ที่มาของ “เพลงเพื่อชีวิต” ของไทยในยุคแรกเราไม่สามารถแยกได้ว่า กระบวนการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมและความคิดนั้นว่ารับจากที่ใดได้โดยตรง นอกจากจะกล่าวว่านักคิด นักเขียน หรือผู้ฟังจะรับมาจากสภาพสังคมที่ล้อมรอบพวกเขา การผสมผสานแนวคิดและรูปแบบซึ่งเป็นหน้าที่หลักของศิลปินที่จะสร้างสรรค์ และเสนอเป็นความรื่นรมย์ที่สอดแทรกความคิดให้กับคนในสังคม
พัฒนาการของบทเพลงเพื่อชีวิต น่าจะมีจุดเริ่มต้นมาจากแนวความคิดเรื่องศิลปะกับการต่อสู้ของจีน การต่อต้านสังคมของสหรัฐอเมริกา จากสำนึกที่ว่า “เพลงสามารถเป็นเครื่องมือในการรวมพลัง และการเปลี่ยนแนวความคิดของคนในสังคมได้” ดังนั้นแนวคิดนี้ ได้มีบทบาทต่อการเกิดบทเพลงเพื่อชีวิตของนักศึกษาปัญญาชน ในยุคของไทยที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น พัฒนาการของเพลงเพื่อชีวิตจึงน่าจะแบ่งเป็น 3 ช่วงได้แก่
- ยุคกระแสตะวันตก (ปลายปี 2516 – ต้นปี 2517) บทบาทของ บ็อบ ดีแลน (Bob Dylan), โจแอน เบซ (Joan Baez) และกลุ่มศิลปินที่ร้องประท้วงของอเมริกา นับว่ามีอิทธิพลสูงสุดต่อแนวเพลงเพื่อชีวิตของนักศึกษาปัญญาชน
จากลักษณะเพลงโฟล์คหรือเพลงพื้นบ้านอเมริกัน เครื่องดนตรีกีตาร์โปร่งซึ่งหาง่ายและสะดวกในการนำติดตัวไปแสดงในที่ต่าง ๆ ด้วยบรรยากาศและท่าทางของฮิปปี้ (Hippie) โดยการแต่งกายใส่กางเกงยีนส์ ถือย่าม ใส่รองเท้ายาง ผมยาว อันเป็นสัญลักษณ์ของปัญญาชนในยุคนั้น ซึ่งเลียนแบบวัฒนธรรมของอเมริกาและใช้เพลงของตะวันตกนั่นเอง
ผลงานเพลงเพื่อชีวิตในช่วงแรกเป็นเพลงที่กล่าวถึงปัญหาความทุกข์ยากของชาวนา กรรมกร สภาพความแห้งแล้งในภาคอีสาน ความไม่เป็นธรรมในสังคม ลักษณะเนื้อเพลงยังไม่รุนแรงให้ลุกขึ้นจับปืนสู้ หรือเข้าป่าท้าทายอำนาจรัฐ
. - ยุคแสวงหาตนเอง (ปลายปี 2517 – 2518) ครั้นประมาณเดือนตุลาคม 2517 งานพระราชทานเพลิงศพวีรชนมีการเฉลิมฉลอง ได้ปรากฎวงดนตรีขึ้นมาร่วมแสดงหลายวงอันได้แก่ วงกรรมาชน, วงไดอะเลคติค, วงกงล้อ ฯลฯ จึงนับว่าเป็นช่วงแรกของยุคเริ่มต้นวงดนตรีเพื่อชีวิตที่เป็นจริงเป็นจัง มีทั้งการแต่งเพลงเองและการนำเพลงของ จิตร ภูมิศักดิ์ มาเล่นใหม่ เป็นการเริ่มยุคของการปลุกเร้าอุดมการณ์ตามแนวศิลปะเพื่อชีวิตช่วงนี้สถานการณ์ทางการเมืองขณะนั้น มีการอภิปรายโจมตีรัฐบาลและความขัดแย้งจาการออกเผยแพร่ประชาธิปไตย
รูปแบบของวงดนตรีที่เล่นแบบโฟล์คของฅาราวานไม่เหมาะกับการชุมนุมประท้วง คนเป็นจำนวนหมื่น ๆ ที่สนามหลวงหรือที่สนามฟุตบอลต่อไปแล้วพัฒนาการของวงดนตรีเครื่องดนตรีได้กลายเป็นประเภทร็อคบ้าง สตริงบ้าง มีการแต่งเพลงปลุกเร้าหรือนำเพลงปลุกใจประเภทเพลงมาร์ชของ จิตร ภูมิศักดิ์ ออกมาแสดง โดยเฉพาะ วงกรรมาชน ของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นแกนนำในการประท้วง มีนักดนตรีมากที่สุดในกลุ่มวงดนตรีเพื่อชีวิตเมื่อสถานการณ์การประท้วงมีขบวนการนักศึกษาเป็นผู้นำชาวนาและกรรมกร ซึ่งมีความกดดันมาจากการคุกคามของพวกกระทิงแดง อันเป็นกลุ่มจัดตั้งของขบวนการฝ่ายขวา
ขบวนการนักศึกษาพยายามจัดองค์กรแห่งการปฏิวัติ มีการเตรียมการ การประชุมแบ่งแยกงานโดยเฉพาะหน่วยศิลปวัฒนธรรมให้เป็นองค์กรหนึ่งในการดำเนินนโยบายเผยแพร่ความคิดอุดมการณ์ มีการอบรมสัมมนาในหมู่นักศึกษาปัญญาชนตามที่ต่าง ๆ
ขณะนั้นการปะทะกันระหว่างฝ่ายประเพณีนิยม กับฝ่ายนักศึกษาทั้งกองกำลังและแนวความคิด โดยเฉพาะชัยชนะของ คอมมิวนิสต์ในอินโดจีนในต้นปี 2518 ยิ่งทำให้เกิดการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายรัฐ ที่กลัวภัยจากขบวนการคอมมิวนิสต์ที่แฝงมาในรูปของขบวนการนักศึกษา ปี 2518 นี้จึงเป็นปีแห่งความขัดแย้งยุ่งยาก
จนถึงเดือนสิงหาคม 2518 กลุ่มกระทิงแดงบุกเผาธรรมศาสตร์ ภาพพจน์นักศึกษาเสียหาย จึงมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วงดนตรีเพื่อชีวิตอันเป็นปีกหนึ่งของงานวัฒนธรรม จึงต้องปรับแนวความคิดและรูปแบบของวง ท่วงทำนอง จังหวะ เป็นแบบอนุรักษ์นิยมแนวทางใหม่ตามสถานการณ์ แต่เนื้อเพลงก็ยังคงใส่รูปแบบแนวความคิดอุดมการณ์แบบเดิมสถานการณ์ในปีนี้รุนแรงมากถึงขั้นที่นักศึกษาคิดว่าการเมืองในระบอบการปกครองที่เป็นอยู่นี้ คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลง แก้ไขปัญหาได้ จึงคิดว่าวิธีการเดียวที่จะต่อสู้กับอำนาจรัฐได้คือวิธีการรุนแรงโต้ตอบ ดังจะดูได้จากแนวคิดในหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ และการประกาศการต่อสู้ด้วยอาวุธทางสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย อันเป็นกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
. - ยุคฟื้นฟูวัฒนธรรม (ปลายปี 2518 – 2519) จากเหตุการณ์กลุ่มกระทิงแดงเผามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขบวนการนักศึกษาได้มีการปรับตัวจัดองค์กรใหม่ ผลจากการเลือกตั้งนายกสโมสรหรือนายกองค์กรมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งมีการเตรียมแผนการของขบวนการนักศึกษาให้เป็นกลุ่มคนที่มีความคิดแนวเดียวกันนั้น ทำให้งานของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ และขบวนการนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีการจัดองค์กรได้กระชับมากขึ้น ตั้งแต่ปลายปี 2518-2519 โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้กล่าวมาแล้วว่ามีการปรับเปลี่ยนแปลงรูปแบบและแนวคิดที่รุนแรงเกินไป หันกลับมาเรียกร้องความสนใจหาแนวร่วมด้วยวิธีการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย โดยจัดงานประเพณีต่าง ๆ เพื่อให้เป็นที่พอใจของนักศึกษา คณาจารย์และประชาชนท่าทีของนักศึกษาดีขึ้นด้วยการแต่งกายสุภาพ
มีการจัดงานธรรมศาสตร์สามัคคี งานปีใหม่ งานลอยกระทง เป็นการพยายามลดความกดดันทางการเมืองขณะนั้นด้วยการปรับภาพลักษณ์ให้มีแนวทางอิงประเพณีนิยมมากขึ้นในเดือนตุลาคม 2518 มีการเชิญภาครัฐบาลร่วมจัดงานรำลึกวีรชน
จะเห็นได้ว่าการปรับเปลี่ยนวิธีการนี้ได้มีการเตรียมพร้อมของนักศึกษา ในการจัดองค์กร ตั้งแต่ต้นปี 2518 ทำให้บรรยากาศทางการเมืองระหว่างนักศึกษาธรรมศาสตร์กับภายนอกดูดีขึ้น แต่การทำงานของขบวนการนักศึกษาหรือศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ได้ดำเนินการต่อต้านและประท้วงเรื่องเอกราชประชาธิปไตยและขับไล่ฐานทัพ
รวมทั้งท่าทีว่างเฉยต่อสถานการณ์ระหว่างการต่อสู้ไทยกับลาว เป็นการสะท้อนให้เห็นว่านักศึกษามีแนวใน้มความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมตามแนวลัทธิของเหมาดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ในเวลาเดียวกันก็ปรับองค์กรให้ดูอ่อนลง เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ที่ขบวนการนักศึกษาถูกโจมตีว่าเป็นคอมมิวนิสต์
ดังนั้น ขบวนการนักศึกษาจึงปรับทิศทางของศิลปวัฒนธรรม และท่าทีของขบวนการนักศึกษาให้ดูอ่อนลง ด้วยหวังว่าจะดึงมวลชนให้สนับสนุนขบวนการนักศึกษาอยู่ต่อไปได้
คุณค่าและเป้าหมายของเพลงเพื่อชีวิต
การส่งเสริมวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงาม เช่น การแต่งเพลงรำวง การใช้เพลงพื้นบ้านประเภทต่าง ๆ เช่น ลำตัด ซึ่งมีชุมนุมวรรณศิลป์เป็นแกน การเกิดวงดนตรีลูกทุ่ง เช่น วงลูกทุ่งสัจจธรรม ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง วงดนตรีไทยเดิมที่มีลีลาแนวความคิดใหม่แต่ใช้ท่วงทำนองเพลงไทยเดิมที่พยายามคัดทำนองที่สนุกสนานเร้าใจออกมาแสดง ได้แก่ วงต้นกล้า วงแคนอีสาน ที่เป็นการแสดงในรูปของหมอลำ วงคุรุชน วงของนักศึกษาวิทยาลัยครู การปรับเปลี่ยนของวงดนตรีเหล่านี้ ได้นำเอาเครื่องดนตรีพื้นบ้าน เช่น แคน ไห พิณ กระดึง หรือ เครื่องดนตรีที่ให้จังหวะของพื้นบ้านมาประกอบ ทำให้บรรยากาศของการประท้วงเป็นแบบไทย ๆ เป็นที่พอใจของทั้งกรรมกร ชาวนา และนักศึกษาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ว่าพัฒนาการของเพลงในช่วงนี้ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบจังหวะ ทำนอง แต่แนวความคิดหรือเนื้อเพลงยังคงเรียกร้องปลุกใจให้เกิดการต่อสู้เพื่อเอกราชอธิปไตยและทำลายล้างจักรวรรดินิยมเช่นเดิม
ในส่วนวงดนตรีประเภทสตริงหรือเพลงมาร์ชก็ยังคงอยู่ เพราะมีการประท้วงมากมาย เพลงของ จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งแสดงโดย วงกรรมาชน ได้รับความนิยมมาก กล่าวได้ว่าฝ่ายวัฒนธรรมเป็นแกนสำคัญที่นำคนมาอยู่ร่วมกันในการประท้วง และมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมกับขบวนการนักศึกษาได้ดี เพราะบทเพลงที่แต่งมีทั้งระลึกถึงผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้และบทเพลงก็เป็นการปลุกเร้าอารมณ์ให้ฮึกเหิม ต้องการชัยชนะจากการถูกทำร้ายหรือจากการโจมตี บางเพลงก็ให้ความหวังไปสู่สังคมใหม่ หรือเข้าป่าจับอาวุธเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
จากคำบอกเล่าของนักศึกษาบางคนที่อยู่ในขบวนการนั้น มีความประทับใจในส่วนวัฒนธรรมมาก บางครั้งเพียงแต่อยากไปเที่ยวงานเพื่อดูนิทรรศการหรือดูบรรยกาศ แต่พอได้ชมการแสดงดนตรี ดูรีวิวประกอบเพลงหรือการแสดงละครของฝ่ายวัฒนธรรมที่ปลุกใจให้คนรู้จักการเสียสละ มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนั้น ละครจะเสนอถึงความทุกข์ยากของกรรมกรชาวนาก็ทำให้ผู้ชมประทับใจกับบทละครเหล่านั้นจนกลายเป็นแนวร่วม เป็นพลังเงียบและเป็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมขบวนการไปได้ในที่สุด
ทั้งบทเพลงและบทละครจึงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสังคม ที่เกิดการพัฒนาการและสะท้อนแนวคิดของคนในสังคมได้ผลดี งานด้านศิลปะจึงมีคุณค่าต่อการศึกษาพัฒนาการและแนวคิด ซึ่งจะกล่าวในบทต่อไป
ลักษณะดนตรีของเพลงเพื่อชีวิต
เมื่อศึกษาเนื้อเพลงกับสังคมในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานนี้แล้วจะพบว่า มีพัฒนาการของเนื้อเพลงและท่วงทำนองที่พัฒนาไปตามความรุนแรงของเหตุการณ์ทางการเมือง และจะมีแนวเพลงที่มีท่วงทำนองที่เหมาะสมกับเนื้อร้อง ลักษณะของลีลาวงและลักษณะแนวดนตรีดังจะแบ่งโดยสังเขปเป็นกลุ่มดังนี้
- แบบที่ 1 มีลักษณะทำนองแบบเพลงโฟล์คตะวันตกที่นำเอาทำนองมาใส่เนื้อร้องเป็นภาษาไทย ใช้เครื่องดนตรีง่าย ๆ เช่น กีตาร์โปร่ง ไวโอลิน บางครั้งก็ใช้เครื่องดนตรี เช่น ซอ ผสม เช่น วงคาราวาน
- แบบที่ 2 มีลักษณะทำนองแบบเพลงพื้นบ้านภาคอีสาน เพลงรำวง เพลงไทยเดิม เช่น เต่ากินผักบุ้ง, เซิ้งอีสาน หรือทำนองเพลงลูกทุ่ง เช่นงานของ วงต้นกล้า ลูกทุ่งสัจจธรรม
- แบบที่ 3 มีลักษณะทำนองและจังหวะปลุกเร้าอารมณ์ ช่วงแรกหลังจากยุคโฟล์คซองจะเป็นเพลงประเภทอันเดอร์กราวด์ ใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้า ต่อมาเปลี่ยนเป็นวงประเภทสตริงแนวมาร์ช เช่น วงกรรมาชน วงโคมฉาย
- แบบที่ 4 มีลักษณะทำนองเพลงเศร้า ใช้จังหวะเพลงสากลทั่วไป เช่น เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา เป็นต้น
บางเพลงก็นำเอาดนตรีจากเพลงสากลมาเขียนคำร้องภาษาไทยใส่ลงไป เช่นเพลงของ วงพลังเพลง ซึ่งนับได้ว่าเป็นการได้รับอิทธิพลทั้งเนื้อหาและรูปแบบทีเดียว
เพลงเพื่อชีวิตของนักศึกษาจึงมีเรื่องที่น่าสนใจทั้งในแง่เนื้อเพลง ท่วงทำนองการปลุกเร้าและวิธีในการเสนอบทเพลงให้สอดคล้องกับการทำงานของขบวนการนักศึกษาในฝ่ายอื่น ๆ เพื่อปลุกระดมมวลชนให้รวมพลังกันต่อสู้กับอำนาจรัฐ