วงนางนวล

ค่ายฯ หนึ่งทางภาคเหนือ…เมื่อหลายปีมาแล้ว ในระหว่างที่พวกเรากำลังนั่งผ่อนคลายรอบกองไฟ หลังจากการสรุปงานประจำวัน ผมก็ยังรับบทบาทเดิมก็คือ มือกีตาร์ รุ่นน้องผมคนหนึ่งเดินมานั่งข้างๆ พร้อมวางหนังสือเพลงค่ายฯ แบบทำมือ (ถ่ายเอกสาร) ฉบับเก่าโคตรๆ ตรงหน้าผม… จุดเทียนเล่มเล็กๆ เพื่อให้แสง ไม่พอ…แม่คุณยังมีไฟฉายประจำตัวส่องมาที่เนื้อเพลงอีก

“พี่นก… ขอเพลงนี้….” เธอชี้นิ้วลงไปที่เนื้อเพลงๆ หนึ่ง – “เธอวันนี้”

ผมได้ยินเพลง เธอวันนี้ ครั้งแรกจากเพื่อนร่วมค่ายฯ เมื่อนานมาแล้ว ถามเพื่อนมันก็ไม่รู้ว่าเพลงของใคร ใครแต่ง รู้ก็แต่ว่าเพลงนี้ฮิตสุดๆ ร้องกันแทบทุกค่ายฯ ทุกๆ กลุ่มกิจกรรม จนได้มีโอกาสรู้กับ “พี่นริศ มณีขาว” บ้านเซเวียร์ ในงานสัมมนาแห่งหนึ่ง ถึงได้รู้ว่าเพลง เธอวันนี้ เป็นเพลงของ “วงนางนวล”เพราะว่า….พี่นริศก็คือ 1 ในสมาชิกวงนางนวลนี่เอง!

เมื่อมีโอกาสทำ “อัลบั้มเพลงค่ายฯ” จากเพลงกว่า 300-400 เพลง เพลง เธอวันนี้ ถูกเลือกมาสู่ลิสต์รายชื่อเพลงเป็นลำดับแรกๆ เพราะความนิยมของมัน ความง่ายติดหูของมัน ที่สำคัญเนื้อหาและความหมายของมัน

เธอคือมวลพลังผู้กล้าและแกร่ง เธอร้อนแรงดุจแสงตะวัน
เธอคือแสงแห่งความสุขสันต์ เธอร่าเริงและเบิกบาน

หมั่นเพียรเรียนเพื่อสร้างหนทางชีวี เธอสุขศรีไม่มีทุกข์ตรม
อยากมีอนาคตสดใสรื่นรมย์ เธอหวังเพียงเท่านั้นฤา

มองดูรอบกาย (มองดูรอบกาย) มองดูสังคม (มองดูสังคม)
เธอสุขอยู่ได้อย่างไร เมื่อผองชนทุกข์ยากลำเค็ญ

จงเป็นดังดวงดาวที่พราวสว่าง นำหนทางเพื่อมวลชน
เธอคือประกายไฟที่โหมกระหน่ำ ลามลุกไหม้ความทุกข์ทน

Download เนื้อเพลง คอร์ด Guitar – Click*

และนี่คือเรื่องราว…. ของ “เธอวันนี้” จากมากคำของ “เจ้าของ” งานเพลงค่ายฯ ที่เรียกได้ว่า “คลาสสิค” เพลงหนึ่งทีเดียว

อรรณพ นิพิทเมธาวี : พี่ ๆ เป็นนิสิตสถาบันเดียวกันรึเปล่า

นันทวัน รุจิวงศ์ : เป็น! ….เราเรียนที่ มศว. ประสานมิตร แต่เรียนคนละคณะกัน พี่หมู (แนน) นันทวัน รุจิวงศ์ เรียนศึกษาศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ / นริศ มณีขาว เป็นรุ่นน้องคณะเดียวกัน แต่คนละเอก (เอกดนตรี) / พี่นิคม ทรงเดชาไกรวุฒิ มนุษยศาสตร์

อรรณพ นิพิทเมธาวี : รู้จักกันได้อย่างไร? ออกค่ายอาสาฯ รึเปล่า?

นริศ มณีขาว : มันอยู่ในแวดวงของกิจกรรมมั้ง อยู่สโมสรนักศึกษา สมัยนั้นสโมสรยังไม่อนุญาตให้ออกค่ายอาสา ตอนนั้น 2521 ผมเข้ามาเราก็เริ่มเล่นแล้วใช่ไหมครับตอนนั้นอยู่ปี 1 พี่หมูอยู่ปี 3 ปี 2522 ได้แต่เพลงเธอวันนี้

นันทวัน รุจิวงศ์ : คือต่างคนก็ต่างทำกิจกรรม เดินไปเดินมาในสโมสรนักศึกษา ก็รู้จักกันแล้วคงจะมีพี่ผู้หญิงคนหนึ่งมาแนะนำให้พวกเราได้รู้จักกัน

อรรณพ นิพิทเมธาวี : มาเล่นดนตรีได้ไง

นิคม ทรงเดชาไกรวุฒิ : ตอนนั้นฟอร์มวงขึ้นมาก็ใช้ชื่อ ‘นางนวล’ เลย ตอนนั้นมีเพลงๆ หนึ่งชื่อนางนวลมันเป็นชื่อเพลงของวงอะไรซักอย่าง พลังเพลง หรือ ประกายดาวนี่แหละ…. เป็นที่มาของความคิดตรงนี้

นันทวัน รุจิวงศ์ : จำไม่ได้ว่าคนอื่นเข้ามาได้อย่างไร แต่สำหนับแนน หลัง 6 ตค. สมัยนั้นนักศึกษาจะลงไปอยู่ใต้ดิน แนนไปอยู่ร่วมกับวง รู้สึกจะพลังเพลงหรืออะไรจำไม่ได้ เราก็ไปขลุกตัวกับเขาก่อน แต่วงนี้ทำเพลงเฉยๆ ไม่เปิดตัว เพราะยังเปิดตัวไม่ได้ พอมาอยู่เอกภาษาอังกฤษที่ประสานมิตร ก็มีคนมาชวนให้เล่นมาชวนให้เราทำเลง

อรรณพ นิพิทเมธาวี : อะไรทำให้มารวมตัวกัน แรงบัลดาลใจ

นิคม ทรงเดชาไกรวุฒิ : มีอยู่สิ่งหนึ่งคือเราต้องทำกิจกรรม แต่เรายังขาดวงดนตรีเพื่อชีวิต เพราะที่ มศว. ประสานมิตร ยังไม่มีวงดนตรีแนวนี้ จะมีเป็นเพลงที่เล่นกันแบบที่อื่นสมัยนั้นเราเรียกว่า น้ำเน่า อย่าง โฮเตลแคลิฟอเนียร์ แฟนฉัน แล้วพอเรามีกิจกรรมเพื่อสังคมอะไรซักอย่าง แต่มันไม่มีวงเล่นเลย ก็มี ปุ๊ย นักเคลื่อนไหวกับ น้อย เคยทำงานกิจกรรมเคลื่อนไหวมาก่อน คือเป็นกลุ่มเพื่อนๆ กัน คือ หมู (แนน) ก็มาจากพลังเพลงมีเชื้อมา แล้วได้คุณปุ๊ยกับคุณน้อยคอยประสานงานให้เชิญคนนั้นมา คนนี้มา และเล่นครั้งแรกเล่นขึ้นเวทีเลยไม่ได้อัดเทป เป็นกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย ผมจำได้ว่าคนที่ชื่อน้อย ภูมิใจมากที่มีเพลงเพื่อชีวิตครั้งแรกในมหาวิทยาลัย ในสมัยนั้นยังเล่นเพลงเลียนแบบวงพลังเพลงกันก่อน ยังไม่มีเพลงของตนเอง เล่นได้ดีมาก น่าจะไปได้ดี

อรรณพ นิพิทเมธาวี : สถานการณ์สมัยนั้นเป็นอย่างไร

นันทวัน รุจิวงศ์ : สมัยนั้นมีเทปออกมาในยุคนั้นนะ แต่ว่าไม่ระบุชื่อว่าใครเป็นคนทำ คือมีเทปออกมาแต่ไม่ระบุว่าใครเป็นคนทำมาจากไหน แหล่งทำเนี่ยมีพี่คนหนึ่งที่อยู่จุฬา ก็คือเจ้าของโฮม โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษที่อยู่ราชดำเนิน ที่บ้านเขาเนี่ยจะมีเครื่องเล่นเทปเป็นสิบเครื่องอัดได้เป็นสิบๆ ม้วน แต่ตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่า พลังเพลง คือใคร แต่พอมาถึงรุ่นเรามันอ่อนลงแล้ว ส่วนใหญ่ที่เล่นจะเป็นเพลงที่เบาๆ เราไม่ได้เล่นไปเพื่อประท้วงใคร เป็นอะไรเพื่อนักศึกษาเองมากกว่า

นริศ มณีขาว : คิดว่ามีกระแสอยู่ มีคนที่ชอบเล่นเพลงแรงๆ แต่ว่าก็ไม่ได้มีมาก เพราะนักศึกษายังถูกจำกัดอยุ่ ทุกครั้งที่มีการประชุมก็จะมีอาจารย์ที่ปรึกษาเข้าร่วมด้วยทุกครั้ง จนมีตัวแทนนักศึกษาบางคนออกมาประท้วงว่าอย่างนี้ไม่เอาแล้วไม่ประชุมดีกว่า ไม่ทำแล้วกิจกรรม เราก็เหมือนกันทำอะไรไม่ได้ ตอนปี 1 ผมเป็นตัวแทนชั้นปี คงมีคนรู้จักผมเลยชวนผมมา วันนั้นมีคนเล่นกีต้าร์ พี่นิคมมั้ง แล้วพี่หมู (แนน) ร้อง บังเอิญว่ากลุ่มเพื่อนๆ ผมก็เล่นดนตรีอยู่ซึ่งเป็นเพลงแนวเดียวกัน เดิมทีตอนมัธยมผมก็เล่นอยู่แล้ว อย่าง ‘คาราวาน’ เพลงคนภูเขา นกสีเหลือง และที่บ้านก็เล่นสติงด้วย พอตอนมาเจอพี่หมู (แนน) ก็เลยได้เล่นให้ฟังพี่เค้าก็ชอบ ในแง่แรงบัลดาลใจคือ ในสมัยนี้คงต้องบอกว่ามันใช่น่ะ มันเป็นสิ่งที่ชอบ มันใช่น่ะ สิ่งที่เราอยากทำ เป็นเพลงที่มีประโยชน์ เพลงเพื่อกิจกรรม มีประโยชน์ก็คือมันไม่แรงไป เพราะด้วยเพราะถ้าแรงไปเราก็เสียวๆ เหมือนกัน สมัยนั้นมีการตีหัวกันด้วย ครั้งหนึ่งเราถูกเชิญไปมหาสารคาม ดีที่วงเราไม่ได้ไป วงที่ไปถูกฟาดซะน่วมเลย โดนทำร้ายบนเวที มีวงฟ้าสาง วงเกี่ยวดาว

นิคม ทรงเดชาไกรวุฒิ : ตอนนั้นเราวิ่งรอบแสดงเหมือนกันนะ เรามี 18 สถาบัน วิ่งรอบเล่นแต่ต่างจังหวัดไม่ค่อยป มีไกลสุดก็เป็นชลบุรี มีการเชื่อมกันไป พื้นฐานผมชอบเพลงแรงๆ คาราวาน แนวดนตรีแบบโฟล์ค ป๊อบไอแลนด์ โฟล์ครอค คันทรี แต่ทางนางนวลชอบเล่นแบบพลังเพลงเบาๆ เป็นส่วนใหญ่ แต่ตอนหลังมารวมกันได้ไง

นันทวัน รุจิวงศ์ : คือตอนนั้นมีศูนย์นักศึกษา คือมีสมาชิกอยู่ทุกมหาวิทยาลัย เวลามีกิจกรรมในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็จะมีผู้ประสานงานกันมา ว่ามีงานมาไปเล่นที่นั่นที่โน่นไหม

นริศ มณีขาว : มศว. ประสานมิตร ตอนแรกมี 2 วง คือ นางนวล กับ ระวี ตอนนั้นเรามองว่าทาง วงระวี ท่าทางจะไม่รุ่ง เพราะเขาไม่ค่อยมีแบ็คอัพ เรามีแบ็คอัพเยอะ เรามีงานมวลชนดีกว่า

นันทวัน รุจิวงศ์ : บางทีงานมันอาจลึกไป คนไม่ค่อยฟังเพราะประสานมิตรเองยังเป็นมหาวิทยาลัยที่ธรรมดา ยังแต่งตัวสวยมาเรียน ยังสนุกสนานไม่เหมือนธรรมศาสตร์ หรือรามคำแหง ถ้าให้เขาฟัง คาราวาน เขาคงเครียด

อรรณพ นิพิทเมธาวี : มีอัลบั้มไหม

นริศ มณีขาว : มีครับ 3-4 ปีกว่าจะมีอัลบั้ม ตอนนั้น พี่หมู (แนน) จบแล้ว ชื่ออัลบั้ม เธอวันนี้ เป็นอครูสติก …สรุปนิดนึง วงตั้งขึ้นมาจากการเจอกัน ครั้งแรกมีงานพอดีก็มีการเปิดตัว แรกๆ มีผลตอบรับดีมาก ค่อยๆ มีพัฒนาการขึ้นมา มันเป็นความยากลำบากในแต่ละทีนะ ส่วนมากเราก็จะมานั่งรอ เราเสียสละเยอะนะ เราก็สงสัยว่าจุดยืนอยู่ตรงไหน ระเบียบวินัย

วงนางนวล ปี 2550 (นันทวัน รุจิวงศ์ , นิคม ทรงเดชาไกรวุฒิ , นริศ มณีขาว)

อรรณพ นิพิทเมธาวี : เพลง ‘เธอวันนี้’ มายังไง

นริศ มณีขาว : เบื้องหลังตอนนั้น น่าจะมาจากพี่หมูไปฝึกสอนที่ชนบท

นันทวัน รุจิวงศ์ : ถ้าเราร่วมจะทำอะไรขึ้นมาแล้ว เรามีวันนี้ที่จะต้องพยายามทำอะไรให้มันดีที่สุด เพื่อให้คนหันมามองว่า แทนที่จะเรียนไปวันๆ หนึ่งแล้ว ก็จบไปทำงานมีความสุขเพื่อตัวเราเอง แทนที่จะปล่อยเวลาการเรียนให้หมดไปวันๆ ด้วยการเรียนจบแล้วไปเล่นบาส น่าจะมาทำประโยชน์มากกว่านี้

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ใครเป็นคนเขียนเนื้อ

นันทวัน รุจิวงศ์ : เขียนเป็นกลอนมาก่อน แล้วมาช่วยกันแกะแต่งทำนอง

นิคม ทรงเดชาไกรวุฒิ : เป็นทำนองที่ผมประทับใจตอนเด็กๆ เพลงนี้มาจากท่วงทำนองจีนเพลงหนึ่ง เพราะมากเมื่อสมัย 40 ปีก่อนแต่พอโตขึ้นมาไม่เคยได้ยินมันอีกเลย ก็เลยมาเสนอในวงว่าทำนองนี้เพราะดีนะ มาเป่าเม้าท์ ให้เพื่อนๆ ฟัง แล้วหมู (แนน) ก็เอาท่วงทำนองนี้ไปใส่เนื้อ สังเกตว่ามันลงตัวพอดี ปรับนิดหน่อย คงทำนองเดิมไว้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะเวลาใส่เนื้อเข้าไปแล้วมันมีบางช่วงที่ต้องปรับเนื้อ และดนตรีให้เข้ากัน ช่วยๆ กัน

อรรณพ นิพิทเมธาวี : พี่รู้สึกอย่างไร.. ที่วันนี้เพลง ‘เธอวันนี้’ ได้กลายมาเป็นเพลงประจำของพวกกลุ่มค่ายอาสาฯ กันไปแล้ว

นันทวัน รุจิวงศ์ : เหรอ ไม่รู้เลย

นิคม ทรงเดชาไกรวุฒิ : มีอยู่งานหนึ่ง รวมเยาวชนระดับชาติไว้เลยนะ ราวเกือบๆ 2,000 คน เด็กๆ สามารถร้องเพลงเธอวันนี้ได้เกือบหมดทุกคน เด็กปกากะญอก็ร้องสำเนียงปกากะญอ

นันทวัน รุจิวงศ์ : แล้วใครทำให้เด็กๆ ร้องเพลงเหล่านั้นได้

นริศ มณีขาว : ผมเองพี่ คือผมทำงานเกี่ยวกับเยาวชน เริ่มตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแล้ว ทุกค่ายที่ผมจัดต้องมีเพลงนี้ และพอใครขอเอาไปใช้ผมก็อัดให้ แจกจ่ายกันไปเรื่อยๆ เขา ก็ร้องกันต่อเรื่อยๆ คนเหล่านี้ก็กลายเป็นผู้นำก็ได้รับการเผยแพร่ หรือย่างชาวคริสต์ หรือคาทอลิกก็เอาไปร้องๆ กัน

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ทำไมต้องเธอวันนี้

นันทวัน รุจิวงศ์ : อันนี้พยายามที่จะเอาตัว เอาความสนใจ ความคิดของเราไปผูกพันกับความเป็นจริงข้างนอก ไม่ใช่ว่า แค่เรียน ทำกิจกรรม เล่นกีฬาในโรงเรียน มีชมรมภาษาอังกฤษก็ทำละครภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้น “เธอ…วันนี้” ไม่ใช่แค่เรียนเก่งได้เกรดดีอย่างเดียว

นริศ มณีขาว : คือ เธอวันนี้ ทำให้ผมคิดถึงเรื่องนี้ ไม่รู้ว่าใครจะคิดเหมือนผมรึเปล่า ตอนที่เคยไปวัดสลักเหนือ เห็นเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีรองเท้าใส่ เสื้อผ้ายับๆ ขาดๆ ไม่มีข้าวกิน ตอนเที่ยงมากินน้ำที่ห้องน้ำ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าภาพนี้กับเพลงเธอวันนี้มันมาด้วยกัน คือเพลงเธอวันนี้มันคือนักศึกษาที่กินดีอยู่ดี และไม่ค่อยใช้ชีวิตให้มีคุณค่าสักเท่าไหร่ คือเธอจะมีความสุขได้อย่างไร ในเมื่อคนยังทุกข์ยากลำเค็ญ เพลงเธอวันนี้ ถูกวิจารณ์จากคนยึดเพลงเพื่อชีวิตในยุคก่อน เป็นเพลงที่หน่อมแน้ม คือมันไม่ชัดเจน อย่างเพลงครูปฏิวัติ หรือกรรมาชนพิทักษ์ ไม่เป็นรูปธรรม เนื้อหามันอ่อน แต่เพลงเธอวันนี้ยังมาจนถึงปัจจุบันได้เพราะ ตราบใดที่คนยังเรียนอยู่ และระบบการศึกษาเป็นแบบนี้ เน้นให้คนเรียนไปวันๆ จบ ทำมาหากินเข้ากระแส เพลงนี้จึงท้าทายให้เราคิดคือ คิดถึงคนอื่นๆ ด้วย และมันคือ “เธอ…วันนี้” ไม่ใช่ “เธอ…วานนี้” จึงทำให้เป็นปัจจุบันตลอด

อรรณพ นิพิทเมธาวี : ในฐานะนักกิจกรรมเก่าพี่มองเด็กนักศึกษาปัจจุบันอย่างไร

นิคม ทรงเดชาไกรวุฒิ : รู้สึกว่าบทบาทรูปแบบการให้ต่อสังคมมีน้อย ถ้าเทียบกับในสมัยคนเดือนตุลา ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหว ที่เป็นกระบวนการ คือไม่รู้ว่าจุดยืนคืออะไร คือไม่เหมือนรุ่นเรา

นริศ มณีขาว : ผมมองว่านักศึกษาโดยทั่วๆ ไปมีความน่าเห็นใจอยู่ ในแง่หนึ่งเขาใช้ชีวิตการเรียนมันเครียด เข้าใจว่าเครียดกว่าสมัยก่อนเยอะ การใช้วิธีวัดผลที่เข้มข้น ตอนสอบไม่ต้องพูดถึงแทบเป็นบ้าเป็นหลังไป พอสอบเสร็จเด็กจะผ่อนคลายเอ็นเตอร์เทรนด์กัน จะเห็นว่าตามมหาลัยจะมีโต๊ะบอล โต๊ะเหล้ามีกันค่อนข้างมาก โอกาสที่นักศึกษาจะไปกินดื่มก็มี เขาเห็นนักศึกษาไปไหนก็เอาสิ่งเหล่านี้ตามไปป้อน อีกกระแสคือค่าเรียนมันแพงมาก พ่อแม่เองก็ต้องดิ้นรนเขาเองก็ต้องดิ้นรน ขอทุน หรือว่า ทำงานก็มีมากขึ้น นี่คือ 2 ภาวะที่แตกต่างจากเมื่อก่อน ส่วนในแง่กิจกรรมผมเข้าใจว่า มันมี 2 ส่วน กิจกรรมที่เขาทำด้วยใจ และผูกพันตัวเองลงไปมันก็ยังมี แต่มีเป็นหย่อมๆ ไป เพราโครงสร้างที่วางไว้ไม่ตรงกันในสมัยก่อนมันยังมีอยู่ เช่นเด็กแพทย์กับเด็กอย่างพวกเรา (นักศึกษาทั่วๆ ไป) ไม่มีโอกาสที่จะได้เจอกัน เพราะเมื่อปิดเทอมเด็กแพทย์ก็ไม่ได้เรียนแล้ว คือเด็กที่เป็นสมองหลักโดนแยกออกไป นั่นเป็นโครงสร้างที่ทำให้กระบวนการมันเป็นไปไม่ได้ เพราะโอกาสจะเจอกันไม่มี ถูกเปลี่ยนด้วยระบบการเรียนการสอนยังมีผลอยู่ แต่คนที่ทำเป็นกลุ่มๆ และลงลึกไปยังเป็นหย่อมๆ ลงลึกก็ยังมีแต่ในแง่การรวมกันยังไม่เห็นเด่นชัด ก็มี สนนท. ที่เน้นในเรื่องการเมือง ที่เป็นระดับขบวนการระดับชาติยังไม่ชัดเจน คือมันไม่มีเอกภาพคือมันก็เป็นฝั่ง เหมือนประชาชน ประชาชนก็มีหลายฝั่ง สิ่งที่ผมเห็นนะ มหาวิทยาลัยเองก็มี Activities for All นะ … แต่ All นี่ไม่ใช่ All ot the People นะ คือคุณต้องไปทำค่าย ไปอย่างนั้นอย่างนี้บ้างนะ คือถ้ามันไปด้วยใจ หรือไปกับกลุ่มคนที่เขาทำจริงๆ มันก็ดีไปไง คือมันมี 2 กลุ่ม คือสังคมก็ทำให้เขาคิดไม่เป็น แต่เรื่องการแสวงหาในจิตวิญญาณก็ยังคงมีอยู่ คือเด็กจะมาถามตลอดแหละ เสาร์-อาทิตย์ มีอะไรให้ช่วยไหม แต่มันก็เป็นกิจกรรมเล็กๆ ไป อย่างสอนคนตาบอด

อรรณพ นิพิทเมธาวี : พูดอะไรเกี่ยวกับเพลงค่ายฯ หน่อย

นิคม ทรงเดชาไกรวุฒิ : ก็คิดว่าสิ่งที่เราสร้างไว้มันยังเป็นประโยชน์ คิดว่าหายไปแล้ว ยังมีการเอามาเผยแพร่ต่อก็ภูมิใจ

นริศ มณีขาว : ผมดีใจนะ ผมว่าเด็กมัธยมหรือมหาวิทยาลัย ได้ฟังต้องเกิดความคิดอะไรบางอย่าง คือมีเด็กคนหนึ่งเขาไปออกค่าย ค่ายหนึ่งแล้วรุ่นพี่ร้องเพลงนี้ให้ฟัง พอกลับมาเขาก็โทรหาดีเจคนหนึ่ง เล่าว่าหลังจากได้ฟัง เธอวันนี้ แล้ว ทำให้ได้รู้สึกว่าเขาได้คิด คือเขากำลังจะเอ็นทร๊านซ์ จากเมื่อก่อนคือไม่รู้ว่าจะไปทางไหน จะเลือกเอาอย่างไร พอฟังเพลงนี้แล้วทำให้รู้สึกคิดได้ และรู้สึกว่าเพลงนี้ให้อะไร และผมว่าคงไม่ใช่แค่เด็กคนนี้ที่คิดแบบนี้ มันเป็นเพลงที่เตือนใจ โดยเฉพาะถ้าได้สืบทอดในเง่ของมีที่มาที่ไปของเพลง แล้วมันจะมีจิตวิญาณติดอยู่ในนั้น

อรรณพ นิพิทเมธาวี : แทนเพลงเพื่อชีวิตยุคใหม่ได้ไหม

นันทวัน รุจิวงศ์ : ก็ดีนะ มันน่าจะมีมุมนี้บ้าง เพลงเดี๋ยวนี้ก็มีหลายแบบอย่างฮิพฮอพ แนวแรพ ถ้ามีแบบนี้เป็นตัวเลือกบ้าง มันไม่มีช่องทางให้ฟังเพลงพวกนี้เลย และการเอามาทำเทปเนี่ยเป็นการเปิด Option ให้เขาบ้าง คุณลองเอาเพลงนี้ไปฟังดูบ้างก็ได้นะ คือเป็นความคิดที่ดี เพราะเมื่อก่อนเรายังมีช่องทางให้เล่น ให้ฟัง แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว

นริศ มณีขาว : ในค่ายเอง มันเป็นการรวมใจของคนทั้งค่ายด้วย คือการร้องร่วมกัน มันมีทั้งข้อคิดข้อเตือนใจ มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของค่าย

ณ สวนลุมไนท์ฯ – 19 มิถุนายน 2550

สั่งซื้อ….อัลบั้มเพลงค่ายฯ