหนังสือเล่มนั้นๆ ออกมา”

เสนีย์: “ผมไม่เข้าใจว่าเขาอยากจะรู้ไปทำไม ในเมื่อเรารู้สึกว่าเราไม่พอใจในสภาพสังคมเมือง และหลายคนในหมู่ของเราก็ทนอากาศในเมืองหลวงไม่ได้ รวมทั้งเราต้องการชี้ให้เห็นภาพของชนบทที่แท้จริงที่น่าสงสาร ความเดือดร้อนของชาวนา ความไม่เสมอภาคของสังคมที่ขาดความยุติธรรม”

วิรัช: “นั่นแหละครับที่เรียกว่า สิ่งบันดาลใจ”

เสนีย์: “แต่เราไม่มีเวลาจะอธิบายให้ใครฟังได้ คุณอย่าลืมว่าประชาชนไทยมีถึง 40 ล้านคน จะให้เราไปอธิบายให้ฟังทีละคนได้ยังไง เราไปเล่นที่ไหน เราก็โบกรถไป เล่นเสร็จก็โบกรถกลับไปนอนที่ไร่โคราช ถ้าใครอยากรู้จักเราจริงๆ ก็เชิญเลยครับ ไปกินนอนกับเราได้ตามสบายจะได้รู้ว่าเราใช้ชีวิตอย่างไร”

วิรัช: “เอาละครับ เป็นอันว่าคุณแคร์คนในชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่มากกว่าคนในกรุงเทพฯ ซึ่งผมก็เห็นด้วย แต่ผมคิดว่าการโฆษณาตัวเองในกรุงเทพฯ จะทำให้เกิดผลมากกว่า”

เสนีย์: “เปล่าเลยครับ เราไม่ได้คิดว่าเราต้องการจะดังอย่างวงอิมพอสสิเบิล เพราะเราไม่ได้เล่นดนตรีเพื่อหาเงิน เราเล่นเพื่อต้องการจะสร้างดนตรีที่เป็นของเราเอง และเพื่อแนวทางในการปฏิวัติสังคมให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น”

วิรัช: “แต่ทำไมเพลงของคุณในระยะหลังๆ นี้จึงเข้าใจยากผิดกับสมัยแรกๆ อย่างเช่นเพลงเปิปข้าว ซึ่งฟังแล้วก็เข้าใจได้ทันที”

เสนีย์: “ที่คุณว่ายากนั่นเพลงไหนครับ”

วิรัช: “มีหลายเพลง อย่างเช่นเพลงนกแสงตะวัน เป็นต้น”

เสนีย์: “ผมไม่เห็นจะยากตรงไหน ก็เป็นเรื่องที่กระต่ายกับเต้าแข่งขันกัน แล้วนกแสงตะวันก็มาถามว่าทำไมต้องแข่งขันกัน เราต้องการให้ประชาชนรู้สึกว่าทำไมชีวิตทุกวันนี้ต้องแข่งขันช่วงชิงกัน ทำไมเต่าจึงไม่ปลุกกระต่ายที่นอนหลับแล้วเดินไปด้วยกัน”

วิรัช: “นั่นแหละครับ ที่คนฟังเขาไม่เข้าใจ”

เสนีย์: “คุณกำลังพูดถึงคนฟังในกรุงเทพฯ ใช่ไหม”

วิรัช: “ผมกำลังพูดถึงคนฟังทั่วประเทศครับ ทำไมคุณจึงต้องไปตั้งคำถามกับเขา จะบอกเขาตรงๆ เลยไม่ได้หรือ”

เสนีย์: “ก็ให้เขาคิดเองบ้างซีครับ คุณคิดว่าคุณฉลาดคนเดียวเท่านั้นหรือ”

วิรัช: “มิใช่เช่นนั้นครับ คือผมยึดในหลักของทรอสตอยที่ว่า ศิลป์ ควรมี 3 ลักษณะ คือ มีสุนทรีย์ หรือความงาม มีความง่าย และเป็นศิลปเพื่อชีวิต แต่ทำไมคุณต้องไปตั้งคำถามกับผู้ฟังด้วยเล่าครับ สู้ให้เขาเข้าใจง่ายๆ จะได้มีคนเข้าใจมากๆ ไม่ดีกว่าหรือ”

เสนีย์: “เวลาเราแต่งเพลงนะครับ มันต้องมีอารมณ์ จะให้เราแต่งเพลงเอาใจคนอื่น เราทำไม่ได้หรอกครับ ขอให้เราเป็นตัวของเราเองบ้าง และผมคิดว่าสักวันหนึ่งคนเขาคงเข้าใจเราดี”

วิรัช: “ครับ คนที่พูดอย่างนี้ที่ตายไปแล้วก็มีมากนะครับ แล้วคุณคิดว่าคุณจะเลิกเร่ร่อนร้องเพลงกันเมื่อไหร่เล่าครับ”

เสนีย์: “ผมไม่เข้าใจครับ”

วิรัช: “ผมหมายความว่าการกระทำใดๆ ย่อมมีจุดมุ่งหมาย และจุดมุ่งหมายของพวกคุณก็คือการปฏิวัติสังคมมิใช่หรือ ถ้าคุณไม่รู้ว่าคุณจะหยุดเมื่อไร ก็แสดงว่าคุณก็ไม่รู้เหมือนกันว่า สังคมของเราจะปฏิวัติให้มีความยุติธรรมได้เมื่อไร”

เสนีย์: “เราตอบไม่ได้หรอกครับ ประชาชนพร้อมเมื่อไรเขาก็คงปฏิวัติกัน เรามีหน้าที่แต่เพียงสร้างดนตรีเพื่อที่จะกล่อมเขา ทำให้เขาหายเหน็ดเหนื่อย เราใช้เสียงเพลงพูดแทนเขา ในสิ่งที่เขาอยากพูด”

วิรัช: “แล้วพวกคุณรู้ได้อย่างไรเล่าครับว่า ขณะที่พวกคุณเดินทางเข้าไปแสดงให้เขาฟังตามหมู่บ้านต่างๆ ชาวบ้านเขามีความเข้าใจในเพลงของคุณ”

เสนีย์: “เราคิดว่าเขาเข้าใจ จากการที่เขาให้การต้อนรับเข้ามาลูบหน้าลูบหลัง และนั่งล้อมวงเวลาที่เราบรรเลง ถ้าใครไม่ชอบเขาก็คงลุกหนีไป แต่นี่เขานั่งฟังกันอย่างสงบและดูเขาไม่สนใจเลยว่า เราจะแต่งตัวอย่างไร หรือเป็นใครมาจากไหน แรกๆ เขาก็ขำพวกเราเหมือนกัน แต่นานเข้าก็คุ้นกัน”

วิรัช: “คุณไม่คิดบ้างหรือครับว่า การแต่งตัวของคุณเป็นลักษณะที่ลอกเลียนแบบมาจากทางตะวันตกและคุณต่อต้านกรอบระเบียบของสังคม ดูมันไม่ขัดกันเองหรือ”

เสนีย์: “ดนตรีเป็นของสากลครับ”

วิรัช: “ผมทราบครับว่าพวกคุณพยายามสร้างเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่ทำไมจึงไม่เดินออกมาหาประชาชนบ้าง คนเขาจึงคิดว่าคุณหมกมุ่นอยู่กับงานของตัวเอง เหมือนพวกศิลปินทั่วไปที่สร้างงานขึ้นมาชิ้นหนึ่งแล้วชวนเพื่อนๆ มาชื่นชม ทำไมเล่าครับ จึงจะต้องปฏิเสธคนในเมืองหลวง ในเมื่อคนที่เขาสามารถเข้าใจพวกคุณก็มีอยู่ไม่น้อย และจะไม่เป็นการดีกว่าหรือ ถ้าจะให้โอกาสพวกเขารู้จักคุณบ้าง”

เสนีย์: “คุณจะให้ทำอย่างไรเล่าครับ โฆษณาตัวเองในหน้าหนังสือพิมพ์หรือ ขอให้เรามีชีวิตของเราเองเถิดครับ และนี่ก็เพิ่งอัดแผ่นเสียงได้แผ่นแรก กว่าจะเสร็จออกมาได้ก็เข็นใจน่าดู และเราก็เชื่อว่า แผ่นเสียงนี้คงเป็นตัวแทนของเราสำหรับคนที่พอจะมีสตางค์ซื้อเอาไปฟังได้”

วิรัช: “ผมอยากให้เพลงของคุณ สอดแทรกเข้าไปในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ชอบนิยมแต่เพลงฝรั่งบ้าง เพราะผมเชื่อว่าเขารับได้”

เสนีย์: “ก็ดีครับ”

วิรัช: “ครับ นี่ก็เป็นแค่เพียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเท่านั้นนะครับ”

เสนีย์: “ครับ ว่าแต่คุณจะช่วยซื้อแผ่นเสียงของผมมั๊ย”

วิรัช: “ไม่หละครับ ผมไม่มีเครื่องเล่น ขอโทษที”

เสนีย์: “ครับ งั้นก็ขอบคุณมาก แต่ความจริงผมไม่อยากให้พวกเราเป็นข่าวเลย เราต้องการทำตัวเงียบๆ มากกว่า”

ว่าแล้วเขาก็สวมหมวกเดินจากไป

วิรัช แสงรัตนมณี
นสพ.ประชาธิปไตย (หน้า 6 ฉบับที่ 393 ปีที่ 12 วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2518)

เปล่า…ไม่ได้อ่านข่าวคุณเสนีย์จะฟอร์มคณะรัฐมนตรียังไง แต่ “คาราวาน” กำลังสนใจจดหมายจากผู้อ่านผ่านประชาธิปไตยมาถึงคาราวาน ได้ข่าวว่าไซซีไนท์คลับ กำลังทาบทามให้ไปเล่นที่นั่น เด็กผมยาวที่ตีกันเป็นงานประจำ เรียนหนังสือเป็นงานอดิเรก หารายได้ด้วยวิธีนี้ดีกว่าเป็นเครื่องมือคนอื่นตั้งเยอะ