เราเคยรู้จัก “มิดะ” มาแล้วกว่า 30 ปี ผ่านเพลงของ “จรัล มโนเพ็ชร” ศิลปินล้านนาผู้ล่วงลับ แต่งเพลงเกี่ยวกับสาวงามผู้นี้ไว้ สอดคล้องกับบทความบางบทระบุว่า “มิดะ” ถูกคัดเลือกจากสาวงามและบริสุทธิ์ที่ยังไม่เคยผ่านมือชายใด จากผู้หญิงทั้งเผ่าอาข่า เพื่อสอน “เรื่องอย่างว่า” ให้กับเด็กหนุ่มผู้ไม่ประสีประสา เพื่อให้นำไปปฏิบัติกับหญิงสาวของเขา ฉะนั้นเด็กหนุ่มทุกคนก่อนจะมีภรรยาก็ต้องต้องผ่านพิธีกรรมอันนี้ก่อน

ขณะที่หนังสือ “บุกภูเขา เบิกทะเล” ผลงานของ ประพันธ์ ผลเสวก เขียนถึงมิดะว่า หลังจากไปบุกภูเขาพูดคุยกับคนชนเผ่าเอง ก็ได้รับคำเล่าว่า ในเผ่าอาข่าเรียกเด็กชายเมื่อยังเล็ก ๆ ว่า อาหลี และเรียกเด็กหญิงวัยยังไม่ถึง 12 ขวบว่า อาบู๋ พออย่างเข้าวัย 13 ซึ่งถือว่าเริ่มเป็นสาวแล้วจึงจะเรียกว่า “มิดะ”

หลายคนสงสัยว่า มิดะ เป็นใครกันแน่.. เป็นหญิงสาววัยแรกแย้ม หรือครูสอนเรื่องเพศให้หนุ่มน้อย?

จากวันที่จรัลแต่งเพลงนี้เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว จนมาถึงวันนี้ “มิดะ” กลับมาเป็นประเด็นถูกพูดถึงอีกครั้ง เนื่องจากมีการเสวนาเรื่อง “มายาคติอาข่าในสังคมไทย คลายปมมิดะและลานสาวกอด” ของชมรมอาข่าในประเทศไทย ร่วมกับโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2554

วันนั้น นายอาจู จูเปาะ ประธานชมรมอาข่าในประเทศไทย ได้อ่านแถลงการณ์เรื่อง “มิดะ และ ลานสาวกอด” ใจความว่า ชาวอาข่าได้กล่าวถึงคำว่า “มิดะ” หรือ “หมี่ดะ” ว่า เป็นคำเรียก หญิงสาวธรรมดาของอาข่าที่ยังไม่ได้แต่งงาน ไม่ได้เป็นชื่อตำแหน่งใด ๆ ทั้งสิ้น มิดะซึ่งเป็นครูชำนาญโลกีย์สอนลีลาแก่ชายหนุ่มนั้น จึงไม่เคยมีอยู่ในสังคมของอาข่า มีแต่ “หมี่ดะ” ส่วน “ลานสาวกอด” นั้นไม่มีอยู่จริง มีเพียงแต่ “ลานวัฒนธรรม” หรือ “แต ห่อง” เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญในทางพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับคนในหมู่บ้าน เป็นแหล่งถ่ายทอดบูรณาการความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เป็นแหล่งแสดงความคิดเห็นเพื่อสร้างความสมัครสามัคคีแก่ผู้คนในหมู่บ้าน

นายอาจู เปิดเผยกับมติชนออนไลน์อีกครั้งว่า การเสวนาครั้งนี้เกิดจากหนังสือการ์ตูนเล่มหนึ่งที่มีเนื้อหาไม่ถูกต้องกับความเป็นจริงเกี่ยวกับชาวอาข่า นำมาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว “ก็ไม่รู้ว่าคนเริ่มเข้าใจผิดตรงไหน อาจเพราะอ่านตามหนังสือเก่า ๆ ซึ่งคนเขียนอาจเขียนเพื่อเป็นจุดขาย”

นอกจากนี้ ประธานชมรมอาข่าในประเทศไทย กล่าวว่า เด็กสาวในเผ่าอาข่าต่างดูสื่อจากสังคม และเล่าสู่กันฟัง จนเกิดความละอายใจ กลัวว่าคนจะมองว่าเป็นสาวแม่ม่าย หรือสาวสอนเรื่องเพศศึกษา เมื่อไปเรียนโรงเรียนในเมืองก็ไม่กล้าเปิดเผยว่าตัวเองเป็นสาวอาข่า

“วิงวอนให้ทุกคนเข้าใจผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของหญิงอาข่า ใครที่ประสงค์จะเผยแพร่เกี่ยวกับหญิงอาข่าขอให้เคารพชาติพันธุ์กันด้วย”

เมื่อถามว่าในระยะนี้มีคนจากในเมืองเข้าหมู่บ้านไปมองหาสาวอาข่าอีกหรือไม่ นายอาจู กล่าว่า “ช่วงหลังไม่ค่อยได้ยินว่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น แต่ช่วงแรกยอมรับว่ามีผู้ชายแอบเข้าหมู่บ้านบ้าง ก็ต้องจัดการเป็นกรณีไป อย่างเช่น มีผู้ชายคนหนึ่งพยายามทำอนาจารกับเด็กสาวที่ลานสาวกอด จึงถูกเราจับไปส่งสถานีตำรวจ”

ด้าน นางสาวแสงจันทร์ เมธาตระกูล ผู้ประสานงานโครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ ภาคเหนือ ให้สัมภาษณ์มติชนออนไลน์ว่า ส่วนตัวมองว่าเราต้องยอมรับความเป็นไทยพื้นถิ่นก่อนจะมีระบบโรงเรียนหรือก่อนสมัย จอม ป.พิบูลสงคราม ว่า วิถีทางเพศของคนเป็นเรื่องปกติ แต่งงานกันตั้งแต่อายุยังน้อย บางทีอายุ 16-17 ปีก็มีเพศสัมพันธ์กัน เกิดจากความเปลี่ยนแปลงและมีความต้องการทางเพศ หรือมีเพศสัมพันธ์กันแล้วพาหนี ก่อนกลับมาขอขมา

“คนพื้นเมืองมีแนวคิดสวนทางกับชนชั้นกลาง คนในเมืองที่โตมากับระบบโรงเรียน สอนการมีเพศสัมพันธ์หลังแต่งงาน และการมีคู่คนเดียวตลอดชีวิต ซึ่งเด็กสมัยใหม่มีแนวคิดแบบนี้ แต่วิถีทางเพศของชนพื้นบ้านไม่ได้เป็นแบบนี้ บนดอยจำเป็นต้องมีลูกเยอะ ๆ เพราะมีความต้องการด้านแรงงาน”

นางสาวแสงจันทร์ กล่าวว่า เคยได้ยินบางเผ่าเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้ทำความรู้จัก มีปฏิสัมพันธ์กัน ผ่านการละเล่นลูกช่วง ไม่ได้ส่งเสริมให้มีเพศสัมพันธ์กันแต่ก็ไม่ได้เข้มงวดเรื่องนี้มากนัก บางเผ่าเมื่อผู้หญิงตั้งท้องแล้วชี้บอกว่าใครเป็นพ่อเด็ก ผู้ชายคนนั้นก็ต้องยอมรับ

“คนภาคกลางศึกษาเขาน้อยเกินไปแล้วเอามาเปรียบเทียบกับตัวเอง คนข้างนอกบางคนฉวยโอกาสไปมีเพศสัมพันธ์กับเขา และไม่รับผิดชอบ ถือเป็นการเอาเปรียบคนไม่รู้และด้อยกว่า ถึงมีลานสาวกอดจริง ๆ ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานวัฒนธรรมการเคารพซึ่งกันและกัน ไม่เหมือนความคิดชนชั้นกลางที่มองเรื่องความบริสุทธิ์ พรหรจรรย์ และการแต่งงาน” นางสาวแสงจันทร์ กล่าว และว่า เราให้คุณค่ากับตัวเราเองมากเกินไป มองว่าเราเป็นกระแสหลัก มักมองว่าความถูกต้องต้องเป็นแบบนี้ อ้างอิงกับคนส่วนใหญ่ แต่ลืมไปว่าคนส่วนน้อยก็มีตัวตนเช่นกัน

และนี่คือความจริง เกี่ยวกับ “มิดะ” และ “ลานสาวกอด” ความจริงที่ชาวอาข่าถูกเข้าใจผิดตลอดมา…

Matichon Online
24 มกราคม 2554

คลิปวิดีโอแถลงการณ์จากใจชาวอาข่า “มิดะ” ไม่ใช่ครูสอนเพศศึกษา “ลานสาวกอด” ไม่ได้มีไว้กอดสาว
คำประกาศจาก มานิด อัชวงศ์ (ผู้จัดการ จรัล มโนเพ็ชร)